ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 
ที่มาของ "หมั่นโถว"






หมั่นโถว-ซาลาเปาร้อนๆ อาหารยอดนิยมของคนจีน
"หมั่นโถว-ซาลาเปาร้อนๆ อาหารยอดนิยมของคนจีน"

‘หมั่นโถว’ หรือเจ้าแป้งนึ่งก้อนกลมๆสีขาวนวลเนียน
ที่คนไทยนำมารับประทานกับขาหมูนั้น
ในเมืองจีนก็มีหลากหลายประเภทคล้ายอย่างในบ้านเรา
ทั้งแบบหวาน เค็ม ใส่นมวัวและที่ใส่ไส้เหมือนซาลาเปาที่เรารู้จักดี เช่น
ไส้ครีม ถั่วแดง หมูแดง หมูสับ และแบบมังสวิรัติ
ก็ถือเป็นหมั่นโถวชนิดหนึ่งด้วย

ในอดีต ‘หมั่นโถว’ หรือ ‘หมันโถะ’ (ออกเสียงในภาษาจีนกลาง)
แบบมีไส้และมีขนาดใหญ่ ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า
ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หรือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาว
เข้าสู่ฤดูร้อนของปีใหม่ เพื่ออธิษฐานขอพรให้ฟ้าฝนดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

ที่มาของหมั่นโถวมีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า
กำเนิดมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก (ค.ศ.220-280) เรื่องเล่ามีอยู่ว่า.....
สมัยนั้นชนพื้นเมืองทางใต้ของแคว้นสู่ที่เรียกตนเองว่า พวกหนันหมัน
ชอบก่อความวุ่นวายโดยยกทหารมาโจมตีแคว้นสู่อยู่บ่อยครั้ง
คราหนึ่งหัวหน้าเผ่านามว่า เมิ่งฮั่ว นำทัพมา
ร้อนถึง จูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง(ค.ศ.181-234)
ที่ต้องนำทหารออกปราบปรามด้วยตนเอง

เมื่อขงเบ้งรบชนะและกวาดต้อนเชลยศึกผ่านมาถึงแม่น้ำหลูซุ่ย
(แม่น้ำจินซาเจียงในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นแดนเถื่อน ไร้เงามนุษย์
ซ้ำอากาศก็เป็นพิษไม่สะอาด แต่เป็นเส้นทางที่เหล่าทหารจำต้องข้ามไป
เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหาร
ลูกน้องของขงเบ้งเสนอความคิดขึ้นว่า ให้บั่นหัวเชลยศึกเผ่าหนันหมัน
นำมาเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าประจำแม่น้ำสายมรณะนี้

แต่ขงเบ้งผู้ปราดเปรื่องไม่เห็นด้วยที่จะตัดคอคนจริงๆ
จึงคิดอุบายนำแป้งมาปั้นเป็นรูปหัวคนห่อไส้เนื้อแกะและวัว
หลังจากนั้นเอาไปนึ่ง แล้วนำไปเซ่นไหว้บูชาแม่น้ำแทน
ครั้งนั้นทหารแคว้นสู่จึงเดินทางข้ามแม่น้ำมาได้โดยปลอดภัย
นับแต่นั้นมา แป้งนึ่งก้อนกลมนี้ก็ถูกเรียกว่า ‘หมันโถว’
ซึ่งแปลได้ความว่า ‘หัวเชลยเผ่าหมัน’
และทำตกทอดกันมาจนแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะขึ้นมาทางภาคเหนือ
ได้กลายมาเป็นอาหารที่ชาวจีนเหนือนิยมรับประทานกันเป็นอาหารเช้า
หรืออาหารว่าง ( คนจีนทางภาคเหนือนิยมเรียก ‘เปาจึ’ หรือ ซาลาเปา )
ว่ากันว่า หมั่นโถวแต่ละท้องถิ่นก็มีกลเม็ดการปรุงแต่งแตกต่างกันไปสารพัดแบบ

