22.4 พระสูตรหลักถัดไป คือสันทกสูตร [พระสูตรที่ 26]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
22.3 พระสูตรหลักถัดไป คือสันทกสูตร [พระสูตรที่ 26]

ความคิดเห็นที่ 3-28
ฐานาฐานะ, 11 กันยายน 2556 เวลา 07:27 น.

GravityOfLove, 8 ชั่วโมงที่แล้ว
             ตอบคำถามในสมณมุณฑิกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6023&Z=6174
...
10:08 PM 9/10/2013
             ตอบคำถามได้ดีครับ.
             ๗. ความดำริที่เป็นอกุศลดับด้วยปฐมฌานของผู้ได้อนาคามิผล
             ๘. ความดำริที่เป็นกุศลดับด้วยทุติยฌานของผู้ได้อนาคามิผล
             ข้อ ๘. นี้ อนาคามิผลหรืออรหัตตผล ?
             ในข้อนี้ ผมเห็นส่วนตัวว่า
             ความดำริที่เป็นอกุศล ดับโดยการข่มไว้ด้วยปฐมฌาน
ดับโดยสมุจเฉทด้วยอนาคามิมรรค เสวยผลด้วยอนาคามิผล
             ความดำริที่เป็นกุศล ดับโดยการข่มไว้ด้วยทุติยฌาน
เพราะวิตกวิจารดับไปทุติยฌาน และดับโดยสมุจเฉทด้วยอรหัตตมรรค
เสวยผลด้วยอรหัตตผล.

             คำว่า สัญญาในกาม หมายถึงกามสัญญาที่เกิดพร้อมกับจิตที่สหรคต
ด้วยโลภจิต ๘ ดวง กามสัญญา ๒ ดวง นอกจากนี้เกิดพร้อมกับจิต ๒ ดวง
ที่สหรคตด้วยโสมนัส
<<<<
             นำมาจากไหน?
----------------------------------------------------------
             2. นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่?
             สันนิษฐานว่า เป็นปุถุชน เพราะในอรรถกถา (พระสูตรที่เกี่ยวข้อง) กล่าวว่า
เป็นเวไนยบุคคล (บุคคลที่พอจะสั่งสอนได้)
             และเนื้อหาพระธรรมที่ทรงแสดง มีการเปรียบเทียบธรรมของเสขบุคคล
และอเสขบุคคล น่าจะเพราะช่างไม้ยังไม่ได้เป็นพระอเสขะ จึงยังไม่ทราบธรรมของ
พระอเสขะ
10:08 PM 9/10/2013
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
             คำว่า น่าจะเพราะช่างไม้ยังไม่ได้เป็นพระอเสขะ แสดงว่า
ไม่ใช่พระอรหันต์ อันนี้แน่นอน เนื้อความส่วนที่ยกมานี้ก็ไม่แสดงว่า
นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเป็นปุถุชนหรือพระอริยบุคคล (ชั้นพระเสขบุคคล)
             ผมเองก็สันนิษฐานไม่ออกว่า นายช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่
หากไม่ใช่พระอริยบุคคล การไปสำนักของเดียรถีย์ปริพพาชก ก็ถือว่าเป็นอันตราย.

ความคิดเห็นที่ 3-29
GravityOfLove, 11 กันยายน 2556 เวลา 09:55 น.

คำว่า สัญญาในกาม หมายถึงกามสัญญาที่เกิดพร้อมกับจิตที่สหรคต
ด้วยโลภจิต ๘ ดวง กามสัญญา ๒ ดวง นอกจากนี้เกิดพร้อมกับจิต ๒ ดวง
ที่สหรคตด้วยโสมนัส << แก้ไขเป็นโทมนัสค่ะ

เนื้อความในอรรถกถา
บทว่า กามสฺญญา สัญญาในกาม คือสัญญานอกนี้เกิดร่วมกับจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ๘ ดวง
สัญญาที่เกิดร่วมกับจิตประกอบด้วยโทมนัส ๒ ดวง.

ความคิดเห็นที่ 3-30
ฐานาฐานะ, 11 กันยายน 2556 เวลา 10:17 น.

             รับทราบครับ.
             บทว่า กามสฺญญา แก้ไขเป็น บทว่า กามสญฺญา

             ๘. ความดำริที่เป็นกุศลดับด้วยทุติยฌานของผู้ได้อนาคามิผล
             อนาคามิผล หรืออรหัตตผล?

ความคิดเห็นที่ 3-31
GravityOfLove, 11 กันยายน 2556 เวลา 10:32 น.

อรหัตตผลค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-32
ฐานาฐานะ, 11 กันยายน 2556 เวลา 10:42 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า สมณมุณฑิกสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6023&Z=6174

              พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสกุลุทายิสูตร [พระสูตรที่ 29].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
              จูฬสกุลุทายิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6175&Z=6463
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=367

              เวขณสสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=6464&Z=6595
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=389

ความคิดเห็นที่ 3-33
GravityOfLove, 12 กันยายน 2556 เวลา 04:43 น.

              คำถามจูฬสกุลุทายิสูตร
              กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ไม่เข้าใจข้อ ๓๗๑ ค่ะ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6175&Z=6463&bgc=mistyrose&pagebreak=0#371

             ๒. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำไมหนอ ปฏิปทานั้นจึงเป็นปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลก
ที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ เพราะโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว เป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งชัดด้วย
ปฏิปทามีประมาณเท่านี้?
             ดูกรอุทายี โลกมีความสุขส่วนเดียว จะเป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทา
มีประมาณเท่านี้หามิได้แล แต่ปฏิปทานั้นมีเหตุทีเดียว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดย
ส่วนเดียวได้.
             [๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้บันลือ
เสียงสูงเสียงใหญ่กันเอ็ดอึงว่า เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลาย
พร้อมทั้งอาจารย์จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลายยังไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาที่ยิ่งไปกว่านี้ ลำดับนั้น
สกุลุทายีปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงเป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุข
โดยส่วนเดียวได้เล่า?
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-34
ฐานาฐานะ, 12 กันยายน 2556 เวลา 12:03 น.

              สกุลุทายีปริพาชกทูลถามว่า
              ทำไมหนอ ปฏิปทานั้นจึงเป็นปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้
เป็นเพราะว่า เพราะโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว เป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทามีประมาณเท่านี้หรือ?
              กล่าวคือ สกุลุทายีปริพาชกคิดว่า การบรรลุตติยฌานเป็นการทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้
จึงถามเป็นการยืนยันว่า การบรรลุตติยฌานเป็นการทำให้แจ้งชัด รู้หมดจดว่า เท่านี้แหละเป็นปฏิปทาให้ถึง.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
              ดูกรอุทายี โลกมีความสุขส่วนเดียว จะเป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทา
มีประมาณเท่านี้หามิได้แล แต่ปฏิปทานั้นมีเหตุทีเดียว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียวได้.
              นัยก็คือ การบรรลุตติยฌานยังไม่ถึงการทำให้แจ้ง แต่ว่า การบรรลุตติยฌานเป็นระหว่างทางเท่านั้น
คือระหว่างทางที่จะบรรลุจตุตถฌาน.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

              [๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้บันลือ
เสียงสูงเสียงใหญ่กันเอ็ดอึงว่า เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลาย
พร้อมทั้งอาจารย์จะได้ยินดีในเหตุนี้หามิได้ เราทั้งหลายยังไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาที่ยิ่งไปกว่านี้ ลำดับนั้น
สกุลุทายีปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงเป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุข
โดยส่วนเดียวได้เล่า?
              นัยก็คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้อื้ออึงว่า
เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์ก็ยังไม่บรรลุตติยฌาน ก็เป็นอันว่า ยิ่งกว่านั้นก็เป็นอันไม่รู้.

ความคิดเห็นที่ 3-35
GravityOfLove, 12 กันยายน 2556 เวลา 12:37 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-36
GravityOfLove, 12 กันยายน 2556 เวลา 12:55 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค
             ๒๙. จูฬสกุลุทายิสูตร เรื่องสกุลุทายีปริพาชก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=6175&Z=6463&bgc=mistyrose&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน
เขตพระนครราชคฤห์
            สมัยนั้น สกุลุทายีปริพาชกอยู่ในปริพาชิการามเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง พร้อม
ด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่
             ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์
ได้ทรงดำริว่า ยังเช้านัก อย่ากระนั้นเลย พึงเข้าไปหาสกุลุทายีปริพาชก
             ขณะนั้นสกุลุทายีปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลังสนทนา
ติรัจฉานกถาต่างเรื่อง ด้วยเสียงอื้ออึงอึกทึก
             เมื่ิอได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตน
ให้สงบ เผื่อว่าพระองค์จะเสด็จเข้ามา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ติรัจฉานกถา

             เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาแล้ว สกุลุทายีปริพาชกได้กราบทูลเชิญ
ประทับนั่ง แล้วตนถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่ง
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เมื่อกี้สนทนาเรื่องอะไรกันค้างไว้
             สกุลุทายีปริพาชกกราบทูลว่า เรื่องนั้นของดไว้ก่อน แล้วกราบทูลว่า             
             ตนไม่ได้อยู่ในบริษัทหมู่ใด บริษัทหมู่นั้นก็สนทนาเรื่องติรัจฉานกถากัน
แต่เมื่อตนเข้าไป ก็นั่งมองดูแต่หน้าตน เพราะประสงค์จะรู้จากตนว่า
             สกุลุทายีปริพาชกจะสอนธรรมใดแก่พวกเขาทั้งหลาย เขาทั้งหลายจะฟังธรรมนั้น
             และเมื่อเวลาพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาบริษัทหมู่นี้ ทั้งตนและ
บริษัทหมู่นี้ก็นั่งมองดูพระพักตร์ของพระองค์ เพราะมีประสงค์ว่า
             พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมใดแก่พวกตน พวกตนจะฟังธรรมนั้น
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ถ้าอย่างนั้น ปัญหาจงปรากฏแก่ท่าน ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ธรรมเทศนาปรากฏ
แก่เรา (ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งปัญหาซึ่งจะเป็นเหตุให้เราแสดงธรรม)
             สกุลุทายีปริพาชกจึงทูลเล่าว่า
             วันก่อนๆ หลายวันมาแล้ว ท่านผู้สัพพัญญูสัพพทัสสาวี (ผู้สารพัดรู้สารพัดเห็น)
มาปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ (อย่างเบ็ดเสร็จ) ว่า
             เมื่อเราเดินไป หยุดอยู่ หลับ และตื่น ความรู้ความเห็นปรากฏอยู่เสมอร่ำไป
             ท่านผู้นั้นถูกตนถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีต ก็เอาเรื่องอื่นมา
พูดกลบเกลื่อน พูดเฉไปเสียนอกเรื่อง และแสดงความไม่พอใจตน
             ตนเกิดสติปรารภพระผู้มีพระภาคเท่านั้นว่า
             ผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ จะเป็นผู้ใดเล่า ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคเป็นแน่
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ท่านผู้สารพัดรู้สารพัดเห็นนั้น เป็นใคร
             สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า คือ นิครนถ์นาฏบุตร
             พระผู้ีมีพระภาคตรัสว่า
             - ผู้ใดพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง
สองชาติบ้าง ฯลฯ พึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ
(ผิวพรรณ เป็นต้น) พร้อมทั้งอุเทศ (ชื่อและโคตร)
             ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับพระองค์
             หรือพระองค์ควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอดีตกับผู้นั้น
             ผู้นั้นจะพึงยังจิตของพระองค์ให้ทรงยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหานั้น
             หรือพระองค์จะพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหานั้น
             - ผู้ใดพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ
พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
             ผู้นั้นควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับพระองค์
             หรือพระองค์ควรถามปัญหาปรารภขันธ์ส่วนอนาคตกับผู้นั้น
             ผู้นั้นพึงยังจิตของพระองค์ให้ทรงยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหานั้น
             หรือพระองค์จะพึงยังจิตของผู้นั้นให้ยินดีได้ ด้วยการพยากรณ์ปัญหานั้น
             ตรัสว่า
             (ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม) จงงดขันธ์ส่วนอดีตและขันธ์ส่วนอนาคตไว้ก่อน
พระองค์จะทรงแสดงธรรมว่า
             เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด
             เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ
             สกุลุทายีปริพาชกทูลว่า
             - แม้แต่ด้วยอัตภาพของตนที่เป็นอยู่บัดนี้ ตนยังไม่สามารถจะระลึกถึงได้
พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ก็ไฉนจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมากเหมือน
พระองค์ได้เล่า
             - เดี๋ยวนี้ แม้แต่ปังสุปีศาจ (ปีศาจฝุ่น คือปีศาจที่เกิดในที่ไม่สะอาด)
ตนยังไม่เห็นเลย ไฉนจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์
ล่วงจักษุของมนุษย์เหมือนพระองค์ได้เล่า
             คำที่พระองค์ตรัสว่า
             จงงดขันธ์ส่วนอดีตและอนาคตไว้ก่อน จะทรงแสดงธรรมว่า
เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุเกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึง
ไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ ดังนี้นั้น
             จะได้ปรากฏแก่ข้าพระองค์โดยยิ่งกว่าประมาณก็หาไม่
             ไฉนตน จะพึงยังจิตของพระองค์ให้ทรงยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา
ในลัทธิอาจารย์ของตนได้เล่า
๑. เรื่องวรรณ
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             ก็ในลัทธิอาจารย์ของตนแห่งท่าน มีว่าอย่างไร?
             สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง (สูงสุด)
             ตรัสถามว่า ก็วรรณอย่างยิ่งเป็นไฉน?
             ทูลตอบว่า วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณ
อย่างยิ่ง
             ตรัสถามว่า ก็วรรณไหนเล่าที่ไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า?
             ทูลตอบเหมือนเดิมว่า วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณ
อย่างยิ่ง
             ตรัสว่า
             วาจานั้นของท่านพึงขยายออกอย่างยืดยาว (นาน) แต่ไม่สามารถชี้วรรณนั้นได้
             เปรียบเหมือนบุรุษกล่าวว่า ตนรักหญิงคนนี้ แต่เมื่อถูกถามว่า
             นางเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไร ชื่ออะำไร เป็นต้น ก็ตอบไม่ได้
             เมื่อถูกถามว่า ท่านรักผู้หญิงที่ท่านไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหรือ ก็ตอบว่า ถูกแล้ว
             เมื่อเป็นเช่นนี้ คำกล่าวของบุรุษนั้น ถึงเป็นคำใช้ไม่ได้
             เขาก็ฉันนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่ว่า
             วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง
แต่ไม่ชี้วรรณนั้น
             สกุลุทายีปริพาชกกราบทูลว่า
             เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม วางไว้ที่ผ้ากัมพลแดง ย่อมสว่างไสว
ส่องแสงเรืองอยู่ ฉันใด ตัวตน (อัตตา) ก็มีวรรณ ฉันนั้น เมื่อตายไปย่อมเป็นของไม่มีโรค
             (ตัวตนหรืออัตตา ในที่นี้หมายถึง ตัวตนนั้นในเวลาเราตายย่อมรุ่งเรืองดุจขันธ์
ในสุภกิณหเทวโลก หมายถึงขันธ์ที่เกิดในสุภกิณหเทวโลก)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สุภกิณห&detail=on

