ครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำ 13,500 ล้านบาทผบ.ทร.เตรียมไปเยือนจีนลงนามซื้อจีทูจี



ครม.อนุมัติซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท โฆษกเผยเหตุไม่มีลับลมคมในเป็นเรื่องความมั่นคง พล.อ.ประวิตรส่งเรื่องให้ทัพเรือพิจารณารายละเอียด ผบ.ทร.เตรียมไปลงนามซื้อแบบรัฐต่อรัฐและทยอยจ่าย

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ตามที่กองทัพเรือเสนอ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวจริง โดยจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ยืนยันว่าไม่มีอะไรเป็นลับลมคมใน การจัดซื้อเป็นงบผูกพันไม่ได้จ่ายเงินครั้งเดียว แต่จะทยอยจ่าย

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในที่ประชุมว่า มีความจำเป็นต้องจัดซื้อ เพราะเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ ไม่ใช่อยากได้ตามประเทศอื่น แต่กองทัพเรือประเมินจากภัยคุกคามของประเทศที่มีอาณาเขตติดกับไทย ประเมินจากความมั่นคงทางท้องทะเล จึงต้องมีการศึกษาแนวทางการป้องกันทางทะเล เพื่อการป้องกันภัยคุกคามที่มีศักยภาพเหนือกว่า

“ประเทศเราอยู่ติดทะเล วันหน้าไม่มีสิ่งที่แน่นอน เราจึงต้องมีศักยภาพเพื่อป้องกันภัย และการสั่งซื้อไม่ใช่ว่าอนุมัติไปแล้วจะได้ใน 3- 5 วัน แต่ต้องรอหลายปี ทั้งนี้ เป็นการซื้อลำเดียวก่อน ส่วนลำต่อไปอยู่ที่กองทัพเรือ อย่างไรก็ตามที่โฆษกฯไม่ได้แถลงข่าว เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเอกสารลับที่สุดหรือมุมแดง และเป็นโหมดงานด้านความมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องแถลง แต่ยืนยันว่าไม่มีลับลมคมใน”พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

สำหรับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

เรื่องนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.ได้อนุมัติแล้ว พล.อ.ประวิตรได้นำโครงการดังกล่าวส่งกลับไปยังกองทัพเรือ เพื่อให้พิจารณาระเบียบวาระในการเซ็นสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย จะเดินทางไปเยือนจีนเพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในเร็วๆ นี้ รายงานข่าวเปิดเผยว่าก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะนำโครงการดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม. สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ติดต่อสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เนื่องจากจีนเองเตรียมจะต่อเรือดำน้ำชนิดเดียวกันที่ขายให้ไทยไว้ใช้เอง และอยู่ระหว่างการตีเส้นเรือ และจะถือโอกาสนี้ต่อเรือ ไปพร้อมๆ กัน

เรือดำน้ำ (submarines)

เรือดำน้ำ เป็นเรือที่ใช้ในสงคราม สร้างจากเหล็กแต่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ภายใต้ผิวน้ำ เรือดำน้ำ ถูกนำมาใช้ในการสงครามและการค้นคว้าสำรวจใต้ทะเลลึกในบริเวณที่มนุษย์เราไม่สามารถดำลงไปได้ด้วยการสวมเพียงชุดดำน้ำ ด้วยคุณสมบัติที่พิเศษเหนือกว่ายานพาหนะชนิดอื่นคือ สามารถที่จะอยู่ได้ทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ นับ

ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1620 ที่เรือดำน้ำลำแรกถูกสร้างขึ้นมา ขณะนั้นเรือดำน้ำสามารถจุคนได้เพียง 12 คน ดำน้ำได้ลึกเพียง 4.5 เมตร และเคลื่อนที่ใต้น้ำได้เพียง 8 กิโลเมตรก่อนที่จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำ

ปัจจุบันเรือดำน้ำสามารถจุคนได้ถึง 150 คน สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานนับเดือน ด้วยขนาดที่ใหญ่โตจนสามารถจุคนได้มากขนาดนี้ เรือดำน้ำมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ตัวมันดำลงใต้น้ำได้และกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้อีก เรือดำน้ำถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถอยู่ในน้ำลึกได้ ด้วยตัวลำเรือที่ถูกออกแบบให้มีผนังสองชั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกเรือสามารถอยู่ในเรือได้อย่างปกติ แม้จะอยู่ในระดับความลึกมากเพียงใดก็ตาม และสามารถอยู่ได้นานจนกว่าอากาศและอาหารจะไม่เพียงพอ

ปัจจุบันเรือดำน้ำถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เราสร้างเรือดำน้ำขนาดที่เล็กสามารถดำน้ำในระดับที่ลึกมาก เพื่อทำงานเฉพาะกิจบางอย่าง เช่น การสำรวจซากเรือโบราณ, การวางสายเคเบิลใต้น้ำ, การหาร่องรอยของแผ่นดินไหว และการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ซึ่งทำให้มนุษย์เราสามารถจะเข้าถึงโลกใต้ทะเลที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 26 เมษายน 2560    
Last Update : 26 เมษายน 2560 8:13:09 น.
Counter : 259 Pageviews.  

เลขาธิการนายกรัฐมนตรียืนยันไล่ออกจากราชการ“ธาริต เพ็งดิษฐ์”มีผล 3 เมษายน 2560 ไม่ได้บำนาญ



เลขาธิการนายกรัฐมนตรีชี้แจงไล่ออก ธาริต เพ็งดิษฐ์ มีผลตั้งแต่ 3 เมษายน 2560 เหตุร่ำรวยผิดปกติ 346 ล้านบาทช่วงเป็นอธิบดีดีเอสไอ เผยเป็นไปตามการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช.ทุจริตต่อหน้าที่เมื่อถูกไล่ออกไม่มีบำเหน็จบำนาญ

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการนายธาริต เพ็งดิษฐ์ว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า นายธาริตร่ำรวยผิดปกติเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ และมีหนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท

ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติแล้วให้ประธานป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการสั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

พล.อ.วิลาศ กล่าวว่า แต่เดิมนายธาริตดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง ที่ 8/2557 ให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามลำดับ เรื่องนี้จึงเป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงานป.ป.ช.ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้ให้ความเห็นสอดคล้องไปแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ว่าการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 25 เมษายน 2560    
Last Update : 25 เมษายน 2560 8:52:26 น.
Counter : 290 Pageviews.  

'นิด้าโพล' เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยแก้กฎหมายห้ามนั่งท้ายรถกระบะ-แค็บ ชี้ให้ยึดวิถีชีวิตคนไทย



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “วิถีชีวิตคนไทยกับกฎหมายว่าด้วยรถกระบะ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18 – 21 เมษายน 2560 จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการห้ามนั่งในแค็บและการนั่งท้ายรถกระบะ

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้รถกระบะของประชาชน (การใช้งาน/การเป็นเจ้าของ/การนั่งโดยสาร) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.16 ระบุว่า ใช้รถกระบะ ขณะที่ ร้อยละ 25.84 ระบุว่า ไม่ได้ใช้รถกระบะ โดยในจำนวนผู้ที่ใช้รถกระบะนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.22 ระบุว่า ใช้รถกระบะมีแค็บ  2 ประตู รองลงมา ร้อยละ 29.02 ระบุว่า ใช้รถกระบะ 4 ประตู และร้อยละ 17.58 ระบุว่า ใช้รถกระบะไม่มีแค็บ

ด้านการรับรู้ของประชาชนก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 เกี่ยวกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ว่า รถกระบะที่จดทะเบียน  เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (ป้ายสีขาว ตัวอักษรสีเขียว) และเดินทางบนถนนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงระหว่างจังหวัด ทางหลวงระหว่างอำเภอ ทางหลวงชนบท และทางหลวง “ห้าม” นั่งท้ายกระบะ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท ในภาพรวม พบว่า ร้อยละ 52.32 ระบุว่า ไม่ทราบมาก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ขณะที่ ร้อยละ 47.68 ระบุว่า ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ผู้ที่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบและทราบ ใกล้เคียงกัน โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 50.81 ระบุว่าไม่ทราบ และ  ร้อยละ 49.19 ระบุว่าทราบ ขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบสูงกว่าผู้ที่ทราบ โดย ร้อยละ 56.66 ระบุว่าไม่ทราบ และ  ร้อยละ 43.34 ระบุว่าทราบ

