ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน คือ อุทยานซึ่งสะพรึบพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ให้หันพระเศียรไปทางทิศอุดร
ครั้งนั้น มีบุคคลเป็นจำนวนมาก จากสารทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาลแผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุการณ์ดังนั้นแล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า
"อานนท์ พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอ๋ย ผู้ใด ปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติอันชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยการบูชาอันยอมเยี่ยม"
พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลาย จะพึงไป ณ ที่ใด?"
"อานนท์ สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่ คือ สถานที่ที่เราประสูติแล้ว คือลุมพินีวันสถาน สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก คือป่าอิสิปตนมิคทายะแขวงเมืองพาราณสี สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐ ทำกิเลสให้สิ้นไป คือ โพธิมณฑลตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และสถานที่ที่เราจะปรินิพพาน ณ บัดนี้ คือป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอ๋ย สถานที่ทั้งสี่แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเรา และเดินทางตามรอยพระบาทแห่งเรา" สังเวชนียสถาน สถานเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, ที่ที่ให้เกิดความสังเวชมี ๔ คือ ๑.ที่ประสูติ ๒. ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ๓.ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ๔. ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
สังเวช ความสลดใจให้ได้คิด, ความรู้สึกเตือนสำนึกหรือทำให้ฉุกคิด, ความรู้สึกกระตุ้นใจให้คิดได้ ให้คิดถึงธรรม ให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต และเร้าเตือนให้ไม่ประมาท; ตามความหมายที่แท้ของศัพท์ สังเวช คือ "สังเวค" แปลว่า แรงเร่ง แรงกระตุ้น หรือพลังที่ปลุกเร้า หมายถึง แรงกระตุ้นเร้าเตือนใจ ให้ได้คิดหรือสำนึกขึ้นมาได้ ให้คิดถึงธรรม หรือตระหนักถึงความจริงความดีงามอันทำให้ตื่นหรือถอนตัวขึ้นมาจากความเพลิดเพลิน ความหลงระเริงปล่อยตัวมัวเมา หรือประมาท แล้วหักหันไปเร่งเพียรทำการที่ตระหนักรู้ว่าจะพึงทำด้วยความไม่ประมาทต่อไป แต่ในภาษาไทย สังเวช มีความหมายหดแคบลงและเพี้ยนไป กลายเป็นความรู้สึกสลดใจ หรือเศร้าสลด แล้วหงอยหรือหดหู่เสีย ซึ่งกลายเป็นตรงขามกับความสังเวชที่แท้
Create Date : 13 ธันวาคม 2564 |
Last Update : 13 ธันวาคม 2564 19:18:29 น. |
|
0 comments
|
Counter : 191 Pageviews. |
 |
|