ทุ่งฝัน: Salinger


สิบหก... อีกครั้ง


"อ่านหนังสือเล่มนี้สิ แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมผมถึงยิงเขา" นี่คือคำพูดของ Mark David Chapman ชายวัย 25 ปี หลังถูกจับในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ที่สำคัญ... คนที่เขาฆ่าคือ John Lennon นักร้อง นักดนตรีน้อยคนนักจะไม่รู้จัก

...หนังสือ The Catcher in the Rye โดย J.D. Salinger ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1951 (แปลเป็นไทยโดย ศาสนิก พ.ศ. 2531 สำนักพิมพ์เรจินา)

แชปแมนอ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบในระหว่างปี ค.ศ. 1979-1980 จนกระทั่งเชื่อว่านิยายเรื่องนี้แสดงถึงความเป็นตัวตนของเขา ภาพของตัวเอกในนิยายกับตัวเขาเป็นเหมือนภาพสะท้อนในกระจกซึ่งกันและกัน เขาเชื่อถึงกระทั่งว่าตัวเขาเองเป็น "Catcher" ในยุคของเขา และชีวิตของเขาจะเป็นฉากจบฉากใหม่ของนิยายเรื่องนี้

เขาเดินทางมายังนิวยอร์คในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1980 เพื่อเดินตามเส้นทางของตัวเอกในนิยายที่ใช้เวลาดำเนินเรื่องเพียงสองวันครึ่งนี้ เขาเดินไปซื้อหนังสือเล่มนี้ที่ร้านหนังสือเพราะไม่ได้นำติดตัวมาด้วย ฉบับที่เขาซื้อมาเป็นฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดมีหน้าปกสีแดงเหมือนเลือด ตัวหนังสือบนหน้าปกเป็นสีเหลืองสด นั่นทำให้เขายิ่งเชื่อเข้าไปอีกว่านั่นเป็นสัญลักษณ์บอกให้เขาทำอะไรบางอย่าง

ห้าโมงเย็น 8 ธันวาคม ค.ศ. 1980 แชปแมนไปดักรอเลนนอนและโยโกะ โอโนะที่หน้าอพาร์ตเม้น ทันทีที่พบเลนนอน เขายื่นซองแผ่นเสียง Double Fantsy ให้เลนนอนลงชื่อพร้อมกับจับมือทักทาย ช่างภาพคนหนึ่งเก็บภาพวินาทีนั้นไว้ได้



ไม่มีใครคิดหรอกว่าคนคนนี้จะเป็นคนฆ่านักร้องชื่อก้องคนนี้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา

สี่ทุ่มห้าสิบ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1980 เลนนอนและโอโนะกลับมาที่หน้าอพาร์ตเม้น เดินผ่านแชปแมนที่ยืนรออยู่แถวนั้น แชปแมนล้วงปืน .38 จากกระเป๋า จากนั้นยิงเลนนอนที่หลังและไหล่ 5 นัด หนึ่งในนั้นตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ เลนนอนล้มลงทันที ตำรวจพยายามนำเลนนอนไปโรงพยาบาลโดยรถตำรวจเนื่องจากเห็นว่าบาดแผลรุนแรงมาก หลังจากเสียเลือดไปประมาณแปดสิบเปอร์เซนต์ของปริมาณเลือดทั้งหมด เขาเสียชีวิตเวลาประมาณห้าทุ่มยี่สิบ

แชปแมนนั่งลงที่ริมทางเดิน ล้วงกระเป๋าเสื้อโค้ท หยิบหนังสือ The Catcher in the Rye เล่มที่เพิ่งซื้อออกมาอ่านได้สองสามหน้า ก่อนที่จะถูกจับกุมโดยไม่ได้ขัดขืน

เขาถูกตัดสินจำคุกยี่สิบปี

ที่หน้าปกหนังสือเล่มนี้ เขาเขียนลงไปว่า "This is my statement. Holden Caulfield - The Catcher in the Rye"

..........


ผมได้ยินกิตติศัพท์หนังสือเล่มนี้มานาน เคยผ่านตาตามร้านมือสอง online อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่แฟนพี่สุพิศผู้สถาปนาตัวเองเป็นเด็กเก็บหนังสือแห่งร้าน "สุหนังสือเก่า" จะยกให้เป็นหนึ่งในแปดหนังสือที่ควรจะพิมพ์ซ้ำ (แต่ยังไม่ได้พิมพ์) จนตกเป็นภาระของทางร้านมือสองทั้งหลายต้องวิ่งหากันยกใหญ่อยู่ร่ำไป

หนังสือเล่มนี้มีดีตรงไหน ? หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อห้าสิบหกปีก่อน (ค.ศ. 1951) เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ยอมพอใจกับอะไรก็ตามที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นเรื่องรองเท้า หมวก ไปจนถึงโรงเรียน ครอบครัว นิยายหนาสองร้อยกว่าหน้า ใช้เวลาดำเนินเรื่องสองวันครึ่ง รายละเอียดในเรื่องนั้นจับความคิดของเด็กหนุ่มคนนี้แทบจะทุกอิริยาบถ ทุกความรู้สึกนึกคิดที่ผ่านเข้ามาในจิตใจของเขา คนอ่านจะเหมือนเป็นใครคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในจิตใจของเด็กหนุ่มที่พร้อมจะเตลิดเปิดเปิงไปกับความคิดที่ผู้ใหญ่มองว่าไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร (และเด็กก็มองผู้ใหญ่เช่นนั้นเหมือนกันในบางกรณี)

เด็กหนุ่มที่ไม่เคยพอใจกับเพื่อน รุ่นพี่ อาจารย์ โรงเรียน สังคม ผู้คน และทุกสิ่งทุกอย่าง... เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งในวัยรุ่น พวกเราหลายคนก็อาจเคยเป็นมา ไม่ว่าเด็กวัยรุ่นคคนนั้นจะมีครอบครัวที่มีปัญหาหรือไม่ ไม่ว่าเขาจะคบเพื่อนดีเพียงใดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นกับ "เขา" ได้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม

ตัวเอกของเรื่อง โฮลเด้น คอลฟิลด์ จึงเป็นเสมือนตัวแทนของเด็กวัยรุ่น (ที่ยุคหนึ่งเรียกเป็น "เด็กมีปัญหา") ผู้พร้อมก่อกบฎต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แสวงหาสัจธรรมในชีวิตที่เขาเองก็ยังไม่รู้เลยว่าความหมายของมันคืออะไร

..........


มองย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองอายุเท่ากับตัวเอกในเรื่อง (16) หลายคนอาจคิดว่าเขาเป็นรูปลักษณ์ของฮีโร่ในดวงใจเลยทีเดียว คนหนุ่มที่เพิ่งพ้นคำว่า "เด็กชาย" มาได้ไม่ถึงปีผู้พร้อมก่อกบฎเงียบต่อสังคม กบฎที่ไม่ต้องมีการป่าวประกาศ ไม่ต้องมีการเดินขบวนประท้วง มีเพียงการหนีจากสังคมที่เขา (หรือเรา) ไม่เคยเข้าใจเลย... หรือบางทีเมื่ออายุมากขึ้นไปกว่านั้นอีกหลายปีก็ยังไม่เข้าใจมันทั้งหมดอยู่ดี (น่าแปลกนะที่เรายังอยูกับสังคมแบบนี้ได้ !)

เด็กหนุ่มเฝ้าแสวงหาและค้นหาตัวตนอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่เขาจะ "รู้สำนึก" ว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้เขาฝืนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ แม้ว่าหลายสิ่งในชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงไปจนไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ แต่ถ้าเขาพร้อมจะยอมรับมัน เขาอาจกำหนดสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้

..........


มองกลับไปยังสังคมที่คนผู้ผ่านอายุสิบหกมาแล้วสองครั้ง (แถมอีกหลายปี) ก็อาจมองได้ว่านั่นเป็นเพียงพฤติกรรมวัยรุ่นที่ยังไม่พร้อมรับสภาพความเป็นสัตว์สังคมของตัวเอง ผู้ได้แต่เพียงหลบหนีจากสิ่งที่เขาต้องเผชิญกับมัน ...ถ้าไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ก็เหลือเพียงโรงพยาบาลบ้าหรือไม่ก็กลางป่ากลางเขา แต่ก็นั่นแหละ เด็กวัยรุ่นไม่มีทางเลือกกลางป่ากลางเขาได้เป็นแน่

แต่ถ้ามองจากอีกมุมหนึ่งก็จะได้คำถามว่าสังคมมนุษย์ของเรานั้นบริสุทธิ์พอจะรองรับความไร้พิษภัยของเด็กได้หรือไม่ โฮลฟิลด์ เด็กหนุ่มในเรื่องแม้จะเป็นตัวแทนของพวก "ดื้อเงียบ" แต่เขาก็ไม่ได้แสดงความเป็นพิษภัยต่อผู้อื่นแต่อย่างใด การบังคับให้คนเหล่านี้ปรับตัวเข้าสังคมจะกลายเป็นการเอาสี (เทาเข้มถึงดำ) ไปป้ายให้กับเด็กหรือไม่ ? เด็กหนีจากสังคมเพราะสังคมสกปรก หรือเพราะเขาไม่ยอมรับมัน ?

เราเตรียมสังคมไว้ให้พร้อมสำหรับเด็กที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ดีพอแล้วหรือยัง หรือเราจะมุ่งแต่เตรียมเด็กให้พบกับสังคมที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นมาให้กับพวกเขา ?

..........


ด้วยความเคารพต่อทั้ง John Lennon และ Mark David Chapman ผมไม่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้จะชักนำให้ใครหยิบปืนขึ้นมายิงใครได้เป็นแน่

ตอนอายุสิบหก ผมยังนุ่งกางเกงขาสั้น ขับมอเตอร์ไซค์ ฟัง "สตีวี่ วันเดอร์" ... ไอ จัส คอลด์ ทู เซย์ ไอ เลิฟ ยู อยู่เลย

**หมายเหตุ หนังสือใช้คำพูดที่ค่อนข้างรุนแรงและตรงไปตรงมา มีคำหยาบคายและผรุสวาทอยู่ทั่วไป แม้เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงเด็กอายุสิบหก แต่สำหรับเยาวชนควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง**



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2550 23:00:14 น.
Counter : 3301 Pageviews.

2 comments
  
มีหนังสือเล่มนี้หมกอยู่ในตู้ ตอนที่อ่านยังเป็นวัยรุ่นอยู่
อ่านตามเสียงชื่นชม
แต่อ่านแล้วก็ไม่ประทับใจเป็นพิเศษอะไร
ไม่รู้ว่าถ้าเอามาอ่านใหม่ จะเข้าใจได้หนังสือมากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า
โดย: rebel วันที่: 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:30:14 น.
  
กำลังอ่านอยู่ค่ะ 50 กว่าหน้าแล้ว...
โดย: Tenjo_Utena วันที่: 5 มีนาคม 2551 เวลา:13:34:53 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhivago.BlogGang.com

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด