ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

มังกรทั้ง 9 กับสถาปัตยกรรมจีน









พวกเขาปรากฏอยู่ทั่วไปในงานศิลปะตกแต่ง
ที่แฝงกลิ่นอายโบราณของจีน ทั้งที่มีเพียงคำเล่าขานในหมู่ชนว่า
“ลูกมังกรทั้งเก้า (เล้งแซเก้าจื้อ) ไม่เป็นมังกร แต่ต่างมีดีที่ตน”

หากได้ไปชมสถาปัตยกรรมโบราณของจีน
ตามวัดวาอาราม, พระราชวัง, ตำหนัก, หอ, ศาลา ฯลฯ
เราจะได้พบเห็นงานศิลปะตกแต่งที่งดงามอย่างประหลาด
ซุกซ่อนอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ
ขอบมุมอาคาร, บานประตู, สะพาน, ระฆัง ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " พระราชวังต้องห้ามที่นครปักกิ่ง "
อันเป็นสถานที่สถิตสถาพรของโอรสแห่งสวรรค์
หากแหงนคอเงยหน้าขึ้น ก็จะพบว่า
บริเวณสันหลังคาของสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้
เรียงรายด้วยรูปสัตว์ที่ทำขึ้นจากกระเบื้อง
สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

รูปปั้นและลวดลายเหล่านี้
ส่วนหนึ่งเป็นรูปลักษณ์ของลูกมังกรทั้งเก้า
จากตำนานเทพเจ้ายุคโบราณของจีน
และต่างก็มีพัฒนาการไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกับลวดลายมังกร
จากบันทึกสมัยราชวงศ์หมิงหลายฉบับ
ได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของลูกมังกรแตกต่างกันไป
ซึ่งในส่วนที่เห็นพ้องกันโดยมาก ได้แก่






1. ปี้ซี่ ((赑屃)) หรือ ปูเซีย, เจียป๊วย
มีรูปเป็นเต่า แต่ปี้ซี่จะมีฟัน ซึ่งแตกต่างจากรูปเต่าโดยทั่วไป
มีพละกำลังมหาศาล โดยมากใช้ตกแต่งเป็นฐานของแผ่นศิลาจารึก
สามารถพบเห็นได้ตามวัดวาอารามต่างๆ
กล่าวกันว่าหากได้สัมผัสจะนำพาโชคลาภมาให้







2. ปี้อ้าน ((狴犴)) หรือ เซี่ยนจาง, ปี๋กัน, เบียน
มีรูปเป็นพยัคฆ์ น่าเกรงขาม มักเกี่ยวข้องกับคดีความ
โดยมากจึงสลักรูปสัญลักษณ์นี้ไว้บนประตูเรือนจำ
เสือเป็นสัตว์ที่ทรงอำนาจ
ดังนั้น ปี้อ้าน จึงมีส่วนในการข่มขวัญเหล่านักโทษในเรือนจำ
ให้มีความเคารพต่อสถานที่ใส่รายละเอียดที่นี่







3. เทาเที่ย ( (饕餮)) หรือ ฉีเหวิน, ปาแห่ง
รูปคล้ายหมาป่า มีนิสัยตะกละตะกลาม
ดังนั้น ในสมัยโบราณ
ผู้คนจึงนำมาประดับไว้บนภาชนะที่บรรจุของเซ่นไหว้
และเนื่องจากเทาเที่ยเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายและตะกละ
จึงมีคำเปรียบเปรยถึงบุคคลที่เห็นแก่กินและละโมบโลภมาก
ว่าเป็น พวกลูกสมุนของเทาเที่ย
นอกจากนี้ เนื่องจากเทาเที่ยดื่มกินได้ในปริมาณมาก
จึงพบว่ามีการนำเทาเที่ยมาประดับที่ด้านข้างของสะพาน
เพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม







4. ผูเหลา ( (蒲牢)) หรือ โผวล้อ
มีรูปคล้ายมังกรตัวน้อย ชอบร้องเสียงดัง
กล่าวกันว่า ผูเหลาอาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล และเกรงกลัวปลาวาฬเป็นที่สุด
ทุกครั้งที่ถูกปลาวาฬเข้าทำร้าย ผูเหลาจะส่งเสียงร้องไม่หยุด
ดังนั้น ผู้คนจึงนำผูเหลามาประดับไว้บนระฆัง
จากนั้นสลักไม้ตีระฆังเป็นรูปของปลาวาฬ
เมื่อนำไปตีระฆัง จะได้เสียงที่สดใสดังกังวาน







5. ฉิวหนิว ( (囚牛))
มีรูปเป็นมังกรสีเหลืองตัวน้อย ที่มีเขาของกิเลน
ชอบดนตรี ผู้คนจึงมักสลักรูปของฉิวหนิวไว้ที่ด้ามซอ







6. เจียวถู ((椒图)) หรือ ซกโต๊ว
มีรูปคล้ายลวดลายก้นหอย มักจะปิดปากเป็นนิจสิน
เนื่องจากธรรมชาติของหอยนั้น เมื่อถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก
ก็จะปิดเปลือกสนิทแน่น
ผู้คนจึงมักจะวาดหรือสลักลวดลายของเจียวถูไว้ที่บานประตู
เพื่อแทนความหมายถึงความปลอดภัย







7. ชือเหวิ่น ((鸱吻)) หรือ ชือเหว่ย, เฮ่าว่าง, เจ้าเฟิง
มีรูปคล้ายมังกรแต่ไม่มีสันหลัง ปากอ้ากว้าง
ชอบการผจญภัยและยังชอบกลืนไฟ
กล่าวกันว่า ชือเหวิ่นอาศัยอยู่ในทะเล มีหางคล้ายเหยี่ยวนกกระจอก
สามารถพ่นน้ำดับไฟได้ เชื่อว่าป้องกันสิ่งชั่วร้ายและอัคคีภัยได้
ดังนั้น หากพบมังกรที่มีหางขดม้วนเข้าประดับอยู่บนสันหลังคา
นั่นก็คือ ชือเหวิ่น







8. ซวนหนี ((狻猊)) หรือ ส้วนหนี่, จุงยี๊
แต่เดิมซวนหนีเป็นชื่อเรียกชื่อหนึ่งของสิงโต
ดังนั้น ซวนหนีจึงมีรูปเป็นราชสีห์ ชอบเพลิงไฟและชอบนั่ง
เนื่องจากสิงโตมีรูปลักษณ์เป็นที่น่าเกรงขาม
ทั้งได้รับการเผยแพร่เข้ามาในจีนพร้อมกับพุทธศาสนา
โดยมีคำกล่าวเปรียบพระพุทธเจ้าเป็นดั่งราชสีห์
ดังนั้น ผู้คนจึงนำลวดลายของซวนหนีมาประดับ
ที่แท่นอาสนะของพระพุทธรูปและบนกระถางธูป
เพื่อให้ซวนหนีได้กลิ่นควันไฟที่โปรดปราน







