ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

ละครจีนในความทรงจำ







ละครจีนต่างๆ เหล่านี้ ยังอยู่ในความทรงจำของคุณหรือเปล่า ?


ในอดีตผ่านมาจนถึงปัจจุบันหลายต่อหลายยุค
เราได้ดูสื่อบันเทิงที่เรียกว่า “ละครจีน” กันตั้งแต่เมื่อไหร่
บางคนเกิดมาพร้อมกับความทรงจำต่อสื่อบันเทิงเหล่านี้
ตัวละครหลายตัวกลายเป็นฮีโร่ของคนบางคนตั้งแต่เด็กจนโต
ไม่ว่าจะเป็น ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง, เอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่ง,
ชอลิ้วเฮียง, เซียวฮื่อยี้, ฮวยบ่อข่วย ฯลฯ
ได้ถูกนำมาสร้างใหม่หลายครั้ง เปลี่ยนพระเอกกันไปก็หลายคน
ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของแต่ละคน เชื่อว่าต่างก็มีความทรงจำกับดารา
ที่แสดงในยุคนั้นๆ แตกต่างกันไป

นั่งดูซีรี่ย์จีนยุคปัจจุบันอยู่ดีๆ ก็นึกไปถึงเรื่องเก่าๆ ที่เคยดู
และยังประทับใจไม่ลืม ก็เลยไปลองค้นๆ คุ้ยๆ มาแบ่งปันกัน
เป็นเรื่องที่ดังมากๆ ในสมัยก่อน นำมาให้ดูกันจะได้คลายความคิดถึง
และพาย้อนรำลึกความทรงจำในวันวานไปพร้อมๆ กัน
ไปดูกันค่ะว่ามีเรื่องอะไรบ้าง



หมีเซี๊ยะ - ไป่เปียว (ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง)
จากเรื่อง " มังกรหยก "




หลี่ทงหมิง - หลัวเล่อหลิน (เอี้ยก้วย-เซียวเหล่งนึ่ง)
จากเรื่อง " มังกรหยก "




หวงยื่อหัว - องเหม่ยหลิง
คู่ " ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง " ที่เป็นอมตะในใจใครหลายคน




เหมียวเฉียวเหว่ย (เอี้ยคัง) จาก " มังกรหยก "




เหลียงเฉาเหว่ย - หลีเหม่ยเสียน
จากเรื่อง " เดชเซียวฮื่อยี้ "




เจิ้นเส้าชิว - หวังหมิงฉวน - เจ้าหย่าจือ
ในเรื่อง " ชอลิ้วเฮียง จอมโจรจอมใจ "




หมีเซี๊ยะ - หวีอันอัน ในเรื่อง " ศึกสองนางพญา "




ฉีเส้าเฉียน - หลิวเซียะหัว จากเรื่อง " กระบี่ไร้เทียมทาน "




" ขุนศึกตระกูลหยาง " รวมดาราดัง TVB ไว้เพียบ




หลิวเซียะหัว ในบท " ซูสีไทเฮา "




บูเช็คเทียน เรื่องนี้จำชื่อดารานำไม่ได้




เหลียงเฉาเหว่ย - เติ้งชุ่ยเหวิน - หลีเหม่ยเสียน - เส้าเหม่ยฉี
จากเรื่อง " ดาบมังกรหยก "




เจิ้นอวี้หลิง ในเรื่อง " เจ้าจอมหน้าด่าง "




หวงยื่อหัว - เฉินเฮ่าหมิน จากเรื่อง " 8 เทพอสูรมังกรฟ้า "




ว่านจื่อเหลียง - เฉินซิ่วจู ในเรื่อง " เล็กเซียวหงส์ "





***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความ และภาพประกอบ
- คอลัมน์ "มุมจีน"- ผู้จัดการออนไลน์
- //www.lhchinesepaintings.com
- BG สวยๆ จาก คุณ CrackyDong






 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 28 พฤษภาคม 2551 20:26:34 น.
Counter : 3481 Pageviews.  

5 ทศวรรษ กับ 5 นางเอกของ "ฉงเหยา"







แฟนละครจีน ใครที่ไม่เคยชมละครที่สร้างจากนวนิยายของ "ฉงเหยา" นั้น
ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งนัก หลายคนน่าจะคุ้นหูหรือเคยผ่านตามาบ้างแล้ว
กับ “ ตำนานรักดอกเหมย ” ยุคแรกๆ จนมาถึง “ องค์หญิงกำมะลอ ”
ตัวละครหลายตัวอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คน
โดยเฉพาะนักแสดงที่มารับบทเหล่านั้น ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี
ที่นวนิยายของฉงเหยาได้ทำให้นักแสดงหลายคนมีชื่อเสียงขึ้นมา
โดยเฉพาะนักแสดงหญิงที่ได้รับบทชีวิตรันทดจนเป็นที่น่าสงสาร
มาดูกันหน่อยซิว่า ตลอดเกือบ 5 ทศวรรษของที่ผ่านมา
นักแสดงหญิงส่วนหนึ่งที่ดังเป็นพลุแตกจากวรรณกรรมฉงเหยานั้น
มีใครกันบ้าง



หลินชิงเสีย

หลินชิงเสีย ร่วมงานกับฉงเหยาเรื่องแรก
ในละครเรื่อง “หว่อซื่ออีเพี่ยนอวิ๋น” 《我是一片云》 คู่กับ “ ฉินฮั่น ”
ทำให้ทั้งสองกลายเป็นคู่ขวัญในยุคนั้นทันที หลังจากนั้นเธอก็กลายเป็น
นางเอกลูกหม้อของฉงเหยาไปพร้อมๆ กัน
เพราะมีผลงานละครตามมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว
หลินชิงเสีย ก็ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ จนกลายเป็นราชินีจอเงินไปในที่สุด
ปัจจุบันแม้เธอจะถอนตัวออกจากวงการแล้ว
ก็ยังคงพบเห็นเธอได้ตามหน้าข่าวบันเทิงทั่วไป




หลี่ว์ซิ่วหลิง

หลี่ว์ซิ่วหลิง เป็นนางเอกของฉงเหยาคนหนึ่งที่โด่งดังมากในช่วงทศวรรษที่ 80
เป็นนางเอกที่มีภาพลักษณ์สวยงามอ่อนโยนแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่ง
หลังจากการค่อยๆ ถอนตัวออกจากวงการละครของหลินชิงเสีย
การเข้ามาของเธอนับว่าเป็นเรื่องเหมาะเจาะที่สุด
ผลงานที่น่าจดจำของเธอก็อย่างเช่นเรื่อง
“จี้ว์ซ่านเหลี่ยงอีอี” 《聚散两依依》, "ม่งเตออีซาง” 《梦的衣裳》 เป็นต้น
หลังจากแต่งงานมีครอบครัวไปอยู่ที่นิวยอร์กแล้ว ยากนักที่จะได้พบเห็นเธออีก



หลิวเสี่ยว์หัว

แฟนละครเปาบุ้นจิ้น หรือ ตำนานรักดอกเหมย
น่าจะคุ้นหน้ากับสาวคนนี้ที่มีนามว่า หลิวเสี่ยว์หัว
ฉงเหยาเคยกล่าวว่า นอกจากเธอจะเป็นนักแสดงแล้ว
เธอยังเป็นเพื่อนที่ดีของฉงเหยาด้วย อีกทั้งยังเป็นนักแสดงมากความสามารถ
เรียกน้ำตาระหว่างการแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม ผลงานอันเป็นที่รู้จักก็อย่างเช่นเรื่อง “ชิงชิงเหอเปียนเฉ่า” 《青青河边草》 "ซินเยี่ยเก๋อเกอ” 《新月格格》 ฯลฯ
แต่เราเองกลับจำเธอได้ดีในบทบาทของ " ซูสีไทเฮา "




เฉินเต๋อหยง

เฉินเต๋อหยง สาวน้อยตากลมที่วัยรุ่นยุค 80 เป็นต้นไปต้องรู้จัก
นางเอกสัญลักษณ์ “ ตำนานรักดอกเหมย ” 《梅花烙》 อย่างแท้จริง
ที่ทำให้คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะถือว่าเธอดังเป็นพลุแตกจากละครของฉงเหยา
ก็คงไม่แปลกอะไร หลังจากนั้นเธอก็ก้าวสู่การเป็นนางเอกอันดับหนึ่งของไต้หวัน
พร้อมกับมีผลงานมากมายเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงเรื่อง “เดชเซียวฮื่อยี้”
ที่เธอรับบท ทิซิมลั้ง อีกด้วย




เจ้าเวย


ถ้าจะกล่าวว่าเจ้าเวย คือ คนที่เกิดมาเพื่อรับบท “เสี่ยวเยี่ยนจื่อ”
ตัวละครในวรรณกรรมเรื่องเยี่ยม “ องค์หญิงกำมะลอ ” 《还珠格格》 ของฉงเหยา
ก็คงไม่ผิดนัก หลายคนจดจำเธอจากตัวละครนี้จนยากจะลืมเลือน
ตามมาด้วยละครแนวรักชีวิตรันทดอย่าง “ มนต์รักในสายฝน ” 《情深深雨蒙蒙》
ที่แม้ว่าผลงานละครของฉงเหยาที่เจ้าเวยแสดงนั้น จะมีไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับรุ่นพี่คนอื่น แต่เธอก็คือ 1 ในตัวแทนของตัวละครฉงเหยาอย่างแท้จริง



*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ 8 เมษายน 2550
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000033205




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2550    
Last Update : 14 ตุลาคม 2550 19:30:23 น.
Counter : 1504 Pageviews.  

" กิมย้ง " จอมยุทธ์พู่กันเหล็ก # 2







....ชีวิต...งาน....เกียรติยศ...

“ จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของกิมย้ง
โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะจืดชืดไปถนัด
คุณจา (จาเหลียงยง) ได้พิสูจน์มุมมองทฤษฎีอย่างหนึ่งของวรรณกรรมบริสุทธิ์ .....
ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เขียนอะไร แต่อยู่ที่เขียนอย่างไร” อี่ว์ฮุ่ย ((宇慧))

กิมย้ง
"ผู้อาวุโส กิมย้ง ในวันนี้"

ข้อมูลส่วนตัว:

ชื่อ: จินยง (กิมย้ง)
ชื่อเดิม: จาเหลียงยง
ชื่อภาษาอังกฤษ: Louis Cha
วันเดือนปีเกิด: 6 มิถุนายน ค.ศ.1924 ( พ.ศ. 2467)
ปัจจุบัน (ปี 2007) อายุ 83 ปี
ศาสนา: พุทธ
บ้านเกิด: เขตไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียงแห่งภาคตะวันออกของจีน
ครอบครัว: เป็นบุตรคนที่สองของตระกูลที่มีฐานะ และมีการศึกษา


สิ่งที่ชอบที่สุด:

นักเขียน: จีน > เสิ่นฉงเหวิน, ต่างประเทศ > อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์
กวี: ซูตงปอ
บุคคลในประวัติศาสตร์: ฟ่านหลี่ และ จางเหลียง
อาหาร: ขนมหวาน
ดนตรีที่ชอบ: เพลงอุปรากรจีนหรืองิ้วผิงจี้ว์( (评剧))
ซึ่งเป็นงิ้วของชาวจีนในฮวาเป่ย ตงเป่ย อยู่บริเวณเหนือปักกิ่งขึ้นไป
ประเภทภาพยนตร์: ภาพยนตร์เพลงยุคเก่า ภาพยนตร์เพลง-เต้นรำ
ยุคสมัย: ราชวงศ์ถัง
เมืองที่อยากไปอยู่ที่สุด: หังโจว
สิ่งที่อยากทำ: เรียนต่อ, เป็นนักวิชาการ

แปดเทพฯ
“แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” จีนแผ่นดินใหญ่ได้คัดเลือกตอนที่ 41
ของแปดเทพอสูรมังกรฟ้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนชั้นมัธยม


การศึกษา:

เริ่มการศึกษาปี ค.ศ. 1929 ที่โรงเรียนเจียเซียง ไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง
- ปี ค.ศ.1944 เข้าเรียนในภาควิชาภาษาต่างประเทศ
ที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งรัฐบาลกลาง( (中央政治大学))
- ปี ค.ศ. 1946 ได้ย้ายมาเรียนที่ภาควิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยตงอู๋
แห่งเซี่ยงไฮ้ เอกกฎหมายระหว่างประเทศ
- ปี ค.ศ. 2005 ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์
- ปี ค.ศ. 2006 ศึกษาปริญญาเอก ในภาควิชาการศึกษาตะวันออก
เอกประวัติศาสตร์จีน ที่ เซนต์ จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

บัตรกิมย้ง
กระแส "กิมย้งฟีเวอร์" ร้อนแรงในไต้หวัน ถึงขนาดสำนักพิมพ์ในไต้หวันและ
ธนาคารจงกั๋วซ่งหยิน ได้จับมือกันทำเครดิตการ์ดรุ่น "กิมย้ง"
โดยออกแบบพิมพ์ลายสือศิลป์ชื่อนิยายกิมย้งบนหน้าบัตร


อาชีพการงาน:

- ปี ค.ศ. 1947 เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นผู้สื่อข่าวและนักแปล
ประจำหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้า( (大公报)) ต่อมาได้ย้ายไปประจำที่ฮ่องกง
โดยนั่งตำแหน่ง Copy Editor

- ปี ค.ศ. 1955 เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ซินหวั่นเป้า ((新晚报)) ที่นี่เอง
กิมย้งได้พบกับ เฉินเหวินถง ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน
เฉินได้สร้างแรงบันดาลใจแก่กิมย้งในการเขียนนิยาย

- ปี ค.ศ. 1955 เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกเป็นตอนๆ ลงในซินหวั่นเป้า
คือ เรื่อง “จอมใจจอมยุทธ” ((书剑仇恩录) โดยใช้นามปากกาจินยงหรือกิมย้ง

- ปี ค.ศ. 1957 ลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ มาเป็นผู้กำกับด้านฉาก และ
ผู้เขียนบท ที่ เกรทวอลล์ มูวี่ฟ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ และบริษัทโฟนิกซ์ ฟิลม์
ระหว่างนี้ ก็ยังเขียนนิยายกำลังภายในเป็นตอนๆ

- ปี ค. ศ. 1959 หวนกลับสู่วงการน้ำหมึก โดยจับมือกับ "เสิ่นเป่าซิน"
เพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับมัธยม ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "หมิงเป้า" ในฮ่องกง
โดยอยู่ในตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่เป็นเวลาหลายปี เขียนบทบรรณาธิการ
และนิยายเป็นตอนๆ หมิงเป้าสร้างชื่อเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำยอดนิยมแห่งฮ่องกง

- ปี ค.ศ.1972 เขียนนิยายกำลังภายในเรื่องสุดท้ายคือ "อุ้ยเซี่ยวป้อ ((鹿鼎纪))"
พร้อมประกาศวางปากกาอย่างเป็นทางการ
จากนั้น ได้ใช้เวลาหลายปีในการทบทวนและแก้ไขปรับปรุงงานเขียนของตน

ระหว่างนั้น นิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกา "กิมย้ง"
ได้รับความนิยมอย่างมากมายมหาศาลจนกลายเป็น "กิมย้งฟีเวอร์"
ในหมู่คนที่พูดภาษาจีนในดินแดนต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการนำไปสร้าง
ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ นำเสนอเป็นตอนๆ ตลอดจนละครวิทยุ และ
งิ้วในฮ่องกง ไต้หวัน และแผ่นดินใหญ่

- ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรม
การเมืองในฮ่องกงเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายแม่บทซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ฮ่องกง (Basic Law)
ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนเหมินในปี ค.ศ.1989 จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้ลาออกจากสังเวียนการเมือง แต่ก็ยังเข้าร่วมเป็น
คณะกรรมาธิการเตรียมการที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1996
เพื่อดูแลการถ่ายโอนอำนาจปกครองฮ่องกงสู่รัฐบาลกลางแห่งปักกิ่ง

- ปี ค.ศ. 1993 จาเหลียงยง/กิมย้ง อำลางานหนังสือพิมพ์ ขายหุ้นในหมิงเป้า
โดยมีสินทรัพย์จากการขายหุ้นหมิงเป้า และค่าลิขสิทธิ์ หรือ ค่าโรยัลตี้
จากงานของเขารวมประมาณ 600 ล้านเหรียญฮ่องกง

มังกรหยก
" นิยายกิมยังยืนยงในโลกบันเทิงทั้งจอเงิน จอแก้ว
ในภาพ: คู่ขวัญยอดนิยมในภาพยนตร์มังกรหยกภาคแรก ก๋วยเจ๋งและอึ้งย้ง
ภาพบนสุดเวอร์ชั่นปี 1983 ของ TVB-ฮ่องกง สวมบทบาทโดยหวงเย่อหัว-องเหม่ยหลิง
ภาพกลางเวอร์ชั่นปี 1994 ของTVB-ฮ่องกง สวมบทโดยจางจื่อหลิน-จูอิน
ภาพล่างเวอร์ชั่นปี 2003 ของCCTV สวมบทโดยหลี่ย่าเผิง-โจวซิ่น "