ด้านการรับรู้ของประชาชนก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ว่า รถกระบะมีแค็บ “ห้าม” นั่งในแค็บ เพราะส่วนที่เป็นแค็บไม่ได้ออกแบบ ให้เป็นที่นั่ง แต่ไว้สำหรับใส่สิ่งของ มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.92 ระบุว่า ไม่ทราบมาก่อนหน้าการประกาศใช้ ม. 44 ขณะที่ ร้อยละ 36.08 ระบุว่า ทราบ  เมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนของผู้ที่ไม่ทราบสูงกว่าผู้ที่ทราบ โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 63.43 ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 36.57 ระบุว่าทราบ ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ ร้อยละ 65.33  ระบุว่าไม่ทราบ และ ร้อยละ 34.67 ระบุว่าทราบ

      สำหรับความคิดเห็นของประชาชน หากจะให้มีการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.36 ระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย และ ร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อพิจารณาจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ พบว่า ทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้รถกระบะ มีสัดส่วนผู้ที่เห็นด้วยสูงกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่ใช้รถกระบะ ร้อยละ 87.70 ระบุว่า  เห็นด้วย และร้อยละ 10.36 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถกระบะ ร้อยละ 70.90 ระบุว่า เห็นด้วย  และร้อยละ 23.84  ไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึงเหตุผลของประชาชนที่เห็นด้วย กับการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และ การห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.67 ระบุว่า บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัวเยอะ รองลงมา ร้อยละ 57.68 ระบุว่า บางครอบครัวจำเป็นต้องใช้รถกระบะในการใช้งานแบบเอนกประสงค์ ทั้งโดยสาร ขนของ ร้อยละ 45.01 ระบุว่า บางคนมีงบประมาณจำกัดในการซื้อรถ  ร้อยละ 10.94 ระบุว่า จะได้ช่วยชาติประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง ร้อยละ 7.39 ระบุว่า เป็นการป้องกันการถูกตำรวจนอกรีต ขมขู่ รีดไถ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหากินกับประชาชน ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ประชาชนไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และร้อยละ 1.92 อื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายล้าสมัย  ควรเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป, เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ  เพราะการนั่งแค็บหรือท้ายกระบะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ควรแก้ไขปัญหาการขับรถประมาท  เช่น เมาแล้วขับ หรือขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

สำหรับเหตุผลของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย กับการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และ การห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชน  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.73 ระบุว่า เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน รองลงมา ร้อยละ 39.77 ระบุว่า ประชาชนยังมีทางเลือกอื่น เช่น การติดตั้งคอก หรือราวกั้นเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้โดยสารยึดเกาะ และม่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 19.30 ระบุว่า  ควรปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมีมานานมากแล้ว แต่ที่ผ่านมาเป็นการผ่อนปรน คนไทยชอบทำอะไรตามใจตนเอง และร้อยละ 0.58  ระบุว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ขับขี่

ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย ต่อแนวทางการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.87 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งท้ายกระบะได้ แต่มีข้อจำกัด เช่น นั่งได้เฉพาะเส้นทางรอง จำกัดจำนวนคนที่นั่ง ใช้ความเร็วไม่เกินที่กำหนด หรือนั่งได้ในช่วงเทศกาล รองลงมา ร้อยละ 43.91 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งในแค็บได้ แต่มีข้อจำกัด  เช่น นั่งได้เฉพาะเส้นทางรอง จำกัดจำนวนคนที่นั่ง ใช้ความเร็วไม่เกินที่กำหนด หรือนั่งได้ในช่วงเทศกาล ร้อยละ 40.14 ระบุว่า ควรห้ามเฉพาะการนั่งขอบกระบะและฝาท้ายกระบะ ร้อยละ 22.05 ระบุว่า ควรแก้ไขให้สามารถนั่งในแค็บได้ แบบไม่มีข้อจำกัด ร้อยละ 20.12 ระบุว่า ควรแก้ไขให้รถกระบะ เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่สามารถนั่งท้ายรถกระบะได้ แบบไม่มีข้อจำกัด ร้อยละ 16.83 ระบุว่า ควรแก้ไขให้รถกระบะ เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลที่สามารถนั่งแค็บได้ โดยติดตั้งเข็มขัดนิรภัยภายในแค็บ ร้อยละ 1.93 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรทบทวนข้อกฎหมายและใช้หลักอื่น ๆ พิจารณาร่วมด้วย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ความเร็วที่ใช้ พื้นที่/เส้นทาง รวมไปถึงกฎหมายว่าด้วยการผลิตและออกแบบรถกระบะ ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน, และเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เมาแล้วขับ หรือขับรถเร็ว

