ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

เกร็ดตรุษจีน # 10 จุดประทัดรับปีใหม่









หลังจากรับประทานอาหารมื้อแรกของวันตรุษแล้ว
ชาวจีนนิยมไปศาลบรรพบุรุษเพื่อทำพิธีเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ
นอกจากนี้ยังมีวิถีปฏิบัติเพื่อขอพร
และขอความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่แบบอื่นอีก เช่น
จุดโคมไฟ จุดประทัด ถวายเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า ไปวัด
ออกจากบ้านไปทัศนาจร รวมถึงการไปเก็บต้นงา
เพราะเชื่อว่า ชีวิตจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเหมือนต้นงาที่งอกขึ้นเป็นข้อๆ ชั้นๆ




ประทัด พลุไฟนานาชนิด รอให้เลือกซื้อมากมาย


นอกจากคืนวันส่งท้ายปีเก่า
และวันที่ 5 เดือน 1 ที่จะมีการจุดประทัดกันแล้ว
ประเพณีการจุดประทัดในเช้าวันแรกของปีใหม่ก่อนออกจากบ้าน
ก็เป็นความเชื่อของชาวจีนว่า จะเป็นการเริ่มต้นปีด้วยความคึกคัก
หรือที่เรียกว่า " ไคเหมินเพ่า " (开门炮) เพื่อต้อนรับวันแรกของปี


ประทัดของจีนมีประวัติศาสตร์มายาวนาน
เดิมทีใช้ปล้องไม้ไผ่ตั้งไฟเผาให้ระเบิดจนเกิดเสียงดัง
ใช้ในการขับไล่ภูตผี ป้องกันเสนียดจัญไร
ต่อมาใช้ในพิธีไสยศาสตร์ของพ่อมดหมอผีและการเสี่ยงทาย
จนในที่สุดกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการอธิษฐาน ขอความสงบร่มเย็น




ชาวจีนพากันเลือกซื้อประทัดไว้จุดต้อนรับวันใหม่ของปี


ประทัดมีด้วยกันหลายประเภท
แบบต่อเป็นสาย แบบพลุดอกไม้ไฟ ฯลฯ
ปัจจุบันประชาชนนิยมจุดประทัดเพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนานคึกคัก
แต่หากจุดประทัดโดยไม่ระมัดระวังมักก่อให้เกิดอุบัติเหตุทำร้ายผู้อื่นได้
อีกทั้งควันของมันยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ดังนั้น ในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศจีน จึงมีข้อห้ามไม่ให้มีการจุดประทัด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศยกเลิกข้อบังคับ
ห้ามเล่นและจำหน่ายประทัดและดอกไม้ไฟ ที่ดำเนินมาถึง 12 ปีแล้ว .
(ข้อมูล ณ 26 ม.ค. 49)






*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์





 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2551 22:59:50 น.
Counter : 2636 Pageviews.  

เกร็ดตรุษจีน # 9 ‘เหนียนฟ่าน (年饭)’ อาหารรับวันปีใหม่










ช่วงเทศกาลสำคัญที่สุดอย่างวันตรุษจีน
หรือ วันขึ้นปีใหม่ ‘ เหนียนชูอี (年初一) ’
การตระเตรียมอาหารการกิน นับเป็นงานช้างแห่งปีทีเดียว
โดยราว 10 วัน ก่อนวันปีใหม่ ชาวจีนจะเริ่มสาละวนกับการซื้อหาข้าวของ
สำหรับเทศกาลตรุษจีน อาทิ เป็ด ไก่ ปลา เนื้อ ชา เหล้า ซอส
วัตถุดิบเครื่องปรุงสำหรับอาหารผัดทอด ขนมนานาชนิด และผลไม้
สิ่งเหล่านี้ต้องตระเตรียมไว้อย่างชนิดไม่มีขาดตกบกพร่อง


ตามประเพณีของเจียงหนัน ก่อนวันตรุษจีน
จะมีการจัดสำรับอาหารปีใหม่ใส่ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่
มีส้มติดกระดาษมงคลสีแดงไว้ข้างบน
นอกจากนี้ยังมีกระจับ แห้ว ผลไม้ ขนมมงคล
จัดวางเรียงไว้ด้วยกันให้สวยงาม แล้วปักด้วยกิ่งไม้
ที่โค้งค้อมตัวลงมาอย่างอ่อนโยนเพื่อเป็น ‘ เหนียนฟ่าน ’ (年饭)
หรือ อาหารมื้อแรกของวันใหม่


สำหรับคนทางเหนือ จะจัด " ข้าวเงินข้าวทอง " (ข้าวเหนียวข้าวเจ้า)
เข้าสำรับกับผลเจ่า เกาลัด ลำไย ประดับด้วยกิ่งไม้หอม
และทำเกี๊ยว (饺子) กินกันในครอบครัว
ซึ่งบ้างก็ใส่ไส้หวานเพื่อเป็นเคล็ดว่า ชีวิตจะได้ประสบแต่ความหวานชื่น
บางแห่งก็ทำเกี้ยวไส้ถั่วลิสง
เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญเติบโต เพื่อเป็นเคล็ดของความมีอายุยืน
บ้างก็ใส่เหรียญเงินไว้ในจานเกี๊ยว
เพื่อบันดาล ‘ โชคลาภเงินทองและความราบรื่น ’
นอกจากนี้ เกี๊ยวยังมีรูปร่างคล้ายกับเงินแท่งสมัยโบราณ
ที่ปลายทั้ง 2 ด้านงอนขึ้น
ในวันปีใหม่ ชาวจีนจึงมักกิน เส้นหมี่ และ เกี๊ยว ที่เรียกว่า
‘ เงินห่อไหมทอง ’






ยิ่งไปกว่านั้นอาหารการกินในวันตรุษจีน
ยังโปรยประดับด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น ชาสำหรับคารวะแขก
ในวันปีใหม่ของคนเจียงหนันยังใส่ " ลูกสมอ 2 ลูก "
ไว้ในจานรองถ้วยชาหรือถาดชุดชา เพื่อสื่อความหมายว่า ‘ ชาเงิน’
และในสำรับอาหารจะต้องมีผัดผักกาดรวมอยู่ด้วย
เพื่อเป็นเคล็ดว่า กินแล้วจะบันดาล ‘ ความสนิทสนมอบอุ่น ’
เนื่องจาก ‘ ผัดผักกาด ’ ในภาษาจีนคือ " เฉ่าชิงไช่ " (炒青菜)
ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับ " ชินชินเย่อเย่อ " (亲亲热热)
ที่แปลว่า ‘ ความสนิทสนมอบอุ่น ’
และอาหารสำคัญอีกอย่าง คือ " ผัดถั่วงอก "
เนื่องจากถั่วงอกเหลืองมีรูปร่างคล้ายกับ ‘ หยกหยูอี้ ’
ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า " หยูอี้ " (如意) ที่แปลว่า สมปรารถนา


นอกจากนี้ ตามประเพณีการกินอาหารปีใหม่จะต้องกิน " หัวปลา "
แต่อย่ากินเกลี้ยงจนแมวร้องไห้ ธรรมเนียมการกินปลาให้เหลือนี้
เพื่อเป็นเคล็ดว่า ‘ เหลือกินเหลือใช้ ’
ซึ่งในภาษาจีน มีคำว่า " ชือเซิ่งโหย่วอี๋ว์ " (吃剩有鱼)
คำว่า ‘鱼-อี๋ว์’ ที่แปลว่าปลานั้น พ้องเสียงกับ ‘余 –อี๋ว์’ ที่แปลว่า เหลือ
จึงเป็นเคล็ดว่า ขอให้ชีวิตมั่งมีเหลือกินเหลือใช้



