อาณาจักรเจนละบก และ แคว้นเจนละน้ำ เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12

รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา  สาระยา  ได้กล่าวถึงความเป็นไปในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1  ไว้ในหนังสือ“อาณาจักรเจนละ  ”  ว่า พระองค์มิได้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง ภายในอาณาจักรเต็มไปด้วยร่องรอยความแตกร้าว  ไม่มีเสถียรภาพทางการบริหารอย่างสิ้นเชิง  เพราะว่าบรรดาอธิราชผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ พากันแก่งแย่งแสวงหาผลประโยชน์รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกัน  เกิดความระส่ำระสายไปทั่ว  ไม่มีใครเชื่อฟังสนใจคำสั่งของเมืองหลวง  ต่างประพฤติปฏิบัติไปตามอำเภอใจ  บ้างก็ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ  บ้างก็ขาดความจงรักภักดี  บ้างก็ส่งทูตของตนไปติดต่อทางการค้ากับประเทศจีน  โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของเมืองหลวง  แสดงให้เห็นว่า  พลังอำนาจรัฐตรงจุดศูนย์กลางหมดแรงยึดเหนี่ยวกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ให้เกิดความสมานฉันท์ต่อกันอีกต่อไปได้  อาณาจักรกัมพูชากำลังจะแตกสลายกลายเป็นดินแดนอนาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง
        ศิลาจารึกของพระนางชัยเทวี  พระราชินีม่ายของพระเจ้าชายวรมันที่ 1 คล้ายกับยอมรับสารภาพถึงการถูกบีบบังคับให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอาณาจักร เจนละที่แตกสลายไปแล้วตกอยู่ในสภาพบ้านเมืองเถื่อน  ดังเช่นสตรีปกครองชนชาวพื้นเมืองสมัยก่อนกำเนิดอาณาจักรฟูนัน  ข้อความในศิลาจารึกของพระนางพรรณนาถึงความอาภัพอับโชคในยุคที่เดือดร้อน  ขมขื่นและสิ้นหวัง  ในที่สุดจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถังบอกให้ทราบว่า“ประเทศเจนละ” ถูกแบ่งออกเป็น 2 แคว้น เรียกว่า “อาณาจักรเจนละบก” และ“แคว้นเจนละน้ำ” เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12
                      พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์อาณาจักรเจนละน้ำ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1245  ต่อ จากนั้นพระองค์พยายามเสริมสร้างพระราชอำนาจและสถานภาพของกษัตริย์ให้กลุ่มชน หลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์มีความเชื่อและยอมรับร่วมกันในเรื่องเทพ กษัตริย์บรรบุรุษ  เป็นศูนย์รวมอันศักดิ์สิทธิ์แห่งจักรวาล  พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากเทวราชเหล่านั้น  การเคลื่อนย้ายเมืองหลวงห่างจากชายฝั่งทะเลและขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ไกลจากทะเลสาบใหญ่อันเป็นสถานที่แห้งแล้งอย่างน่าสงสัย  ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า อาจเป็นการแสวงหาชัยภูมิอันเหมาะสมปลอดภัยจากการบุกโจมตีของกองทัพเรือศรีวิชัย  แล้วพระองค์อาจตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมอาณาจักรเจนละบก  เพื่อให้ประเทศของพระองค์มีความเข้มแข็งมั่นคงเหมือนดังในสมัยอาณาจักรฟูนันและอาณาจักรอีสานปุระ
        ศิลาจารึกศิวศักดิที่เขาพระวิหาร  บอกให้ทราบว่า  ตระกูลของพวกพราหมณ์ปุโรหิตซึ่งมีอำนาจและมีอิทธิพลอยู่ในแถบเขาพระวิหาร เช่น  ตระกูลชราเชนทรบัณฑิต  ตระกูลศรีนฤเปนทราปฤธินาเรนตรา เป็นต้น  พระเจ้าชัยวรมัน 2 ทรงสร้างสัมพันธภาพกับตระกูลเหล่านี้โดยอภิเษกกับนางฮยาง  ปาวิตรา หรือ ปราณ  แล้วโปรดให้ดำรงตำแหน่งเป็น“พระนางกัมพูชาลักษณมี” ศิลาจารึกดังกล่าวยอพระเกียรติของพระนางว่า
        “เธอเปรียบเทียบเสมือนธรณี  และศรี ผู้เป็นราชินีแห่งสวามี  สตรีแห่งคุณความดี  ซื่อสัตว์ต่อหน้าที่ของเพศหญิง  เธอให้กำเนิดโอรสทรงพระนามว่า ศรีธรรมวัฒนะ..”