9. หยาจื้อ ((睚眦)) หรือ ไย่จู, วาปี้
มีรูปคล้ายหมาไน ชอบกลิ่นอายการสังหาร
คำว่า " หยาจื้อ " เดิมมีความหมายว่า ถลึงตามองด้วยความโกรธ
ต่อมาแฝงนัยของการแก้แค้น ซึ่งก็ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการเข่นฆ่า
จึงมักจะนำหยาจื้อมาประดับอยู่บนด้ามมีดและฝักดาบ เป็นต้น




จำนวนของรูปปั้นกระเบื้องเคลือบบนหลังคาพระราชวังต้องห้าม
บ่งบอกความสำคัญของอาคารตามระเบียบแบบแผนที่แน่ชัด




บนสันหลังคาของตำหนักไท่เหอเตี้ยน(ท้องพระโรงใหญ่)
มีรูปปั้น 10 ตัว แสดงถึงสถานะความสำคัญสูงสุด



ตำนานลูกมังกรทั้งเก้า

ตำนานของลูกมังกรทั้งเก้า
เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368 – 1644)
โดยมีจุดเริ่มจาก " หลิวป๋อเวิน " ((刘伯温))เสนาบดีคู่บัลลังก์มังกร
กล่าวกันว่า หลิวป๋อเวิน เดิมเป็นเทพบนสวรรค์
ที่อยู่ข้างกาย " อวี้ตี้ หรือ เง็กเซียนฮ่องเต้ "
เมื่อถึงปลายราชวงศ์หยวน แผ่นดินจีนลุกเป็นไฟ
การศึกสงครามไม่หมดสิ้น ราษฎรอดอยากยากแค้น
เง็กเซียนฮ่องเต้จึงส่งหลิวป๋อเวินลงมาถือกำเนิดบนโลกมนุษย์
เพื่อช่วยกอบกู้ภัยพิบัติ พร้อมทั้งได้มอบกระบี่ประกาศิต
ที่สามารถสั่งการต่อพญามังกรได้ แต่เนื่องจากในเวลานั้น
พญามังกรเฒ่าสังขารร่างกายอ่อนล้า
จึงส่งให้บุตรทั้งเก้าของตนมารับภารกิจนี้แทน

ลูกมังกรทั้งเก้าต่างมีอิทธิฤทธิ์แกร่งกล้า
พวกเขาติดตามหลิวป๋อเวินออกศึกนับครั้งไม่ถ้วน
ส่งเสริม " จูหยวนจาง " สถาปนาแผ่นตินต้าหมิง
ทั้งช่วยเหลือจูตี้ให้ได้มาซึ่งบัลลังก์มังกร
ต่อเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงคิดจะกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
แต่ " จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ หรือ จูตี้ "
กลับต้องการให้พวกเขาอยู่ข้างกาย
เพื่อช่วยให้ตนเองเป็นใหญ่ในแผ่นดินตลอดไป
ดังนั้น จึงอ้างเหตุก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามที่ปักกิ่ง
หยิบยืมดาบประกาศิตจากหลิวป๋อเวิน เพื่อสั่งการต่อลูกมังกรทั้งเก้า
แต่ลูกมังกรต่างไม่ยอมสยบ

จูตี้เห็นว่าไม่อาจควบคุมลูกมังกรไว้ได้
จึงออกอุบาย โดยกล่าวกับปี้ซี่ที่เป็นพี่ใหญ่ว่า
“ ปี้ซี่ เจ้ามีพลังมากมายมหาศาล สามารถยกวัตถุนับหมื่นชั่งได้
ถ้าหากเจ้าสามารถแบกป้ายศิลาจารึก “เสินกงเซิ่งเต๋อเปย”
ของบรรพบุรุษข้าไปด้วยได้ ข้าก็จะปล่อยพวกเจ้าไป ”

ปี้ซี่เห็นว่าเป็นเพียงป้ายศิลาเล็กๆ ก้อนหนึ่ง
จึงเข้าไปแบกรับไว้โดยไม่ลังเล แต่ทำอย่างไรก็ไม่อาจยกเคลื่อนไปได้
ที่แท้ ป้ายศิลาจารึกนี้ ได้จารึกคุณความดีของ “โอรสสวรรค์” เอาไว้
(จากคติของจีนที่กล่าวว่า คุณความดีนั้นไม่อาจชั่งตวงวัดได้)
ทั้งยังมีตราประทับลัญจกรของฮ่องเต้สองสมัย
สามารถสยบเทพมารทั้งปวงได้

ลูกมังกรที่เหลือเห็นว่าพี่ใหญ่ถูกกดทับอยู่ใต้ศิลาจารึก
ต่างไม่อาจหักใจจากไป จึงได้แต่รั้งอยู่บนโลกมนุษย์ต่อไป
โดยต่างก็ให้สัตย์สาบานว่า จะไม่ปรากฏร่างจริงอีก
ดังนั้น แม้ว่าจูตี้สามารถรั้งลูกมังกรทั้งเก้าเอาไว้ได้
แต่ก็เป็นเพียงรูปสลักของสัตว์ทั้งเก้าชนิดเท่านั้น
หลิวป๋อเวิน เมื่อทราบเรื่องในภายหลังจึงผละจากจูตี้กลับคืนสู่สวรรค์
จูตี้รู้สึกเสียใจและสำนักผิดต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
จึงจัดวางหน้าที่ให้กับลูกมังกรทั้งเก้า
เพื่อสืบทอดเรื่องราวสู่คนรุ่นหลัง
ไม่ให้เดินตามรอยความผิดพลาดของตน




*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์
- เซี่ยนหลงเน็ต
- //www.yuyuan.cc
- //www.xooob.com
- //www.fowg.cn
- //www.artx.cn
- //p3.p.pixnet.net
- //my.dek-d.com/Carria
- //www.thepjeen.com
- //th.wikipedia.org




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2552 21:44:26 น.
Counter : 4632 Pageviews.  

ปี่เซียะ เทพผู้รักษาทรัพย์









ปี่เซียะ หรือ ผีชิ่ว
หมายถึง สัตว์รูปร่างคล้ายสิงห์โต หรือเสือที่มีปีก
โดยลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวคล้ายสัตว์ในตระกูลแมว
ร่างกาย กำยำและมักจะยาวกว่าปกติ
ส่วนหลังมีปีก บนหัวมักมีเขาเดียว หรือ เขาคู่ บางชนิดก็ไม่มีเขา
ที่ใต้คางมีเคราหรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายถุง

*** หมายเหตุ ในที่นี้จะขอเรียกว่า ปี่เซียะ ตามความถนัดของตนเอง




ดังนั้น ชาวจีนจึงเชื่อว่า ปี่เซียะ
เป็นสัตว์มงคลที่ช่วยปัดเป่าความโชคร้าย
เมื่อไปเที่ยวพระราชวังกู้กง หรือ พระราชวังต้องห้ามในเมืองปักกิ่ง
เราจะเห็น ปี่เซียะ นั่งเรียงแถวเป็นตัวที่ 5
อยู่บนหลังคาของพระตำหนักไท่เหอ
สำหรับขุนนางหรือคหบดีมีอันจะกินมักนิยมตั้ง ปี่เซียะ
ไว้หน้าประตูบ้าน ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนเป็นสิงห์โต
เมื่ออิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาสู่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ชิง




ปี่เซียะนั้นจัดเป็นเครื่องรางที่เก่าแก่
และเป็นที่รู้จักกันมาแล้วกว่า 5,000 ปี
ตามคติความเชื่อของชาวจีนโบราณนั้น ปี่เซียะ
เป็นสัตว์มงคลที่มีฤทธิ์และอานุภาพมากไม่แพ้พญามังกร
และมากกว่าสัตว์มงคลประเภทอื่นๆ เช่น สิงห์โต
แต่การเรียกชื่อปี่เซียะนั้นจะมีการเรียก
ที่แตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษาจีน
โดยภาษาจีนกลางนั้นจะเรียกว่า “ ปี่เซียะ ”
คนแต้จิ๋วเรียก “ ผีซิ่ว ” คนกวางตุ้งเรียก “ เพเย้า ”
นอกจากนั้นยังมีชื่ออื่น ๆ แต่ไม่เป็นที่นิยมคือ " เถาปก " และ " ผูปอ "
ในบ้านเรานิยมเรียกกันอีกอย่างว่า " กวางสวรรค์ "
แต่ก็ไม่เป็นนิยมเหมือน " ปี่เซียะ "

หากพิจารณาวิชาดาว 9 ยุค หรือการเดินพลังทั้ง 9
อีกนัยหนึ่งเรียก “ เก้าอิม ” หรือ “ เก้าเอี๊ยง ”
ตามหลักวิชาฮวงจุ้ย กำเนิดมาจากสำนักเฮี่ยงคง
นับการเดินของดาวแต่ละยุคกินระยะเวลา 20 ปี
ปัจจุบันเดินเข้าสู่ดาวยุค 8 ซึ่งเริ่มก่อตัวครั้งแรกเมื่อปี 2539
เดินพลังจนสมบูรณ์ในตัวเอง เปิดเผยตนครั้งแรก
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 เวลา 19.46 น.
พลังสมบูรณ์ที่ว่านี้คือ มีอำนาจในการคำนวณพลังทุกอย่างในจักรวาล
เรียกว่า " ระบบไซที (ฟ้าต้น) "
เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์โลกและบ้านเมือง
ตลอดจนทั้งฮวงจุ้ยคนเป็น และฮวงซุ้ยคนตาย

ปัจจุบันการเดินถึงดาวยุค 8 (ธาตุดิน) เป็นทั้งบารมีและลาภประจำยุค
ซึ่งจะต่อเนื่องยาวนานจนถึงปี 2566
โดยสัตว์ 2 ชนิดที่ถูกระบุให้เป็น “ สัตว์ประจำยุค ”
คือ สุนัข และ ปี่เซียะ
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในยุคนี้หันมาเลี้ยงสุนัข
และหันมาบูชาปี่เซียะกันมากขึ้น

ตามตำนานสัตว์มงคลในเทพนิยายของจีนนั้น
มีอยู่หลายประเภทคือ สิงโต กิเลน เต่า มังกร คางคก และปี่เซียะ
โดยเฉพาะ " ปี่เซียะ " นั้น
จะมีลักษณะโดดเด่นกว่าสัตว์มงคลประเภทอื่น คือ
หัวมังกร ตัวกวาง เล็บสิงโต ปีกนก หางแมว ไม่มีรูทวาร
เป็นพาหนะของเทพ

ตำนานกล่าวถึงการกำเนิดของปี่เซียะไว้ว่า
ปี่เซียะเป็นลูกตัวที่ 9 ของพญามังกร มีชื่อเดิมว่า "เทียนลก"
จะกินเฉพาะเงินและทองเป็นอาหารเท่านั้น
ประหนึ่ง " ทรัพย์มีแต่เข้าไม่มีออก "
นิสัยใจคอนั้นจะห้าวหาญ เปิดเผย ตรงไปตรงมา จงรักภักดี
มีความซื่อสัตย์ และยังมีอานุภาพในทางกำจัดสิ่งชั่วร้าย
รวมทั้งป้องกันคุณไสย มนต์ดำและผีร้ายต่าง ๆ อีกด้วย
คนจีนสมัยก่อนจึงมักเขียนภาพหรือตั้งปติมากรรมรูปปี่เซี๊ยะ
ไว้ตามประตูบ้าน วัดและสุสานทั่วไป
รวมถึงบนหลังคาพระราชวังหรือพระตำหนักต่าง ๆ
เช่น วัดเส้าหลิน พระราชวังกู้กง พระตำหนักไท่เหอ
ในบ้านเราที่โดดเด่นที่สุดก็ต้องที่วิหารเซียน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ในตำราสมัยฮั่นและถังต่างเขียนถึงปี่เซียะว่า
เป็นสัตว์มงคลที่สามารถขจัดความชั่วร้าย
ซึ่งพบมากในสถาปัตยกรรมสมัยฮั่น (ก่อน ค.ศ. 206-ค.ศ. 220)
เว่ย (ค.ศ. 220-280) จนถึงราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420-589)
และในปัจจุบันกลายเป็นตราสัญลักษณ์ของหนันจิง
เมืองหลวงเก่าในสมัยราชวงศ์เหนือใต้

อย่างไรก็ตามในจดหมายเหตุสมัยฮั่นได้ระบุว่า
ผีซิ่วเป็นรูปลักษณ์ของสัตว์มงคลที่ชาวจีนได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย
ทั้งนี้เนื่องด้วยผีซิ่วเป็นเสียงเรียกทับศัพท์ของคำว่า " Parthia "
ซึ่งเป็นชื่อของราชวงศ์หนึ่งในสมัยอาณาจักรเปอร์เซีย
หมายถึงสัตว์มงคลชนิดหนึ่งที่มีปีก
นอกจากนั้นในภาคที่ว่าด้วยดินแดนทางประจิมทิศ
มีข้อความที่พูดถึงผีซิ่ว ระบุไว้ว่า
ในแคว้นหลีแถบเขาอูเกอซาน นั้นมีสัตว์ตระกูลนี้ปรากฏอยู่
แต่ลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อยนั่น คือ
หากมีเขาเดียวเรียกว่า " เทียนลู่ " หมายถึง กวางสวรรค์
หากมีสองเขาเรียกว่า " ปี่เซียะ " หรือ " ผีซิ่ว "
โดยคำว่า " ปี่ " หรือ " ผี " นั้น แปลว่า ปิด เร้นลับ หลบซ่อน
คำว่า " ปี่เซียะ " หรือ "ซิ่ว" คือ อาถรรพณ์ สิ่งไม่ดี คุณไสย ภูติปีศาจ
คำว่าปี่เซี๊ยะ หรือ ผี่ชิว จึงแปลได้ว่า ขจัดอาถรรพณ์ต่าง ๆ




ในการบูชาปี่เซี๊ยะ จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ
" บูชาแบบเดี่ยว " และ " บูชาเป็นคู่ "

ลักษณะของปี่เซียะที่บูชาเดี่ยว ตามตำราโบราณกล่าวว่า
ปี่เซียะที่ถูกต้องตามลักษณะนั้น จะต้องมีลักษณะ 9 ประการคือ

1. อ้าปาก (รับทรัพย์)
2. หางยาว (กวักโชคลาภ)
3. ยกหัว (ข่มศัตรู)
4. เท้าตะปบเงิน (รักษาทรัพย์)
5. ก้าวขา (ก้าวหน้า)
6. ลิ้นยาว (ตวัดโชคลาภเงินทอง)
7. องอาจ (น่าเกรงขาม)
8. ไม่มีรูทวาร (ทรัพย์มีแต่เข้าไม่มีออก)
9. บั้นท้ายใหญ่ (เก็บทรัพย์ได้มาก)


ส่วนปี่เซี๊ยะที่บูชาเป็นคู่
จะมีลักษณะที่เป็นมงคลของปี่เซียะไว้ 12 ประการ คือ
1. หน้าดุ เขี้ยวแหลม หมายถึง การป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ
ไม่ให้มาแผ้วพานต่อทรัพย์สินของผู้ที่มีไว้บูชา
2. ตัวคล้ายกวาง (ส่วนหลัง) หมายถึง ความแคล่วคล่องว่องไว
เจริญรุ่งเรือง มีคุณธรรม
3. เท้าเหมือนราชสีห์ ก้าวไปข้างหน้าอย่างองอาจ หมายถึง
ความมีอำนาจ หนักแน่น มั่นคง
4. กำยำล่ำสัน หมายถึง ความมีสุขภาพแข็งแรง ทรงพลัง
5. ตามองฟ้า หมายถึง มองการณ์ไกล มุ่งมั่น
ที่จะไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
และความกระตือรือร้นในการทำมาหากิน
6. ปีกสองข้าง หมายถึง ความสง่างามมีเสน่ห์ โดดเด่นกว่าผู้อื่น
7. เขาลักษณะงอเป็นตาขอ หมายถึง ความน่าเกรงขาม
8. เคราสองข้าง หมายถึง อายุยืน
9. หูสองข้างกลมปลายเรียว หมายถึง ความหนักแน่นไม่หูเบา
ไม่หวั่นไหวต่อการนินทาว่าร้าย
10. หางพวงเหมือนหางแมว หมายถึง ความอ่อนโยน มีเสน่ห์
สามารถเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์
11. เอวคอด สะโพกใหญ่ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความร่ำรวย
12. ยืนย่อตัวเล็กน้อย หมายถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่เย่อหยิ่ง
เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมจะโลดแล่นไปข้างหน้า
เพื่อที่จะทะยานสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ปี่เซียะตัวผู้ >> ก้าวขาซ้าย มีลักษณะตัวเล็กและเพรียว เขาสั้น
เพราะตัวผู้มีหน้าที่หาทรัพย์ จึงต้องมีลักษณะ
ปราดเปรียวว่องไว จึงจะหาทรัพย์ได้มาก

ปี่เซียะตัวเมีย >> ก้าวขาขวา มีลักษณะตัวอวบใหญ่
เพราะตัวเมียมีหน้าที่ให้กำเนิดบุตร
และเฝ้าทรัพย์จึงต้องมีรูปร่างที่ใหญ่
เขายาวน่าเกรงขามเพื่อพิทักษ์ทรัพย์
ทั้งยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งอีกด้วย




การนำเทพปี่เซียะไปบูชา
วันแรกควรปฏิบัติดังนี้
o ไหว้พระพุทธรูปในบ้าน บอกกล่าวว่าจะนำเทพปี่เซียะเข้ามาบูชา
เพื่อเรียกโชคลาภ ดูแลทรัพย์สิน

o ไหว้พระภูมิเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย บอกกล่าวว่า
จะนำเทพปี่เซียะเข้ามาบูชาเพื่อเรียกโชคลาภ ดูแลทรัพย์สิน

o จุดธูปกลางแจ้ง 7 ดอก บอกกล่าวเทพปี่เซียะ
อัญเชิญให้มาอยู่ในเคหะสถานของเรา ช่วยเรียกโชคลาภ
ทรัพย์สิน เงินทอง ขอให้มีอำนาจบารมี เป็นที่เคารพ
ยำเกรง และมีเสน่ห์ เป็นที่เมตตา เอ็นดูจากผู้หลักผู้ใหญ่
ให้อำนวยความสะดวกราบรื่นในหน้าที่การงาน
ครอบครัวมีความสมบูรณ์พูนสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
พ้นจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง

o เมื่อนำเทพปี่เซียะตั้งในตำแหน่งที่เป็นมงคล และไหว้ด้วยส้ม 4 ผล

o กลางคืนผู้บูชาสวดมนต์ (บทที่สวดได้) หน้าพระพุทธรูป นั่งสมาธิ
(ทำจิตให้สงบ) ทำติดต่อกัน 3 คืน หลังจากนั้นไหว้พระสวดมนต์
นั่งสมาธิ และปล่อยสัตว์ บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยอนาถา
ตามโรงพยาบาล ตามโอกาส




อานิสงส์ของการบูชา
กล่าวโดยสรุปแล้วความเชื่อในการบูชาปี่เซียะมีดังนี้

1. ทรัพย์มีแต่เข้า ไม่มีออก
2. ขจัดอาถรรพ์ กำจัดปีศาจ และป้องกันสิ่งชั่วร้าย
3. การค้าก้าวหน้า ธุรกิจร่ำรวย รายได้ดี
4. โชคดี มีโชคลาภ เงินทอง
5. สุขภาพร่างกายแข็งแรง
6. นำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง
7. ครอบครัวมีแต่ความสุข
8. รุ่งเรืองในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการเสี่ยงโชค และค้าขาย

ประเด็นสุดท้ายที่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้
สำหรับผู้ที่จะบูชาปี่เซียะก็คือ
ปี่เซียะเป็นสัตว์มงคลที่ได้รับความเคารพเยี่ยงเทพองค์หนึ่งเช่นกัน
และเป็นของเฉพาะบุคคล (ผู้บูชา) เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อบูชาแล้วห้ามยกให้ใครเป็นอันขาด



***ขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความ และภาพประกอบ
- ผู้จัดการรายวัน โดย : สุพิชญา ชัยโชติรานันท์ จาก “มุมจีน”
- //www.amulet.in.th
- //www.jingjoktak.com
- //images.thaiza.com
- //www.tvmallplus.com
- //www.akefuture.com
- //www.miracle-feng-shui.com
- //www.thaiselling.com





 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2552 15:29:26 น.
Counter : 4474 Pageviews.  

