Group Blog
ธันวาคม 2554

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
22
23
24
25
26
27
28
30
31
 
The Diving Bell and the Butterfly หนังสือที่บอกโลกว่า ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ คือ ชีวิตที่ยังมีความรัก คือ
บทแรกในหนังสือเสริมกำลังใจ "ความฝันโง่ ๆ" ของวินทร์ เลียววาริณ ... สร้างความประทับใจให้ผมไม่น้อย กับเรื่องราวที่ผมได้ยินจากรุ่นพี่ที่ทำงานเก่าเกี่ยวกับหนังสือ "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ" ที่ผู้เขียนใช้การกะพริบตาเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เขาคือ ฌอง-โดมินิค โบบี

วินทร์ เลียววาริณ ได้เล่าไว้ในบทแรกที่ชื่อ "ชีวิตที่ดี" ไว้ดังนี้



วันหนึ่งในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1995 ฌอง-โดมินิค โบบี ลองขับรถคันใหม่กับลูกชาย ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกว่า ร่างกายของตนเองไม่ตอบสนองต่อความคิด ประสาทสัมผัสของเขาคล้ายถูกลบหายไปเหมือนเส้นดินสอที่ถูกยางลบปาดผ่าน โบบีพบตัวเองบนเตียงที่ระเกะระกะด้วยเครื่องช่วยชีวิต ท่ออากาศ และสายยาง อาการสโตรคของเขาเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่พบน้อยมาก คือ Lock-In Syndrome โรคที่ไม่มีทางรักษา

ในชั่วพริบตา เขาก็กลายเป็นอัมพาตไปโดยสิ้นเชิง ช่วยตัวเเองไม่ได้ เป็นฝันร้ายในโลกจริง

โบบีอายุ 43 พ่อของลูกเล็กสองคน เป็นบรรณาธิการนิตยสารที่มีชื่อเสียงฉบับหนึ่ง เขารักการกินอาหารอร่อย แต่บัดนี้เขาต้องรับอาหารผ่ายสายยาง ชอบสนทนากับคนที่รัก แต่ตอนนี้เขาฟังโทรศัพท์จากคนรัก โดยไม่สามารถตอบกลับได้

ใจรับรู้ ความคิดยังทำงาน แต่สมองไม่อาจสั่งการร่างกายได้ เขาสามารถทำได้เพียงขยับตาข้างซ้ายและกะพริบตาเท่านั้น

แต่เพียงการกะพริบตาก็ถือว่าเป็นของมีค่าอย่างเดียวที่เหลืออยู่

ในสถานการณ์ที่หากเกิดขึ้นกับใครก็ตาม น้อยคนคงอยากมีชีวิตต่อไป โบบีเริ่มกะพริบตา และกระทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เขาเขียนหนังสือ !



เขาเขียนหนังสือโดยการกะพริบตาสื่อสารกับคนอื่น และถ่ายทอดลงบนกระดาษ แต่ละครั้งที่กะพริบตาเป็นรหัสสำหรับแต่ละอักษร ใช้แต่ละอักษรเรียงร้อยเป็นคำ และต่อเนื่องเป็นวลี ประโยค ข้อความ และหนังสือหนึ่งเล่ม

โบบีไม่เคยเอ่ยถึงความท้อแท้สิ้นหวัง หรือสงสารตัวเอง เขาเขียนอย่างสง่างาม อย่างมนุษย์ที่ไม่ก้มหัวให้ชะตากรรม สูญสิ้นแต่ไม่สิ้นหวัง มีอารมณ์ขันแม้ในห้วงยามที่แย่ที่สุด แม้รับอาหารผ่านสายยาง แต่เขาก็ยังเล่าถึงความสุขของการปรุงอาหาร การกินอาหารในภัตตาคาร กลิ่นหอมของเฟรนช์ฟรายส์ที่ชายหาด และวันพ่อในปีนั้น

