Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
30 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
เตรียมบ้านรับฤดูฝน

ฤดูฝนในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในเขตมรสุม มีระยะเวลายาวนานกว่าฤดูกาลอื่นๆ คือ
กินเวลาถึง5 เดือน (ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนตุลาคม) สภาพอากาศโดยทั่วไปมีฝนตกชุก
บางครั้งมีลมพายุแรง ซึ่งอาจทำให้น้ำฝนไหลย้อนเข้าใต้กระเบื้อง เป็นสาเหตุให้ฝนรั่วเข้าสู่ภายในบ้าน
รวมทั้งอาจเกิดน้ำท่วมขังได้หาก การระบายน้ำไม่ดีพอ

ดังนั้น การเตรียมบ้านเพื่อรับมือกับฤดูฝน ย่อมทำให้มั่นใจในความแข็งแรงและปลอดภัยของบ้านว่า
จะสามารถผ่านพ้นฤดูฝนไปได้ด้วยดี ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นควรทำในช่วงฤดูหนาวและ ฤดูร้อนให้เสร็จเรียบร้อย
เนื่องจากฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่งานก่อสร้างซ่อมแซมทำได้ไม่สะดวก เพราะฝนตกบ่อยๆ

การดูแลบ้านช่วงฤดูฝน จึงไม่มีงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของช่างมาก
เพียงแต่สังเกตดูร่องรอยต่างๆ ที่ลมฝนมากระทำกับบ้าน และควรรอไว้แก้ไขในฤดูถัดไป
เพื่อความสะดวกในการทำงานก่อสร้าง ยกเว้นกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินซึ่งไม่สามารถรอซ่อมได้ เช่น ท่อน้ำรั่ว
กระเบื้องมุงหลังคาแตก ซึ่งทำให้น้ำฝนหยดทะลุฝ้าเพดานลงมาในห้อง เป็นต้น


สำหรับกิจกรรมที่คนรักบ้านควรดูแลในช่วงฤดูฝน ได้แก่

เวลาที่ฝนตกหนักๆ แล้วมีน้ำรั่วไหลลงมา ให้สังเกตดูพฤติกรรมของน้ำฝนว่าไหลไปทิศทางใด
ทำความเสียหายให้กับส่วนใดของบ้านบ้าง โดยเฉพาะตามรอยต่อที่ผนัง ควรบันทึกข้อมูลโดยละเอียด
และถ้าเกิดน้ำรั่วซึมที่ผนังหรือฝ้า ให้ตรวจหาสาเหตุและแก้ไขตามโอกาสและเวลาที่เหมาะสม

ดูแลอย่าให้รางน้ำฝนอุดตัน เพราะจะทำให้น้ำไหลย้อนเข้าภายในบ้าน
และดูแลอย่าให้มีเศษวัสดุกิ่งไม้ปลิวมากระทบหลังคาบ้าน

หลังฝนตกควรทำความสะอาดพื้นผิวรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เศษขยะไปทับถมในท่อระบายน้ำ

ตักขยะเศษใบไม้เศษดินโคลนออกจากบ่อดักขยะ เพื่อให้ท่อระบายน้ำไม่อุดตัน

แต่งบ้าน,ซ่อมแซมบ้าน,ฤดูฝน

สิ่งที่ต้องทำ ในช่วงฤดูฝน

สังเกตพฤติกรรมของน้ำฝนที่กระทำกับบ้าน
หากตรวจพบร่องรอยน้ำฝนรั่วซึม ให้จดบันทึกไว้

เรียกช่างเข้ามาตรวจหาสาเหตุ หากพบรอยด่างน้ำฝนในตัวบ้าน
รีบจัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนในช่วงฤดูฝน
และรอให้หมดฤดูฝน แล้วค่อยทำการซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อย

เก็บกวาดเศษใบไม้แห้งรอบบ้านที่มักจะร่วงหล่นมามากในฤดูร้อน
เพื่อไม่ให้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ

ตัดริดกิ่งต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวบ้านให้สั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งไม้โดนตัวบ้านเวลามีลมพายุแรงๆ
และเพื่อไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานใช้เป็นทางเดินเข้าสู่ภายในบ้าน

จัดเก็บพวกเฟอร์นิเจอร์ที่นำออกมาใช้นั่งเล่นที่ระเบียง
หรือเฉลียงในช่วงฤดูร้อนเข้าไปเก็บในบ้านหรือใต้หลังคาเพื่อไม่ให้โดนฝน

ภาชนะจำพวกถังน้ำที่วางอยู่นอกตัวบ้าน
ควรจับวางคว่ำไว้ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

หมั่นทำความสะอาดรางน้ำฝน อย่าปล่อยให้มีเศษใบไม้หรือเศษขยะไปอุดตัน

หมั่นตักขยะพวกเศษใบไม้ เศษดินโคลนในบ่อดักขยะ และท่อระบายน้ำรอบบ้าน
เพื่อไม่ให้ท่ออุดตัน

หมั่นเก็บกวาดขยะใบไม้ที่บริเวณระเบียงหรือเฉลียง อย่าให้ไปปิดกั้นท่อระบายน้ำ
เพราะเมื่อฝนตกหนักๆ เศษขยะอุดตันจะทำให้น้ำระบายไม่ทันและทำให้เกิดน้ำท่วมเข้าภายในบ้านได้โดยไม่รู้ตัว

หลังฝนตก ควรขัดล้างพื้นรอบบ้านอย่าให้มีตะไคร่จับ หรือเป็นคราบดินโคลน
เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ลื่นหกล้มได้ง่าย



นี่คือ เวลาที่เราจะได้ตรวจสอบผิวผนังที่เราได้ซ่อมแซมไว้ในฤดูหนาวและฤดูร้อนว่า
อยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ มีน้ำฝนรั่วซึมตรงจุดใดบ้างหรือไม่

ช่วงเวลาที่เหมาะจะสังเกตพฤติกรรมของน้ำฝนก็คือ เวลาที่ฝนตกหนักๆ ซึ่งจะมีลมพายุพัดแรงทุกทิศทุกทาง
ควรจะสังเกตว่าน้ำฝนที่หลังคาไหลไปทิศทางใดบ้าง มีส่วนใดของบ้านเกิดรอยรั่วด่างเพราะน้ำฝนหรือไม่

บริเวณที่ควรสำรวจดูร่องรอยน้ำฝน

ระหว่างวงกบและผนังปูน จะมีขอบยางกันน้ำรั่วเข้ามาเวลาฝนตกแรงๆ
โดยปกติน้ำจะไม่รั่วเข้ามาภายใน รอยต่อที่ผนังปูนฉาบกับวงกบประตู-หน้าต่าง
เมื่อวัสดุต่างชนิดกันมาเชื่อมต่อกัน จึงไม่สามารถทำให้แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันได้
วัสดุจะมีการยืดหดตัวอยู่เสมอตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เมื่อฝนตกแรงๆ อาจทำให้น้ำฝนเซาะเข้าตามร่องรอยต่อระหว่างวงกบและผนัง
อีกทั้งเกิดแรงดูดของอากาศจากภายในห้องในช่วงฝนตก ทำให้น้ำฝนวิ่งเข้าสู่ช่องว่างของรอยต่อได้

การแก้ไข หากเกิดรอยรั่วซึมขึ้นที่รอยต่อ
ควรแก้ไขซ่อมแซมโดยใช้วัสดุอัดกันรั่ว หรือ ซีแลนต์ (Sealant) ฉีดอัดเข้าไปตามรอยรั่วที่เกิดขึ้น
แต่ต้องทำในขณะที่พื้นผิวแห้งเท่านั้น ดังนั้น จึงควรรอซ่อมแซมในวันที่แดดออกฟ้าใส
ซีแลนต์ มีหลายชนิด ควรเลือกชนิดที่เป็นอะครีลิคใส เพื่อให้รอยต่อกลมกลืนกับวัสดุ

แต่งบ้าน,ซ่อมแซมบ้าน,ฤดูฝน

พื้นเฉลียงและระเบียง
หลังฝนตกให้สังเกตดูว่า บริเวณพื้นเฉลียงและระเบียงมีน้ำเจิ่งนอง หรือน้ำฝนขังเป็นแอ่งหรือไม่
ถ้ามี แสดงว่าพื้นผิวมีการระบายน้ำไม่ดีพอ

การแก้ไข
ควรแก้ไขโดยการสกัดพื้น และปรับระดับให้น้ำระบายออกไปได้สะดวก
ซึ่งควรจะรอไว้ทำในฤดูหนาว หรือฤดูร้อนช่วงที่ไม่มีฝน

แต่งบ้าน,ซ่อมแซมบ้าน,ฤดูฝน

รอยด่างที่ฝ้าเพดาน ในช่วงฤดูฝน ควรหมั่นตรวจเช็คฝ้าเพดาน
หากพบรอยด่างบนฝ้าเพดาน แสดงว่ามีน้ำฝนไหลย้อน ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ
จึงควรเรียกช่างมาตรวจหาสาเหตุที่ทำให้น้ำฝนไหลย้อน และจัดการแก้ไขสาเหตุต้นตอให้เรียบร้อย
ส่วนงานซ่อมแซมเปลี่ยนฝ้าเพดานและทาสีนั้น ควรจะรอจนหมดฤดูฝนจึงค่อยลงมือซ่อมแซม
เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีรอยรั่วซึมเพิ่มจากรอยเดิม


สาเหตุและการแก้ไขรอยรั่วซึมน้ำฝน

1. เกิดจากน้ำฝนไหลย้อนเข้าตามรอยต่อ ของกระเบื้องมุงหลังคา
เนื่องจากกระเบื้องมุงหลังคามีรอยแตกร้าวเ พราะมีเศษกิ่งไม้ หรือวัสดุปลิวมาถูกหลังคา
หรือปูนยาแนวที่รอยต่อสันหลังคาและครอบหลังคาร้าว รางน้ำฝนมีเศษใบไม้และขยะไปอุดตัน
ทำให้น้ำฝนไหลออกจากหลังคาไม่ได้ จึงไหลย้อนเข้าไปสู่ฝ้าเพดานภายในและฝ้าระแนงภายนอก
เกิดเป็นรอยด่างน้ำขึ้น

การแก้ไข
ต้องให้ช่างซ่อมหลังคาขึ้นไปตรวจหาสาเหตุ หรืออาจต้องเปิดฝ้าเพดานภายในห้อง
เพื่อตรวจหาจุดที่น้ำไหลย้อนสัมพันธ์กับส่วนหลังคาตรงจุดใด เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้วก็แก้ไขเสีย เช่น
เปลี่ยนกระเบื้องที่แตกร้าว หรือซ่อมปูนยาแนวสันหลังคาและครอบข้าง (ส่วนครอบที่ต่อกับผนังบ้าน)
หรือเก็บกวาดเศษใบไม้ที่ทำให้รางน้ำอุดตัน

หลังจากแก้ไขแล้ว
ให้ทิ้งระยะรอให้ฝนตกรอบใหม่หรือรอจนสิ้นสุดฤดูฝนเพื่อจะได้ตรวจให้มั่นใจว่าไม่มีรอยรั่วซึมเพิ่มจากรอยเดิม
จึงค่อยซ่อมแซมเปลี่ยนฝ้าเพดาน และทาสีให้เรียบร้อยเมื่อหมดฝน

แต่งบ้าน,ซ่อมแซมบ้าน,ฤดูฝน

2. เกิดจากน้ำซึมเข้ามาจากรอยร้าวที่ผนัง
ตรงรอยต่อของวงกบกับผนัง ทำให้น้ำไหลซึมไปที่ฝ้าเพดาน และรอยร้าวของปูนฉาบ (ถ้ามี)

การแก้ไข
ต้องซ่อมแซมรอยร้าวที่ผนังให้เรียบร้อย อาจใช้ซีแลนต์ยาแนวตามรอยร้าว
แล้วทดสอบโดยดูจากที่ฝนตกลงมาแรงๆ แล้วไม่รั่วซึมอีก หรือรอจนสิ้นสุดฤดูฝนแล้วซ่อมแซม
จากนั้นจึงค่อยซ่อมแซมฝ้าเพดาน ควรทำการซ่อมแซมในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้ช่างทำงานได้สะดวก


3. เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากหลังคา ซึ่งเกิดได้ทุกเวลาโดยไม่เกี่ยวกับฤดูฝน
หากเกิดในเวลาประจวบเหมาะกับฤดูฝนด้วย ก็จะทำให้เราหาสาเหตุได้ยากขึ้น ได้แก่

ท่อน้ำที่ซ่อนอยู่ในช่องฝ้าเพดานเกิดรั่วซึม ทำให้น้ำหยดลงบนฝ้าเป็นรอบด่างน้ำ
ซึ่งเราจะทราบได้ โดยการเจาะเปิดฝ้าเพดานตรวจดู ถ้าพบก็ให้รีบแก้ไข

แต่งบ้าน,ซ่อมแซมบ้าน,ฤดูฝน

รอยรั่วซึมของน้ำบนฝ้าเพดาน
อาจเกิดจากหยดน้ำที่เกาะอยู่ที่ท่อแอร์ซึ่งซ่อนอยู่ภายในฝ้าเพดาน
ท่อแอร์ซึ่งทำหน้าที่ส่งความเย็นจากส่วนคอมเพรสเซอร์ที่ตั้งอยู่นอกบ้าน เข้ามาที่เครื่องปรับอากาศ
(ส่วนเป่าลมเย็น) ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในห้อง เมื่อท่อส่งความเย็นมีความเย็นมากและไอน้ำในอากาศบริเวณรอบๆ
ท่อแอร์มีปริมาณมาก และอุณหภูมิถึงจุดควบแน่น จึงทำให้เกิดหยดน้ำเกาะที่รอบๆท่อ
เมื่อปริมาณหยดน้ำเพิ่มมากขึ้นก็จะไหลลงมารวมกันที่ฝ้าเพดานเกิดเป็นรอยด่าง
สาเหตุแบบนี้ มักเกิดกับฝ้าเพดานชั้นบนที่อยู่ใต้หลังคาบ้าน เนื่องจากมีความร้อนเก็บสะสมอยู่ที่ใต้หลังคาสูงกว่า
ฝ้าเพดานชั้นล่าง ทำให้อุณหภูมิรอบท่อแตกต่างกับอุณหภูมิใต้ฝ้ามากจนเกิดการควบแน่นของไอน้ำ
ซึ่งมักจะเกิดมากในฤดูฝน เมื่ออากาศมีความชื้นสูง

การแก้ปัญหา
ควรหาทางระบายอากาศออกจากฝ้าเพดาน เช่น มีช่องระบายอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิภายในฝ้า
และเพื่อช่วยให้หยดน้ำรอบๆท่อระเหยออกไปได้ ไม่สะสมจนทำความเสียหายให้กับฝ้าเพดาน


ฝ้าชายคา ซึ่งเป็นระแนงไม้ภายนอกบ้าน อาจเกิดรอยด่างดำผุกร่อนเนื่องจากน้ำฝนไหลย้อนที่ปลายชายคา
หรือรางน้ำมีเศษขยะไปอุดตัน หรือรางน้ำชำรุดผุกร่อนตามอายุใช้งาน ทำให้ระแนงไม้เกิดความเสียหายได้

การแก้ไข
ควรแก้ไขที่สาเหตุแล้วซ่อมแซมไม้ระแนงให้เรียบร้อย โดยควรจะรอให้หมดฤดูฝนก่อน
จึงทำการซ่อมแซมเพื่อให้สะดวกสำหรับการทำงานของช่าง

ที่มา : //www.homedd.com



สารบัญค้น เรื่อง แต่งบ้าน จัดสวน ที่มีในบล็อกค่ะ
คลิกที่นี่ค่ะ




Create Date : 30 มิถุนายน 2552
Last Update : 30 มิถุนายน 2552 14:39:40 น. 0 comments
Counter : 2389 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.