Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
1 มกราคม 2557
 
All Blogs
 

บทสรุปยูโดในรอบปี สิ่งที่เป็นเทคนิคยูโดเล็กๆน้อยๆที่ได้เรียนรู้มา

กว่าจะรู้ตัวว่าต้องเก็บรวบรวมไว้เป็นตัวหนังสือกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในแต่ละวันบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่นักยูโดทั่วๆไปรู้กันอยู่แล้วเพียงแต่ผมงมโข่งอยู่นานเป็นปี กว่าจะเจอเจอะกับเทคนิคตรงนี้ พอได้รับรู้แล้วก็ค่อยถึงบางอ้อบางอย่างเป็นเทคนิครายละเอียดเล็กๆน้อยๆแต่สามารถไปสร้างประโยชน์จริงได้ในการซ้อมหรือในการแข่งขันบางอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะตอนแข่งขันเพื่อเป็นการขอบคุณและให้เครดิตต่อผู้สอนตอนท้ายของแต่ละข้อจะพยายามระบุถึงที่มาที่ไปของเทคนิคต่างๆที่ได้เรียนรู้มาครับสำหรับเทคนิคต่างๆเหล่านี้แล้วผมจะพยายามทบทวนสิ่งที่รวบรวมมาได้และฝึกซ้อมให้จำขึ้นใจดังนั้นส่วนนี้อาจจะเรียกว่าเป็นแก่นแท้หรือเพลย์บุ้คเกี่ยวกับยูโดของผมเลยก็ว่าได้

เพื่อการเข้าใจง่ายขึ้น ผมจะแบ่งแยกย่อยออกเป็นประเภทต่างๆ ตั้งแต่ประเภทวอร์มอัพประเภทช่วงชิงจังหวะจับ ประเภทท่ายืน ประเภทท่านอน และประเภทอื่นๆ


วอร์มอัพ

1.การยึดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นโดยเฉพาะส่วนขาไม่ควรที่จะขยับสลับไปมาในขณะที่ยึดออกไปสุดเพราะมันอาจจะทำให้เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกได้ให้ค่อยๆขยับให้มันยึดออกแล้วอยู่นิ่งๆชั่วขณะในจังหวะที่มันยึดอยู่สุด – งามดี


2.การวอร์มของยูโดนอกจากเพื่ออบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นแล้วยังมีอีกส่วนนึงเพื่อความแข็งแรงและเป็นการสร้างพื้นฐานต่างๆของยูโดเวลาทั่วไปที่ใช้คือประมาณ30นาที – โคโดกัง ยามาโมโตะเซ็นเซ


3.ท่าอาชิเกริ(ปั่นจักรยานกลับหลัง) อุจิมาวาริ(หมุนขาเข้า)โซโตมาวาริ(หมุนขาออก) สามท่าวอร์มอัพนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของท่านอนตอนถีบขาออกไปหรือตอนวนขานั้นที่ถูกต้องนั้นต้องพยายามดันขาเข้ามาชิดใกล้ช่วงท้องหรือลำตัวให้มากที่สุดเพราะว่าใช้จริงในท่านอนตอนเรานอนหงายอยู่ด้านล่างมันต้องใช้ใกล้ตัวถ้าคู่ต่อสู้อยู่ปลายขาแล้วขาของเราในท่าต่างๆจะไม่มีแรงพอที่จะรับน้ำหนักหรือคอนโทรลคู่ต่อสู้ได้– โทมี่ ลี


4.การวอร์มอัพในส่วนของท่านอนทุกท่าให้ยกศรีษะขึ้นมามองไปที่สายรัดของเราเองในทุกท่าเพราะใช้จริงก็ต้องยกคอขึ้นมาอยู่แล้วถ้าไม่ทำให้ชินมันก็ไม่สามารถเก่งในท่านอนได้– โคโดกัง


5.การทำลังกาหลังแยกขา เป็นการฝึกพื้นฐานในการใช้ท่าฮิกิโกมิไคเอชิวิธีที่ถูกต้องคือการไม่ใช้มือช่วยให้ใช้หัวไหล่เป็นแกนในการทำลังกาหลังระหว่างทำให้หันคอไปด้านขวา(สำหรับคนที่จะใช้มือขวาไปจับสายรัดด้านหลังด้วยแขนขวาในการทำฮิกิโกมิไคเอชิ)แล้วหมุนตัวโดยใช้หัวไหล่เป็นแกนถ้าคนที่ใช้มือซ้ายก็ทำสลับด้านกัน แต่อย่างที่บอกมันเป็นการวอร์มอัพสร้างพื้นฐานสมควรที่จะทำได้ทั้ง2ด้านในการหันคอ – โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


6.การวอร์มอัพโดยการใช้ขาพับไปมาเป็นการซ้อมเพื่อให้ชำนาญและเป็นพื้นฐานของท่าซังกะกุจิเมะ ดังนั้นต้องทำให้เร็วเข้าล๊อคให้แน่น และพลิกตัวเอาสะโพกลงพื้นในขณะเอาขาเข้าพับเข้าไปล๊อค –โยสึไกโดะยูโดเกียวไค

ช่วงชิงจังหวะจับ

1.เพื่อความสมดุลย์จับขวาให้เอาขาขวานำ จับซ้ายให้เอาขาซ้ายนำ –โคโดกัง


2.ในกรณีจับขวา(ซ้าย)เหมือนกันกับคู่ต่อสู้หรือที่เรียกว่าไอโยตสึมือแรกในการเข้าจับนั้นควรจะเป็นมือฮิกิเทะ(มือที่เข้าไปจับบริเวณแขนเสื้อของคู่ต่อสู้)เพราะแขนของคู่ต่อสู้จะอยู่ไกลและจับได้ยากกว่าคอเสื้อ – รุ่นพี่โคโดกัง


3.ในกรณีจับสลับกันขวาเจอกับซ้าย หรือที่เรียกว่าเก็งกังโยตสึมือแรกในการเข้าจับสมควรจะเป็นทรึริเท หรือมือที่จับคอเสื้อ – รุ่นพี่โคโดกัง


4.จับแบบเก็งกังโยตสึ ทรึริเทถ้าคิดอะไรไม่ออกให้อยู่ด้านในไว้ก่อนส่วนฮิกิเทให้อยู่ด้านนอกมันจะใส่ท่าและทำคุสุชิได้ง่ายกว่า – เคไอไดกักกุโคยาม่าเซ็นเซ


5.การจับแบบไอโยตสึหรือการจับแบบเก็งกังโยตสึจะมีหลายครั้งที่เราจับได้มือเดียวคือ ทรึริเท (มือที่จับคอเสื้อ)ส่วนอีกมือไม่สามารถจับได้เพราะอยู่ไกลวิธีการล่อให้แขนคู่ต่อสู้เข้ามาใกล้ให้เราจับได้แบบง่ายสุดทำได้โดยการแกล้งใช้อิปปงเซโอนาเกะไปทางด้านมือที่เราจับคอเสื้อคู่ต่อสู้จะตอบโต้ด้วยการเอาแขนอีกข้างออกมาจังหวะนี้จะทำให้ฮิกิเทของเราสามารถจับแขนเสื้อคู่ต่อสู้ได้– รุ่นพี่โคโดกัง


6.จับแบบไอโยตสึ เทคนิคพื้นฐานในการก่อกวนทรึริเท(มือที่จับคอเสื้อ)ของคู่ต่อสู้พอคู่ต่อสู้จับคอเสื้อเราได้จังหวะนั้นฮิกิเทของเราก็จะจับแขนเสื้อของคู่ต่อสู้ได้ให้ทำการกระตุกลงเล็กน้อยพร้อมๆกับการแอ่นอกหรือขยับตัวช่วงบนไปทางด้านหลังเล็กน้อยมือของคู่ต่อสู้ที่จับที่คอเสื้อนั้นจะเคลื่อนลงไปหรือถ้าคนที่อ่อนกว่านั้นอาจจะทำมือหลุดออกไปจากคอเสื้อเลยก็ได้ทำให้เราได้เปรียบในจังหวะมากขึ้น – บูโดไดกักกุ


7.จับแบบเก็งกังโยตสึทรึริเทที่ต้องแย่งกันจับนั้นและที่สำคัญต้องพยายามแย่งกันเอาออกไปอยู่วงนอกวิธีการออกไปสู่วงนอกนั้นง่ายๆทำได้โดยการหมุนข้อมือไปจับวงนอก – โคโดกังนันโบเซ็นเซ


8.จับแบบเก็งกังโยตสึ ในกรณีที่เสียเปรียบในการจับวิธีพื้นฐานในการสบัดให้หลุดง่ายๆทำได้โดยการเอาข้อมือตั้งขึ้นมาชุดยูโดปกติแล้วพอเอามือตั้งขึ้นมามันจะทำให้พื้นที่ในการจับเหลือน้อยและหลุดในที่สุดถ้ายังไม่หลุดก็ให้ทำพร้อมกับการขยับตัวช่วงบนไปทางด้านหลังเล็กน้อยมันจะหลุดง่ายขึ้น– โคโดกัง นันโบเซ็นเซ


9.จับแบบไอโยตสึ ในจังหวะที่จะเข้าท่ามือที่เราจับคอเสื้อในขณะเดียวกันคู่ต่อสู้ก็จะคุมแขนเราไว้ให้ออกท่าลำบากวิธีแก้และสร้างจังหวะทำได้โดยการสะบัดข้อศอกเข้าออกซัก2-3ครั้งมือที่เค้าคุมแขนเราอยู่อาจจะหลวมหรือหลุดออกไป เป็นจังหวะในการเข้าท่าได้ในที่สุด– โคโดกัง


10.จับแบบไอโยตสึ ในกรณีที่แขนทรึริเทถูกฮิกิเทของคู่ต่อสู้ออกแรงดึงไว้ตึงๆจะเข้าท่าก็เข้าไม่ได้ให้สะบัดข้อมือออกไปเล็กน้อยแต่ยังจับคอเสื้อคู่ต่อสู้อยู่แล้วดันขึ้นไปจะเข้าประชิดได้ง่ายขึ้น– โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


11.จับแบบไอโยตสึ ในกรณีที่แขนทรึริเท ถูกฮิกิเทของคู่ต่อสู้ออกแรงดึงไว้ตึงๆจะเข้าท่าก็เข้าไม่ได้มีอีกวิธีที่จะง่ายในการประชิดตัวคือการกดข้อศอกทรึริเทของเราลงล่างแล้วดันขึ้นด้านบนแขนเสื้อที่ถูกคู่ต่อสู้ดึงไว้จะถลกลงไปเราจะเข้าประชิดตัวพร้อมกับสามารถทำคุสุชิได้ตามต้องการ – โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


12.จับแบบไอโยตสึ ในกรณีที่แขนทรึริเทถูกฮิกิเทของคู่ต่อสู้ออกแรงดึงไว้ตึงๆจะเข้าท่าก็เข้าไม่ได้ใช้กับการที่คู่ต่อสู้ออกแรงเยอะที่ฮิกิเทของคู่ต่อสู้เองให้ทำการวนแขนทรึริเทหมุนออกนอกแล้วเอาฝ่ามือไปกดที่ข้อศอกฮิกิเทของคู่ต่อสู้เป็นการหักแขนไปในตัว – โยสึไกโดะยูโดเกียวไค

ท่ายืน

1.การวางขาในการเข้าท่า โคอุจิกับโออุจิมีหลากหลายแต่ถ้าต้องการวางขาเพื่อที่จะเพิ่มความเร็วในการใช้ท่าต่อเนื่องหากพลาดในจังหวะแรกแล้วการวางขาก้าวที่2อย่าเอาไปไขว้ไว้หลังก้าวแรกเพราะมันจะเป็นการล๊อคจังหวะตัวเองทำให้ออกท่าต่อเนื่องในจังหวะต่อไปติดขัด– โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


2.โออุจิที่ถูกต้องในการเข้าทำคือการงอเข่าเทน้ำหนักในขาก้าวแรกเหมือนกับการล้มตัวไปกอดคู่ต่อสู้เลยก็ว่าได้– ประธานโคโดกัง อุเอมุระเซ็นเซ


3.การใช้โคอุจิในจังหวะถอยหลัง สำหรับผมจับขวาการก้าวขาจะแยกเป็น2ก้าวการถอยหลังก้าวแรกด้วยขาขวาถอยปกติก้าวสองด้วยขาซ้ายต้องเร็วและทำวงกลมไปด้านหลังขาขวาเพื่อรอปัดโดยขาขวาทันที –โคโดกัง มิอุระเซ็นเซ


4.การใช้โคอุจิในจังหวะเดินหน้า ก้าวแรกขยับขาขวาในจังหวะที่ขยับขาขวาออกไปต้องขยับซ้ายตามขึ้นไปทันที เทน้ำหนักให้ดีพอขาซ้ายขึ้นมาแล้วขาขวาปัดทันทีมือ2ข้างทั้งทรึริเท ฮิกิเทรวมกันเข้ามาเป็นสามเหลี่ยมจะทำให้การสมดุลย์คู่ต่อสู้ไม่มั่นคงจากการรวมสามเหลี่ยมในจังหวะปัดมือขวายกขึ้นดันคู่ต่อสู้ไปด้านหลังเล็กน้อยส่วนมือซ้ายกดลงเฉียงมือสองข้างจะเป็นลักษณะใกล้เคียงกับการหมุนพวงมาลัย – โคโดกัง ทาคาโนะเซ็นเซ


5.การปัดในท่าโอคุริอาชิบารัยก้าวสุดท้ายก่อนการปัดต้องเพิ่มระยะห่างให้มากขึ้นกว่าก้าวก่อนหน้านั้นเพื่อที่จะทำให้สามารถส่งแรงจากสะโพกออกไปช่วยปัดได้ตอนปัดห้ามงอตัวหรืองอเข่าเพราะทำให้แรงส่งออกไปไม่พอที่จะปัดลอยได้ – โคโดกัง


6.การทำคุสุชิสำหรับท่าทั่วๆไปที่หมุนตัวทุ่ม(สำหรับผมแล้วเป็นรากฐานการดึงในท่าเซโอนาเกะ)ให้พยายามออกแรงส่งจากเข่าและท้องขึ้นไปเพราะแรงในการดึงจากแขนอย่างเดียวไม่สามารถที่จะดึงคู่ต่อสู้ทั้งตัวเสียหลักได้ง่ายพยายามใช้แรงจากเข่าและขามากกว่าพึ่งแรงมืออย่างเดียว – โคโดกัง ชิโมยาม่าเซ็นเซ


7.ตอนซ้อมตวัดขาในท่าอุจิมาตะ ถ้าจับขวาจะใช้ขาซ้ายเป็นหลักในการยืนตอนปัดด้วยขาขวาให้หันหัวไปทางด้านซ้ายมันจะเป็นการบังคับให้ตัวบิดออกมาทางซ้ายจังหวะนั้นฮิกิเทดึงเฉียงลงคล้ายกับจังหวะสุดท้ายของฮิกิเทตอนทุ่มด้วยท่าไทโอโตชิส่วนมือขวาทรึริเทหมุนกดลง – โคโดกัง รุ่นพี่คุซาม่า


8.ท่าฮาเนโกชิอย่าไปให้ความสนใจหรือไปใช้แรงทุ่มจากขาที่ทำออกมาในรูปเครื่องหมายน้อยกว่าเพราะว่ามันเป็นท่าทุ่มด้วยสะโพกแรกสุดต้องเอาสะโพกเข้าไปก่อนการเข้าของสะโพกจะเป็นการเข้าจากด้านข้างแล้วค่อยบิดตัวไม่ใช่การเข้าแบบด้านหลังเอาตูดดันเข้าไป – โคโดกัง ทาคาโนะเซ็นเซ


9.ท่าฮาเนโกชิ จังหวะทุ่มหลังจากดันสะโพกเข้าไปได้แล้วต้องพยายามบิดตัวหมุนลง คล้ายๆกับข้อ7ในท่าอุจิมาตะแต่จุดสำคัญคือต้องดันสะโพกเข้าไปได้ก่อนแล้วค่อยบิดตัว – โคโดกัง ซาโต้เซ็นเซ


10.ท่าโทโมนาเกะจับขวาให้ทิ้งตัวไปในมุม90องศาทางด้านซ้ายพร้อมๆกับใช้ขาซ้ายถีบไปที่บริเวณระหว่างท้องกับต้นขาทางด้านซ้ายของคู่ต่อสู้ส่วนมือทำการหมุนในลักษณะหมุนพวงมาลัยจะเป็นการบิดไปโดยรอบและคู่ต่อสู้จะทรงตัวไม่อยู่เอาหลังลงพื้น – โคโดกังฮิโตะโคโตเซ็นเซ


11.ท่าต่อเนื่องจากโออุจิ ที่ท่าที่2เป็นท่าอุจิมาตะหรือท่าไทโอโตชิการขยับขาหลังจากใช้โออุจิไปแล้ว(ผมจับขวานะครับ)จะต้องก้าวขาซ้ายไข้วหลังเข้าไปอีกก้าวนึงก่อนใส่ท่าอุจิมาตะหรือไทโอโตชิไม่อย่างงั้นมันจะไม่มีแรงส่งพอที่จะทำให้เกิดท่าทุ่มที่สมบูรณ์ได้ – โคโดกัง นัมโบเซ็นเซ

ท่านอน

1.คู่ต่อสู้นอนหงายเราอยู่ด้านบนแต่คู่ต่อสู้เอาขามารัดลำตัวเราเอาไว้ข้อห้ามคืออย่ารีบร้อนเอามือเข้าไปจับคอเสื้อหรือแขนคู่ต่อสู้จับแค่บริเวณสายรัดก็พอหรือเอาข้อศอกกดไปที่ต้นขาคู่ต่อสู้แล้วเอาเข่าลงพื้นเพื่อใช้แข้งล๊อคขาคู่ต่อสู้ไว้ข้างนึงจะดีกว่าการรีบร้อนเอามือเข้าไปที่ตัวด้านบนของคู่ต่อสู้ถ้ารีบเอามือเข้าไปอาจจะโดนซังกะกุจิเมะ หรือไม่ก็โดนใส่จูจิกาตาเมะได้ง่าย –โคโดกัง รุ่นพี่ทานากะ


2.ตอนที่โดนจูจิกาตาเมะแต่ยังใส่ไม่สมบูรณ์ดีให้ดันตัวขึ้นมาในขณะที่คู่ต่อสู้ดึงแขนเราลงไปแขนที่ถูกดึงยึดออกไปนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหักหรือทำให้เรายอมได้เพราะแขนที่ถูกดึงออกไปมันก็กลับมาในมุมไม่ถึง180องศามันก็ยังพอจะทนได้ – โคโดกังรุ่นพี่ทานากะ


3.ว่าด้วยเรื่องของจูจิกาตาเมะ จูจิแปลว่าเครื่องหมายบวกหรือกากบาทหรือที่เราเรียกกันบางครั้งว่า กางเขนท่านี้จะแสดงประสิทธิภาพเต็มที่ตอนที่คู่ต่อสู้ใช้และเราอยู่ในมุม90องศาวิธีแก้ก็คือการทำให้รูปร่างลักษณะการเข้าไม่อยู่ในรูปร่าง+ให้เราพยายามเปลี่ยนมุมที่ถูกหักแขนจาก90องศาเป็น180องศามันจะทำให้การหักหักได้ไม่เต็มที่ – โคโดกัง


4.จูจิกาตาเมะ จุดสำคัญในการใช้คือการกดขาทั้งสองข้างเข้าหากันบีบแขนคู่ต่อสู้เอาไว้ก่อนที่จะทิ้งน้ำหนักดึงให้แขนออกมาทำมุมเกิน180องศาอีกส่วนนึงที่สำคัญคือนิ้วมือนิ้วโป้งของคู่ต่อสู้จะต้องอยู่ด้านบนมันถึงจะทำให้ตึงและส่งความเจ็บไปที่ข้อศอกได้วิธีการแก้แบบฉุกเฉินคือตอนที่ถูกใส่ท่าจะเกือบจะสมบูรณ์แล้วให้เราหันข้อมือเอานิ้วโป้งชี้ลงด้านล่างมันจะคลายจังหวะออกมาหน่อยแล้วค่อยขยับไหล่ให้มันไม่เป็นมุม90องศาอาจจะพอช่วยให้ดิ้นหลุดได้– โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


5.ท่าโอบิโทริไคเอชิ คู่ต่อสู้อยู่ในท่าเต่าให้เราเข้าไปจากด้านข้าง(เฉียงหน้า) เอาขาข้างที่อยู่ติดกับคู่ต่อสู้สอดเข้าไป(ตอนนี้คู่ต่อสู้อยู่ทางด้านขวา)ในตัวจนถึงหว่างขาคู่ต่อสู้ข้อเท้าเตรียมตัวที่จะคุมเข่าของคู่ต่อสู้เอาไว้มือข้างซ้ายสอดไปล๊อคแขนขวาของคู่ต่อสู้พร้อมๆกับกดตัวคู่ต่อสู้ลงส่วนมือขวาของเราเอื้อมไปจับสายรัดทางด้านหลังของคู่ต่อสู้(ลักษณะเหมือนกับการใช้ฮิกิโกมิไคเอชิในท่ายืน)ขาซ้ายงอเข้าหาตัวเราเหยียบลงพื้นเพื่อเสริมแรงพลิกดึงคู่ต่อสู้ไปทางขวามือ(พลิกไปด้านข้าง)สำคัญคือให้เริ่มพลิกจากวงกลมเล็กๆก่อนถ้าไม่ได้ให้ใช้แรงจากขาซ้ายที่เหยียบพื้นอยู่ถอยหลังลงไปพร้อมกับดึงคู่ต่อสู้เข้ามาติดตัวและพลิกจากวงกลมเล็กๆไปเป็นวงกลมใหญ่อาจจะถึงขั้นหมุนตัวตามกันไปในท่าฮิกิโกมิไคเอชิก็เป็นได้(พลิกไปด้านหลัง)ถ้าคู่ต่อสู้ยืนเราอาศัยโอกาสตรงนั้นเกี่ยวขา(พลิกไปด้านหน้า)ให้ล้มลงไปได้ –โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


6.ท่านอนในบางครั้ง สามารถหลอกล่อโดยการเอาขาข้างนึงให้คู่ต่อสู้เข้ามาล๊อคเอาไว้พอเราจัดการร่างกายท่อนบนกับมือได้เรียบร้อยแล้วค่อยใช้เทคนิคต่างๆในการแกะขาที่ล๊อคไว้ให้ออก– โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


7.ท่าซังกะกุจิเมะแบบเข้าจากจังหวะที่คู่ต่อสู้อยู่ในท่าเต่าสิ่งสำคัญคือการใส่ขาเข้าไปล๊อคที่คอให้เป็น3เหลี่ยมตามชื่อของท่าสมดุลย์เอียงไปซ้ายขวาหรือจะล้มลงไปก็ไม่เป็นไรเพราะมันต้องล้มเพื่อใช้ท่านี้อยู่แล้ว– โคโดกัง ยามาโมโตะเซ็นเซ


8.ท่าซังกะกุจิเมะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นแบบเรายืนขึ้นมาใช้แขนซ้ายดึงบริเวณข้อศอกคู่ต่อสู้ขึ้นในจังหวะนั้นขาขวาก็ใส่เข้าไปเกี่ยวมืออีกฝั่งเอาไว้ส่วนมือขวากดลงจับสายรัด พลิกได้ก็จะเป็นเหมือนจังหวะทั่วๆไปในการเข้าแบบปกติ –โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


9.ท่าซังกะกุจิเมะแบบทางด้านหน้าใช้ในจังหวะที่เรานอนหงายแล้วคู่ต่อสู้อยู่ด้านบน สิ่งสำคัญ3จุดคือหนึ่งตอนที่เราอ้อมขาไปล๊อคคอได้นั้นขาอีกฝั่งต้องถีบไปที่หัวเข่าคู่ต่อสู้เพื่อให้ล้มลงตัวยาวๆสองพอล้มลงแล้วให้เราบิดตัวออกเฉียงข้างห้ามอยู่ตรงๆเพราะถ้าอยู่ในแนวตรงจะไม่มีแรงรัดที่คอคู่ต่อสู้และคู่ต่อสู้แก้ทางด้วยการยืนขึ้นได้ สามพอบิดตัวออกในแนวเฉียงแล้วก้นต้องยกขึ้นมาเป็นด้านข้างล๊อคให้แน่นเล่นที่คอก่อนถ้ายังปิดเกมไม่ได้ก็เล่นต่อโดยการหักข้อศอกข้างที่เรารัดมาได้พร้อมกับคอ –โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


10.ท่าซังกะกุจิเมะแบบปกติ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุมมือคู่ต่อสู้เป็นอันดับแรกถัดมาค่อยไปคุมคอที่ล๊อคคู่ต่อสู้เอาไว้ ถัดจากนั้นเลือกใช้ได้4อย่างหนึ่งรัดคอด้วยการกดน้ำหนักไปที่ต้นขา สำคัญต้องทำให้สามเหลี่ยมเล็กที่สุดสองหักแขนข้างที่รัดพร้อมกับคอ สามเอามือดึงคอเสื้อเพิ่มการรัด สี่พลิกตัวเอาขาล่างออกมาก่อนแล้วค่อยดึงตัวไปในทางคามิชิโห่ถ้าจะกดสิ่งสำคัญอีกอย่างนึงคือแขนขวาที่เราเอาชายเสื้อหรือสายรัดของคู่ต่อสู้มารัดได้แล้วให้ดึงลงมาก่อนที่จะเอาขาออกมันจะรัดได้สมบูรณ์แบบกว่า– โคโดกัง ไทร่าเซ็นเซ


11.ตอนเข้าไปกดในด้านข้าง คู่ต่อสู้ล๊อคขาเราได้ข้างนึงพร้อมกับเอามือมาโอบขาข้างนั้นเอาไว้ให้เลื่อนตำแหน่งโอบแขนลงไปต่ำๆหน่อย(จากต้นขาไปอยู่เป็นใกล้ๆเข่า)พลิกตัวขึ้นในจังหวะนั้นขาขวาที่อยู่ด้านล่างดันขึ้นให้เข่าของเราใกล้กับบริเวณข้อศอกของคู่ต่อสู้ตอนพลิกตัวขึ้นแล้วให้เอาเข่าซ้ายกดลงพื้นอีกฝั่งแล้วค่อยทิ้งตัวลงมือของคู่ต่อสู้ที่โอบขาอยู่จะหลุดออกเหลือไว้เพียงข้อศอกที่ถูกเราหักโดยการใช้ขาทั้งสองข้าง– โยสึไกโดะยูโดเกียวไค

ทั่วไป

1.การเคลื่อนไหวทุกก้าว การขยับตัวทุกจังหวะของนาเกะโนะกาตะนั้นมีความหมายในทุกย่างก้าวหรือทุกความเคลื่อนไหว เพราะตัวของนาเกะโนะกาตะเองนั้นได้ออกแบบมาเพื่อจำกัดการขยับตัวที่ไม่จำเป็นออกไปหมดแล้วดังนั้นในท่าทุ่มทั้ง15ท่าของนาเกะโนะกาตะนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆของยูโดอย่าไปเพิ่มก้าวหรือลดการขยับตัวในนาเกะโนะกาตะเด็ดขาดสิ่งสำคัญคือต้องรู้และศึกษาว่าทำไมถึงต้องขยับมือไปในทิศทางนั้นทำไมต้องขยับขาไปในทิศทางนั้นหรือว่าทำไมทิศทางการทุ่มถึงถูกออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้น – สัมมนาบูโดไดกักกุ


2.ท่ายืนหนึ่งท่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็1ปีในการศึกษาให้เข้าใจถึงจังหวะและฝึกซ้อมสม่ำเสมอถึงจะใช้จริงได้เมื่อจังหวะมาในขณะที่ท่านอนไม่ต้องเสียเวลาถึงขนาดนั้นเพียงแต่ต้องฝึกซ้อมให้มันจดจำและทำได้รวดเร็วดังนั้นท่านอนถ้าตั้งใจฝึกมันจะเป็นเร็วและสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายกว่าท่ายืน –โยสึไกโดะยูโดเกียวไค


3.นาเกะโนะกาตะ ในท่า ทรึริโกมิโกชิปัญหาที่ทุ่มไม่ได้เป็นเพราะอุเกงอตัว ท่านี้เป็นการทุ่มโดยการใช้มายไทซาบากิ(ต่างกับฮาไรโกชิใช้อุชิโร่ไทซาบากิ)ถ้าจะทุ่มง่ายอุเกต้องตัวตรงแอ่นช่วงท้องเล็กน้อยเหมือนเสาไฟฟ้าที่คนทุ่มแบกไว้ตรงกลางแล้วจะทุ่มได้ง่ายมากแถมลงพื้นได้สวยอีกต่างหาก– โคโดกัง ยามาโมโตะเซ็นเซ




 

Create Date : 01 มกราคม 2557
3 comments
Last Update : 1 มกราคม 2557 15:41:52 น.
Counter : 2644 Pageviews.

 

บทสรุปของยูโดที่ได้จากประสบการณ์จริงที่บันทึกไว้นี้
นับว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่สนใจการฝึกด้านนี้ด้วยนะคะ
like ค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำอวยพรปีใหม่ด้วยค่ะ
ขอให้พรดังกล่าวกลับถึงคุณศักดิ์เช่นกัน
มีความสุขมากๆนะคะ

 

โดย: Sweet_pills 5 มกราคม 2557 12:04:12 น.  

 



สุขสันต์วันตรุษจีนค่ะคุณศักดิ์
โชคดี มั่งมี ศรีสุขค่ะ

 

โดย: Sweet_pills 30 มกราคม 2557 11:23:43 น.  

 



สุขสันต์วันวาเลนไทน์ค่ะ

 

โดย: Sweet_pills 14 กุมภาพันธ์ 2557 10:13:08 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.