bloggang.com mainmenu search


“Don't let the bastards grind you down.”




The Handmaid's Tale - Margaret Atwood
มีแปลไทยชื่อ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ สนพ. Library House


จากโลกสวยลาเวนเดอร์ ก็ต่อด้วยสิ้นหวังแบบดิ่งเหว

ไล่เพดดีกรีก่อน The Handmaid's Tale เป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่เขียนขึ้นในปี 1985 ได้รางวัล Arthur C. Clarke Award ได้เข้าชิง Nebula Award, Booker Prize, Prometheus Award เคยถูกสร้างหนัง ทำละครโอเปร่า และเมื่อเร็วๆนี้ที่สร้างเป็นทีวีซีรี่ส์ ก็กวาดรางวัล Emmy มาเพียบ รวมถึง Outstanding Drama Series

ในโลกดิสโทเปียที่อเมริกากลายเป็นสาธารณรัฐกิเลียด ผู้หญิงถูกกดให้ไร้สิทธิเสรีภาพ สังคมยึดถือความคิดแบบคริสต์ยุคเก่าอย่างเคร่งครัด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นความผิดขั้นแขวนคอ ผู้ชายที่ยังหนุ่มไม่มีสิทธิ์ได้อยู่กับผู้หญิง แต่ในยุคที่สารพิษส่งผลให้ผู้คนกลายเป็นหมัน รัฐได้คัดเลือกสตรีในวัยเจริญพันธุ์กลุ่มหนึ่งมาล้างสมอง และยกให้เป็นแม่พันธุ์ของเหล่าตระกูล "ผู้บัญชาการ" อันได้แก่เหล่าชายชราผู้มีอำนาจในคณะปกครอง สิ่งมีค่าที่สุดในตัวเธอคือรังไข่และมดลูก หน้าที่หลักของพวกเธอคือตั้งท้อง และตัดขาดจากอารมณ์ใดๆทั้งปวง สตรีเหล่านี้สวมชุดแดงกรอมเท้า หมวกขาวปีกกว้างบังหน้า และถูกเรียกว่า Handmaid

พูดง่ายๆคือให้นึกถึงประเทศมุสลิมเคร่งๆ ที่บิดเบี้ยวยิ่งกว่า ขอให้นึกถึงปฏิวัติอิหร่าน แต่เลวร้ายลงสองร้อยเท่า

ปัญหาก็คือฉากมันเป็นอเมริกา เราเลยรู้สึกว่าโลกที่ผู้เขียนสร้างมันโคตระ extreme คือถ้าการปฏิวัติผ่านมาแล้วสัก 20 ปี ยังพอว่า แต่ในเรื่องเพิ่งผ่านมา 3 ปีเท่านั้น มันเหลือเชื่อเกินไป

และผู้เขียนไม่ได้พยายามจะอธิบายกลไกของกิเลียดให้ฟังเท่าไหร่ เราไม่รู้ว่าการปกครองเป็นยังไง ดินแดนอาณานิคมคือที่ไหน ระบบสังคมก็ไม่ค่อยชัด ขอชมว่าผู้เขียนสร้างโลกได้โอเค แต่จบเล่มแล้วเรายังไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไหร่

แต่นิยายพวกนี้อย่าไปสนใจเรื่องตรรกะ ถูกไหม อย่าง 1984 หรือ Fahrenheit 451 ก็ประมาณนี้แหละ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคืออนาคตที่ผู้ชายกดขี่ริดรอนสิทธิเสรีภาพผู้หญิงต่างหาก

ใช่ว่าเราจะตาบอดกับประเด็นของผู้เขียน แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนมองโลกในแง่ร้ายเกินไปอยู่ดี ในเรื่องคล้ายๆจะบอกว่าผู้ชายในโลกเลวเกือบหมดทุกคน หรือไม่งั้นก็โง่เง่า ไร้หัวใจ และไม่มีกระดูกสันหลัง

ไม่มีความเป็นไปได้ที่ผู้ชายและผู้หญิงจะช่วยกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

อ่านแล้วละเหี่ยใจ

สิ่งที่ทำให้เราอ่านได้จนจบ (ด้วยความเร็วสูง) คืออยากรู้ว่าโลกมันจะบัดซบได้ถึงขนาดไหน ผู้เขียนค่อยๆแพลมออกมา สับขาหลอก เล่าเรื่องตัดสลับโดยไม่บอกล่วงหน้า ก็พยายามแกะรอยตามไปเรื่อยๆ วิธีการเขียนแบบมุมมองบุคคลที่ 1 ก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงสภาวะจิตใจของคนที่อยู่ในสถานการณ์กดดันบีบคั้นได้ดี ตรงนี้ผู้เขียนเก่งมาก

แต่หนังสือที่ดีสำหรับเราคือการได้ดำดิ่ง ได้เหมือนเข้าไปอยู่ในโลกนั้น ได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง ในขณะที่หนังสือที่เฉยๆคือ เราเป็นผู้ชมอยู่ห่างๆ สำหรับเรามันเปรียบเสมือนดูหนังโรง กับดูละครเวทีจากแถวหลังสุด สำหรับ The Handmaid's Tale จบแล้วก็คือจบ เราไม่ผูกพันกะตัวละครตัวไหนเลย

สำนวนภาษา เฉยๆ มี quote ดีๆบ้างเป็นระยะ แต่การดำเนินเรื่องหลายส่วนเยิ่นเย้อ ตอนแรกๆเรามึนนิดหน่อยด้วย เพราะทั้งเรื่องเป็นการเล่าความของนางเอก โดยไม่มีเครื่องหมายคำพูดเลย แต่อ่านไปสักพักก็ชิน

แต่ถามว่าจบเล่มแล้วได้อะไร...

น่าจะเป็น ได้ขึ้นชื่อว่าอ่านวรรณกรรมชื่อดังเรื่องนี้แล้ว

ยอมรับแต่โดยดีว่าเราเป็นพวกไร้สมองและตื้นเขิน ขออภัยแฟนๆเรื่องนี้ด้วย

2.5 ดาว



---
โจทย์บิงโก :
มาใหม่ไม่ดอง, สร้างเป็นหนัง/ละคร, หนังสือในหนังสือ (ไบเบิล), นามปากกาไม่ไทย, นักเขียนที่ไม่เคยอ่าน, เกี่ยวกับอนาคต (อิงจากสมัยของผู้เขียน)
Create Date :03 มกราคม 2561 Last Update :4 มกราคม 2561 7:31:10 น. Counter : 4295 Pageviews. Comments :4