วิธีบรรเทาทุกข์ จากการซึมเศร้า (Depression disorder)
วิธีบรรเทาทุกข์ จากการซึมเศร้า (Depression disorder)

    มีหลายคนบอกว่าให้เรายอมรับโลกธรรม ๘ ได้แก่ ๑. มีลาภ ๒. เสื่อมลาภ ๓. มียศ ๔. เสื่อมยศ ๕. สรรเสริญ ๖. นินทา ๗. สุข ๘. ทุกข์ 

    ใน ๘ ประการนี้แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือ

    ๑. ฝ่ายดีหรือฝ่ายกุศล ฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ เป็นที่พอใจของเรา เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข

    ๒. ฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายอกุศล ฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ เป็นที่ไม่พอใจของเรา ไม่เป็นที่ปรารถนา ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

    โลกธรรม ๘ ประการนี้ เกิดขึ้นได้และเสื่อมสลายไปได้

    และยอมรับพระไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสรรพสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราจะต้องยอมรับให้ได้

    ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พูดอย่างนี้ใครๆ ก็รู้ แต่ทำใจไม่ได้หรอก เพราะว่าภูมิของเราไม่ถึง เราฝึกมาไม่พอ

    เราจะต้องมีหลักการ หลักธรรมะอื่นๆ อีก

    
เราจะต้องเปลี่ยนความคิดจากเดิม ให้มีความหวังเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมใหม่

    เราเบื่อ ซึมเศร้า ณ เวลานี้ จะต้องมีเหตุปัจจัยอะไรที่มาทำให้ซึมเศร้า และเราจะต้องมีกิจกรรมอะไรมาเพื่อให้เปลี่ยนความคิดไม่ให้เบื่อ ซึมเศร้า ไม่ให้ความคิดตรงนี้ไปจับ ถ้าเราจับแต่ความคิดลบ เราก็จะเศร้าอยู่เรื่อยๆ ถ้าเรามีกิจกรรมทางด้านบวก เราก็จะมีความหวัง ความซึมเศร้าก็จะถอยลง

    ฉะนั้น เราจะต้องมีสรณะอยู่ ๓ ประการ เพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหา คือ

    ๑. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ องค์ไหนก็ได้ตามแต่ที่เรานับถือ พุทธ คริสต์ อิสลาม เช่น พระพุทธเจ้า พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อโสธร พระสีวลี พระอุปคุต พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเณศ พระแม่อุมาเทวี เจ้าพ่อ เจ้าแม่ต่างๆ พระเยซู พระอัลเลาะห์ เป็นต้น

    ๒. องค์กร คือ องค์กร มูลนิธิ หรือกลุ่มคณะฯ ที่ให้การช่วยเหลือเราได้ เช่น โรงพยาบาล มูลนิธิช่วยเหลือต่างๆ เช่น มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิโครงการเพื่อชีวิต เป็นต้น

    ๓. บุคคล คือ พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ผู้รู้ กัลยาณมิตร เพื่อนฝูง มิตรสหาย

    นอกจากนี้เราจะต้องมี ๓ วิธี

    ๑. เราจะต้องมีความหวังใหม่ คือ ความหวังที่ใหม่จากเดิมที่เคยมี หรือเพิ่มเติมจากเดิม สร้างความหวังใหม่ขึ้นมา

    ๒. เราจะต้องให้ความสำคัญกับความหวังใหม่ เราก็จะปล่อยความหวังเก่าออกแล้วมาจับความหวังใหม่แทน

    ๓. เราจะต้องมีหัวใจ ๕ กับความหวังใหม่ คือ หัวใจ ๕ ได้แก่ ๑) กตัญญู ๒) ศรัทธา ๓) เชื่อมั่น ๔) หนักแน่น ๕) มั่นคง อย่างจริงจัง จริงใจ เด็ดขาดกับความหวังใหม่ ไม่เสื่อมไปจากความหวังใหม่

    เราไม่ทำอย่างนี้เราจะเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ เปลี่ยนจากเบื่อไม่ได้ เปลี่ยนจากความซึมเศร้าไม่ได้

