23.6 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36] การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก 23.5 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36] ความคิดเห็นที่ 6-68 ความคิดเห็นที่ 6-69 ฐานาฐานะ, 6 ตุลาคม เวลา 11:07 น. GravityOfLove, 1 นาทีที่แล้ว โดยที่ไม่ดูพระองค์ตรัสย้อนถาม คุณฐานาฐานะจะอธิบายให้แกรวิตี้เข้าใจอย่างไรคะ 10:57 AM 10/6/2013 ผมก็อธิบายอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั่นแหละครับ. เหมือนบุคคลหนึ่งได้มีความรู้เดิมระดับหนึ่ง (ที่ดีอยู่แล้ว) ต่อมาได้ความรู้ใหม่ (ในระดับสูงขึ้น) แต่เพราะพิจารณาไม่รอบคอบ ทำให้สับสนไปว่า ความรู้เดิมนั้นผิดหรืออย่างไร? ดังนี้แล้วจำเป็นที่จะต้องย้ำความรู้ใหม่ให้มีฐานมั่นคง โดยการทบทวนความรู้ใหม่ให้ชัดเจน เพื่อทำให้ความรู้ทั้งสองอย่าง ไปด้วยกันได้ เพราะทั้งสองไม่แย้งกัน. ความคิดเห็นที่ 6-70 GravityOfLove, 6 ตุลาคม เวลา 11:10 น. แล้วถ้าอธิบายผู้มิจฉาทิฏฐิล่ะคะ ความคิดเห็นที่ 6-71 ฐานาฐานะ, 6 ตุลาคม เวลา 11:18 น. GravityOfLove, 2 นาทีที่แล้ว แล้วถ้าอธิบายผู้มิจฉาทิฏฐิล่ะคะ 11:10 AM 10/6/2013 ถ้าอธิบายพวกมิจฉาทิฏฐิ ก็คงแก้ไขบรรเทามิจฉาทิฏฐิก่อน เช่น หากเขามีความเห็นว่า กรรมไม่มี โลกหน้าไม่มี เช่นกล่าวว่า สิ่งที่ไม่เห็น ยังไม่ควรสรุปว่า ไม่มี หรือ เครื่องอุ่นใจว่า กุศลธรรม การไม่เบียดเบียนเป็นต้น ก็ให้ความสงบในปัจจุบัน ไม่ถูกตำหนิจากผู้รู้อื่นๆ เป็นต้น. น่าจะอธิบายได้เท่านั้น หรืออาจจะไม่อธิบายอะไรเลย. ความคิดเห็นที่ 6-72 GravityOfLove, 6 ตุลาคม เวลา 11:32 น. ขอบพระคุณค่ะ ความคิดเห็นที่ 6-73 ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 01:43 น. GravityOfLove, 6 นาทีที่แล้ว คำถามพรหมายุสูตร //84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=9195&Z=9483 กรุณาอธิบายค่ะ ๑. ทำไมกล่าวว่า ฉันเป็นผู้สอนมนต์ ท่านผู้เรียนมนต์ อธิบายว่า เมื่อกล่าวถึงมนต์ในเรื่องมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ที่มาในคำว่า มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ของเรา น่าจะเป็นการกล่าวเตือนให้ระลึกถึงมนต์นั้นว่า มนต์ที่ฉันเป็นผู้สอน ท่านผู้เรียนมนต์ (ในกาลก่อน). ไม่ใช่มนต์อื่นๆ ที่ท่านเรียนจากผู้อื่น. ๒. ทรงทราบรสได้อย่างดีเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัดในรส อธิบายว่า ลองเทียบเคียงการเห็นด้วยจักษุ เช่นว่า มนุษย์ปุถุชนผู้บริโภคกาม เห็นรูปใดๆ แล้วก็เห็นรายละเอียดของรูปนั้น โดยนัยของอนุพยัญชนะ กล่าวได้ว่า เห็นชัดแจ่มแจ้งด้วยดี เพราะกำหนัดในรูป จึงเพ่งพิจารณาอนุพยัญชนะเป็นต้น. แต่บุคคลที่ปราศจากความกำหนัดในกาม ทั้งจักษุปสาทก็แจ่มใส เห็นรูปนั้นเช่นกัน ด้วยอำนาจจักษุปสาทที่ดี ไม่มีความกำหนัดในรูปนั้น กล่าวได้ว่า เห็นด้วยดีด้วยจักษุปสาทที่แจ่มใส และความกำหนัดในรูป ไม่อาจครอบงำได้. ๓. เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท ประทับนั่งแล้วค่อยล้างพระบาทหรือคะ ขอบพระคุณค่ะ 11:00 AM 10/6/2013 โดยพยัญชนะเป็นเช่นนั้น โดยเหตุการณ์ก็เป็นไปได้ เช่น เมื่อประทับนั่งแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็น้อมเอา ภาชนะขนาดเล็กใส่น้ำสำหรับล้างพระบาท มาถวายก็เป็นไปได้. ลักษณะการนั่ง น่าจะสามารถปล่อยพระบาท เพื่อให้ล้างได้. ความคิดเห็นที่ 6-74 GravityOfLove, 7 ตุลาคม เวลา 10:19 น. เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ความคิดเห็นที่ 6-75 GravityOfLove, 7 ตุลาคม เวลา 10:35 น. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค ๔๑. พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า //84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483&bgc=mintcream&pagebreak=0 สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อพรหมายุอาศัยอยู่ในเมืองมิถิลา เป็นคนแก่เฒ่า อายุ ๑๒๐ ปี รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสะ เป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบทเข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะและตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ พรหมายุพราหมณ์ได้ฟังข่าวมาว่า พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเที่ยวจาริกไปใน วิเทหชนบท และได้ยินกิตติศัพท์อันงามของพระองค์ (ในพระพุทธคุณ ๙) ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดี พรหมายุพราหมณ์จึงให้อุตตรมาณพผู้เป็นศิษย์ซึ่งได้เล่าเรียนวิชาต่างๆ อย่างชำนาญ ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อจะรู้ว่า