23.4 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
23.3 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]

ความคิดเห็นที่ 6-42
ฐานาฐานะ, 3 ตุลาคม เวลา 01:26 น.

ข้อนี้น่าหมายถึง มนต์/คำแนะนำ/คำหารือ
ที่มี 4 หูเท่านั้นที่ได้ยินคือ ผู้พูด 2 หู ผู้ฟัง 2 หู
กล่าวคือ 2 คนเท่านั้น คือลับมาก

ความคิดเห็นที่ 6-43
GravityOfLove, 3 ตุลาคม เวลา 06:50 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-44
ฐานาฐานะ, 3 ตุลาคม เวลา 13:39 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า ธรรมเจติยสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8789&Z=8961

              พระสูตรหลักถัดไป คือกรรณกัตถลสูตร [พระสูตรที่ 40].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              กรรณกัตถลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8962&Z=9194
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=571

              พรหมายุสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9195&Z=9483
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=584

              เสลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9484&Z=9672
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=604

              อัสสลายนสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9673&Z=9914
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=613

              โฆฏมุขสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9915&Z=10193
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=630

              จังกีสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=10194&Z=10534
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=646

ความคิดเห็นที่ 6-45
GravityOfLove, 3 ตุลาคม เวลา 18:52 น.

             คำถามกรรณกัตถลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8962&Z=9194

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็น
อันไม่มีส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้ว
อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้น
ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

             ๒. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวเหตุ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวผลพร้อมทั้งเหตุว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรม
ทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่-
*พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลกกัน จะพึงมีการกระทำต่างกันกระมังหนอ?
             ๓. พ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล เดชอันใดอันความเพียร ย่ำยีแล้วเกิดขึ้น
ด้วยความเพียร ในข้อนี้ อาตมภาพย่อมไม่กล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือ วิมุติกับวิมุติ
ขอถวายพระพร.
             ๔. เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นไม่สามารถทำให้เทวดา
ทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือขับไล่เสียจากที่นั้นไม่ได้
             เพราะอะไรคะ
             ๕. ลำดับนั้นแล บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรมาแล้ว พระเจ้าข้า.
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่า
ดูกรพราหมณ์ ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ภายในพระนคร พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร
กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชา วิฑูฑภเสนาบดี พระพุทธเจ้าข้า.
วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร พระพุทธเจ้าข้า.
             ๖. พระภคินีทั้งสองนี้ คือพระภคินีพระนามว่าโสมาและพระภคินีพระนามว่าสกุลา
ทรงเป็นประชาบดีของพระราชา.
             ๗. ตอบว่า เพื่อจะเปลื้องคำครหาพระราชาเสีย. เพราะพวกบริษัท
จะพึงคิดกันอย่างนี้ว่า พระราชานี้เมื่อจะเสด็จมาก็ยังนำข่าวของมาตุคามมาทูลด้วย
พวกเราสำคัญว่า มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยธรรมดาของตน แต่พระเจ้าอยู่หัว
เอาข่าวของมาตุคามมาเห็นจะเป็นทาสของมาตุคามกระมัง แม้คราวก่อนพระองค์
ก็เสด็จมาด้วยเหตุนี้เหมือนกัน ดังนี้.
             ๘. ความอาพาธย่อมเกิดขึ้นแม้แก่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อาพาธแม้ทั้ง ๕
ย่อมชื่อว่าเป็นอาพาธมาก.
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-46
ฐานาฐานะ, 4 ตุลาคม เวลา 01:38 น.

GravityOfLove, 3 ชั่วโมงที่แล้ว
              คำถามกรรณกัตถลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8962&Z=9194

              กรุณาอธิบายค่ะ
              ๑. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็น
อันไม่มีส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้ว
อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้น
ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

อธิบายว่า
              คำว่า ไม่มี และคำว่า ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
              เป็นคำขยายซึ่งกันและกัน กล่าวคือ
              ประโยคว่า
              สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็น
อันไม่มีส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
              คือ ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง
จักปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ
              หรือ สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็น
ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
              อธิบายว่า จิตรับอารมณ์ได้ทีละอารมณ์ คราวละอารมณ์
ธรรมทั้งปวงมีประการต่างๆ ดังนั้น จิตขณะเดียวจะรู้อารมณ์ทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้.
              ซึ่งนัยก็เป็นไปตามพระพุทธดำรัสตอบพระเจ้าปเสนทิโกศลคือ
              สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้น
ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
              หรือ ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้น
              หรือ เป็นไปไม่ได้ที่สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง
ในคราวเดียวเท่านั้น