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอแนะหรือมาตรการต่าง ๆ  เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบการใช้รถกระบะกับวิถีชีวิตของคนไทย กรณีถ้าหากไม่มีการแก้ไขกฎหมาย กรณี การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และการห้ามนั่งในแค็บ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.60 ระบุว่า ควรทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชน ผู้ใช้รถ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 22.32 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีทางออกหรือการเตรียมความพร้อมอย่างไร หากเริ่มมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้รถ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คาดเข็มขัดนิรภัย ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่นั่งขอบท้ายกระบะ หรือในแค็บ หรือหากต้องขนคนขึ้นท้ายกระบะ ต้องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานจราจรเป็นครั้ง ๆ หรือรายกรณีไป หรือ ติดตั้งคอก หรือราวกั้นเพิ่มเติม ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่

นอกจากนี้ ร้อยละ 15.28 ระบุว่า ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ร้อยละ 12.80 ระบุว่า ควรมีการกำกับดูแลให้ทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น ผู้ขายรถยนต์ ต้องชี้แจงให้ผู้ซื้อรถยนต์ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทรถยนต์  การใช้งาน จำนวนผู้โดยสารที่สามารถบรรจุได้ ส่วนใดที่ผู้โดยสารนั่งได้หรือไม่ได้ รวมไปถึงอุปกรณ์เข็มขัดนิรภัยด้วย ร้อยละ 12.08 ระบุว่า ควรมีแผนหรือมาตรการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถกระบะของประชาชน ให้ถูกกฎหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และร้อยละ 2.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐควรปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการให้การบริการแก่ประชาชน, บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด, และควรมีการหารือกับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 25 เมษายน 2560    
Last Update : 25 เมษายน 2560 5:13:01 น.
Counter : 391 Pageviews.  

กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดใน 1 พ.ค. ฝ่าฝืนถูกดำเนินคดี



กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีให้ลูกจ้างทำงานต้องได้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของวันปกติ

 

วันที่ 24 เม.ย. 2560 - นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 29 ได้กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย  จึงขอชี้แจงการปฏิบัติเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงาน  ในวันแรงงานแห่งชาติ และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น งานในกิจการโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง   เป็นต้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำ

อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวต่อว่า นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายมีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง นายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 24 เมษายน 2560    
Last Update : 24 เมษายน 2560 21:08:49 น.
Counter : 725 Pageviews.  

100 วันดอนัลด์ ทรัมพ์ หาเสียงง่ายแต่ทำได้ยาก หลังวันที่ 28 เมษายนอาจมี Government Shutdown คืออะไร ?



วันที่ 29 เมษายน 2017 ก็จะครบรอบ 100 วันการบริหารงานของรัฐบาลดอนัลด์ ทรัมพ์ มองง่ายๆดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาจะมีปัญหาเพิ่มมากกว่าการแก้ปัญหา เริ่มจากการถูกประท้วงตั้งแต่วันทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการเดินขบวนประท้วง สิ่งที่ทรัมพ์หาเสียงไว้พอจะนำมาปฏิบัติจริงก็ถูกต่อต้านในสภาคองเกรสดังเช่น โอบามาแคร์และการสร้างกำแพงชายแดน ตรงนี้จะนำไปสู่ที่เรียกว่า government shutdown ได้

 

ครั้งแรกว่าจะเขียนต่อเรื่องการเลือกตั้งพิเศษรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ต้องยกยอดถัดไปตอนหน้า เพราะมีเรื่องเร่งด่วนของสหรัฐอเมริกาเข้ามาก่อน  

กล่าวคือหลังวันที่ 28 เมษายน 2017 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาลสหรัฐก็จะหมดลง  ดังนั้นสภาคองเกรสจะต้องผ่านร่างกฎหมายงบประมาณให้ได้เพื่อที่จะได้มีเงินใช้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2017 โดยงบประมาณปี 2018 จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม

คราวนี้ก็เกิดปัญหาตามมากล่าวคือนายดอนัลด์ ทรัมพ์ ได้ขอเงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มใช้ก่อสร้างกำแพงชายแดนโดยรวมเข้าไปเป็น package ในงบประมาณครั้งนี้ นสพ.วอล สตรีท เจอร์นัล ออกสำรวจด้วยการซาวเสียงบรรดาส.ส.และวุฒิสมาชิกทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันที่เป็นผู้แทนของรัฐชายแดนซึ่งกำแพงจะถูกสร้างเริ่มจากรัฐเท็กซัส,นิว เม็กซิโก,อริโซนาและแคลิฟอร์เนีย 

คำตอบที่ได้ก็คือพวกเขาต่อต้าน หลายคนบอกว่าไม่ตอบคำถาม บางส่วนบอกว่าไม่ยืนยันที่จะให้ร่างกฎหมายผ่าน ในเขตชายแดนมีส.ส.9 คนและวุฒิสมาชิก 8 คนกล่าวคือวุฒิสมาชิกรัฐละ 2 คน

ใครที่ให้การสนับสนุนการสร้างกำแพงหรือผ่านงบประมาณอาจจะหลุดจากตำแหน่งได้ง่ายเพราะส.ส.เลือกตั้ง 2 ปี ครั้ง ส่วนวุฒิสมาชิกเทอมละ 6 ปี แต่ใครจะไปกล้าเสี่ยง  อย่าลืมว่าในแต่ละเขตพื้นที่แตกต่างกัน  ส.ส.หรือส.ว.ก็จะต้องดูแลฐานเสียงในพื้นที่ของตนให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้รับเลือกกลับเข้ามานั่งในสภาคองเกรสต่อไป

หากทะเล่อล่าไม่ดูตาม้าตาเรือ เมื่อหลุดไปแล้วนายดอนัลด์ ทรัมพ์ ก็ไม่สามารถช่วยให้กลับเข้ามานั่งในตำแหน่งได้

ดังนั้นเดือนพฤศจิกายน 2018 ก็ต้องมาดูเพราะช่วงนั้นมีการเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 435 ที่นั่งและเลือกวุฒิสมาชิก ฯลฯเรียกว่า Midterm  Election หากนายทรัมพ์ถูกต่อต้านอยู่แบบนี้อีก ก็เชื่อว่าส.ส.หลายคนของพรรครีพับลิกันอาจหลุดจากตำแหน่งได้ แล้วพรรคเดโมแครตก็จะกลายมาเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ  ขณะนี้พรรคเดโมแครตต้องการ 24 ที่นั่งจึงจะครองเสียงข้างมากได้

เอาล่ะ สมมติว่าร่างกฎหมายงบประมาณผ่านสภาผู้แทนราษฎรเพราะพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมาก ก็ยังจะต้องไปพบกับวุฒิสภา  รายการนี้หนักกว่าอีกเพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้เสียง 60 จาก 100 เสียงจึงจะถือว่าร่างกฎหมายผ่านวุฒิสภา ปัจจุบันพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากอยู่ 52 ต่อ 48  ดังนั้นจะต้องไปขอเสียงจากพรรคเดโมแครตอีก 8 เสียงจึงจะผ่านงบประมาณได้

อย่าว่าแต่ 8 เลย 1 เสียงก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า ตรงนี้ล่ะที่เป็นปัญหา ยกเว้นเสียแต่นายทรัมพ์จะถอนงบ 1.4 พันล้านดอลลาร์ออกไป เชื่อว่างบประมาณรายจ่ายจะผ่าน เพราะไม่มีใครอยากให้ government shutdown

นายมิค มัลวานีย์  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและบริหารจัดการให้สัมภาษณ์ว่าบรรดาผู้นำพรรครีพับลิกัน หรือ GOP leaders  ก็พยายามประสานให้งบประมาณผ่านสภาเพราะเป็น “นโยบายของประธานาธิบดีทีจะต้องทำเป็นอันดับต้นๆ”  

ขณะที่นางแนนซี เปโลซี ส.ส.เดโมแครต ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาตอบกลับมาว่าตอนที่นายทรัพม์หาเสียงบอกว่ารัฐบาลเม็กซิโกจะเป็นคนออกค่าก่อสร้าง “แต่เอาเข้าจริงๆทำเนียบขาวก็จะมาเอาเงินภาษีของประชาชนไปสร้างกำแพง เป็นเงินมหาศาล พรรคเดโมแครตจะต้องต่อต้านและเชื่อว่าพรรครีพับลิกัน (บางส่วน)ก็ต้องต่อต้านเหมือนกัน”

เรื่องนี้นายทรัมพ์เคยเสนอเมื่อเดือนมีนาคมขอ 1.4 พันล้านดอลลาร์ในก่อสร้างแรกและปีงบประมาณต่อไปขออีก 2.6 พันล้านดอลลาร์  สมาชิกพรรครีพับลิกันเห็นว่าวิธีการปฎิบัติด้วยการสร้างกำแพงกั้นหรืออะไรก็ตามแต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางชายแดน สมควรที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาดำเนินการ ทำให้ใช้เงินน้อยและมีประสิทธิภาพมากกว่า

โปรดสังเกตว่าพรรครีพับลิกันไม่ได้ปฏิเสธเรื่องความมั่นคงทางชายแดน แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ไปสร้างกำแพงเหมือนกำแพงเมืองจีน ควรจะหาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาป้องกันทางชายแดนด้วยงบประมาณที่น้อยกว่าไม่ดีหรอกหรือ นี่คือวิถีทางการเมืองที่น่าศึกษา เพราะสหรัฐเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีต่างๆ แต่กลับจะมาใช้วิธีการโบราณเหมือนแนวคิดโบราณๆของนายทรัมพ์ที่แกเก่งในด้านก่อสร้างโรงแรมหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นเพราะเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารให้รายละเอียดในงบประมาณปี 2017 จำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์ที่พ่วงเข้ามาเพื่อนำไปสร้างกำแพงจะดำเนินการได้ 48 ไมล์ ประกอบด้วยการสร้างกำแพงใหม่,สร้างสิ่งกีดขวางและ 14 ไมล์ใช้สร้างแทนรั้วเดิมที่มีอยู่แล้ว,การใช้เงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีใหม่และสร้างถนน เป็นต้น 

ชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกมีความยาว 1,989 ไมล์ หรือประมาณ 3,201 กิโลเมตร (ระยะทางจากจังหวัดเชียงรายไปถึงยะลา 1,857.9 กิโลเมตร ดังนั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกยาวกว่าเกือบเท่าตัว) นายทรัม์บอกว่ากำแพงเมืองจีนยังสร้างได้ไฉนเลยเขาจะสร้างไม่ได้ เออ-หากไม่บ้าก็เมาแล้ว และจะใช้เงินงบประมาณเท่าใดยังไม่มีตัวเลขแน่นอน ครบเทอมของนายทรัมพ์ก็ยังไม่ทราบว่าจะสร้างได้หรือไม่

คราวนี้ไปฟังเสียงของส.ส.ผู้อยู่ในพื้นที่ชายแดนบ้าง นายวิลล์ เฮิร์ด ส.ส.รัฐท็กซัส พรรครีพับลิกันและนางมาร์ธา แมคแซลลี ส.ส.รัฐอริโซนาพรรครีพับลิกันร่วมกันทำจดหมายชี้แจงต่อฝ่ายบริหารอาวุโสภายในพรรคว่า “ในฐานะที่เป็นส.ส.ในเขตพื้นที่ชายแดน เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางชายแดน รวมทั้งการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้สาธารณะมั่นใจในความปลอดภัยและการค้าทางชายแดน....แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีพันธะผูกพันกับประชาชนผู้เสียภาษี  อีกทั้งยังมีอีกหลายคำถาม (ที่ต้องการคำตอบ)”

เห็นหรือยังครับว่าจดหมายของส.ส.ทั้ง 2 คน ไม่ได้ปฎิเสธการสร้างความมั่นคงทางชายแดน แต่อ้างไปถึงเงินของประชาชนผู้เสียภาษีและยังมีคำถามอีกมากมายที่(รัฐบาล)จะต้องตอบ 

ส.ส.แมคแซลลีเป็นอนุกรรมาธิการความมั่นคงทางชายแดนแห่งสภาผู้แทนด้วยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กำแพงเป็นเพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆที่จะหยุดยั้งองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ เพราะพวกเขาสามารถลอดหรือข้ามเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้นเชื่อว่าการผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายที่มีเงื่อนไขสร้างกำแพง 1.4 พันล้านดอลลาร์ด้วยนั้นถือว่ายากยิ่งนัก

หันกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2017 ทั้งนายดอนัลด์ ทรัมพ์ และนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องดึงร่างกฎหมายที่จะเข้าไปทดแทน กฎหมาย Affordable Care Act หรือที่เรียกว่า“โอบามาแคร์” กลับออกมา เพราะเสียงที่จะลงคะแนนเพื่อลบล้างกฎหมายนี้ในสภาฯไม่ถึง ส่งเข้าไปก็เสียมวยเสียหมาแน่ จึงต้องดึงกลับ

“โอมามาแคร์”เป็นเรื่องการประกันสุขภาพของคนอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย,คนตกงาน ฯลฯจะสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ในราคาที่ไม่แพง  หากไม่มีประกันสุขภาพเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบ ตามความเป็นจริงแล้วไม่มีรัฐบาลประเทศไหนที่จะมาช่วยเรื่องรักษาพยาบาลประชาชนได้ทั้งประเทศ จึงจัดนโยบาย “โอบามาแคร์”ออกเป็นกฎหมายในปี 2010 และมีผลบังคับใช้ในปี 2014 เป็นต้นมา

ด้านหนึ่งรัฐบาลโอบามาผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง อีกด้านหนึ่งบริษัทประกันสุขภาพก็ไม่อาจปฏิเสธหรือเลือกปฏิบัติได้ เช่นบางคนเป็นมะเร็ง โดยทั่วไปบริษัทประกันสุขภาพไม่รับ แต่โอบามาแคร์รับ เป็นต้น จึงทำให้กลุ่มนายทุนฝ่ายพรรครีพับลิกันออกมาต่อต้านและต้องการล้มล้าง  โอบามาแคร์เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่นายดอนัลด์ ทรัมพ์ ประกาศยกเลิกในระหว่างการหาเสียง แล้วเป็นไง ทำได้ง่ายหรือ แล้วจะหานโยบาย “ทรัมพ์แคร์”มาทดแทนหรืออย่างไร

หากร่างงบประมาณไม่ผ่านสภาแล้ว หลังวันที่ 28 เมษายน รัฐบาลสหรัฐก็ไม่มีเงินจ่ายเรียกว่า government shutdown

ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐเกิดภาวะนี้ขึ้นมา 3 ครั้งประกอบด้วยช่วงปี 1995-1996 รวม 21 วัน,ช่วงปี 1978 รวม 18 วันและช่วงปี 2013 รวม 16 วัน  โดยวันที่ 1-16 ตุลาคม 2013 อันเป็นการเริ่มปีงบประมาณ 2014  สภาคองเกรสไม่ผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายทำให้ต้องต่อสู้กันจนกว่าจะถึงจุดที่ปรองดองกันได้ จนกระทั่งสภาผ่านร่างกฎหมายที่เรียกว่า Interim Appropriations Bill และลงนามโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา จึงทำให้การทำงานของรัฐบาลกลางกลับสู่ภาวะปกติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม

คำว่า  Government Shutdown ความหมายก็คือรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายงบประมาณอันเนื่องมาจากตกลงกันไม่ได้ในสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณได้

พนักงานของรัฐบาลกลาง 800,000 คนต้องยืดเวลารับเงินเดือนออกไป อีก 1.3 ล้านคนจะต้องมาทำงานแต่ไม่ทราบแน่นอนว่าจะได้จ่ายเมื่อใด ขณะที่บรรดาฝ่ายธุรกิจที่ขายสินค้าให้กับรัฐบาลหรือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างต่างๆก็จะต้องรอไปจนกว่าเงินงบประมาณจะผ่านสภาฯหรือตกลงกันได้   

ภายหลังจากรายจ่ายกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลายเดือน โพลของ Washington Post/ABC News ได้สอบถามประชาชนถึงกรณี shutdown พบว่าคนอเมริกัน 81 %ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น 86 % เห็นว่าภาพพจน์ของสหรัฐอเมริกาต่อสายตาชาวโลกเกิดความเสียหายและ 53 % ระบุว่าพรรครีพับลิกันที่มีเสียงข้างมากในสภาคองเกรสจะต้องโปร่งใส

สรุปแล้ว 100 วันของนายดอนัลด์ ทรัมพ์ ไม่มีอะไรง่าย

1.นโยบายห้ามคนมุสลิมเข้าประเทศก็ทำไม่ได้เพราะถูกฟ้องร้อง

2.นโยบายจะยกเลิกโอบามาแคร์ ก็ทำไม่ได้

3.นโยบายจะสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกก็ยังทำไม่ได้และไม่ทราบสภาคองเกรสจะอนุมัติเงินสร้างหรือไม่

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 24 เมษายน 2560    
Last Update : 24 เมษายน 2560 18:16:51 น.
Counter : 224 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.