พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
 
25 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
ติกะ-บินดี

ติกะ-บินดี

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



ขอความรู้เรื่องจุดสีแดงบนหน้าผากสตรีอินเดีย

Nusra

ตอบ Nusra

เกี่ยวกับจุดสีแดงบนหน้าผากผู้หญิงอินเดีย ดร.บุญรอด บุญเกิด หัวหน้าภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความรู้ว่า สัญลักษณ์ที่พิเศษของผู้หญิงอินเดียที่ชาวต่างชาติสนใจเป็นอย่างมาก คือ จุดกลางหน้าผาก โดยเฉพาะสตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้วทุกคน จะแต้มหรือติดจุดกึ่งกลางหน้าผาก ระหว่างคิ้ว จุดนี้เรียกว่า ติกะ (tika) หรือบินดี (Bindi)

โดยทั่วไปจุดใช้สีแดง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับโลหิต หมายความว่า จุดๆ นี้เป็นเสมือนขุมหรือแหล่งพลังของชีวิต และที่ต้องมีจุดๆ นี้ไว้กึ่งกลางหน้าผากก็เพราะว่ากลางหน้าผาก หรืออุณาโลม คือตาที่สาม และชาวอินเดียยังเชื่อว่าจุดกึ่งกลางหน้าผากนี้คือแหล่งขุมทรัพย์ทางด้านปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตและความจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน เป็นขุมแห่งสมาธิ ปัญญา ญาณหยั่งรู้และความรู้ ดังนั้น ตาที่สามจึงเป็นกำลังแห่งปัญญา

ติกะนี้มีความหมายกึ่งศาสนาด้วย หมายถึงกำลังปัญญาของพระศิวะ เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนาฮินดู และจะใช้ในโอกาสอันเป็นมงคลทุกๆ งาน ชาวอินเดียจะต้อนรับแขกหรือบุคคลสำคัญในพิธี กรรมต่างๆ ด้วยพวงมาลัย ช่อดอกไม้ และติกะ สตรีในศาสนาฮินดู เมื่อแต่งงานพ่อแม่จะส่งมอบลูกสาวแก่เจ้าบ่าว สามีจะให้มงคลแก่ภรรยา และเพื่อนๆ ที่อวยพรให้เพื่อนโชคดี ล้วนต้องใช้เครื่องหมายติกะเป็นสัญลักษณ์ทั้งสิ้น

การเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้ว พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาว เป็นการประกาศว่า หญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณี โดยแต้มจุดกึ่งกลางหน้าผากด้วย แป้งฝุ่นสีแดง หรือสีอื่นๆ หรือที่พระผู้ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นผู้จัดเตรียมให้

สตรีอินเดียถือว่าสามีเปรียบเสมือนเทพ จะต้องให้ความรักความเคารพอย่างสูง และจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ จะลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต หรือเลิกร้างกัน ซึ่งสตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งของศาล หากลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการกระทำที่สังคมไม่ยอมรับ



ติกะทำมาจากมูลวัวเผาและบดจนละเอียด แล้วผสมกับสีแดงที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรก เพราะวัวเป็นพาหนะของพระศิวะ และกินพืชเป็นอาหาร ผงชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า ผงวิภูติ มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้

ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่า แต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบจุดอื่นๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์

ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติ๊กเกอร์เพื่อสะดวกใช้ มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานเพียงอย่างเดียว

ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาส อื่นๆ เช่น เวลาไหว้พระ พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพราหมณ์ฮินดู แต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดู ก็อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้ด้วยก็ได้ ขณะที่ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้วอาจห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้ หรือสวมแหวนที่นิ้วเท้าก็ได้

โดยเฉพาะการสวมแหวนที่นิ้วชี้ของเท้าด้านขวา เป็นที่สังเกตได้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนคนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่าจุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย จึงมักแต้มจุดแดงตรงกลางหน้าผากเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย



Create Date : 25 กันยายน 2556
Last Update : 25 กันยายน 2556 3:16:56 น. 0 comments
Counter : 1072 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.