             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             บรรดาวรรณทั้งสองนี้ วรรณไหนจะงาม และประณีตกว่ากัน?
             - แก้วไพฑูรย์อันงาม วางไว้ที่ผ้ากัมผลแดง ย่อมสว่างไสว
กับแมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี
             ทูลตอบว่า แมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี
             - แมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี
กับประทีปน้ำมันในเวลาเดือนมืดในราตรี
             ทูลตอบว่า ประทีปน้ำมันในเวลาเดือนมืดในราตรี
             - ประทีปน้ำมันในเวลาเดือนมืดในราตรี
กับกองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืดในราตรี
             ทูลตอบว่า กองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืดในเวลาราตรี
             - กองไฟในเวลาเดือนมืดในราตรี
กับดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี
             ทูลตอบว่า ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ฯลฯ
             - ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ฯลฯ
กับดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรงในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ
ในวันอุโบสถที่ ๑๕ (เพ็ญกลางเดือน)
             ทูลตอบว่า ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ฯลฯ
             - ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ฯลฯ กับดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรงใน
อากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสรทสมัยเดือนท้ายฤดูฝน
             ทูลตอบว่า ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ฯลฯ
             ตรัสต่อไปว่า
             เทวดาที่สู้แสงพระจันทร์พระอาทิตย์ไม่ได้ มีมากกว่าเทวดาพวกที่
สู้แสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้

