เมื่อฮิตเลอร์ขโมยกระต่ายสีชมพู: Kerr




สงครามโลกครั้งที่สองของแต่ละคนมีวันเริ่มต้นต่างกัน


เพิ่งอ่านเรื่องนี้จบครับ ...ก่อนนี้มีคนแนะนำหลายคน บอกว่าเป็นหนังสือน่าอ่าน ติดใจตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว แต่ก็คลาดกันไปหลายครั้งแล้วกว่าจะได้เล่มนี้มา อ่านแล้วถือว่าใช้ได้ครับ เอามาเล่าสู่กันฟัง

..........


วันเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนนับวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 วันที่เยอรมันบุกโปแลนด์ เป็นวันเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คนอีกจำนวนหนึ่งอาจบอกว่าวันที่ 7 กรกฎาคมค.ศ. 1937 ที่ญี่ปุ่นบุกจีน เป็นวันเริ่มสงครามครั้งนี้ และอีกหลายคนอาจบอกว่า มันเกิดขึ้นกก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก ในปี ค.ศ. 1931 ที่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรีย

แต่สำหรับเด็กหญิงอายุเก้าขวบคนหนึ่ง สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1933

ฮิตเลอร์ขโมยกระต่ายสีชมพูของเธอไปจริงหรือ ?

...จริง !

หนังสือเขียนโดย Judith Kerr เมื่อปี ค.ศ. 1971 แปลเป็นไทยโดย สุพรรณิการ์ สำนักพิมพ์กอไผ่ พ.ศ. 2525 จำนวน 272 หน้า

..........


ในเรื่อง Kerr ใช้ตัวละครเด็กผู้หญิงชาวยิวคนหนึ่งชื่อแอนนา เป็นตัวแทนของตัวเธอเองเล่าเรื่องทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาแทบทั้งหมดเป็นมุมมองของเด็กหญิงอายุ 9 ขวบผู้นี้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาร่วมกันกับครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อผู้เป็นนักเขียน แม่ซึ่งทำงานบ้านไม่เป็นเลย พี่ชายอายุ 12 ขวบ และตัวเธอเอง

เหตุเกิดเมื่อพ่อของแอนนาผู้เขียนบทความต่อต้านพรรคนาซีเริ่มรู้สึกได้ถึงภัยอันตรายที่เกิดจากการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี ผู้ที่มีนโยบายชาตินิยมและพร้อมจะกำจัดยิวทุกคนให้พ้นไปจากประเทศ พ่อของแอนนาจึงหาทางพาตัวเองและครอบครัวหนีออกไปจากเงื้อมือของพรรคนาซี ซึ่งนั่นก็คือทั้งครอบครัวต้องหนีออกไปจากประเทศเยอรมัน

จากครอบครัวฐานะดี มีบ้านหลังใหญ่ มีคนงานและแม่บ้านคอยดูแล กลับต้องมาจัดกระเป๋าเดินทางและตีตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางไปลี้ภัยยังสวิตเซอร์แลนด์ เด็กหญิงแอนนาไม่สามารถนำของเล่นและตุ๊กตาติดตัวไปได้มากนัก เธอจำเป็นต้องทิ้งตุ๊กตากระต่ายสีชมพูไว้ที่บ้าน พร้อมกับความหวังว่าสักวันเธอจะกลับไปเล่นกับมันอีกเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

แต่เมื่อมาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แอนนาก็ทราบข่าวร้ายว่าฮิตเลอร์ "ริบทรัพย์" ของครอบครัวเธอในสวิตเซอร์แลนด์ทั้งหมด ...ฮิตเลอร์ขโมยกระต่ายสีชมพูของเธอไปกอดเล่นเสียแล้ว

แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากหลายประการที่ครอบครัวของเธอต้องพบตลอดเวลาหลายปีที่ใช้ชีวิตเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ ทั้งฐานะทางการเงินที่สั่นคลอน แม่ผู้ต้องเริ่มเรียนการทำอาหารและงานบ้าน รวมไปถึงการเย็บปักถักร้อย และที่สำคัญคือเด็ก ๆ ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อนใหม่ ภาษาใหม่ โรงเรียนใหม่ และอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่สิ่งดีเสียทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

จากความตื่นเต้นว่าจะได้เดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง กลายเป็นความสงสัยและหวาดกลัวว่าสิ่งต่อไปที่จะพบนั้นจะเป็นเช่นไร มีอะไรเลวร้ายรอพวกเขาอยู่ในเมืองข้างหน้าหรือไม่ ?

สำหรับเด็กหญิง 9 ขวบ นั่นเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตเลยทีเดียว...

..........


Judith Kerr เขียนเรื่องนี้เมื่อปี ค.ศ. 1971 (เมื่ออายุ 47-48) แต่ใช้วิธีเขียนโดยสมมติตัวละครขึ้นและให้ตัวเองมองจากมุมของตัวละครที่เป็นเด็ก และเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมาตามมุมมองของเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบคนหนึ่ง ทำให้เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งบอกว่าเนื้อหาในเรื่องนั้นอ่อนเกินไป ประกอบกับเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นช่วงก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์จะเกิดขึ้นจริง ทำให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์และความรู้สึกถึงการเป็นผู้ลี้ภัยสงครามนั้นไม่ "บิดหัวใจ" อย่างเต็มที่

แต่หากมองตามความตั้งใจของผู้เขียน ผมคิดว่าการมองภาพแบบนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการ ถ้าได้ลองนึกย้อนกลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็ก (ต้องแหงนหน้าเวลาคุยกับผู้ใหญ่) มุมมองของเราก็จะเป็นแบบนั้น ในความเป็นเด็กนั้นเรามักจะไม่มองอะไรมากไปกว่าเพื่อนที่โรงเรียน อาจารย์ประจำชั้น ขนมที่ร้านหน้าปากซอย กับข้าวมื้อเย็น หรือการบ้านที่สุมเข้ามาเต็มหัว

นั่นคือถ้ามองในสายตาผู้ใหญ่ และในมุมมองที่ว่าสงครามครั้งนี้ก่อความเสียหายอันใหญ่หลวง ก็จะพบว่ามุมมองของเด็กที่แหงนหน้าขึ้นมาดูนั้นมันอาจไม่มีความหมายมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าที่มองจากระดับสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้าย้อนตัวเองเป็นเด็กแล้วมองจากมุมนั้น ...นั่นแหละใช่เลย โลกของเด็ก ปัญหาของเด็ก

เด็กที่สักวันจะโตเป็นผู้ใหญ่และลืมไปว่าเมื่ออายุ 9 ขวบนั้นเราคิดถึงอะไรบ้าง

..........


Judith Kerr เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1923 ที่เบอร์ลิน บิดาเป็นนักเขียนชาวยิว ครอบครัวของเธอหนีจากการคุกคามของพรรคนาซีที่นำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1933 ผ่านไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และไปสิ้นสุดที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1936 ชีวิตในวัยเด็กของเธอผ่านโรงเรียนทั้งหมด 11 โรง ซึ่งนั่นทำให้การเรียนในวัยเด็กเป็นเรื่องยากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างสงคราม เธอทำงานในองค์การกาชาด เมื่อสงครามสิ้นสุดเธอไปเรียนต่อที่โรงเรียนศิลปะในลอนดอน จากนั้นไปทำอาชีพนักเขียนและนักเขียนบทโทรทัศน์ และพบกับสามี Nigel Kneale ผู้ซึ่งเป็นนักเขียนบทเช่นกัน ทั้งคู่แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1954 และใช้ชีวิตร่วมกันตลอดมาจน Nigel เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2006 ปัจจุบัน Judith ยังอาศัยอยู่ในลอนดอน

ผลงานที่มีชื่อเสียงคือ Series Mog และ The Tiger Who Came To Tea และนิยาย When Hitler Stole Pink Rabbit นิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่กล่าวถึงชีวิตในระหว่างเป็นผู้อพยพในช่วงปี ค.ศ. 1933-1936

เธอมีลูกสองคน ลูกชาย Matthew Kneale เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอังกฤษ และลูกสาว Tacy Kneale ทำงานเกี่ยวกับเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์

พี่ชายของ Judith; Michael Kerr เกิดก่อน Judith สองปี อพยพมาอังกฤษพร้อมกัน เขาเริ่มเรียนที่ Cambridge ขณะเกิดสงคราม จากนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพจนสิ้นสุดสงครามจึงได้กลับมาเรียนต่อ เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของอังกฤษ และได้เขียนอัตชีวประวัติเล่มหนึ่งชื่อ As Far As I Remember เล่าถึงชีวิตครอบครัวและอาชีพในแวดวงกฎหมาย เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2002

ชีวประวัติ Judith Kerr

Judith Kerr - Wikipedia

หมายเหตุ หน้าปกสะกด ชมพู เป็น ชมภู ...ผมมองโลกในแง่ดีว่าแอนนามีปัญหาใหญ่เมื่อต้องไปเรียนในโรงเรียนฝรั่งเศสคือการสะกดคำที่ผิดบ่อยมาก ๆ นี่อาจเป็นความตั้งใจหนึ่งของผู้ออกแบบปกก็เป็นได้

..........



ใครสักคนอาจขโมยกระต่ายสีชมพูไปได้ แต่ไม่มีใครจะขโมยความไร้เดียงสาไปจากเด็ก ๆ ได้



Create Date : 15 มิถุนายน 2550
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 10:43:12 น.
Counter : 1472 Pageviews.

5 comments
  
เรื่องนี้อ่านเมื่อนานมาแล้ว
( สมัยเมื่อหนังสือฉบับภาษาไทยเพิ่งจะแปลได้ไม่นาน )
ชอบค่ะ

จำได้ว่าอ่านแล้วก็ลุ้นตลอดเรื่อง
ว่าแอนนาและครอบครัวของเธอ
จะออกพ้นจากฮิตเลอร์ได้หรือไม่

รำลึกความหลังค่ะ
โดย: NooNok [MiChiYo] วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:1:00:41 น.
  
น่าสนใจ แล้วจะหามาอ่านค่ะ
มุมมองแต่ล่ะช่วงเวลาของชีวิตนั้นแตกต่างจริงค่ะ ดิฉันขอสนับสนุน
โดย: Valuation วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:3:29:22 น.
  
แวะมาทักทายเพราะสะดุดใจหนังสือค่ะ
ดีใจที่มีแปลภาีภาษาไทนเด็กไทยจะได้ทราบว่า สงครามเป็นอย่างไร
เด็กในเรื่องหรือผู้เขียนผ่านเหตุการณ์นี้มาอย่างาะทึก และเศร้า

ลูกสาววัยเก้าขวบเลือกอ่านเล่มนี้ พอต้องเข้า รพ.ฟื้นจากโคม่า เราต้องอ่านเรื่องนี้ให้ลูกฟังต่อ เพราะก่อนเจ็บ อ่านได้ไม่กี่หน้า
อ่านแล้วเศร้าค่ะ
จากเด็กหญิงผู้ไม่ยอมแพ้แก่ชีวิต ต้องผันจากภาษาเยอรมันมาเรียนภาษาอื่น
แต่ก็ไม่ย้อท้อ และประสบความสำเร็จอย่างที่หวังและตั้งไว้
ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นด้วยค่ะเรื่องนี้
โดย: It-ta-tee วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:4:51:48 น.
  
ได้เล่มนี้จากเว็บหนังสือมือสองค่ะ
...แต่ยังดองอยู่เลย แหะแหะ

อะไรที่เกี่ยวกับนาซี ยิวเนี่ย แค่หยิบก็เครียดแล้ว
เปิดได้สองหน้าก็วางทุกทีสิน่ะ
โดย: ยาคูลท์ วันที่: 16 มิถุนายน 2550 เวลา:1:23:03 น.
  
สวัสดีค่า
ตอนอ่านแรก ๆ เอ๋ชื่อคุ้น ๆ แฮะ เหมือนเคยเห็นหรือได้ยินที่ไหนน้า
ในที่สุดคุณ It-ta-tee ก็เฉลยให้ฟัง หนังสือได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นนี่เอง
พักนี้วรรณกรรมเยาวชนมีเรื่อง หมี ๆ กระต่าย ๆ เยอะเลยค่า มีเพื่อน ๆ ในบล็อกหลายคนแนะนำให้อ่าน
ตอนนี่ก็กำลังตามเก็บกระต่าย เอ้ยไม่ใช่ หามาอ่านได้หนึ่งเล่ม เรื่องเอ็ดเวิร์ด ทูเลน
ต่อไปก็คงเป็นกระต่ายสีชมพูนี่หล่ะค่า
โดย: oa (rosebay ) วันที่: 18 มิถุนายน 2550 เวลา:15:54:30 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago.BlogGang.com

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด