ฟาเรนไฮต์ 451: Bradbury


เสรีภาพใต้เงาทะมึนของรัฐ


Fahrenheit 451: เขียนโดย Ray Bradbury (เกิด 1922-ปัจจุบัน 2007 ยังมีชีวิตอยู่) เขียนเรื่องนี้เมื่อปี 1953 แปลเป็นไทยโดย ชาญ คำไพรัช สำนักพิมพ์ทศวรรษ พิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2529 ชื่อไทย ฟาเรตไฮต์ 451 อุณหภูมิเผาหนังสือ

ผมได้โอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่เคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แต่ด้วยความอ่อนเดียงสาจึงคิดว่านี่คงเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีพล็อตเรื่องอ่อน ๆ เรื่องหนึ่ง... นั่นนับเป็นข้อดี เนื่องจากว่าหากผมอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อเรียนมัธยม ความนุ่มลึกของการเข้าถึงความหมายของนิยายเรื่องนี้คงไม่มากเท่ากับที่ได้อ่านตอนนี้ บางทีตอนนั้นอาจถึงกับอ่านไม่จบก็เป็นได้ !

..........


คำนำเปิดประเด็นของหนังสือด้วยการตั้งคำถามถึงบทบาทของนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคมว่านิยายวิทยาศาสตร์ควรจะสนองต่อจินตนาการอันตื่นเต้นเร้าใจของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ นิยายวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการผจญภัยไปตามอวกาศและกาลเวลาเป็นการตอบคำถามของสังคมหรือไม่ ?

ผมยังไม่เคยเห็นใครที่กล้าปรามาศมือชั้นครูเช่น อาซิมอฟ หรือ อาเธอร์ ซี คลาร์ก ว่า "ช่างไร้เดียงสาจริงหนอ" ในบทใดในหนังสือเล่มใด นอกจากคำนำของหนังสืเรื่องนี้ เสียดายที่ไม่ได้ลงชื่อไว้ว่าเป็นบทนำจากผู้แปลหรือจากบรรณาธิการ

..........


ทำไมผมถึงหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ? เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม พ.ศ. 2550) เห็นข่าวตำรวจสองชุดบุกจับกุมหนังสือโรมานซ์กลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หลายคนออกมาประกาศถึงความมิชอบในการเข้าจับกุมครั้งนี้ หลายคนบอกว่ามีเบื้องหลังมาจากความต้องการสร้างภาพพจน์อันขาวสะอาดของประเทศที่ต้องการกวาดล้างสิ่งพิมพ์ที่พวกเขาเรียกว่า "ลามก"

วินาทีหนึ่งผมคิดถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาได้ หนังสือที่ผมเคยคิดว่ามีพล็อตเรื่องที่อ่อน ๆ และไม่น่าอ่านเล่มหนึ่ง ท้ายที่สุดจึงไปได้มาจากร้านหนังสือมือสอง online ร้านหนึ่ง หนังสือติดอันดับหนึ่งในหนังสือแห่งศตวรรษของ New York Pulbic Library ในหมวด Utpoia และ Dystpoia เป็นหนึ่งในหนังสือทรงคุณค่าที่เคยเป็นหนังสือต้องห้าม และเป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของหลายโรงเรียน

..........


ทำไมถึงต้องเผาหนังสือ ?

โลกในวันข้างหน้าที่ "พวกเขา" มอมเมาประชาชนด้วยจอภาพสามมิติ เป็นโทรทัศน์ที่สามารถพูดคุยกับคนดูได้ ติดตั้งบนผนังสามด้าน (หรือทั้งสี่ด้าน) ของห้อง ผู้คนที่ไม่ต้องอ่านหนังสือ รับแต่ความบันเทิงทางโทรทัศน์อันมีแต่ละคอนกับการถ่ายทอดสด ...ใช้ชีวิตอย่างไร้ค่า ขับรถเร็วไปตามถนนอย่างไร้จุดหมาย เด็กในโรงเรียนที่ห้ามตั้งคำถาม เรียนรู้ในสิ่งที่ "พวกเขา" จัดหามาให้ มีชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวต่อสงคราม

"พวกเขา" ในที่นี้เป็นตัวแทนของรัฐที่ควบคุมผู้คนให้อยู๋ในกรอบระเบียบ เสมือนเป็นรัฐเผด็จการสมบูรณ์ที่ไม่ต้องมีการประกาศผู้นำ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐทั้งสิ้น (ใน 1984 ของ Orwell ใช้รูปชายวัยกลางคนคนหนึ่งเป็นตัวแทน) สงครามที่พวกเขาหวาดกลัวน่าจะเป็นสงครามกับคอมมิวนิสต์รัสเซีย (แบรดบิวรี่เขียนเรื่องนี้ในปี 1953 ภาวะสงครามเย็นยังคุกรุ่น)

โลกที่มีความขัดแย้งและแตกต่าง ทั้งเรื่องภาษา แนวคิด ศาสนา วัฒนธรรม โดยที่ "พวกเขา" คิดได้เพียงว่าหนังสือนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเหล่านี้ ผู้คนไม่สามารถโต้เถียงกับหนังสือได้ ทุกคนอ่านและซึมซับสิ่งที่หนังสือเขียนและต้องการให้ผู้คนรับรู้เข้าไปในสมอง โลกที่ต้องเร่งรีบขึ้นไปทุกขณะทำให้หนังสือต้องถูกย่อให้สั้นลง หนังสือเล่มใหญ่ไร้ความหมาย มีเพียงบทสรุปเป็นคำย่อให้คนอ่านแทนและท้ายที่สุดก็ถูกแทนที่ด้วยโทรทัศน์ !

ใครที่มีหนังสือในครอบครองถือเป็นความผิด บุรุษเพลิงที่ครั้งหนึ่งต้องทำหน้าที่ผจญเพลิงและดับไฟต้องไปทำหน้าที่เผาหนังสือที่ผู้คนซุกซ่อนไว้ด้วยการราดน้ำมันและจุดไฟเผา พวกเขาไม่ต้องดับเพลิงอีกต่อไปเพราะบ้านทั้งหลายกันไฟได้อยู่แล้ว

อุณหภูมิที่กระดาษจะมอดไหม้เป็นผีเสื้อสีดำคือ 451 ฟาเรนไฮต์ 232.77 องศาเซลเซียส

...โอ้ว แล้วความงดงามของตัวหนังสือและบทกวีทั้งหลายจะคงอยู่ได้อย่างไร ???

แต่ถ้าผู้คนทั้งหมดเดินไปตามเส้นทางเดียวกัน เสพและรับในสิ่งที่ "พวกเขา" จัดหาให้มาเหมือนกัน โลกในวันนั้นก็คงไม่ต้องมีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้น เรื่องที่เป็นของคนนอกคอกจำนวนหนึ่ง กับระบบที่เหลวแหลกระบบหนึ่ง

..........


บุรุษเพลิงผู้หนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในความหมองหม่นของสิ่งรอบข้าง ภรรยาที่เย็นชาและเหินห่าง รวมทั้งงานเผาหนังสือที่เขายังต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ามันถูกต้องหรือเปล่าทำให้ชีวิตของเขาเหมือนอยู่ในหมอกควันที่คอยตามติดชีวิตเขาไปตลอดเวลา

กระทั่งเขาได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่งที่จุดประกายแสงในชีวิตเขา เด็กหญิงผู้ที่บอกว่าตัวเองอายุ 17 เพราะลุงบอกมา เด็กหญิงที่ถูกไล่ออกจากระบบด้วยเหตุที่ตั้งคำถามมากเกินไป เธอเป็นเหมือนคนที่มีชีวิตจริง ๆ เพียงคนเดียวในหนังสือเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป ...ที่เหลือนอกจากนั้นคือความรันทดและมืดบอดแห่งอนาคตกาลที่เปลวเพลิงจากหนังสือก็ไม่สามารถส่องให้ส่ว่างขึ้นมาได้

ประกายแสงที่เปล่งออกมาจากเด็กผู้หญิงคนนี้ทำให้บุรุษเพลิงต้องเผชิญหน้ากับตนเอง เขาแอบไปพบกับอดีตศาสตราจารย์ทางภาษาคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของคนในโลกเก่า มีจุดมุ่งหมายในบั้นปลายชีวิตคือตีพิมพ์หนังสือทั้งหลายออกมาใหม่ให้ได้อีกครั้ง

ท้ายที่สุด บุรุเพลิก็ต้องเผชิญหน้ากับตัวแทนของรัฐผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีดับเพลิงที่บุรุษเพลิงผู้นี้ทำงานอยู่ ...หัวหน้าสถานีเป็นคนที่ดูเหมือนมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่มากพอกับบุรุษเพลิงนั่นเอง เขาเป็นคนที่มีภูมิความรู้ดีจากหนังสือ แทบจะทุกประโยคที่เขาพูดเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าเขา "อ่าน" เขาเป็นคนที่ทรงภูมิคนหนึ่ง แต่ก็เลือกที่จะทำงานเป็นตัวแทนของรัฐบนความขัดแย้งในตนเองอยู่ต่อไป

..........


ลองคิดถึงหนังสือที่รักมากที่สุดเล่มหนึ่ง และจินตนาการว่าวันนี้มีกฎหมายออกมาบังคับให้เผาหนังสือเล่มนั้น... คัดลอกไม่ได้ ทำสำเนาไม่ได้

จะทำอย่างไร ?

..........


หนังสือให้ทางออกไว้ในระดับหนึ่ง เป็นทางออกที่ให้การประนีประนอมในระดับหนึ่ง นั่นคือถ้าคุณอยู่ในระบบไม่ได้ ก็มีสองทางคือออกไปเสีย หรือไม่ก็กำจัดระบบมันเสียเลย แต่ถ้าระบบมันเก่าแก่คร่ำครึมากจนแทบจะพังทลายอยู่แล้วก็รอสักนิดก็แล้วกัน

คนที่ไม่สามารถอยู่ในสภาพเมืองแบบนี้ได้ก็ไม่แคล้วต้องออกจากสังคมแบบนี้ไปเสีย ไปอยู่รวมกับคนนอกคอกนอกกฎเกณฑ์ที่ระบบหันหลังให้ แต่สิ่งที่ชวนให้คิดก็คือถ้าคนนอกคอกเหล่านี้มีมากขึ้นเล่า เมื่อพวกเขาสามารถได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นทางจำนวน ความคิด ความก้าวหน้า ฯ คนพวกนี้อาจสานสร้างระบบใหม่ขึ้นมาแทน และทำให้คนในระบบเก่าต้องระเห็จไปเป็นคนนอกแทน

ประวัติศาสตร์การแย่งชิงทางความคิดแบบนี้มีมาตลอดกาลของมนุษยชาติ และผมเชื่อว่าจะยังมีอยู่ต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่รัฐยังกำหนดให้คนที่อยู่ใต้อาณัติของรัฐถูกจำกัดโอกาสทั้งหลาย เช่นโอกาสในการรับรู้ โอกาสในการแสดงความคิดเห็น โอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งหลายอย่างในนี้รัฐแทบไม่ต้องใช้งบประมาณหรือการลงทุนจำนวนมากก็สามารถส่งสเสริมให้ประชาชนได้รับสิ่งเหล่านี้ได้

รัฐบาลที่ปิดกั้นการรับรู้และการแสดงออกจะพบจุดจบไม่ว่าจะจากภายในหรือจากภายนอกคนที่มีความเห็นแตกต่างต้องมีเวทีที่เหมาะสมในการแสดงออก ประชาธิปไตยเป็นการปฏิบัติตามความเห็นคนส่วนใหญ่ โดยไม่เบียดเบียนเสียงส่วนน้อย แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลในหนังสือเรื่องนี้ (รวมทั้งบางประเทศในปัจจุบัน) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประโยคหลังเท่าใดนัก หรือถึงกับไม่ให้ความสำคัญเอาเสียเลยก็มี

..........


สำหรับแฟนหนัง หนังสือเรื่องนี้มีสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1966 Fahrenheit 451

ภาพยนตร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่มีการดำเนินเรื่องทำนองเดียวกันคือ Equilibrium ปี ค.ศ. 2002

..........


ไม่น่าเชื่อว่าจินตนาการของ Bradbury เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน จะมีเค้าโครงว่าอาจเป็นจริงขึ้นได้ ...คงต้องไปค้น 1984 มาอ่านเสียแล้ว ก่อนที่ใครจะมาเผาไปเสียก่อน

I read, therefore I am. ...แด่หนังสือทุกเล่ม



Create Date : 12 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 11:11:59 น.
Counter : 8165 Pageviews.

3 comments
  
อ่านแล้วแปลกใจแฮะที่คุณหมอไม่ได้พูดถึงเรื่อง "หนังสือมนุษย์" เลย มันเป็นประเด็นที่น่าสะเทือนใจและน่าตื่นตะลึงที่สุดเลยนะ ตอนได้รู้ครั้งแรกก็ร้อง อื้อหือ เราจะรักหนังสือได้ถึงขนาดนั้นไหมนะ

หรือเพราะเราดูหนังก่อนอ่านหนังสือก็ไม่รู้ ประเด็นนี้ในหนังค่อนข้างชัดเจนกว่า ผู้กำกับใส่ gimmick อะไรลงไปเยอะเลย ที่จริงโดยรวมหนังก็มีอารมณ์ขันมากกว่า และสดใสกว่าหนังสือพอสมควรทีเดียว และที่ฮาสุดๆ แบบวงในก็คือ ในบรรดาหนังสือที่ถูกเผาและถูกโคลสอัพนั้น มีนิตยสารที่ผู้กำกับเคยทำงานอยู่รวมอยู่ด้วย เห็นแล้วขำก้าก
โดย: ลูกสาวโมโจโจโจ้ (the grinning cheshire cat ) วันที่: 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา:12:20:18 น.
  
คือว่าอยากเก็บบางส่วนไว้เผื่อบางท่านที่ยังไม่ได้อ่านจะได้มีอะไรให้ลุ้นบ้างหากได้โอกาสอ่านครับ

ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ ไม่รู้ผมจะเก็บควมรู้อย่างนี้ไว้ได้นาน ได้มาก และได้แม่นยำอย่างนั้นหรือเปล่า

กลัวแต่ว่ามีคนเห็นหนังสือที่อ่านแล้วส่ายหน้าว่าอ่านเข้าไปได้ยังไง... หนังสือแบบนี้
โดย: Zhivago วันที่: 13 พฤศจิกายน 2550 เวลา:12:42:51 น.
  
ว่าแต่ยังพอหาได้ไหมครับ เล่มนี้
ชักอยากอ่านขึ้นมาตงิดๆ
โดย: ahiruno007 (ahiruno007 ) วันที่: 21 พฤศจิกายน 2550 เวลา:2:35:49 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhivago.BlogGang.com

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]

บทความทั้งหมด