    ถ้าเราคิดว่าเราจะตาย เราก็จะเศร้ามาก เดี๋ยวก็จะจากคนนั้น เดี๋ยวก็จะจากคนนี้ 

    แต่เราไม่คิดว่ามันยังมีเวลาอีกซะเท่าไหร่ที่จะตาย ให้คิดว่าเรายังมีเวลาที่จะทำตรงนี้ให้ดี คิดอย่างนี้ดีกว่า เราจะมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน

    เราคิดให้ตายเราก็เปลี่ยนแปลงความจริงตรงนั้นไม่ได้ ฉะนั้น เราเอาเวลาเหลืออยู่ไปเอาความสุข ทำให้ปิติสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์ เช่น ประกาศว่าจะตัั้งใจมีความปิติในการทำความดี มีความปิติในการเจริญพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อย่างต่อเนื่อง เห็นไหมว่าเรามีตัวจับ เป็นตัวสรณะ ถ้าเรามีตัวจับอย่างนี้ จิตเราจะไปเขวทาง ผิดทาง ออกนอกเส้นทาง เราก็สามารถดึงกลับมาได้ กลับมาตรงนี้ เราก็จะมีปิติสุขกับกิจกรรมใหม่ของเรา ถ้าไม่เช่นนั้น จิตเราก็จะฟุ้งซ่านจับตัวเก่าว่า เราจะตายเมื่อไหร่ เราก็จะเศร้าหมอง เห็นแต่ภาพเศร้าหมองหมดเลย เราไม่เห็นภาพที่เป็นบวก ภาพสร้างสรรค์ 

    ถ้าเราอยากให้เห็นภาพบวก ภาพที่สร้างสรรค์ เราจะต้องสร้างจะต้องทำ เช่น เราไปเห็นคนตกน้ำ แล้วเราเข้าไปช่วยเหลือมาได้ ทำให้เขามีชีวิตรอด หรือเราเอาของไปบริจาคให้แก่เด็กกำพร้าได้กิน เห็นความสดชื่นของเขา เห็นความดีใจของเด็ก หรือเรามีทำกิจกรรมแล้วเกิดความสมหวัง เช่น เราจะไปช่วยวัดปัดกวาดเช็ดถูอาคารสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดความสดชื่น คนมาไหว้ก็จะชื่นชมว่าดีมากเลย เช่น เราไปช่วยเขาอบยา นวดเขา แล้วเขาหายปวด เราก็สดชื่น แล้วเราจะมีความสุขไหม? 

    นี่แหละ เราจะต้องหากิจกรรมบวกมาสร้างสรรค์แล้วอยู่ให้มั่นคงกับกิจกรรมบวกนั้น แล้วเราจะหายจากโรคซึมเศร้าตรงนั้น ความซึมเศร้า เบื่อหน่ายจะลดลง

    
เราจะต้องมีกิจกรรมใหม่ เราแล้วจะต้องชื่นชม ให้ความสำคัญ แล้วปิติกับกิจกรรมใหม่ตรงนั้น มีความสุขกับกิจกรรมใหม่ตรงนั้น แล้วเรามั่นใจมั่นคงกับกิจกรรมใหม่ตรงนัั้น

    ถ้าเรามั่นใจมั่นคงกับกิจกรรมใหม่นี้ จิตเราก็จะหลุดออกจากสิ่งที่จมปลักกับความเศร้าตรงนั้น จิตเราก็จะมาจับกับความหวังใหม่ เราก็จะมีความสุขขึ้น

    สมมติว่า เราไม่สามารถจะทำบ่อยๆ ได้ ทำได้แค่ ๑ ชั่วโมง แล้วก็จะหนีเข้าไปสู่มิติความซึมเศร้า เบื่อหน่าย เราก็จะดึงออกมาจากมิตินั้น ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เพราะเรารู้แล้วว่าเราจะต้องดึงออกมาจากที่ไหนแล้วจะไปที่ไหน เราก็มีความสุขได้ นี่คือวิธีแก้ที่ถูกต้อง

    เราจะต้องมีสิ่งใหม่ กิจกรรมใหม่ ความหวังใหม่ ปฏิบัติกรรมใหม่ที่เป็นบวก ที่เป็นความหวัง คือ มีความจาคะ หวังให้คนอื่นได้มีความสุข เราก็จะสุขตาม
    เรามอบความสุขแก่เขา ความสุขนั้นก็จะแบ่งปันมาถึงเรา

    ให้สุขแก่เขา สุขนั้นถึงเรา

    นี่แหละ ตัวนี้จะเป็นตัวแก้โรคซึมเศร้า แก้ตัวเศร้าโศก

    ถ้าเราเกิดมีความคิด "ปลงชีวิต ชีวิตเรามันอนิจจัง ไม่นานจะต้องตาย" แล้วเรายังไม่มีพื้นฐานที่แท้จริง เราจะเศร้ามาก

    ถ้าเราไปช่วยเหลือคนอื่น เป็นอริยทรัพย์ แต่ว่าเรายังต้องการมีทรัพย์สินเงินทอง เพื่อการดำรงชีวิตใช่ไหม?

    ไม่ใช่ว่าเราจะทุ่มเทเดินทางไปอริยทรัพย์ทั้งหมด เราจะต้องมีกิจกรรมที่ทำให้ได้ทรัพย์สินเงินทองเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต ถ้าไม่อย่างนัั้น ถ้าเราไม่มีปัจจัยเงินทอง เราก็จะไม่มีอริยทรัพย์เป็นสรณะดำรง

    สมมติว่า เศรษฐกิจตรงนี้ไม่ดี เราจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ จะต้องลดค่าใช้จ่ายลง ทุกอย่างจะต้องเล็กลงมา หารายได้เพิ่มขึ้น เราจะต้องแก้ที่ธนทรัพย์ เหตุเพราะว่ารายรับน้อย รายจ่ายเยอะ เราก็จะต้องมาแก้ที่เหตุนี้

    เราจะต้องทำทั้ง ๒ ด้าน ทั้งด้านอริยทรัพย์และทรัพย์สินเงินทอง

    ความเศร้าหมองก็มี ๒ ด้าน คือ เศร้าหมองทรัพย์จางกับเศร้าหมองจะตายเมื่อไหร่ ทำอะไรก็ไม่ถาวร ทำอะไรเดี๋ยวก็ไม่ดี ฉันไม่ทำดีกว่า 

    ถ้าเราปรมัตถ์ไม่กระจ่าง ไม่ซึ้งประจักษ์ เราจะทุกข์มาก ทุกข์ฺแท้เลย เช่น เราคิดว่าไปคิดชีวิตให้เป็นอนิจจังบ่อยๆ แล้วสังขารเป็นอนิจจังจริงๆ นี่แหละ ทุกข์แท้เลย

    บางคนทุกข์จนไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น ทำอะไรก็ไม่มีอะไร พระนาคารชุน (Nagarjuna) นักพุทธปรัชญาชาวอินเดีย ผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ นิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน กล่าวไว้อย่างถูกต้องเลยว่า ภูมิไม่ถึงแล้วไปทำ เป็นมิจฉา เพราะฉะนั้น เราจะต้องหมั่นสร้างปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนภูมิถึงตรงนั้น ภูมิตรงนั้นแหละจะบอกเราเองว่าควรปฏิบัติเช่นใด ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ พวกนี้เราจะไปกำหนดเวลาให้ถึงไม่ได้ ถ้าไปบอกว่าให้ภาวนาแต่เรื่องพวกนี้ คิดยังไงก็คิดไม่ตกหรอก มีแต่เศร้า 

    เหมือนกับหยิบสิ่งของขึ้นมาแล้วบอกว่าดีมากเลย แล้วก็มาบอกว่า เดี๋ยวมันก็อนิจจัง เดี๋ยวมันก็จะต้องไปล่ะ แล้วก็ต้องเสีย ต้องทิ้งละ แล้วเราจะเสียดายมันไหมล่ะ? แล้วการเสียดายนี้มันเป็นจริตของปุถุชน แล้วเรายังไม่หายจากปุถุชนแล้วจะมาบอกว่าเราไม่เสียดาย เป็นไปไม่ได้

    พวกนี้คิดได้ แต่ถ้าภูมิไม่ถึง ก็ไม่ไหว เศร้าใจมาก หมดแรงเฉยๆ คิดแล้วไม่อยากทำอะไร ทำไปก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไร นี่แหละ กลายเป็นคนเลื่อนลอย ซึ่งผิดไปจากคนที่เขาซึ้งประจักษ์อย่างถ่องแท้ เขาจะทำงานมากขึ้น อย่างเช่น พระพุทธเจ้าทำงาน ทำหน้าที่ถึงวินาทีสุดท้าย ท่านไม่มีทุกข์ มีแต่ความปิติ

