21.7 พระสูตรหลักถัดไป คือลฑุกิโกปมสูตร [พระสูตรที่ 16]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
21.6 พระสูตรหลักถัดไป คือลฑุกิโกปมสูตร [พระสูตรที่ 16]

ความคิดเห็นที่ 8-65
GravityOfLove, 24 สิงหาคม เวลา 19:25 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4235&Z=4315&bgc=mistyrose&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี
             ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมืองเวสาลี
             ทรงพระดำริว่า
             ยังเช้าเกินไป ถ้ากระไร พึงเข้าไปหาวัจฉโคตตปริพาชกเถิด
             จึงเสด็จเข้าไปหาวัจฉโคตตปริพาชกถึงปริพาชการาม
             วัจฉโคตตปริพาชกได้กราบทูลเชิญประทับนั่ง แล้วตนก็ถือเอาอาสนะ
ที่ต่ำกว่าแห่งหนึ่งนั่ง
             วัจฉโคตตปริพาชกได้กราบทูลว่า
             ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง)
มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัศนะ ไม่มีส่วนเหลือ (อย่างเบ็ดเสร็จ) ว่า
             เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัศนะปรากฏแล้วเสมอ
ติดต่อกันไป
             ไม่ทราบว่าคำกล่าวดังนี้ เป็นการกล่าวตามพระดำรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่
ด้วยคำที่ไม่เป็นจริง และเป็นการพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรมหรือไม่
             อนึ่ง วาทะและอนุวาทะอันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่างจะไม่มาถึงฐานะ
ที่ผู้รู้จะพึงติเตียนหรือ (คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อๆ กันมา
จะเป็นเหตุให้ผู้รู้ติเตียนได้หรือไม่)
             (ญาณทัสสนะ หมายถึงความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง
             อาจเรียก มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ
หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๑/๒๓๔/๑๙๘))
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ชนที่กล่าวอย่างนั้น ไม่เป็นการกล่าวตามคำที่พระองค์ตรัส และชื่อว่า
กล่าวตู่พระองค์ด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง
             วัจฉโคตตปริพาชกทูลถามว่า ต้องกล่าวอย่างไร
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             กล่าวว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ คือ
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
             เพียงพระองค์ต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก
คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น
มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ
มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
             ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น ฯลฯ
             ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก
พร้อมทั้งอาการ (ผิวพรรณ เป็นต้น) พร้อมทั้งอุเทศ (ชื่อและโคตร)
๒. จุตูปปาตญาณ/ทิพพจักขุญาณ
             เพียงพระองค์ต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ (ตาย)
กำลังอุปบัติ (เกิด) เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก
ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
             ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
             สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ
เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ส่วนสัตว์ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ฯลฯ
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึง สุคติ โลก สวรรค์
๓. อาสวักขยญาณ
             ทรงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่
             คำว่า เตวิชชะ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3
             คำว่า เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิมุตติ_2

ลัทธิเดียรถีย์ทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลถาม
และพระองค์ตรัสตอบ มีใจความดังนี้
             คฤหัสถ์บางคนที่ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้
             (สังโยชน์ของคฤหัสถ์ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ข้าทาส
บริวาร และกามคุณ ๕ ประการ อันเป็นเหตุผูกพันและรักใคร่ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๔๔))
             เมื่อตายไป ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้
(ที่สุดทุกข์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหัตตผล (ม.ม.อ. ๒/๑๘๖/๑๔๔))
             คฤหัสถ์บางคนที่ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้
เมื่อตายไป เข้าถึงโลกสวรรค์ได้มีอยู่จำนวนมากทีเดียว
             ไม่มีอาชีวกที่เมื่อตายไป จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
             นับตั้งแต่ภัทรกัปนี้ไปได้ ๙๑ กัปที่พระองค์ทรงระลึกได้
ไม่มีอาชีวกที่ไปสวรรค์ นอกจากอาชีวกคนเดียว ที่เป็นกรรมวาที กิริยาวาที
             (กรรมวาที หมายถึงลัทธิที่ถือว่า สรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน
ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว
             กิริยาวาที หมายถึงลัทธิที่ถือว่า การกระทำทุกอย่างมีผล
เมื่อเหตุดี ผลก็ต้องดี เมื่อเหตุชั่ว ผลก็ต้องชั่ว ยอมรับผลกรรม)
             (อาชีวกคนเดียวนั้น ทรงหมายถึงพระองค์เอง
             ในพระชาติก่อนๆ ทรงผนวชในลัทธิปาสัณฑะ (เป็นลัทธิเกี่ยวกับตัณหาและทิฏฐิ)
ครั้นทรงทราบว่าลัทธิปาสัณฑะนั้นไม่มีผล ก็ไม่ได้ทรงเลิกละความเพียร
ได้เป็นกิริยวาทีแล้วไปบังเกิดบนสวรรค์)
             ดังนั้น ลัทธิของเดียรถีย์เป็นอันสูญโดยที่สุด แม้จากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์
             (ว่างเปล่าจากคุณความดีโดยที่สุด แม้แต่คุณความดีที่จะให้ไปเกิดในสวรรค์)             
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             วัจฉโคตตปริพาชกยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 8-66
ฐานาฐานะ, 26 สิงหาคม เวลา 22:12 น.

GravityOfLove, วันเสาร์ เวลา 19:25 น.
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4235&Z=4315&bgc=mistyrose&pagebreak=0
7:25 PM 8/24/2013

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 8-67
ฐานาฐานะ, 26 สิงหาคม เวลา 22:13 น.

             คำถามในจูฬวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4235&Z=4315

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 8-68
GravityOfLove, 26 สิงหาคม เวลา 22:45 น.

             ตอบคำถามในจูฬวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4235&Z=4315

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระพุทธองค์ทรงบรรลุวิชชา 3 ชื่อว่า
พยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม
             ๒. พระองค์เพียงต้องการเท่านั้น ย่อมระลึกชาติได้เป็นอันมาก
, ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติกําลังอุบัติ
             ๓. ลัทธิเดียรถีย์ทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ได้
เดียรถีย์บางคนที่ได้ไปสวรรค์ก็เพราะเป็นกรรมวาที กิริยาวาที
             ๔. คฤหัสถ์ผู้บรรลุพระอรหัตแล้วย่อมบวช หรือปรินิพพานในวันนั้นเอง
             ๕. พระสูตรนี้มีอืกชื่อหนึ่งคือ เตวิชชวัจฉสูตร

ความคิดเห็นที่ 8-69
ฐานาฐานะ, 26 สิงหาคม เวลา 23:02 น.

GravityOfLove, 12 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในจูฬวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4235&Z=4315
10:44 PM 8/26/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ.
             คำว่า เดียรถีย์บางคนที่ได้ไปสวรรค์ก็เพราะเป็นกรรมวาที กิริยาวาที
             ขอเสริมคำว่า เดียรถีย์บางคนเป็นกรรมวาที กิริยาวาที ดังนี้ :-
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชฏิลผู้บูชาไฟเหล่านั้นมาแล้ว พึงอุปสมบทให้
ไม่ต้องให้ปริวาสแก่พวกเธอ.
             ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะชฎิลเหล่านั้น เป็นกรรมวาที กิริยวาที.
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=2764&w=กรรมวาที

ความคิดเห็นที่ 8-70
GravityOfLove, 26 สิงหาคม เวลา 23:04 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 8-71
ฐานาฐานะ, 26 สิงหาคม เวลา 23:10 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า จูฬวัจฉโคตตสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4235&Z=4315

              พระสูตรหลักถัดไป คืออัคคิวัจฉโคตตสูตร [พระสูตรที่ 22].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
              อัคคิวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4316&Z=4440
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=244

              มหาวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4441&Z=4660
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=253

              ทีฆนขสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4661&Z=4768
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=269

              มาคัณฑิยสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4769&Z=5061
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=276

