Norwegian Wood: Murakami
โลกพิกล คนประหลาด

วันนี้เพิ่งจะอ่าน "Norwegian Wood" ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ของ ฮารูกิ มูราคามิ จบ (แปลโดยนพดล เวชสวัสดิ์) -เป็นเรื่องแรกของมูราคามิที่ผมมีโอกาสได้อ่าน

มูราคามิเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1949 ในยุคที่ญี่ปุ่นอยู่ใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกาหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อและแม่เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมญี่ปุ่น แต่สิ่งที่มูราคามินิยมชมชอบกลับเป็นวรรณกรรมตะวันตก หัดอ่านนิยายตั้งแต่อยู่มัธยม เลือกเสพเฉพาะวรรณกรรมตะวันตก ...ฉายความเป็น "คนนอก" ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยในสาขาการละคร จากนั้นเปิด Jazz pub เล็ก ๆ แห่งหนึ่งกับภรรยาที่แต่งงานกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย การดำเนินกิจการผับเป็นหนึ่งในการแหวกกฎเกณฑ์ของบัณฑิตปริญญาญี่ปุ่นในยุค ปลาย '60 ต่อต้น '70 ที่มักจะต้องผันตัวเองเข้าสู่บริษัทและทำงานเป็นลูกจ้าง ...เป็นเส้นทางเริ่มต้นของแกะดำอีกตัวหนึ่ง

จนกระทั่งวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1979 (อายุ 29 ปี) มูราคามินั่งดูเบสบอล(เกมกีฬาแห่งความเป็นอเมริกันชนที่เป็นที่นิยมชมชอบในญี่ปุ่น) เขาเกิด "อยาก" เขียนนิยายขึ้นมา และใช้เวลาว่างหลังปิดร้านนั่งเขียนนิยายที่โต๊ะในห้องครัว ก่อนจะออกมาเป็นนิยาย "Here the wind sing" สายลมสดับขาน ได้รับรางวัลที่หนึ่งจากการประกวดและส่งให้เขาโด่งดังเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง

จากนั้นเขาขายกิจการ Jazz pub ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตะลอนในยุโรปและไปสิ้นสุดการเดินทางที่สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือและเป็นอาจารย์ แนวทางการอ่านและการใช้ชีวิตแบบนี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเขาประสบความสำเร็จในฝั่งตะวันตก

นักเขียนและนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่างานของมูราคามิเป็นข้าวตอก pop culture ที่หยิบกินกันง่าย ๆ ตัวมูราคามิเองก็มองเช่นนั้น เขาไม่ได้มองวรรณกรรมว่าเป็นเรื่องความสละสลวยของภาษา แต่มองวรรณกรรมเป็นเรื่องของความรู้สึกและการแสดงออก ...นพดล เวชสวัสดิ์ ที่ปกติแปลนิยายวิทยาศาสตร์ถึงกับต้องใช้คำผวนเมื่อแปล Norwegian wood ..มูราคามิไม่เน้นความสละสลวยทางภาษาจริง ๆ

Norwegian wood ที่ผมอ่านจบในสองวัน (360+ หน้า) ได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นตัวตนด้านหนึ่งของมูราคามิ ตัวละครแต่ละตัวมีแต่ความแปลกแยก โดดเดี่ยว บิดเบี้ยว ไม่ปกติ (...เอาเหอะ แม้แต่ยามที่มีบทเล็ก ๆ แค่สองฉากยังไม่ปกติเลย) ผู้คนใช้ชีวิตที่ไม่ปกติ คิดอย่างไม่ปกติ พูดอย่างไม่ปกติ ใช้ชีวิตอยู่ในในสังคมปกติ(แต่ไม่ได้พูดถึง)

ตัวละครเหล่านี้เป็นตัวละครที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง หรืออย่างน้อยก็ "น่าจะ" มีอยู่จริงนอกโรงพยาบาลโรคจิต และใช้ชีวิตร่วมใคร ๆ ในสังคมเหมือนสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ เหมือน คนเผือกในเผ่ามาไซ เหมือนงูเหลือมเผือก ตะพาบน้ำเผือก ...เผือก ที่เอาเข้าจริงถ้าปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติก็มักจะต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ล่า ในธรรมชาติในที่สุด

แต่ความ "เผือก" ในความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ ทัศนคติ และสภาพจิตใจนั้นต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ? การเป็นคนนอกหรือแกะดำหรือสัตว์เผือกนั้นย่อมไม่ใช่ความสนุกสนานในชีวิตเป็นแน่ จะทำอย่างไรเมื่อเกิดไฟไหม้ห้องแถวที่อยู่ถัดจากบ้านไปสามสี่คูหา ? มูราคามิเลือกให้ตัวละครขึ้นไปนั่งบนดาดฟ้า เล่นกีตาร์และจูบกัน (ในขณะที่นักเขียน post modern ฝั่งเอเชียบางคนถึงกับบอกว่า "ก็ร่วมรักกันไปเลยสิ !")

มูราคามิไม่ได้โหดร้ายกับตัวละคร ตัวละครของเขาถูกกำหนดมาให้เป็นเผ่าพันธุ์ "เผือก" มาตั้งแต่แรก ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ตัวละครต้องเผชิญ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ไม่มีทางหนี ไม่มีทางปิดบังซ่อนเร้น ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่าตัวละครเลือกจะเผชิญกับมันในลักษณะใดและเมื่อใดเท่านั้นเอง

งานของมูราคาิมิถูกมองในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นว่านำไปผูก กับ "ตะวันตก" มากเกินไป (Norwegian wood เป็นชื่อเพลงหนึ่งของ The Beatles ในอัลบัม Rubber Soul ในปี ค.ศ. 1965 ...อันที่จริงจะตั้งชื่อเป็น "โจโจ้ซัง" ก็ยังได้) แต่กระนั้นก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คงเป็นเพราะว่าสังคมญี่ปุ่นในยุคหลังเปิดโอกาสให้คน "เผือก" ทางความคิดได้แสดงออกมากขึ้น (ผมนึกถึงย่านฮาราจูกุของญี่ปุ่นขึ้นมาทันทีเลย) งานเขียน Kafka on the Shore ในปี ค.ศ. 2005 ของเขาขายได้มากกว่า 460,000 เล่มในสองเดือน เพื่อนสมัยมัธยมของผม โตมร สุขปรีชา แปลเรื่อง South of the Border, West of the Sun ของมูราคามิ ใช้ชื่อไทยว่า "การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก"

ว่ากันว่าคนที่อ่านงานของมูราคามิ ถ้าไม่รักไปเลยก็เกลียดไปเลย แต่สำหรับผมนั้นคิดว่าว่าง ๆ ว่าจะหามาอ่านอีกสักเล่มสองเล่มครับ

...ใครเป็นแฟนมูราคามิยกมือขึ้น



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2552 5:00:10 น.
Counter : 3047 Pageviews.

9 comments
  
มายกมือค่ะ

หาซื้อ "การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก" ไม่ได้

เศร้าจริง...

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
โดย: Risa_ka วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:18:28 น.
  
ชอบค่ะ
โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:12:04:49 น.
  
อยู่ในคิวรออ่านอีกหลายเล่มเลยครับ อ่าน kafka ไปยังไม่อิน เลยวางไปก่อน รออ่านเรื่องอื่นไปก่อนละกัน
โดย: anfunkel วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:25:05 น.
  
ของ Murakami เพิ่งได้อ่าน Norwegian Wood เล่มนี้ไปเล่มเดียวเหมือนกันค่ะ ไม่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำว่าชอบ แต่ที่แน่ๆคือเป็นหนังสือที่ติดอยู่ในความทรงจำไปอีกนานเลยค่ะ
โดย: azzurrini วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:55:14 น.
  
อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติของมุราคามิ ที่ 'ปราย พันแสงเขียนถึงจบไปแล้ว
แต่ผลงานของมุราคามิเอง...ยังติดตามไม่จบเล่มค่ะ
โดย: นัทธ์ วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:09:10 น.
  
เป็นแฟนครับ แต่คงจะทำใจจากการอ่านเล่มนี้ก่อน เพราะลึกเกิน อ่านแล้ว กว่าจะเก็ต แต่ก็คิดว่าตานี่มีอะไรที่น่าสนใจมาก
โดย: Boyne Byron วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:10:31:12 น.
  
มายกมือค่ะ

เพิ่งได้อ่านการปรากฏตัวฯ โดยเพื่อนให้ยืม

แต่ก็ยังชอบนอวีเจี้ยนวูดมากกว่าอยู่ดี
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:15:54:29 น.
  

ยกมือชอบมุราคามิ
ยกเว้นนอร์เวเจี้ยน วูด
มันมากเกินไป รับไม่ไหว
โดย: อั๊งอังอา วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:9:41:41 น.
  
ไม่ได้เป็นแฟนตัวยงแต่มีโอกาสได้อ่านหลายเล่ม..สำหรับ Norwegian Wood มันบอกไม่ถูก..พออ่านจบแล้วรู้สึกตัวลอยแบบหนักๆไปหลายวัน....
โดย: noonkoko IP: 125.24.66.253 วันที่: 13 ตุลาคม 2553 เวลา:20:32:36 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago.BlogGang.com

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด