ท้อปบู้ตทมิฬ: Jack London


นิยายโซเชียลลิสต์โดยนักเขียนอเมริกัน




Jack London เป็นใคร ? งานเขียนของเขาที่เป็นที่รู้จักก็คือ A Call of the Wild: เสียงเพรียกแห่งพงไพร และ The White Fang: ไอ้เขี้ยวขาว ที่ขึ้นหิ้งเป็นวรรณกรรมอมตะไปแล้ว แต่สำหรับท้อปบู้ตทมิฬนี้ไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนัก ตัวเขาเอง (ชาวอเมริกัน) ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าเป็นโซเชียลลิสต์... สังคมนิยม งานเขียนเล่มนี้หาสำนักพิมพ์ที่ยอมพิมพ์ได้ยากมาก เพราะเนื้อหาที่จัดได้ว่าแรงมาก (แม้จะอ่านในยุคนี้ก็ตาม!) เนื้อหาของเรื่องต่อต้านทุนนิยมและระบบรัฐสภา รวมไปถึงระบบศาลในสังคมทุนนิยมและการดำเนินชีวิตของผู้คนในระบบที่ยึดติดกับอุตสาหกรรมและการลงทุน

แต่งานเขียนเล่มเดียวกันนี้กลับได้รับการยอมรับในสหภาพโซเวียตรัสเซีย (ในขณะนั้น) เป็นอย่างสูงและได้รับการยกย่องให้เป็นงานเขียนเชิงโซเชียลลิสที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว

งานเขียนเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1908 ..เก้าสิบเก้าปีมาแล้ว โดยบรรณาธิการเสนอให้ตัดบทวิจารณ์เกี่ยวกับศาลยุติธรรมออกไปเนื่องจากยังไม่ต้องการให้ทั้งผู้เขียนและผู้พิมพ์ต้องติดคุก !


..........



ก่อนจะไปถึงเนื้อหาในหนังสือ ต้องมาดูชีวิตของ Jack London กันก่อน ชายผู้นี้มีชีวิตอยู่คร่อมระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 ใช้ชีวิตเป็นคนทำงาน คนเร่ร่อน เคยหยุดเรียนหนังสือเพื่อออกมาหางาน-เงิน เพื่อเลี้ยงชีพ และต้องใช้ชีวิตเป็นคนเร่ร่อนอยู่ช่วงหนึ่งเนื่องจากปัญหาเรื่องฐานะ ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชนชั้นกรรมาชีพมาโดยตลอด ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มุมมองของเขาที่มีต่อโลกเป็นไปเพื่อชนชั้นกรรมาชีพก็เป็นได้

เคยเป็น "นายทุนน้อย" (ศัพท์คอมมิวนิสต์) โดยเป็นเจ้าของเรือหาปลาลำเล็กที่พาออกไปขโมยหอยที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ก่อนที่เรือลำนั้นจะถูกไฟไหม้และทำให้ชีวิตของเขาต้องระหกระเหินเร่ร่อนในเวลาต่อมา

เขาประกาศตนเป็นโซเชียลลิสต์สายหัวรุนแรงโดยมองว่าสังคมจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิวัติและการใช้กำลัง ซึ่งนั่นจะแสดงให้เห็นในหนังสือที่เขาเขียนออกมาเล่มนี้


..........



งานเขียนของเขาเล่มนี้เปรียบเป็น "นิยายวิทยาศาสตร์สังคม" คือมองโลกในอนาคตข้างหน้าผ่านทางอนาคตข้างหน้าที่ไกลออกไปอีก นับเป็นการดำเนินเรื่องที่ยอดเยี่ยมในชั้นที่หนึ่ง นั่นคือแจ๊คสมมติให้โลกในอนาคตนั้นผ่านการต่อสู้และปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพครั้งใหญ่สองครั้ง (การปฏิวัติครั้งแรกล้มเหลวและสำเร็จในครั้งที่สอง) โลกในอนาคตนั้นจึงเป็นโลกของโซเชียลลิสต์ เป็นสังคมนิยมสมบูรณ์ แต่ในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงโลกในอนาคตให้เห็นเด่นชัดนัก โดยนิยายนั้นตั้งเรื่องให้มีการค้นพบบันทึกของภรรยาแกนนำการปฏิวัติครั้งแรกที่เขียนถึงวิถีชีวิต การถูกกดขี่ของคนงานในโรงงาน การเอารัดเอาเปรียบของเจ้าของกิจการและผู้ปกครอง ไปจนถึงการจัดตั้งขบวนการปฏิวัติที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ...ในสหรัฐอเมริกาที่หลายคนนับว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง !!

แจ็คมีแนวคิดว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบทุนนิยมนั้นเป็นผลผลิตของแรงงาน โดยที่แรงงานเหล่านี้ต่างถูกกดขี่โดยเจ้าของโรงงานหรือผู้ควบคุมทรัพยากรของระบบ ทั้งรัฐและนายทุนต่างก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งศาล (ของสหรัฐ-ในเรื่อง) ที่กลายเป็นเครื่องมือของทุน ...จากการถูกกดขี่ข่มเหงนี้เองที่นำไปสู่การรวมตัวของคนงานทั้งหลายเพื่อปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงสังคมโดยวิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน (ปืนต่อปืนยิงมาเรายิงไป: สุรชัย จันทิมาธร) ภาพทั้งหมดของการต่อสู้นี้ถูกบันทึกไว้โดยภรรยาของแกนนำคนหนึ่งและไปสิ้นสุดหลังการปฏิวัติครั้งแรกล้มเหลว


..........



ความสนุกสนานในการอ่านอย่างหนึ่งที่เกิดจากการอ่านนิยายเล่มนี้ก็คือแจ็คบอกผู้อ่านตั้งแต่แรกแล้วว่าเขานั้นมองโลกในแง่ดีว่าท้ายที่สุดการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสู่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้นประสบความสำเร็จ โลกในอนาคตที่มองบันทึกเล่มนี้นั้นมองในสายตาของโซเชียลลิสต์ ไม่ได้มองในสายตาทุนนิยม สิ่งต่าง ๆ ที่คนในสังคมโซเชียลลิสต์มองย่อมแตกต่างจากคนในปัจจุบันมอง ดังนั้นจึงต้องมีบรรณานุกรรมท้ายบทคอยอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบันทึกเพื่อให้คนในอนาคตได้เข้าใจความฟอนเฟะของสังคมทุนนิยม ซึ่งอ่านแล้วเหมือนเป็นตลกร้ายที่แจ็คจงใจมอบไว้ท้ายบททุกเล่ม เช่นการอธิบายถึง "คนจรจัด" ซึ่งหากเป็นปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันว่าหมายถึงคนกลุ่มไหน แต่ถ้าเป็นโลกอนาคนที่เป็นสังคมนิยมสมบูรณ์แบบ คำว่า "คนจรจัด" ต้องมานั่งอธิบายกันด้วยคำพูดหลายประโยคเพื่อจะได้เข้าใจว่าหมายถึงคนกลุ่มไหน

ต้องสารภาพว่าผมเกือบอ่านไม่จบบทแรกเพราะช่วงแรกนั้นอ่านแล้วเหมือนมันล่องลอยและแทบจับต้องไม่ได้ เนื่องจากยังไม่เข้าใจว่าทำไมผู้แต่งจึงดำเนินงานเขียนในลักษณะนี้ แต่พออ่านไปได้สักสองหรือสามบทก็เริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ Jack London ต้องการบอกผู้อ่านนั้นไม่ใช่ผลลัพธ์ของการปฏิวัติหรือวิธีการปฏิวัติ (แม้กระทั่งการดำเนินเรื่องก็ยังอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญเสียด้วยซ้ำ) สิ่งที่ผมได้จากงานเขียนของ Jack London เล่มนี้กลับเป็นการมองโลกในอีกแง่มุมหนึ่งว่าถ้าโลกที่เราอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามอย่างที่ผู้เขียนได้คิดและจินตนาการไว้แล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต (ที่เป็นทุนนิยม) อาจมองแล้วน่าขบขันหรือพิกลพิการไปจากที่เรามองในปัจจุบันก็เป็นได้


..........



หยิบเอามาให้อ่านกันเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศปฏิวัติแบบไทย ๆ ครับ ไม่ได้หวังให้เคร่งเครียดกับมันจนเกินไป

"เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าช่างโง่เขลายิ่ง" ...ใครคนหนึ่ง post คำกล่าวนี้ไว้ใน pantip.com เสียดายที่ไม่สามารถหาที่มาได้ว่าเป็นคำพูดของใคร

ที่เข้าไกล้ที่สุดก็คือคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ"



Create Date : 03 กันยายน 2550
Last Update : 3 กันยายน 2550 22:31:07 น.
Counter : 2438 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago.BlogGang.com

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด