พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
17 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 
"มติชน อวอร์ด" ปลุกงานเขียนให้คึกคัก

"มติชน อวอร์ด" ปลุกงานเขียนให้คึกคัก

ปัณณพร นิลเขียว



แม้การประกาศผลรางวัล "เรื่องสั้น-เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์- กวีนิพนธ์" ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 จะไม่มี "สมานมิตร บรรเทอง" งานสังสรรค์พบปะกันของนักเขียน "มติชน" และนักเขียนที่ได้รับรางวัล "มติชน อวอร์ด" เช่นปีที่ผ่านมา



แต่งานประกาศผลรางวัล "เรื่องสั้น-เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์-กวีนิพนธ์" ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ที่ห้องประชุม ชั้น 9 อาคารสำนักงานมติชน เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ.2557 คับคั่งไปด้วยเหล่านักเขียนหน้าใหม่-เก่า ไปจนถึงนักวิชาการ นักวาดการ์ตูน และผู้คนที่คร่ำหวอด ในแวดวงน้ำหมึก



อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักวาดการ์ตูนชื่อดัง นักเขียนรางวัลซีไรต์ อย่าง บินหลา สันกาลาคีรี และ อุทิศ เหมะมูล วรพจน์ พันธุ์พงศ์ บ.ก.นิตยสารไรเตอร์ กล้า สมุทวณิช เจ้าของ ผลงาน "หญิงเสา และเรื่องราวอื่น" ยรรยง บุญ-หลง ผู้เขียน "คู่รัก เมืองใหญ่ One-night Stand" พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คำ ผกา คอลัมนิสต์ และพิธีกรชื่อดัง เป็นต้น



บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่คึกคัก ต้อนรับเหล่านักเขียน และผู้ที่มาร่วมงานด้วยอาหารค็อกเทลหลากเมนู ตั้งแต่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมถังแตก ไอศกรีมกะทิสด และน้ำชา-กาแฟ พร้อมไปกับเสียงดนตรีจาก "วงดาวรุ่ง" ที่นำทีมโดย นายสุชาติ คัมภีระสุตร์ หอบเอาเพลงยุคสุนทราภรณ์มาขับกล่อมแขกผู้มีเกียรติในงาน



ผู้บริหารเครือมติชน นำโดย ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริหารเครือมติชน ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการเครือ มติชน ฐากูร บุนปาน บรรณาธิการอำนวยการเครือมติชน ร่วมต้อนรับแขกในงานอย่างอบอุ่น



เมื่อได้เวลาอันเป็นสมควร สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นกล่าวคำแถลงเปิดงาน



ท่ามกลางผู้มาร่วมงานที่แน่นห้องประชุมว่า ปัจจุบัน เรื่องสั้น เรื่องสั้นวิทยา ศาสตร์ และกวีนิพนธ์โดยรวม มีภาวะที่ตกต่ำ ซบเซาลง หากไม่มีการกระตุ้น หรือสนับสนุนเพียงพอ วรรณกรรมและกวีนิพนธ์ของประเทศอาจตกต่ำและซบเซาลงไปอีก บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ตระหนักถึงปัญหา จึงจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นแวดวงวรรณกรรม-กวีนิพนธ์ให้คึกคัก และส่งเสริมการอ่านในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย




"จากการจัดประกวดมาแล้ว 2 ปี พบว่ามีผู้ส่งผลงานเข้ามาร่วมจำนวนมาก เนื้อหาที่ส่งกันเข้ามาในปีนี้มีคุณภาพ ค่อนข้างน่าพอใจ และมีหลากหลาย ทั้งเรื่องส่วนตัว และสังคม ถือว่าคลี่คลายกว่าปีก่อน ที่เนื้อหาส่วนใหญ่หนักไปทางการเมือง สำหรับรางวัลชนะเลิศที่ได้กันในปีนี้ ก็เป็นงานที่มีน้ำเสียงประชดประชัน มีความหมาย ซ่อนเอาไว้ โดยยังถือเป็นปีแรกที่มติชนเปิดให้มีรางวัลเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจพอสมควร" นายสุวพงศ์กล่าว



