Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
28 มกราคม 2553
 
All Blogs
 

"บ้านข้าวปั้น" ในความแปลกตา มีความคิด

หลังจากเดินลัดเลาะผ่านหมู่แมกไม้ อ้อมตัวบ้านหลังใหญ่ในย่านวงแหวนกาญจนาภิเษกเข้าไป
ภาพแรกที่ปรากฏต่อสายตาของเราคือ อาคารรูปกล่องสี่เหลี่ยมสองหลัง หลังหนึ่งสีเหลืองมะนาว
ส่วนอีกหลังหนึ่งสีแสด ทั้งสองหลังเชื่อมต่อกันด้วย "ชาน"
ด้านบนมีโครงเหล็กถักรูปทรงแปลกตา ขึงผืนผ้าใบสีขาวคลุมอยู่เหนือหลังคาด้าน บนอีกทีหนึ่ง

หลังจากชมภายนอกของตัวบ้านด้วยความพิศวงอยู่สักพัก เราก็เดินขึ้นไปบนทางเดินแผ่นไม้สนที่ปูลาดเอียง
นำขึ้นไปสู่ระเบียง ด้านหน้าห้องรับประทานอาหารของบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนต้อนรับแขกแบบเอ๊าต์ดอร์
เพียงเท่านี้เราก็สัมผัสได้ถึงรูปแบบของบ้านไทย ที่แฝงอยู่ในเนื้อหาและจิตวิญญาณของบ้านหลังนี้แล้ว

แต่ไม่ใช่มีประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น เพราะรูปทรง สีสัน การใช้ที่ว่าง
รวมถึงวัสดุและภาพลักษณ์ของตัวบ้านบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า
ยังมีผลผลิตทางความคิดอีกหลายอย่างที่รอให้เราค้นหาคำตอบ




ในที่สุดความสงสัยของเราก็ได้รับการคลี่คลาย เมื่อเราได้พบเจ้าของบ้าน สามีภรรยาท่าทางอารมณ์ดี
ที่เป็นสถาปนิกด้วยกันทั้งคู่ อาจารย์ กวง -ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิจชัย จิตขจรวานิช
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
และคุณฝน-ดวงพร จิตขจรวานิช แน่นอนว่าทั้งสองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ความคิดในการสร้างบ้านหลังนี้

" เราเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านข้าวปั้น ตามชื่อลูก แรกเริ่มเลยคิดว่าจะเอาตู้รถไฟ 2 ตู้มาวางเหลื่อมกัน
แล้วทำระเบียงเชื่อมตรงกลาง แต่ปีนั้นการรถไฟได้ถวายตู้ แด่สมเด็จพระราชินีเพื่อนำไปทำโครงการอนุรักษ์
ระบบนิเวศน์ใต้ทะเล ให้เป็นที่อยู่ของปะการัง เราก็เลยอด ต้องหาอะไรแทน
เลยย้อนกลับไปคิดถึงตู้คอนเทนเนอร์ เราไม่สามารถยกตู้รถไฟขึ้นเพื่อใช้พื้นที่ข้างล่าง
แต่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถวางยกพื้นเพื่อใช้พื้นที่ข้างล่างได้ บวกกับตอนที่เราไปทำงานวิจัย
ได้เห็นบ้านไทยที่มีใต้ถุนสูง สามารถใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมต่างๆได้ดี
นอกจากนี้ยังนำภูมิปัญญาในบ้านไทยอย่างชานบ้านมาประยุกต์ใช้ด้วย "




บ้านหลังนี้จึงเป็นการผสมผสานทางความคิดระหว่าง เรื่องแฟนตาซีสำหรับลูกกับการ ผนวกลักษณะพื้นถิ่น
และพฤติกรรมการอยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน สำหรับพื้นที่ใช้สอยแบ่งออกเป็นสองหลัง
หลังแรก(บ้านสีเหลืองมะนาว)เป็นพื้นที่รับประทานอาหารและส่วนครัวที่เปิดโล่งเชื่อมถึงกัน
มีการเจาะช่องเปิดรอบตัวบ้านให้ลมพัดผ่านได้ตลอด

