พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
 
20 กันยายน 2556
 
All Blogs
 

เหตุเกิด ณ อ่าวพร้าว!

เหตุเกิด ณ อ่าวพร้าว!


“อย่างแรกที่ผมมองหา คือสิ่งมีชีวิตที่น่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำมัน จนมาเจอปลาขนาดประมาณกระดาษ A4 สองตัวนอนตายอยู่บนหาด  เป็นปลาเก๋าตัวหนึ่งกับปลาอะไรไม่รู้อีกตัวหนึ่ง มีคราบน้ำมันบางๆ เกาะบนปากกับเหงือก เหมือนสำลักน้ำมันมา” นี่คือสิ่งที่ เริงฤทธิ์ คงเมือง พบเห็นเป็นสิ่งแรกๆ หลังเดินทางถึงอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ในค่ำคืนที่สังคมกำลังฮือฮากับสโมสรฟุตบอลจากอังกฤษ ข่าวอดีตพระเครื่องบินเจ็ตผู้ยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ และกรณีน้ำมันดิบรั่วนอกชายฝั่งจังหวัดระยองยังเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ในโลกออนไลน์

"ทะเลกับหาดทรายเป็นสีดำไปหมด คลื่นทะเลเหนียวๆ ข้นๆ เหมือนช็อกโกแลต เสียงคลื่นแตกฟองดังบุ๋งๆ อย่างกับหินภูเขาไฟ แต่ที่สุดคงเป็นกลิ่นน้ำมันที่ฉุนแรงเกินทนครับ” เขาเล่าถึงค่ำคืนแรกๆ ที่คลื่นลมและสายน้ำพัดพามวลน้ำมันดิบ มาเกยฝั่ง ตอนนั้นยังไม่มีสื่อมวลชนกระแสหลักลงมาในพื้นที่ ช่างภาพผู้เคยผ่านงานด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายสนามรายนี้ค่อนข้างตกใจกับวิธีการขจัดคราบน้ำมันปริมาณมหาศาลบนชายหาดอ่าวพร้าว ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นทราบดีว่าเป็นภูมิศาสตร์อ่าวที่กระแสน้ำมักพัดพาขยะทะเลมาเกยฝั่งมากที่สุด


“คืนนั้นมีเจ้าหน้าที่ 7-8 คน ผลัดเวรกันเฝ้าเครื่องสูบน้ำที่มีแค่เครื่องเดียว”

แล้วผืนทรายบนอ่าวพร้าวที่เคยคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ก็แทนที่ด้วยชายหาดน้ำมันดิบสีดำมะเมื่อมกับกองทัพเจ้าหน้าที่ขจัดคราบน้ำมันในชุดนิรภัยมิดชิดสีขาว ตัวเลขที่เผยแพร่บอกว่า น้ำมันดิบรั่วไหลคราวนี้มีปริมาณราว 50,000 ลิตร อยู่ห่างจากเกาะเสม็ดไปประมาณ 10 ไมล์ทะเล (ราว 18 กิโลเมตร) ต้นเหตุมาจากท่อขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลชำรุดระหว่างการขนถ่ายน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกขึ้นฝั่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่พยายามล้อมกรอบน้ำมันด้วยทุ่นดักคราบน้ำมันแล้วในเบื้องต้นเพื่อสูบออกจากน่านน้ำ ทว่าคลื่นลมแรงทำให้น้ำมันหลุดรอดออกไป เช่นเดียวกับการฉีดพ่นสารสลายคราบน้ำมันซึ่งไม่เพียงพอต่อการสลายคราบน้ำมันปริมาณมหาศาลในเวลาอันสั้น

ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีบทบาทอย่างมากในภารกิจคราวนี้ หลังเผยให้เห็นคราบน้ำมันดิบแผ่กว้างบนผิวทะเลกินอาณาบริเวณพอๆ กับพื้นที่เกาะเสม็ด และค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทางการประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นเขตประสบภัยพิบัติทางทะเล พร้อมๆ กับข่าวลือที่แพร่สะพัดออกไปว่าคราบน้ำมันเดินทางไปถึงชายฝั่งบ้านเพ จังหวัดระยอง ท่ามกลางความพรั่นพรึงของบรรดาชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

ภาพจากอ่าวพร้าวแพร่สะพัดอย่างรวดเร็วราวไฟได้ลม กระแสสังคมเกาะติดภารกิจขจัดคราบน้ำมัน  และด้วยความพยายามอย่างหนักเพียงสัปดาห์เดียว ท้องน้ำย่านอ่าวพร้าวก็กลับมาใสด้วยตามอง หาดทรายคืนสีดังเดิม หอมลมทะเลพัดโบก มีการจัดงานทำความสะอาดครั้งใหญ่และแสดงดนตรี ขณะที่ข่าวการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ และความรักของดาราสาวกับพ่อม่ายลูกชายนักการเมืองใหญ่ค่อยๆ กลบเสียงจากอ่าวพร้าว

ทิ้งให้น้ำใสๆ อาจกลายเป็นเพียงภาพลวงตาระบบนิเวศทางทะเลซับซ้อนและบอบบางกว่าที่เราคิด ใต้น้ำใสสะท้อนฟ้าคราม คือแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตสารพัดนับล้านตั้งแต่แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ ปะการัง สัตว์เปลือกแข็งไร้กระดูกสันหลัง ไปจนถึงปลาน้อยใหญ่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกทะเล ทุกชีวิตในสิ่งแวดล้อมทางทะเลอันแตกต่าง เช่น แนวปะการัง พื้นทะเล ชายหาด ปากแม่น้ำ และป่าชายเลนล้วนเกี่ยวข้องพึ่งพากันในห่วงโซ่อาหาร

เมื่อน้ำมันดิบเคลื่อนไปตามกระแสน้ำและลม เบื้องต้นคือชั้นน้ำมันที่แผ่ปกคลุมเหนือน้ำทะเลเหมือนฟิล์มบางๆ ด้วยแรงตึงผิวและความหนาแน่นที่น้อยกว่าน้ำทะเล คราบเหลือบรุ้งยามสะท้อนแสงแดดและบางทีดูเหมือนใสสะอาดนี้ คือหายนะของสัตว์ทะเล พวกแรกที่ได้รับผลกระทบคือแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำที่ดูเหมือนจะโชคร้ายที่สุด เนื่องจากคราบน้ำมันจะปิดกั้นแสงอาทิตย์ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง ทั้งยังทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง แม้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะฟื้นคืนสภาพได้เร็วและน่าห่วงน้อยกว่า  ทว่าสิ่งมีชีวิตที่เรามักไม่ค่อยแยแสเหล่านี้ คือผู้ผลิตลำดับแรกๆ ในห่วงโซ่อาหาร

แล้วคราบน้ำมันที่คลื่นลมพัดไปเกยชายฝั่งอ่าวพร้าวเล่า ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า หลักสากลของการขจัดคราบน้ำมันในทะเล คือกติกาที่ว่า


“อย่าให้โดนฝั่ง อย่าให้โดนพื้น” นั้นหมายถึงว่า ควรเลี่ยงทุกวิถีทางที่คราบน้ำมันจะสัมผัสกับพื้นชั้นตะกอน เนื่องจากการขจัดคราบน้ำมันในชั้นตะกอนหรือพื้นทรายยากกว่าบนผิวน้ำหลายสิบเท่า แม้ว่าโดยปกติแล้ว แบคทีเรียตามธรรมชาติจะช่วยย่อยสลายคราบน้ำมันได้ ส่วนหนึ่ง แต่การที่คราบน้ำมันฝังตัวลงในชั้นตะกอนหรือพื้นทราย จะทำให้กระบวนการย่อยสลายขาดออกซิเจน ส่งผลให้การสลายคราบน้ำมันด้วยวิธีการตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก

“ที่เรากังวลคือสารเคมีขจัดคราบจะดึงน้ำมันให้จมต่ำลงไป จากข้อมูลบอกว่าจะจมไป 10 เมตร แต่ถ้าพื้นที่ตรงนั้นตื้นกว่า 10 เมตรล่ะครับ คราบน้ำมันก็อาจปนไปในตะกอนหรือแนวปะการังได้” เขาบอก “พื้นทะเลเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางทะเล มีสิ่งมีชีวิตเต็มไปหมด ชาวประมงก็วางอวนปู อวนกุ้งที่นี่ และเป็นแหล่งประมงที่สำคัญครับ”

สารเคมีบางชนิดสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารจากการบริโภคของผู้ผลิตชั้นต้นๆ อย่างแพลงก์ตอน หรือสัตว์ขนาดเล็ก เมื่อผู้ล่ากินสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นอาหาร การสะสมของสารเคมีจะยิ่งเพิ่มขึ้นในร่างกายของผู้ล่าลำดับสูงขึ้นไปในห่วงโซ่อาหาร และเมื่อถึงจุดหนึ่ง สารเหล่านี้อาจแสดงความเป็นพิษออกมาทั้งแบบเฉียบพลันหรือสะสมไว้ก่อนแสดงอาการ และเมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง  จึงเท่ากับชักนำสารเคมีเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายของเราโดยตรง

หลังเกิดเหตุไม่นาน กรมประมงแถลงข่าวว่า พวกเขาร่วมกับนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตัวอย่างสัตว์ทะเล 24 ชนิด มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ทั้งจากพื้นที่ประสบเหตุ แหล่งเพาะเลี้ยง ปากคลอง และพื้นที่ที่คาดว่าคราบน้ำมันอาจเดินทางไปถึง ผลการทดสอบชี้ว่า สัตว์ทะเลตัวอย่างมีปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในเนื้อเยื่อใกล้เคียงกับบริเวณที่ไม่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล และฟันธงว่าปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในสัตว์ทะเลย่านนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทว่านี่ยังเป็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้น เพราะรายงานนั้นระบุว่า ควรใช้เวลาติดตามผลกระทบระยะยาวอีก 1-2 เดือน


ขณะที่ระบบนิเวศอันเปราะบางยังต้องเฝ้ารอการวิเคราะห์และติดตามผลตามหลักวิชาการ ไม่มีใครทราบว่าแบคทีเรียกินน้ำมันที่ทวีจำนวนขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศ แพลงก์ตอนที่ไหลไปตามกระแสน้ำและเป็นอาหารให้กับผู้ล่าในถิ่นอื่นปนเปื้อนอะไรไปบ้าง โขดหินและบรรดาหอยผู้โชคร้ายจะฟื้นตัวจากคราบน้ำมันได้อย่างไร สารเคมีขจัดคราบน้ำมันเป็นพิษมากน้อยเพียงใด  และจะขจัดคราบน้ำมันที่ฝังลึกอยู่ในเลนและทรายก้นทะเลได้อย่างไร

หลังคราบน้ำมัน (ที่มองเห็นได้) จางลง  นักดำน้ำและทีมสำรวจจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานว่า ระบบนิเวศแถวอ่าวพร้าวซึ่งประกอบไปด้วยปะการังโขด หอยมือเสือ เม่นทะเล และฟองน้ำครกเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่พบผลกระทบในเบื้องต้น ทว่าสื่อมวลชนบางสำนักที่ดำน้ำลงไปกับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นชี้ว่า ปะการังแถบนั้นส่วนหนึ่งเริ่มแสดงอาการจุดสีขาวและฟ้าอันเป็นสัญญาณของการฟอกขาว แม้จะไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า เกิดจากเหตุน้ำมันรั่วไหลคราวนี้ก็ตาม

กระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องผลกระทบระยะยาว แวดวงวิชาการยังต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลอีกนานนับปี ดร.ธรณ์บอกว่า “ในอนาคต เราคงมีข้อมูลมากกว่านี้แน่นอน เพราะนี่เป็นเรื่องที่เราไม่เคยประสบมาก่อน วิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบให้อยู่ครับ”
   

ขณะที่เริงฤทธิ์ ช่างภาพผู้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมทิ้งท้ายว่า “ที่ครั้งนี้เราสนใจกันมาก คงเป็นเพราะมองเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจนด้วยสายตา ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนให้เราคิดต่อไปว่า ยังมีของเสียหรือสารพิษถูกปล่อยลงสู่ทะเลอีกไม่รู้เท่าไร และเราก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนครับ” เขาเชื่อว่า คงจะดีกว่าไม่น้อย หากบทเรียนครั้งนี้จะยังคงติดแน่นในสังคม        

เฉกเช่นคราบน้ำมันที่ไม่สามารถขจัดออกไปจากระบบนิเวศได้ง่ายๆ

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ 
ภาพถ่าย หนุมานโฟโตส์ และกรีนพีซ ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย




 

Create Date : 20 กันยายน 2556
0 comments
Last Update : 20 กันยายน 2556 4:34:31 น.
Counter : 1342 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.