20.4 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬราหุโลวาทสูตร [พระสูตรที่ 11]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
20.3 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬราหุโลวาทสูตร [พระสูตรที่ 11]

ความคิดเห็นที่ 5-39
GravityOfLove, 29 กรกฎาคม เวลา 20:34 น.

             วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์
แล้วจะเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า
             คำว่า ใครหนอ คือท่านพระราหุลท่านปรารภท่านเองหรือคะ
             ปรารภว่า ใครหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระโอวาทด้วยพระองค์เอง (แล่วเข้าบ้าน
ไปบิณฑบาต) ไม่ใช้ให้คนอื่นทำ ไม่พูดถึงสมณะอื่น ก็เราเองไงเล่า สมควรรีบกลับไปบำเพ็ญเพียรดีกว่า
             ทำนองนี้หรือคะ

ความคิดเห็นที่ 5-40
ฐานาฐานะ, 29 กรกฎาคม เวลา 20:42 น.

              ถูกต้องครับ.
              (ไม่ใช้ให้คนอื่นทำ >> ไม่ใช้ให้คนอื่นให้โอวาท)

ความคิดเห็นที่ 5-41
GravityOfLove, 29 กรกฎาคม เวลา 20:44 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 5-42
GravityOfLove, 29 กรกฎาคม เวลา 20:48 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
             ๒. มหาราหุโลวาทสูตร เรื่องพระราหุล
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2541&Z=2681&bgc=seashell&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตพระนครสาวัตถี
             ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถี
โดยมีท่านพระราหุลตามไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง)
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า
             รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน  
เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี
อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี
             รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
             พระราหุลทูลถามว่า
             ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ?
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5#find1

             ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า
             วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์
แล้วจะเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า
             (ท่านปรารภตัวท่านเองที่พระผู้มีพระภาคทรงประทานพระโอวาท)
             เมื่อกลับจากที่นั้นแล้ว (ไม่ไปบิณฑบาตต่อ) นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง
             ท่านพระสารีบุตร (ซึ่งออกบิณบาตทีหลัง) ได้เห็นดังนั้น บอกท่านพระราหุลว่า
             จงเจริญอานาปานสติ เพราะอานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
             ในเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แล้วทูลถามว่า
             อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงจะมีผล มีอานิสงส์?
ธาตุ ๕
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. ปฐวีธาตุ
             ปฐวีธาตุที่เป็นภายใน คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตน
เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
             ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ
พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
             หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ
มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น
             ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน
             พึงเห็นปฐวีธาตุด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ ตนของเรา
             เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ
๒. อาโปธาตุ
             อาโปธาตุที่เป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี
             อาโปธาตุที่เป็นภายใน คือ สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป
มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
             ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน (มันเหลว) น้ำลาย
น้ำมูก ไขข้อ มูตร
             หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป
มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น
             อาโปธาตุที่เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุเหมือนกัน
             พึงเห็นอาโปธาตุด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา
             เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ
๓. เตโชธาตุ
             เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี
             เตโชธาตุที่เป็นภายใน คือ สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช
มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
             ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย
และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ
             หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายในอาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน
อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น
             เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี เตโชธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุเหมือนกัน
             พึงเห็นเตโชธาุตุด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา
             เพราะบุคคลเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในเตโชธาตุ
๔. วาโยธาตุ
             วาโยธาตุที่เป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี
             วาโยธาตุที่เป็นภายใน คือ สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย
มีลักษณะพัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
             ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้
ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ
             หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย พัดไปมา
อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น
             วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุเหมือนกัน
             พึงเห็นวาโยธาตุด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา
             เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ
๕. อากาสธาตุ
             อากาสธาตุที่เป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี
             อากาสธาตุที่เป็นภายใน คือ สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอากาศ
มีลักษณะว่าง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ
             ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว
ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่าง
             หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ
มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบเป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง
อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น
             อากาสธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อากาสธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุเหมือนกัน
             พึงเห็นอากาสธาตุด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า
             นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา
             เพราะบุคคลเห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอากาสธาตุ

ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
             พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วย;
๑. แผ่นดิน เพราะเมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ครอบงำจิตได้
             เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง
น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียด
ของนั้นก็หาไม่
๒. น้ำ เพราะเมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ครอบงำจิตได้
             เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ฯลฯ
น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
๓. ไฟ เพราะเมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ครอบงำจิตได้
             เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ฯลฯ
ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
๔. ลม เพราะเมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ครอบงำจิตได้
             เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ฯลฯ
ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่
๕. อากาศ เพราะเมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่
ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะไม่ครอบงำจิตได้
             เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ

การเจริญภาวนาธรรม
             พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญภาวนาธรรมดังนี้
             ๑. เมตตาภาวนา เพราะเมื่อเจริญเมตตาภาวนาอยู่
จะละพยาบาทได้
             ๒. กรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่
จะละวิหิงสา (ความเบียดเบียน) ได้
             ๓. เจริญมุทิตาภาวนา เพราะเมื่อเจริญมุทิตาภาวนาอยู่
จะละอรติ (ความไม่ยินดี) ได้
             ๔. เจริญอุเบกขาภาวนา เพราะเมื่อเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่
จะละปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ได้
             ๕. เจริญอสุภภาวนา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
เพราะเมื่อเจริญอสุภภาวนาอยู่ จะละราคะได้
             ๖. เจริญอนิจจสัญญาภาวนา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
เพราะเมื่อเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะ (ถือเราถือเขา) ได้
             ๗. เจริญอานาปานสติภาวนา (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก)
เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่
             เจริญอานาปานสติภาวนาดังนี้คือ
             ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
                    ๑. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
                    เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
                    ๒. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
                    เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
                    ๓. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า
                    ๔. ย่อมสำเหนียกว่า จักผ่อนระงับ (Calming) กายสังขารหายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า
                              ๕. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ (เสวยรู้) ปีติหายใจออก
                              ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า
                              ๖. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก
                              ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า
                              ๗. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก
                              ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า
                              ๘. ย่อมสำเหนียกว่า จักผ่ิอนระงับจิตสังขารหายใจออก
                              ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 5-43
[ต่อ]

                    ๙. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ (ทั่วถึง) จิตหายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า
                    ๑๐. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า
                    ๑๑. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่น (Concentrating) หายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า
                    ๑๒. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้อง (Liberating) จิตหายใจออก
                    ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า
                     ๑๓. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก
                     ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า
                     ๑๔. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก
                     ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า
                     ๑๕. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก
                     ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า
                     ๑๖. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจออก
                     ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า
             เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
             ลมอัสสาสะ (หายใจเข้า) ปัสสาสะ (หายใจออก) อันมีในภายหลัง
อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป
             หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้
             (บุคคลเจริญดีแล้ว เมื่อลมอัสสาสะปัสสาสะดับไป ก็ระลึกรู้ได้ รู้ชัดว่า
ดับไปแล้ว ไม่ใช่คนหลงลืมหรือสงสัยว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะดับไปหรือ?)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อานาปานสติ&detail=on

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #5-44]

ความคิดเห็นที่ 5-44
ฐานาฐานะ, 30 กรกฎาคม เวลา 00:38 น.

GravityOfLove, 3 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
             ๒. มหาราหุโลวาทสูตร เรื่องพระราหุล
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2541&Z=2681&bgc=seashell&pagebreak=0
...
8:47 PM 7/29/2013

             ย่อความได้ดีครับ รวบรวมประเด็นได้ครบถ้วน
             มีข้อติงเล็กน้อย คือ
             (ท่านปรารภวท่านเองที่พระผู้มีพระภาคทรงประทานพระโอวาท)
แก้ไขเป็น
             (ท่านปรารภตัวท่านเองที่พระผู้มีพระภาคทรงประทานพระโอวาท)

             (บุคคลเจริญดีแล้ว เมื่อลมอัสสาสะปัสสาสะดับไป ก็ระลึกรู้ได้ รู้ชัดว่า
ดับไปแล้ว ไม่ใช่คนหลงลืมหรือสงสัยว่า ลมอัสสาสะปัสสาสะดับไปหรือ?)
             คำว่า หรือ? ลืมลบออก หรือว่า ตั้งใจ?

ความคิดเห็นที่ 5-45
ฐานาฐานะ, 30 กรกฎาคม เวลา 00:48 น.

             คำถามในมหาราหุโลวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2541&Z=2681

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. ในหมวดภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ ข้อ 140-144
เลื่อมใสข้อใดมากที่สุด?
             3. การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง ข้อ 145
เลื่อมใสอย่างใดมากที่สุด?

ความคิดเห็นที่ 5-46
GravityOfLove, 30 กรกฎาคม เวลา 00:48 น.

ตั้งใจค่ะ แก้ไขโดยตัด หรือ? ออกใช่ไหมคะ

ความคิดเห็นที่ 5-47
ฐานาฐานะ, 30 กรกฎาคม เวลา 00:57 น.

             ไม่ต้องก็ได้ครับ
เป็นเครื่องหมายให้ผู้อ่านรู้ว่า เป็นข้อสันนิษฐาน.

ความคิดเห็นที่ 5-48
GravityOfLove, 30 กรกฎาคม เวลา 01:06 น.

             ตอบคำถามในมหาราหุโลวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2541&Z=2681

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. เหตืที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสอนท่านพระราหุลว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕
ในขณะที่เสด็จบิณบาตเพราะ ท่านพระราหุลเกิดความยินดีพอใจในรูปของพระผู้มีพระภาค
และของพระองค์เอง เกิดฉันทราคะอันอาศัยเริอน
             ๒. เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงเหลียวดูดุจพญาช้าง
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทับยืนหมุนพระวรกายทั้งสิ้นมาตรัส
กับท่านพระราหุล
             ๓. ท่านพระราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา
             ท่านเกลี่ยทรายประมาณบาตรหนึ่งในบริเวณพระคันธกุฎีแต่เช้าตรู่ด้วยคิดว่า
             วันนี้เราจะได้รับโอวาทประมาณเท่านี้ ได้การตักเตือนประมาณเท่านี้
จากสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากสำนักของพระอุปัชฌาย์.
             พระผู้มีพระภาคทรงตั้งพระราหุลไว้ในเอตทัคคะ ผู้เลิศในการศึกษา
             ๔. ในกาลใดพระอัครสาวกทั้งสอง (ท่านพระสารีบุตรและ่ท่านพระโมคคัลลานะ) อยู่ตามลำพัง.
             ในกาลนั้นท่านทั้งสองกวาดเสนาสนะแต่เช้าตรู่ชำระร่างกาย นั่งเข้าสมาบัติ
แล้วไปภิกษาจารตามความชอบใจของตนๆ.
             แต่เมื่ออยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทำอย่างนั้น.
             ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จไปภิกษาจารก่อน.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้ว พระเถระออกจากเสนาสนะของตน ดำริว่า
             ในที่ที่ภิกษุอยู่กันมากๆ ภิกษุทั้งหมดสามารถจะทำให้เลื่อมใส หรือไม่สามารถ
จึงไปในที่นั้นๆ แล้วกวาดที่ที่ยังมิได้กวาด เป็นต้น
             ๕. อานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติคือ
             ทำอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไปแล้วบรรลุพระอรหัต.
             เมื่อไม่สามารถอย่างนั้นก็เป็นสมสีสี (สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส) ในเวลาตาย.
             เมื่อไม่สามารถอย่างนั้นก็บังเกิดในเทวโลก ครั้นฟังธรรมของเทพบุตรผู้เป็นธรรมกถึก
แล้วได้บรรลุพระอรหัต.
             พลาดไปจากนั้นเมื่อยังไม่เกิดพุทธุปบาทกาล ย่อมทำให้แจ้งปัจเจกโพธิ.
             เมื่อยังไม่ทำให้แจ้งปัจเจกโพธินั้น ย่อมเป็นขิปปาภิญญา (รู้ได้เร็ว)
เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดุจพระพาหิยเถระเป็นต้น
             ๖. ท่านพระราหุลทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงวิธีเจริญอานาปานสติ
             แต่ก่อนที่พระองค์จะตรัสตอบ พระองค์ตรัสถึงธาตุ ๕ - เพื่อละฉันทราคะในรูป,
ภาวนาเสมอด้วยธาตุ - เพื่อแสดงความเป็นผู้คงที่, และเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง
             ๗. ผู้ยินดีในอัตภาพร่างกายว่า งาม ผ่องใส เมื่อกิเลสเติบโตขึ้นในภายใน
ย่อมไม่เห็นแม้ประโยชน์ตน แม้ประโยชน์ผู้อื่น แม้ประโยชน์ทั้งสองตามความเป็นจริง.
             จากนั้นจักถือปฏิสนธิในนรกบ้าง ในกำเนิดเดียรัจฉานบ้าง ในปิตติวิสัยบ้าง
ในครรภ์มารดาอันคับแคบบ้าง เพราะเหตุนั้นจักตกไปในสังสารวัฏอันไม่รู้เบื้องต้นที่สุด
----------------------------
             2. ในหมวดภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ ข้อ 140-144
เลื่อมใสข้อใดมากที่สุด?
             เลื่อมใสเหมือนๆ กันทั้ง ๕ ข้อเลยค่ะ เลือกอากาศค่ะ
             เพราะไม่ต้องเจอสิ่งสกปรก
            [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา
เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ
ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
---------------------------
             3. การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง ข้อ 145
เลื่อมใสอย่างใดมากที่สุด?
             เลื่อมใสอนิจจสัญญาค่ะ เพราะมีอานิสงส์มากที่สุด
             เวลามสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=8336&Z=8416

             ข้อ ๒. ๓ เรียนถามคุณฐานาฐานะด้วยค่ะ

ความคิดเห็นที่ 5-49
ฐานาฐานะ, 30 กรกฎาคม เวลา 01:27 น.

GravityOfLove, 2 นาทีที่แล้ว
              ตอบคำถามในมหาราหุโลวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=2541&Z=2681
1:05 AM 7/30/2013

              ตอบคำถามได้ดีครับ
              2. ในหมวดภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ ข้อ 140-144
เลื่อมใสข้อใดมากที่สุด?
              เลื่อมใสเหมือนๆ กันทั้ง ๕ ข้อเลยค่ะ เลือกอากาศค่ะ
              เพราะไม่ต้องเจอสิ่งสกปรก

              หมวดภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ อานิสงส์ก็เพื่อว่า
เมื่อผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
              แต่ก็ยังมีคำว่า เพราะไม่ต้องเจอสิ่งสกปรก อยู่อีก.

              ในหมวดภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕ นี้ ผมเลื่อมใสข้อ 1
คือเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเหตุว่า
              นึกถึงสภาพของแผ่นดินได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย.

              3. การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง ข้อ 145
เลื่อมใสอย่างใดมากที่สุด?
              เลื่อมใสอนิจจสัญญาค่ะ เพราะมีอานิสงส์มากที่สุด
              เวลามสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=8336&Z=8416

              ผมเสื่อมใสอานิสงส์ของอนิจจสัญญา เพราะทำให้ถึงความหลุดพ้น
ได้ในที่สุด และในระหว่างที่ยังไม่หลุดพ้น ก็ไม่แนบแน่นกับอกุศลธรรม
              กล่าวคือ เมื่อเห็นหรือสำคัญว่า สิ่งอันปัจจัยปรุงแต่ง ก็ต้องแปรปรวนไป
จะทุ่มเททำบาปกรรม เพื่อครอบครองไปทำไม เป็นอันไม่แนบแน่นต่อการแสวงอันไม่ควร
              เมื่อได้มา ก็ไม่ยึดติดว่า นี้ของเราแน่แท้ เพราะต้องเสื่อมไป แปรปรวนไป
ตามสภาพ กล่าวคือ เมื่อครอบครองอยู่ ก็ไม่ยึดมั่นมัวเมา นี้ของเราแน่แท้
              เมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมไปตามสภาพ ก็ไม่เสียใจมากนัก เพราะสำคัญอยู่ว่า
ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นธรรมดา.

ความคิดเห็นที่ 5-50
ฐานาฐานะ, 30 กรกฎาคม เวลา 01:47 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า มหาราหุโลวาทสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=2541&Z=2681

              พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬมาลุงโกยวาทสูตร [พระสูตรที่ 13].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
              จูฬมาลุงโกยวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=2682&Z=2813
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=147

              มหามาลุงโกฺยวาทสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=2814&Z=2961
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=153

              ภัททาลิสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=2962&Z=3252
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=160

ย้ายไปที่



Create Date : 11 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 10:34:14 น.
Counter : 451 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
11 ธันวาคม 2556
All Blog