|
ที่มาและพัฒนาการของอักษรจีน
นับแต่โบราณกาลมา ผู้คนรู้จักใช้เส้นเชือก ภาพวาดและเครื่องหมาย เพื่อใช้ในการจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ เมื่อล่วงเวลานานเข้า จึงเกิดวิวัฒนาการกลายเป็นตัวอักษร สำหรับศิลปะในการเขียนตัวอักษรจีนนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อม ๆกับตัวอักษรจีนเลยทีเดียว ดังนั้น การจะศึกษาถึงศิลปะในการเขียนตัวอักษรจีน จึงต้องทำความเข้าใจถึงต้นกำเนิดของตัวอักษรควบคู่กันไป
 " อักษรภาพที่เก่าแก่ที่สุดในจีน "
การปรากฏของอักษรจีนที่เก่าแก่ที่สุด มาจากแหล่งโบราณคดีปั้นปอ จากเมืองซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน สามารถนับย้อนหลังกลับไปได้กว่า 5,000 ปี โดยอยู่ในรูปของอักษรภาพ ที่สลักเป็นรูปวงกลม เสี้ยวพระจันทร์และภูเขาห้ายอดบนเครื่องปั้นดินเผา จวบจนถึงเมื่อ 3,000 ปีก่อน จึงก้าวเข้าสู่รูปแบบของอักษรจารบนกระดูกสัตว์ ซึ่งนับเป็นยุคต้นของศิลปะการเขียนอักษรจีน เมื่อปี ค.ศ. 1899 ชาวบ้านจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภออันหยาง มณฑลเหอหนันประเทศจีน ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกกันว่า กระดูกมังกร จึงนำมาใช้ทำเป็นตัวยารักษาโรค ต่อมาเนื่องจากพ่อค้าหวังอี้หรง เกิดความสนใจต่อตัวอักษรบนกระดูก จึงสะสมไว้มีจำนวนกว่า 5,000 ชิ้น และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาวิจัย พบว่ากระดูกมังกรนั้นแท้ที่จริง คือ กระดูกที่จารึกอักขระโบราณของยุคสมัยซาง ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปีก่อนคริสตกาล
 " กระดูกมังกร " ที่ภายหลังพบว่าเป็นบันทึกอักขระโบราณ
ทั้งนี้ หากเรียงลำดับวิวัฒนาการตัวอักษรจีน ผ่านยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ อาจสามารถแบ่งได้โดยสังเขป ดังนี้ เริ่มจาก เจี๋ยกู่เหวิน หรือ อักษรจารบนกระดูกสัตว์ , จินเหวิน หรือ อักษรโลหะ, อักษรเสี่ยวจ้วน หรือ จ้วนเล็ก, อักษรลี่ซู, อักษรข่ายซู, อักษรเฉ่าซู และ อักษรสิงซู เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการของตัวอักษรจีน เกิดจากการฟูมฟักอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการผสมผสานกันของอักษรชนิดที่แตกต่างกันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผ่านการขัดเกลาจนเกิดเป็นตัวอักษรชนิดใหม่เข้าแทนที่อักษรชนิดเดิม ไม่ใช่การยกเลิกอักษรชนิดเก่าโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้คนในยุคต่อมาจึงยังคงมีการศึกษาและใช้อักษรในยุคเก่าก่อน ทั้งในเชิงศิลปะหรือในชีวิตประจำวันที่ยังคงพบเห็นได้อยู่เสมอ
 " อักษรจารบนกระดูกสัตว์ "
อักษรจารบนกระดูกสัตว์ ((甲骨文)) เป็นอักขระโบราณ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของจีนเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน โดยมากอยู่ในรูปของบันทึกการทำนายที่ใช้มีดแกะสลัก หรือจารลงบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ ปรากฏแพร่หลายในราชสำนักซางเมื่อ 1,300 1,100 ปีก่อนคริสตกาล ลักษณะของตัวอักขระบางส่วน ยังคงมีลักษณะของความเป็นอักษรภาพอยู่ โครงสร้างตัวอักษรเป็นรูปวงรี มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกัน ที่ขนาดใหญ่บ้างสูงถึงนิ้วกว่า ขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าว บางครั้งในอักขระตัวเดียวกันยังมีวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน ตัวอักษรมีการพัฒนาการในแต่ละช่วงเวลา โดยมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ - ยุคต้น ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ - ยุคกลาง มีขนาดเล็กและลายเส้นที่เรียบง่ายกว่า - เมื่อถึงยุคปลายจะมีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรจินเหวิน หรืออักษรโลหะ ที่มีความเป็นระเบียบสำรวม
 " อักษรโลหะ "
อักษรโลหะ ((金文)) เป็นอักษรที่ใช้ในสมัยซาง ต่อเนื่องถึงราชวงศ์โจว (1,100 771 ปีก่อนคริสตศักราช) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จงติ่งเหวิน ((钟鼎文)) หมายถึง อักษรที่หลอมลงบนภาชนะทองเหลืองหรือสำริด เนื่องจากตัวแทนภาชนะสำริดในยุคนั้นได้แก่ ติ่ง ซึ่งเป็นภาชนะคล้ายกระถางมีสามขา ใช้แสดงสถานะทางสังคมของคนในสมัยนั้น และตัวแทนจากเครื่องดนตรีที่ทำจากโลหะ คือ จง หรือ ระฆัง ดังนั้นอักษรที่สลักหรือหลอมลงบนเครื่องใช้โลหะดังกล่าว จึงเรียกว่า จงติ่งเหวิน มีลักษณะพิเศษ คือ มีลายเส้นที่หนาหนัก ร่องลายเส้นราบเรียบที่ได้จากการหลอม ไม่ใช่การสลักลงบนเนื้อโลหะ อักษรโลหะในสมัยหลังรัชสมัยเฉิงหวังและคังหวังแห่งราชวงศ์โจว จะมีความสง่างาม สะท้อนภาพลักษณ์ที่สุขุมเยือกเย็น เนื้อหาที่บันทึกด้วยอักษรโลหะ โดยมากเป็นคำสั่งการของชนชั้นผู้นำ, พิธีการบูชาบรรพบุรุษ, บันทึกการทำสงคราม เป็นต้น มีการบันทึกการค้นพบอักษรโลหะตั้งแต่รัชสมัยฮั่นอู่ตี้ในราชวงศ์ฮั่น (116 ปีก่อนคริสตศักราช) บนภาชนะ ติ่ง ที่ส่งเข้าวังหลวง ดังนั้น จึงมีการศึกษาและการทำอรรถาธิบายจากปัญญาชนในยุคต่อมา
 " อักษรจ้วนเล็ก "
จากสมัยชุนชิวจั้นกว๋อ จนถึงยุคการก่อตั้งราชวงศ์ฉิน (770 202 ปีก่อนคริสตศักราช) โครงสร้างของตัวอักษรจีน โดยมากยังคงรักษารูปแบบเดิมจากราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งนอกจากอักษรโลหะแล้ว ยังมีอักษรรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม กับการบันทึกลงในวัสดุแต่ละชนิด เช่น - อักษรที่ใช้ในการลงนามสัตยาบันร่วมระหว่างแว่นแคว้น ที่สลักลงบนแผ่นหยกก็เรียกว่า " หนังสือพันธมิตร " - หากสลักลงบนไม้ก็เรียก " สาส์นไม้ " - หากสลักลงบนหินก็เรียก " ตัวหนังสือกลองหิน " ฯลฯ
นอกจากนี้ ก่อนการรวมประเทศจีน บรรดาเจ้านครรัฐหรือแว่นแคว้นต่างก็มีตัวอักษรที่ใช้แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนหนึ่งได้แก่ อักษรจ้วนใหญ่ หรือ ต้าจ้วน ((大篆)) ซึ่งเป็นต้นแบบของเสี่ยวจ้วนในเวลาต่อมา ภายหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ได้รวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันในปีค.ศ. 221 แล้ว ก็ทำการปฏิรูประบบตัวอักษรครั้งใหญ่ โดยการสร้างมาตรฐาน รูปแบบตัวอักษรที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ กล่าวกันว่า ภายใต้การผลักดันของมหาเสนาบดีหลี่ซือ ได้มีการนำเอาตัวอักษรดั้งเดิมของรัฐฉิน(อักษรจ้วน) มาปรับให้เรียบง่ายขึ้น จากนั้นเผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยกเลิกอักษรที่มีลักษณะเฉพาะจากแว่นแคว้นอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน อักษรที่ผ่านการปฏิรูปนี้ รวมเรียกว่า " อักษรเสี่ยวจ้วนหรือจ้วนเล็ก " ((小篆)) ถือเป็นอักษรที่ใช้ทั่วประเทศจีนเป็นครั้งแรก
 " อักษรลี่ซู "
ขณะที่ยุคสมัยฉิน ประกาศใช้อักษรจ้วนเล็กอย่างเป็นทางการ พร้อมกันนั้นก็ปรากฏว่า มีการใช้อักษร " ลี่ซู ((隶书)) ควบคู่กันไป โดยมีการประยุกต์มาจากการเขียนอักษรจ้วนอย่างง่าย อักษรลี่ซู ทำให้อักษรจีนก้าวเข้าสู่ขอบเขตของอักษรสัญลักษณ์อย่างเต็มรูปแบบ อาจกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการของการเปลี่ยนรูปจากอักษรโบราณ ที่ยังมีความเป็นอักษรภาพสู่อักษรจีนที่ใช้ในปัจจุบัน สำหรับที่มาของอักษรลี่ซูนั้น กล่าวกันว่า สมัยฉินมีทาสที่เรียกว่า " เฉิงเหมี่ยว " ผู้หนึ่ง เนื่องจากกระทำความผิด จึงถูกสั่งจำคุก เฉิงเหมี่ยวที่อยู่ในคุกคุมขัง จึงคิดปรับปรุงตัวอักษรจ้วนให้เขียนง่ายขึ้น จากโครงสร้างกลมเปลี่ยนเป็นสี่เหลี่ยมกลายเป็นอักษรรูปแบบใหม่ จิ๋นซีฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงโปรดอย่างมาก จึงทรงแต่งตั้งให้เฉิงเหมี่ยว ทำหน้าที่อารักษ์ในวังหลวง ต่อมาตัวหนังสือชนิดนี้แพร่หลายออกไป จึงมีการเรียกชื่อตัวหนังสือชนิดนี้ว่า อักษรลี่ซู หรือ อักษรทาส (คำว่า ลี่ ในภาษาจีนหมายถึง ทาส) แต่ในเชิงโบราณคดีนั้น พบว่า อักษรลี่ซู เป็นอักษรที่ใช้เขียนบนวัสดุที่ทำจากไม้หรือไม้ไผ่ มาตั้งแต่ยุคจั้นกว๋อจนถึงสมัยฉิน และมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ จวบถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นได้กลายเป็นอักษรที่ได้รับความนิยมสูงสุด
 " อักษรข่ายซู หรือ ตัวบรรจงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน "
อักษรข่ายซู ((楷书)) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า " อักษรจริง " ((真书)) เป็นอักษรจีนรูปแบบมาตรฐาน ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน (คำว่า 楷 อ่านว่า ข่าย มีความหมายว่าแบบฉบับหรือตัวอย่าง) อักษรข่ายซูเป็นเส้นสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้น ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม หลุดพ้นจากรูปแบบอักษรภาพของตัวอักขระยุคโบราณอย่างสิ้นเชิง อักษรข่ายซู มีต้นกำเนิดในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ภายหลังราชวงศ์วุ่ยจิ้น(สามก๊ก) (คริสตศักราช 220 316) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากการก้าวเข้าสู่ขอบเขตขั้นใหม่ ของอักษรลี่ซู พัฒนาตามมาด้วย อักษรข่ายซู, เฉ่าซู และ สิงซู ก้าวพ้นจากข้อจำกัดของลายเส้นที่มาจากการแกะสลัก เมื่อถึงยุคถัง (คริสตศักราช 618 907) จึงก้าวสู่ยุคทองของอักษรข่ายซูอย่างแท้จริง จวบจนปัจจุบัน อักษรข่ายซูยังเป็นอักษรมาตรฐานของจีน
 " ตัวอักษรเฉ่าซู หรือ ตัวอักษรหวัด "
ตั้งแต่กำเนิดมีตัวอักษรจีนเป็นต้นมา อักษรแต่ละรูปแบบล้วนมีวิธีการเขียนแบบตัวหวัดทั้งสิ้น จวบจนถึงราชวงศ์ฮั่น อักษรหวัดจึงได้รับการเรียกขานว่า อักษรเฉ่าซู ((草书)) อย่างเป็นทางการ (คำว่า เฉ่า ในภาษาจีนหมายถึง อย่างลวก ๆ หรือ อย่างหยาบ) อักษรเฉ่าซู เกิดจากการนำเอาลายเส้นที่มีแต่เดิม มาย่นย่อเหลือเพียงขีดเส้นเดียว โดยฉีกออกจากรูปแบบอันจำเจ ของกรอบสี่เหลี่ยมในอักษรจีน หลุดพ้นจากข้อจำกัดของขั้นตอน วิธีการขีดเขียนอักษรในแบบมาตรฐานตัวคัดหรือข่ายซู ในขณะที่อักษรข่ายซูอาจประกอบขึ้นจากลายเส้นสิบกว่าสาย แต่อักษรเฉ่าซูเพียงใช้ 2 3 ขีด ก็สามารถประกอบเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกันได้
 " ตัวอักษรสิงซู หรือ ตัวอักษรกึ่งหวัดแกมบรรจง "
อักษรสิงซู ((行书)) เป็นรูปแบบตัวอักษร ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอักษรข่ายซูและอักษรเฉ่าซู เกิดจากการเขียนอักษรตัวบรรจงที่เขียนอย่างหวัด หรืออักษรตัวหวัดที่เขียนอย่างบรรจง อาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวอักษรกึ่งตัวหวัดและกึ่งบรรจง อักษรสิงซูกำเนิดขึ้นในราวปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก รวบรวมเอาปมเด่นของอักษรข่ายซูและเฉ่าซูเข้าด้วยกัน
อักขระโบราณและอักษรปัจจุบัน
ตัวอักษรจีน สามารถแบ่งออกเป็น อักขระที่ใช้ในสมัยโบราณกับอักษรที่ใช้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อักษรลี่ซูซึ่งเป็นรูปแบบของอักขระโบราณ อันเป็นต้นแบบของการปฏิรูปลักษณะตัวอักษรจีนครั้งใหญ่ กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างอักษรรุ่นเก่าและใหม่ ยุคสมัยที่ใช้อักษรลี่ซูและก่อนหน้านั้นถือเป็นอักขระโบราณ ได้แก่ อักษรจารบนกระดูกสัตว์ หรือ เจี๋ยกู่เหวินจากสมัยซาง, อักษรโลหะจากราชวงศ์โจวตะวันตก, อักษรเสี่ยวจ้วนจากยุคสมัยจั้นกว๋อและสมัยฉิน
หลังจากกำเนิดอักษรลี่ซูให้ถือเป็นอักษรในยุคปัจจุบัน อันได้แก่ อักษรลี่ซู, อักษรข่ายซู สำหรับอักษรเฉ่าซูและสิงซู อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพียงพัฒนาการของรูปแบบตัวอักษร ไม่ใช่วิวัฒนาการของตัวอักษรจีนโดยรวม
*** ขอบคุณ (Thank You)ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th)
Create Date : 07 พฤษภาคม 2551 | | |
Last Update : 7 พฤษภาคม 2551 18:27:10 น. |
Counter : 2263 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
"ระบบเส้นสายและพวกพ้อง อำนาจชี้ขาดบนดินแดนมังกร
การเมืองระหว่างพรรค, ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และ ความละโมบที่อยู่คู่โลกมาช้านาน ยังคงชนะเหนือทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินจีน
การเมืองในหมู่คนจีนนั้น แท้ที่จริง มักไม่เป็นเหมือนอย่างหน้าฉากที่เห็น แต่มีเบื้องหลังซับซ้อน สายสัมพันธ์โยงใยมากมายกว่าที่คิด
และเหตุการณ์ชาวบ้านท่าเรือ ที่เซี่ยเหมิน ลุกฮือขึ้นต่อต้านการก่อสร้างโรงงานผลิต PX สารเคมีอันตราย ซึ่งใช้ทำพลาสติก และโพลีเอสเตอร์ คือบทพิสูจน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม (2550) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า สั่งคณะผู้บริหารเมืองเซี่ยเหมิน ระงับการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว หลังนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ หยิบยกปัญหาความปลอดภัยขึ้นมาโต้แย้ง กระทั่งราวต้นเดือนธันวาคม ผลการศึกษาทบทวนทางวิชาการ ซึ่งทำขึ้นอย่างอิสระและรอกันมานาน สรุปออกมาว่า ควรดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ ในข้อแม้ว่า ต้องมีการจำกัดการปล่อยมลพิษ และ การสร้างอาคารอาศัยในบริเวณเท่านั้น