กินเหนียนเกา




การทำเหนียนเกา



เหนียนเกา จัดเป็นของหวาน
โดยมากทำจากแป้งข้าวเหนียวที่มีทั้งประเภทอบ หรือ นึ่ง และ ทอด
ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ อาทิ
เหนียนเกาที่ขึ้นชื่อที่สุดเห็นจะเป็น ไป๋เกา ของภาคเหนือ
หวงหมี่เกา แถบมณฑลเหอเป่ย และเหนียนเกาของหมู่บ้านชาวน้ำ
แห่งเจียงหนัน และของไต้หวันซึ่งเรียก หงกุยเกา
ทางภาคใต้ของจีนยังมีการหั่นเป็นแผ่นแล้วนำไปทอดหรือต้มในน้ำแกง
รสชาติหวานๆ เค็มๆ ด้วย



ขนมเหนียนเกา



สำรับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงาม
และความเป็นมงคลของวันรุ่งอรุณแห่งปีใหม่



***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- BG สวยๆ จาก คุณ lozocat




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 19 สิงหาคม 2551 22:09:47 น.
Counter : 833 Pageviews.  

เกร็ดตรุษจีน # 8 ' โส่ยซุ่ย ' กิจกรรมคืนต้อนรับปีใหม่







ในคืนก่อนวันตรุษจีน ทุกบ้านจะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา
เพื่อส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ และตลอดทั้งคืนนี้ก็จะไม่หลับไม่นอน
ลักษณะแบบนี้ชาวจีนเรียกว่า “ โส่วซุ่ย ”

ทั้งนี้ สมาชิกในบ้านจะไม่ได้นั่งรอคอยเวลากันเฉยๆ
แต่มีกิจกรรมร่วมกันมากมาย เช่น กิจกรรมด้านการกินและดื่ม
ไม่ว่าจะเป็นอาหารทั่วไป เกี๊ยว เหนียนเกา เหล้า เบียร์ เมล็ดแตง ของว่าง
ขณะเดียวกันก็มีเกมให้เล่น ส่วนใหญ่ก็เล่นกันในห้องรับแขก
เช่น ผู้ใหญ่ก็เล่นหมากล้อม หมากฮอร์ส ไพ่กระดาษ ไพ่นกกระจอก
ส่วนเด็กๆ ก็มีเกมแบบเด็กๆ เช่น ขี่ม้าไม้ไผ่ วิ่งไล่จับ ซ่อนแอบ




การรวมตัวกันดูรายการโทรทัศน์ส่งท้ายปีใหม่
เป็นอีกกิจกรรมโส่วซุ่ยยอดฮิตอย่างหนึ่งของชาวจีน



กระทั่งใกล้เวลาเที่ยงคืน
ผู้อาวุโสในบ้านก็จะเริ่มตั้งโต๊ะเพื่อจัดเรียงธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษ
และต้อนรับเทพแห่งโชคลาภ (ไฉ่สิ่งเอี๊ย / ไฉ่เสิน)
นอกจากนั้นก็ยังมีการจุดประทัด จุดโคมไฟ
ซึ่งยิ่งใกล้เวลาเที่ยงคืนเท่าไหร่ เสียงประทัดก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น
และเมื่อเวลาของวันใหม่เริ่มต้นขึ้น ก็จะเริ่มกล่าวสวัสดีปีใหม่แก่กันและกินเกี๊ยว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ยุค 80 ของศตวรรษที่แล้วเป็นต้นมา
การดูโทรทัศน์รายการ ‘ คืนต้อนรับปีใหม่ ’
ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ CCTV
พร้อมกันทั้งบ้านก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมโส่วซุ่ยที่ชาวจีนชื่นชอบ .




***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- กระทรวงวัฒนธรรมจีน
- BG สวยๆ จาก คุณ lozocat





 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 19 สิงหาคม 2551 22:08:33 น.
Counter : 667 Pageviews.  

เกร็ดตรุษจีน # 7 กินเกี๊ยวแล้วโชคดีตลอดปี








" เจี่ยวจือ หรือ เกี๊ยวต้ม "
อาหารยอดนิยมที่สุดของชาวจีน



" เจี่ยวจือ (饺子)หรือ เกี๊ยวต้มจีน "
เป็นอาหารท้องถิ่นจีนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
ตลอดจนได้รับความนิยมมาอย่างไม่เสื่อมคลาย
จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า ‘ ไม่มีอะไรอร่อยเท่าเจี่ยวจืออีกแล้ว ’
และในวันแรกของเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนทางเหนือ
อาหารชนิดนี้ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย
ทั้งยังได้รับเกียรติให้เป็นอาหารมื้อแรกของวันด้วย


ประเพณีการกินเจี่ยวจือในวันตรุษจีน
เริ่มเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644)
โดยคนในครอบครัวจะต้องห่อเจี่ยวจื่อให้เสร็จก่อนเที่ยงคืนของวันสิ้นปี
รอจนยามที่เรียกว่า " จื่อสือ ( 子时) "
ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 23 - 1 นาฬิกาของวันถัดมาก็จะเริ่มรับประทานกัน
และเป็นเวลาเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่พอดี การทานเจี่ยวจือจึงมีความหมายว่า
‘ เปลี่ยนปีเชื่อมเวลา (更岁交子) '
เพราะคำเรียกอาหารชนิดนี้ 饺- เจียว ก็ออกเสียงคล้าย 交-เจียว
ซึ่งมีความหมายว่า เชื่อมต่อกัน และ 子-จื่อ ก็คือ 子时 – จื่อสือ นั่นเอง


นอกจากนั้น การรับประทานอาหารชนิดนี้
ยังมีความหมายสำคัญของการรวมตัวของคนในครอบครัวอีกด้วย
เมื่อแป้งที่ห่อไส้ เรียกว่า 和面- เหอเมี่ยน
คำว่า 和พ้องเสียงกับคำว่า 合 – เหอ ที่แปลว่า ร่วมกัน
และ 饺 - เจี่ยว ก็ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 交
ที่มีอีกความหมายว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย


การรับประทานเจี่ยวจือในวันตรุษจีนยังมีตำนานและเรื่องเล่ามากมาย
ดังเช่น มีการกล่าวกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ หนี่ว์วา (女娲) ผู้สร้างมนุษย์
โดยเชื่อว่า ในระหว่างที่หนี่ว์วากำลังปั้นดินให้เป็นมนุษย์นั้น
เนื่องจากอากาศเย็นจึงทำให้ดินร่วนแตกง่าย
เพื่อให้ส่วนที่ปั้นเป็นหูไม่หลุดออกจากหัว
หนี่ว์วา จึงเจาะรูในหูและใช้เส้นด้าย (线- เสี้ยน) คล้องไว้
แล้วลอดออกมาทางปากของตุ๊กตาดิน
ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของหนี่ว์วา
ชาวบ้านจึงปั้นเจี่ยวจือให้เป็นรูปคล้ายหูคน ภายในบรรจุไส้ (馅-เสี้ยน)
แล้วนำมารับประทาน



กรรมวิธีการห่อเจี่ยวจือ
ต้องแผ่แป้งให้บางเป็นรูปวงกลมแล้วจึงนำมาใส่ไส้ที่ผสมแล้ว



นอกจากนั้น ก็มีเรื่องที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงเล่าขานกันว่า
ในสมัยปลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.22-220)
ขณะที่ จางจงจิ้ง แพทย์หลวงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น
หมอเทวดา กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม
ที่เมืองหนันหยัง-มณฑลเหอหนัน หลังจากลาออกจากราชการ
ระหว่างทางซึ่งบังเอิญเป็นวันเทศกาลตงจื้อ
(วันที่ช่วงกลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดของปี
เมื่อผ่านวันนี้ไปแล้ว กลางวันก็จะค่อยๆ นานขึ้น
ปัจจุบันระบุในปฏิทินระบบสุริยคติว่าคือวันที่ 22 หรือ 23 ธันวาคมของทุกปี)
เขาได้พบกับชาวบ้านมากมายที่ต้องทนทุกข์กับความหนาวเหน็บ
จนหูทั้งสองข้างมีเลือดออก และที่ป่วยกระทั่งเสียชีวิตไปก็มีไม่น้อย


หมอเทวดาจางเห็นดังนั้น จึงตัดสินใจตั้งเพิงเพื่อรักษาผู้ป่วย
ทั้งยังตั้งเตาขนาดใหญ่เพื่อต้มเนื้อแพะปรุงพิเศษด้วยยาจีน
ที่มีฤทธิ์ร้อนและขับไล่ความหนาว
แล้วนำแป้งมาห่อเนื้อแพะเหล่านั้นเป็นรูปคล้ายหูคน
เมื่อปรุงเสร็จแล้วก็นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ได้รับประทานกัน
ตั้งแต่วันตงจื้อไปจนถึงวันตรุษจีน อันเป็นระยะเวลาร่วม 1 เดือน
ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้กับคนยากคนจนได้มากมาย


ตั้งแต่นั้นมา คนในหมู่บ้านดังกล่าวและคนรุ่นหลังที่สำนึกในบุญคุณ
จึงจัดกิจกรรมดังกล่าวเรื่อยมา และเรียกแป้งห่อเนื้อรูปหูว่า
" เจี่ยวเอ่อร์ ( 饺耳) "
耳แปลว่า หู และ 饺子เจี่ยวจือ จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดเรื่อยมา




สมาชิกในครอบครัวช่วยกันห่อเกี๊ยว ฉลองตรุษจีน



การที่เจียวจื่อเป็นอาหารสำคัญที่ไม่อาจขาดได้ในวันตรุษจีน
ยังมีเหตุผลมาจากรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือ
ที่เป็นรูปทรงคล้ายเงินในสมัยโบราณ
การรับประทานเจี่ยวจือ จึงเหมือนการนำเงินทองเข้ามาสู่ตัว
นอกจากนั้น ไส้ในเจี่ยวจือก็ยังสะดวกต่อการบรรจุสิ่งที่เป็นมงคลลงไป
เป็นการให้ความหวังต่อคนที่รับประทานด้วย เช่น
ลูกกวาด ถั่วลิสง พุทราแดง เม็ดเกาลัด เหรียญเงิน
โดยคนที่กัดเจอลูกกวาด หมายถึง ชีวิตในปีใหม่ก็จะยิ่งหอมหวาน
ในขณะที่ ถั่วลิสง มีความหมายว่า แข็งแรงและอายุยืนนาน
ส่วน พุทราแดง และ เกาลัด หมายถึง การจะมีบุตรภายในปีนั้น
และหากกัดเจอ เหรียญเงิน ก็จะยิ่งร่ำรวยเงินทอง


อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน
เจี่ยวจือไม่ได้จำกัดวงแค่เป็นอาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีนแล้วเท่านั้น
แต่ยังพัฒนาจนกลายเป็นอาหารหลักของชาวจีนทางเหนือ
ดังที่เราจะสามารถสั่งเจี่ยวจือไส้ต่างๆ
มาทานได้ตามร้านอาหารทั่วไปในปักกิ่ง และ เหลียวหนิง
นอกจากนั้น ยังมีการประยุกต์ไส้ของเจียวจื่อให้มีความหลากหลาย
และมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมด้วย เช่น ไส้หูฉลาม เป๋าฮื้อ หรือ
อาหารพิสดารทั้งหลาย ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของอาหาร



เจี่ยวจือประยุกต์ มีสีสันดึงดูดใจผู้รับประทาน


และสำหรับใครที่อยากจะไปลองชิมเจียวจื่อ
ก็ได้มีผู้รู้กรุณาแนะนำร้านมาให้ดังนี้ค่ะ

ร้านเจี่ยวจือชื่อดังในปักกิ่ง

1.หลงถันเจี่ยวจือไห่เซียนเฉิง
ที่อยู่เขตย่ายุ่นชุนเสี่ยวชีว์, ฮุ่ยจงเป่ยหลี่, ซื่อชีว์
หมายเลขโทรศัพท์ 010-64858038

2.เทียนจินไป่เจี่ยวจือหย่วน
ที่อยู่เขตซีเฉิงชีว์, ถนนซินเหวินฮั่วเจี่ย12, ฮ่าว
หมายเลขโทรศัพท์ 010-66059371