หมั่นโถวแบบมีไส้ หรือที่เรียกกันว่า เปาจึ-ซาลาเปา
"หมั่นโถวแบบมีไส้ หรือที่เรียกกันว่า "เปาจึ-ซาลาเปา"

และเนื่องจากความหมายของคำเรียกดั้งเดิมฟังดูโหดร้ายเกินไป
ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรที่บ่งชี้ว่าเป็นอาหาร
แทนตัวอักษรที่หมายถึง พวกหนันหมัน อย่างเช่นในอดีต
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกว่า
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อรูปร่างของหมั่นโถวเปลี่ยนไป
ไม่ปั้นเหมือนรูปหัวคนและยังมีขนาดเล็กลง
ผู้คนจึงตั้งชื่อให้หมั่นโถวมีไส้ประเภทนี้ว่า ‘เปาจึ’ ในเวลาต่อมา
(ที่มาของซาลาเปานี้ บางแหล่งก็ว่าเป็นอาหารที่ฮ่องเต้คิดขึ้นมา)

เจ้าหมั่นโถวก้อนอ้วนๆ ขาวๆ นี้
ยังมีบันทึกในประวัติศาสตร์ที่เล่าต่างไปจากตำนานข้างต้นอีกว่า
เป็นอาหารในแคว้นสู่ที่มีมาก่อนสมัยสามก๊กเสียอีก
และอ้างว่า การมาให้ชื่อ ‘หมั่นโถว’ ตามเหตุการณ์ตัดคนเชลยหนันหมันนั้น
เป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นตามจินตนาการเท่านั้น

โดยนักโบราณคดีจีนมีข้อพิสูจน์ว่า
หมั่นโถวไร้ไส้มีมาตั้งแต่ยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว (770-22 ปี ก่อนคริสตกาล)
เพราะเวลานั้นชาวจีนรู้จักการใช้ครกสากและโม่
และมีการนำรำข้าวสาลีมาผลิตเป็นอาหารแล้ว

หมั่นโถว หลากหลายแบบหน้าตาไม่ต่างจากเมืองไทย
"หมั่นโถว หลากหลายแบบทั้งเค็มหวาน หน้าตาไม่แตกต่างจากในเมืองไทย"

และที่หลายคนทราบแล้วอาจจะแปลกใจ ก็คือ
ในบันทึกเรื่องการค้นคว้าเรื่องนามต่างๆ และบันทึกเกี่ยวกับมาตรฐานอักขระ
กล่าวว่า คำ ‘ขนมเปี๊ยะ หรือ ปิ่ง’ ประเภทต่างๆ
ตั้งแต่ ‘เจิงปิ่ง’ (เปี๊ยะนึ่ง),‘หลงปิ่ง’, ‘ชุยปิ่ง’
และ ‘ฉี่เจียวปิ่ง’ (เปี๊ยะที่นึ่งแล้วพองฟู)
ล้วนเป็นคำใช้เรียกหมั่นโถวมาก่อนด้วย

ในสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907)
หมั่นโถวกลายเป็นหนึ่งในสำรับฮ่องเต้
ทำหน้าที่เป็นอาหารประดับหรืออาหารตาเพื่อความสวยงาม
ซึ่งต้องทำให้มีขนาดเล็กลง(คล้ายติ่มซำ)
มิฉะนั้นกินเข้าไปแล้วจะอิ่มเกินไป
และยังมีการประดิษฐ์ไส้หลากหลายขึ้นด้วย
บางชนิดพัฒนามาเป็น ‘เสี่ยวหลงทังเปา’
หรือ ซาลาเปาไส้เนื้อสับมีน้ำซุปขลุกขลิกอยู่ข้างใน

ที่อดกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ ‘หมั่นโถวไท่เสียว์’
หมั่นโถวที่โด่งดังแห่งราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ. 960-1127)
ตามที่ทราบกันดีว่า คำ ‘ไท่เสียว์’
ใช้เรียกสำนักศึกษาระดับสูงของจักรพรรดิ
ดังนั้น หมั่นโถวชนิดนี้ก็ย่อมต้องมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับสถานศึกษานี้เอง

กล่าวคือ ต้นรัชกาลหยวนเฟิง จักรพรรดิซ่งเสินจง
ได้เสด็จเยือนสถานศึกษาไท่เสียว์
ขณะนั้นเป็นเวลาอาหารของบรรดาอาจารย์และศิษย์
ซึ่งกำลังทานหมั่นโถวกันอย่างเอร็ดอร่อย
พระองค์จึงถือโอกาสนี้ร่วมเสวยหมั่นโถวด้วย
หลังจากลองชิมแล้วก็ติดพระทัยในหมั่นโถวรสโอชาเป็นอย่างมาก
ถึงกับรับสั่งด้วยความพอพระทัยว่า
“ใช้สิ่งนี้(หมั่นโถว)บำรุงเลี้ยงปัญญาชน ก็มิมีสิ่งใดต้องละอายแก่ใจแล้ว”

สำนักไท่เสียว์จึงนำหมั่นโถวแสนอร่อย
มามอบเป็นของกำนัลแด่ญาติมิตร
และได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ
และจิตสำนึกในบุญคุณต่อองค์จักรพรรดิ
ซึ่งหลังจากนั้น ชื่อเสียงของหมั่นโถวแห่งไท่เสียว์ก็ขจรขจายไปทั่ว
และแม้ว่าราชวงศ์ซ่งจะเสื่อมสลายลงไปนานแล้ว
หมั่นโถวไท่เสียว์ก็ยังเป็นที่รู้จักกันในสมัยต่อๆมาจนถึงวันนี้.

ขอบคุณ(Thank You) ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ :
- ผู้จัดการออนไลน์ 19 มกราคม 2548
- longfong.com / ซีน่าเน็ต / หนังสือประวัติอาหาร ‘สือหลินไว่สื่อ’ผู้แต่ง จูเจิ้นฟาน















Create Date : 20 พฤษภาคม 2550
Last Update : 16 สิงหาคม 2551 21:01:14 น. 13 comments
Counter : 4755 Pageviews.

 
ได้ความรู้มากเลยค่ะ
เพิ่งทราบค่ะ


โดย: โสดในซอย วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:21:09 น.  

 
เข้ามากรี๊ดก่อน เดี๋ยวกลับมาเม้นท์แบบมีสติอีกรอบ


โดย: ริมยมนา วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:27:00 น.  

 
มา blog นี้ได้ความรู้กลับไป

และได้ชมภาพสวยด้วย

มาทักทายคะ

ว่าง ๆ เชิญ blog goodpeople นะคะ


โดย: goodpeople วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:28:57 น.  

 
เสี่ยวเอ้อ...เอาหมั่นโถวแบบข้างบนมา 2 ที่..
เอ่อ ... แล้วทำไหมเค้าเรียกบริกรว่า "เสี่ยวเอ้อ" ล่ะ สงสัยคนลาวจะไปทำงานที่โรงเตี๊ยมเยอะ อ่ะนะ เอ๊ ! .. แล้วทำไหมเค้าเรียกร้านอาหารว่า "โรงเตี๊ยม" ว๊ากกกกก สงสัยไปซ่ะหมดดดด


โดย: โก้คุง (noppongc ) วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:19:04:16 น.  

 
เห็นแล้วคิดถึง หมั่นโถว ขาหมู


โดย: :bo (ECie ) วันที่: 20 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:25:35 น.  

 
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาเยี่ยมและให้ Comment ไว้นะคะ
อยู่ในช่วงหัดแต่ง หัดทำ blog น่ะค่ะ ยังไม่คล่องเลย



โดย: peijing วันที่: 21 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:10:06 น.  

 
Hello Test Hello Test
ไม่มีอะไรค่ะ มีพี่ท่านนึงมาบอกว่า
Comment ไม่ได้ เลยมาลองทดสอบดูว่า
Comment ได้รึไม่


โดย: peijing วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:31:09 น.  

 
ลองดูใหม่ครับ


โดย: เม้ง (ผมเอง..เฮียเม้ง ) วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:58:32 น.  

 
น่ากินครับ
คิดถึงขาหมู-หมันโถ่ว คราวหน้าขอเรื่อง ที่มาของขาหมู นะครับ

ผมชอบกินเปา ครับ ชอบแบบแป้งหวานๆ หน่อย ที่เรียกว่า ถางเปา ครับ

เปาใส้หมูแดงก็ชอบครับ คนกวางตุ้งเรียกเปาหมูแดงว่า ชาซิ่วเปา ครับ


โดย: ผมเอง..เฮียเม้ง วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:02:56 น.  

 


ลูกสาวเก่งจังเลยจ้ะ..ดีมากๆได้ความรู้แบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน..

ปีนี้ไม่ได้ทานของไหว้บรรพบุรุษเลย...คิดถึงนะจ้ะ


โดย: Tante-Marz วันที่: 28 สิงหาคม 2550 เวลา:10:06:19 น.  

 
เอ่อ.. ตกลงว่าซาลาเปากับหมั่นโถวคืออันเดียรึวกันป่าวคะ


โดย: piggy IP: 58.8.98.72 วันที่: 24 กันยายน 2551 เวลา:15:16:33 น.  

 
เราเข้าใจผิดมาตลอดเลยนะเนี่ยว่า"ซาลาเปากับหมั่นโถวมันไม่เหมือนกัน"

เราคิดว่าซาลาเปาคือแป้งมีใส้ส่วนหมั่นโถวคือแป้งล้วน ๆ

แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือแบบเดียวกัน

ซึ่งมันไม่น่าจะกินกับขาหมูได้เลยเพราะเราว่ารสชาติมันคงจะแปลกดีอ่ะ

แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าหมั่นโถวจะมีที่มามาจากท่านขงเบ้งนั่นเอง

ยังไงก็ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ นะคร้า


โดย: จุฑาธิป ทิมแจ่ม IP: 117.47.53.245 วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:20:43:37 น.  

 
ผมชอบ 3ก๊ก มาก เลย โดยเฉพาะ ข่งเบ้ง และ
จูล่ง ขงเบ้ง นี่จะบอกฉลาดก็ไม่ได้ คือ รู้ฟ้ารู้ดินนักปราช ขั้นเทพ ครับ ส่วนจูล่ง ก็ เป็นนักรบขั้นเทพ เหมือนกัน คู่ปรับที่กินกันไม่ลงก็ ลิโป้ ผมละชอบมากเลยทั้งดูทั้งอ่าน แทบจะเล่าได้ทั้งหมด
5555+
แต่ก็ขอบคุณเรื่อง ซาลาเปา นะคับ ได้ความรู้ไปเยอะเลย แต่หมันโถวที่กินกะ ขาหมูเนี่ยะ มันก็คงเหมือนกับที่คนไทยกินข้าวกับ ขาหมู สินะคับ
แต่สมัยนี้ไม่ต้องพึ่งขาหมู ละ เพราะเดี๋ยวนี้มีใส่ไส้มาในตัว พวกขนมแบบนี้ผมกินบ่อยคับ แบบว่าของประจำชาติ (หนมจีนไงคับ) 555 ล้อเล่นนะ พวก ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมเข่ง ซาลาเปา สาลี่ บะจ่าง พอดี อาม่า ผมมีเชื้อสายจีน อะคับ ละช่วงนี้แม่ผมฝึกทำ ลำบากท้องลูกหลาน ทั้งกินทั้งชิม ครับ ขอบคุณที่ให้ความรู้นะคับ


โดย: ฟิล์ม IP: 117.47.72.206 วันที่: 4 มิถุนายน 2553 เวลา:18:46:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.