เดินสายกลาง..ไม่อ้างว้าง..ไม่วุ่นวาย
Group Blog
 
 
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 

ตัดช่องน้อยแต่พอตัว

บางคนอาจเชื่อในเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต บางคนคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากตัวเราเองเป็นผู้กำหนด สำหรับเราคิดว่า 50/50 นะ
เมื่อ 8 ปีที่แล้วตอนมาอยู่ที่นอร์เวย์ใหม่ๆ (อยู่เมืองเล็กๆทางตอนใต้) ได้มีโอกาสเจอะเจอเพื่อนคนไทยอยู่ไม่กี่คน มีพี่คนนึงมาจากอีสาน มีโอกาสคุยกับแกบ่อยหน่อยเพราะเรียนภาษาห้องเดียวกัน พี่แกชอบซักไซ้ประวัติส่วนตัว ไอ้เราก็ตอบไปซื่อๆ แต่วันแรกเจอถามคำถามจากพี่แกซะเราแทบสะอึกเลย แกถามว่า “ฮ่วย..เจ้าเรียนจบสูงตั๊วะ แล้วยังจะมามีผัวฝรั่งอยู่หนี่เฮ็ดหยัง? ส่วนมากที่เพิ่นมาๆกันน่ะมีแต่พวกความรู้น้อย หางานก็ยาก ต้องเฮ็ดงานบาร์ เจ้าสิมาหาซิ๊แตกหยังวะ?”
อุย ไอ้เราก็..เอ่อ อ่าก็นั่นสิพี่ ข้อยก็งงๆอยู่เหมือนกัน แบบว่าโชคชะตามันคงพามาอ่ะจ่ะ ..ตอนนั้นตอบแกไปยังงั้น แต่ในใจคิดอยากจะตอบว่า “แล้วไงง่ะ มีการศึกษาแล้วมาอยู่เมืองนอก หรือมีปั๋วฝรั่งมั่งไม่ได้เรอะ มันผิดจรรยาบรรณหรือไปรบกวนต่อมหมวกไตผู้ใด๋หว่า?
... ก็คิดเฉยๆอ่ะนะ ไม่กล้าพูดเพราะเพิ่งรู้จักพี่แกเอง มาอยู่ไกลบ้านไกลเมืองอย่างนี้ นานๆจะเจอเพื่อนร่วมชาติร่วมภาษาซักคน อย่าเพิ่งไปกวนบาทาพี่แกเลย รักษามิตรภาพเอาไว้ก่อนดีกว่า

ก่อนที่หน้าจะมาอยู่นอร์เวย์นั้น เราหนีชีวิตจากเมืองกรุงไปอยู่ชนบท จ.สุรินทร์บ้านเกิดของพ่อ จริงๆแล้วตอนนั้นใจยังสนุกกับงานผลิตสารคดีทีวีอยู่เลยนะ แต่เราต้องตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพราะไม่มีความอดทนอดกลั้นพอกับเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่คนหนึ่ง ที่มีนิสัยอวดเบ่ง ขี้ประจบสอพลอ ทำงานเอาหน้า และคอยปิดกั้นแนวคิดของเราตลอด ทั้งที่เราก็เป็นรุ่นน้องร่วมคณะและสถาบันการศึกษาเดียวกันกับพี่เขาแท้ๆ แล้วเราก็เป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆเอง เงียบๆ เฉยๆ จริงจังกับงาน ไม่เคยคิดจะแข่งอะไรกับพี่แกซึ่งเป็นผู้ชายตัวใหญ่(อย่างกับยักษ์)เลยแม้แต่นิดเดียว เมื่อถูกกดดันหนักๆเข้า ทำงานแล้วไม่มีความสุข แม้เงินเดือนจะสูงก็ไม่เอาแล้ว (สมัยนั้นปี 2538 เงินเดือน2หมื่นกว่าบาทนี่ถือว่าสูงมากแล้วนะ) เลยยื่นจดหมายลาออกแล้วออกไปเลย

พอไปอยู่บ้านนอก ยังไม่รู้จะทำอะไรก็ทดลองปลูกผัก พอปลูกกินได้ก็ลองปลูกขาย ระยะนั้นจะมีเสียงชาวบ้านซุบซิบและพูดเหน็บตลอดว่า “เอ็งจบปริญญา มีงานดีๆทำแล้วออกมาทำอะไรอย่างนี้ มีแต่คนเข้าไปหางานทำในเมือง ในบางกอกกัน แต่เอ็งกลับมาอยู่บ้านนอก ท่าจะบ้าแล้วอีหนู.. หนักเข้าก็ว่าเรามาเพื่อจะเอามรดกที่ดินแทนพ่อ(ที่เสียไปแล้ว) บลาๆๆๆ เราก็อดทนฟังไป หนทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน แต่ปลูกผักขายไม่นานก็ต้องเลิก สู้ไม่ไหว ยอมรับเลยว่าเป็นชาวสวนนี่มันเหนื่อยแสนเหนื่อยจริงๆ ต้องตากแดดหน้าดำหน้าแดง กว่าจะขายผักได้แต่ละบาทเลือดตางี้แทบกระเด็น ญาติๆสงสารหรือสมเพชก็ไม่รู้นะเลยยุให้ไปสอบ กพ จะเหมาะกว่า เราก็ลองสอบดู ผลก็คือสอบผ่านทั้ง ภาค ก, ภาค ข และภาค ค สอบติดลำดับที่ 16 ตำแหน่งผู้จัดรายการ ของกรมประชาสัมพันธ์ แต่รายชื่อขึ้นบัญชีไว้รอเรียกตัวเท่ห์ๆอย่างนั้นเอง ผ่านไปสองปีก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะนโยบายทักษิณตอนนั้น มุ่งใช้คนอย่างเต็มคราบ คนเกษียณก็เกษียณไป แต่จะไม่มีการเรียกบรรจุใหม่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ กรรมของตูแท้ๆ

แต่โชคยังช่วง ว่างงานไม่นานเท่าไหร่ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ใจดีเห็นหน่วยก้านเราว่าเข้าที ที่อยากใช้ชีวิตอยู่บ้านนอกจริงๆ แต่ไม่มีงานและไม่มีรายได้ เลยชักชวนให้เราทำงานประจำกับองค์กรชาวบ้าน (สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน) ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากมายเลย ถึงเงินเดือนน้อยแต่ก็มีความสุข ได้เป็นที่รู้จัก/ยอมรับของชาวบ้าน คลุกคลีตีโมง ได้ช่วยเหลือเด็กๆและชาวบ้านมากขึ้น เพราะเรายินดีเป็นทุกอย่างที่ชาวบ้านอยากให้เป็น เช่น เป็นช่างถ่ายภาพประจำหมู่บ้าน/ตำบล(อ่านดีๆ ไม่ใช่เป็นนางงามขวัญใจช่างภาพนะ อิๆ), เป็นช่างตัดผม,เป็นไปรษณีย์เขียน+ส่งจดหมาย/เบิกธนาณัติให้คนเฒ่าคนแก่, เป็นหมอ/พยาบาลจำเป็นยามฉุกเฉิน, เป็นครูพิเศษของเด็กๆ ฯลฯ เรียกว่าให้ฉันเป็นอะไรก็ได้สุดแต่จะหมายให้ฉันเป็น...ประมาณนั้น โดยที่ไม่ได้หวังค่าตอบแทนใดๆเลย ด้วยรู้ดีว่าที่บ้านนอกนั้นอะไรๆมันก็อัตคัตขัดสนไปหมด พอจะทำอะไรเพื่อชาวบ้านได้ก็ทำ คิดอย่างนั้นจริงๆ


พอได้คลุกคลีกับเด็กๆมากขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่าชอบทำงานกับเด็ก อยากเป็นครูบ้านนอก ป้าน้าอาลุงต่างก็สนับสนุน เพราะปู่ป้าอาลุงของเราก็เป็นครูแทบทั้งนั้น พอเขารับสมัครสอบบรรจุครูก็เลยไปขอสอบ แต่ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าเราไม่มีวุฒิเกี่ยวกับครูเลย สอบไม่ได้ ไอ้เราก็เลยต้องดั้งด้นไปสมัครสอบเข้าเรียนต่อเพื่อจะเอาวุฒิครู แรกนั้นตกลงกับญาติว่าจะพากันเลือกเอกภาษาอังกฤษที่ราชภัฎบุรีรัมย์ ก็พากันไปสอบและผ่านเรียบร้อย แต่ภายหลังญาติมีปัญหาส่วนตัว เลยพลอยทำให้เราต้องล้มเลิกที่จะเรียนเอกภาษาอังกฤษที่ราชภัฎบุรีรัมย์ ไปด้วย (เนื่องจากเราขาดที่พึ่งพาด้านพาหนะไปเรียนไกลๆนั่นเอง) เลยต้องเบนเข็มไปเรียนเอกประถมศึกษาที่ราชภัฏสุรินทร์ เพราะที่นี่ไม่มีเอกภาษาอังกฤษให้เลือก

แต่ก็นั่นล่ะคงเป็นชะตาฟ้าลิขิต เหตุที่เปลี่ยนมาเรียนเอกประถมศึกษานี้เอง เลยทำให้ชีวิตเราพลิกผันได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์จนถึงทุกวันนี้ เพราะทำให้เราได้รู้จักกับพี่คนนึงที่เป็นครูสอนภาษาไทยให้กับเด็กไทยที่ติดตามแม่มาอยู่นอร์เวย์จากเพื่อนร่วมชั้นเรียน จากนั้นก็ได้ติดต่อกับพี่เขาทางจดหมายและทางอีเมล์อยู่เป็นปีๆนะ พี่เขาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่นอร์เวย์ให้ฟังอย่างมากมาย น่าสนใจน่าทึ่ง ลืมบอกว่าตอนนั้นเราเรียนครูภาคสมทบหรือ กศ.บป. ไปเรียนวันเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาก็ทำงานประจำที่สหกรณ์ในตำบล ทำจนถึงช่วงฝึกสอนถึงได้ลาออกจากงาน จำได้ว่าตอนที่ลาออกนั้นคณะกรรมการและชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเสียดายมากๆที่เราต้องลาออก เพราะทุกคนรักและเมตตาเราเหมือนลูกเหมือนหลานพวกเขาจริงๆ เราเองก็ใจหาย แต่ชีวิตต้องเดินหน้าตามหาฝันอ่ะนะ

พอเรียนจบก็ตกงาน ได้แต่รอสอบบรรจุครู ซึ่งไม่มีวี่แววเอาเสียเลย งานไม่มี เงินก็ไม่มา เป็นช่วงที่ลำบากมากๆ จนต้องเป็นบัณฑิตอาสาตามนโยบายแก้ปัญหาบันฑิตล้นตลาด หรือนโยบายกู้ชาติในยุคนั้น ช่วงนั้นเองที่ได้มีโอกาสพูดคุยปัญหาเรื่องงานในสังคมไทยให้พี่ที่เป็นครูอยู่นอร์เวย์ฟัง พี่เขาจึงมีน้ำใจอยากช่วยเหลือเรา จนในที่สุดเรากับสามีก็ได้พบกัน สามีบอกว่าเจอที่อยู่อีเมล์ของเราในเว็บอะไรซักอย่าง ซึ่งมีแต่ที่อยู่อีเมล์เฉยๆ ไม่มีรูปไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่ก็อยากเสี่ยงลองเขียนติดต่อดู

ตอนนั้นเรากับสามีเขียนอีเมล์คุยกันแค่3เดือนเท่านั้น สามีก็เดินทางไปหาเราที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 ตั้งใจไปรับเรามานอร์เวย์แหละ แต่ก็ได้ทำพิธีสู่ขอ/มอบสินสอดและผูกข้อไม้ข้อมือจากแม่เมื่อวันที่ 9 กุมภา (ตอนนั้นเราอายุ 32 แล้วนะ ยังขายออกอีกเนาะ ส่วนสามี 40 กำลังดี อิๆๆ) แล้วในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 เราก็บินมาอยู่ประเทศนอร์เวย์กับสามี รวดเร็วปานสายฟ้าฟาดเลยนิ แต่มันคือความจริง เพื่อนๆต่างใจหายใจคว่ำไปตามกัน