สำหรับหลังที่สอง(บ้านสีแสด)เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักผ่อนในตอนกลางคืน ประกอบด้วยส่วนนอน
ส่วนชมโทรทัศน์ ส่วนอ่านหนังสือและสอนการบ้านลูก ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้สมาชิกในบ้านชอบที่จะนั่งหรือนอนกับพื้น
และใช้พื้นที่แบบ "ไม่ตายตัว " ดังนั้นจึงใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายหรือพับเก็บได้
พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลต่อการออกแบบหน้าต่างให้เป็นแบบบานกระทุ้งยาว
เวลานั่งพื้นจะอยู่ในระดับที่รับลมพอดี




ระหว่างบ้านทั้งสองหลังมี " ชาน " เปิดโล่งแบบไทยเชื่อมอยู่ตรงกลาง
โดยออกแบบขั้นบันไดให้มีระดับการก้าวขึ้นลงพอดี กับการนั่งในกรณีที่ใช้เป็น พื้นที่อเนกประสงค์
เราไม่แปลกใจเลยที่ตลอดการนั่งสนทนา ณ ที่นี้จะมีลมพัดผ่านให้รู้สึกสบายตัวและเพลิดเพลิน

ถึงแม้ความกว้าง ของบ้านจะมีขนาด 3 เมตร
( เป็นระยะที่ลงตัวสำหรับมาตรฐานโครงสร้างเหล็กที่ใช้ในบ้านหลังนี้ ) ฟังแล้วดูเหมือนว่าจะแคบ
แต่ด้วยการออกแบบที่ใช้หลัก "ไม่ตายตัว" ทำให้รู้สึกว่าไม่คับแคบหรืออึดอัด
ทั้งยังรองรับการใช้งานที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกันได้ดีอีกด้วย

"ในส่วนการทำงาน ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิกทั้งคู่ ผมจะออกแบบแปลน วางพื้นที่ใช้สอยต่างๆ
ส่วนฝนจะเป็นสไตลิสต์ กำหนดเรื่องสี การออกแบบหลังคาและรูปทรง รวมทั้งเรื่องวัสดุ
จะให้บ้านเป็นแบบไหนเพื่อให้คนจำได้ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้เบื้องต้น "

ภาพ ลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในบ้านที่ปรากฏให้เห็น
ดูเป็นงานที่รู้ได้ทันทีว่าจงใจ "เล่น" กับการออกแบบอย่างสนุกสนาน
ขณะเดียวกันก็ยังคงสาระสำคัญของความเป็นบ้านที่ต้องอยู่สบาย
ตอบสนองความต้องการของเจ้าของได้อย่างลงตัว และทำให้เราคิดว่า
บางครั้งการทำบ้านลักษณะกึ่งทดลองเช่นนี้ อาจไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลมาอธิบาย การออกแบบเสมอไป

" ปัจจุบันเราย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่แล้ว ในอนาคตถ้าข้าวปั้นโตขึ้น
อาจต่อเติมพื้นที่ใต้ถุนบ้านสีแสดให้เขาอยู่เป็นส่วนตัว ส่วนใต้ถุนหลังนี้ (บ้านสีเหลืองมะนาว) จะทำเป็นออฟฟิศ
แต่ต้องรอมีงบอีกหน่อยครับ " อาจารย์กวงพูดปิดท้ายด้วยรอยยิ้ม




เรื่อง : "ศุภอริญ"
สไตลิสต์ : ฤดี ศราวุฒิไพบูลย์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ,ปิยะวุฒิ ศรีสกุล
เจ้าของ-ออกแบบ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิจชัย - คุณดวงพร จิตขจรวานิช
ที่มา : //www.baanlaesuan.com


สารบัญค้น เรื่อง แต่งบ้าน จัดสวน ที่มีในบล็อกค่ะ
คลิกที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 28 มกราคม 2553
0 comments
Last Update : 28 มกราคม 2553 14:59:26 น.
Counter : 1810 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.