พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
พ่อพระตัวจริงของคนยาก "เนลสัน แมนเดลา" สู้จนลมหายใจสุดท้าย!! เพื่อความเสมอภาคคนผิวสี

พ่อพระตัวจริงของคนยาก "เนลสัน แมนเดลา" สู้จนลมหายใจสุดท้าย!! เพื่อความเสมอภาคคนผิวสี

ก็เพราะเป็นที่เคารพรักของคนทั้งโลก เมื่อมีข่าวการถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบของ “เนลสัน  แมนเดลา” อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ ขณะอายุ 95 ปี ด้วยอาการปอดติดเชื้อเรื้อรัง ภายในบ้านพักส่วนตัวที่โจฮันเนสเบิร์ก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2556 ประชาชนทั่วกาฬทวีปจึงพร้อมใจกันร่ำไห้ด้วยความโศกสลดอาลัยอย่างที่สุด

ประชาชนแอฟริกาใต้ศรัทธาในตัว “แมนเดลา” มาก เขาทุ่มเทชีวิตต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเสมอภาคให้คนผิวสีมาทั้งชีวิต ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวตั้งตัวตีต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ โดยเคยจับอาวุธเป็นผู้นำขบวนการใต้ดินต่อต้านรัฐบาลผิวขาว จนต้องเข้าไปนอนในคุกถึง 27 ปี ชีวิตหลังกรงขังทำให้เขาตกผลึกความคิด และกลายเป็นสัญลักษณ์ความอยุติธรรมของการแบ่งแยกสีผิวอันลือลั่น


“เนลสัน แมนเดลา” เกิดวันที่ 18 ก.ค.2461 ณ ดินแดนปกครองตนเองทรานสไก ประเทศแอฟริกาใต้ พื้นเพครอบครัวมาจากชนชั้นอำมาตย์ เขาเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์เทมบู ปกครองแคว้นทรานสไก ปู่ทวดของเขาคือ “งูเบงคูคา” เป็นกษัตริย์ครองแคว้นทรานสไก กระนั้น เขาไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์เทมบู เพราะมารดาเป็นภรรยาคนที่สามจากจำนวนสี่คน โดยเขามีพี่น้อง 13 คน เป็นชาย 4 หญิง 9 ชื่อจริงของ “เนลสัน แมนเดลา” คือ “โรลีห์ลาห์ลา” หมายถึงกิ่งก้านต้นไม้ ตอนเด็กๆเขาได้ฉายาเจ้าตัวยุ่ง

สำหรับบิดาของเขา “กัดลา เฮนรี อึมพาคันยิสวา” เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอึมเวโซ  แต่ถูกยึดอำนาจในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคม กระนั้น เนื่องจากเขามีบทบาทช่วยเหลือ “จองกินตาบา ดาลินเยโบ” ให้ขึ้นครองราชบัลลังก์เทมบู หลังจากเสียชีวิตด้วยวัณโรค กษัตริย์แห่งเทมบูจึงรับตัว “เนลสัน แมนเดลา” วัย 9 ขวบเศษ มาเลี้ยงดูอุปถัมภ์ โดยส่งเข้าเรียนในโรงเรียนศาสนาของนิกายเวซเลียน จากนั้นจึงศึกษาต่อที่คลากเบอรี่ บอร์ดดิ้ง อินสติติว คว้าอนุปริญญาในเวลา 2 ปี ต่อมาได้สืบทอดตำแหน่งจากบิดา  เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของกษัตริย์เทมบู

“เนลสัน แมนเดลา” เริ่มสนใจกิจกรรมการเคลื่อนไหวตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ โดยเข้าร่วมกับสภาผู้แทนนักศึกษา เดินขบวนต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัยจนถูกไล่ออก เขาหันมาเรียนหลักสูตรทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอน โดยเลือกวิชากฎหมาย อย่างไรก็ดี นกน้อยในกรงทองอย่างเขา ได้ตัดสินใจหนีจากวังไปผจญโลกกว้างในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก  เพราะไม่พอใจที่ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงาน ในช่วงนี้เขาต้องหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นยามเฝ้าเหมือง  และเสมียนตรวจเอกสารในสำนักงานทนายความ พร้อมเรียนกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ ซึ่งทำให้พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมาย ที่ผนึกกำลังต่อต้านการเหยียดผิว

เขาเริ่มมีบทบาทการเมืองระดับชาติ จากการเป็นผู้นำโครงการรณรงค์ต่อต้านของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) เมื่อปี 2495 และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนในปี 2498 มุ่งเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว และเปิดสำนักกฎหมายให้คำปรึกษากฎหมายแก่ชนผิวดำผู้ด้อยโอกาส

“เนลสัน แมนเดลา” โด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะแกนนำนักเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ โดยแรกเริ่มต่อสู้ด้วยแนวทางสันติแบบอารยะขัดขืนของ “มหาตมะ คานธี” จากนั้นจึงพัฒนาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ และมีส่วนร่วมสำคัญในการเคลื่อนไหวใต้ดินใช้อาวุธก่อวินาศกรรมเพื่อต่อต้านรัฐบาลผิวขาว จนถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย!!

ผลจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ “เนลสัน แมนเดลา” ถูกจำคุกยาวนานอยู่บนเกาะร็อบเบินถึง 27 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวในปี 2533 เขากลับมาต่อสู้อีกครั้งด้วยการชูนโยบายประสานไมตรี จนสามารถพลิกโฉมหน้าแอฟริกาใต้ให้ก้าวสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย และได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2536

ระหว่างถูกกักขังอยู่ในคุก ผู้นำต่อสู้เรียกร้องให้ยุติการแบ่งแยกสีผิว ได้เจรจาลับๆกับรัฐบาลหลายหน โดยฝ่ายรัฐบาลผิวขาวพยายามยื่นข้อเสนอว่าจะให้อิสรภาพ แลกกับการยกเลิกขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธ กระนั้น “เนลสัน แมนเดลา” ยืนกรานปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของแอฟริกาใต้ เมื่อ “ประธานาธิบดี พี.ดับเบิล ยู. โบทา” ล้มป่วยหนัก และมีการเปลี่ยนให้ประธานาธิบดีเฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก รับตำแหน่งผู้นำประเทศแทน ซึ่งเขาผู้นี้กลายเป็นฮีโร่ที่ประกาศปล่อยตัว “เนลสัน แมนเดลา” เป็นอิสระ เมื่อปี 2533

กระนั้น ภายหลังได้รับอิสรภาพ “เนลสัน แมนเดลา” กลับมาเป็นผู้นำพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน และนำพรรคไตรพันธมิตรเข้าสู่การเจรจาร่วมหลายพรรค เพื่อเปิดทางสู่การจัดเลือกตั้งหลายชนชาติเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ บทบาทการเป็นผู้นำของ “เนลสัน แมนเดลา” ในการเจรจาร่วมกับประธานาธิบดีเฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก ประธานาธิบดีคนสุดท้ายจากยุคแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้ ทำให้ทั้งคู่ร่วมกันรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2536 ขณะที่การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกของแอฟริกาใต้เกิดขึ้นจริง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2537 โดย “เนลสัน แมนเดลา” พาพรรคเอเอ็นซีกวาดชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 62% และขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ ขณะอายุ 75 ปี โดยระหว่างการดำรง ตำแหน่งปี 2537-2542 เขาได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิว หรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวตั้งตัวตีต่อต้านการแพร่กระจายของโรคเอดส์ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ

หลังเกษียณจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยปฏิเสธรับตำแหน่งสมัยที่สอง “เนลสัน แมนเดลา” ได้อุทิศตนเองเพื่องานสังคมและงานด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย รวมถึงก่อตั้งมูลนิธิเนลสัน แมนเดลา เพื่อเด็ก และมูลนิธิแกรี่ เพลเยอร์ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังแสดงบทบาทตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ

ชีวิตส่วนตัวของ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งกาฬทวีป ผ่านการแต่งงานมาแล้ว 3 ครั้ง ภรรยาคนแรกคือ “เอฟลิน อึนโตโก มาเซ” เป็นคนบ้านเดียวกัน ร่วมเตียงกัน 13 ปี และมีลูกชายกับลูกสาวอย่างละ 2 คน ทั้งคู่หย่ากันเพราะฝ่ายชายทุ่มเทเวลาให้ขบวนการปฏิวัติ ส่วนภรรยาคนที่สอง “วินนี มาดิคิเซลา-แมนเดลา” ก็เป็นชาวทรานสไก มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน ทั้งคู่บาดหมางกันเพราะพ่อเมียเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชาตินิยม สำหรับการแต่งงานครั้งที่ 3 เกิดขึ้นตอนวันเกิดครบรอบ 80 ปี ของ “เนลสัน แมนเดลา” โดยภรรยาปัจจุบันเป็นภรรยาเก่าของประธานาธิบดีซาโมรา มาเชล แห่งโมซัมบิก ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบิน

แม้จะผ่านการต่อสู้มากมายนับไม่ถ้วน แต่สุดท้ายบุรุษเหล็กแห่งแอฟริกาใต้ก็พ่ายแพ้แก่สังขาร เมื่อถูกคุกคามด้วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ตั้งแต่ปี 2545 ต้องเข้ารับการรักษาตัวและฉายรังสีต่อเนื่อง 2 เดือนเต็ม “เนลสัน แมนเดลา” ประกาศจะวางมือจากงานสาธารณะทุกอย่าง  และขอใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสงบกับครอบครัว นับแต่นั้นมา เขาก็แทบไม่ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกเลย กระทั่งมาถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในแอฟริกาใต้ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ “เนลสัน  แมนเดลา” มีมุมมองชีวิตละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เขาสร้างวรรคทองที่น่าจดจำมากมาย เพื่อจุดประกายความหวังแก่ผู้ทุกข์ยากอ่อนแอ!!

“ความกล้าหาญ ใช่ว่าไม่หวาดกลัว แต่อยู่ที่การไม่ยอมให้ความกลัวเอาชนะเรา”

“เกียรติยศของชีวิต ไม่ได้อยู่ที่ไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่ล้มแล้วสามารถลุกขึ้นยืนทุกครั้ง”

“การมีอิสรภาพไม่ใช่ตัดโซ่ตรวน แต่เป็นวิถีทางให้ความเคารพ และส่งเสริมเสรีภาพผู้อื่น”.



Create Date : 08 ธันวาคม 2556
Last Update : 8 ธันวาคม 2556 11:51:29 น. 0 comments
Counter : 1081 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.