              ๒. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวเหตุ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวผลพร้อมทั้งเหตุว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรม
ทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่-
*พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลกกัน จะพึงมีการกระทำต่างกันกระมังหนอ?
อธิบายว่า ประโยคนี้จะกล่าวสรุปคำถามข้อเดิม และเริ่มคำถามข้อใหม่.
              สภาพอันเป็นตัวเหตุ น่าจะหมายถึง จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอารมณ์
              ตัวผลพร้อมทั้งเหตุ น่าจะหมายถึง จึงรู้อารมณ์ทั้งปวงในคราวเดียวไม่ได้.
              ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ เป็นคำถามข้อใหม่.

              ๓. พ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล เดชอันใดอันความเพียร ย่ำยีแล้วเกิดขึ้น
ด้วยความเพียร ในข้อนี้ อาตมภาพย่อมไม่กล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือ วิมุติกับวิมุติ
ขอถวายพระพร.
อธิบายว่า ผลสำเร็จของผู้บรรลุอรหัต ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใดๆ ใน 4 วรรณะ
ไม่มีความแตกต่างกัน.
              ถามว่า
              นัยว่า วิมุติกับวิมุติไม่มีความแตกต่างกันนี้ เคยได้ศึกษาจากพระสูตรใดมาก่อนหรือไม่?

              ๔. เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นไม่สามารถทำให้เทวดา
ทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือขับไล่เสียจากที่นั้นไม่ได้
              เพราะอะไรคะ
ตอบว่า สันนิษฐานว่า
              เพราะเทวดาทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ มีอานุภาพมากกว่า มีการบรรลุธรรมสูงกว่า.

              ๕. ลำดับนั้นแล บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรมาแล้ว พระเจ้าข้า.
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่า
ดูกรพราหมณ์ ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ภายในพระนคร พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร
กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชา วิฑูฑภเสนาบดี พระพุทธเจ้าข้า.
วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร พระพุทธเจ้าข้า.
อธิบายว่า เป็นการกล่าวเกี่ยงกันว่า ใครเป็นคนกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค.

              ๖. พระภคินีทั้งสองนี้ คือพระภคินีพระนามว่าโสมาและพระภคินีพระนามว่าสกุลา
ทรงเป็นประชาบดีของพระราชา.
อธิบายว่า ประชาบดี แปลว่า ภรรยา ก็ได้.
              สันนิษฐานว่า มาจาก ปชาบดี แปลว่า เป็นใหญ่ในหมู่ชน
              ในบ้านที่มีคนอาศัยมากๆ เช่น ทาส บริวาร คนงาน ฯลฯ
              ภรรยา เป็นผู้มีอำนาจ เป็นใหญ่เหนือกว่าคนเหล่านั้น
              คำว่า ปชาบดี
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ปชาบดี

              ๗. ตอบว่า เพื่อจะเปลื้องคำครหาพระราชาเสีย. เพราะพวกบริษัท
จะพึงคิดกันอย่างนี้ว่า พระราชานี้เมื่อจะเสด็จมาก็ยังนำข่าวของมาตุคามมาทูลด้วย
พวกเราสำคัญว่า มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยธรรมดาของตน แต่พระเจ้าอยู่หัว
เอาข่าวของมาตุคามมาเห็นจะเป็นทาสของมาตุคามกระมัง แม้คราวก่อนพระองค์
ก็เสด็จมาด้วยเหตุนี้เหมือนกัน ดังนี้.
อธิบายว่า เพื่อให้พระราชาทรงตอบว่า
              พระองค์มีความประสงค์จะเสด็จมาก่อน ภายหลังมาตุคามรู้
จึงขอฝากเรื่องการกราบบังคมทูลเป็นต้นมาด้วย โดยนัยก็คือ
              เสด็จมาเพื่อความประสงค์ของพระองค์ การนำเรื่องฝาก
เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่ถูกสั่งมา หรือทำตามมาตุคาม.

              ๘. ความอาพาธย่อมเกิดขึ้นแม้แก่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อาพาธแม้ทั้ง ๕
ย่อมชื่อว่าเป็นอาพาธมาก.
              ขอบพระคุณค่ะ
6:52 PM 10/3/2013
อธิบายว่า สันนิษฐานว่า แม้พระอรหันต์ก็ยังอาพาธบ้าง
ดังนั้น อาพาธย่อมมีมาก เพราะขนาดพระอรหันต์ก็ยังมีอาพาธ
              อาพาธทั้ง 5 น่าหมายถึง อาพาธทางกายของปุถุชน ของพระโสดาบัน
... ของพระอรหันต์.