ความคิดเห็นที่ 8-72
GravityOfLove, 27 สิงหาคม เวลา 00:17 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             อัคคิวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4316&Z=4440&bgc=mistyrose&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี
ทิฏฐิ ๑๐ อย่าง
             ครั้งนั้น ปริพาชกวัจฉโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามพระองค์ว่า
             ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้หรือไม่
             ๑. โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ๒. โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริงสิ่งอื่นเปล่า
             ๓. โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ๔. โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ๕. ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
(ชีพหรือชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (Soul)
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙))
             ๖. ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ๗. สัตว์ (บางครั้งใช้คำว่า ตถาคต) เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ (เกิดอีก)
สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             (เกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้ หมายถึงลัทธิชื่อ เอกัจจสัสสตวาทะ เห็นว่า
อัตตาและโลกเที่ยงเป็นบางอย่าง (ม.ม.อ. ๒/๑๘๗/๑๔๕)
และดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๓๘-๕๐/๑๖-๒๑)
             ๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ (ไม่เกิดอีก) สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ๙. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             (เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ หมายถึงลัทธิชื่อ อมราวิกเขปวาทะ
ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอน (ม.ม.อ. ๒/๑๘๗/๑๔๕) และดูเทียบ
ที.สี. (แปล) ๙/๖๑-๖๖/๒๔-๒๘)
             ๑๐. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า
             ในแต่ละข้อ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             พระองค์ไม่ได้ทรงเห็นอย่างนั้น
             ปริพาชกวัจฉโคตรทูลถามว่า
             ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึง (ไม่ทรงยอมรับ)
ทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             ทิฏฐิ ๑๐ ได้แก่ ความเห็นว่าโลกเที่ยง เป็นต้น เป็นความเห็นที่รกชัฏ
             เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม
เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ (สังโยชน์)
เป็นไปกับด้วยทุกข์ (ความทุกข์ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากกิเลส และทุกข์ที่เกิดจาก
ผลของกรรมชั่ว) เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน
             ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
             ทรงเห็นโทษนี้ จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้
             ปริพาชกวัจฉโคตรทูลถามว่า
             ก็ความเห็นอะไรๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ (ทรงมีทิฏฐิบางอย่างหรือไม่)?
             ตรัสตอบว่า
             ก็คำว่าความเห็น (ทิฏฐิ) ดังนี้นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว
             ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า ดังนี้ รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ ความดับแห่งรูป
             ดังนี้ เวทนา ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา
             ดังนี้ สัญญา ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ความดับแห่งสัญญา
             ดังนี้ สังขาร ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร
             ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ
             เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า
             ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด เพราะดับสนิท
เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง  
             ซึ่งความถือว่าเรา (ทิฏฐิ หรืออหังการ) ว่าของเรา (ตัณหา หรือมมังการ)
และความถือตัว (มานานุสัย) อันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง
             คำว่า รูป เป็นต้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5
             คำว่า ตัณหา ทิฏฐิ มานะ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปปัญจธรรม_3

ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น
             ปริพาชกวัจฉโคตรทูลถามว่า
             ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน
             ตรัสว่า ไม่ควรใช้คำ่ว่า จะเกิด
             ปริพาชกวัจฉโคตรทูลถามต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ โดยมีใจความว่า  
             ไม่ควรใช่คำว่า จะไม่เกิด/เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี/เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่
กับภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้ว
             ปริพาชกวัจฉโคตรทูลว่า
             ตนถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว ความเลื่อมใสที่ได้มีแล้วจากพระวาจา
ที่ตรัสไว้ในตอนแรก บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง
             เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก (ธรรม ในที่นี้หมายถึงปัจจยาการ ๑๒ ประการ)
             ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย
ความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้
             ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น
มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น
รู้ได้โดยยาก
             ตรัสถามว่า
             ๑. ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา
             ทูลตอบว่า รู้
             ๒. ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง
             ทูลตอบว่า อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่
             ๓. ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว
             ทูลตอบว่า รู้
             ๔. ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ดับจากทิศนี้แล้วไปทิศไหน
คือทิศบูรพา (ตะวันออก) ทิศปัจจิม (ตะวันตก) ทิศอุดร (เหนือ) หรือทิศทักษิณ (ใต้)
             ทูลตอบว่า ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก
             แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่า
ไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว
             คำว่า ปัจจยาการ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปฏิจจสมุปบาท

การละขันธ์ ๕
             ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด
รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี
มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
             ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้
หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น
             ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด/ไม่เกิด/เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี/เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้
             บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด  ...  
             เพราะสัญญาใด  ...  
             เพราะสังขารเหล่าใด  ...  
             เพราะวิญญาณใด  ...  วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว
ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
             ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้
หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น
             ไม่ควรกล่าวว่าเกิด/ไม่เกิด/เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี/เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลว่า
             เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้
ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุดร่วง กะเทาะไปเพราะเป็นของไม่เที่ยง
             ต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้นปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้แล้ว
คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วนๆ (คือโลกุตตรธรรม) ฉันใด
             พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด
และกระพี้ คงเหลืออยู่แต่คำอันเป็นสาระล้วนๆ
             ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ฯลฯ
             แล้วทูลขอเป็นอุบาสกผู้ถึงไตรสรณะตลอดชีวิต

ความคิดเห็นที่ 8-73
ฐานาฐานะ, 27 สิงหาคม เวลา 20:23 น.