ในวันพ่อปีนั้น ครอบครัวของโบบีพาเขาไปที่ชายหาด ลูกชายช่วยเช็ดน้ำลายที่ไหลออกมาจากปากของพ่อด้วยกระดาษทิชชู ลูกสาวคนเล็กจูบเขาและเอ่ยว่า "พ่อเป็นพ่อของหนูน่ะ" เขามองลูกเล่นขณะที่ภรรยากุมมือของเขา ความคิดของเขาลอยล่องออกไปไกลแสนไกล

โบบีเขียนหน้าหนึ่งของหนังสือว่า แต่ก่อนเขาไม่เคยสนใจวันพ่อที่คนเราประดิษฐ์ขึ้นมานี้เลย แต่วันที่เขาอยู่กับครอบครัววันนั้น เขานึกในใจว่า ถึงเขาจะพิการ แต่ก็ยังเป็นพ่อของลูก

เขาตั้งชื่อหนังสือว่า The Diving Bell and the Butterfly หนังสือที่บอกโลกว่า ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ คือ ชีวิตที่ยังมีความรัก คือ ชีวิตที่เป็นชีวิต






Create Date : 19 ธันวาคม 2554
Last Update : 19 ธันวาคม 2554 17:24:50 น.
Counter : 719 Pageviews.

1 comments
  
การท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้ไม่สามารถพูด
ไม่อาจเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ทว่า สามารถเขียนหนังสือได้สำเร็จ

เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ วงการหนังสือในฝรั่งเศส และทั่วยุโรปต่างพากันกล่าวขานถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนมิได้เขียนด้วยวิธีปกติธรรมดา เช่นนักเขียนทั้งหลาย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นหนังสือเล่มแรกและเพียงเล่มเดียวในโลกขณะนี้ที่เขียนโดยวิธีเลิกเปลือกตาซ้าย
ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้เป็นอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ELLE แห่งฝรั่งเศส เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตกกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว อวัยวะทุกส่วนไม่สามารถเคลื่อนไหว นอกจากตาข้างซ้ายและสมองที่เป็นปกติ แต่ในเมื่อเขาไม่สามารถพูด ยกมือหรือแม้แต่นิ้วสักข้าง เขาจะเขียนหนังสือได้อย่างไร---นี้คือเหตุผลประการแรกที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจ แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือ ผู้ฅนทั้งหลายอยากรู้ว่าหนังสือที่เขาเขียนจะดีแค่ไหน
การเขียนหนังสือด้วยวิธีพิเศษนี้ ต้องอาศัยฅนช่วยเหลือขานอักษรทีละตัวเพื่อให้ผู้เขียนเลือก เลือกทีละตัว ทีละตัว ประสมกันเข้าเป็นคำ จากคำก็เป็นประโยค ทีละประโยค ทีละหน้า จนได้หนึ่งตอนรวมกันเป็นเล่ม---ผู้ช่วยเหลือต้องขานตัวอักษรนับล้านครั้ง และผู้เขียนก็ต้องเลิกเปลือกตาซ้ายนับแสนหน จึงจะได้หนังสือเล่มนี้ แต่ที่หนักหนาสาหัสสำหรับผู้เขียน ซึ่งพูดไม่ได้ กระดิกไม่ได้ก็คือ เขาต้องคิดทุกสิ่งทุกอย่างให้พร้อมอยู่ในสมอง เพื่อรอว่าจะเลือกอักษรตัวไหนสำหรับแต่ละคำ ถ้าเขาเกิดลืมก็เป็นอันว่าต้องเสียเวลา หรือเขียนต่อไปไม่ได้
ความยากลำบาก ทุลักทุเล ความทุกข์ทรมานและอึดอัดใจ เป็นเจ้าเหนือหัวของฅนทั้งสองเนิ่นนานกว่าสองเดือน แล้วหลังจากนั้นหนังสือเล่มนี้ ก็สำเร็จเรียบร้อยอย่างน่าภูมิใจ
นับเป็นการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้ไม่สามารถพูด ไม่อาจเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ทว่าสามารถเขียนหนังสือได้สำเร็จ และเป็นหนังสือที่ดี
สำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้อย่างประณีต พิถีพิถัน เริ่มตั้งแต่การทำงานของผู้แปล ซึ่งเดินทางไปยังสถานที่เกือบทุกแห่งดังปรากฏในหนังสือ พบปะสอบถามผู้เกี่ยวข้อง เขียนบทความเผยแพร่ เปิดการแถลงข่าว รวมทั้งบรรยายตอบข้อสงสัยต่างๆ แก่สื่อมวลชน เพื่อให้เรื่องราวต่างๆ ในหนังสือนี้เป็นที่กระจ่าง---หนังสือเล่มแรกในโลกที่เขียนด้วย 'ดวงตา'

* * *

“ความสุขคือผีเสื้อ
ที่บินต่ำอยู่เหนือพื้นดิน
แต่ความเศร้าคือนก
มีปีกสีดำแข็งแรง
ปีกนกยกเธอขึ้นสูงเหนือชีวิต
ลอยล่องใต้แสงแดดและแมกไม้
นกแห่งความเศร้าบินสูง
ไปยังที่ที่นางฟ้าแห่งความทุกข์เฝ้ามอง
ดูรังของความตาย”

(Edith Sodergran)

..................

ผีเสื้อความคิดโบกบินหรรษาอยู่เหนือร่างอัมพาตของชายช่างจินตนาการ เขาเห็นผีเสื้อตัวนั้นผ่านดวงตา อันเป็นอวัยวะเพียงอย่างเดียวที่ยังขยับและรับได้ ทว่าผีเสื้อบินเล่นอยู่ไม่นาน ด้วยว่าความตายนั้นเก่าแก่คงทนกว่า และสูงส่งกว่าที่ความคิดผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งจะมองเห็น ไม่ต่างจากที่ผีเสื้อเจ้าสำราญไม่สามารถบินสูงกว่านกแห่งความเศร้าซึ่งเป็นสาวกของความตาย ความเศร้าโบกบินไปถึงความหลับนิรันดร ทว่าผีเสื้อบินเรื่อยเปื่อยจากดอกไม้สู่ดอกไม้ เสพความงดงามของโลกอย่างลืมสนใจวันพรุ่ง และแล้วจึงอิ่มเอม
ตราบใดที่ความตายยังไม่มาถึง ความคิดฝันย่อมมีสิทธิ์เต็มที่กับการเบิกบานในโลกและเวลาที่เหลือ เวลาใกล้ตายและวันตายจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” (The Diving Bell and The Butterfly) เป็นสมุดบันทึกที่ไม่ใช้มือเขียนของอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Elle ในวันสูงส่งของชีวิตนั้นเขาได้กลับกลายเป็นคนกึ่งตาย จึงจำต้องละทิ้งโลกทั้งใบไว้เบื้องหลังเพื่อนอนชมในโรงพยาบาลอยู่ปีกว่า ก่อนความตายจะกลืนกินเขาทั้งตัว
ฌ็อง-โดมินิก โบบี้ (Jean-Dominique Bauby, ๑๙๕๒-๑๙๙๗) บรรณาธิการผู้ใช้ชีวิตหรูหราเหมือนรสนิยมนำสมัยของนิตยสารที่เขาทำงานอยู่ ได้บอกเล่าเรื่องราวของผีเสื้อแห่งความคิดของเขา นางงามปีกบางตัวนี้บินวนอยู่เหนือร่างกายอัมพาตที่เจ็บปวดและหนักอึ้ง เหมือนมีชุดประดาน้ำสวมทับอยู่ตลอดเวลา แต่โบบี้ยังขยับดวงตาได้ข้างหนึ่ง เขาให้ผู้ช่วยชี้ตัวอักษรบนกระดานทีละตัว แล้วเขากะพริบเปลือกตาเพื่อเลือกตัวอักษรให้ผู้ช่วยบันทึกลงกระดาษ ด้วยวิธีนี้เอง “นักประดาน้ำและผีเสื้อ” จึงสำเร็จเป็นรูปเล่มภายหลังเขาลาโลกแล้ว ๓ วัน
โรคอัมพาตทั้งตัวหรือโรคชุดประดาน้ำนี้เป็นโรคสมัยใหม่อย่างแท้จริง แต่ก่อนคนที่เป็นโรคนี้จะได้ตายอย่างเรียบง่ายธรรมดา แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ทำให้การลงโทษนี้ซับซ้อนขึ้นตามปากคำของโบบี้ คนไข้กลายเป็นนักโทษในร่างของตนเอง และมีเวลาอีกมากพอสมควรก่อนจะต้องตายลงจริงๆ โรคนี้ที่ทำให้เหมือนถูกพันธนาการอยู่ภายในจึงได้ชื่อว่า Locked-in Syndrome
