หลีกเลี่ยงยาตีกันอย่างไรในผู้สูงอายุ โดย ผศ. (พิเศษ) ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณ



ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้ต้องกินยาเป็นประจำ เพื่อควบคุมอาการของโรค

 

บางคนอาจเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าหนึ่งโรคจึงมียาที่ต้องกินหลายชนิดซึ่งทำให้มีโอกาสที่ยาจะเกิดอันตรกิริยาต่อกัน (ยาตีกัน) ได้ นอกจากนี้เมื่อเกิดอาการป่วยใดๆขึ้นมาผู้สูงอายุอาจไปหาซื้อยามาใช้เอง หรือมีผู้แนะนำให้ใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆก็จะทำให้มีโอกาสที่ยาที่ซื้อมาใช้เอง หรือยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆจะตีกันกับยาที่ใช้อยู่เป็นประจำได้

ข้อมูลจาก รศ.ดร.ภญ.กนกพร นิวัฒนนันท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงตัวอย่างของยาตีกันที่อาจเกิดขึ้น เช่น ถ้าผู้สูงอายุมีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและได้รับยาฆ่าเชื้อเช่น ซิโปรฟลอกซาซิน ถ้ากินร่วมกับยาลดกรดที่มีอะลูมินั่ม แมกนีเซียม หรือ แคลเซียม หรือ ยาเสริมธาตุเหล็ก หรือ ดื่มนม จะทำให้ยาฆ่าเชื้อนั้นไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจึงไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ถ้าจำ เป็นต้องใช้ร่วมกันให้กินยาฆ่าเชื้อก่อน หลังจากนั้นสองชั่วโมงจึงกินยาลดกรด หรือ ยาเสริมธาตุเหล็ก เพื่อเลี่ยงการเกิดยาตีกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งของยาตีกันที่ผู้สูงอายุควรทราบ คือ ยาลดไขมันซิมวาสแตติน ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น ซิมเม็กซ์ เบสแตติน ถ้าได้รับร่วมกับยาลดไขมันอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ เจมไฟโบรซิล ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น โลปิดไฮดิล อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงและเกิดผลเสียต่อไตได้ นอกจากนี้ยาลดไขมัน ซิมวาสแตติน ยังตีกันกับยาอื่นได้อีก เช่น ยาฆ่าเชื้อกลุ่มอีริโทรมัยซิน ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานที่ชื่อ อิตราโคนาโซล ยาลดอาการอักเสบของเก๊าท์ที่ ชื่อ คอลชิซิน ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงเช่นเดียวกับเจมไฟโบรซิล ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาซิมวาสแตตินและยาลดไขมันกลุ่มเดียวกันนี้ ต้องระมัดระวังโอกาสเกิดยาตีกันกับยาอื่น

สำหรับผู้ที่ใช้ยากันเลือดแข็ง ชื่อ ยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาที่มีโอกาสเกิดยาตีกันกับยาอื่นได้มาก ต้องระมัดระวังในการซื้อยาอื่นๆ ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมต่างๆมาใช้ ตัวอย่างยาที่พบได้บ่อยว่าเกิดตีกันกับยาวาร์ฟาริน คือ ยาแก้ปวดแก้อักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาที่แนะนำให้ต้องกินหลังอาหารทันที ผลของการเกิดยาตีกันจะทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติในอวัยวะต่างๆ เช่น ที่ผิวหนังเห็นเป็นจ้ำเลือด หรืออาจเกิดเลือดออกที่ข้อ หรือในช่องท้องหรือที่สมองได้ นอกจากนี้การใช้ยาสมุนไพรต่างๆ เช่น ขมิ้นชัน บัวบก ฟ้าทะลายโจร หรือ อาหารเสริม เช่น น้ำมันปลาร่วมกับยาวาร์ฟาริน ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดเลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ยาที่ใช้อยู่เกิดตีกันอาจทำได้โดยใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าจำเป็นต้องซื้อยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการใดๆให้แจ้งเภสัชกรประจำร้านยาทุกครั้งว่าท่านใช้ยาใดเป็นประจำ หรือนำยาที่ใช้ประจำไปด้วย โดยเฉพาะถ้ายาที่ท่านใช้อยู่เป็นยาที่มีความเสี่ยงสูงและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ยากันเลือดแข็ง ชื่อ ยาวาร์ฟาริน ยารักษาโรคหัวใจ ชื่อ ยาดิจอกซิน ยารักษาโรค หืด ชื่อ ธีโอฟิลลิน เป็นต้นนอกจากนี้ถ้าท่านต้องการใช้ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมใดๆร่วมกับยาที่ใช้เป็นประจำ ต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรก่อน ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวท่านเอง

สภาเภสัชกรรม ร่วมกับ องค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จัดกิจกรรม “สัปดาห์เภสัชกรรม ประจำปี2560” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ยาและสมุนไพรอย่างปลอดภัยในการรักษาโรค ภายใต้คำขวัญ “ใช้ยาและสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย…ปรึกษาเภสัชกร” โดยจะจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องยาและสมุนไพรในโรงพยาบาล ร้านยาและหน่วยงานบริการสาธารณสุขพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24-30 มิถุนายน 2560 นี้ ให้ประชาชนผู้ใช้ยา ขอรับคำปรึกษากับเภสัชกรในสถานพยาบาลหรือร้านยาใกล้บ้าน


ที่มา thaitribune




Create Date : 24 มิถุนายน 2560
Last Update : 24 มิถุนายน 2560 1:14:02 น. 0 comments
Counter : 327 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.