bloggang.com mainmenu search
Ace of Diamond #1-4 - Terajima Yuuji



กระทู้การ์ตูนของคุณแพทสี ทำให้เกิดไฟฮึดกลับไปถล่มกองดอง แน่นอนว่าต้องเริ่มจาก Ace of Diamond ที่ออกเล่มควบดับเบิ้ลมาอย่างต่อเนื่อง (ขอบคุณ SIC!) ถึงจะเคยอ่านสแกนมาแล้ว แต่งวดนี้จะอ่านภาษาไทยซ้ำล่ะ

งวดนี้กระแซะซะสองเล่ม (#1-4) ก่อน อ่านใหม่คราวนี้ก็ยังชอบครอบครัวของเอย์จุนเหมือนเคย น่าเสียดายที่ออกมาแป๊บเดียว เอย์จุนก็ไปโตเกียวแล้ว เพราะมีครอบครัวแบบนี้แหละเอย์จุนถึงได้เติบโตเป็นเด็กร่าเริงแต่ไม่กร่าง และซื่อตรงกับตัวเองแบบสุดๆ ประทับใจตอนที่เอย์จุนไปบอกลาเพื่อนแต่ละบ้านก่อนออกเดินทาง คุณพ่อคุณแม่และคุณปู่ เลี้ยงเอย์จุนขึ้นมาได้ดีจริงๆเลยนะคะ

แต่ซึ้งได้ไม่นานก็เริ่มฮา มีพระเอกที่ไหนโดนเขาแกล้งจนน่ารักน่าเอ็นดูขนาดนี้อีก ปกติแล้วอ่านการ์ตูนกีฬาเนี่ย เราจะเล็งพระรองเมินพระเอกเสมอ แต่งวดนี้ถึงจะอยู่ทีมคริสเซ็มไปเราก็ชอบเอย์จุนนะ มันเป็นพระเอกที่ตลกดี โคตรชอบตอนที่เอย์จุนไปง้อรุ่นพี่คริส อย่างกับลูกหมาไม่มีผิด

เนื่องจากผู้หญิงเรื่องนี้ดำเนินรอยตามปรินซ์ออฟเทนนิส แถมยังเป็นการ์ตูนเบสบอล เลยมีแต่หนุ่มทั้งเรื่อง คิดว่าสาววายน่าจะแฮปปี้กับ AoD แน่ๆ ฉากชวนจิ้นเต็มไปหมด อย่างตอนที่ฟุรุยะพยายามจีบมิยูกิมาเป็นแคทเชอร์ คือคำพูดนั้นน่ะ ยังไงก็เหมือนมาสารภาพรัก!

การแปล ผิดถูกขอไม่คอมเม้นต์ แต่นี่ขนาดผ่านคนเรียบเรียงแล้ว สำนวนยังแข็งติดๆขัดๆ รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย แต่คิดว่านี่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยที่อธิบายศัพท์และรายละเอียดเบสบอลมากที่สุดตั้งแต่เคยอ่านมา จุดนี้ขอชื่นชมจากใจจริง

ตรวจคำผิด ไม่เลวร้ายเกินไป ตามมาตรฐานของ SIC คือถึงจะไม่มากแต่ยังไงก็ต้องมีผิด คำอธิบายฮิทบายพิทช์ปรู๊ฟพลาด ไม่คนแปลเมา ก็คนปรู๊ฟต๊อง ยังดีว่าสองเล่มนี้ไม่มีพลาดอะไรรุนแรงอย่างการ์ตูนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม มีจุดที่แอบเคืองเป็นการส่วนตัวเล็กน้อย ตอนที่เอย์จุนหาความรู้เบสบอล ในหนังสือมีช่องหนึ่งที่บอกว่าเอย์จุนดู 'เมเจอร์ลีก 2' ไม่ใช่นะคะ! มันคือ การ์ตูนเรื่อง เมเจอร์ ภาค 2 ต่างหาก! แฟนเมเจอร์อย่างเราพ่นไฟกี๊ซ


Ace of Diamond #5-8 - Terajima Yuuji



สองเล่มนี้คาบเกี่ยวระหว่างแข่งซ้อมและนัดแรกของการแข่งคัดเลือกเข้าโคชิเอ็ง เอย์จุนยังน่ารักเหมือนเดิม ตอนที่น้ำตาไหลพรากกู่ร้องกลางสนามเพราะรุ่นพี่คริสชมเนี่ย หัวเราะก๊ากเลย แล้วยังตอนที่ซาบซึ้งกับ "ต้องให้ดูแลอยู่เรื่อย" นั่นอีก รู้สึกตัวเองอ่านไปสวมบทเป็นเอย์จุนไปซะแล้ว

รู้สึกว่าเอย์จุนเป็นพระเอกการ์ตูนเบสบอลที่ขี้แยที่สุดรองจากมิฮาชิ oofuri ถึงจะร้องไห้ด้วยสาเหตุต่างกันโดยสิ้นเชิงก็เถอะ รุ่นพี่คริสก็ทำเหมือนเอย์จุนเป็นคนทางบ้านไปแล้วนะคะ มีการขอโทษแทนที่เอย์จุนไปโหวกเหวกบ้าบออยู่กลางสนามด้วย

เท่าที่เห็นตอนนี้ 8 เล่ม (4 เล่มควบ) เรายังไม่รู้สึกตื่นเต้นกับมิยูกิเลย โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นตัวละครที่น่าเบื่อ เป็นเครื่องมือให้พิทเชอร์เติบโต โดยตัวเองไม่มีความก้าวหน้าอะไรทั้งสิ้น เหมือนเป็นตัวละครที่สมบูรณ์แล้ว แต่ก็ไม่เท่พอที่จะทำให้เราปลื้มได้ (ต่างจาก ชุนซุย ใน Bleach) อยากให้ อ.เทราจิมะ เขียนลงลึกเกี่ยวกับมิยูกิมากกว่านี้ อุตส่าห์เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องทั้งที เติมความเป็นมนุษย์ให้มิยูกิหน่อยสิคะ

ช่วงท้ายๆรู้สึกถูกใจฟุรุยะขึ้นมาก หมอนี่เริ่มมีส่วนน่ารักนะ อย่างที่เพ้อไปเลยตอนที่ถูกโค้ชชม XD

จากเล่มนี้ทำให้รู้ว่าทางญี่ปุ่นเรียก breaking ball ว่า moving ball ต่อไปจะได้อ่านแบบไม่งงละว่าลูกมูฟวิ่งคืออะไร ว่าแต่นี่เป็นการ์ตูนเบสบอลเรื่องแรกในเมืองไทยเลยนะที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างฟอร์กบอลกับ split-fingered fastball มันต้องอย่างนี้สิ การ์ตูนเบสบอลของแท้!

การแปลยังแข็งและเรียงประโยคประหลาดเสมอต้นเสมอปลาย ศัพท์เบสบอลเหมือนจะพัฒนาบ้าง จากเดิมที่แปล บลูเพน ก็แก้ให้ใกล้เคียงความจริงขึ้นเป็น บูลเพน (ถ้าได้ บุลเพ็น จะแฮปปี้กว่านี้) แต่เราไม่เข้าใจหลักการทับศัพท์ของ สนพ เลย คำเฉพาะที่ควรจะทับศัพท์ อย่าง วอล์ก ก็แปลเป็นเดิน บางคำที่ควรจะแปล อย่าง โน้ต (สมุด) หรือ มิสเทค ก็ทับศัพท์ และที่ไม่เห็นด้วยเลยคือคำว่า แบตเตอร์ตีออกเบส ซึ่งจากบริบทแล้วเข้าใจว่าหมายถึง ขึ้นเบส (on base) พออ่านคำว่า "ตีออกเบสสามคนรวด" อ่านแล้วต้องตั้งสติคิดตามซ้ำอีกรอบ เพราะคำว่า "ออก" มันชวนให้คิดว่า เอาท์ แล้วยังมีแปลว่า "รันเนอร์ออกไปแล้ว" ซึ่งจริงๆคือ ขึ้นเบสได้แล้ว (เพราะโดน HBP) ถ้าคนไม่เข้าใจเบสบอลอ่านแล้วคิดตามคงสับสนน่าดู

แต่อย่างไรก็ตาม ด้านศัพท์เบสบอลยังถือว่าใส่ใจกว่าวิบูลย์กิจ และศัพท์เบสบอลใน 2 เล่มควบนี้ ยังอธิบายเยอะเหมือนเดิม ขอชื่นชมอีกรอบ แต่ที่ยังเหมือนเดิมเช่นกันก็คือบางตัวอธิบายผิดหรือกำกวม อย่าง Fielder's choice นี่พลาดขั้นรุนแรง แล้วยังฟาวล์บอลอะไรนั่นอีก BB ฟูลเบสชัดๆ หรือว่ามันเป็นศัพท์ของทางญี่ปุ่น?