ความคิดเห็นที่ 6-47
GravityOfLove, 4 ตุลาคม เวลา 06:01 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

             นัยว่า วิมุติกับวิมุติไม่มีความแตกต่างกันนี้ เคยได้ศึกษาจากพระสูตรใดมาก่อนหรือไม่?
             ตอบว่า มหาเวทัลลสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=9220&Z=9419&pagebreak=0#505

             ธรรมต่อไปนี้ คือ
             - เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ (อัปปมาณาเจโตวิมุตติ)
             (ได้แก่ ธรรม ๑๒ ประการ คือ พรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔
             พรหมวิหาร ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะแผ่ไปหาประมาณมิได้
             มรรคและผล ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องวัด)

             - เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไรๆ (อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ)
             (ได้แก่ ธรรม ๙ ประการ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔
              อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะเป็นเจโตวิมุติ
ที่มีอารมณ์ว่าไม่มีอะไรๆ.
             มรรคและผล ชื่อว่า อากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลคือ
กิเลสเครื่องย่ำยีและกิเลสเครื่องผูก)

             - เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง (สุญญตาเจโตวิมุตติ)
(ได้แก่ ความหลุดพ้นโดยว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เพราะพิจารณา
นามรูปโดยความเป็นอนัตตา)

             - เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต (อนิมิตตาเจโตวิมุตติ)
(ได้แก่ ธรรม ๑๓ ประการ คือ วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔)

             กล่าวได้ว่า มีอรรถ (ความหมาย) ต่างกัน มีพยัญชนะต่างกันก็ได้
             และกล่าวได้ว่า มีอรรถอย่างเหมือนกัน มีพยัญชนะต่างกันก็ได้

ความคิดเห็นที่ 6-48
ฐานาฐานะ, 4 ตุลาคม เวลา 07:02 น.

             นัยว่า วิมุติกับวิมุติไม่มีความแตกต่างกันนี้ เคยได้ศึกษาจากพระสูตรใดมาก่อนหรือไม่?
             ข้อนี้ หมายถึง วิมุติของบุคคลที่มาจากวรรณะต่างกัน
             วิมุติเหล่านั้น ไม่มีความแตกต่างกัน
             เช่น วิมุติของผู้บวชจากวรรณะกษัตริย์แล้วบรรลุพระอรหันต์
มีวิมุติไม่แตกต่างกันกับวิมุติของผู้บวชจากวรรณะพราหมณ์เป็นต้น
             กล่าวคือ วิมุติกับวิมุติไม่มีความแตกต่างกัน ในระหว่างบุคคล.
             ดังนั้น พระสูตรที่เคยศึกษามาก่อน ที่มีนัยอย่างนี้ ก็คือ
             สุมนสูตร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=22&A=696&w=เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใดๆ_ในวิมุตติ

ความคิดเห็นที่ 6-49
GravityOfLove, 4 ตุลาคม เวลา 07:39 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-50
GravityOfLove, 4 ตุลาคม เวลา 11:33 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
             ๔๐. กรรณกัตถลสูตร ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ตำบลกรรณกัตถลมิคทายวัน
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8962&Z=9194&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลกรรณกัตถลมิคทายวัน
ใกล้อุทัญญานคร
             สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึงอุทัญญานครด้วยพระราชกรณียกิจ
บางอย่าง
             เวลาบ่ายได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลข้อความที่
พระภคินีนามว่าโสมา และพระภคินีนามว่าสกุลา ฝากมาถวายบังคมพระยุคลบาทของ
พระผู้มีพระภาค ทูลถามถึงความมีพระอาพาธน้อย ขอทรงพระกำลัง ทรงพระสำราญ
             พระผู้มีพระภาคตรัสอวยพรพระราชภคินีทั้งสองพระองค์
             พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

๑. ความเป็นสัพพัญญู
             หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
             เป็นไปไม่ได้ที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง
จักปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ (อย่างเบ็ดเสร็จ)
             การกล่าวเช่นนี้ ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้หรือไม่
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ไม่ตรงกับที่พระองค์ตรัส
             พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งถาม วิฑูฑภเสนาบดีว่า ใครเป็นผู้กล่าวเช่นนี้
             วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลว่า พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร
             พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งให้บุรุษคนหนึ่งไปเชิญพราหมณ์ดังกล่าวมา
             ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
             พระดำรัสอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่างตรัสไว้
แต่คนอื่นกลับเข้าใจพระภาษิตนั้นเป็นอย่างอื่นไป พึงมีหรือไม่
             พระผู้มีพระภาคยังทรงจำพระดำรัสที่ตรัสแล้วได้อยู่หรือ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า
             ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง
ในคราวเดียวเท่านั้น

             (เพราะจิตรับอารมณ์ได้ทีละอารมณ์ คราวละอารมณ์
เป็นไปไม่ได้ที่จิตขณะเดียวจะรู้อารมณ์ทั้งหลายในคราวเดียวกัน)
             พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
             พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวเหตุ (จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอารมณ์)
ตรัสสภาพอันเป็นตัวผลพร้อมทั้งเหตุว่า
             ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง
ในคราวเดียวเท่านั้น

๒. ว่าด้วยวรรณ ๔
             พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามต่อไปว่า
             วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จะพึงมีความ
แปลกกัน จะพึงมีการกระทำต่างกันบ้างไหม?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             บรรดาวรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ วรรณะ ๒ จำพวก คือ กษัตริย์และ
พราหมณ์เป็นผู้เลิศ คือ เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่ลุกรับ เป็นที่กระทำอัญชลี เป็นที่กระทำ
สามีจิกรรม (แสดงความเคารพ)
             พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า
             หม่อมฉันมิได้ทูลถามถึงความแปลกกันในปัจจุบัน หม่อมฉันทูลถามถึง
ความแปลกกันในสัมปรายภพต่างหาก     
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการคือ
             (๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
             แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบาน
แล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม (พระพุทธคุณ ๙)
             (๒) ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อย
อาหารอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร
             (๓) เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริงในพระศาสดา
หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู
             (๔) เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม
เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
             (๕) เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
             ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น จะพึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มี
ความเพียร ๕ ประการนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่
วรรณะ ๔ จำพวกนั้นตลอดกาลนาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร
๕ ประการนี้ แล้ววรรณะ ๔ จำพวกนั้นจะมีอะไรผิดแผกแตกต่างกันเล่า
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ต่างกันด้วยความเพียร
             เปรียบเหมือนสัตว์ เช่น ช้าง ม้า โคที่ควรฝึก
             ตัวที่เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว ย่อมถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว ถึงภูมิ
ของสัตว์ที่ฝึกแล้วให้ถึงพร้อม ส่วนตัวที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ ย่อมไม่ถึงเหตุนั้น
             อิฐผลใดอันบุคคลผู้มีศรัทธา(๑) มีอาพาธน้อย ไม่โอ้อวด
ไม่มีมายา ปรารภความเพียร มีปัญญา พึงถึงอิฐผลนั้น
             บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา มีอาพาธมาก โอ้อวด มีมายา เกียจคร้าน มีปัญญาทราม
ย่อมไม่ถึงอิฐผลนั้น
(๑)[อรรถกถา] บุคคลไม่มีศรัทธา หมายถึงบุคคล ๔ จำพวก คือ
             ๑. ปุถุชนผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระโสดาบัน
             ๒. พระโสดาบันผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระสกทาคามี
             ๓. พระสกทาคามีผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระอนาคามี
             ๔. พระอนาคามีผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระอรหันต์
             พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า
             พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นเหตุ และตรัสสภาพอันเป็นผลพร้อมกับเหตุ
             ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกเหล่านั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มี
ความเพียร ๕ ประการนี้ และมีความเพียรชอบเหมือนกัน ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนั้น
จะมีอะไรผิดแผกแตกต่างกัน
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ไม่แตกต่างกันเลย
             คือวิมุติกับวิมุติไม่แตกต่างกัน เปรียบเหมือนเปลวไฟของไม้ต่างชนิดกัน
ย่อมมีคุณลักษณะของเปลวไฟเหมือนกัน

             เดชอันใดอันความเพียรย่ำยีแล้ว เกิดขึ้นด้วยความเพียร ย่อมไม่ต่างกัน
             (ผลสำเร็จของผู้บรรลุอรหัตอันเกิดขึ้นด้วยความเพียร ไม่ว่าจะเป็นวรรณะใดๆ
ย่อมไม่ต่างกัน)