3.จิ่วพิ่นเจี่ยวจือเฉิง
ที่อยู่เขตเสวียนอู่ชีว์, ถนนกว่างเน่ยต้าเจียหลิน 89, ฮ่าว
หมายเลขโทรศัพท์ 010–6318

ร้านเจี่ยวจือชื่อดังในกว่างโจว(กวางเจา)

1.ตงเป่ยเหริน มีทั้งสิ้น 5 สาขา คือ
1.เถาจินเป่ย 020-83576277, 83575276
2.ฮัวหยวนต้าซ่า 020-87501711, 87571507
3.เหอไท่ 020-87751854, 87600688-3111
4.หลันเป่าสือต้าซ่า 020-81361466, 81362476
5.เจียงหนันซีลู่ 020-84401818, 84439889

2.เฮยเทียนเอ๋อ มีทั้งสิ้น 12 สาขา เช่น
1.เทียนเหอ 020-87547095
2.ตงซัน 020-87675687
3.เจี่ยฟั่งเป่ยลู่ 020-83643305
4.ซีหูลู่ 020-83365096
5.กงเยี่ยต้าเต้าลู่ 020-84341582 ฯลฯ




***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาขอข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์
- //www.yesky.com
- //www.china.org.cn
- //www.etiquette.aisec.com
- //www.5c5w.com
- BG สวยๆ จาก คุณ lozocat




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 19 สิงหาคม 2551 22:06:51 น.
Counter : 927 Pageviews.  

เกร็ดตรุษจีน # 6 ‘ เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭) ’- มื้อส่งท้ายปีเก่า







‘ เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭) ’ หมายถึง อาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนขึ้นปีใหม่ ที่ชาวจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยมักไหว้บรรพบุรุษและจุดประทัดกัน ก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้


‘ เหนียนเยี่ยฟ่าน ’ มีความพิเศษตรงที่
เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศ
จะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน
สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี
แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้
เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘ เหนียนเยี่ยฟ่าน ’ เสร็จแล้ว
ผู้ใหญ่จะให้ ‘ ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱) ’
หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘ อั่งเปา หรือ " แต๊ะเอีย " ’ แก่เด็กๆ






ความพิเศษของ ‘ เหนียนเยี่ยฟ่าน ’
ยังอยู่ที่ความหลากหลายของอาหารที่รับประทาน
เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี
ได้ผ่อนคลายและทานอาหารร่วมกันอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัว
ในคืนสุดท้ายของปี


ขณะที่ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล
จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมี คือ
‘ จี / ไก่ ’ (鸡) และ ‘ อี๋ว์ /ปลา ’ (鱼)
แทนความหมาย ‘ จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา) ’
และ ‘ เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี) ’
ส่วนที่ ไต้หวัน ยังนิยมทานลูกชิ้น หมายถึง การกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
นอกจากนี้ ยังมี ‘ จิ่วไช่ (韭菜 ผักกุ้ยช่าย) ’ ที่หมายถึง อายุมั่นขวัญยืน ((年寿长久))
สำหรับชาวหมิ่นหนัน ชนกลุ่มน้อยในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของจีน
เรียก " แครอท " ในภาษาถิ่นว่า ‘ ไช่โถว ’ (菜头))
แฝงความหมายการเริ่มต้นปีที่ดี ((好彩头))

และในบางพื้นที่จะกินเกี๊ยว หรือเรียกในภาษาจีนว่า ‘ เจี่ยวจือ ’( (饺子))
ที่มีรูปร่างคล้ายกับเงินแท่งสมัยโบราณที่ปลาย 2 ด้านงอนขึ้น
บางครั้งก็ใส่เหรียญเงินไว้ในเกี๊ยวด้วย เพื่อบันดาล ‘ โชคลาภเงินทอง ’
เป็นต้น.



ซอง “ยาสุ่ยเฉียน/อั่งเปา” แบบต่างๆ




*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์
- BG สวยๆ จาก คุณ lozocat




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 19 สิงหาคม 2551 22:05:23 น.
Counter : 809 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.