21.11 พระสูตรหลักถัดไป คือลฑุกิโกปมสูตร [พระสูตรที่ 16]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
21.10 พระสูตรหลักถัดไป คือลฑุกิโกปมสูตร [พระสูตรที่ 16]

ความคิดเห็นที่ 8-113
GravityOfLove, 3 กันยายน เวลา 03:48 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๕. มาคัณฑิยสูตร เรื่องมาคัณฑิยปริพาชก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4769&Z=5061&bgc=mistyrose&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนเครื่องลาดอันลาดด้วยหญ้า
ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ใกล้นิคมของชาวกุรุอันชื่อว่ากัมมาสธรรม ในกุรุรัฐ
             หลังจากเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกัมมาสธรรมนิคมแล้ว
ภายหลังภัต เสด็จเข้าไปในป่าเพื่อประทับพักกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง
             ครั้งนั้น มาคัณฑิยปริพาชกเดินเที่ยวไปมาเพื่อแก้เมื่อย เข้าไปถึงโรงบูชาไฟ
ดังกล่าว และได้เห็นเครื่องลาดอันลาดด้วยหญ้านั้น จึงถามพราหมณ์ภารทวาชโคตรว่า
             นั่นเป็นของใคร เห็นจะเป็นที่นอนสมควรแก่สมณะ
             พราหมณ์ภารทวาชโคตรตอบว่า
             ใช่แล้ว เป็นที่ที่ปูไว้สำหรับพระสมณโคดมศากยบุตร ผู้ออกบวชจากศากยสกุล
             แล้วกล่าวถึงเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ในพระพุทธคุณ ๙
             มาคัณฑิยปริพาชกกล่าวว่า
             พวกเราที่ได้เห็นที่นอนของท่านพระโคดมผู้กำจัด (ทำลาย) ความเจริญนั้น
ชื่อว่าได้เห็น (สิ่งที่) ชั่ว (เพราะเขามีลัทธิคือ ทำให้ความเจริญปรากฏในทวาร ๖
แต่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความสำรวมในทวาร ๖)
             พราหมณ์ภารทวาชโคตรกล่าวว่า
             ท่านจงรักษาวาจานี้ไว้ (อย่าพูดพร่ำ) ความจริงกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี
สมณะที่เป็นบัณฑิตจำนวนมาก ต่างก็พากันเลื่อมใสในพระองค์มาก
             เพราะทรงแนะนำในธรรมที่มีเหตุอันบริสุทธิ์ (ทำให้บริสุทธิ์) ไม่มีโทษ
             มาคัณฑิยปริพาชกกล่าวว่า
             ถ้าแม้พวกตนได้พบพระองค์ต่อหน้า ก็จะกล่าวต่อหน้าพระองค์ว่า
             พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัดความเจริญ เพราะว่าคำเช่นนี้ลงกันในสูตรของเราทั้งหลาย
(คำพูดนี้อยู่ในคำสอนของพวกเรา)
             พราหมณ์ภารทวาชโคตรกล่าวว่า
             ถ้าท่านไม่ว่าอะไร ข้าพเจ้าจะกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ
             มาคัณฑิยปริพาชกกล่าวว่า
             จงมีความขวนขวาย (ต่อความกังวลให้) น้อยเถิด เราได้ว่าไว้แล้ว
ก็พึงกล่าวกะพระองค์เถิด
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             พระผู้มีพระภาคทรงทราบการสนทนาระหว่างพราหมณ์ภารทวาชโคตรกับ
มาคัณฑิยปริพาชก ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์
             ครั้นเวลาเย็น เสด็จออกจากที่เร้น (ในที่นี้คือออกจากผลสมาบัติ)
เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนเครื่องลาดหญ้านั้น พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้เข้าไปเฝ้า
             พระะผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า
             ท่านกับมาคัณฑิยปริพาชกปรารภถึงเครื่องลาดหญ้านี้ ได้เจรจาโต้ตอบกันอย่างไรบ้าง?
             พราหมณ์ภารทวาชโคตรตกใจจนขนลุก กราบทูลว่า
             ตนว่าจะกราบทูลเรื่องนี้กับพระองค์พอดี แต่พระองค์ตรัสถามขึ้นก่อน
             ขณะนั้น มาคัณฑิยปริพาชกก็เข้ามาำเฝ้าพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสซักถามมาคัณฑิยะเรื่องกามคุณ
             พระผู้มีพระภาคตรัสกับมาคัณฑิยปริพาชกว่า
             ตามีรูปเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในรูป อันรูปให้บันเทิงแล้ว ...
หูมีเสียงเป็นที่มายินดี ... จมูกมีกลิ่นเป็นที่มายินดี ... ลิ้นมีรสเป็นที่มายินดี ...
กายมีโผฏฐัพพะเป็นที่มายินดี ... ใจมีธรรมารมณ์เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
อันธรรมให้บันเทิงแล้ว
             ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่น ตถาคตทรมาน (ฝึกดี) แล้ว คุ้มครองแล้ว
รักษาแล้ว สำรวมแล้ว
             ตถาคตย่อมแสดงธรรมเพื่อสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่น
             คำที่ท่านกล่าวว่า พระองค์เป็นผู้กำจัดความเจริญ เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่
             มาคัณฑิยปริพาชกทูลตอบว่า
             ใช่แล้ว เพราะคำเช่นนี้ลงกันในสูตรของเขา
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             - บางคนในโลกนี้เป็นผู้เคยได้รับบำเรอด้วยรูปทั้งหลาย
อันจะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา ที่สัตว์ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม
เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
             ต่อมา เขารู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไป
แห่งรูปทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในรูป บรรเทาความเร่าร้อนอันเกิด
เพราะปรารภรูป เป็นผู้ปราศจากความระหาย (กระหาย) มีจิตสงบในภายในอยู่
             ท่านจะว่าอะไรแก่ท่านผู้นี้?
             ทูลตอบว่า ไม่มีอะไรที่จะว่า
             หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรัสทำนองเดียวกัน และมาคัณฑิยะทูลตอบเหมือนเดิม
             ตรัสว่า          
             - เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ก็เป็นผู้อิ่มหนำเพรียบพร้อมด้วย
กามคุณ ๕ มีปราสาทถึง ๓ แห่ง สำหรับแต่ละฤดู บำเรอด้วยดนตรีที่มีแต่สตรีล้วน
             ต่อมา เรานั้นรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องออกไป
แห่งกามทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วละตัณหาในกาม บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิด
เพราะปรารภกาม เป็นผู้ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่
             เรานั้นเห็นหมู่สัตว์อื่นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม
ถูกความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามเผาอยู่ เรานั้นย่อมไม่ยินดีในกามนั้น
             เพราะเรายินดีด้วยความยินดีที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมอยู่
จึงไม่ทะเยอทะยานต่อธรรมอันเลว ไม่ยินดีในธรรมอันเลวนั้น
             (ความยินดีที่เว้นจากกามและอกุศลธรรม หมายถึงความยินดีในผลสมาบัติ
อันเกิดจากจตุตถฌาน)
             - เปรียบเหมือนคนมั่งคั่ง เอิบอิ่มเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
             เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไปพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
พึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เอิบอิ่มเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
             เทพบุตรนั้น แม้ได้เห็นผู้มั่งคั่ง ผู้เอิบอิ่มเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
ก็ไม่พึงทะเยอทะยานต่อผู้มั่งคั่งนั้น หรือต่อกามคุณ ๕ ของมนุษย์ หรือไม่พึงเวียนมา
เพราะกามของมนุษย์
             เพราะกามอันเป็นทิพย์ น่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่ากามของมนุษย์
             - เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เรายินดีอยู่ด้วยความยินดีที่เว้นจากกาม
เว้นจากอกุศลธรรม ทั้งเป็นความยินดีที่ล่วงเลยความสุข เป็นของทิพย์ตั้งอยู่
จึงไม่ทะเยอทะยานต่อธรรมอันเลว ไม่ยินดีในธรรมอันเลวนั้นเลย
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กามคุณ_5
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สุจริต_3

เปรียบผู้บริโภคกามเหมือนคนโรคเรื้อน
             ๑. เปรียบเหมือนบุรุษโรคเรื้อน มีตัวเป็นแผล มีตัวอันสุก (ตัวพุพอง)
อันกิมิชาติบ่อนอยู่ (มีหนอนเจาะ) ย่างกายให้ร้อนที่หลุมถ่านเพลิง (เพื่อบรรเทารักษาโรค)
             เมื่อแพทย์รักษาให้หายแล้ว ก็เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข มีเสรีภาพ
มีอำนาจในตนเอง จะไปไหนได้ตามความพอใจ
             เมื่อเขาเห็นบุรุษโรคเรื้อนคนอื่น ย่อมไม่พึงทะเยอทะยานต่อบุรุษโรคเรื้อนคนโน้น
เพราะเมื่อยังมีโรค กิจที่ควรทำด้วยยาก็ต้องมี เมื่อไม่มีโรค กิจที่ควรทำด้วยยาก็ไม่ต้องมี
             เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
             ๒. เปรียบเหมือนบุรุษโรคเรื้อน ...
             เมื่อแพทย์รักษาให้หายแล้ว ...
             บุรุษมีกำลัง ๒ คนช่วยกันจับบุรุษนั้นที่แขนคนละข้าง ฉุดเข้าไป
ในหลุมถ่านเพลิง บุรุษนั้นจะต้องดิ้นรนไม่อยากเข้าใกล้ เพราะไฟมีสัมผัสเป็นทุกข์
มีความเร่าร้อนมาก
             ไฟนั้นมีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความเร่าร้อนมาก ทั้งในบัดนี้และในครั้งก่อน
             แต่ครั้งก่อนย่างกายให้ร้อนเพื่อรักษาโรค จึงสำคัญผิดในไฟนี้
อันมีสัมผัสเป็นทุกข์นั้นว่า เป็นสุขไป
             กามทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
             แม้ในอดีต แม้ในอนาคต แม้ในปัจจุบัน ก็มีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความเร่าร้อนมาก
             สัตว์เหล่านี้เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกความเร่าร้อน
เกิดขึ้นเพราะปรารภกามเผาอยู่ มีอินทรีย์ (ในที่นี้หมายถึงปัญญินทรีย์) อันโทษกำจัดแล้ว
กลับได้ความสำคัญผิดในกามอันมีสัมผัสเป็นทุกข์นั้นว่า เป็นสุขไป
             ๓. เปรียบเหมือนบุรุษโรคเรื้อน มีตัวเป็นแผล มีตัวอันสุก อันกิมิชาติบ่อนอยู่
ย่างกายให้ร้อนที่หลุมถ่านเพลิงด้วยประการใดๆ ปากแผลเหล่านั้นยิ่งเป็นของไม่สะอาดขึ้น
และเน่าขึ้นด้วยประการนั้นๆ
             และจะมีความพอใจสักหน่อยหนึ่งก็เพราะการเกาปากแผลเท่านั้น ฉันใด
             สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
             ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาม ถูกความเร่าร้อนที่เกิดขึ้น
เพราะปรารภกามเผาอยู่ เสพกามอยู่ด้วยประการใดๆ กามตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์เหล่านั้น
และสัตว์เหล่านั้นก็ถูกความเร่าร้อนที่เกิดเพราะปรารภกามเผาอยู่ ด้วยประการนั้นๆ
             และจะมีความพอใจสักหน่อยหนึ่งก็เพราะอาศัยกามคุณ ๕ เท่านั้น
             ผู้ที่เอิบอิ่มเพรียบพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ เช่น กษัตริย์
ยังละกามตัณหาไม่ได้ ยังบรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามไม่ได้แล้ว
ย่อมไม่เป็นผู้ปราศจากความระหาย จะไม่มีจิตที่สงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่
หรือจักอยู่ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
             ที่แท้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ปราศจากความระหาย
มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่
             สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นล้วนรู้ ความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งกามตามความเป็นจริง
             แล้วละกามตัณหา บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามแล้ว
จึงเป็นผู้ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า
             ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
             บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม (นิพพาน) ทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม

             มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลว่า
             น่าอัศจรรย์ เพราะพระดำรัสที่ว่า
             "ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
             ตนก็เคยได้ยินต่อจากปริพาชกทั้งหลายในกาลก่อนผู้เป็นอาจารย์
และปาจารย์เหมือนกัน
             ตรัสถามว่า
             ที่เขาได้ยินมาเช่นนั้น แล้วความไม่มีโรคนั้นเป็นไฉน นิพพานนั้นเป็นไฉน?
             มาคัณฑิยปริพาชกเอาฝ่ามือลูบตัวของตัวเอง กล่าวว่า
             ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้
             ตนเดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข อะไรๆ มิได้เบียดเบียนตน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรคมีองค์_8
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุทาน

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 8-114
[ต่อ]

             ๔. เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด
             เขาได้ฟังต่อคนผู้มีตาดีกล่าวว่า ผ้าขาวช่างสวยงาม สะอาด
             เขาจึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาว บุรุษคนหนึ่งเอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่า
มาลวงบุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้นว่า ผ้าผืนนี้ เป็นผ้าสวยงาม สะอาด
เขารับเอาผ้านั้นไว้ห่ม แล้วดีใจ เปล่งวาจาแสดงความดีใจ
             บุรุษตาบอดแต่กำเนิดนั้น ย่อมไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่ แต่เปล่งวาจา
แสดงความยินดี เพราะเชื่อต่อบุคคลผู้มีตาดีเท่านั้น
             ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีตา
ไม่รู้ความไม่มีโรค ไม่เห็นพระนิพพาน ถึงกระนั้น ก็ยังกล่าวคาถานี้ได้ว่า
             "ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
             พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้ตรัสพระคาถา (เต็ม) นั้น
             บัดนี้ พระคาถานั้นเป็นคาถาของปุถุชนไปโดยลำดับ
             แท้จริงแล้วกายนี้แหละเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก
เป็นความเจ็บไข้
             ดังนั้น ที่เขากล่าวว่า ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้
ก็เพราะเขาไม่มีจักษุของพระอริยะ (อริยจักขุ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาญาณและ
มรรคญาณอันบริสุทธิ์) อันเป็นเครื่องรู้ความไม่มีโรค อันเป็นเครื่องเห็นนิพพาน
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=คาถา

มาคัณฑิยะอาราธนาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม
             มาคัณฑิยปริพาชกทูลแสดงความเลื่อมใส และอาราธนาทรงแสดงธรรม
เพื่อให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้             
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดรักษาอย่างไร
ก็ไม่หาย แ่พทย์นั้นย่อมลำบาก ย่อมคับแค้น
             พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พึงแสดงธรรมแก่เขาว่า ความไม่มีโรคนั้น
คือสิ่งนี้ นิพพานนั้นคือสิ่งนี้ ดังนี้ เขานั้นก็ไม่พึงรู้ความไม่มีโรค ไม่พึงเห็นนิพพาน
ดังนั้น ย่อมเป็นความเหน็ดเหนื่อย เป็นความลำบากแก่พระองค์
             มาคัณฑิยปริพาชกทูลว่า
             ตนเลื่อมใสต่อพระองค์แล้ว พระองค์ย่อมทรงสามารถเพื่อแสดงธรรมแก่เขา
โดยประการที่ให้รู้ความไม่มีโรค ให้เห็นนิพพานได้
             ตรัสว่า เปรียบหมือนบุรุษตาบอดมาแต่กำเนิด  เขาได้ฟังต่อคนผู้มีตาดีกล่าวว่า
ผ้าขาวช่างสวยงาม สะอาด
             เขาจึงเที่ยวแสวงหาผ้าขาว บุรุษคนหนึ่งเอาผ้าเทียมเปื้อนเขม่ามาลวงบุรุษ
ตาบอดแต่กำเนิดนั้นว่า ผ้าผืนนี้
             เป็นผ้าสวยงาม สะอาด เขารับเอาผ้านั้นไว้ห่ม
             แพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดรักษาตา ด้วยการทำยาถอนให้อาเจียน ยาถ่ายให้ลง
เป็นต้น จนตาดีขึ้น
             เขาย่อมละความรักด้วยสามารถความพอใจในผ้าเทียมเปื้อนเขม่าโน้นได้
พร้อมกับตาเห็น
             เขาพึงเบียดเบียนบุรุษที่ลวงตนนั้นโดยความเป็นศัตรู เขาพึงสำคัญบุรุษ
ที่ลวงตนนั้นว่าควรปลงชีวิตเสียด้วยความแค้น ฉันใด
             พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
             ถ้าแสดงธรรมแก่เขาว่าความไม่มีโรคนั้นคือข้อนี้ นิพพานนั้นคือข้อนี้
             เขาก็พึงรู้ ความไม่มีโรค พึงเห็นนิพพานได้
             ก็จะละความกำหนัดความพอใจในอุปทานขันธ์ ๕ ได้ พร้อมกับความ
เห็นเกิดขึ้น (เกิดดวงตาคือปัญญาขึ้น) แล้วดำริว่า
             เราถูกจิตนี้ล่อลวงให้หลงมานานแล้ว เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่รูปเท่านั้น
เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่เวทนาเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สัญญาเท่านั้น
เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่สังขารเท่านั้น เมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่วิญญาณเท่านั้น
             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีแก่เรานั้น เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย
จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปาทานขันธ์
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปฏิจจสมุปบาท

             มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลยืนยันว่า ตนเลื่อมใสต่อพระองค์แล้ว
ขอพระองค์ทรงแสดงธรรมโดยประการที่เขาไม่เป็นคนบอด ลุกขึ้นจากอาสนะนี้ได้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ถ้าเช่นนั้น ท่านควรคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบสัตบุรุษ เมื่อนั้น
ท่านจักได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ
             เมื่อท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ท่านจักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
             เมื่อท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านจะรู้เอง เห็นเองว่า
             โรค ฝี ลูกศร คืออันนี้ โรค ฝี ลูกศร จะดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้
             เพราะอุปาทานของเรานั้นดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ดับ
             ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลว่า
             ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ ฯลฯ
             แล้วทูลขอถึงไตรสรณะ ทูลขอบรรพชา อุปสมบท
             ตรัสว่า
             ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา อุปสมบทในธรรมวินัยนี้
ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว
จึงให้บรรพชา ให้อุปสมบทได้
             แต่พระองค์ทรงทราบความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ (เขาจึงไม่ต้องอยู่ปริวาส)
             มาคัณฑิยปริพาชกทูลว่า
             อย่าว่าแต่ ๔ เดือนเลย ๔ ปี ตนก็ยินดี
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ติตถิยปริวาส

             มาคัณฑิยปริพาชกได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
แล้วหลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว ไม่นานเท่าไรก็บรรลุเป็นพระอรหันต์

[แก้ไขตาม #8-115]

ความคิดเห็นที่ 8-115
ฐานาฐานะ, 3 กันยายน เวลา 11:16 น.

GravityOfLove, 6 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๕. มาคัณฑิยสูตร เรื่องมาคัณฑิยปริพาชก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4769&Z=5061&bgc=mistyrose&pagebreak=0
...
3:48 AM 9/3/2013

             ย่อความได้ดี มีข้อติงมากโขอยู่ดังนี้ :-
ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ใกล้นิคมของชาวกุรุอันชื่อว่ากันมาสธรรม ในกุรุรัฐ
             แก้ไขเป็น
ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ใกล้นิคมของชาวกุรุอันชื่อว่ากัมมาสธรรม ในกุรุรัฐ
//budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=13&item=276&Roman=0

             เนื้อความว่า อันกิมิชาติบ่อนอยู่ (มีเชื้อโรคเจาะ)
             ขอขยายความว่า กิมิชาติ แปลว่า หนอน.
กิมิชาติ (แบบ) น. หนอน, หมู่หนอน. (ป.).
บ่อน น. แหล่งเป็นที่ชุมนุมกันเพื่อเล่นการพนัน เช่น บ่อนไก่ บ่อนเบี้ย
บ่อนไพ่, แหล่งเป็นที่ชุมนุมกันเพื่อการบางอย่างมีเล่นสักวาหรือ
เล่านิทานเป็นต้น เช่น บ่อนสักวา บ่อนเล่านิทาน. ก. กินฟอนอยู่
ข้างใน เช่น หนอนบ่อนไส้, ภายในย่อมแมลงวัน หนอนบ่อน.
(โลกนิติ).
//rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

             ประโยคว่า
             ผู้ที่เอิบอิ่มเพรียบพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ เช่น กษัตริย์
ยังละกามตัณหาไม่ได้ ยังบรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามไม่ได้แล้ว
ย่อมไม่เป็นผู้ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่
             ประโยคข้างต้นนี้ ควรแแสดงให้ชัดเจน นัยว่า
             ผู้ที่เอิบอิ่มเพรียบพร้อม บำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕ เช่น ...
จะไม่มีจิตที่สงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต)
             อันมาจากประโยค 2 ประโยค กล่าวคือ
             ประโยคที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามมาคัณฑิยปริพาชก
และประโยคที่พระผู้มีพระภาคตรัสยืนยันว่า
>>>>
             ดีละมาคัณฑิยะ ข้อนี้แม้เราไม่ได้เห็นไม่ได้ฟังมาว่า พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของ
พระราชาผู้เอิบอิ่มเพรียบพร้อมบำเรอตนอยู่ ด้วยกามคุณห้า ยังละตัณหาไม่ได้ ยังบรรเทาความ
เร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามไม่ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว
หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่ ดูกรมาคัณฑิยะ ที่แท้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้
ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่. สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นล้วนรู้ ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งกาม
นั่นเทียว ตามความเป็นจริง แล้วละกามตัณหา บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกาม
แล้ว จึงเป็นผู้ปราศจากความระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่.
<<<<
             กล่าวคือ ไม่มีคนที่ยังไม่บรรเทาเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกาม
ที่จะมีจิตสงบในภายในอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ หรือจักอยู่.

             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงมีแก่เรานั้น เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย
ควรเว้นช่องว่างให้ชัดเจน
             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีแก่เรานั้น เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย

จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยทจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
             แก้ไขเป็น
จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความคิดเห็นที่ 8-116
ฐานาฐานะ, 3 กันยายน เวลา 12:46 น.

             คำถามในมาคัณฑิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4769&Z=5061

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 8-117
GravityOfLove, 3 กันยายน เวลา 13:07 น.

             ตอบคำถามในมาคัณฑิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4769&Z=5061

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?             
             ๑. มาคัณฑิยปริพาชกมีลัทธิคือ ทำให้ความเจริญปรากฏในทวาร ๖
             แต่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความสำรวมในทวาร ๖
             ๒. ผู้ที่เคยเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แต่ต่อมาเห็นการเกิด ดับ คุณ โทษ และ
อุบายในการออกจากกาม ตามความเป็นจริง ย่อมสามารถละตัณหาได้
             เมื่อเห็นผู้อื่นที่เพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ มีความเร่าร้อนเพราะ
กามคุณ ๕ ย่อมไม่ยินดีหวนกลับไปบริโภคกามคุณ ๕ อีก
             ย่อมยินดีในการออกจากกาม ออกจากอกุศลธรรม
             ๓. ผู้ที่เพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ มีกาย วาจา ใจสุจริต
เมื่อตายไปได้ไปเกิดในเทวโลก ย่อมไม่ยินดีในกามคุณของมนุษย์
เพราะกามอันเป็นทิพย์น่าพึงปรารถนา และประณีตกว่า
             ๔. กามมีสัมผัสเร่าร้อน เป็นทุกข์ แต่เหล่าสัตว์ที่ยังหลงติดในกามคุณ
สำคัญผิดไปว่าเป็นสุข
             ๖. ผู้ที่ยังเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ปราศจาก
ความกระหาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
             ๗. ทรงเปรียบผู้บริโภคกามเหมือนคนโรคเรื้อน เหมือนคนตาบอด
             ๘. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่พระวิปัสสีพุทธเจ้าจนถึงองค์ปัจจุบัน
ต่างก็ตรัสพระคาถานี้คือ
             ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
             บรรดาทางทั้งหลายอันให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม
             พวกอัญญเดียรถีย์ได้ยินก็นำไปกล่าวต่อๆ กันมาเพียง ๒ บทเท่านั้นคือ
             ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
             ๙. เมื่อละความกำหนัดความพอใจในอุปทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว ก็เกิดปัญญาทราบว่า
             เราถูกจิตนี้ล่อลวงให้หลงมานานแล้ว เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น
             เมื่อยึดมั่นจึงมีภพ เพราะภพนั้นเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
             ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ความคิดเห็นที่ 8-118
ฐานาฐานะ, 3 กันยายน เวลา 20:04 น.

GravityOfLove, 6 ชั่วโมงที่แล้ว
             ตอบคำถามในมาคัณฑิยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=4769&Z=5061
1:07 PM 9/3/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ
             ๖. ผู้ที่ยังเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ปราศจาก
ความกระหาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
             ขอให้กล่าวให้ชัดเจนว่า ผู้ที่ยังเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
และยังบรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะปรารภกามไม่ได้แล้ว
เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ปราศจากความกระหาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน
และอนาคต
             คำว่า กามคุณ ๕ อาจให้นัยเพียงวัตถุกามเท่านั้น
             คำว่า บรรเทาความเร่าร้อน ... ให้นัยถึงกิเลสกาม.

             ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=0&Z=486

             ในเรื่องของพระคาถาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่เหลืออยู่ในโลก แม้พระศาสนาจะอันตรธานไปแล้ว ก็มีในพระสูตรนี้
และในที่อื่นด้วย เช่นในชาดกชื่อว่ามหาสุตโสมชาดก
             ลำดับนั้น ในเวลาที่พระโพธิสัตว์อาราธนาแล้ว พราหมณ์จึงฟอกมือ
ทั้งสองด้วยของหอม นำเอาคัมภีร์อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ออกจากถุง จับขึ้นสองมือ
แล้วทูลว่า
             บัดนี้ ขอมหาบพิตรจงทรงสดับคาถา ชื่อว่าสตารหา ๔ คาถา ตามที่
พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ อันจะถอนความเมามีความเมาด้วยราคะเป็นต้น
ให้สร่าง ให้สำเร็จอมตมหานิพพานนี้
             แล้วดูคัมภีร์ กล่าวคาถาว่า
             ข้าแต่ท่านสุตโสมมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น
การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้
             พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรม
ของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อม
             ราชรถที่เขาให้วิจิตรเป็นอันดี ยังคร่ำคร่าได้แล แม้สรีระ ก็เข้าถึงความชรา
ได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกัน
ย่อมรู้กันได้.
             ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่า
ไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28.0&i=315&p=2

ความคิดเห็นที่ 8-119
GravityOfLove, 3 กันยายน เวลา 20:31 น.

ขอบพระคุณค่ะ คาถานี้ไพเราะมาก
นึกถึงมีกระทู้หนึ่งถามว่า ทำไมคบสัตบุรุษอยู่ในมงคลข้อที่ ๑

ความคิดเห็นที่ 8-120
ฐานาฐานะ, 3 กันยายน เวลา 20:36 น.

GravityOfLove, 47 วินาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ คาถานี้ไพเราะมาก
นึกถึงมีกระทู้หนึ่งถามว่า ทำไมคบสัตบุรุษอยู่ในมงคลข้อที่ ๑
8:31 PM 9/3/2013

             มงคลข้อที่ 1 คือ ไม่คบคนพาล
             มงคลข้อที่ 2 คือ การคบบัณฑิต

             มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=25&A=41
             คำว่า มงคล 38
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มงคล_38

ความคิดเห็นที่ 8-121
ฐานาฐานะ, 3 กันยายน เวลา 20:41 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า มาคัณฑิยสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=4769&Z=5061

              พระสูตรหลักถัดไป คือสันทกสูตร [พระสูตรที่ 26].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
              สันทกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=5062&Z=5497
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=293

              มหาสกุลุทายิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=5498&Z=6022
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=314

              สมณมุณฑิกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6023&Z=6174
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=356

              จูฬสกุลุทายิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6175&Z=6463
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=367

              เวขณสสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6464&Z=6595
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=389

ย้ายไปที่



Create Date : 12 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 11:18:27 น.
Counter : 552 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
12 ธันวาคม 2556
All Blog