bloggang.com mainmenu search

"เราจะทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องจุดพลิกผันได้ก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนวิธีการมองโลก"
- Malcolm Gladwell



เคยอ่าน สัมฤทธิ์พิศวง (Outlier) ของ Gladwell แต่รู้สึกว่าธรรมดาเกินคาด เลยไม่แน่ใจว่าอ่านเล่มนี้จะรู้สึกว้าวอะไรมั้ย ผลปรากฏว่า ติดหนึบ เป็นหนังสือที่อ่านงา่ยได้ความรู้ค่ะ

กลยุทธ์จุดกระแส พูดถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างที่ทำให้แนวคิดหรือสินค้าสักอย่างฮิต หรือ แพร่ระบาด ขึ้นมาได้ นั่นคือ กฎของคนส่วนน้อย ปัจจัยติดหนึบ และพลังของบริบทแวดล้อม

เรื่องกฎของคนส่วนน้อยทำให้เรานึกถึงตอนที่อ่านเรื่อง ข้าชื่อโคทาโร่ มีตัวละครหนึ่งพูดว่า อะไรมีค่ามากกว่ากันระหว่าง 1 ต่อ 1 ล้าน กับ 100 ต่อ 100 ล้าน จากนั้นก็เฉลยว่าคืออย่างหลัง เพราะถ้าหากเราสามารถควบคุมให้คน 1 คนในคนจำนวน 1 ล้าน หันหน้าไปทางขวาได้ มันแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ในขณะที่ถ้าควบคุมให้คน 100 คนในคน 100 ล้าน หันหน้าไปทางขวา อาจจะทำให้คนที่เหลือหันหน้าไปทางขวาเหมือนกันได้

ส่วนหนึ่งที่อ่านเพลินในเล่มนี้คือตอนที่กฎของคนส่วนน้อยพูดถึงบุคคลสำคัญ 3 ประเภทที่จุดชนวนการระบาด ได้แก่ ผู้เชื่อมโยง ผู้รู้ และนักขาย อ่านแล้วรู้สึกว่าทำให้มองอะไรกว้างขึ้นหลายอย่าง เรื่องภาษากายที่มีผลกับความคิดของเราโดยไม่ตั้งใจนี่รู้สึกว่าน่าทึ่ง ตอนอ่านถึงเรื่องนี้เปิดเน็ตหางานวิจัยเลยว่าจริงเปล่า คนเรานี่ถูกชักจูงง่ายมากเลยนะ

มีหลายเรื่องที่เราคิดว่าอ่านแล้วเอาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ อย่าง แผ่นพับวัคซีนโรคบาดทะยัก (แค่เน้นสถานที่ฉีดวัคซีนก็มีประสิทธิภาพมากกว่าขู่แรงๆให้กลัว), จิตวิทยาเด็กในการสร้างรายการ Sesame Street และ Blue's Clues (เป็นบทที่ชอบที่สุดในเล่ม อ่านแล้วปลื้มว่าเราน่าจะมาถูกทาง), การทดลองเรื่องความซื่อสัตย์ของ Hartshorne/May (การโกงเป็นเรื่องไม่แน่นอน), การทดลองความมีน้ำใจของ Darley/Batson (ย้ำเตือนว่านิสัยใจคอไม่ใช่คุณลักษณะตายตัว และหลายครั้งถูกกำกับด้วยบริบทแวดล้อม)

เรื่อง Dunbar's Number (ตัวเลข 150) เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เคยเรียนมีเคสที่เอ่ยถึงบริษัทที่แตกออกเป็นบริษัทเล็กๆเสมออยู่เหมือนกัน เราอยากเชื่อ แต่ยังไม่มั่นใจเท่าไหร่ คงต้องลองเอาไปทดลองกับหลายๆอย่างดู

โดยยกตัวอย่างถึงหลายเคสที่น่าสนใจมาก อย่าง รองเท้า Hush puppies, Airwalk, ชนวนสงครามปฏิวัติอเมริกา, การสูบบุหรี่ในวัยรุ่น, การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในไมโครนีเซีย, อาชญากรรมในนิวยอร์กที่ลดฮวบลงในช่วงทศวรรษ 1990



โดยเฉพาะเรื่องหลัง สนุกเป็นพิเศษ เพราะ เป็นอะไรที่อ่านแล้วมันส์ดี เพราะเป็นเรื่องเดียวกับที่เราเคยอ่านใน เศรษฐพิลึก (Freakonomics) ของ Levitt & Dubner หนังสือสองเล่มตั้งสมมติฐานปัจจัยสำคัญของการลดลงแตกต่างกันออกไป

TTP อ้างถึงทฤษฎีหน้าต่างแตก (บริบทแวดล้อมเป็นตัวจุดชนวนการกระทำ) ซึ่งในที่นี้คือการทำความสะอาดรถไฟใต้ดิน Freaks ปฏิเสธทฤษฎีนี้ และอ้างถึงการเพิ่มปริมาณตำรวจอย่างกระทันหัน และที่สำคัญ การทำแท้งเสรี

เราคิดว่ามีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่ และอาจจะถูกต้องทั้งคู่ก็ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วเราเอนเอียงไปทาง Freaks มากกว่าเล็กน้อย อาจจะเพราะสถิตที่ยกมามีผลกับทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ในนิวยอร์ก แต่อีกอย่างหนึ่งก็อาจเป็นเพราะแบ็คกราวด์ของเราเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มากกว่าจิตวิทยา ถ้าคนที่เข้าใจจิตวิทยาอาจจะมีความเห็นต่างจากเราก็ได้

ในหนังสือมีหลายประเด็นที่เราเห็นต่างหรือลังเล อย่าง The Nurture Assumption และ การลดการสูบบุหรี่ (ถึงจะเป็นแนวคิดที่ดูเจ๋งดีก็เถอะ)

เราคิดว่าปัญหาของเราสำหรับหนังสือเล่มนี้ และอาจจะรวมถึง Outlier ด้วย ก็คือขาดหลักฐานรองรับชัดเจน จริงอยู่ว่าเอ่ยถึงงานวิจัยหลายชิ้น แต่หลังจากนั้นมันเป็นการสรุปเลื่อนลอยและเหมารวมแบบง่ายๆ แต่คล้ายจะมีเหตุผล ดังนั้น ถึงแม้จะเอาไปอ้างอิงอย่างเป็นทางการไม่ได้ แต่คิดว่าได้ประโยชน์ในการจุดประกายความคิดต่อยอดพอสมควร

อยากอ่าน Blink ละ งานหนังสืองวดหน้าไม่พลาดแน่

3.5 ดาว ปัดเป็น 4
Create Date :20 เมษายน 2558 Last Update :24 ธันวาคม 2562 9:46:52 น. Counter : 3297 Pageviews. Comments :2