เกียรติประวัติ:

จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายจากประเทศต่างๆ
ของโลก อาทิเช่นรางวัลเกียรติยศจากฝรั่งเศส ได้แก่
- Chevalier de la Legion d’Honneur (1992)
- Commandeur de l’Ordre des Arts et des Letteres (2004)

และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษ OBE – Order of the British Empire
ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2005

จาเหลียงยง/กิมย้ง ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์
จากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง,
มหาวิทยาลัยหนันคาย, มหาวิทยาลัยชูโจว, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว,
มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว, มหาวิทยาลัยฮ่องกง,
มหาวิทยาลัยบริชติชโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยเสฉวน, มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของเซนต์ แอนโทนี่ คอลเลจ,
ออกซ์ฟอร์ด& โรบินสัน คอลเลจ, แคมบริดจ์ และ Wynflete Fellow
ของ แมกดาเลน คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด


...นิยายกำลังภายใน 15 เรื่อง จากพู่กันเหล็ก…

กิมย้ง/จาเหลียงยง ได้รังสรรค์งานเขียนทั้งหมด 15 เรื่องด้วยกัน
โดยเป็นนิยายกำลังภายใน 14 เรื่อง มีเพียง “เยี่ยว์หนู่เจี้ยน” ((越女剑))
เรื่องเดียวที่เป็นเรื่องสั้น
นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนประเภทอื่นๆได้แก่ บทบรรณาธิการ,
บทวิพากษ์วิจารณ์สังคม, ปกิณกะ, เรื่องแปล และบทภาพยนตร์

สำหรับนิยายกำลังภายใน ที่สร้างชื่อให้แก่กิมย้ง
(เรียงลำดับตามการเขียนและการเผยแพร่) ได้แก่

1. ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่ (书剑恩仇录) ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดอะ นิวส์ อีฟนิ่ง โพสต์ ปี 1955
ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “จอมใจจอมยุทธ”
ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับภาพยนตร์โทรทัศน์
จอมในจอมยุทธ
"ปก 'ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่ หรือ จอมใจจอมยุทธ' ฉบับภาษาญี่ปุ่น
นิยายกำลังภายในเรื่องแรกของกิมย้ง"

2. ปี้เสี่ยว์ซัน (碧血剑) ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1956
ฉบับพากษ์ไทยของ จำลอง พิศนาคะ และ น.นพรัตน์ รวมทั้งบทภาพยนตร์
ซึ่งถอดเสียงจากชื่อเรื่องภาษาจีน(แต้จิ๋ว) “เพ็กฮวยเกี่ยม”

3. เส้อเตียวอิงสงจ้วน (射雕英雄传) ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่
ปี 1957 ฉบับพากษ์ไทยโดยจำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยก ภาค 1”
ส่วนฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อ “ก๊วยเจ๋ง ยอดวีรบุรุษ”

มังกรหยก
" มังกรหยก ภาค 1 และ 2 "

4. เสี่ยว์ซันเฟยหู (雪山飞狐) เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในปี 1959
ฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “จิ้งจอกภูเขาหิมะ”
ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ไทยก็ใช้ชื่อเดียวกันนี้

5. เสินเตียวเสียหลู่ (神雕侠侣) เริ่มตีพิมพ์ ในปี 1959 ฉบับพากษ์ไทยโดย
จำลอง พิศนาคะใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยก ภาค 2” ส่วนฉบับพากษ์ไทยของ
น.นพรัตน์ใช้ “เอี้ยก้วย เจ้าอินทรี” และ ว.ณ.เมืองลุงใช้ “อินทรีเจ้ายุทธจักร”

6. เฟยหูไหว่จ้วน (飞狐外传) เริ่มตีพิมพ์ในปี 1960 ฉบับพากษ์ไทยของน.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “จิ้งจอกอหังการ”

7. ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง (白马啸西风) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961
ฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “เทพธิดาม้าขาว”

เทพธิดาฯ
" เทพธิดาม้าขาว (ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง) ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ "

8. ยวนยัง เตา (鸳鸯刀) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961 ฉบับพากษ์ไทยโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “อวงเอียตอ” สำหรับ “อวงเอียตอ” ฉบับภาษาไทยนี้
รวมเล่มเดียวกับ “กระบี่นางพญา”

9. อี่เทียนถู่หลงจี้ (倚天屠龙记) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961 ฉบับพากษ์ไทย
โดยจำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยกภาคสามและสี่” สำหรับฉบับแปลโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “ดาบมังกรหยก"

10. เหลียนเฉิงเจี๋ยว์ (连城诀) ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซาท์ อีสต์ เอเชียวีคลี่ ปี 1963
ฉบับแปลพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “หลั่งเลือดมังกร”
ต่อมาผู้แปลคนเดียวกันใช้ชื่อเรื่องใหม่ว่า “กระบี่ใจพิสุทธิ์”
ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อ “มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม”

11. เทียนหลงปาปู้ (天龙八部) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1963 ฉบับพากษ์ไทยโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” ส่วนฉบับแปลโดยจำลอง พิศนาคะ
ชื่อเรื่อง “มังกรหยกภาคห้า” หรือ “มังกรหยกภาคสมบูรณ์”

12. เสียเค่อสิง (侠客行) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ฉบับพากษ์ไทยโดยน.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “เทพบุตรทลายฟ้า”

เทพบุตรฯ
" เทพบุตรทลายฟ้า (เสียเค่อสิง ) แปลโดย น.นพรัตน์ "

13. เซี่ยวอาวเจียงหู (笑傲江湖) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1967
ฉบับพากษ์ไทยโดยน.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร”

14. ลู่ติ๋งจี้ (鹿鼎记) ตีพิมพ์ปี 1969-1972 ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “อุ้ยเซี่ยวป้อ”

15. เยี่ยว์หนี่ว์เจี้ยน (越女剑)* ตีพิมพ์ 1970 ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “กระบี่นางพญา” สำหรับภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อเรื่องเดียวกันนี้
สำหรับ “กระบี่นางพญา” ฉบับภาษาไทยนี้ รวมเล่มเดียวกันกับ “อวงเอียตอ”
และ “เทพธิดาม้าขาว”

*ชื่อเรื่องแปลว่า จอมยุทธสาวแห่งแคว้นเยี่ยว์ (แคว้นเยี่ยว์แห่งยุคชุนชิว
จ้านกั่ว 770-221 ก่อนคริสต์ศักราช อยู่บริเวณที่เป็นมณฑลเจ้อเจียงปัจจุบัน
ในยุคนั้น เป็นดินแดนของคนที่พูดภาษาตระกูลไท)

กระบี่นางพญา
" ปกเยี่ยว์หนี่ว์เจี้ยน ฉบับภาษาญี่ปุ่น "

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1970 ถึงค.ศ. 1980 กิมย้งได้ปรับปรุงแก้ไข
งานประพันธ์ของตนทั้งหมด และได้ระบุกำกับเป็น “ฉบับปรับปรุงใหม่” และระหว่าง
ปี ค.ศ.1999 - ค.ศ.2006 ยังได้ปรับปรุงแก้ไขนิยายเหล่านี้ เป็นครั้งที่ 2
(อาจเป็นครั้งสุดท้าย) และเสร็จเรียบร้อยในต้นปี ค.ศ. 2006

*สำหรับเรื่อง ลูติ่งจี้ หรืออุ้ยเสียวป้อ หากใครที่อ่านภาษาจีน อยากหาซื้อ
ฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด สังเกตคำว่า 世纪新修版 (ฉบับปรับปรุงใหม่แห่งศตวรรษ )
หรือ 新修版 หรือ 新新修版 ไม่ใช่ 新版 ฉบับแก้ไขปรับปรุงล่าสุดนี้ กิมย้งได้ตอบ
กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ในงานชิ้นนี้ของเขาไว้ด้วย


...มีอะไรในดงอักษรของกิมย้ง …

สำหรับสารัตถะของนิยายของกิมย้ง มักมุ่งไปที่ลัทธิชาตินิยมจีน
นิยายหลายเรื่องของเขาให้ความสำคัญอย่างมากแก่อัตลักษณ์ของชาวฮั่น(จีน)
งานหลายชิ้น เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในช่วงที่ฮั่นถูกคุกคามหรือยึดครอง
โดยชนชาติจากดินแดนเหนือ อาทิ คีตัน, หนี่ว์เจิน, มองโกล หรือแมนจู

อย่างไรก็ตาม กิมย้งก็ค่อยๆ ผนวกลัทธิชาตินิยมจีนเข้ากับแนวคิด
ของนักลัทธิผสมผสาน (inclusionist) ซึ่งได้รวมฮั่นเข้ากับชนส่วนน้อย
กิมย้งยังได้แสดงความชื่นชมต่อความโดดเด่นทางบุคลิกของชนเผ่าอื่นอย่าง
มองโกล และ แมนจู อาทิ ใน "มังกรหยกภาค 1" กิมย้งได้กำหนดเจงกิสข่านและ
บุตรชาย เป็นผู้ทรงความสามารถ เป็นผู้นำทหารที่ปราดเปรื่อง ต่อสู้กับคอรัปชั่น
และข้ารัฐการที่ไร้น้ำยาของฮั่นในยุคราชวงศ์ซ่ง ใน "อุ้ยเซี่ยวป้อ" เขายังฉาย
ภาพลักษณ์ของจักรพรรดิคังซีแห่งแมนจู เป็นผู้ปกครองที่ทรงพระเมตตา
และปรีชาสามารถ

นอกจากนี้ นิยายของกิมย้งยังมักได้รับสมญาว่าเป็นเอ็นไซโครพีเดีย
เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี จารีตขนบธรรมเนียมของชนชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น
วัฒนธรรมด้านยาแผนจีน การฝังเข็ม ศิลปะการต่อสู้ ดนตรี ลายสือศิลป์ ชา
รวมทั้งเรื่องราวของสำนักคิดต่างๆ อย่าง ขงจื่อ พุทธ และเต๋า ตลอดจนประวัติ
ศาสตร์ราชวงศ์จีน บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ถูกผสมผสานเข้กับบุคคล
ที่จินตนาการขึ้น

งานประพันธ์ของกิมย้งยกย่องเชิดชูคุณค่าประเพณีจีนอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของขงจื่อ ที่ชี้แนะความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่าง
ผู้ปกครองและประชาชน พ่อกับลูก ผู้อาวุโสและผู้น้อย อาจารย์กับศิษย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง เขาก็ได้ตั้งคำถามกับคุณค่าเหล่านี้ในเงื่อนไขของสังคม
ยุคสมัยใหม่ ดังที่สะท้อนในมังกรหยกภาคสอง จากชีวิตที่ถูกขับออกจากสังคม
และความรักแสนโรแมนติกระหว่างหยังกั้ว (เอี้ยก้วย) และเสี่ยวหลงหนี่ว์
(เซียวเหล่งนึ้ง)
ซึ่งถือว่าขัดต่อจารีตสังคมที่ถูกครอบงำด้วยความคิดขงจื่ออย่างรุนแรง

กิมย้งยังได้ให้ความสำคัญอย่างมากแก่คุณค่าเก่าอาทิ หน้าตาและเกียรติยศ
แต่ที่สุด กิมย้งก็แหกกฎเกณฑ์ทั้งหมดในงานชิ้นสุดท้ายของเขา คือ
“อุ้ยเซี่ยวป้อ” โดยกำหนดให้บุคลิกต่อต้านวีรบุรุษแก่ตัวเอกหรือตัวชูโรง
อุ้ยเซี่ยวป้อ เป็นเด็กชายผู้ต่ำต้อยถ่อยสามานย์ที่เกิดในซ่องโสเภณี
โลภ ขี้เกียจ ฉ้อฉล กะล่อน ปลิ้นปล้อน เหล่านี้ล้วนเป็นรอยมลทินของประเพณี
อันดีงามของสังคม ซึ่ง " กิมย้ง " ได้ฝากไว้ในบทประพันธ์ เพื่อสอนใจคนรุ่นหลัง
สืบต่อไปตราบนานเท่านาน...


***ขอขอบคุณ (Thanh You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2548
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000083231

- ผู้จัดการออนไลน์ 8 สิงหาคม 2549
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000101008





 

Create Date : 03 กันยายน 2550    
Last Update : 3 กันยายน 2550 21:27:52 น.
Counter : 1124 Pageviews.  

" กิมย้ง " จอมยุทธ์พู่กันเหล็ก # 1







หากเปรียบผู้อาวุโส " กิมย้ง " เป็นจอมยุทธ์
ก็เปรียบได้กับจอมยุทธ์ที่มี "พู่กันเหล็ก" เป็นอาวุธคู่กาย
และเหล็กนั้นก็เป็น " เหล็กกล้า " ที่ไม่ขึ้นสนิม ไม่เสื่อมสลาย
ไม่สามารถหักทำลายได้ง่ายๆ อย่างเช่นพู่กันทั่วไป

กิมย้ง
"กิมย้ง ในวัย 81ปี"

ณ วันนี้ ผู้อาวุโส "กิมย้ง" มีวัยล่วงเลยถึงขนาดเป็น
คุณปู่ คุณทวดของหลานเหลนมากมาย
ดารานักแสดงหลายต่อหลายคนได้สวมบทบาทตัวละคร
จากงานประพันธ์ของผู้เฒ่า จนโด่งดังสะท้านพิภพ…

ท่านผู้อาวุโส เป็นหนอนหนังสือพันธุ์แท้ เกิดมาเพื่ออ่านหนังสือ
ทำหนังสือ และเขียนหนังสือ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่...
การอุทิศเหล่านี้ของท่านเป็นที่ประจักษ์เลื่องลือ จนได้รับรางวัลเกียรติยศ,
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ยาวเหยียดเป็นหางว่าว
จากสถาบัน หน่วยงานและประเทศต่างๆ มากมาย จนกล่าวไม่หมดในคราวเดียว...

ท่านผู้อาวุโสยังสร้างความฮือฮาแก่วงการ ด้วยการเข้าศึกษา
ระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ในวัย 81 ปี...

ท่านเป็นพ่อผู้ให้กำเนิด ก๊วยเจ็ง อึ้งย้ง เอี้ยก้วย เซียวเล้งนึ้ง อึ้งเอี๊ยะสือ
จิวแป๊ะทง อาวเอี๊ยงฮง อุ้ยเสี่ยวป้อ...ฯลฯ

ปกนิยาย
"ปกนิยายกำลังภายในของกิมย้ง"



" กิมย้ง " ซึ่งในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “ จินยง “
เป็นนามปากกาของ " จาเหลียงยง " นักเขียนแดนฮ่องกง
ที่เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในตั้งแต่อายุ 31 ปี
และได้แขวนปากกาล้างมือในอ่างทองคำไปแล้วเมื่ออายุ 48 ปี
แต่นิยายของท่านก็ยังเป็นดาวเด่นเหนือนิยายใดในใต้หล้า
และโลกบันเทิงมาถึงครึ่งศตวรรษ นิยายของกิมย้งได้รับการแปล
เป็นฉบับพากษ์ภาษาเกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย
นอกจากนี้ ยังมีการนำไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์
และบทละครโทรทัศน์อีกนับไม่ถ้วน

ขณะนี้ นิยายกำลังภายในของกิมย้งได้พิชิตยอดขายถึง 300 ล้านเล่มจากทั่วโลก
(อาจถึง 1,000 ล้านเล่มด้วยซ้ำ
หากนับรวมฉบับที่อยู่ในกองหนังสือเถื่อนหรือละเมิดลิขสิทธิ์)

แม้กิมย้งเองได้จัดให้งานเขียนของตน
อยู่ในประเภทนิยายบันเทิงประโลมโลกธรรมดาๆ
อย่างไรก็ตาม หลายคนในวงการก็ยกย่องงานประพันธ์ของกิมย้งว่า
มีคุณค่าเชิงวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ และประสบความสำเร็จ
เช่นเดียวกับ สามก๊ก ซ้องกั๋ง ไซอิ๋ว ด้วยเนื้อเรื่องดี แต่งดี
เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างยาวนาน

นอกจากได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในมือหนึ่งของโลก
กิมย้ง ยังได้ชื่อว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนบทบรรณาธิการ
บทวิพากษ์วิจารณ์สังคมมือหนึ่งแห่งฮ่องกงอีกด้วย
ชาวฮ่องกงชอบอ่านบทวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมืองของเขา
กระทั่งผู้นำในกรุงวอชิงตันก็ติดตามบทวิพากษ์วิจารณ์ของเขา
เก็บไว้ในแฟ้มข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ในการมองสังคมจีน

นสพ.หมิงเป้า
“หมิงเป้า” ซึ่งมีทั้งฉบับรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ที่กิมย้งร่วมเป็นหัวเรือใหญ่


...กิมย้งเล่าเรื่องชีวิตตัว...

