bloggang.com mainmenu search
นี่ไม่ใช่รีวิว ปีที่แล้วเขียนความรู้สึกก่อนจะดู Moneyball ไปแล้ว งวดนี้เลยอยากเขียนความรู้สึกหลังดูบ้าง ไปดูมาเมื่อวันเสาร์ เพิ่งมีเวลานั่งเขียน เลยอยากรีบระบายออกมา เดี๋ยวจะลืมซะหมด

แน่นอนว่ามีสปอย



1. คนเขียนบทเก่งมาก สามารถเขียนบทให้หนังเกี่ยวกับสถิติเบสบอลให้เร้าใจเป็นดราม่าปนตลก และแฝงความลึกซึ้งได้ โดยไม่ต้องมีเรื่องความรักหนุ่มสาวเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และที่สำคัญเราคิดว่าคนที่ไม่ต้องมีความรู้เรื่องเบสบอลเท่าไหร่ก็ยังดูสนุกได้ แต่ต้องเป็นคนชอบหนังดราม่านะ เพราะอารมณ์ของเรื่องประมาณ The Social Networks ไม่ใช่สปอร์ตแอ็คชั่นแน่นอน

2. ในหนังมีตัวละครหลัก 2 ตัว คือ Billy Beane (แบรด พิทท์) กับ Peter Brand (โจนาห์ ฮิลล์) เราดูหนังแล้วทึ่งกับ Peter Brand มาก และอยากรู้ว่าเขาคือใคร ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย ตอนนี้ไปทำอะไรแล้ว พอมาหาข้อมูลถึงได้รู้ว่า จริงๆแล้วตัวละครตัวนี้มีต้นแบบมาจาก Paul Depodesta ต่างหาก (GM ของ New York Mets ในปัจจุบัน) เพียงแต่บทในหนังมันแปลงซะเพี้ยนจากความเป็นจริงมากไปหน่อย (เพื่อความเร้าใจ) เจ้าตัวเค้าเลยบอกว่าขอไม่ใช้ชื่อเค้าละกัน ดูหน้าตาตัวจริงกับคนเล่นก็คนละแบบเลยอะนะ 555



3. แบรด พิทท์ เล่นดีมาก คิดว่าไม่แปลกเลยที่ได้เข้าชิงออสการ์ แต่เราไม่คิดว่าจะได้รางวัลหรอกนะ บทยังส่งไม่พอ แต่รางวัลเขียนบทนี่อาจจะมีหวัง เชียร์ๆ



4. แอบเคืองเล็กน้อย มาแขวะ Johnny Damon นักเบสบอลที่เราชอบคนหนึ่งได้ นอกจากที่เชียร์ Damon เพราะเป็นลูกครึ่งไทยแล้ว เราว่าเค้ายังเป็นนักกีฬานิสัยดี และเวลาเล่นในสนามดูท่าทางมีความสุข ในหนังเริ่มต้นมาทีม Oakland A เพิ่งจะเสียนักกีฬาตัวหลัก 3 คนให้กับระบบ Free agent ไป ในสามคนนี้คนที่เก่งที่สุด หาตัวแทนยากที่สุดคือ Jason Giambi แต่ในหนังกลับเน้นไปที่ Damon โดยบอกว่า Red Sox ซื้อไปไม่คุ้ม แหม ฟังแล้วหนังตากระตุกนะเออ Damon เป็นดาวดวงหนึ่งของ Red Sox เชียวละ อยู่ในทีมที่ได้แชมป์เวิลด์ซีรี่ส์หลังจากเจอคำสาปแบมบิโนมาตั้ง 80 กว่าปีด้วย หลังจากนั้นทีมยักษ์ใหญ่อย่าง New York Yankees ก็ซื้อตัวไป และ Damon ก็เป็นกำลังให้แยงกี้ส์ได้แชมป์เวิลด์ซีรี่ส์อีกรอบ แน่นอนล่ะว่า Damon คงไม่มีวันได้ติด Hall of Fame แต่นักกีฬาที่ได้แหวนแชมเปี้ยนมาตั้งสองวงนี่ถือว่าไม่เก่งพอสำหรับ A อีกเหรอ ชริ ก็...เอาเป็นว่า แค่อยากจะบอกให้รู้ไว้ก็แล้วกัน



5. กรี๊ดกร๊าดเวลา Ron Washington ออกมา (ดาราที่เล่นเป็นใครไม่รู้ไม่รู้จัก) ในเรื่องตอนนั้นวอชเป็นอินฟิลด์โค้ชให้ A อยู่ ตอนนี้เป็นผู้จัดการทีม Texas Rangers ไปแล้ว ในหนัง บทของลุงก็ยังโซคูล อยากให้มีฉากตอนที่สอน Hatteberg เล่นตำแหน่งเฟิร์สต์จัง น่าจะสนุกดี