จากนั้น อดินันท์ เหมือนยัง และ พาฝัน รื่นฤทธิ์ ผู้ประกาศข่าว มติชนทีวี ในฐานะพิธีกรในงานนี้ นำเข้าสู่ช่วงการแนะนำผลงานที่ผ่านเข้ารอบและประกาศรางวัล เริ่มจากประเภทกวีนิพนธ์ ตามด้วย เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ และเรื่องสั้น โดยมีตัวแทนผู้สนับสนุนใหญ่ของงาน ได้แก่ ปตท. เอสซีจี ทรู คอร์ปอเรชั่น และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป มาร่วมมอบรางวัลให้เหล่านักเขียนและตัวแทน



"สองขา" นักเขียนหญิงที่คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น จากผลงาน "เครื่องแบบใหม่" ขณะนี้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิสราเอล และแม้จะไม่ได้เดินทางมารับรางวัลด้วยตัวเอง ก็ฝากทักทายผ่านวิดีโอที่นำมาเปิดภายในงานด้วย ว่า ชอบเขียนเรื่องพระ หรือวัด เพราะสนใจศาสนาพุทธในหลายๆ มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาลามสูตร หรืออริยสัจ 4 แต่เมื่อสำรวจศาสนาพุทธในไทย ก็พบว่าย้อนแย้งอยู่พอสมควร



ส่วน นทธี ศศิวิมล นักเขียนหญิงอีกคนที่กวาดรางวัลเรื่องสั้นมาจากหลายเวที แต่ครั้งนี้คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ผลงานที่ส่งประกวดเป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเล่มแรกในชีวิต เพราะแม้จะชอบอ่านเรื่องสั้นแนวไซ-ไฟ (Sci-fi) แต่ก็ไม่เคยกล้าเขียน เพราะไม่ได้มีความรู้เฉพาะทาง นทธีเล่าด้วยว่า แม้แต่ คำว่า "ดีเอ็นเอ" (DNA) เธอ ยังต้องตรวจสอบอยู่ค่อนวัน ว่าจะผันเป็นคำใดในภาษาไทยจึงจะถูกต้อง



"เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เป็นบันเทิงคดีที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง คนที่ไม่เคยอ่านน่าจะลอง และก็เป็นโอกาสของคนที่อยากจะเขียน เพราะมติชนเองก็เป็นที่แรกที่เปิดเวทีสำหรับเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้เรื่องสั้นแนวนี้กว้างขวางขึ้นในกลุ่มคนอ่าน"



นลิน สินธุประมา วัย 18 ปี ผู้ได้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุด ในการประกวดครั้งนี้ กล่าวถึงผลงาน "โรงเรียนที่ไม่มีเสาธง" ที่นำความทรงจำชั้น ป.2 มาถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้นจับใจกรรมการ ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับเพื่อน เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้น ป.2 ที่เพื่อนได้รับมอบหมายจากครูให้วาดภาพโรงเรียน แต่เมื่อนำภาพนั้น ไปส่ง ก็ได้รับคำสั่งจากครูให้กลับไปวาดภาพมาใหม่ เพราะ ภาพนั้นไม่เป็นไปอย่างที่ครูต้องการ





นลิน เล่าว่า ในตอนนั้นตนเองคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแปลกดี แต่พอมองย้อนกลับไป เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นอะไรมากมาย โดยเฉพาะปัญหาในระบบการศึกษาไทย



ขณะที่ ภู กระดาษ ชายหนุ่มที่เรียกตัวเองว่าไทบ้านที่รู้หนังสือจากที่ราบสูงของไทย กล่าวถึงผลงาน "เหตุการณ์การจับกุม สันติภาพ ไม่เศร้า" ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เรื่องสั้น ว่า ต้องการฉายภาพชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่ต้องเจอสภาวะดิเลมมะ (dilemma) หรือปัญหาบางอย่างอยู่เสมอ และต้องการเสนอทางออกว่า วิธีที่มนุษย์จะ แก้ปัญหานั้นๆ คือ อดทน หรือต้องแก้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งตาม ความหมายของเขาในเรื่องสั้น คือการใช้กฎหมาย



เรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ มติชนสุดสัปดาห์จะตีพิมพ์รวมเล่ม ให้มิตรรักนักอ่านร่วมติดตามกันต่อไป



ตัวอย่างผลงานชนะเลิศ



ทรงจำ



เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ โดย นทธี ศศิวิมล



"หลังจากเข้าบำบัดจิตสองสามครั้งตามคำแนะนำของจิตแพทย์ที่สรุปว่าเขาเกิดภาพหลอนเป็นประสบ การณ์ทางเพศที่ตื่นเต้นกับคนที่แอบชอบ และจากความเครียดที่ไม่ได้แสดงออกถึงตัวตนทางเพศที่เก็บไว้มานาน ศิวะก็ตัดสินใจเลิกไปเข้าพบจิตแพทย์อีก เพราะเขามั่นใจว่าไม่ได้เป็นโฮโมเซ็กชวล ไม่เคยมีความคิดหมกมุ่นเรื่องร่วมเพศกับเพศเดียวกัน และไม่ได้อยาก เป็นผู้หญิงด้วย เขาอึดอัดกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่จิตแพทย์พยายามทำให้เขายอมรับและเข้าใจตัวตน ที่เขาไม่ได้เป็น



ในขณะที่ความทรงจำเรื่องนั้นยังตามมารบกวนเขาอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างในตัวกำลังต้องการให้ทำอะไร สักอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนที่ชายหนุ่มพยายามนึกหน้าคนที่ข่มขืนว่าเป็นใครกันแน่"



บทอัศจรรย์



บทกวี โดย ชาลี ศิลปรัศมี



สุเมรุเอนยอดต่ำ คงคาร่ำฟองฟอกขาว



ไอน้ำพรมลมพราว อากาศหนาวแรงค่อนทรวง



ปลาวาฬว่ายเกี่ยวน้ำ หน่วงเหนี่ยวล้ำเขต"เลหลวง



ซอกซอนหินทั้งปวง ดำดิ่งหน่วงกดท้องธาร



ทะเลเสียวประกบ เขากระทบเสียดประสาน



โอบอุ้มปลาทะยาน ใจเสียวซ่านรุกต่อไป



เครื่องแบบใหม่



เรื่องสั้น โดย สองขา



"พระใหม่ก้มกราบเจ้าอาวาส ถุงเสื้อผ้าแห่งฆราวาสค่อยๆ ห่างไปจากสายตา ใจประหวัดไปถึงเงินเดือนที่มาในซองปัจจัยอย่างไม่ต้องถูกหักภาษี และการงานใหม่ด้านไอทีที่จะมีแต่คนกราบไหว้ เช้าพรุ่งนี้ พนักงานใหม่จะใส่เครื่องแบบใหม่ พันๆ ห่มๆ อย่างมั่นใจในการก้าวเดินออกบิณฑบาต"



เปิดทันทีเวทีประกวดปีที่ 3



สําหรับการประกวด "เรื่องสั้น-เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์-กวีนิพนธ์" ปีที่ 3 (ปี 2557) มติชนเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2557 โดยจะคัดเลือกผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือน พ.ค.-ธ.ค. 2557



ผู้สนใจส่งผลงานมาได้ตามที่อยู่ กองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เลขที่ 12 เทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900 พร้อมวงเล็บประเภทเรื่องที่ส่งเข้ามา หรือทาง weekly_matichon@hotmail.com



และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์



ผลรางวัลงานเขียน 3 สาขา



กวีนิพนธ์



ชนะเลิศ - "บทอัศจรรย์" โดย ชาลี ศิลปรัศมี นักเขียน วัย 71 ปี ไม่ได้เดินทางมารับรางวัลด้วยตนเองเนื่องจากป่วยอยู่



ชมเชย - "ก้อนเมฆ" โดย คมสัน วิเศษธร / "เด็กชายในหมู่บ้านที่ผู้คนกลายเป็นฝูงแพะ" โดย สันติพล ยวงใย และ "ข่ายคลื่น" โดย อุดร ทองน้อย



เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์



ชนะเลิศ - "ทรงจำ" โดย นทธี ศศิวิมล



รางวัลรองชนะเลิศ - "The Echoes of Silence เงียบงันกัมปนาท" โดย ธนเวศม์ สัญญานุจิต และ "เด็กพิเศษ" โดย วรพล



เรื่องสั้น



ชนะเลิศ - "เครื่องแบบใหม่" โดย สองขา



รองชนะเลิศ - "เหตุการณ์การจับกุม สันติภาพ ไม่เศร้า" โดย ภู กระดาษ และ "โรงเรียนที่ไม่มีเสาธง" โดย นลิน สินธุประมา



ชมเชย - "คาเฟ่ดั๊ชให้ดี" โดย ปานศักดิ์ นาแสวง "หน้ากาก บิน ลาเดน" โดย ภาณุพงษ์ คงจันทร์ และ"โกหก" โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี



Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2557 5:49:14 น. 0 comments
Counter : 1516 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.