ในปี 2549 กิมย้งได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่านว่า
เริ่มอ่านหนังสืออย่างดุเดือดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ
ก็อ่านทั้งนิยายของจีนทั้งหมด และนิยายแปลของต่างประเทศ
ในวัยเยาว์ได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกทั้ง 4 เรื่องของจีน ได้แก่
สามก๊ก ((三国演义)) ซ้องกั๋ง ((水许传)) ไซอิ๋ว ((西游记))
และความฝันในหอแดง ((红楼梦))

กิมย้ง เล่าถึงวิธีอ่านหนังสือของตนว่า
อ่านแบบละเอียดยิบทุกตัวอักษร โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ
เมื่อเจอตัวที่ไม่รู้ความหมายก็จะเปิดพจนานุกรมทันที ถ้ายังไม่เจอ
ก็จะรีบหาพจนานุกรมเล่มใหญ่มาค้นดู...ให้ถึงที่สุด
ซึ่งเปลืองเวลาและเรี่ยวแรงมาก “มันดูเป็นวิธีอ่านหนังสือที่โง่
แต่นานเข้าๆ การอ่านหนังสือก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายหมูๆ”

กิมย้ง แจงประโยชน์จากการอ่านหนังสือว่ามีมากมาย
ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ยามที่รู้สึกโดดเดี่ยวเหงา
ทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจ และไม่มีใครเลย เมื่ออ่านหนังสือก็จะรู้สึกดีขึ้น
การอ่านหนังสือทำให้จิตใจดีงาม “ผมหวังว่านิยายของผม จะให้เยาวชน
มีสำนึกช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม มีความคิดความอ่านรู้จักผิดชอบชั่วดี”

ลีหมกโช้ว
นิยายกิมย้งยังมีจุดเด่นในการเจาะลึกธรรมชาติมนุษย์
ในภาพ: หลีม่อโฉว(ลีหมกโช้ว) จากเรื่องมังกรหยก 2
หญิงสาววรยุทธร้ายเหลือผู้พ่ายแพ้แก่ชะตาชีวิต
จากการผิดหวังในความรัก จนกลายเป็นนางร้ายใจคอโหดเหี้ยม


เนื่องจากมีผู้อ่านจำนวนมากชอบเรื่องอุ้ยเซี่ยวป้อ กิมย้งได้เตือนว่า
“อย่าเอาอย่างอุ้ยเซี่ยวป้อ ผมสร้างตัวละครนี้ขึ้นมา
เพื่อสะท้อนยุคสมัย ไม่ได้สะท้อนความชอบคนบุคลิกแบบนี้”
และยังได้กล่าวขอโทษ เกี่ยวกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนในบางจุด
โดยเฉพาะเรื่องของ อิ่นจื้อผิง ((尹志平)) ที่ให้ภาพลักษณ์ไม่ดี
และส่งผลด้านลบแก่สำนึกคิดเต๋า ในฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่
ได้ตัดตัวอิ่นจื้อผิงออกไป

อุ้ยเซี่ยวป้อ
“ ปกลู่ติ่งจี้ หรือ อุ้ยเซี่ยวป้อ “ ฉบับภาษาอังกฤษ The Deer and The Cauldron
นิยายกำลังภายในเรื่องสุดท้ายของกิมย้ง ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาก


นอกจากนี้ กิมย้ง ยังแสดงความรู้สึกไม่พอใจ
ต่อการนำนิยายของเขาไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์
ที่หลายๆครั้งมักขาดชีวิตขาดอารมณ์ กลายเป็นเรื่องที่แข็งกระด้างไป
กิมย้ง กล่าวว่า งานของเขานั้น แก้ให้น้อยดีกว่า ไม่ปรับเปลี่ยนเลยก็จะดีที่สุด

หันมาพูดถึงโชคความสุขในชีวิต กิมย้ง บอกว่า
“โชคดีที่สุดในชีวิตของผมคือ พ่อแม่ไม่ตาย
พวกเราได้ฝ่าฟันยุคสงครามกันมา ต้องนอนคว่ำหน้าบนพื้นกันหลายครั้ง
รอบๆ ตัวมีแต่ระเบิด ปืนกลตระเวนส่องไปมา ตอนที่ต้องระหกระเหินพเนจร
สวมเพียงรองเท้าหญ้าฟาง หนาวมากๆ อีกทั้งไม่มีข้าวกิน
ทุกวันนี้ เมื่อคิดถึงชีวิตที่ลำบากเหล่านี้ รู้สึกเป็นการฝึกการต่อสู้ที่ดีมาก
ผมไม่กลัวตายเลย”

ความสนใจส่วนตัวทุกวันนี้ ก็ยังเป็นการอ่านหนังสือ
“หากมีทางเลือก 2 ทาง คือ ให้ติดคุก 10 ปี แต่มีเสรีภาพในการอ่านหนังสือ
กับอีกทางคือ มีเสรีภาพในโลกภายนอก แต่ไม่สามารถอ่านหนังสือ
ผมขอเลือกทางแรกคือ ขอติดคุกดีกว่า”

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซินหัวได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ กิมย้ง
ที่เพิ่งได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์มาหมาดๆ (สัมภาษณ์ในปี 2548)
โดยเขาเริ่มต้นเล่าว่า คุณแอลิสัน ริชาร์ด ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์
ได้อ่านนิยายกำลังภายในของเขาเรื่อง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ภาคภาษาอังกฤษ
แล้วรู้สึกชื่นชอบเป็นอย่างมาก จึงได้เสนอชื่อเขาแก่คณะกรรมการ
ให้พิจารณามอบปริญญาดังกล่าวให้ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ถือเป็นปริญญาระดับสูงสุดของแคมบริดจ์ และไม่ใช่ได้กันง่ายๆ

แม้ว่า กิมย้งจะสามารถคว้าปริญญาสูงสุดมาครอบครองแล้ว
แต่เขาก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะเขายังคิดที่จะศึกษาต่อ
ในระดับปริญญาเอกอีก แม้ปัจจุบันอายุอานามจะปาเข้าไป 81 ปีแล้วก็ตาม

“ผมไม่หวังปริญญา แค่อยากได้ความรู้เท่านั้น
ผมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวรรณกรรม มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง
แต่มีคนพูดว่า ความรู้ของผมยังไม่ดี ไม่เหมาะที่จะนั่งตำแหน่งนี้
เขาตำหนิผม ผมเถียงไม่ออก หนทางเดียวก็คือ ต้องเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง
ตอนนี้ผมได้ทำเรื่องลาหยุดกับทางมหาวิทยาลัยแล้ว
เพื่อที่จะมาเรียนต่อที่แคมบริดจ์”

รับปริญญา
'จาเหลียงยง' หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม 'กิมย้ง'
รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (22 มิ.ย.48)
จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ประเทศอังกฤษ


เหตุที่เรียนต่อก็เพื่อต้องการลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ?

“ผมไม่ได้เรียนหนังสือเพื่อคนอื่น คนอื่นวิจารณ์ผม
ถ้าผมมีข้อเสียจริงก็พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุง คนเราล้วนมีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น
การเรียนหนังสือก็เพื่อประโยชน์ของตัวเองน่ะ”
โดยกิมย้งเองคาดว่าจะใช้เวลา 4 ปี ในการศึกษาระดับปริญญาโท 1 ปี
และปริญญาเอก 3 ปี แต่ขณะนี้ ทางแคมบริดจ์ยังไม่ได้รับกิมย้งเข้าศึกษา
อย่างเป็นทางการ เนื่องจากมองว่า เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ซึ่งถือว่าสูงที่สุดแล้ว ถ้าหากกลับมาเป็นนักศึกษาอีก
เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม
ปรมาจารย์นิยายกำลังภายในท่านนี้ก็ยังยืนยันความตั้งใจของตัวเอง
และหวังว่า ทางแคมบริดจ์จะไฟเขียวให้เขาได้เข้าเรียน

ส่วนเรื่องงานเขียนนั้น เขาตั้งใจว่าอยากจะเขียนหนังสือประวัติศาสตร์จีน
ที่เข้าใจง่ายให้นักเรียนมัธยมอ่าน โดยกิมย้งรู้สึกว่า ปัจจุบันคนที่เขียนตำรา
ประวัติศาสตร์นั้น เขียนลึกซึ้งเกิน แม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยยังอ่านไม่เข้าใจ นอกจากงานเขียนตำราแล้ว ระหว่างศึกษาที่แคมบริดจ์
กิมย้งก็อาจจะเขียนงานอื่นๆ ด้วย

ดาบมังกรหยก
"ปกอี่เทียนถู่หลงจี้ หรือ ดาบมังกรหยก"

แต่สำหรับนิยายกำลังภายในนั้น เจ้าตัวยืนยันว่า จะไม่เขียนอีกแล้ว
โดยให้เหตุผลว่า “ผลงานนิยายกำลังภายในของผมเยอะมาก
เรื่องยาวมีถึง 15 เรื่อง อ่านทีก็ต้องใช้เวลามากพอสมควร
สำหรับนักเขียน สามารถเขียนได้ถึง 15 เรื่อง ถือว่าไม่ผิดต่อผู้อ่านแล้ว
มีน้อยคนนักที่ทำได้แบบนี้ ผมอายุปูนนี้ไม่มีความสามารถในการจินตนาการแล้ว
ปล่อยให้คนหนุ่มสาวเขาเขียนเถอะ”

“ผมรู้ว่า มีพวกเด็กรุ่นหลังบางคนมาขโมยคัดลอกงานผม
ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะ แต่ผมไม่คิดจะเอาเรื่องพวกเขาหรอก
ผมหวังว่านักเขียนรุ่นใหม่จะไม่ก็อปปี้งานของผม.....
ในฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ล้วนมีกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น
ถ้าแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ก็จะขายหน้าคนอื่นเขา”"

ในระหว่างการสนทนานักข่าวตั้งข้อสังเกตว่า กิมย้งท่าทางดูเป็นสุภาพชน
ทำไมจึงสามารถสร้างจอมยุทธที่ชอบซดเหล้าชามโตๆ
อ้าปากกว้างๆ กินอาหาร ได้

“การเขียนนิยายถือเป็นการทดแทนส่วนที่ขาดหายไปอย่างหนึ่ง
ผมดื่มเหล้าไม่เป็น จึงได้สร้างตัวละครอย่าง "เฉียวฟง"
ที่มีความสามารถในการดื่มเหล้าขึ้นมา อะไรที่ผมไม่มี
ผมก็จะเขียนขึ้นในนิยาย ในบรรดาตัวละครที่ผมแต่งขึ้นมา
ไม่มีตัวไหนที่เหมือนผมเลย บางตัวนิสัยดีมาก ผมอยากจะทำให้ได้อย่างพวกเขา
อย่างเช่น "ต้วนอี้ เตียบ่อกี้" ซึ่งเป็นตัวละครที่เวลามีใครมาคุกคาม
ก็มักจะยิ้มแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่เก็บเอามาใส่ใจ ผมรู้สึกอิจฉาคนแบบนี้มาก”

นิยายกิมย้ง
" อุ้ยเสี่ยวป้อ (ซ้าย) และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า "

ส่วนตัวเอก 'อุ้ยเสี่ยวป้อ' นั้น แตกต่างจาก พระเอกในเรื่องอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง
“อุ้ยเสี่ยวป้อ ถือเป็นตัวแทนของชาวจีนนิสัยแย่ ในสังคมที่ไร้ระเบียบ
ไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง แต่การกระทำของเขาก็เป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในจีนยุคนี้
เขาติดสินบนคนอื่น แล้วก็รับสินบนด้วย เรื่องอะไรไม่ดีก็ทำหมด ไม่ใช่คนดี”

ดังนั้น ก่อนหน้านี้จึงมีข่าวว่า กิมย้งคิดแก้เผ็ดอุ้ยเสี่ยวป้อ
ด้วยการปรับแก้ตอนจบ ให้ไม่สมหวังอย่างในต้นฉบับเดิม
โดยจะให้อุ้ยเสี่ยวป้อติดการพนัน ผลาญสมบัติเกือบหมด
บรรดาภรรยาต่างตีจาก จาก 7 คนเหลือเพียง 1-2 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ กิมย้งก็ยังไม่ได้ปรับแก้แต่อย่างใด
โดยเขาให้เหตุผลว่า “ผมขอความคิดเห็นจากผู้อ่าน
หลายคนไม่เห็นด้วยให้เปลี่ยนแบบนี้”

พร้อมเล่าต่อว่า “ตอนนี้ ผมได้ปรับแก้เรื่อง ‘8 เทพอสูรมังกรฟ้า’
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้นฉบับเดิมระบุว่า ต้วนอี้ชื่นชอบหวังอี่ว์เยียน
เพราะหน้าตาที่สดสวยงดงาม แต่ที่จริงแล้วเธอนิสัยไม่ดี
หลังจากปรับแก้แล้ว ต้วนอี้ในที่สุดจะตาสว่าง
แล้วก็ไม่ชอบหวังอี่ว์เยียนอีกต่อไป”

เซียวเล้งนึ่ง
"เซียวเล้งนึ่ง" ผู้กบฏต่อระเบียบแบบแผนสังคมอย่างไม่รู้ตัว
จากการเติบโตในธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดขัดแย้งที่ลึกซึ้งมาก
จากตรงนี้ เซียวเล้งนึ่งดูจะเป็นคนในอุดมคติของสำนักคิดเต๋า
ซึ่งขัดแย้งกับขงจื่อ
ในภาพ: หลิวอี้เฟย สวมบทเซียวเล้งนึ่ง แห่งมังกรหยกภาค 2


สุดท้ายนักข่าวได้สอบถามถึงชีวิตปัจจุบันของกิมย้ง ซึ่งเขาเล่าว่า
“ตอนนี้ก็นับว่าดี มีอิสระเสรี มีความสุขดี ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือหาความรู้
รู้สึกสบายใจ ถ้ามีพระเจ้าจริงๆ ผมก็รู้สึกว่าท่านดีต่อผมไม่น้อยเลย”


***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

-ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2548
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000083231
- ผู้จัดการออนไลน์ 8 สิงหาคม 2549
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000101008





 

Create Date : 02 กันยายน 2550    
Last Update : 3 กันยายน 2550 11:39:10 น.
Counter : 1493 Pageviews.  

ย้อนอดีตถึงนางเอก TVB ในความทรงจำ







ทศวรรษที่ 70-80 เป็นช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของสถานีโทรทัศน์ฮ่องกงค่าย TVB
ในยุคนั้น TVBได้ส่งให้พระเอกนางเอกที่เป็น “เพชรเม็ดงาม”
จำนวนมากออกสู่สายตาประชาชน
ทั้งหน้าตาและฝีมือการแสดงล้วนไม่ด้อยไปกว่ากัน
ถึงแม้ว่าหลายคนเมื่ออายุเริ่มมากขึ้นและโบกมือบอกลาวงการบันเทิงไปแล้วก็ตาม
แต่ผลงานละครที่พวกเธอได้ทิ้งไว้
กลับกลายเป็นผลงานที่มีความคลาสสิก เป็นอมตะ
และยากที่จะลบเลือนไปจากใจผู้ชมได้

เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบดูละครจีนย้อนยุคที่เรียกกันว่า "หนังชุด"
เราเองก็ชอบดูหนังจีนมาตั้งแต่เด็ก ดูทั้งที่ฉายทาง TV กับ VDO
ดูกันยันเช้า ไม่คนดูน็อคก็เครื่องเล่น VDO เจ๊งกันไปข้าง
เป็นความชอบที่ถ้าคนคอเดียวกันจะรู้ว่าเป็นยังไง
ประเภทดูครึ่งเรื่องพรุ่งนี้มาดูต่อ “ไม่ได้” ต้องแบบม้วนต่อม้วน
ถ้าปัจจุบันนี้ก็ต้องเรียกว่าแบบแผ่นต่อแผ่น
จนทุกวันนี้ก็ยังชอบดูหนังจีน แถมเพิ่มหนังเกาหลีขึ้นมาอีกด้วย
ดูกันให้เอ๋อไปข้างไม่คนก็เครื่องเล่น

ทีนี้เมื่อดูละครจีนในปัจจุบันมากๆ ก็อดคิดถึงละครจีนในยุคก่อนๆ ไม่ได้
ถึงแม้เทคโนโลยีในการถ่ายทำจะไม่เลิศเหมือนในปัจจุบัน
แต่หนังจีนยุคนั้นมันมีเสน่ห์ในตัวเองอย่างบอกไม่ถูก ดูได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ
จนตอนนี้เดือดร้อนตัวเองให้เริ่มออกไปตระเวนหาหนังจีนชุดสมัยก่อน
ที่เอามาบันทึกใหม่ในแบบ VCD มาเก็บสะสมไว้ดูอีก
ไม่ว่าจะที่เยาวราช หรือที่ไหนก็ตามที่มีขาย

วันนี้จะชวนกันมารำลึกถึงอดีตนางเอก TVB
ที่บทบาทการแสดงของเธอเหล่านี้ยังอยู่ในใจของใครหลายๆ คนกันค่ะ
เริ่มจาก

1.เจ้าหย่าจือ
เจ้าหย่าจือ

ปี 1978 TVB เริ่มถ่ายทำละครเรื่อง “ดาบมังกรหยก”
ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของกิมย้ง ด้วยใบหน้าที่งดงามหมดจด
ทำให้เจ้าหย่าจือในวัย 23 ปีได้รับการทาบทามให้มารับบท “โจวจื่อยั่ว”
จนกระทั่งมาในปี 1980 เจ้าหย่าจือได้แสดงบทนำในละครเรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้”
ที่โด่งดังไปทั่วเอเชีย ไม่เว้นประเทศไทย ส่งให้ชื่อของเธอโด่งดังอย่างรวดเร็ว
กลายเป็น “1 ใน 4 นางเอกดาวรุ่งของ TVB” ร่วมกับวังหมิงฉวน

เจ้าหย่าจือเกิด 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1954 ปัจจุบันอายุ 53 ปี เข้าวงการปี 1973
ผลงานสร้างชื่อ ได้แก่
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980) ชอลิ่วเฮียง (1979) จิ้งจอกภูเขาหิมะ (1985) เจ้าแม่กวนอิม

หลังจากเจ้าหย่าจือหมดสัญญากับ TVB ก็หันไปเอาดีกับวงการบันเทิงไต้หวัน
จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังรับงานละครอยู่

2. วังหมิงฉวน
วังหมิงฉวน

วังหมิงฉวน เข้ามาเป็นนักแสดงในสังกัดของ TVB ตั้งแต่ช่วงปี 70
ด้วยภาพลักษณ์ของสาวงามผู้เข้มแข็งทำให้เธอกลายเป็นนางในฝันของใครหลายคน
มาถึงยุค 80 วังหมิงฉวนมีโอกาสร่วมแสดงกับ เซี่ยเสียน เรื่อง “วั่นสุ่ยเชียนซันจ่งซื่อฉิง”
ประชันฝีมือกับ หลิวสงเหยิน ในเรื่อง “จิงหัวชุนเมิ่ง”
ล้วนแล้วแต่โด่งดังด้วยบุคลิกตัวแสดงที่เป็นหญิงแกร่ง

ซือเจ๊แห่งวงการบันเทิงฮ่องกงเริ่มเข้าสู่วงการเร็วมาก
ดูเหมือนว่าตั้งแต่ช่วงปี 60 เธอก็เริ่มงานแสดงแล้ว
จนถึงปัจจุบันก็ยังภักดีร่วมงานกับ TVB อยู่

วังหมิงฉวน เกิด 28 สิงหาคม 1947 อายุ 60 ปี

ผลงานสร้างชื่อ ได้แก่ “ชอลิ่วเฮียง” (1979) “จิงหัวชุนเมิ่ง” (1981)
“วั่นสุ่ยเชียนซันจ่งซื่อฉิง” (1980) “เชียนหวังฉวินอิงฮุ่ย” (1980) และ “เชียนหวังจือหวัง”

3. โอวหยังเพ่ยซัน (คนซ้ายมือ)
เพ่ยซัน

โอวหยังเพ่ยซัน เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมปี 1953 ปัจจุบันอายุ 54 ปี
เข้าวงการตั้งแต่ปี 1969 และออกจากวงการบันเทิงไปประมาณปี 90

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ บทบาท “อึ้งย้ง” ในมังกรหยกปี 1983 “ชอลิ่วเฮียง” ปี 1979,
“จ่งจี้” (1985), “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” (1980),
“ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) “เวยเฉิงเจิ้งป้า” (1990)

4. หยางพ่านพ่าน
พ่านพ่าน

หยางพ่านพ่านเกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ปี 1959 อายุ 48 ปี
เป็นนักแสดงของ TVB ในยุค 80 ที่โด่งดังอีกคน

ผลงานสร้างชื่อ อาทิ “มังกรหยก” (1983) แสดงเป็นม๊กเนี่ยมชื้อ,
“8 เทพอสูรมังกรฟ้า” (1982) แสดงเป็น มู่หวั่นชิง ,
“ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) เป็นหยางปาเม่ย,
“ชอลิ่วเฮียง” (1979) “ชอลิ่วเฮียง ตอน ถล่มวังค้างคาว (1984)

5. ชิเหม่ยเจิน
เหม่ยเจิน

ชิเหม่ยเจิน เกิดวันที่ 5 มกราคมปี 1962 อายุ 46 ปี เข้าวงการตั้งแต่ปี 1982
เธอก็เป็น 1 ใน 5 นางเอกชั้นนำช่วงปี 80 ของ TVB
เธอและเหมียวเฉียวเหว่ย 1 ใน 5 พยัคฆ์ TVB
ไม่เพียงแต่เคยรับบทเป็นสามีภรรยากัน
ในเรื่อง “ขุนศึกตระกูลหยาง” และ “เดชเซียวฮื้อยี้”
ในชีวิตจริงทั้งคู่ก็แต่งงาน ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” (1984) รับบท เย่ว์หลิงซัน,
“จิ้งจอกภูเขาหิมะ” (1985) รับบท ฮูหยินหู,
“ขุนศึกตระกูลหยาง” รับบท องค์หญิงชิงเหลียน

6.หลันเจี๋ยอิง
เจี๋ยอิง

หลันเจี๋ยอิง นับว่าเป็นนางเอกที่อาภัพคนหนึ่ง
เธอเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายนปี 1964 อายุ 43 ปี
เข้าวงการและมีชื่อเสียงในปี 1984
เคยเป็นนางเอกที่โด่งดังของ TVB ช่วงหลังๆ ยังมีรับงานแสดงบ้าง
ตอนนี้หลันเจี๋ยอิงกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ใช้ชีวิต
อย่างยากลำบาก
แถมมีอาการของโรคประสาทรุมเร้าด้วย

ผลงานที่ผ่านมาอาทิ “จอมยุทธผงาดฟ้า” (1989) แสดงกับ โจวซิงฉือ

7. โจวไห่เหม่ย
โจวไห่เหม่ย

โจวไห่เม่ย เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมปี 1966 ปัจจุบันอายุ 41 ปี
เป็นนางเอก TVB ยุค 80 เข้าวงการตั้งแต่ปี 1985
ช่วงแรกๆ มีข่าวว่าโจวไห่เม่ยแอบบินไปแต่งงานกับพระเอกหลี่เหลียงเหว่ย
ที่ต่างประเทศและก็หย่าร้างกันไปอย่างเงียบๆ

หลังจากต้นปี 90 หมดสัญญากับ TVB แล้ว
โจวไห่เม่ยก็เดินทางไปรับงานแสดงอิสระที่ไต้หวัน
ต่อมาก็ชีพจรลงเท้าไปแสดงละครที่แผ่นดินใหญ่
จนถึงวันนี้เธอก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวงการบันเทิงอยู่

ผลงานสร้างชื่อ “ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) รับบท หยางจิ่วเม่ย,
“หลิวหมางต้าเฮิง” (1986) และ “อี้ปู้หรงฉิง” (1990)

8. เส้าเหม่ยฉี
เหม่ยฉี

เส้าเหม่ยฉี เกิดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ปี 1965 ปัจจุบันอายุ 42 ปี
เธอเข้าวงการตั้งแต่ปี 1985 และมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 1990
(ความจริงตั้งแต่ปี 1986 ชื่อของเธอก็เป็นที่รู้จักแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับบทเด่น)

พอถึงปี 1990 เมื่อละครเรื่อง “หว่อเปิ่นซ่านเหลียง” ออกฉาย
จึงนับว่าเธอประสบความสำเร็จในอาชีพการแสดงอย่างแท้จริง
ด้านความรักเธอเคยเป็นแฟนกับ เจิ้งอีเจี้ยน นานหลายปี
ก่อนที่ฝ่ายชายจะตีจากไปคบนักร้องสาวตาโตเหลียงหย่งฉี

จนถึงวันนี้เส้าเหม่ยฉียังรับงานแสดงของ TVB
ส่วนใหญ่รับบทนักแสดงสมทบที่ค่อนข้างมีบทบาทในเรื่อง
ผลงานสร้างชื่อ “หว่อเปิ่นซ่านเหลียง” (1990),
“ดาบมังกรหยก” (1986) แสดงเป็น เสี่ยวเจา

9. ซังเทียนเอ๋อ
เทียนเอ๋อ

ซังเทียนเอ๋อ เกิดเดือนกรกฎาคมปี 1962 อายุ 45 ปี
เข้าวงการเมื่อปี 1983 และมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 1984
จากบท อาเคอ/เฉินหยวนหยวน ในเรื่องอุ้ยเสี่ยวป้อ (เวอร์ชั่นเหลียงเฉาเหว่ย)
จนถึงวันนี้ซังเทียนเอ๋อยังรับแสดงละครให้ TVB อยู่
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ คัมภีร์อักษรกระบี่ (1987), เพ็กฮ้วยเกี่ยม ในปี 1985

10.จวงจิ้งเอ๋อ
จิ้งเอ๋อ

เพราะมีใบหน้าที่คล้ายคลึงกับดาราสาว กวนจือหลิน
จึงทำให้เธอได้รับฉายาว่า “กวนจือหลินเวอร์ชั่นใหม่”
ผลงานสร้างชื่อ “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” (1985) รับบท เวินชิงชิง,
“ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) รับบท สนมพาน

11. หวงซิ่งซิ่ว
ซิ่งซิ่ว

หวงซิ่งซิ่ว เกิด 14 เมษายนปี 1956 อายุ 51 ปี
ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สาวงามในชุดโบราณ” ออกจากวงการตั้งแต่ปี 1988

ปัจจุบันเป็นภรรยาของนักแสดงและพิธีกรฝีปากกล้า เฉินไป่เสียง ผลงานสร้างชื่อได้แก่
“8 เทพอสูรมังกรฟ้า” (1982) รับบท อาจูและจงหลิง, “ชอลิ่วเฮียง” (1979) รับบท กงหนันเยี่ยน,
“หร่วนหลิงอี้ว์” รับบท หร่วนหลิงอี้ว์, “สือซันเม่ย” รับบท เหออี้ว์เฟิ่ง

12. หมีเซี่ยะ
หมีเซี๊ยะ

หมีเซี่ยะเกิดเมื่อวันที่ 2 กันยายนปี 1955 อายุ 52 ปี
เธอได้รับฉายาว่าเป็น "นางเอก 2,000 ปี" หมีเซี่ยะเป็นนางเอกที่โด่งดังที่สุดช่วงปี 70

ช่วงหลังๆ เธอรับแสดงละครทั้งของ TVB และ ATV
จนถึงปัจจุบันเธอก็ยังรับงานแสดงอยู่
ผลงานสร้างชื่อของเธอก็คือ “มังกรหยก” ซึ่งเธอรับบทเป็น อี้งย้ง

13. หวงเจ้าสือ
เจ้าสือ

หวงเจ้าสือเกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายนปี 1963 อายุ 44 ปี
เธอเป็นนักเรียนการแสดงรุ่นที่ 8 ของ TVB ตั้งแต่อายุ 17 ปีก็เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง
และมีโอกาสแสดงนำในเรื่อง อุ้ยเสี่ยวป้อ ของชอว์[ราเธอร์เมื่อปี 1980

ต่อมาในปี 1985 เธอผละจากทีวีบีมาร่วมงานกับ ATV
แต่ระยะหลังๆ ก็ไม่เห็นผลงานการแสดงของเธออีก ผลงานที่ทำให้เราหวนนึกถึงเธอก็คือ
บท “องค์หญิงหัวจึง” ในมังกรหยกภาค 1 (เวอร์ชั่นองเหม่ยหลิง-หวงยื่อหัว)

14. เติ้งชุ่ยเหวิน
ชุ่ยเหวิน

เติ้งชุ่ยเหวิน เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคมปี 1966 อายุ 41 ปี
เข้าวงการปี 1985 มีผลงานเด่นได้แก่เรื่อง “ดาบมังกรหยก” (1986) รับบทเป็น โจวจื่อยั่ว

จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังคงได้รับบทเด่นจาก TVBอยู่ อย่างเช่นเมื่อปี 2004
เติ้งชุ่ยเหวิน ก็ได้รับบทนำในละครเรื่อง ศึกรักจอมราชันย์
ซึ่งละครเรื่องนี้ทำเรทติ้งสูงอย่างมากในฮ่องกง

15. เซี่ยะหนิง
เซี่ยะหนิง

เซี่ยะหนิงเกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปี 1963 อายุ 44 ปี
เข้าสู่วงการบันเทิงหลังจากคว้ามงกุฎนางงามฮ่องกงปี 1985
ปี 2004 เซี่ยะหนิงหย่าร้างกับสามี และกลับมาเป็นพิธีกรรายงานอาหารให้แก่ TVB

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “เดชเซียวฮื่อยี้” (1988) รับบท โซวเอ็ง,
“ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) รับบท สะใภ้ 5, “จอมดาบหิมะแดง” (1989),
“เต็กเช็ง” (1986) รับบท “หยางจื่ออิน”

16. หลี่เหม่ยเสียน
เหม่ยเสียน

หลี่เหม่ยเสียนเกิดวันที่ 19 ตุลาคมปี 1966 อายุ 41 ปี
เข้าวงการเมื่อปี 1985 เป็น 1 ใน 5 นางเอกชั้นนำของ TVBช่วงปี 80
อีกทั้งยังมีฉายาว่า “หญิงงามในชุดโบราณหมายเลขหนึ่ง”
อดีตเคยเป็นแฟนเหลียงเฉาเหว่ย

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “เดชเซียวฮื้อยี้” (1988) แสดงเป็น ทิซิมลั้ง,
“ดาบมังกรหยก” (1986) แสดงเป็น เจ้าหมิ่น
หลี่เหม่ยเสียนอยู่ในวงการบันเทิงจนถึงปี 1996
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้ข่าวว่า เธอเข้าสู่ประตูวิวาห์แล้ว

17. เจิงหัวเชี่ยน
หัวเชี่ยน

เจิงหัวเชี่ยนเป็น 1 ใน 5 นางเอกแนวหน้าของ TVB ช่วงปี 80
เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมปี 1965 ปัจจุบันอายุ 42 ปี
เข้าวงการตั้งแต่ปี 1984 และเคยเป็นแฟนกับเหลียงเฉาเหว่ย

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “จิ้งจอกภูเขาหิมะ” (1985),
“ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) รับบท ตู้จินเอ๋อ
ปัจจุบันถึงแม้ว่าไม่ได้แสดงละครแล้ว แต่ก็มักรับเป็นพิธีกรให้แก่ TVB

18. กงฉือเอิน
ฉือเอิน

กงฉือเอิน เกิดวันที่ 17 กันยายนปี 1963 เข้าวงการเมื่อปี 1984
ผลงานละคร TVB ได้แก่ “ขุนศึกตระกูลหยาง” (1985) รับบท สะใภ้ 4,
“ชอลิ่วเฮียง ตอน ถล่มวังค้างคาว” (1984),
“ศึกเทพยุทธเขาซูซัน ตอน ทายาทมารโลหิต” (1990)

หลังจากออกจาก TVB ก็ไปรับงานแสดงในไต้หวัน อาทิ
เปาบุ้นจิ้น ตอน ผ้ายันต์กินเลือด, หมอดูเทวดา เป็นต้น

19. เฉินอี้ว์เหลียน
อี้ว์เหลียน

เฉินอี้ว์เหลียนเป็น 1 ใน 5 นางเอกชั้นนำของ TVB ช่วงปี 80 เช่นกัน
เธอเกิดวันที่ 25 มีนาคมปี 1960 ปัจจุบันอายุ 47 ปี
เข้าวงการเมื่อปี 1978 อยู่ในวงการบันเทิงจนถึงปี 1993

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “ศึกลำน้ำเลือด” (1987) รับบท องค์หญิงหลันหลิง,
“8 เทพอสูรมังกรฟ้า” รับบท หวังอี่ว์เยียน
และที่สร้างชื่อให้สุดๆ ได้แก่ “มังกรหยกภาค 2” (1983) รับบท เซียวเล่งนึ่ง

20. องเหม่ยหลิง
เหม่ยหลิง

หลายคนประทับใจไม่รู้ลืมกับบทบาท “อึ้งย้ง” เวอร์ชั่นของนางเอกฟันกระต่ายคนนี้
องเหม่ยหลิงเกิดวันที่ 7 พฤษภาคมปี 1959 เข้าวงการตั้งแต่ปี 1982
ในขณะที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งโรจน์ องเหม่ยหลิงกลับผิดหวังในความรัก
และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการเปิดแก๊สรมตัวเองในที่พัก
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมปี 1985 ปิดฉากชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย

ผลงานสร้างชื่อได้แก่ “มังกรหยก” (1983),
“ชอลิ้วเฮียง ตอน ถล่มวังค้างคาว” (1984)


หมดแล้วค่ะ กับ 20 นางเอก TVB ในความทรงจำ
เชื่อว่า หลายคนยังเป็นนางเอกในดวงใจผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้

***ขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
-ผู้จัดการออนไลน์ 5 มิถุนายน 2550
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9500000062671





 

Create Date : 01 สิงหาคม 2550    
Last Update : 1 สิงหาคม 2550 21:22:16 น.
Counter : 13607 Pageviews.  

1  2  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.