...ทุกวันนี้เราก็ไม่เคยลืมพี่สาวคนนี้เลย มาถึงนอร์เวย์เราได้เจอพี่เขา 3 ครั้ง จากนั้นตั้งแต่ปี 2548 หรือ 2549 ที่พี่เขามีปัญหาส่วนตัวบางอย่างจนต้องย้ายที่อยู่ พร้อมกับเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ ก็เลยไม่ได้ติดต่อ ไม่ได้ข่าวคราวจากพี่เขาอีกเลย ณ วันนี้ต้องขอขอบคุณพี่สาวอีกครั้ง ถ้าพี่เขาได้อ่านก็คงจะดี


ก็ต้องยอมรับตามตรงเลยว่าตอนนั้นนึกอยากจะหลุดออกมาให้พ้นจากสังคมไทยเป็นที่สุด เสี่ยงเป็นเสี่ยง เพราะรู้สึกว่าเมืองไทยมันไม่มีอะไรให้เรามุ่งหวังอีกต่อไป มันปิดกั้นโอกาสเราไปซะหมด เราจบปริญญาตรีมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมทั้งสองปริญญา เรารักที่จะทำงาน เราสอบได้ลำดับที่ดีๆ เรามีวุฒิครู แต่ประเทศชาติไม่มีตำแหน่งงานจะรองรับเราเลย อนิจา ข้าพเจ้าเลยจำต้องตัดช่องน้อยแต่พอตัวอีกรอบสิครับท่าน




 

Create Date : 16 มีนาคม 2553
8 comments
Last Update : 17 มีนาคม 2553 1:45:20 น.
Counter : 1590 Pageviews.

 

ตอนเรียนก็เรียนหนักแทบตาย
บ้างก็ขนขวายหาเงินเรียนเอง
บ้างก็กว่าจะสอบได้ เลือดตาแทบกระเด็น พอมีใบปริญญาการันตรี ดันไม่มีที่ให้ลง(ทำงาน)เอาใจช่วยให้ผ่านไปได้ด้วยดีนะคะ

 

โดย: Thatcha70 17 มีนาคม 2553 4:43:20 น.  

 

อือมเพื่อนเราชะตาชีวิตพลิกผันดีจริง

ยังมีเพื่อนเราอีกสองคนนะจ๊ะที่รักชีวิตครูเป็นที่สุด คือครูจอย กะครูเจี๊ยบ(พรศรี)ไงล่ะ แต่เราก็ไม่เคยถามว่ะว่าเพื่อนสองคนนี้ผันตัวเองมาเป็นครูได้ไง แต่คิดว่าคงฝ่าฟันมาพอสมควรแหละ ตาเคยลองถามจอยดูมั่งยังอ่ะเรื่องนี้

เรื่องสอบบรรจุครูถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะง่ายแสนง่าย โดยเฉพาะครูที่ไม่เลือกว่าจะได้บรรจุที่พื้นที่ไหน เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดแคลนครูเป็นยิ่งนัก จะอนุโมทนาด้วยจริงๆ สำหรับครูไทยที่จะยอมเสี่ยงอันตรายไปอยู่เป็นแม่พิมพ์ที่ดีให้เด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
และรัฐบาลก็ควรตอบแทนแม่พิมพ์ที่ดีเหล่านี้ด้วยการระวังภัยให้พร้อมกับรายได้ที่สมควรเสี่ยง

 

โดย: แหม่มจ้า IP: 160.1.10.77, 58.11.82.168 17 มีนาคม 2553 14:21:03 น.  

 

ได้อ่านเรื่องราวของตุ้กตาแล้ว เอื้องก็พอจะจำได้คร่าว ๆ จากปากของป้อมสมัยนั้น ซึ่งจำได้ว่าตุ้กตากับป้อมได้ติดต่อกันทางจดหมาย ซึ่งสมัยนั้นการติดต่อสื่อสารไม่ได้ทันสมัยเหมือนเดี๋ยวนี้ เเอื้องก็เคยได้รับจดหมายจากตุ้กตา จากสุรินทร์ ว่าตุ้กตาไปทำงานอยู่ที่โน่น และก็เรียน้ไปด้วย ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทดูแลยายซึ่งเป็นโรคมะเร็ง และครั้งหนึ่งตาก็ได้กลับมาเที่ยวท่ามะกา แล้วเอื้องก็ได้ไปส่งตุ้กตา ที่ห้องสมุดวัดท่ามะกา เพื่อจะหาข้อมูลอะไรสักอย่างจากหนังสือพิมพ์เก่า และหลังจากนั้น เราก็ไม่ได้เจอกันอีก จนกระทั่งตาได้ไปอยู่นอร์เวย์ ได้เจอกันอีกครั้ง ตาก็มีลูกแล้วได้กลับมาเยี่ยมแม่ที่บ้านท่ามะกา หวังว่าสิ่งที่ตากล้าเสี่ยงในครั้งนั้น คงจะทำให้วันนี้มีความสุข กับชีวิตครอบครัว ไม่มากก็น้อยนะจ้ะ...

 

โดย: aungprai chaingmai IP: 119.31.126.141 19 มีนาคม 2553 18:33:17 น.  

 

อย่างน้อย...ช่องน้อยๆที่พี่ตุ๊กตาตัดมา ก็พอเพียงพอดีตัวนี่นะ มีความสุขกับครอบครัว เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดเลยเนอะ

 

โดย: Goizd 24 มีนาคม 2553 16:08:09 น.  

 

อ้อ.. เป็นอย่างนี้นี่เอง

...............................................................................


อ๊ะๆๆ ป้าโซไม่ทิ้งร่องรอยไว้ว่าเคยมาเยี่ยมบล็อกนี้สั้นๆแค่นั้นหรอกน่า .. ทำได้ไงกับขาประจำ เย้ยยย.. ฟังดูทะแม่งๆเนาะ


เข้าใจค่ะ กับสิ่งที่ตุ๊กตาตัดสินใจ ชีวิตของใครก็อยากเลือกให้ดีที่สุด จมอยู่กับสิ่งที่เราไม่สามารถกำหนดได้ มัวแต่นั่งรอคอยอย่างไม่รู้ว่าสิ่งที่รอคอยจะมาถึงเมื่อไหร่ วันนึงเราก็ต้องเป็นปุ๋ยกลับสู่ดิน .. ชีวิตมันมีอะไรให้ทำอีกตั้งเยอะ

บางอย่างของช่วงชีวิตเราไม่สามารถกำหนดได้ก็จริง แต่เราสามารถกำหนดบทบาทการดำเนินชีวิตของเราได้ ความสุขอยู่ที่เราจะกำหนดมันเองอย่างไรต่างหาก ป้าโซคิดว่าด้วยศักยภาพตัวตนของตุ๊กตาที่เป็นอยู่ คงทำให้ตุ๊กตามีความสุขดีอย่างพอเพียงใช่ไหมจ๊ะ?..

 

โดย: ป้าโซ 28 มีนาคม 2553 5:30:10 น.  

 

เพิ่งจะมีโอกาสได้อ่านเรื่องราว ของพี่ตา สิ่งที่ฟ้านึกออกคำแรกก็คือว่า เข้าใจที่สุดค่ะ สังคมเมืองไทยเรา เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ก็ืชื่นชมพี่ตามากๆ ค่ะ ที่อดทนต่อสู้มา และก็ดีใจกับพี่มากๆ ค่ะ ที่มีความสุขมาก มีคนที่รักมากๆ

 

โดย: นางฟ้าของผม 16 มิถุนายน 2553 21:00:12 น.  

 

พระเจ้ายอดมันจอร์จ มาก พรหมลิขิตบันดาลชักพาจริงๆเนาะ

 

โดย: หมู (naliman ) 16 ธันวาคม 2553 3:48:44 น.  

 

คนดี ๆ ก้อต้องมีสิ่งที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิตว่าจริงไหม เราเชื่อน่ะ

 

โดย: กัญณิกา 10 กุมภาพันธ์ 2554 20:43:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


เกลือหนึ่งกำน้อย
Location :
กาญจนบุรี Norway

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]







มิตรดี มีเพียงหนึ่ง ถึงจะน้อย
ยังดีกว่า มิตรร้อย คอยคิดริษยา
เหมือนเกลือหนึ่ง กำน้อย ด้อยราคา
ยังดีกว่า น้ำเค็ม เต็มทะเล

...เป็นคนใจดี ที่ไม่เรื่องมาก แต่มากเรื่อง 555




Friends' blogs
[Add เกลือหนึ่งกำน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.