

ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์ 2014 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้นำสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งไปยังเมืองมาลากา (Malaga) ประเทศสเปน และร่วมกับสื่อมวลชนอื่นๆ จากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อลองขับ จีแอลเอ รถยนต์อเนกประสงค์เอสยูวีน้องเล็กรุ่นล่าสุดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งเผยโฉมครั้งแรกในงานแฟรงเฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2013 ก่อนจะวางตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยในตลาดต่างประเทศทั้งพวงมาลัยซ้ายและขวา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ได้วางขายพร้อมๆ กันในเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน


เพียงสัมผัสแรกที่เห็นตัวจริงของจีแอลเอ-คลาส ที่ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์นำมาให้สื่อมวลชนจากทั่วโลกลองขับครบทุกไลน์ผลิตภัณฑ์ย่อยรหลายสิบคัน แทบไม่เห็นความต่างจากเก๋งคอมแพ็กต์แฮทช์แบ็ก โดยเฉพาะเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ-คลาส (A-Class) นอกจากความสูงที่มากกว่า ยิ่งการออกแบบได้รับอิทธิพลมาอย่างชัดเจน มีแตกต่างบ้างเล็กน้อยคงจะเป็นปลายกรอบไฟหน้าแบบไฟซีนอนพุ่งเฉียงมากกว่า กันชนและช่องดักลมขนาดใหญ่มีเส้นสายชัดเจน เชื่อมกับโป่งล้อที่นูนเด่นครอบล้ออัลลอยทูโทน 17 นิ้ว ติดยางขนาด 215/60 R17 และเส้นคู่บนฝากระโปรง รวมถึงราวหลังคาอลูมิเนียม ทั้งหมดเลยทำให้จีแอล-คลาสดูมีบุคลิกดุดันสมกับเป็นเอสยูวี
ถึงอย่างนั้นด้วยเส้นสายการออกแบบตัวถังของเมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน (Cd) เพียง 0.29 ว่ากันว่าต่ำสุดในเซกเม้นท์ จึงยังคงความสปอร์ตโฉบเฉี่ยวไม่แพ้คอมแพ็กต์รุ่นอื่นๆ ในพื้นฐานตัวถังเดียวกัน จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนจากต่างประเทศบางราย จะบอกว่าเป็นคอมแพ็กต์แฮทช์แบ็กยกสูง
ยิ่งเมื่อบวกกับตัวถังที่ออกแบบไม่ใหญ่มาก ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 4,417 มม. กว้าง 1,804 มม. สูง 1,494 มม. และระยะฐานล้อ 2,699 มม. หากเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างบีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์1 เรียกว่าเล็กกว่าในทุกมิติเลยทีเดียว


คอนโซลกลางมีแป้น Touchpad ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเสียง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ-ซีดี MB Audio 20 พร้อมระบบเชื่อมต่อสื่อบันเทิงต่างๆ ตลอดจนระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านบลูทูธ และจอแสดงข้อมูลขนาดใหญ่วางตำแหน่งอยู่บนคอนโซลหน้า เสมือนกับโทรทัศน์จอแบนบนตู้โชว์ที่บ้าน และยังมีระบบนำทางด้วย
ขณะที่อุปกรณ์ความปลอดภัยมาเพียบ ถุงลมนิรภัยด้านหน้า 2 ตำแหน่ง ด้านข้าง และบริเวณเหนือศรีษะของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร กล้องแสดงภาพด้านหลัง พร้อมระบบความปลอดภัยที่มีทั้งสัญญาณเตือนเมื่อรถพุ่งเข้าหาคันหน้า, ระบบเพิ่ม/ลดความเร็ว รักษาระยะห่างรถคันหน้าอัตโนมัติ Distronic Plus, โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ASR, ระบบช่วยเบรก BAS, ระบบเบรก ADAPTIVE BRAKE รวมถึงฟังก์ชัน HOLD และ Hill - Start Assist ตลอดจนระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้า เป็นต้น


วันแรกของการลองขับจากเมืองมาลากา (Malaga) ไปยังกรานาดา(Glanada) ระยะทาง 135 กม. เส้นทางไฮเวย์บนเขาเลาะเรียบไปตามชายทะเล เป็นการขับรุ่น GLA220 CDI 4MATIC ซึ่งไม่ใช่รุ่นที่นำมาขายในไทย ด้วยการสลับกันขับ 3 คน ช่วงแรกรับอาสาเป็นผู้โดยสารด้านหลัง ไม่ได้รู้สึกอืดอัดแต่ไม่ได้กว้างขวางสะดวกสบายมากนัก ช่องว่างระหว่างเบาะหน้า-หลังอาจจะแคบกับคนตัวโตๆ ซึ่งนั่นคงมาจากมิติตัวถังที่ไม่ได้ใหญ่นัก แต่ความรู้สึกในการนั่งขณะรถวิ่งกลับสบาย การซับแรงสั่นสะเทือนของช่วงล่างจีแอลเอทำได้ดี เหมือนนั่งเก๋งแฮทช์แบ็กทั่วๆ ไป แทบไม่รู้สึกว่านั่งอยู่บนรถเอสยูวีเลย
จากนั้นเปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นผู้ขับในช่วงระยะสุดท้ายประมาณ 50 กม. เครื่องยนต์ดีเซลไม่ได้นิ่งเงียบโดดเด่น แต่ไม่ได้เลวร้ายกว่าในรถตลาดทั่วไปนัก อัตราเร่งตอบสนองได้อย่างดี กับขุมพลัง 170 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร มาในรอบต่ำ 1,400 - 3,400 รอบต่อนาที กดคันเร่งให้ความรู้สึกหลังติดเบาะใช้ได้ การทำงานของเกียร์อัตโนมัติคลัตช์คู่ 7G-DCT ไหลลื่นสัมพันธ์กันดี ตามข้อมูลความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 215 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองประมาณ 20 กม./ลิตร
ในส่วนเบรกทำงานได้ตามน้ำหนักเท้า และพวงมาลัยทำงานแม่นยำ เพียงแต่รู้สึกว่าเบาไปหน่อยตามความเห็นของผู้ขับ แต่อาจจะถูกใจหลายๆ คน ช่วงล่างนุ่มหนึบเกาะถนนไม่ต่างเก๋งคอมแพ็กต์คาร์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งหลายเสียงสื่อมวลชนที่ลองขับบอกว่า แทบไม่ให้ความรู้สึกถึงการขับเอสยูวีแต่อย่างใด


เพียงเท่านี้ระบบ 4MATIC ที่สามารถส่งกำลังถ่ายทอดระหว่างล้อหน้าและหลัง ตามสภาพถนนและการขับ หรือหากมีล้อลอยหมุนฟรีเซนเซอร์จะตรวจจับและสั่งดึงให้ช้าลงหรือเท่ากับล้ออื่น และเพิ่มแรงบิดล้อที่ไม่ฟรีให้หมุนมากขึ้น เพื่อช่วยกันดึงให้พ้นอุปสรรค ทำให้การลุยเส้นทางหนักๆ เป็นเรื่องไม่ยากนัก เมื่อผสานกับระบบ DSR (Downhill Speed Regulation) ช่วยหน่วงความเร็วขณะลงทางลาดชัน รวมถึงระบบควบคุมเสถียรภาพ ESP ยิ่งฉลุย ขณะเดียวการดูดซับแรงสะเทือนทำได้ดี ให้ความรู้สึกนุ่มนวลใช้ได้
วันต่อมาเป็นการขับกลับสู่เมืองมาลากา บนเส้นทางมอเตอร์เวย์ระยะทาง 148 กม. คราวนี้ได้ขับรุ่น GLA250 4MATIC ขุมพลังเบนซินที่มีม้าในคอกอยู่ 211 ตัว แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร มาตั้งแต่ 1,200 - 4,000 รอบต่อนาที ซึ่งช่วยกันทำงานได้จี๊ดจ๊าดทีเดียว เรียกเมื่อไหร่เป็นมาตามต้องการ ขณะเดียวกันรู้สึกน้ำหนักพวงมาลัยกำลังดีมากกว่ารุ่นดีเซล จากข้อมูลรุ่นนี้ทำความเร็วสูงสุดที่ 230 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 15 กม./ลิตร โดยเส้นทางช่วงสุดท้าย 30 กม. คดโค้งไปตามไหล่เขายังกับงูเลื้อย แสดงสมรรถนะของช่วงล่างแน่นหนึบดีทีเดียว
สรุป แม้จะไม่ใช่รุ่นที่วางขายในไทย แต่หาดพูดถึงภาพรวม เมอร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ นับเป็น สปอร์ตเอสยูวี ได้อย่างแท้จริง ทั้งรูปลักษณ์ที่ออกแบบฉีกไปจากรุ่นพี่ในตระกูลเอสยูวีทั้ง 4 คัน และโดยเฉพาะรุ่นที่ลองขับสมรรถนะการขับขี่ ที่สามารถตะลุยในทุกเส้นทาง ขณะเดียวกันกลับแทบไม่รู้สึกถึงความเป็นเอสยูวีเลย!




Create Date :02 เมษายน 2557
Last Update :2 เมษายน 2557 21:35:27 น.
Counter : 2750 Pageviews.
Comments :0
- Comment