กิตติศัพท์ของท่านพระองค์ท่านเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ อุตตรมาณพถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจริงหรือไม่จริง พรหมายุพราหมณ์ตอบว่า มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ของเราทั้งหลาย พระมหาบุรุษประกอบแล้วย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ครอบครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีสมุทรสาคร ๔ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ ฯลฯ ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉันเป็นผู้สอนมนต์ ท่านผู้เรียนมนต์ อุตตรมาณพรับคำพรหมายุพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในพระกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ประการโดยมาก ในพระกายของพระผู้มีพระภาค เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัยไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้อุตตรมาณพได้เห็นพระคุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้งสองกลับไปมา สอดเข้าช่อง พระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่พระชิวหาปิดมณฑลพระนลาตทั้งสิ้น อุตตรมาณพคิดว่า ตนได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราพึงติดตามพระสมณโคดม พึงดูพระอิริยาบถของพระองค์เถิด อุตตรมาณพได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปตลอด ๗ เดือน แล้วไปบอก พรหมายุพราหมณ์ว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วเป็นจริงอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น และท่านพระโคดมพระองค์นั้นเป็นเช่นนั้นจริงไม่เป็นอย่างอื่น ท่านพระโคดมทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เมื่อจะเสด็จดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก เสด็จดำเนินพระชานุ (เข่า) ไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอูรุ (โคนขา) สูง ไม่ทรงทอดพระอูรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทก พระอูรุ ไม่ทรงส่ายพระอูรุ เมื่อเสด็จดำเนินพระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย เมื่อทอดพระเนตร ทรงทอดพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด ไม่ทรงทอดพระเนตร ขึ้นเบื้องบน ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทรงทอดพระเนตร ประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีพระญาณทัสสนะอันไม่มีอะไรกั้น เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกาย ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งเท้าพระหัตถ์ ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ (คาง) เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงเวียนมาในวิเวก (ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน) เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้อง (ยื่น) บาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงเทน้ำล้างบาตร ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้อง บาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ทรงรับกับข้าวเสวยอาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับ ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอฐสองสามครั้งแล้วทรงกลืน เยื่อข้าวสุกยังไม่ระคนกันดี เล็กน้อย ย่อมไม่เข้าสู่พระกาย (ถ้าข้าวไม่ละเอียด ไม่ทรงกลืนลงไป) ไม่มีเยื่อข้าวสุกสักนิดหน่อยเหลืออยู่ในพระโอฐ ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง (ไม่มีข้าวเหลืออยู่ในพระโอษฐ์แล้วจึงน้อมคำใหม่เข้าไป) ทรงทราบรสได้อย่างดีเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัด ในรส (ไม่ทรงติดในรส) เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ ไม่เสวยเพื่อเล่น ๑ ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ๑ ไม่เสวยเพื่อประดับ ๑ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง ๑ เสวยเพียงเพื่อดำรงพระกายนี้ไว้ ๑ เพื่อยังพระ ชนมชีพให้เป็นไป ๑ เพื่อป้องกันความลำบาก ๑ เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ๑ ด้วยทรงพระดำริว่า เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปสะดวก จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ฯลฯ และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนา ให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย ไม่ทรงจีวร กระจุยกระจายจากพระกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้วประทับนั่ง คู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ประทับนั่ง ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาล ๑ บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออก นอกบริษัท ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาเมื่อลุกจากที่นั่งไป ยังเหลียวดูโดยไม่อยากจะละไป ต่างรำพึงว่า เราได้เห็นท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน กำลังเสวยภัตตาหารในละแวกบ้าน เสวยเสร็จแล้วประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา เมื่อเสด็จกลับมายังพระอาราม เมื่อเสด็จถึงพระอารามแล้ว ประทับนั่งนิ่งอยู่ เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม กำลังทรงแสดงธรรมในบริษัท ท่านพระโคดม ทรงพระคุณเช่นนี้ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น //84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=มหาบุรุษลักษณะ เมื่ออุตตรมาณพกล่าวอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียง บ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วคิดว่า ไฉนหนอ เราจึงจะได้สมาคม (พบ) ได้สนทนากับท่านพระองค์บ้าง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในวิเทหชนบทโดยลำดับ เสด็จถึงเมืองมิถิลา ณ ที่นั้น ทรงประทับอยู่ ณ มฆเทวอัมพวัน ใกล้เมืองมิถิลา พราหมณ์และคฤหบดีชาวเมืองมิถิลา ได้สดับข่าวนี้ และได้ยินกิตติศัพท์อันงาม ของพระองค์ ก็พากันไปเข้าเฝ้า พรหมายุพราหมณ์ก็ได้สดับข่าวนี้ จึงให้มาณพคนหนึ่งไปกราบทูลพระองค์ว่า พรหมายุพราหมณ์เป็นคนแก่เฒ่า มีอายุ ๑๒๐ ปี รู้จบไตรเพท ฯลฯ เป็นผู้เลิศ กว่าพราหมณ์และคฤหบดีใดๆ ในเมืองมิถิลา เพราะโภคะ เพราะมนต์ เพราะอายุและยศ ท่านปรารถนาจะมาเฝ้าท่านพระโคดม มาณพนั้นรับคำพรหมายุพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูล ตามที่พรหมายุพราหมณ์สั่ง พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาส พรหมายุพราหมณ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค บริษัทนั้นได้เห็นพรหมายุพราหมณ์มาแต่ไกล จึงรีบลุกขึ้นให้โอกาสตามสมควร แก่ผู้มีชื่อเสียง มียศ พรหมายุพราหมณ์ได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ได้เห็น มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการดังกล่าว จึงยังเคลือบแคลง สงสัย จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ขอพระองค์ได้โปรดทรงกำจัดความสงสัยของตน และขอทรงประทานโอกาสให้ ทูลถามปัญหา เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ให้พรหมายุพราหมณ์ ได้เห็นพระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหา ฯลฯ แล้วตรัสกับพรหมายุพราหมณ์ด้วยคาถาว่า มหาปุริสลักษณะที่ท่านได้สดับมาว่า ๓๒ ประการนั้น มีอยู่ในกายของเรา ครบทุกอย่าง ท่านอย่าสงสัยเลย สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเรารู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควรเจริญเราเจริญแล้ว และสิ่งที่ควรละเราละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเป็นพุทธะ เชิญถามปัญหาเถิด ครั้งนั้น พรหมายุพราหมณ์ได้มีความดำริว่า จะพึงทูลถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ในสัมปรายภพหนอ เราเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ปัจจุบัน แม้คนอื่นๆ ก็ถามเราถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ถ้ากระไรเราพึงทูลถามประโยชน์ในสัมปรายภพ [มีต่อ] ความคิดเห็นที่ 6-76 [ต่อ] พรหมายุพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ๑. อย่างไรบุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ๒. อย่างไรชื่อว่าเป็นผู้รู้จบเวท ๓. อย่างไรชื่อว่าเป็นผู้มีวิชชา ๓ ๔. บัณฑิตเรียกบุคคลเช่นไรชื่อว่าเป็นผู้มีความสวัสดี ๕. อย่างไรชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ๖. อย่างไรชื่อว่ามีคุณครบถ้วน ๗. อย่างไรชื่อว่าเป็นมุนี ๘. และบัณฑิตกล่าวบุคคลเช่นไรว่าเป็นพุทธะ? พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า ๓. ผู้ใดรู้ระลึกชาติก่อนๆ ได้ เห็นสวรรค์และอบาย (ทิพยจักษุญาณ) ๕. บรรลุถึงความสิ้นชาติ (บรรลุพระอรหัตต์แล้ว) ๗. ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนีผู้รู้ยิ่งถึงที่สุด (คืออรหัตตญาณ) ๑. มุนีนั้นย่อมรู้จิตอันบริสุทธิ์ ๔. อันพ้นแล้วจากราคะทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ๖. เป็นผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว ชื่อว่ามีคุณครบถ้วนแห่งพรหมจรรย์ (คือมรรค ๔) ๒. ชื่อว่าถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (ถึงฝั่งด้วยความรู้ยิ่งซึ่ง โลกิยธรรมและโลกุตตรธรรมทั้งปวง ด้วยอาการ ๖ คือ ผู้ถึงฝั่งการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ผู้ถึงฝั่งด้วยการละกิเลสทั้งปวง ผู้ถึงฝั่งด้วยภาวนา ซึ่งมรรค ๔ ผู้ถึงฝั่งด้วยการกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ผู้ถึงฝั่งด้วยการถึงพร้อมซึ่งสมาบัติทั้งปวง) ๘. บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้เช่นนั้น (ผู้คงที่) ว่าเป็นพุทธะ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกขึ้นจากที่นั่ง ห่มผ้า เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค จูบพระยุคลบาทด้วยปาก นวดด้วยฝ่ามือ และประกาศชื่อของตนว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อพรหมายุ บริษัทนั้นเกิดความอัศจรรย์ใจว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา พระสมณะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พรหมายุพราหมณ์นี้เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ ยังทำความเคารพนบนอบอย่างยิ่งเห็นปานนี้ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาแก่พรหมายุพราหมณ์ คือ ทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษของกามทั้งหลายอันต่ำทราม เศร้าหมอง และอานิสงส์ ในเนกขัมมะ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พรหมายุพราหมณ์ปราศจากนิวรณ์แล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ (สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรง ยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนาหรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๑/๒๙๘/๒๕๐)) ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พรหมายุพราหมณ์ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา (ในที่นี้ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี) พรหมายุพราหมณ์ผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ได้กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าพระองค์ขอถึงสรณะตลอดชีวิต ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ พรหมายุพราหมณ์ได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยภัตตาหาร อันประณีตด้วยมือของตนตลอด ๗ วัน //84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนุปุพพิกถา //84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยสัจ_4 //84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนาคามี พอล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในวิเทหชนบท เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน พรหมายุพราหมณ์ได้เสียชีวิตลง ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า พรหมายุพราหมณ์เสียชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นเช่นไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นเช่นไร? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พรหมายุพราหมณ์เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมตามลำดับธรรม (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี) ไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรมเลย พรหมายุพราหมณ์เป็นอุปปาติกะ จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป //84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=โอปปาติกะ //84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โอรัมภาคิยสังโยชน์_5&detail=on พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค [แก้ไขตาม #6-77] ความคิดเห็นที่ 6-77 ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 15:35 น. GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค ๔๑. พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า //84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483&bgc=mintcream&pagebreak=0 ... 10:35 AM 10/7/2013 ย่อความได้ดีครับ มีข้อติงเล็กน้อย ดังนี้ :- ๖. เป็นผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว ชื่อว่ามีคุณครบถ้วนแห่งพรหม- จรรย์ (คือมรรค ๔) แก้ไขเป็น ๖. เป็นผู้ละชาติและมรณะได้แล้ว ชื่อว่ามีคุณครบถ้วนแห่งพรหมจรรย์ (คือมรรค ๔) ความคิดเห็นที่ 6-78 ฐานาฐานะ, 7 ตุลาคม เวลา 15:36 น. คำถามในพรหมายุสูตร //84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483 เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง? ย้ายไปที่ |
แก้วมณีโชติรส
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?] Group Blog
All Blog
Link |
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |
โดยที่ไม่ดูพระองค์ตรัสย้อนถาม คุณฐานาฐานะจะอธิบายให้แกรวิตี้เข้าใจอย่างไรคะ