    ยกตัวอย่าง อากง มีสิ่งต่างๆ ถาถมเข้ามา ก็ต้องพิจารณา ถือสรณะสิ่งศักดิ์ิสิทธิ์ คือ พ่อพรหมและพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็รู้ชะตาชีวิตของท่านว่าวันไหนท่านก็จะต้องตายจากไป แต่พระพุทธเจ้าไม่ลดละ 

    
มีปิติกับปัจจุบันกาล ทำให้มันมีความหมาย มีประโยชน์กับคนอื่น สร้างสรรค์อยู่ตลอด จนนาทีสุดท้ายของชีวิต 

    เป็นตัวอย่างให้เราเห็น ได้เรียนแบบอย่างพระพุทธเจ้า ทำตามแบบพ่อพรหม ยืนหยัดที่จะทำดีตรงนั้น ให้มีความปิติอยู่กับความดี ไม่ใช่ปิติว่ามีเท่าไหร่ จึงถือสรณะ ๒ องค์ คือ พระพุทธเจ้าและพ่อพรหมธาดา 

    จึงเข้าใจแล้วคิดแบบนี้ว่าจะต้องทำปัจจุบันให้ดี แล้วมีความสุขกับความปิติกับปัจจุบันในการกระทำตรงนั้น ถือตรงนั้นเป็นสรณะ แล้วจิตเราก็จะไม่เศร้าหมองไปตรงนั้น 

    ถามว่าจิตเราไม่ไปเหรอ? จิตเราก็ไป แต่ว่าเราดึงกลับได้ทันที เพราะว่าเรามีที่มั่นแล้ว

    ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่าจะดึงกลับมาที่ไหน เราถึงกลับมาปั้บเรามีที่มั่น เช่น เรามาตอบคำถามช่วยเหลือคนเราก็มีความสุขได้ ถ้าคนหนึ่งมาขอความช่วยเหลือเราแล้วเราช่วยได้ เขาดีขึ้น เราก็มีความสุขได้ แล้วเราหมั่นคิดภาวนาสิ่งที่เรากระทำไป เช่น เราช่วยคนนั้น คนนั้นดีขึ้น เรียกว่า มาหล่อเลี้ยงให้เรามีปิติในภูมินี้

    เช่น เราเคยสร้างพระพุทธรูป ห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ แล้วมีคนมากราบไหว้ แล้วจิตเราก็จะไม่ไปผูกติดกับความเศร้าหมอง จิตเราใฝ่ต่ำก็จะดึงกลับได้ ถามว่าไปไหม? ก็ต้องไป ทุกคนต้องมี เผลอก็จะดึงไปล่ะ แต่เราก็ต้องดึงกลับมา แต่ถ้าเราไม่มีสรณะ เราก็ไม่รู้ว่าดึงมาแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหน ไม่มีที่เกาะที่เหนี่ยว แต่ถ้ามี เราดึงมาปั้บ มีเกาะมีเหนี่ยวก็จะไปได้ไกล นี่แหละ แก้ความเศร้าหมอง
    

    สำคัญมากปัจจุบัน จิตเราอย่าออกจากปัจจุบัน อดีตและอนาคตไปได้ แต่เราจะต้องดึงกลับมาอยู่ปัจจุบัน ปัจจุบันกาลเป็นนิรันดร์ 


อดีต คือ เอาไว้แก้ไข เป็นข้อมูล เป็นอุทธาหรณ์ เป็นบทเรียน
ปัจจุบัน คือ คิด ทำ ปฏิบัติ
อนาคต คือ คิดคำนึง


 
เราทำตรงนี้ให้ดี มีความปิติอยู่กับปัจจุบัน 
ชีวิตก็จะมีความสันติสุข 
มีเป้าหมาย มีอานิสงส์ที่ดี 

ไม่ถึงกับ ๑๐๐% ได้แค่ ๗๐% ก็ดีแล้ว










Create Date : 29 มกราคม 2564
Last Update : 6 มีนาคม 2565 10:36:14 น.
Counter : 1113 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
มกราคม 2564

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
30
31
 
 
All Blog