๓. ว่าด้วยเรื่องเทวดาและพรหม
             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นเหตุ และตรัสสภาพอันเป็นผลพร้อมกับเหตุ
แล้วทูลถามต่อไปว่า
             ก็เทวดามีจริงหรือ?
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เพราะเหตุใดจึงตรัสถามอย่างนั้น?
             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ (อุบัติ) หรือไม่มาสู่โลกนี้?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้
             เทวดาเหล่าใดไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นไม่มาสู่โลกนี้

(ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ที่ยังละไม่ได้เด็ดขาดด้วยสมุจเฉทปหาน)
             คำว่า สมุจเฉทปหาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สมุจเฉทนิโรธ&detail=on

             วิฑูฑภเสนาบดี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
             เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นจักยังเทวดา
ทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือจักขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือไม่
             ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า
             วิฑูฑภเสนาบดีนี้ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล
เราเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลอันสมควรที่โอรสกับโอรส
จะพึงสนทนากัน
             ท่านพระอานนท์ จึงกล่าวกับวิฑูฑภเสนาบดีว่า
             ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ อาตมาจะขอย้อนถามท่านก่อน
             ในพระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์หรือ
ผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้มิใช่หรือ?
             วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงสามารถทำเช่นนั้นได้
             ท่านพระอานนท์ถามต่อไปว่า
             ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้หรือไม่
             วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมไม่ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้
             ท่านพระอานนท์ถามต่อไปว่า
             ท่านเคยได้ยินเรื่องเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์หรือไม่?
             วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า
             เคยได้ยิน และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเคยสดับมาแล้ว
             ท่านพระอานนท์ถามว่า
             พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงสามารถจะยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์
ให้เคลื่อนหรือจะทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือไม่?
             วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า
             แม้แต่จะทอดพระเนตรเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็ไม่ทรง
สามารถ ที่ไหนเล่าจักทรงยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ให้เคลื่อนหรือจักทรงขับไล่
เสียจากที่นั้นได้
             ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
             ฉันนั้นเหมือนกัน เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ยังมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้น
ก็ย่อมไม่สามารถแม้เพื่อจะเห็นเทวดาผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ได้ ที่ไหนเล่าจักให้
จุติหรือจักขับไล่เสียจากที่นั้นได้
             ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
             ภิกษุรูปนี้ชื่ออะไร?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุรูปนี้ชื่ออานนท์
             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             ชื่อของท่านน่ายินดีหนอ สภาพของท่านน่ายินดีจริงหนอ
(รูปก็งาม นามก็เพราะ)
             ท่านพระอานนท์กล่าวสภาพอันเป็นเหตุ และกล่าวสภาพอันเป็นผล
พร้อมด้วยเหตุ
             พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามต่อไปว่า พรหมมีจริงหรือ?
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เพราะเหตุใดจึงตรัสถามอย่างนั้น?
             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             ถ้าพรหมมีจริง พรหมเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่โลกนี้?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             พรหมใดมีทุกข์ พรหมนั้นมาสู่โลกนี้
             พรหมใดไม่มีทุกข์ พรหมนั้นไม่มาสู่โลกนี้

             ลำดับนั้น พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรก็เข้ามาถึงแล้ว
             พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่า
             ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ภายในพระนคร
             พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรกราบทูลว่า วิฑูฑภเสนาบดี พระพุทธเจ้าข้า
             วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลว่า พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร พระพุทธเจ้าข้า
(ต่างก็เกี่ยงกัน)

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 6-51
[ต่อ]

             ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
             บัดนี้ ยานพาหนะพร้อมแล้ว
             พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
             หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู,
หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงคนที่จัดเป็นวรรณะ ๔ จำพวกที่บริสุทธิ์,
             หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเทวดาที่ยิ่ง,
             หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงพรหมที่ยิ่ง
             พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นย่อมชอบใจ
และควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น
             อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงข้อใดๆ พระผู้มีพระภาคก็ทรง
พยากรณ์ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ ย่อมชอบใจและควรแก่หม่อมฉัน
และหม่อมฉันมีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ
             ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
             เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณ
             แล้วเสด็จกลับไป

[แก้ไขตาม #6-52]

ย้ายไปที่



Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 12:04:43 น.
Counter : 441 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
16 ธันวาคม 2556
All Blog