bloggang.com mainmenu search

"อย่าถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศชาติได้บ้าง
แต่จงถามว่าอาหารกลางวันมีอะไรบ้าง"

- Orson Welles



แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ
สนพ Openworlds

คล้ายๆสารานุกรมเล่าที่มาของอาหารชนิดต่างๆตั้งแต่อาหารเช้าไปจนจบที่ของหวานและชีส (หลังเล่มมีดรรชนีด้วย)

คนเขียนเป็นชาวอังกฤษ อาหารที่นำมาเล่าก็จะเลยหนักอังกฤษ นอกนั้นก็ฝรั่งชาติอื่นๆ มีอินเดียกับจีนอย่างละบทสั้นๆ ไม่เห็นอาหารแอฟริกันหรืออเมริกาใต้ ส่วนเอเชียอาคเนย์น่ะเหรอ ลืมไปซะเถอะ

ตอนอ่านบทนำข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก คนเขียนไล่ชื่ออาหารโน่นนี่ คนอ่านทางนี้ก็น้ำลายไหลย้อย นั่งแทบไม่ติดที่ ในใจคิดแต่ว่า เข้าเรื่องเถอะๆๆๆ หิว เอ๊ย อยากรู้แล้ววว สำนวนคนเขียนก็จิกกัดนิดๆตามสไตล์คนอังกฤษ หยอดโจ๊กเป็นระยะ แต่เนื่องจากหนังสือมัน...ยาว บางช่วงคนเขียนเลยหมดมุกไปเป็นสิบหน้า ทำเอาหนังสือออกอืดๆไปหน่อย

ที่สนุกส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่เรารู้จัก (มั้ง) ในเล่มเล่าถึงอาหารร้อยกว่าอย่าง หลายชนิดเราไม่รู้จัก ถือเป็นข้อดีนะเพราะได้ความรู้มากขึ้น (แวะเป็นกูเกิลดูรูปเป็นระยะ) แต่การนั่งอ่านประวัติของสิ่งที่เราไม่รู้จักบางทีก็น่าเบื่อ คือเราเองก็ไม่ได้ชอบอ่านประวัติศาสตร์ขนาดนั้น อยู่สายปกิณกะมากกว่า

ไม่ถือเป็นความผิดของหนังสือ อยู่ที่รสนิยมตัวเราเอง

อาหารส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ต้นกำเนิดแน่ชัด บางจาน เช่น ไข่เบเดิกต์ มีตำนานเล่า 3 อย่าง ซึ่งคนเขียนก็บอกให้ฟังหมดแหละ แต่ก็ลงท้ายว่า ไม่ชัวร์เลยสักตำนานนะครับ อ่านแล้วรู้สึกไหล่ตกแปลกๆ

เวลาอ่านของ ส. พลายน้อย ไม่ค่อยรู้สึกอย่างนี้ เหมือนคนเขียนย่อยมาให้แล้ว ตัดสินใจมาให้ส่วนหนึ่งแล้วว่า เอาประมาณนี้แหละ ไม่ได้กรีดไพ่ให้ดูทั้งสำรับ (ไม่รู้ดีหรือไม่ดี) หนังสือ ส.พลายน้อย มักจะบางกว่าด้วยละเปล่า (จริงๆเล่มนี้ก็ไม่ยาวมาก 416 หน้าเอง)

เหมือนจะติ แต่จริงๆแล้วชอบนา อย่างที่บอก ได้รู้จักอาหารแปลกๆเยอะดี ตำนานหลายอันก็สนุก เกร็ดความรู้อื่นก็มาก คนเขียนอธิบายสำนวนที่เกี่ยวกับอาหารด้วย อย่าง humble pie, give a cold shoulder, butter someone up, cold turkey, red herring และอื่นๆ

หลังจากอ่านเล่มนี้ ค้นพบอย่างหนึ่งว่า อาหารที่คิดว่าเป็นของชาตินั้นชาตินี้ บางทีไม่ได้มีต้นกำเนิดจากประเทศนั้นหรอก เช่น แฮมเบอร์เกอร์ (เยอรมัน), ไข่สกอตช์ (อินเดีย), แฮกกิส (หลายกระแส), ซอสฮอลแลนเดส (ฝรั่งเศส), ครัวซองต์ (เบลเยียม)

และอาหารกว่าครึ่งถือกำเนิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ประมาณคนครัวเอาของเหลือๆมาทำ หรือแก้ปัญหาวัตถุดิบหมด แล้วผลออกมาอร่อย อย่างเช่น บุยยาเบส กัซปาโช ซีซาร์สลัด วูสเตอร์ซอส เครปซูแซตต์

ที่เปิดโลกทัศน์อย่างยิ่งคือ เพิ่งรู้ว่าตัวเองโดนหลอกมาตลอด ข้าพเจ้าหลงเชื่อมานานว่าพาสต้าน่ะ มาร์โคโปโลเอามาจากจีน ที่จริงแล้ว พาสต้าอยู่ในยุโรปมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว (มีทั้งลาซานญา มักกะโรนี) และแถบอิตาลีก็มีการทำพาสต้าเป็นล่ำเป็นสัน ขนาดขุดเจออุปกรณ์ทำพาสต้าของชาวอีทรัสกันเลยทีเดียว

เนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้อ่าน Pig/Pork กะ แฮมเบอร์เกอร์ ของคุณหมอชัชพลไป เนื้อหาบางอย่างเลยซ้ำกับเล่มนี้ อย่าง แฮมเบอร์เกอร์ (แน่ละ) ฮ็อตดอก คาปูชิโน ขนมปังปิ้ง พันช์ รู้สึกเหมือนทบทวนบทเรียนดี ^^

บางเรื่องก็เคยรู้อยู่แล้ว อย่าง ketchup มาจากซอสปลาหมักของจีน หรือกำเนิดฟิชแอนด์ชิปมาจากข้อห้ามกินเนื้อสัตว์ในวันศุกร์ (ปัจจุบันแม็คโดนัลด์ยังต้องมีฟิชเบอร์เกอร์ขาย สำหรับชาวคริสต์คาทอลิกในเทศกาล lent)

บทที่ชอบเป็นพิเศษคือ มันฝรั่ง กูลาช เค้กลามิงตัน ไก่งวง พาสต้า แล้วก็ประทับใจคุณผู้คิดค้น ไอศกรีมโซดา แกภาคภูมิมากขนาดสั่งเสียให้สลักคำว่า "ผู้คิดค้นไอศกรีมโซดา" ไว้ที่ป้ายหลุมศพด้วย

ส่วนของอาหารจีนกับอินเดีย ไม่รู้ทำไม อ่านแล้วไม่น่าสนใจเลย ข้อมูลมันพื้นฐานไงไม่รู้ ที่สนุกหน่อยก็เป็นอาหารที่อิงฝรั่ง อย่าง ช็อปสุย กับ แกงบาลติ

สรุปว่าเป็นหนังสือที่ดี คงเก็บติดชั้นไว้ เผื่อกลับมาค้นข้อมูลในอนาคต ฝีมือแปลก็ยอดเยี่ยม อ่านสนุก มีอ้างอิง และบอกด้วยเวลาคนเขียนให้ข้อมูลเพี้ยนไปจากที่เราเคยชินกัน (ข้าวมธุปายาส)

3.5 ดาว
Create Date :30 มิถุนายน 2560 Last Update :30 มิถุนายน 2560 7:56:22 น. Counter : 3966 Pageviews. Comments :4