ตึกคนไข้หมายเลข 6: Chekov ![]() ผมได้หนังสือเล่มนี้จากร้านหนังสือมือสองร้านหนึ่งซึ่งแจกฟรีเนื่องจากร่วมสนุกในรายการแลกหนังสือระหว่างสมาชิก Ward No. 6; Anton Chekov แปลเป็นไทยโดย มโนภาษ เนาวรังสี, สำนักพิมพ์กอไผ่, พ.ศ. 2523 ก่อนนี้ก็เคยได้ยินชื่อ อังตอง เชคอฟ มาบ้าง แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเหมาะได้อ่านงานของเขาเลย ลองไปค้นข้อมูลดูก็พบว่า อังตองเป็นหมอ เป็นนักเขียนเรื่องสั้นและบทละคอน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1860 ถึง 1904 ในยุคการปกครองของราชวศ์โรมานอฟ เรื่องตึกคนไข้หมายเลข 6 นี้เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1892 เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ความหนาประมาณหนึ่งร้อยหน้าพ็อคเก็ตบุค เชคอฟเคยพูดว่า "Medicine is my lawful wife and literature is my mistress." "การแพทย์เป็นภรรยาตามกฎหมาย แต่การเขียนเป็นกิ๊กของผม" ...ต้องคนแบบนี้แหละที่จะผลิตงานเขียนแบบนี้ออกมาได้ถึงแก่น เรื่องเปิดตัวขึ้นด้วยการบรรยายถึงโรงพยาบาลในเมืองเมืองหนึ่งซึ่งผู้ป่วยต้องอยู่กันอย่างแออัด เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ งบประมาณน้อย และการรักษาพยาบาลไม่ได้มาตรฐาน ...ไม่น่าเชื่อว่าในอีกร้อยกว่าปีข้างหน้าจะยังมีโรงพยาบาลแบบนี้อยู่อีกในบางประเทศ ...และอาจมีอยู่ในอีกร้อยปีถัดไป ในโรงพยาบาลมีตึกผู้ป่วยจิตเวชอยู่หลังหนึ่ง ในตึกมีผู้ป่วยอยู่ 5 คน แต่ละคนเป็นเหมือนตัวแทนของชนชั้นล่างในสังคมรัสเซีย มีคนเจ็บป่วยทางกายซึ่งสังคมปฏิเสธจะรับไว้ ชาวนาร่างอ้วนซึ่งเป็นตัวแทนของกสิกรผู้ยากจน อดีตเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ (สังคมนิยมนิยาม) อีกคนเป็นชายลึกลับที่เป็นเหมือนคนที่ถูกปล่อยทิ้งในสังคมโดยไม่ได้รับการเหลี่ยวแล และคนที่สำคัญที่สุดคือดีตนักศึกษาผู้เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในศาล เป็นตัวแทนของข้าราชการชั้นผู้น้อย (อิวาน; จะมีบทบาทต่อไป)...โรงพยายาบสภาพแบบนี้ก็คงจะรับได้เฉพาะคนป่วยสภาพแบบนี้เท่านั้น ทั้งหมดถูกควบคุมโดยผู้ดูแล (ผู้คุม/เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ผู้ซึ่งคอยดูแลจัดหาอาหารและปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้กับคนป่วยเหล่านี้ เป็นคนที่ชอบใช้อำนาจและกำลังในการจัดการผู้ป่วยเหล่านี้ แต่แม้จะควบคุมอย่างใกล้ชิดเพียงใดก็ยังมีผู้ป่วยคนหนึ่งที่สามารถออกไปข้างนอกได้ในเวลากลางวัน ...ไม่ว่าจะมีการดูแลที่เข้มงวดเพียงใดก็ยัมีช่องว่างให้คน (ที่แม้จะบ้า) หาทางออกไปจากกรอบจนได้ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อมีหมอหนุ่มคนหนึ่ง (อังเดร) หมอหนุ่มผู้สนใจในการอ่านหนังสือ คอยหาคำตอบของชีวิตด้วยการเรียนรู้จากการอ่านและการสังสรรค์กับผู้คน แต่คนที่เขาสามารถพูดคุยได้ในเมืองนั้นกลับเป็นเพียงนายไปรษณีย์ผู้เป็นอดีตเจ้าของที่ดิน แต่บทสนทนาของทั้งคู่กลับดูเลื่อนลอยและไร้จุดหมาย อังเดรต้องอยู่ในภาวะจำยอม ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต เขาต้องทำงานภายใต้สภาวะที่ไร้ความสุข การตรวจคนไข้และการสั่งยาเป็นเพียงงานที่ทำให้เสร็จตามตารางประจำวัน ถ้าใครต้องตกอยู่ในสภาวะที่มีแต่ความขาดแคลนและด้อยคุณภาพ ก็คงทำได้ไม่มากไปกว่านั้นแน่ เขารับรู้ปัญหาของโรงพยาบาล รับทราบความเหลวแหลกของระบบ แต่ก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ ชีวิตยามค่ำที่พูดคุยกับนายไปรษณีย์ก็เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ จนกระทั่งเขาได้พบกับอิวาน อดีตนักศึกษาผู้เคยทำงานในศาลยุติธรรม แต่กลับเป็นโรคจิตหวาดระแวงคนรอบข้าง อังเดรพบว่าการได้พูดคุยกับอิวานเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเขา ทำให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น เขาหาโอกาสมาคุยกับอิวานอยู่บ่อย ๆ แนวคิดเรื่องพระเจ้าที่ไม่มีอยู่จริงและการประดิษฐ์พระเจ้าขึ้นมาของวอลแตร์ก็ถูกนำมาวิเคราะห์และวิจารณ์ในที่นั้น (ถึงจะบ้าแต่ว่าไม่โง่; ยืนยง โอภากุล) อังเดรประพฤติตัวแปลกแยก ทำให้ผู้คนที่มองว่าตัวเองปกติและสังคมรอบข้างเริ่มตั้งคำถามกับวิถีชีวิตของอังเดร เขาถูกกีดกันออกจากสังคมทีละน้อย อย่างช้า ๆ ความช่วยเหลือของนายไปรษณีย์ที่เป็นชนชั้นปกครองกลับทำให้อังเดรฝังตัวลึกลงไปในส่วนลึกของจิตใจตนเอง เนื่องด้วยเรื่องนี้ไม่ใช่เรืองตลกร้าย และไม่เกี่ยวกับสีของหลังคา เมื่ออ่านมาถึงจุดหนึ่งก็ย่อมจะคาดเดาทางออกของเรื่องได้ว่าจะลงเอยแบบใด แต่เชคอฟก็ไม่ได้ใจร้ายกับอังเดรเกินไปนัก บทสรุปของเรื่องเหมือนกับจะบอกเราอย่างกลาย ๆ ว่าจริง ๆ แล้วสถานที่เช่นนั้นไม่ใช่ที่ที่อังเดรจะสามารถไช้ชีวิตอยู่ได้นาน ๆ ถึงแม้วิธีออกจากสถานที่อันประเทืองความรู้แต่ไม่จรรโลงจิตใจนั้นจะไม่ใช่วิธีที่คนทั่วไปใช้กันก็ตาม แม้จะเป็นเพียงเรื่องสั้น แต่เชคอฟก็แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในชีวิตของคนที่จิตใจไม่ปกติได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในระยะนั้นความเข้าใจของสังคมและวงการแพทย์ต่อโรคทางจิตยังไม่เจริญก้าวหน้านักก็ตาม เชคอฟเสนอภาพของผู้ด้อยโอกาส (ทางสังคม) ให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งคนที่อยู่ใกล้กับความยุติธรรมแต่ก็ยังต้องเป็นโรคหวาดระแวงต่อความยุติธรรม หรือชาวนาร่างอ้วนที่เป็นเหยื่อของสังคมชนชั้น หรือแม้กระทั่งอดีตเจ้าของโรงงานที่ออกไปสู่โลกภายนอกได้ทุกวัน แต่ก็เพียงเพื่อไปหาเศษอาหารกลับมาแบ่งเพื่อนร่วมหอผู้ป่วย นั่นรวมไปถึงนายแพทย์อังเดรซึ่งเป็นเหยื่อของระบบที่ไม่เคยสนับสนุนให้คนที่ทำงานด้วยความเสียสละได้เจริญก้าวหน้า (ผมกำลังพูดถึงรัสเซียอยู่นะ) และสังคมที่ไม่สามารถตอบคำถามของชีวิตที่อังเดรเฝ้าถามอยู่ตลอดเวลาได้ และสังคมเดียวกันนี่แหละที่ไม่สามารถยอมรับการปลีกตัวออกจากสังคมของอังเดรได้ ...คุณสามารถไม่ยอมรับสังคมได้ แต่คุณไม่สามารถหนีจากมันได้ !!! ภาพสังคมที่บิดเบี้ยวและสังคมที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมนี้ยังพบเห็นได้ทั่วไป แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นมามากกว่าร้อยปีนับแต่นิยายเรื่องนี้ได้ถูกเขียนขึ้น สำหรับผม นิยายเรื่องนี้ยังคงเป็นภาพสะท้อนของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โลกที่อยุติธรรมซึ่งมีตาชั่งเอียงไปทางหนึ่งอยู่เสมอยังคงความเอียงของมันอยู่ได้จนปัจจุบัน ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเกิดอะไรขึ้นกับโลก ทุกวันนี้ความเอียงของตาชั่งนั้นแทบไม่ได้ลดน้อยลงเลย ไปคุยกับคนป่วยกันเถอะ ...ไม่แน่นะ อาจจะได้อะไรดี ๆ มาบ้างก็ได้ เอาเล่มนี้ไปไว้ไหนแล้วหว่า ...
![]() จริง ๆ แล้ว อ่านชื่อคนแต่งว่า อังตอง ถึงจะถูกใช่ไหมคะ? สงสัย เพราะเห็นสะกด อันตัน เซคอฟ ด้วย (น่าจะมีนามานุกรม เฉพาะชื่อคนดังนะเนี่ย) โดย: ยาคูลท์
![]() ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมครับ
เรื่องภาษานั้นผมต้องยอมยกธงขาวครับ ไม่เชี่ยวชาญเลย โดย: Zhivago
![]() ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง pacth adums
โดย: salahuddeen IP: 125.24.217.186 วันที่: 19 สิงหาคม 2550 เวลา:23:56:45 น.
ที่จริงชื่อ อันตัน มาจาก อันโตนค่ะ
ชื่อผู้ชายภาษารัสเซียงะคะ อยากได้หนังสือเล่มนี้มากเลยค่ะ ขายต่อได้มั้ยคะ แฮ่ๆ T^T โดย: aida IP: 125.25.26.0 วันที่: 20 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:30:21 น.
|
บทความทั้งหมด
|
น่าอ่านค่ะ อ่านรีวิวแล้วรู้สึกว่าน่าหามาอ่าน