6. ชอบหลายฉากมาก ชอบฉากเบื้องหลังของเกม ได้ดูการทำงานของ Front office ที่หาดูยาก ขำตอนที่พูดถึง Youkilis พ่อเป็ดตุ้ยนุ้ยแห่ง Red Sox ท่าเตรียมตีเฮียแกก็น่ารักจริงๆนั่นแหละ ส่ายซ้า ฉากเทรด 3 ทีมก็มันส์ ซึ้งกับฉากที่ Brown ตีโฮมรันได้โดยไม่รู้ตัว และบีนพูดว่า How can you not be romantic about baseball? (หรืออะไรประมาณนี้) และตอนจบ ประทับใจเพลง The Show ของ Lenka ที่เอามาใช้ในหนังได้อย่างเพอร์เฟคมาก ปรบมือให้คนต้นคิด ไม่ว่าจะเป็นใคร

7. ตอนจบของหนังบอกว่า Red Sox ใช้ปรัชญาของ Moneyball และได้แชมป์ ทำลายคำสาปแบมบิโนสำเร็จ ประทับใจจัง เพิ่งรู้ว่า Theo (GM หนุ่มหน้าใสของ Sox) เป็นสาวกปรัชญา Moneyball ด้วย แต่ทำไมช่วงหลังๆถึงกลับไปเจ้าบุญทุ่มล่ะ

8. คนแปลก็โอเคนะ รู้จักมุข Fabio ซะด้วย แปลเป็น ณเดชน์ 5555 แต่เรื่องศัพท์เฉพาะของเบสบอล เราเห็นด้วยกับคนที่บอกว่า สำหรับคนไม่คุ้นอ่านซับเอาคงพอได้ แต่ถ้ารู้กติกาและศัพท์อยู่แล้ว อย่าอ่านซับเลย มึน ต้องแปลไทยกลับเป็นอังกฤษอีกที

9. รู้สึกว่าหนังไม่ค่อยแฟร์กับระบบแมวมองของเก่าไปนิด ในหนังโฟกัสเฉพาะนักกีฬา 3 คนที่ใช้ระบบวิเคราะห์ Sabermetrics ซื้อตัวมาในแบบ undervalue สุดชีวิต คือ แต่จริงๆแล้วที่ A ในปี ’02 ไปได้ไกลถึงเพลย์ออฟทั้งที่งบต๊อกต๋อยที่สุดในเมเจอร์ลีก ก็เพราะมีนักกีฬาเจ๋งๆอีกหลายคนในทีม อย่าง Miguel Tejada (MVP ของลีกในปีนั้น) ที่คนเดียวทำคะแนน+โฮมรันได้เยอะกว่า 3 คนที่ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ซื้อตัวเข้ามาซะอีก ยังมี Barry Zito เจ้าของรางวัล Cy Young แต่ในหนังไม่พูดถึงเลยทั้งคู่ ไม่เถียงละว่า Hatteberg กะ Justice มีผลกับทีม โดยเฉพาะ Hatteberg ที่ทำโฮมรันครั้งประวัติศาสตร์นั่น แต่ในหนังพูดไม่ใช่เหรอว่าเอา 3 คนนั้นมาแทน Giambi เพราะ On-base percentage ทานโทษ คนที่แทน Giambi ได้จริงๆคือ Tejada ต่างหาก เราคิดนะว่าจริงๆแล้วยังไงเบสบอลก็ต้องใช้สายตาแมวมองเป็นหลักแหละ เพียงแต่การใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยด้วยเป็นกำลังเสริมที่ปิดรูรั่วได้ แต่ยังไงก็ไม่ใช่ตัวหลัก อีกอย่าง เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ Moneyball era เมื่อสมัยในเรื่องแล้ว ตอนนี้เข้าสู่ยุค No Steroid เน้นพิชเชอร์กับเกมรับเหนียวแน่นมากกว่า และพิชเชอร์นี่ ยังไงก็พรสวรรค์ล้วนๆ

สรุปว่าคอนเซ็ปท์ของ Moneyball ไม่ใช่การหานักกีฬาเก่งๆเพื่อทำให้ทีมชนะ แต่เป็นการหานักกีฬามีค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับตัวเงินที่ต้องจ่าย ซึ่งนั่นก็คือ หานักกีฬาที่ทีมอื่นมองข้ามไป

10. ยังไงก็ตาม ชอบหนังเรื่องนี้มากค่ะ เป็นหนังที่แปลก และขอยืนยันอีกทีว่ามัน Niche นะ สำหรับเมืองไทย ^^

ขอปิดท้ายด้วยเพลง The Show ค่ะ

Create Date :06 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :6 กุมภาพันธ์ 2555 20:10:52 น. Counter : Pageviews. Comments :7