โบบี้เป็นชาวปารีส เขาทำงานหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่วัยรุ่น จากนั้นจึงก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Elle เมื่อวัยย่างสี่สิบ โบบี้ภูมิใจและพอใจในเก้าอี้ประจำตำแหน่งมาแล้ว ๕ ปี และเขาคงจะย้อมสีโลกได้บาดตาบาดใจด้วยรสนิยมกว้างไกลต่อไป ถ้าไม่มีวันนั้นที่เส้นโลหิตในสมองของเขาแตกกะทันหัน หลายอาทิตย์ต่อมาเขาก็ฟื้นคืนสติ และได้มองกระจกเพื่อจะเห็นใบหน้าผิดรูปของคนป่วยที่เขาแทบจำไม่ได้ว่าเป็นใบหน้าของตัวเอง แต่โลกทั้งโลกยังคงเดิม ผู้คนของมหานครปารีสยังเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงเพื่อเร่งสร้างสรรค์อนาคต โบบี้ถูกโลกทั้งโลกทอดทิ้งเสียแล้ว และเขายังไม่ทันได้บอกลาโลกเก่า โลกใหม่ของเขาที่ไม่ใช่โลกหน้ากำลังอวดตัวอยู่ที่ระดับสายตา โลกที่ว่านั้นคือ โลกของนักประดาน้ำและมหาสมุทร
โลกสะท้อนเงาเป็นภาพกลับหัวบนผิวน้ำ ในหมู่ปะการังเต็มไปด้วยสีสันแปลกๆ และสิ่งมีชีวิตรูปร่างมีเอกลักษณ์ โลกสีฟ้าแกว่งไกวช้าๆ โดยมีแสงเบื้องบนส่องผ่านแสงสีขาวหักเหกับคลื่นน้ำดูเหมือนภาพลวงตา และม่านไอแดดกลางทะเลทราย บางคราวจินตนาการของโบบี้ไหวพร่าด้วยอาการกึ่งหลับกึ่งตื่นและหมดสติ
สมุดบันทึกของโบบี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่จะเปิดมุมมองใหม่แก่คนผู้มีร่างกายครบสามสิบสอง แต่กลับมองวันเวลาของชีวิตเป็นเรื่องซ้ำซาก ราวกับปรารถนาให้ชะตากรรมสุดสิ้นลง โบบี้เล่าถึงคืนวันเก่า ญาติมิตร ความคิด และความฝัน เขาเล่าถึงเพลงประจำตัว สถานที่ที่เคยเที่ยวไป อาหารที่ชอบ และรสนิยมหลายประการที่ไม่สามารถครอบครองได้อีกแล้ว รสนิยมของโบบี้ได้สะท้อนสาเหตุที่ แอล กลายเป็นนิตยสารนำพายุแฟชั่นได้อย่างสง่าผ่าเผย
โบบี้เล่าเรื่องกิจวัตรในโรงพยาบาลมากที่สุด เขาวิจารณ์สภาพโรงพยาบาลและภาพรวมของมนุษย์ที่สรุปเอาเอง เขาบอกเล่าผ่านเรื่องตลก เสียดสี และบางเรื่องโกหก เขาตีแผ่สภาพคนป่วยที่ถูกทอดทิ้ง และความไร้มนุษยธรรม เล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม เพียงแค่พยาบาลลืมพลิกตัวโบบี้ตามเวลาก็เป็นปัญหาใหญ่กับร่างกายของเขาแล้ว ส่วนการแกล้งไม่สนใจ เวลาคนไข้ขอให้ช่วยเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับกลุ่มมนุษย์ผู้พิการอยู่เดียวดายเหล่านี้เช่นกัน
หนังสือเล่มสุดท้ายที่เป็นเหมือนพินัยกรรมของโบบี้นี้จึงกลายเป็นปากเสียงแทนชาวแอลไอเอสอื่นๆ พวกเขาไม่เคยพูดมาก่อน และบัดนี้ก็หาได้มีโอกาสพูดมากกว่าเดิม “ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ” ของโบบี้ เป็นเพียงพลุดอกแรกๆ ที่เรือจวนอับปางจุดขึ้นตะโกนขอความช่วยเหลือ
ในระหว่างป่วยนี้เองที่โบบี้ได้ตั้งสมาคมผู้เป็นอัมพาตทั้งตัวเพื่อยกสถานะและศักดิ์ศรีของพวกเขา
แม้โบบี้ได้พูดเพื่อตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมอัมพาตเหมือนเขา ทว่าเหนืออื่นใด คนอ่านได้พบว่าเขาให้กำลังใจคนมีชีวิตอยู่ โบบี้ไม่สบถด่า และไม่เคยเวทนาตัวเอง เห็นได้จากครั้งหนึ่งที่เขาเล่าถึงคนทำงานในนิตยสารแอลว่า

