bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม, นครปฐม Thailand
พิกัด GPS : 13° 49' 13.43" N 100° 2' 39.77" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 
 





ช่วงนี้ไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหนเลยตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม  อยู่บ้านตลอดครับ  ออกไปหน้ารั้วบ้านยังไม่ค่อยออกไปเพราะก่อนเข้าประตูบ้านจะต้องพ่นแอลกอฮอร์ทั้งตัว  ถูเจลทีมือถึงข้อศอก  แล้วก็รีบเข้าไปล้างมือด้วยสบู่พร้อมกับร้องเพลง  “ช้าง  ช้าง  ช้าง”  2 รอบ  อิอิอิ
 



 
ช่วงนี้เลยเป็นการเคลียร์คลังรูปสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปมา  (นาน)  แล้ว  แต่ยังไม่ได้เอามาโพสครับ
 
 



วันนี้ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่เจ้าของบล็อกได้ไปเที่ยวมาก่อนที่น้องวิทจะมาเยี่ยมเมืองไทยครับ
 




 
 

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์  พระราชวังสนามจันทร์  นครปฐม
 




 

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์  พระราชวังสนามจันทร์  เป็นพระที่นั่งที่อยู่คู่กันกับพระที่นั่งวัชรีรมยา 
 


 
ความหมายของชื่อ 
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์   หมายถึงสถานที่อันขุนนางพรั่งพร้อมกันเข้าเฝ้าฯ  ซึ่งในอดีตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  จะพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯ  เพื่อปรึกษาข้อราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งองค์นี้
 













 

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์  สร้างแล้วเสร็จราวปี พ.ศ. 2460  หรือ  10  ปี  หลังจากสร้างพระที่นั่งวัชรีรมยาแล้วเสร็จ  เป็นพระที่นั่งที่มีส่วนเชื่อมต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา   เป็นอาคารทรงไทยศาลาโถงองค์ใหญ่ชั้นเดียว  มุงหลังคากระเบื้องเคลือบซ้อนสองชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์ 


 
 
หน้าบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์อยู่ทางทิศเหนือ  เป็นรูปหลักท้าวอมรินทราธิราชประทานพรประทับอยู่ในปราสาทสามยอด  (เวชยันต์ปราสาท)  พระหัตถ์ขวาทรงวชิระ  พระหัตถ์ซ้ายทรงประทานพร  แวดล้อมด้วยบริวารซึ่งประกอบด้วยเทวดาและมนุษย์  5  หมู่  ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวก็พ้องกับนามพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์   ที่สื่อถึง
 “ความสามัคคี”  และสอดรับกับพระคาถาใน  ‘พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน’  ว่า  “...สัพเพสัง สังฆภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา...”
 


 
พื้นท้องพระโรงยกสูงจากพื้นดินประมาณ  1  เมตร  มีอัฒจันทร์   2   ข้างต่อกับพระที่นั่งวัชรีรมยา  มีพระทวารเปิดถึงกัน  2  ข้าง  ซุ้มพระทวารทั้ง  2  และซุ้มพระบัญชรใกล้ ๆ  พระทวารทั้ง  2  ข้างแกะสลักเป็นรูปเกียรติมุข  ลงรักปิดทอง  ภายในมีเสานางจรัลแบ่งเขตท้องพระโรงกับเฉลียงส่วนที่เป็นเฉลียงลดต่ำลงมา  เสานางจรัลมีลักษณะเป็นเสาทรง 8 เหลี่ยมเช่นเดียวกับพระที่นั่งวัชรีรมยา  ทำเป็นลายกลีบบัวจงกลโดยรอบเสาตลอดทั้งต้น  เพดานพระที่นั่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเพดานชั้นล่างพระที่นั่งวัชรีรมยา  คือทาเพดานสีแดงเข้มปิดทองฉลุเป็นลายดาวประดับมีโคมขวดห้อยอย่างงดงาม







 

 


 

พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงใช้เป็นสถานที่จัดงานหลายอย่าง เช่น  งานสโมสรสันนิบาต  เสด็จฯ  ออกพบปะขุนนาง  เป็นสถานที่ฝึกอบรมกองเสือป่า  และใช้เป็นที่แสดงโขนละครต่าง ๆ  เนื่องจากพระที่นั่งองค์นี้กว้างขวางและสามารถจุคนเป็นจำนวนมาก  จึงมีชื่อเรียกติดปากว่า  "โรงโขน"  ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้อัญเชิญพระมหาเศวตฉัตรมาประดิษฐานไว้ภายในนี้ด้วย



 
 
เมื่อวันที่  21  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2456  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้ในพระราชพิธีพระราชทานเหรียญตราแก่นายทหาร  และทรงประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแก่ทหารรวมทั้งเสือป่า  และวันที่  10 มิถุนายน  พ.ศ.  2465 มีงานพระราชทานเลี้ยงแก่  พระอินทราณี  เนื่องในวันเกิด  และให้ร่วมประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการ  มีพระราชดำรัสว่าวันนี้พระองค์จะทรงหลั่งพระมหาสังข์แก่พระอินทราณี  และทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาขึ้นเป็น  พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี  (พระยศในขณะนั้น)
 
















นำเพลงที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 6  มาฝากอีกหนึ่งเพลงครับ



เพลง
 "สีชัง"  นี้ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี  ม.ร.ว. ถนัดศรี  สวัสดิ์วัฒน์  ขับร้องไว้เป็นท่านแรก  



เพลงสีชัง  มีที่มาจากจากพระราชนิพนธ์ตอนต้นของบทกาพย์ห่อโคลงเห่เรือชุดเห่ชมทะเล  
เป็นบทชมทิวทัศน์พ้นสมุทรปราการไปถึงชลบุรี



๑)เห่ชมชายทะเล




   "สีชังชังชื่อแล้ว          อย่าชัง
อย่าโกรธพี่จริงจัง         จิตต์ข้อง
ตัวไกลจิตต์ก็ยัง            เนาแนบ
เสน่ห์สนิทน้อง             นิจโอ้อาดูร

   สีชังชังแต่ชื่อ            เกาะนั้นฤๅจะชังใคร
ขอแต่แม่ดวงใจ            อย่าชังชิงพี่จริงจัง
  ตัวไกลใจพี่อยู่           เป็นคู่น้องครองยืนยัง
ห่างเจ้าเฝ้าแลหลัง       ตั้งใจติดมิตร์สมาน"










 



136133140
 
Create Date :12 กรกฎาคม 2564 Last Update :12 กรกฎาคม 2564 11:34:46 น. Counter : 2282 Pageviews. Comments :22