Ace of Diamond #9-14 - Terajima Yuuji



เซ็ตสุดท้ายสำหรับงวดนี้ 6 เล่มรวด (3 เล่มควบ) ตามแปลไทยปัจจุบันทันละ

AoD พูดถึงนักกีฬาที่อยู่จริงเยอะดี โผล่ออกมาหมดทั้งบอนด์ เอร็อด อิจิโร่ มัตสึอิ ON-canon บาส-โอคาดะ-คาเคฟุ ฯลฯ อ่านแล้วได้อารมณ์กีฬาจริงๆ

ประทับใจเอย์จุนที่หลังจากจบการแข่งขันแล้วเข้าไปคุยกับทีมที่แพ้ จริงอยู่ว่าอาจจะเหมือนไปเยาะเย้ย แต่ด้วยสายตาบ้องแบ๊วและท่าทางจริงใจอย่างมัน คงไม่มีใครคิดอย่างนั้น โคตรสงสารด้วยตอนที่เศร้าเพราะตอบสนองความคาดหวังของโค้ชไม่ได้ อ.เขียนจิตใจอ่อนแอของเด็กปีหนึ่งได้ดีนะคะ อย่างไรก็ตาม รุ่นพี่คริสเข้ามากู้สถานการณ์ไว้อีก *แฟนเกิร์ล~*

อีกอย่างที่ชอบคือ นี่เป็นกีฬาเบสบอล ม ปลาย ดังนั้นกรรมการไม่เที่ยงเสมอไปหรอก การได้เห็นกรรมการขานผิดขาดถูกบ้าง จึงดูสมจริงดี และพวกเด็กๆอดทนได้ดีกว่าผู้เล่น MLB บางคนซะอีก (ตัวอย่างเร็วๆนี้คือเจ้าหนู Harper ไปเถียงกรรมการได้ไง โดนไล่ออกนอกสนามเลย =_=" )

เล่ม 13/14 มีลูกคัตเตอร์โผล่มาด้วย ปลื้มอีก สมเป็นการ์ตูนเบสบอลสมัยใหม่ ลูกพิทช์หลากหลาย ใช้พิทเชอร์มากราย อ่านเกมวางแผนแท็คติกเพียบ ไม่ได้เน้นแต่เอซคนเดียวแบกทั้งทีม กำลังใจชนะทุกอย่าง ดวงตาประกายฝัน เรามามุ่งสู่โคชิเอ็งด้วยกัน

ช่วงนี้ไรจิออกแล้ว บอกตรงๆ ไรจิสู้กะเอย์จุนนี่เหมือนลิงกับหมา คงไม่ต้องถามว่าใครลิงใครหมา ^^

การแปลไม่สะดุดเท่าเล่มที่แล้วๆ ไม่แน่ใจว่าดีขึ้นหรือเริ่มชิน การทับศัพท์ผิดปรับปรุงขึ้นเรื่อยๆนะ ณ เล่ม 11/12 เปลี่ยนจาก คอลเกม มาเป็น คอลด์เกม แล้ว อย่างไรก็ตาม การสะกดผิดพิมพ์ผิดยังมีมาให้เห็นสม่ำเสมอตามสไตล์ SIC

การอธิบายศัพท์ยังยังกำกวมเหมือนเดิม อย่างลูกชู้ตนี่จริงๆถ้าเติมคำว่าพิทเชอร์ถนัดขวา ก็จะสมบูรณ์ขึ้นแล้วแท้ๆ ส่วนเซ็มบัตสึก็น่าจะอธิบายหน่อย (ในหนังสือใช้คำว่า เซ็มบาสึ) คนไม่ดูเบสบอลจะรู้ไหมว่าหมายถึงโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิ

ว่าแต่เล่มนี้เจอศัพท์เบสบอลที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน บาสตาร์ดแอนด์รัน? มันเป็นศัพท์เฉพาะของทางญี่ปุ่นหรือเปล่านะ งงจัง

รอเล่มต่อไป หรือว่าควรจะไปตามสแกนต่อดีนะ


Ace of Diamond #15-30 - Terajima Yuuji




ดองไว้อ่านยาว 16 เล่ม เริ่มตั้งแต่ฤดูร้อนจนถึงใบไม้ร่วง เป็นช่วงการอ่านที่มีอารมณ์หลากหลายดี ชอบเวลาแข่ง อ่านแล้วรู้สึกดุเดือดเลือดร้อน แต่พอเรื่องเริ่มเครียด คุณคนเขียนจะส่งเอย์จุนออกมาตบมุก ซึ่งถูกจริตกับเรามั่ก ได้หัวเราะตลอด บางทีแทบตกเก้าอี้ ( ตอนหัดคัตฟาสต์บอลนี่แบบ มันจะรั่วไปถึงไหน ) เพราะงั้นถึงเราจะกรี๊ดรุ่นพี่คริส แต่ตัวละครที่ชอบที่สุดในเรื่องน่าจะเป็นเอย์จุน

อย่างที่เคยเขียนไป ปกติอ่านการ์ตูนกีฬาเรามักไม่ชอบตัวเอกที่สุดในเรื่อง แต่ซีรี่ส์นี้ ได้เห็นการเติบโตของเอย์จุนจากรีลีฟมาถึงเส้นชัยชิงตำแนห่งเอซ รู้สึกภูมิใจแทนจริงๆ ยิ่งตอนอ่านว่าเอย์จุนจะฝึกลูกคัตเตอร์นี่กรี๊ดกร๊าด *เชียร์ขาดใจ* แต่...แอบเป็นห่วงแขนจัง ^^; (ถึงจะเป็นการ์ตูนก็เถอะ)

ยิ่งอ่านเราก็ยิ่งซาบซึ้งที่การ์ตูนเรื่องนี้เน้นเบสบอลแบบทีมเวิร์คมากกว่าการ์ตูนส่วนใหญ่ (อาจจะยกเว้นโอฟุริเรื่องนึง) โดยเฉพาะทีมพิทเชอร์ เกมที่สู้กับอินาจิสึยิ่งเห็นชัด มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง เอซอัจฉริยะผู้เด็ดขาด กับ พิทเชอร์ลุ่มๆดอนๆ 4 คน

การแข่งระหว่างเซย์โดกับอินาจิสึมันส์มาก ฟุรุยะ นายเจ๋งโพดๆ แต่...จะแบตหมดเร็วไปถึงไหน โปรไฟล์แบบนี้ถ้าเซย์โดรวยพิทเชอร์อยากอัญเชิญให้เอารุ่งทาง closer ส่วนครึ่งหลังของอินนิ่งที่ 9 ทูเอาท์... เอย์จุนคุง ;o; อยากเข้าไปกอดเลยละ ตอนจบนี่น้ำตาลูกผู้ชายกระจายเต็มการ์ตูน ผู้หญิงอย่างเราก็ซึ้งไปด้วย

เราเพิ่งชื่นชมมิยูกิจริงๆก็ระหว่างอ่านงวดนี้แหละ ในระหว่างที่ทุกคนกำลังเป็นซอมบี้น้ำตาไหลพราก มีมิยูกิคนเดียวที่คิดถึงอนาคตข้างหน้า ดังนั้นถึงบางทีจะรู้สึกหมั่นไส้ แต่มิยูกิเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ของเรื่องจริงๆ หวังว่าเมื่อเป็นกัปตันแล้ว จะมีแง่มุมให้เรารู้สึกว่าเป็นมนุษย์บ้างนะ

แล้วก็ประทับใจพวกปีหนึ่งขึ้นปีสองด้วย มันก็จริงอย่างเขาว่า รุ่นพี่แพ้ไปก็จริง แต่อย่างน้อยก็ได้ลงแข่ง ตอนนี้ต่างหากคือเวลาที่พวกตัวสำรองจะได้ลงสนามบ้าง เราลืมคิดถึงแง่นี้ไปจริงๆนะ อ.เทราจิมะ ตีให้เราซาโตริ (แอบเว่อร์ไปนิด) รอย่างไรก็ตาม โอฟุริก็ยังเป็นการ์ตูนเบสบอลที่เขียนถึงความเจ็บใจของปีสามได้ดีที่สุดตั้งแต่เราอ่านมาอยู่ดี

ตอนเขียนถึงเล่ม 13-14 บอกว่ารู้สึกสำนวนแปลดีขึ้น กลับมางวดนี้สรุปว่าคงเพราะอ่านจนชินมากกว่า เพราะขึ้นเล่ม 15 ก็ตะหงิดอีก จากนั้นพออ่านถึงเล่ม 20 กว่าก็เริ่มชินอีก กล่าวได้ว่าสำนวนแปลไม่ได้เลวร้ายอะไร อาจจเป็นที่ตัวเรามากกว่า (เหรอ?)

ศัพท์เบสบอลญี่ปุ่นกับอเมริกันบางจุดมีแตกต่างกันทำให้เรางงๆอยู่ อย่างลูกครอสไฟร์นี่ไม่เคยได้ยินนะว่าเป็นอย่างในการ์ตูน

Cr. ภาพ : เว็บไซต์ SIC

Create Date :03 สิงหาคม 2558 Last Update :11 กรกฎาคม 2559 20:39:52 น. Counter : 5186 Pageviews. Comments :6