        พระนางกัมพูชาลักษมี ในศิลาจารึกศิวศักดิ  นอกจากหมายถึงพระราชมารดาของ “พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ” แล้ว พระนางอาจหมายถึง“นางนาค” ธิดาของชาวเขมรพื้นเมืองที่ทำให้  “พระเกตุมาลา” หลงเสน่ห์จนฟั่นเฟือน  ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน  เพราะหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2  เริ่มต้นผูกสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับผู้นำของอาณาจักรเจนละบกในแถบเขาพระวิหารและแคว้นจัมปาศักดิ์แล้ว พระองค์ทรงนำลัทธิแบบใหม่คือ
“ลัทธิเทวราช” ด้วยการยกย่องกษัตริย์ขึ้นเป็นเทพเจ้าโดยถือเสมือนว่า  องค์สมมุติเทพ  คล้ายกับพระศิวะ ประทับอยู่บนผืนแผ่นดิน  ย่อมได้รับการสักการบูชาในรูปศิวลึงค์  ประดิษฐานบนภูเขากลางพระนคร  ถือว่าเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักร ในฐานะ“กมรเตง  ชคตะราชา” ต่อ มานั้นพระองค์ทรงเริ่มต้นบูรณาการฟื้นฟูปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นแหล่งสถิต ของเทพกษัตริย์บรรพบุรุษ คือ ศรีลิขเรศวร สถานศักดิ์สิทธิ์สูงสุด  จนเป็นที่ยอมรับของชาวพื้นเมือง  ต่อจากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่มเหนทรบรรพต อันมีภูเขาพนมกุเลนตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางที่ราบเมืองพระนคร  ศิลาจารึกสะด๊อกก๊กธมกล่าวต่อไปว่า
        “ณ  มเหนทรบรรพต พราหมณ์ราชปุโรหิต  ก็ตามเสด็จไปกับพระองค์ ตั้งหลักแหล่งขึ้นที่นั่นเพื่อรับใช้พระองค์  จากนั้นมีพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทางเวทมนต์ได้มาจากชนบทตามคำเชื้อเชิญของพระราชา  เพื่อมาประกอบพิธีให้กัมพูชาไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของชวาอีกต่อไป  และเพื่อจะได้มีกษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวเป็นผู้ปกครองประเทศ  พราหมณ์ผู้นี้จึงอ่านโองการวัธยายคัมภีร์ตั้งแต่ต้นจนจบ  สอนพราหมณ์ราชปุโรหิตให้รู้จักการประกอบพิธีของเทวราชาอีกด้วย”
        พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงครองราชย์อย่างยาวนานถึง 48 ปี เสด็จสวรรคตที่เมืองหริราลัยเมื่อ พ.ศ. 1393  ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าหลังจากพระองค์ทรงประกอบพิธีประกาศอิสรภาพไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิศรีวิชัยนั้น  มหาราชแห่งซาบากทรงจัดการอย่างไรกับอาณาจักรกัมพูชา  นอกจากปรากฏเรื่องราวอยู่ในโศลกสันสกฤต  ซึ่งกวีประจำราชสำนักแต่งขึ้นยอพระเกียรติสรรเสริญไว้  ภายหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ไปราว 50 ปี ความว่า
        “พระองค์ประทับอยู่เหนือศีรษะของสิงห์ที่ประดับบัลลังก์ของพระองค์  ทรงสถาปนาพระราชประสงค์ไว้เหนือเศียรของกษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ประทับอยู่เหนือยอดเขาเหนทร์  แม้กระนั้นก็มิได้มีความหยิ่งยโสในพระองค์เลย”



//www.gatewayindochina.com



Create Date : 24 สิงหาคม 2556
Last Update : 24 สิงหาคม 2556 19:51:28 น.
Counter : 9270 Pageviews.

2 comments
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:3:51:08 น.
  
แสดงว่ามีความสำเร็จในการสร้างอาณาจักร
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:14:45:00 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

surya21
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 50 คน [?]



New Comments
สิงหาคม 2556

 
 
 
 
1
2
3
5
6
8
9
10
15
16
17
18
19
20
22
23
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog