พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 
4 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 
พ.ร.บ.คู่ชีวิต สิทธิเพศที่ 3

พ.ร.บ.คู่ชีวิต สิทธิเพศที่ 3




อยู่ระหว่างการผลักดันเข้าสู่การพิจารณา ในสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หนึ่งในนั้นคือร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตซึ่งมีเนื้อหาโดนใจเพศที่ 3

เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ยึดตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เพื่อสิทธิทางกฎหมาย แก้ปัญหาที่ปัจจุบันหลายคู่ไม่มีสิทธิให้ความยินยอมในการรักษาชีวิต หรือไม่มีสิทธิรับศพหรือทรัพย์สินที่ทำร่วมกันมาเพียงเพราะไม่ได้เป็นญาติ โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มหลากหลายทางเพศร่วมกับกรรมาธิการกฎหมาย

ผู้เชี่ยวชาญจากหลายกลุ่มหลากสาขาร่วมให้แง่มุมถึงร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งความเป็นจริง ความเป็นไปได้ ความเป็นไปในเชิงลึก และสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อจากนั้น

เริ่มที่ นายโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม มองว่ากฎหมายในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต จากที่เห็นได้ว่าสังคมปัจจุบันไม่ได้มองการแบ่งแยกเพศออกเป็นกลุ่มตามเพศกำหนดเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่เราเคยคิดในสมัยก่อน แต่ตอนนี้เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นเพศๆ หนึ่งได้ มีเพศวิถีของตนเองซึ่งไม่ได้กำหนดแต่เพียงว่าต้องเป็นหญิง ชาย กะเทย ทอม หรือดี้เท่านั้น

"ผมเห็นด้วยและดีใจที่จะเกิด พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้น อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการพัฒนาให้สังคมไทยยอมรับกลุ่มเพศที่ 3 อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เรายอมรับในแบบไม่เป็นทางการมาแล้ว และเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเดิมมากกว่า

แต่หากจะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตใหม่โดยประชาชนก็อยากให้เพิ่มเรื่องการรับบุตรบุญธรรม ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และในอีกประเด็นที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือการนิยามคำว่าครอบครัวในกฎหมายเดิมเสียใหม่ ให้มีความหมายที่กว้างและหลากหลายกว่าทั้งในเรื่องเพศและบุคคล ไม่ใช่เข้าใจเพียงแต่คำว่าครอบครัวต้องเป็นหญิงชายที่เป็นคู่สมรสซึ่งมีบุตรร่วมกัน แต่ครอบครัวอาจหมายถึงเกย์ กะเทย ทอม หญิง ชาย หรือเพื่อนที่อาจจะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันแต่มีความผูกพัน พึงพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน และสามารถมีบุตรหรือรับบุตรมาเลี้ยง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่าครอบครัวได้

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้นอกจากจะทำให้สังคมพัฒนาไปไกลแต่อาจจะไปท้าทายหรือกระทบความเชื่อเก่าของสังคม แต่หากทำได้จริงสังคมจะก้าวหน้าไปได้มากทีเดียว"

ด้าน นายจเร สิงหโกวินท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าตกตะลึงกับผลสำรวจความเห็นกลุ่มเกย์ไทยต่อร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่พบว่ากลุ่มเกย์ส่วนใหญ่ในไทยไม่ได้ต้องการ พ.ร.บ.คู่ชีวิต รวมถึงการที่สังคมไทยมีค่านิยมอดทนต่อกระแสกลุ่มเพศที่ 3

นายจเรกล่าวต่อว่าแม้จะไม่มีกฎหมายต่อต้านกลุ่มเกย์อย่างโจ่งแจ้งหรือเป็นระบบ แต่การต่อต้านมักอยู่ในรูปค่านิยมแฝงในสังคม กรณีเกย์เป็นการต่อรองทางสังคมโดยใช้บทบาทในภาพยนตร์กำหนดให้เกย์ต้องเป็นคนหน้าตาดี มีสถานะทางสังคมปานกลางถึงร่ำรวย ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรอมชอมประเด็นเพศที่ 3 โดยการนำเสนอในสิ่งที่สังคมรับได้ ทั้งยังเกิดข้อเปรียบเทียบอีกว่าทำไมภาพยนตร์เกย์บางเรื่องจึงถูกระงับฉาย ด้วยเหตุผลที่ว่ากระทบศีลธรรมเพราะมีภาพล่อแหลมอนาจาร ในขณะที่ภาพ ยนตร์ชายหญิงบางเรื่องที่มีฉากเปลือยกลับได้ออกฉาย



"หากถามถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ลึกๆ แล้ว ประเด็นที่น่าสังเกตคือการเป็นเกย์ กะเทย ทอม ดี้ เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ในระดับกระแสสังคม แต่การเป็น ?ไบ? ซึ่งมีรสนิยมชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือการที่กะเทยแต่งงานกับทอมกลับกลายเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ นั่นสะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะยอมรับความหลากหลายทางเพศ อันแสดงถึงวุฒิภาวะที่แท้จริงของสังคม"

มาที่พิธีกรอารมณ์ดีจากรายการ "เทย เที่ยว ไทย" ป๋อมแป๋ม นายนิติ ชัยชิตาทร ให้ความเห็นอย่างเป็นกันเองถึงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า เป็นเรื่องดีและสนับสนุนให้ทำมาโดยตลอด สำหรับตนเองคิดว่าคงไม่ได้ใช้พ.ร.บ.นี้เพราะคาดว่าคงไม่มีคู่ แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศน่าจะเป็นประโยชน์

ป๋อมแป๋มยกตัวอย่างเพื่อนใกล้ตัวว่า "ก่อนหน้านี้ไม่นานมีเพื่อนที่เป็นเกย์เพิ่งเสียชีวิตไป แฟนเขาที่เป็นเกย์ด้วยกันแม้แต่จะเข้าไปเยี่ยมตอนป่วยอยู่ยังทำไม่ได้เลย เพราะญาติก็ไม่ใช่ คู่สมรสก็ไม่ใช่ คนที่จะเข้าไปเยี่ยมได้ต้องมีความเกี่ยวข้องทางนิตินัยกับผู้ป่วยเท่านั้น ในช่วงแรก พ.ร.บ. คู่ชีวิตอาจมีช่องโหว่บางอย่างแต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไปสู่การพัฒนาเพื่อความหลากหลายทางเพศในอนาคต"

ส่วนผลการสำรวจที่พบว่ากลุ่มเพศที่ 3 ส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ กับเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็ไม่เป็นอะไร ป๋อมแป๋มมองว่าเป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้อาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกสังคมกดทับหรือบีบบังคับ แต่ถ้ามองในแง่มุมด้านกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์บางอย่างให้กับกลุ่มเพศที่ 3 และมองว่ากฎหมายคือสิทธิประโยชน์

น.ส.อัญชนา สุวรรณานนท์ นักพัฒนาสังคมด้านสิทธิทางเพศ กล่าวว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่าบุคคลที่จะสมรสกันได้ต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะปรับแก้กฎหมายเดิมให้เท่าเทียมกันเสียก่อน โดยแก้ให้ บุคคลที่ จะสมรสกันได้ไม่จำเป็นต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น จะเป็นเพศอะไรก็จดทะเบียนสมรสกันได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นความจำเป็นของร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในเมื่อแท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาอยู่ที่กฎหมายเดิมไม่ให้ความเท่าเทียมกับเรา

"นอกจากนี้อยากฝากพิจารณาว่าหาก ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ผ่านและได้รับการรับรองเป็นกฎหมาย อาจเกิดปัญหาความเกี่ยวเนื่องและลำดับศักดิ์ทางกฎหมายตามมา ในเมื่อพ่อแม่ของบุคคลที่เป็นเพศที่ 3 อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายครอบครัว แต่บุตรซึ่งเป็นเพศที่ 3 กลับอยู่ในความคุ้มครองของ พ.ร.บ.คู่สมรส อาจมีความทับซ้อนกันทางกฎหมายทำให้ต้องไปแก้ พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ตามมาอีกหรือไม่

รวมถึงปัญหาในการนิยามคำว่าคู่ชีวิต ยกตัวอย่างเช่นกรณีกองทุนประกันสังคม ซึ่งต้องระบุไว้ในเอกสารหากเราเสียชีวิตว่า เราจะมอบทรัพย์สินจากกองทุนให้ใคร ซึ่งตามกฎหมายระบุให้เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดและทางนิตินัยเท่านั้น ซึ่งหากมีพ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นมาก็ต้องไปแก้กฎหมายมาตราที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ. ประกันสังคมเพื่อเพิ่มให้คู่ชีวิตมีสิทธิ์ในการรับทรัพย์สินตรงนั้นได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะแก้กฎหมายเดิมหรือมีพ.ร.บ. ใหม่ขอให้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันเป็นสำคัญ"




Create Date : 04 ตุลาคม 2556
Last Update : 4 ตุลาคม 2556 11:50:57 น. 0 comments
Counter : 1494 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.