“เพื่อนร่วมงานสาวสวยที่รักทั้งหลายของผม ทูตสาวผู้ลึกซึ้งและเข้าถึงรสนิยมฝรั่งเศส ตลอดทั้งวันในห้องรับรองของโรงแรมแห่งหนึ่ง พวกคุณปั่นคำตอบในภาษาจีน อังกฤษ ไทย โปรตุเกส เชก เพื่อตอบคำถามอันเป็นอภิปรัชญายิ่งกว่า สาวแอลคือใคร ตอนนี้ผมนึกภาพพวกคุณกระจัดกระจายอยู่ตามถนนสายต่างๆ ที่สะพรึบพรั่งด้วยไฟนีออนในฮ่องกง ขายทั้งโน้ตบุ๊กและชามก๋วยเตี๋ยว พวกคุณเดินต้อยๆ ตามหลังหูกระต่ายของท่านประธานกรรมการบริหาร ซึ่งนำทุกคนสู่สนามรบด้วยท่าทางคึกคักขึงขังกึ่งสปีรู่ (การ์ตูนตลกตัวหนึ่ง-ผู้เขียน) กึ่งโบนาปาร์ต เขาจะหยุดเฉพาะเบื้องหน้าตึกระฟ้าสูงสุด มองดูอย่างท้าทายด้วยทีท่ากล้าหาญราวกับจะกลืนกินเสียทั้งหลังกระนั้นแหละ” (แปลโดยวัลยา วิวัฒน์ศร)

ผีเสื้อของฌ็อง-โดมินิก โบบี้ ได้ใช้ชีวิตสุนทรีย์ที่แสนสั้นอย่างคุ้มค่า ท่ามกลางความรักของคนรอบข้างและคนอ่านมหาศาลที่เขียนมาให้กำลังใจไม่เว้นว่าง
ชุดประดาน้ำได้กำนัลของหายากเป็นโลกใต้น้ำทั้งใบให้บรรณาธิการคนนี้ เขาได้เห็นสีสันที่ต่างจากแผ่นดิน ได้สัมผัสอาณาจักรเบื้องต่ำใต้ที่มนุษย์ไม่สำคัญกว่าปลาตัวไหน บางครั้งถูกลืม หรือบางครั้งเรียกความสนใจได้มากกว่าใคร รวมทั้งเห็นความรักที่ครอบครัวมอบให้ได้ชัดเจนที่สุด ในเวลาที่ไม่เหลือใครอื่น โบบี้เห็นอดีตจรัสกว่าครั้งใด อดีตดูจะเป็นสมบัติมีค่าชิ้นแรกของเขา ขณะที่ความรักที่ลูกๆ มอบให้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย
แล้วนักประดาน้ำดำผุดดำว่ายสู่ท้องน้ำที่ลึกลงไปอีก ทะเลเริ่มมืดและเยือกเย็น ร่างอัมพาตอาจทำให้เห็นโลกแวดล้อมในมุมมองใหม่ๆ ก็จริง ทว่าสภาวะนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากลัวและเป็นปริศนาเกินกว่าจะคิดเล่นๆ ได้อยู่นั่นเอง

“ซิบกระเป๋าใบน้อยเปิดอยู่ ผมมองเห็นกุญแจห้องในโรงแรม ตั๋วรถไฟใต้ดิน และธนบัตรใบละร้องฟรังก์พับสี่หนึ่งใบคล้ายวัตถุที่ส่งมายังโลกมนุษย์ผ่านท่ออวกาศเพื่อสำรวจลักษณะที่อยู่อาศัย การขนส่งประเภทต่างๆ และการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างมนุษย์โลกด้วยกัน
ภาพที่เห็นทำให้ผมจนถ้อยคำ ได้แต่ครุ่นคิด ในจักรวาลนี้มีกุญแจสำหรับไขชุดประดาน้ำของผมไหมหนอ มีรถไฟใต้ดินสักสายซึ่งปราศจากสถานีปลายทางหรือไม่ มีเงินตราค่าสูงพอจะซื้อเสรีภาพของผมคืนมาบ้างไหม คงต้องไปแสวงหาที่อื่น ผมไปเดี๋ยวนี้แหละ”

เมื่อผีเสื้อหมดอายุขัย แผ่นดินก็สร้างผีเสื้อตัวใหม่ แม้ผีเสื้อสวยงาม ทว่าไม่มีใครในหมู่พวกเราจำผีเสื้อที่เคยเห็นเฉพาะตัวใดตัวหนึ่งได้ เรามีเพียงแบบของผีเสื้อในใจ จึงอาลัยเพียงเล็กน้อยกับผีเสื้อที่ปีกขาดอยู่แทบเท้า เพราะผีเสื้อแห่งแบบยังอยู่ในใจของเรา และเรารู้ว่ามันจะไม่จากไปไหน เช่นเดียวกับที่รู้ว่าโลกจะสร้างผีเสื้อขึ้นมาใหม่ไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์มีความคิดใหม่และเรื่องเล่าใหม่ๆ เสมอ
แล้วมนุษย์ต่างกับผีเสื้อที่ตรงไหน พระเจ้าพูดไว้ว่า
“...มนุษย์นั้น วันเวลาของเขาเหมือนหญ้า เขาเจริญขึ้นเหมือนดอกไม้ในทุ่งนา เพราะลมพัดผ่านมันไป มันก็สูญเสีย และสถานที่ของมันไม่รู้จักมันอีก แต่ความรักมั่นคงของพระเจ้านั้นดำรงอยู่ตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล”

จาก : นิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (โลกวรรณกรรม)
ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๑๕ วันศุกร์ที่ ๗-วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔


โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 19 ธันวาคม 2554 เวลา:17:30:23 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ใบไม้เบาหวิว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Friends Blog
[Add ใบไม้เบาหวิว's blog to your weblog]