bloggang.com mainmenu search



ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์
(A Little History of Religions)


Richard Holloway : เขียน
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล : แปล



ไม่น่าเชื่อว่าจะอ่านสนุก เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ศาสนาต่างๆแบบย่นย่อและย่อยง่าย ผู้เขียนเคยดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งเอดินบะระและหัวหน้านักบวชคริสตจักรแห่งหนึ่งในสกอตแลนด์ ปัจจุบันลาออกแล้วทั้งคู่ สำนวนแปลก็ดีมากๆ ข้อมูลแน่นปั้ก

สองบทแรกอาจจะน่าเบื่อหน่อย เพราะเป็นการปูพื้นถึงความเป็นศาสนาอย่างกว้างๆ แต่พอแยกเล่าแต่ละศาสนา เราก็อ่านลื่นขึ้น ผู้เขียนไม่ได้แนะนำเฉพาะศาสนาที่คุ้นหูอย่าง ฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ยูดาย ซิกซ์ (ที่คนเขียนบอกว่าคือโปรเตสแตนท์แห่งศาสนาอินเดีย) เต๋า ขงจื๊อ แต่ยังเล่าเลยไปถึงศาสนาที่ไม่ดังนักอย่าง โซโรแอสเตอร์ (รู้สึกว่าเท่มาก เป็นศาสนาแห่งการคิดดี พูดดี ทำดี ตายแล้วให้ศพเป็นของขวัญแก่วิหคบนฟากฟ้า) ชินโต และบาไฮ ปิดท้ายด้วยลัทธิสมัยใหม่อย่าง มอรมอน เซเวนธ์เดย์แอดเวนทิสต์ พยานพระยะโฮวาห์ อีวานเจลิคัล ไปจนถึงความหลุดโลกอย่าง ไซแอนโทโลจี

แต่แน่นอนว่าโฟกัสหลักอยู่ที่ศาสนาที่มีต้นกำเนิดจากอับราฮัมเป็นหลัก โดยลงรายละเอียดที่ศาสนาคริสต์ เล่าถึงการก่อตั้งศาสนาคริสต์ (ที่ว่าเป็นเพราะนักบุญเปาโล) ความเสื่อมและการปฏิรูปศาสนา การแยกนิกายต่างๆ เขียนได้สนุกและเพิ่มพูนความรู้มาก (แต่แอบโปร Church of England นิดหน่อยน้าา) แล้วก็อธิบายการตีความของบัญญัติประการที่สองในศาสนาคริสต์ได้น่าสนใจ มีการโยงไปถึงเรื่องการที่มนุษย์ยึดติดกับ "สัญลักษณ์" ด้วย (ย้อนนึกถึงพุทธพาณิชย์บ้านเราเลย)

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหนังสือ pop-philosophy ไม่ใช่หนังสือวิชาการเต็มร้อย เราจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้ก็แค่ให้ข้อมูลเวอร์ชั่นหนึ่ง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด แบบศาสนามันหลากหลายมากอะนะ จะให้คุณคนเขียนให้ข้อมูลแบบครบเป๊ะทุกด้านแล้วยังอ่านสนุกก็คงยาก ศาสนาทางตะวันออกส่วนใหญ่จึงถูกอธิบายแบบกลางๆ และบางเรื่องเราก็ว่าคนในศาสนานั้นมาอ่านอาจจะค้าน เราเองก็มีบ้าง อย่างเช่น คนเขียนพูดถึงการทำสมาธิในศาสนาพุทธว่าต้องนั่งนิ่งๆเท่านั้น หรือที่บอกว่า นิทานชายตาบอดหกคนคลำช้าง เป็นหลักจากศาสนาเชน เราคิดว่าพุทธเองก็มีนิทานเรื่องนี้อยู่ เลยเดาว่ามันน่าจะเป็นนิทานในอินเดีย มากกว่าของศาสนาเชนโดยเฉพาะ ผู้เขียนยังคล้ายๆจะผูกหลักอหิงสาเข้ากับศาสนาเชนเป็นหลัก แต่ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นคุณธรรมกลางๆในอินเดียอยู่แล้ว และฮินดู พุทธ เชน มีแนวคิดหลายอย่างที่พันเกี่ยวกันแบบแยกไม่ออก

ดังนั้น อ่านแล้วอย่าเชื่อหมด

นอกจากประวัติศาสนาแล้ว คนเขียนก็ใส่ความคิดเห็นของตัวเองไปเยอะทีเดียว แต่เราโอเค เพราะเห็นด้วยกับแนวคิดหลายส่วนของผู้เขียน ประมาณว่าอ่านไปหลายตอนพยักหน้าตามไปด้วย เช่น รู้สึกว่าผู้เขียนแฟร์ดีตรงที่ยอมรับว่าไบเบิลเกิดจากมนุษย์เป็นผู้เขียนเติมต่อกันมา และไม่พูดถึงปาฏิหาริย์เหมือนกับว่าเป็นเรื่องจริง อย่างเช่นกรณีโมเสสแหวกทะเลแดง หรือตอนที่อับราฮัมได้ยินเสียงพระเจ้าบอกให้ฆ่าอิสอัคผู้เป็นลูกเพื่อบูชายัญถวาย ผู้เขียนบอกว่า

"ฉากนี้เป็นหัวใจสำคัญของทั้งสามศาสนา เป็นแบบอย่างของการยอมสยบต่อพระเจ้าโดยสมบูรณืและเชิดชูพระประสงค์ของพระองค์ไว้เหนือข้อผูกมัดทางโลกใดๆ ปัจจุบันเราอาจตัดสินว่าชายผู้อ้างว่าพระเจ้าสั่งให้ฆ่าลูกของตนเป็นคนวิกลจริต แม้ว่าเขาจะเปลี่ยนใจในท้ายที่สุดก็ตาม กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตัดสินว่าทุกศาสนาวิกลจริตไปด้วย แต่ควรจะตั้งคำถามต่อคำกล่าวอ้างบางประการขณะที่เราติดตามเรื่องราวผ่านกาลเวลา อันตรายที่เห็นได้จากเรื่องนี้คือ มนุษย์มีแนวโน้มจะยึดถือและให้อำนาจแก่เสียงของพระเจ้าในความคิดตนมากเกินไป"

บท "สงครามศักดิ์สิทธิ์" ก็เขียนได้ตรงใจ แล้วยังที่บอกว่าสิ่งประดิษฐ์ที่น่าหดหู่ที่สุดของมนุษยชาติ คือ นรก

"มนุษย์ทำสิ่งเลวร้ายกับมนุษย์ด้วยกันมานานหลายศตวรรษ แต่กระทั่งบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดก็ยังมีจุดจบในสักวัน แม้ว่าจะจบที่ความตายของเหยื่อก็ตามที อัจฉริยภาพอันโหดร้ายของนรกคือความเจ็บปวดในนรกไม่มีวันจบสิ้น ผู้รับโทษใช้ชีวิตนิรันดร์ ณ ตอนนี้ โดยไม่มี ตอนหน้า ให้วาดหวัง"

อย่างไรก็ตาม ที่เราชอบเล่มนี้อาจจะเพราะมันตรงจริตกับแนวคิดของเรา หลังจากเปลี่ยนมาหลายแบบ เราคิดว่าตัวเองในปัจจุบันน่าจะเกือบๆ agnostic แต่ยังนิยมแก่นของพุทธ ดังนั้น คนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างออกไป อ่านแล้วอาจจะรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้โคตร "เอียง" ก็ได้

เพราะเราก็ว่าผู้เขียนจิกกัดพวกยึดจารีตในศาสนาไว้เยอะเหมือนกัน และแอบด่า (บางตอนก็ด่าตรงๆ) พวกที่ตีความไบเบิลแบบตรงตัวเคร่งครัด คริสเตียนเคร่งๆหรือผู้ยึดถือศรัทธาแบบมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ อ่านแล้วอาจจะโมโหก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นอ่านแล้วก็อาจจะได้คิดอะไรเพิ่มเติมหลายอย่างนะ (ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเห็นด้วยกับผู้เขียน)

หนังสืออาจจะดูเป็นวิชาการ แต่สำนวนอ่านไม่ยาก แอบมีหยอดอารมณ์ขันนานๆครั้งด้วย อย่างเช่นเรียกศาสนายิวยุคแรกๆว่า ศาสนาฟรีแลนซ์ หรือเปรียบเทียบว่าศาสนาอับราฮัมเหมือนตัวละครในนิยายเป็นติ่งคนเขียน การประกาศริเริ่มศาสนาใหม่เป็นภัยต่อสุขภาพ บางส่วนเราก็ขำไปเอง อย่างที่บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักปฏิบัติที่ชอบลงมือทำจริง ประมาณว่าชอบแจกแจงรายการต่างๆเป็นหัวข้อชัดเจน (ฟังดูเนิร์ดอย่างน่าเอ็นดู) ศาสนาพุทธจึงเป็นหลักปฏิบัติ ไม่ใช่หลักความเชื่อ

สรุปว่าแนะนำค่ะ

4 ดาว

"แม้ว่าปัจจุบันศาสนาจะเสื่อมลงในหลายแห่ง
แต่มันยังคงเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งจัดแสดงในศาสนสถานใกล้บ้านคุณ
ส่วนจะซื้อตั๋วเข้าชมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวคุุณเอง"

Create Date :30 พฤษภาคม 2561 Last Update :30 พฤษภาคม 2561 14:43:28 น. Counter : 1507 Pageviews. Comments :0