             ทรงรู้ทั่วถึงเทวดาพวกนั้นอยู่ แต่ก็ไม่ตรัสว่า
             วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า
             เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านก็ชื่อว่า กล่าวอยู่ว่า
             วรรณใดที่เลวกว่าและเศร้าหมองกว่าแมลงหิ่งห้อย วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง
             แต่ท่านไม่ชี้วรรณนั้นให้ชัด
             สกุลุทายีปริพาชกทูลว่า
             พระผู้มีพระภาคทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตเจ้าทรงค้านเรื่องนี้เสียแล้ว
             ตรัสถามว่า ทำไมกล่าวเช่นนั้น
             ทูลตอบว่า ในลัทธิอาจารย์ของตน มีอยู่อย่างนี้ว่า
             วรรณนี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง วรรณนี้เป็นวรรณอย่างยิ่งดังนี้
             แต่เมื่อตนถูกพระองค์สอบสวน ซักไซ้ ไล่เรียง ในลัทธิอาจารย์ของตน
ก็เป็นคนว่างเปล่า ผิดไปหมด

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 3-37
[ต่อ]

๒. ปัญหาเรื่องสุข-ทุกข์
             ตรัสถามต่อไปว่า
             โลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ
             ปฏิปทาที่มีเหตุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ?
             ทูลตอบว่า มีอยู่
             ตรัสถามว่า ปฏิปทานั้นเป็นอย่างไร?
             ทูลตอบว่า
             - บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
             - ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
             - ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
             - ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ
             - สมาทานคุณ คือ ตบะอย่างใดอย่างหนึ่งประพฤติอยู่
(ลัทธิของอเจลกะ คือเว้นการดื่มสุรา)
             ตรัสถามสกุลุทายีปริพาชก และสกุลุทายีปริพาชกทูลตอบ มีใจความว่า
             ในเวลาที่บุคคลละการฆ่าสัตว์ ละการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม
ละการพูดเท็จ สมาทานคุณ คือตบะอย่างใดอย่างหนึ่งประพฤติอยู่นั้น
             ตนไม่ได้มีสุขโดยส่วนเดียว ตนมีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง
             แล้วจึงตรัสว่า
            การจะอาศัยปฏิปทาอันมีทั้งสุขและทุกข์เกลื่อนกล่น
แล้วทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่บ้างไหม?
             สกุลุทายีปริพาชกทูลว่า
             พระผู้มีพระภาคทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว พระสุคตทรงคัดค้านเรื่องนี้เสียแล้ว
             ตรัสถามว่า ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น
             ทูลตอบว่า ในลัทธิอาจารย์ของตน มีอยู่อย่างนี้ว่า
             โลกมีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลก
ที่มีสุขโดยส่วนเดียวก็มีอยู่ ดังนี้
             แต่เมื่อตนถูกพระองค์สอบสวน ซักไซ้ ไล่เลียง ในลัทธิอาจารย์ของตน
ก็เป็นคนว่างเปล่า ผิดไปหมด
             สกุลุทายีปริพาชกทูลถามว่า
             ก็โลกซึ่งมีความสุขโดยส่วนเดียว มีอยู่หรือ
             ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวมีอยู่หรือ?
             ตรัสตอบว่า มีอยู่
             ทูลถามว่า ปฏิปทานั้นเป็นอย่างไร?
             ตรัสตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
             ๑. สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิด แต่วิเวกอยู่
             ๒. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป
มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
             ๓. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
             ตรัสว่า นี่แหละ ปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
             สกุลุทายีปริพาชกทูล (ถามเพื่อยืนยัน) ว่า
             ทำไมหนอ ปฏิปทานั้น (ตติยฌาน) จึงเป็นปฏิปทาที่มีเหตุเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลก
ที่มีสุขโดยส่วนเดียวได้ อันภิกษุนั้นทำให้แจ้งชัดด้วยปฏิปทามีประมาณเท่านี้?
             (ในลัทธิของเขา ปฏิปทามีเหตุคือ ปฏิปทา ๕ ประการดังกล่าว
แล้วถือเอาตติยฌานว่า โลกมีสุขโดยส่วนเดียว)
             ตรัสว่า
             ด้วยปฏิปทามีประมาณเท่านี้หามิได้
             แต่ปฏิปทานั้นมีเหตุทีเดียว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุขโดย
ส่วนเดียวได้
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้บันลือ
เสียงสูงเสียงใหญ่กันเอ็ดอึงว่า
             เราทั้งหลายพร้อมทั้งอาจารย์ไม่สามารถจะได้ยินดีในเหตุ
เพราะเราทั้งหลายยังไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาที่ยิ่งไปกว่านี้
             สกุลุทายีปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว แล้วทูลถามว่า
             ก็ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร จึงเป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีความสุข
โดยส่วนเดียวได้?
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
             ภิกษุนี้ยืนด้วยกัน เจรจากัน สนทนากัน กับเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงโลก
ที่มีสุขโดยส่วนเดียวเหล่านั้นได้
             ตรัสว่า
             ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แหละ เป็นอันภิกษุนั้นทำให้แจ้ง ซึ่งโลก
ที่มีความสุขโดยส่วนเดียวได้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

