 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
|
ต่อ
พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้ จึงเข้าเฝ้าพระจอมุนี ทูลถามว่า “พระองค์ผู้เจริญ โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติ ไม่เคยมีไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้วเพราะเหตุไรหนอ?” พระทศพลเจ้าตรัสว่า “พระอานนท์เอ๋ย อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคต ประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจัก ปลงอายุสังขารและนิพพาน ครานั้น ย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น” พระอานนท์ทราบว่า บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงพระชนมายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและความว้าเหว่ประดังขึ้นมา จนอัสสุชนธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีในพระเชฎฐภาดา ท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อาศัยความกรุณาข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนประนิพพานเลย” กราบทูลเท่านี้แล้ว พระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก เพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย “อานนท์เอ๋ย พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล ลีลาแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและพระพักตร์ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์ เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมา ไม่น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ (คือหนึ่งร้อยยี่สิบปี) หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่า ในคราวก่อนๆ นั้น ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ตรัสต่อไปว่า “อานนท์ เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะเหมือนนกแร้ง อันมีนามว่า “คิชฌกูฎ” ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามชื่อ “สุกรขาตา” ที่ถ้ำนี้เอง สาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือ “สารีบุตร” ได้ถอนตัณหานุสัยโดยสิ้นเชิงเพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลานชายของเธอผู้มีนามว่า “ทีฆนขะ” เพราะไว้เล็บยาว “เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้ว ทีฆนขปริพาชกเที่ยวตามหาลุงของตนมาพบลุงของเขาคือสารีบุตร ถวายงานพัดเราอยู่ จึงพูดเปรยๆเป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า พระโคดม ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด ซึ่งรวมความว่า เขาไม่พอใจเราด้วย เพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เราได้ตอบเขาไปว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอก็ควรไม่พอใจ ความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย" “อานนท์ เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป จนจิตของเธอหลุดจากอาสวะทั้งปวง” “อานนท์เอ๋ย ณ ภูเขาคิชฌกูฎดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเรานี้ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกหนึ่งกัปหรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่” “อานนท์ ต่อมาที่โคตมนิโครธ ที่เหวสำหรับทิ้งโจรที่ถ้ำสัตตบรรณ ใกล้เวภารบรรพต ที่กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลย จึงกล่าวขานกันว่าอิสิคิลิบรรพต (ภูเขากลืนกินฤๅษี) ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณฑิกาใกล้ป่าสีตะวัน ที่ตโปทารามที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่มัททกุจฉิมิคทายวันทั้งสิบแห่งนี้มีรัฐเขตแขวงราชคฤห์” “ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง แล้วจาริกสู่เวสาลีนครอันรุ่งเรืองยิ่ง เราก็ให้นัยแก่เธออีกถึงหกแห่ง คือ ที่ อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตรมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย คือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่ ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก” “อานนท์เอ๋ย บัดนี้ สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคต อานนท์ เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว บัดนี้ เป็นกาลสมควร ที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกสามเดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่วคอยแต่เวลาจะจมสู่ท้องธารเท่านั้น” “อานนท์ เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ “อานนท์ เอ๋ย ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ”
Create Date : 11 ธันวาคม 2564 |
|
0 comments |
Last Update : 1 กันยายน 2567 16:52:15 น. |
Counter : 793 Pageviews. |
|
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|