GravityOfLove, 20 ชั่วโมงที่แล้ว
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
              อัคคิวัจฉโคตตสูตร เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4316&Z=4440&bgc=mistyrose&pagebreak=0
...
12:16 AM 8/27/2013

              ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 8-74
ฐานาฐานะ, 27 สิงหาคม เวลา 20:26 น.

             คำถามในอัคคิวัจฉโคตตสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4316&Z=4440

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. กล่าวได้หรือไม่ว่า มูลรากของทิฏฐิเหล่านั้น
ก็คือสักกายทิฏฐิ 20 ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง.

             สักกายทิฏฐิ ๒๐
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=17&A=51&w=สักกายทิฏฐิ_๒๐

ความคิดเห็นที่ 8-75
ฐานาฐานะ, 27 สิงหาคม เวลา 20:28 น.

หมายเหตุในพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา ฯ
๑ ชีวะ  ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ  หรืออาตมัน  (Soul)  (อภิ.ปญฺจ.อ.  ๑/๑/๑๒๙)
๑ ดูเชิงอรรถที่  ๒  ข้อ  ๑๒๒  (จูฬมาลุงกยสูตร)  หน้า  ๑๓๓  ในเล่มนี้
๒ คำว่า  เกิดอีกและไม่เกิดอีก  นี้  หมายถึงลัทธิชื่อเอกัจจสัสสตวาทะ  เห็นว่า  อัตตาและโลกเที่ยงเป็น
   บางอย่าง  (ม.ม.อ.  ๒/๑๘๗/๑๔๕)  และดูเทียบ  ที.สี.  (แปล)  ๙/๓๘-๕๐/๑๖-๒๑
๓ คำว่า  จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่  นี้  หมายถึงลัทธิชื่ออมราวิกเขปวาทะ  ความเห็นหลบเลี่ยง
   ไม่แน่นอน  (ม.ม.อ.  ๒/๑๘๗/๑๔๕)  และดูเทียบ  ที.สี.  (แปล)  ๙/๖๑-๖๖/๒๔-๒๘
๑ ความทุกข์  ในที่นี้หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากกิเลส  และทุกข์ที่เกิดจากผลของกรรมชั่ว  (ม.ม.อ.  ๒/๑๘๙/๑๔๖)
๑ อหังการ  หมายถึงทิฏฐิ  มมังการ  หมายถึงตัณหา  มานานุสัย  หมายถึงมานะ  (ม.ม.อ.  ๒/๑๘๙/๑๔๖)
๑ ธรรมนี้ ในที่นี้หมายถึงธรรมคือปัจจยาการ ๑๒ ประการ [คือ
         (๑) อวิชชา ความไม่รู้ในอริยสัจจ์      (๒) สังขาร สภาพที่ปรุงแต่ง
         (๓) วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์     (๔) นามรูป เวทนา สัญญา เจตนา ผัสส มนสิการ + รูป
         (๕) สฬายตนะ อายตนะภายใน  ๖    (๖) ผัสสะ ความกระทบ (สัมผัส ๖)
         (๗) เวทนา ความเสวยอารมณ์        (๘) ตัณหา ความทะยานอยาก (ตัณหา ๖)
         (๙) อปาทาน ความยึดมั่น (อุปาทาน) (๑๐) ภพ ภาวะที่ดำรงชีวิต
         (๑๑) ชาติ ความเกิด                (๑๒) ชรา มรณะ ความแก่และความตาย]
        (ม.ม.อ. ๒/๑๙๐/๑๔๖)
๑ ดูเชิงอรรถที่  ๒  ข้อ  ๑๒๒  (จูฬมาลุงกยสูตร)  หน้า  ๑๓๓  ในเล่มนี้
๒ คำว่า  ตถาคต  ในที่นี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์เอง  แทนคำว่า  “เรา”  (อุตตมบุรุษ)
๑ ปาพจน์  หมายถึงคำเป็นประธานคือพระธรรมวินัย  ได้แก่  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก
   รวมเป็นธรรมขันธ์ได้  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์  (ที.ม.อ.  ๒/๒๑๖/๑๙๘-๑๙๙,  สารตฺถ.ฏีกา  ๑/๔๐)
๒ คงอยู่แต่คำอันเป็นแก่น  ในที่นี้หมายถึงคงอยู่แต่แก่นคือโลกุตตรธรรม  (ม.ม.อ.  ๒/๑๙๒/๑๔๗)

ย้ายไปที่



Create Date : 12 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 11:04:27 น.
Counter : 547 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
12 ธันวาคม 2556
All Blog