ตำนานเทศกาล " หยวนเซียว "








" โคมไฟในเทศกาลหยวนเซียว "


หลังข้ามปีด้วยการฉลองเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว
วันสำคัญในประเพณีจีนอีกวันหนึ่งในช่วงใกล้ๆ กันนี้
ก็คือ เทศกาลหยวนเซียว (元宵)
ซึ่งเป็นเทศกาลในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย
ตามปฏิทินจันทรคติของจีน
ซึ่งตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ในปีนี้
ในวันนี้ชาวจีนจะนิยมกินขนมบัวลอยกันในครอบครัว
และออกจากบ้านมาชมการประดับโคมไฟ
เพื่อความเป็นสิริมงคล
ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า
เทศกาลโคมไฟ (灯节)

เทศกาลหยวนเซียวซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของจีนนี้
ได้มีมากว่า 2,000 ปี โดยตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน
จะนับเอาวันที่พระอาทิตย์ โลก และ พระจันทร์
มาอยู่ในระนาบเดียวกัน
เป็นวันแรกของปี หรือขึ้นหนึ่ง 1 ค่ำเดือนอ้าย
ซึ่งในสมัยโบราณจะเรียกเดือนอ้ายว่า “ หยวน ” (元)
ส่วนคำว่า ” เซียว ” (宵) หมายถึง กลางคืน
เทศกาลนี้จึงหมายถึง
คืนที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปี
(วันตรุษจีนคือวันปีใหม่ของจีน)



" โคมไฟในปัจจุบัน "


ตำนาน" หยวนเซียว "
ว่ากันว่าเมื่อนานมาแล้ว
เป็นยุคที่มีสัตว์ร้ายมากมายเที่ยวทำร้ายผู้คน
ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้
กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก
แล้วถูกบรรดานายพรานพลั้งมือฆ่าตาย
จนทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ
มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เดินทางมาเพื่อปล่อยเพลิง
เผาทำลายมนุษย์และทรัพย์สินทั้งหลายให้หมดสิ้น
ในคืน 15 ค่ำเดือนอ้าย

ในครั้งนั้นธิดาผู้ของเง็กเซียนฮ่องเต้
เกิดความสงสารไม่อาจทนเห็นผู้คนต้องประสบเภทภัย
จึงแอบขี่เมฆบินลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า
เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า
ในคืนวัน 14 ค่ำ -16 ค่ำเดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ
จุดประทัดเสียงดังๆ พร้อมกับจุดพลุ เช่นนี้แล้ว
เง็กเซียนฮ่องเต้จะเข้าใจว่าคนบนโลกถูกเผากันหมดแล้ว

ทุกคนต่างเห็นด้วย แล้วแยกย้ายกันไปเตรียมการตามแผนนั้น
เมื่อถึงวัน 15 ค่ำ เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา
ทรงเห็นว่า บนโลกมนุษย์นอกจากแดงเถือกไปหมดแล้ว
ยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน
จึงคิดว่าโลกไปถูกไฟเผาไปแล้ว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้
ทำให้ทุกปีเมื่อถึง 15 ค่ำเดือนอ้าย ทุกๆ บ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ
และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว

บ้างก็ว่า เทศกาลหยวนเซียว
เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25)
หลังจากที่มีการปราบกบฏเสร็จสิ้น ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้
รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น
จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้น
ในวัน 15 ค่ำเดือนอ้ายนี้



" โคมไฟที่เมืองซีหนิง ทำให้ต้องหยุดถ่ายภาพเป็นที่ระลึก "


ส่วนประเพณีการชมโคมไฟ
เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว
ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ
และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย
พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีปบูชา
เพื่อแสดงความศรัทธา
ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง
รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟเพื่อบูชาด้วย
จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย

มาถึงราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907)
ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น
ภายในพระราชวัง หรือ ตามท้องถิ่น
ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ
ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ
ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน
และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต
เชิดมังกร แข่งเรือเข้าไป จนทำให้เทศกาลนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลหยวนเซียว
โดยนัยยะแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งคู่รักอีกด้วย
เนื่องจากสตรีในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเรือนชาน
ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในเทศกาลนี้
จึงจะได้มีโอกาสออกมาชมการประดับโคมไฟ เล่นทายปริศนา
ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลายมีโอกาสมองหา
และเลือกคู่ครองในอนาคตของตนได้



" บัวลอย ขนมสำคัญในเทศกาลหยวนเซียว "


วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์นี้
นอกจากตรงกับวันมาฆบูชา
ซึ่งเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนแล้ว
ปีนี้ยังบังเอิญตรงกับวันเทศกาลหยวนเซียวของจีน
ซึ่งตรงกับวันขึ้น15ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนด้วย*

ในวันเทศกาลหยวนเซียว (元宵节) นั้น
ชาวจีนนิยมทาน " ขนมหยวนเซียว "
หรือที่คนไทยเรียกว่า " ขนมบัวลอย "
ในครอบครัว เพราะบัวลอยในภาษาจีนมีนัยยะ หมายถึง
การอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว
และในวันนี้ชาวจีนจะออกไปชมโคมไฟประดับอันงดงาม
เพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้น
เทศกาลหยวนเซียวจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า
“ เทศกาลโคมไฟ ” (灯节)ด้วย
การกินขนมหยวนเซียว
เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลหยวนเซียว
สมัยราชวงศ์ซ่ง
ประชาชนนิยมกินขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งในเทศกาลโคมไฟ
ขนมชนิดนี้มีรูปลักษณ์กลม ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว
ข้างในมีไส้หวาน ภาคเหนือของจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า
" หยวนเซียว "
ส่วนภาคใต้เรียก " ทังหยวน "
หรือ " ทังถวน "

ปัจจุบัน ขนมหยวนเซียวมีไส้มากมายหลายสิบชนิด
เช่น ซันจา พุทรา ถั่วแดง โหงวยิ้น งา
เนยและช็อกโกแลต เป็นต้น
รสชาติของหยวนเซียวในพื้นที่ต่างๆ จะแตกต่างกัน

นอกจากชมโคมไฟและกินขนมหยวนเซียวแล้ว
เทศกาลหยวนเซียวยังมีกิจกรรมละเล่นต่างๆ มากมาย
เช่น ระบำไม้ต่อขา รำพัด เชิดสิงห์โต เป็นต้น
โดยเฉพาะการเชิดสิงห์โต มิเพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น
ไม่ว่าแหล่งชุมชนชาวจีนในแห่งหนตำบลใดของโลกก็ตาม
พอถึงเทศกาลสำคัญๆ ก็จะจัดการแสดงเชิดสิงห์โตทั้งนั้น
การเชิดสิงห์โตแบ่งเป็นสำนักใต้กับสำนักเหนือ
การเชิดสิงห์โตของสำนักใต้เน้นอิริยาบถและเทคนิคท่วงท่า
ส่วนมากใช้สองคนเชิด ส่วนสำนักเหนือจะเน้นความสง่าผ่าเผย
ปกติจะมี 10 กว่าคนกระทั่งหลายสิบคนเชิดด้วยกัน
ขณะเชิดสิงห์โตนั้น จะมีดนตรีพื้นเมืองของจีนเล่นประกอบด้วย
ไม่ว่าผู้แสดงหรือผู้ชม ต่างสนุกสนานกันถ้วนหน้า
ทำให้บรรยากาศของเทศกาลหยวนเซียวคึกคักยิ่ง





" ขนมหยวนเซียว หรือ ขนมบัวลอย "


แต่ในบางพื้นที่ของจีน
ไม่เพียงแค่ทานบัวลอย ชมโคมประดับกันเท่านั้น
ยังพ่วงกิจกรรมแปลกๆ ขึ้นมาด้วย
ดังเช่นที่มณฑลเสฉวน กว่างตง และ กว่างซี
ยามค่ำมืดดึกดื่นของคืนวันเทศกาลหยวนเซียว
ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนหนุ่มคนสาว
จะย่องเข้าสวนผักของบ้านอื่น เพื่อขโมยผักที่บ้านนั้นปลูก
เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาในพื้นที่แถบนี้
เรียกว่าประเพณี “ ขโมยผัก ” (偷青)
แต่เริ่มต้น ณ สมัยไหนนั้นไม่มีระบุแน่ชัด


" สวนผัก เป้าหมายของความสนุกแฝงนัยมงคลในคืนหยวนเซียว "


ที่เรียกว่า “ ขโมยผัก ” นั้นจริงๆ แล้ว
ก็ใช่ว่าจะขโมยกันแบบเอาเป็นเอาตาย
จนเจ้าของสิ้นเนื้อประดาตัว
แต่จะขโมยกันแค่พอเป็นพิธี พอหอมปากหอมคอเท่านั้น
เพราะจุดประสงค์ของการขโมยที่แท้จริงแล้ว
คือ การขโมยความโชคดี ความมีสิริมงคลมากกว่า
ผักที่นิยมไปขโมยกัน ก็ได้แก่
“ หัวหอม ” (葱 - ชง)
ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ ฉลาดเฉลียว ” (聪明- ชงหมิ่ง),
“ ผักคื่นช่าย ” (芹菜 – ฉินไช่)
พ้องเสียงกับคำว่า “ ขยัน ” (勤 - ฉิน),
“ กระเทียม ” (蒜 - ซ่วน)
พ้องเสียงกับคำว่า “ คำนวณ ” (算 – ซ่วน)
ซึ่งมีนัยยะว่า คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน (精打细算 – จิงต่าซี่ซ่วน)
แต่ในกว่างซีจะไม่นิยมขโมย “ หัวผักกาด ” (萝卜- หลัวปอ)
เพราะเขามีสำนวนพูดติดปากว่า
“ ใครขโมยหัวผักกาด คนนั้นโง่กว่าควาย ”


ส่วนเจ้าของสวนที่ถูกขโมยผักในวันนี้นั้น
นอกจากจะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแล้ว กลับมีความสุขซะอีก
เพราะนั่นหมายความว่า
ผักที่บ้านตัวเองปลูกได้นั้นเติบโตงอกงามดี
และจะเก็บเกี่ยวดียิ่งๆ ขึ้นในปีต่อๆ ไป
แต่ถ้าบังเอิญไปเจอหัวขโมยโลภมากเข้า
เจ้าของสวนก็ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรม ถือว่าฟาดเคราะห์ไป
เจ้าของสวนบางรายรอบคอบเตรียมพร้อมรับมือหัวขโมยมืออาชีพ
ด้วยการชิงเก็บผักที่สุกแล้วและกลางสุกกลางดิบไปเสียก่อน
เหลือผักไว้ส่วนหนึ่งสำหรับให้ชาวบ้านร่วมสนุกกัน

หลังจากได้ผักตามต้องการแล้ว
ขโมยสมัครเล่นจะนำผักที่ได้กลับบ้านไปต้มกิน
ว่ากันว่า เมื่อกินผักที่ได้มาในคืนเทศกาลหยวนเซียวแล้ว
คนๆ นั้นจะปราศจากโรคภัย กลายเป็นคนเฉลียวฉลาด
ใจกว้าง จิตใจดีงาม ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า ประเพณีขโมยผักนั้น
ก็คือ การขโมยความสนิทสนม
หรือ ก็คือการไปเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง
เพราะมีตำนานเล่าว่า
ในอดีตบรรพบุรุษของชาวจีนไม่สมัครสมานสามัคคีกัน
เข่นฆ่าสายเลือดเดียวกันเป็นว่าเล่น
ต่อมามีท่านเซียนปรากฏตัวสั่งสอนจนรู้สำนึก
ในค่ำคืนขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย
พวกเขาจึงได้ร่วมสาบานต่อหน้าผักว่า
จะสมัครสมานสามัคคีกันนับแต่นั้นมาจากศัตรูก็กลายเป็นมิตร


* ปฏิทินจันทรคติของจีน และไทยนั้นแตกต่างกัน
เช่น หากของจีนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย
ปฏิทินจันทรคติของไทยอาจตกที่ประมาณเดือน 3
โดยปฏิทินจีนนั้นจะเริ่มนับขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 จากวันตรุษจีนนั่นเอง


***ขอบคุณ(Thank you) ที่มาข้อมูล,บทความ และภาพประกอบ
- //www.manager.co.th
- //www.xinhua.com
- //thai.cri.cn
- //www.chinanet.com
- //hakkapeople.com
- //www.thaisamkok.com
- คุณ Jumung / bloggang




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2552 22:40:13 น.
Counter : 5861 Pageviews.  

การแต่งงานแบบจีนโบราณ








" การกราบไหว้ฟ้าดินในพิธีแต่งงานแบบจีนโบราณ "


“หนึ่ง....คำนับฟ้าดิน ( 一拜天地)
สอง....คำนับพ่อแม่ (二拜高堂)
สาม....คำนับกันและกัน ส่งตัวเข้าห้องหอ (夫妻对拜, 送入洞房) ”
เป็นวลีในพิธีกราบไหว้ฟ้าดิน (拜堂)
ที่ได้ยินกันบ่อยครั้งในหนังจีนกำลังภายใน
โดยพิธีดังกล่าวเป็นพิธีการหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
สำหรับพิธีแต่งงานแบบจีนโบราณ

การแต่งงานในสังคมจีนนั้น เริ่มปรากฎครั้งแรก
ในตำนานเทวะของจีน เล่าถึง เทพธิดาหนี่ว์วา ผู้สร้างมนุษย์
ได้แต่งงานกับ ฝูซี พี่ชายของตัวเอง
ต่อมาในบันทึกประวัติศาสตร์ “ ทงเจี้ยนไว่จี้ ” ได้กล่าวถึง
ชายหญิงเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน เมื่อแต่งงาน
จะใช้หนังกวางต่างสินสอดทองหมั้น
และในยุคต่อมานอกจากหนังกวางแล้ว
ยังเพิ่มธรรมเนียมบอกกล่าวพ่อแม่เข้ามาด้วย
กระทั่งกาลเวลาล่วงเลยมาถึงราชวงศ์เซี่ย
(2,100-1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
และซาง (1,700-1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ก็ปรากฎประเพณีรับเจ้าสาวเข้าบ้าน



" อักษร "ซวงสี่" หรือ "ซังฮี้" หมายถึง มงคลคู่
ใช้ติดในพิธีมงคลสมรสเพื่อความเป็นสิริมงคล "


เดิมทีชาวจีนสมัยก่อนเรียกพิธีแต่งงานว่า " ฮุนหลี่ " ( 昏礼)
แปลตรงตัวว่า “ พิธีกรรมยามโพล้เพล้ ”
เพราะงานสมรสส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในยามเย็น
กระทั่งแผลงมาเป็นคำว่า “ ฮุนหลี่ " (婚礼) ในปัจจุบัน
และหลักสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงานตามความเชื่อจีนโบราณ
ก็คือ หลัก “ 3 หนังสือ 6 พิธีการ ” (三书六礼)

3 หนังสือที่กล่าวถึงนั้น ได้แก่
หนังสือหมั้นหมาย หนังสือแสดงสินสอด และหนังสือรับตัวเจ้าสาว
ส่วน 6 พิธีการเป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่เริ่มตั้งแต่การหมั้น
กระทั่งถึงพิธีแต่งงาน ได้แก่

1. สู่ขอ – ผู้ใหญ่ฝ่ายชายและแม่สื่อเดินทาง
ไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง
พร้อมมอบของขวัญที่มีความหมายมงคลให้แก่บ้านผู้หญิง
ส่วนครอบครัวฝ่ายหญิงเองจะถือโอกาสนี้สอบถามแม่สื่อ
เกี่ยวกับครอบครัวฝ่ายชาย

2. ขอวันเดือนปีเกิด – หลังจากสู่ขอสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบวันเดือนปีเกิดของลูกสาวให้แก่บ้านฝ่ายชาย
เพื่อนำไปเสี่ยงทาย

3. เสี่ยงทาย – หลังจากรับแผ่นกระดาษบันทึกวันเดือนปีเกิด
ฝ่ายหญิงมาแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายจะนำแผ่นวันเดือนปีเกิด
ไปวางไว้หน้ารูปปั้นเทพเจ้าหรือบนโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ
เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษชี้แนะ
ว่าการแต่งงานครั้งนี้จะนำโชคดีหรือร้ายมาสู่ครอบครัว
ว่าที่คู่บ่าวสาวดวงชงกันหรือไม่ หากไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึง
ความไม่เป็นมงคลเกิดขึ้น การเตรียมงานแต่งก็เริ่มขึ้น ณ บัดนี้

4. มอบสินสอด – ฝ่ายชายส่งหนังสือหมายหมั้น และหนังสือแสดงสินสอด
มายังบ้านฝ่ายหญิง โดยก่อนวันสมรส 1 เดือน-2 สัปดาห์
ครอบครัวฝ่ายชายจะเชิญญาติที่เป็นหญิง 2 หรือ 4 คน
(ต้องเป็นหญิงที่มีความสุขพร้อม) พร้อมทั้งแม่สื่อ
นำสินสอดทองหมั้นไปให้ฝ่ายหญิง
และครอบครัวฝ่ายหญิงก็จะมอบของขวัญตอบ

5. ขอฤกษ์ – ครอบครัวฝ่ายชายรับหน้าที่หาฤกษ์งามยามดี
จัดงาน และนำวันที่ได้ไปขอความเห็นจากฝ่ายหญิง


" บ่าว-สาวในชุดแต่งงานแบบโบราณ "


6. รับเจ้าสาว – ในวันมงคลสมรส เจ้าบ่าวในชุดพิธีการ
พร้อมด้วยแม่สื่อ ญาติสนิท มิตรสหาย เดินทางไปรับเจ้าสาวที่บ้าน
เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวต้องไปเคารพศาลบรรพชนของฝ่ายหญิง
หลังจากนั้นก็รับเจ้าสาวขึ้นเกี้ยว
มาทำพิธีกราบไหว้ฟ้าดินที่บ้านฝ่ายชาย
(ขณะออกเดินทางครอบครัวฝ่ายหญิงบางครอบครัว
จะนำน้ำสะอาดสาดตามหลังเกี้ยว หมายถึง
ลูกสาวแต่งงานไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวฝ่ายชาย
เหมือนน้ำที่สาดออกไป)
เมื่อเสร็จพิธีไหว้ฟ้าดินแล้วก็ถือว่าบ่าวสาวทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน
โดยถูกต้อง จากนั้นก็ส่งตัวทั้งคู่เข้าสู่ห้องหอ



" ห้องหอรอรัก "


หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามหลัก “3 หนังสือ 6 พิธีการ” ไป
ก็ถือว่างานแต่งนั้นไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตคู่ได้
โดยหลักการดังกล่าวนั้นเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว
(1,100-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ตามที่พบหลักฐานครั้งแรกใน
“ บันทึกพิธีการ ” หมวดพิธีแต่งงาน


" ขบวนเจ้าบ่าวกำลังเดินทางไปรับเจ้าสาว "


ในยุคสมัยต่อๆ มา จีนยังคงยืดหลัก “ 3 หนังสือ 6 พิธีการ ”
ของราชวงศ์โจวเป็นบรรทัดฐาน
แต่เนื่องจากความแตกต่างทางด้านสังคมการเมืองของแต่ละยุคสมัย
ทำให้รายละเอียดต้องมีการปรับเปลี่ยน
หลักการดังกล่าวตามสถานการณ์ ดังเช่น
ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นจนถึง ราชวงศ์เหนือใต้
(202 ปีก่อนประวัติศาสตร์-ค.ศ.589)
รัชทายาทอภิเษกสมรสไม่มีธรรมเนียมการเดินทางไปรับเจ้าสาว

ต่อมาในสมัยฮั่นตะวันออกถึงจิ้นตะวันออก (ค.ศ.25-420)
ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสังคมไม่สงบ
ไม่สามารถปฏิบัติให้ครบหลัก 6 พิธีการได้
จึงทำได้แค่การกราบไหว้พ่อแม่สามีเท่านั้น
แม้แต่การจัดงานแต่งงานอย่างเป็นทางการก็ถูกละเว้นไป

กระทั่งถึงราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) และถัง (ค.ศ.618-907)
พิธีอภิเษกสมรสของรัชทายาทก็ฟื้นประเพณีรับเจ้าสาวอีกครั้ง
ราชนิกูลต่างๆ จะอภิเษกสมรสก็ต้องยึดตามธรรมเนียม 6 พิธีการ
อย่างเคร่งครัด

แม้ว่าในสมัยราชวงศ์ซ่ง ชนชั้นสูง ขุนนางต่างๆ
ยังคงยึดมั่นใน 6 พิธีการ แต่ในหมู่ชาวบ้านนั้นเริ่มมองว่า
พิธีการดังกล่าวยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป
จึงลดพิธีการเหลือเพียงแค่ 4 ขั้นตอนเท่านั้น
โดยตัดขั้นตอน “ขอวันเดือนปีเกิด” “เสี่ยงทาย” และ “ขอฤกษ์” ทิ้งไป
ทำให้ความสำคัญของพิธีการเหล่านี้ในยุคหลังๆ เริ่มลดลงเรื่อยๆ...



***ขอขอบคุณ (Thank You)ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- manageronline
- xinhuanet.com
- คุณสุกัญญา แจ่มศุภพันธ์ (ผู้แปล)
- //www.the-gallery-of-china.com
- //www.chinapicture.org




 

Create Date : 19 สิงหาคม 2551    
Last Update : 22 สิงหาคม 2551 19:21:41 น.
Counter : 3326 Pageviews.  

ไม้คีบ ที่เรียกว่า " ตะเกียบ "









ตะเกียบ หรือ ไคว่จื่อ (筷子)
คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวจีน
และเป็นอุปกรณ์การกินหลักที่ชาวจีนใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว
จนทำให้ชาวตะวันตกผู้พิสมัยการใช้ช้อน ส้อม และมีด
ถึงกับอัศจรรย์ใจกับประโยชน์ของไม้ 2 แท่งนี้

นักวิชาการตะวันตกบางรายถึงกับยกย่องให้ “ ตะเกียบ ”
เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฝั่งตะวันออก เพราะไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น
ประเทศที่มีความเกี่ยวพันกับจีนอย่าง เกาหลี เวียดนาม ญี่ปุ่น
และบางพื้นที่ในตะวันออกกลาง
ก็ยังใช้ตะเกียบรับประทานอาหารกันอย่างแพร่หลาย
ส่วนไทยนั้นแม้รับวัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามา
แต่ช้อน ส้อม ก็ยังถือเป็นอุปกรณ์การกินหลักสำหรับเรา



ส่วนความเป็นมาของสิ่งประดิษฐ์ไม้ 2 แท่งนี้
นักโบราณคดียังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใด
และใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่มีการบันทึกไว้ในตำรา
“ ชีวประวัติของจงเวยจื่อ ”
สมัยราชวงศ์ซาง (1,700-1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ซึ่งกล่าวอ้างถึง โจ้วอ๋อง ผู้ปกครองแผ่นดินในสมัยนั้น
มีการใช้ตะเกียบงาช้าง ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าจนถึงวันนี้
วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว



" ตะเกียบเงินในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ "



ในอดีตชาวจีนเรียกตะเกียบว่า " จู้ "(箸)
แต่ด้วยเสียงที่พ้องกับคำว่า “จู้” (住) ที่แปลว่า “หยุด”
ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่เป็นมงคล
ภายหลังจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า “ ไคว่จื่อ ” แทน
โดยตะเกียบส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นผลิตจากไม้ ไม้ไผ่ หรือพลาสติก
มีบ้างที่ทำมาจากกระดูกสัตว์ งาช้าง ทอง หยก หรือเงิน
(สมัยก่อนฮ่องเต้นิยมใช้ตะเกียบเงิน เพื่อตรวจสอบอาหารว่ามีพิษหรือไม่)

นอกจากนี้ ตามประเพณีดั้งเดิม
ตะเกียบยังเป็นสมบัติที่สตรีจีนจะนำติดตัวไปด้วยเมื่อยามออกเรือน
เพราะคำว่า “ ไคว่จื่อ ” นั้น ฟังแล้วคล้ายกับคำว่า
“ ไคว่ (เต๋อเอ๋อร์) จื่อ ” ซึ่งแปลว่า “ มีลูกชายโดยเร็ว ”





วิธีจับตะเกียบอย่างถูกวิธี

หลายคนใช้ตะเกียบ “ เป็น ” แต่จับ “ ไม่ถูก ” ตามหลักของจีน
วิธีจับที่ถูกต้องนั้น ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางจับตะเกียบอันบน
ส่วนนิ้วนางและนิ้วก้อยคอยประคองตะเกียบอันล่าง





ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติของการใช้ตะเกียบ

- ห้ามใช้ตะเกียบสั้นยาวไม่เท่ากัน เพราะคนจีนถือว่าไม่เป็นมงคล
ผู้ใช้หรือญาติพี่น้องอาจถึงขั้นมีอันเป็นไป เพราะคนจีนโดยปกติ
เรียกตะเกียบไม่เท่ากันว่า “ ยาว 3 สั้น 2 ” (三长两短)
ซึ่งไปประจวบเหมาะกับเวลานำคนตายใส่โลงยังไม่ปิดฝา
ตัวโลงจะประกอบด้วยไม้ยาว 3 ด้าน (ด้านข้างและล่าง)
ไม้สั้นปิดหัวท้าย ตรงกับ “ยาว 3 สั้น 2” พอดี

- ห้ามจับตะเกียบแล้วปล่อยนิ้วชี้ยื่นออกมา
คนปักกิ่งเรียกวิธีจับแบบนี้ว่า “ ด่ากราด ”
เพราะเวลากินนิ้วชี้จะชี้ใส่คนอื่นตลอดเวลา ซึ่งชาวปักกิ่งโดยทั่วไป
เวลาชี้ฝ่ายตรงข้ามมักมีความหมายของการตำหนิอยู่
รวมทั้งการใช้ตะเกียบชี้คนอื่นก็เป็นเรื่องไม่สมควรทำ

- ห้ามดูดตะเกียบ เพราะไม่สุภาพ
ยิ่งถ้ามีเสียงเล็ดลอดออกมาด้วยยิ่งแย่ใหญ่

- ห้ามใช้ตะเกียบเคาะจานชาม เหมือนขอทานเคาะกะลาขอข้าว

- ไม่ควรใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหารในจาน เหมือนพวกโจรคุ้ยหาสมบัติ

- ควรคีบอาหารให้มั่นมือ ไม่ควรปล่อยให้กับข้าวหล่นใส่จานอื่น

- ควรใช้ตะเกียบให้ถูกด้าน
(แต่ครอบครัวจีนในไทยบางบ้านสอนลูกหลานว่า
เวลาจะคีบอาหารให้คนอื่น ควรกลับตะเกียบเอาด้านที่ไม่ได้ใช้คีบให้
ซึ่งดูแล้วถูกอนามัยมากกว่าการเอาด้านที่เราคีบอาหารใส่ปาก
ไปคีบอาหารให้คนอื่นต่ออีก)

- ห้ามปักตะเกียบไว้กลางชามข้าว
เพราะตามธรรมเนียมของชาวปักกิ่งแล้ว
จะปักตะเกียบไว้บนชามข้าวต่อเมื่อเซ่นไหว้ผู้เสียชีวิตเท่านั้น



*** ขอบคุณ (Thank you) ที่มาของข้อมูล บทความและภาพประกอบ

- //www.manageronline.com
- //www.westernsilver.com
- //www.stippy.com
- //www.sapergalleries.com










 

Create Date : 02 มิถุนายน 2551    
Last Update : 2 มิถุนายน 2551 22:19:54 น.
Counter : 3398 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.