 ชาวบ้านที่มาประท้วงการก่อสร้างโรงงาน PX
รูปการณ์เป็นไปในทำนองว่า รัฐฟังเสียงของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่แอบซ่อนหาเป็นเช่นนั้นไม่ จากปากคำของแหล่งข้อมูลที่เป็นสื่อมวลชนของรัฐเอง ก็คือ มีประกาศิตลงมาตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้าจาก ประธานาธิบดี หู จิ่น เทา นายใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานต่อไปได้ โดยที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมิได้นำมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ แม้ฉากหน้า บรรดาผู้นำจีน จะขานรับเสียงเรียกร้องของประชาชนก็ตาม แต่เป็นเพราะเจ้าของโรงงาน คือ " ไต้หวัน เสียงลู่ แอนด์ ดราก้อน กรุ๊ป " มีนายใหญ่ผู้เป็นศัตรูกับรัฐบาลไต้หวัน ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี เฉิน สุย เปี่ยน ผู้ปรารถนาประกาศเอกราชไต้หวันจากจีน รัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งยืนกรานว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตน ถือศัตรูของประธานาธิบดี เฉิน สุย เปียน คือ มิตร โดยประธานาธิบดีหู อ้างเหตุผลในคำสั่งว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบ และผลประโยชน์ธุรกิจของชาวไต้หวัน
ปัญหาการก่อการสร้างโรงงาน PX ตอกย้ำถึงการปะทะทางสังคมที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นในจีน ระหว่างเครือข่ายปัญญาชน, นักเคลื่อนไหวด้านสื่อมวลชน และ ประชาชน กับโลกของนักลงทุนและพรรคการเมือง ที่สัมพันธ์กันแน่นแฟ้นและปิดประตูแน่น เป็นวิถีที่ดำเนินมาช้านาน
จีนมีการพูดถึง " การให้อำนาจแก่ประชาชน " แต่ " กวานซี หรือ ความสัมพันธ์ของสหายเก่า " และผลประโยชน์ส่วนตัวของพรรคอมมิวนิสต์ต่างหาก ที่เป็นกลไกผลักดันวิถีชีวิตในทุกวันนี้ของผู้คนบนแผ่นดินใหญ่
 ที่ตั้งโรงงาน PX
แผ่นดินใหญ่ นายเฉิน โหยว หาว ประธานบริหารของ ดราก้อน กรุ๊ป ยังหลบหนีการถูกดำเนินคดีในไต้หวันในข้อหายักยอกสินทรัพย์ มูลค่า 126 ล้านดอลลาร์ จากบริษัทของตนเองในไต้หวัน โดยถูกขึ้นบัญชีบุคคลที่ทางการไต้หวันต้องการตัวมากที่สุด แต่ปักกิ่งกลับออกหนังสือเดินทางให้ ขณะที่นาย เฉิน ปฏิเสธข้อกล่าวหาคอเป็นเอ็น แต่ก็หลบมากบดานในจีน และ ลอสแองเจลิส
ความขัดแย้งระหว่างนาย เฉิน กับ ผู้นำไต้หวัน ยิ่งดุเดือดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2547 เมื่อนาย เฉิน กล่าวหา ประธานาธิบดี เฉิน สุย เปียน ,ภรรยา และคนสนิทว่า ทุจริตรับสินบนระหว่างการหาเสียง
ขณะที่ตัวนายเฉินเองก็จ่ายสินบนให้พรรคการเมือง ในนามของ ผู้บริจาคเงินเข้าพรรคอย่างถูกกฎหมายให้แก่พรรคก๊กมินตั๋ง พรรคฝ่ายค้านไต้หวัน ซึ่งญาติดีกับจีน
ปรากฏว่าในเดือนเดียวกันนั้นเอง นาย เฉิน โหยว หาว ก็ได้รับใบอนุญาตให้ผลิต PX ในเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็น ธุรกิจการลงทุนของต่างชาติอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก ทั้งที่ ผลการวิจัยระบุว่า โรงงานอีกหลายแห่งในเมืองดังกล่าวของบุคคลผู้นี้ ปล่อยมลพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ชาวบ้านในเมืองเวินฉั้ว เล่าว่า ได้ร้องเรียนทางการมานานหลายปีเรื่องโรงงานเสียงลู่ ซึ่งอยู่ใกล้กัน ปล่อยควันพิษ และกลิ่นน้ำส้มเหม็นโฉ่ไปทั่ว
ปัญหามลพิษจากการสร้างโรงงาน PX ถูกเปิดประเด็นขึ้น หลังจากนายเจ้า อี้ว์ เฟิน แห่งมหาวิทยาลัย เซี่ยเหมิน ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลจีน เตือนถึงอันตรายจากการก่อสร้างโรงงานแห่งนี้ เช่น ปัญหาการรั่วไหล, การระเบิด, ความเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง และทารกคลอดออกมาพิการ แต่ผู้บริหารโรงงานออกมาปฏิเสธ และยื่นฟ้องนายเจ้าเรียกค่าเสียหาย ในข้อหาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ซ้ำด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองยัง คุยฟุ้งว่า โรงงานจะช่วยให้ GDP ของเมืองโตขึ้นอีก 2 เท่า
การเดินหน้าก่อสร้างโรงงานในขั้นสุดท้าย จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ทางการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงนับสิบคน และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ ผู้ต่อต้านรายหนึ่งแสดงความข้องใจกับการกระทำของนายเฉิน
ชาวเซี่ยเหมินได้ให้โอกาสเขาสร้างอนาคตอีกครั้งที่นี่ และคำตอบไขปริศนานี้ก็คือ รัฐบาลปักกิ่งเพียงผู้เดียวเท่านั้น คือ ผู้ชี้ชะตากรรมของนายเฉินบนแผ่นดินใหญ่ มิใช่ชาวบ้าน หรือ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างที่พาซื่อเข้าใจกันเลย
***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัการออนไลน์ 17 ธันวาคม 2550 - New's Week
Create Date : 16 มกราคม 2551 | | |
Last Update : 16 มกราคม 2551 16:11:51 น. |
Counter : 456 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เมื่อพญามังกรผงาดขึ้นท้าทายอินทรีกับเบญจมาศ

จีน มหาอำนาจที่เคยยิ่งใหญ่อย่างยิ่งในหน้าของประวัติศาสตร์โลก เคยรุ่งเรืองมากกว่ามหาอำนาจของตะวันตกในปัจจุบัน ทว่า ในห้วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ท่ามกลางสงครามภายในประเทศที่แทบไม่ได้ขาดสาย ทำให้ประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้าระดับโลกในอดีต ต้องหยุดการพัฒนาตนเองลงไป จนฐานะมหาอำนาจของโลกในอดีต ต้องสะดุดและหยุดลงในห้วงหนึ่งอย่างน่าเสียดาย
ในงานสัมมนา 120 ปี ความสัมพันธ์การทูต ไทย ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกกับอุษาคเนย์ อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวานิช ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องจีนและภาษาจีน ได้แจกแจงให้เห็นถึง ยุคแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมของจีน ไว้เป็น 3 ช่วงว่า " จีนเคยรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ถังเมื่อราว 1,300 กว่าปีก่อน คนจีนทั้งหลายเรียกตัวเองว่าเป็น คนถัง (ตึ่งนั๊ง) หรือ ย่านคนจีนทั้งหลายอย่างไชน่าทาวน์ หรือ เยาวราช ในปัจจุบัน ก็ยังเรียกว่า ถังเหรินเจีย หรือ ถนนชาวถัง ความรุ่งเรืองในอดีตนั้น แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้องมานำวิทยาการต่างๆจากจีนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม หรือ ชุดกิโมโน เป็นต้น ยกเว้นแต่ความคิดของลัทธิขงจื่อ (ขงจื๊อ) ที่ญี่ปุ่นไม่ได้นำไป นี่เรียกว่าเป็นช่วงที่ มังกรใหญ่ ญี่ปุ่นเล็ก
ทว่า เมื่อข้ามมาในพันปีให้หลัง หลังเข้าสู่ยุคสงครามโลก ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม มุ่งเน้นพัฒนาการทหาร กลับเป็นยุคที่จีนยังคงปิดประเทศ จนกระทั่งถูกชาติต่างๆ เข้ารุกราน พญามังกรต้องเซ็นสัญญาเพื่อยกดินแดนบางส่วนของตนให้กับต่างชาติไป ในช่วงเวลานี้เอง ญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาคว้าไต้หวันเข้าไปอยู่ในการยึดครอง เป็นช่วงที่อาจเรียกได้ว่า ญี่ปุ่นใหญ่ มังกรหงอ

และแล้ว เมื่อกาลล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ในระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มี GDP มากกว่า 9% มาเกือบ 30 ปี และมี GDP มากกว่า 10% ต่อเนื่องมาถึง 5 ปี ประเด็นนี้ อาจารย์ จุลชีพ ชินวรรโณ จาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ระบุว่า การลงทุนอย่างมหาศาลในจีนช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะรัฐบาลจีนได้มองไปในอนาคต ไม่เพียงรัฐเอาเงินมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังได้เปิดรับนักลงทุนจากที่ต่างๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนโพ้นทะเล หรือ ชาติตะวันตก อาทิ โฟล์กสวาเกน ที่เข้ามาลงทุนตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนรถแท็กซี่ส่วนใหญ่ในจีนเป็นโฟล์กเกือบทั้งนั้น อเมริกา ญี่ปุ่น ก็ทุ่มการลงทุนไปที่จีนอย่างมโหฬาร นอกจากนั้น จีนยังมีตัวเลขการส่งออกที่มหาศาล จนในปีที่แล้ว(2549) ได้เปรียบดุลการค้าถึง 177,470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในยุคนี้ จีนได้กลับมาผงาดอีกครั้ง นอกจากสาเหตุด้านการลงทุน และปัจจัยด้านการผลิต ที่ทำให้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น โรงงานโลก แล้ว การสืบทอดอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นระเบียบก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ยุคสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ที่ได้เล็งเห็นว่า จีนจำเป็นต้องมีการสืบทอดอำนาจอย่างเป็นระบบ จากรุ่นที่ 2 มาจนถึงรุ่นที่ 4 และกำลังจะถ่ายทอดไปถึงรุ่นที่ 5 โดยหนึ่งในนั้นคือ การกำหนดให้มีการเกษียณอายุของผู้นำ และให้กำหนดการอยู่ในอำนาจสูงสุดได้ไม่เกิน 2 สมัย แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา หลายคนต่างเชื่อว่า สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่โลกขาดไม่ได้ ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีอิทธิพลอย่างสูง ใช้อำนาจผ่านกองทุน IMF ว่า จะให้ความช่วยเหลือประเทศใดเท่าไหร่ อีกทั้งยังเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยไม่มีใครเคยเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์จะตก
ทว่าทุกวันนี้ มหาอำนาจที่ถือเป็นยักษ์ของโลก เริ่มไม่ได้มีเพียงแต่สหรัฐฯ อีกต่อไป เงินดอลลาร์ในรอบปียังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง วิกฤตซับไพรม์ ได้กระทบกระเทือนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจอีกหลายประเทศ นอกจากนั้น ความล้มเหลวทางการทหารในอิรัก และ อาฟกานิสถาน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของอเมริกา ในเวลาเดียวกันนี้ เศรษฐกิจอันร้อนแรง ได้ผลักให้จีนขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่หลายคนได้จับตาว่า สักวันจะขึ้นมาเทียบเท่าสหรัฐฯ ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จีนจะไปถึงวันนั้น ก็ยังมีปัญหาหลายอย่างที่จีนจำเป็นจะต้องรับมือจากเศรษฐกิจ ที่โตแบบติดปีกเช่นนี้ อาทิ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมจีนได้ก่อให้เกิดมลพิษขึ้นมากมาย รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความแตกต่างระหว่างชนบทกับเมือง

มังกรกับเบญจมาศในอุษาคเนย์ อุษาคเนย์ได้มีการ ติดต่อกับจีนหลายพันปี ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น จีนมีการติดต่อกับหลายประเทศ เส้นทางแพรไหมเชื่อมจีนสู่โรมัน เรือสินค้าจีนมุ่งมาอาเซียน จากบันทึกของราชทูต ได้มีการพูดถึงอาณาจักรฟูนัน เจนละ ทวารวดี รวมไปถึงการเดินเรือของเจิ้งเหอ
ในปัจจุบัน จีนได้ประกาศนโยบายความมั่นคงใหม่ กล่าวคือ ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหาร แต่มีบริบททางด้านเศรษฐกิจสังคมและเป็นความร่วมมือระหว่างกัน จนทำให้ได้รับการยอมรับในเอเชียอาคเนย์มากขึ้น นอกจากนั้น จีนยังใช้วิธีการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มีความร่วมมือแบบพหุภาคีกับอาเซียน กำหนดให้มีการเจรจาโดยสันติวิธีในกรณีมีข้อพิพาท

แต่กับประเทศไทย ญี่ปุ่นกลับจัดเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุด โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศส่องออกอันดับ 2 ของไทย และเป็นประเทศที่ไทยได้นำเข้าสินคาเป็นอันดับหนึ่ง จนขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นในด้านของการลงทุน ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนไทยสูงสุดมาโดยตลอดจนถึงปี 2005 และเป็นชาติที่มีคนมาเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 2 มีการลงทุนกว่าครึ่งของประเทศอื่นรวมกัน อีกทั้งเมื่อพิจารณาดูจาก GDP แต่ละปีของไทย ก็จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับการลงทุนจากญี่ปุ่น
ล่าสุด FTA ไทย-ญี่ปุ่น หรือ ที่เรียกกันว่า JTEPA ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เซ็นไปและมีผลบังคับเมื่อ 1 พ.ย. 50 ที่ผ่านมา เพราะการเซ็นสัญญาดังกล่าว มีความแตกต่างจากการเซ็น FTA กับจีน ที่เน้นแต่เพียงเรื่องการค้า ในขณะที่การเซ็นกับญี่ปุ่นนั้นครอบคลุมไปถึง เรื่องการบริการ การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองว่า ในอนาคต JTEPA จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในแง่บวกหรือลบอย่างไร และอิทธิพลของจีนกับญี่ปุ่นที่เข้ามาในอุษาคเนย์ จะพัฒนาต่อไปในด้านไหน ?
*** ขอขอบคุณ(Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ - ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 //www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000139877 - //www.renemoaseart.com - //www.avians.net
Create Date : 13 มกราคม 2551 | | |
Last Update : 13 มกราคม 2551 23:16:16 น. |
Counter : 601 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|