             ทูลถามว่า
             ภิกษุทั้งหลายย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพราะ
เหตุ (มุ่ง) จะทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวนี้ โดยแท้ (เป็นแน่) หรือ?
             [อรรถกถา]
             มุ่งจะทำให้แจ้ง (สฺจฉิกิริยาเหตุ) ในที่นี้หมายถึงการทำให้แจ้ง ๒ อย่าง คือ
             (๑) ปฏิลาภสัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งด้วยการได้เฉพาะ เช่น
             การบำเพ็ญตติยฌานจนมีฌานไม่เสื่อม ตายไปเกิดเป็นผู้มีอายุ
และผิวพรรณเสมอกับเทพชั้นสุภกิณหะ
             (๒) ปัจจักขสัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งด้วยเห็น เช่น การบำเพ็ญจตุตถฌาน
แล้วใช้อำนาจฤทธิ์ไปถึงเทวโลกชั้นสุภกิณหะ อยู่ร่วมกันและสนทนาธรรมกับเทพเหล่านั้น
             ตรัสตอบว่า หามิได้
             เพราะมีธรรมเหล่าอื่นที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลาย
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระองค์ มุ่งจะทำให้แจ้ง
             ทูลถามว่า ก็ธรรมเหล่าอื่นนั้น เป็นอย่างไร?
             ตรัสว่า
             พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ (พระพุทธคุณ ๙)
             กุลบุตรเมื่อได้ฟังธรรมนั้น แล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต ออกบวช ฯลฯ
             เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ (ศีลเป็นใหญ่เป็นประธาน)
             ถึงพร้อมด้วยมารยาท (อาจาระ) และโคจร
             มีปกติเห็นในโทษเพียงเล็กน้อยว่าเป็นภัย
             สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล
มีอาชีพบริสุทธิ์
             ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (อินทรียสังวร)
             ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ (ธรรมมีอุปการะมาก) เป็นผู้สันโดษ ฯลฯ
             ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจและทำปัญญาให้ทุรพล
             เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ถึง จตุตถฌาน
             ฌานแต่ละข้อ ตรัสว่า
             ธรรมนี้แหละ เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลาย
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระองค์ มุ่งจะทำให้แจ้งชัด
             ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มจิตไปเพื่อบรรลุวิชชา ๓
             วิชชาแต่ละข้อ ตรัสว่า
             นี่เป็นธรรมที่ยิ่งกว่า และประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์
ในพระองค์ มุ่งจะทำให้แจ้งชัด
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อาจาระ&detail=on#find2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อาจาระ&detail=on
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=โคจร
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อินทรียสังวร
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกกราบทูลสรรเสริญ
พระภาษิตของพระองค์  ทูลขอถึงไตรสรณะ และทูลขอบรรพชาอุปสมบท
             บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชกว่า
             อย่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย
             ท่านเป็นอาจารย์ อย่าอยู่เป็นอันเตวาสิก (ศิษย์) เลย
             เปรียบเหมือนหม้อน้ำแล้ว จะพึงเป็นจอกน้อยลอยในน้ำ
             ก็เรื่องนี้ เป็นอันยุติว่า บริษัทของสกุลุทายีพาชก ได้ทำสกุลุทายีปริพาชก
ให้เป็นอันตราย (อุปสรรค) ในพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคดังนี้

[แก้ไขตาม #3-38]

ย้ายไปที่



Create Date : 13 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 11:25:52 น.
Counter : 612 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog