All Blog
วังท่าพระ
วังท่าพระ
 
เมื่อเราเดินออกจากประตูพระบรมมหาราชวังแล้ว เส้นทางบังคับเดิน จะผ่านร้านกาแฟก่อนออกประตู ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นฝรั่ง และมีปืนใหญ่เรียงรายให้ชม พร้อมทั้งพิพิธภัณฑ์
คนไทยรู้เส้นทางดี รอออกนอกประตูสักหน่อย จะเจอแหล่งกินได้เยอะกว่าถูกกว่า มีร้านอาหารมากมาย และจะพบเจอะเจอกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมสักหน่อยดีไหม หรือไม่เยี่ยม ๆ มอง ๆ นอกรั้วเป็นพอ
ข้อสังเกตแรก ให้ดูความสูงของกำแพงใบเสมา สังเกตและเปรียบเทียบกับกำแพงใบเสมาของพระบรมมหาราชวังจะพบว่า ความสูงต่างกัน
นั่นเป็นเพราะพระบรมมหาราชวังเป็นที่ทรงประทับของพระมหากษัตริย์ กำแพงใบเสมาจึงต้องสูงเด่นเป็นสง่าที่สุด
ส่วนกำแพงใบเสมาของวังท่าพระนั้นมีอดีตความเป็นมาต่างกัน
เมื่อแรกเริ่ม วังท่าพระเป็นวังที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้า ฯ สร้างเพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนกระษัตรานุชิต หรือ “เจ้าฟ้าเหม็น” ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ เจ้าฟ้าเหม็นเสด็จประทับอยู่ ณ วังแห่งนี้จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
ต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาเรียม (กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย) ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 ทั้งที่ไม่ได้เป็นพระโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีเอก
เมื่อรัชกาลที่ 3 ได้ย้ายไปพำนักในพระบรมมหาราชวังแล้ว ได้พระราชทานวังนี้ให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส 3 พระองค์
พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 24 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีห วิกรม ต้นราชสกุล "ชุมสาย"  เสด็จประทับที่นี่จนสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 53 พรรษา ในปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2411 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุไร กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ ทรงกำกับกรมแสงและกรมช่างสิลา สิ้นพระชนม์ที่วังนี้ในรัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ จนถึง พ.ศ. 2480 จึงย้ายไปอยู่วัง “บ้านปลายเนิน” ตรงถนนพระราม 4 คลองเตย ในสมัยรัชกาลที่ 8 โปรดประทับที่นั่นตลอดพระชนมายุ
ทายาทของพระองค์ได้ขายวังท่าพระให้กับทางราชการและกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระในกาลต่อมา

 



Create Date : 02 ตุลาคม 2562
Last Update : 2 ตุลาคม 2562 14:26:10 น.
Counter : 1063 Pageviews.

0 comment
สายราชสกุลที่สืบต่อจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

สายราชสกุลที่สืบต่อจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

1) พระเจ้าราชวรวงศ์ ชั้น 1 อสุนี สังขทัต ปัทมสิงห์ นีรสิงห์ 2) พระเจ้าราชวรวงศ์ ชั้น 2 บรรยงกะเสนา อิศรเสนา พยัคฆเสนา รังสิเสนา สหาวุธ ยุคันธร สีสังข์ รัชนิกร 3) พระเจ้าราชวรวงศ์ ชั้น 3 อิศรศักดิ์ กำภู เกสรา นุชะศักดิ์

4) พระเจ้าราชวรวงศ์ ชั้น 4 ราชสกุลที่สืบสายจากพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุธารส วรรัตน์ ภาณุมาส หัสดินทร์ นวรัตน์ ยุคนธรานนท์ โตษะณีย์ นันทวัน พรหเมศ จรูญโรจน์ สายสนั่น

5) พระราชวรวงศ์ ชั้น 5 ราชสกุลที่สืบสายจากพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วิลัยวงศ์ กาญจนวิชัย กัลป์ยาณะวงศ์ สุทัศนีย์ วรวุฒิ รุจจวิชัย วิบูลยพรรณ รัชนี วิสุทธิ

6) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ปาลกะวงศ์ เสนีวงศ์

7) พระปฐมบรมราชวงศ์ นรินทรกุล เจษฎางกูร นรินทรางกูร เทพหัสดิน มนตรีกุล อิศรางกูร




Create Date : 30 กันยายน 2562
Last Update : 30 กันยายน 2562 17:05:28 น.
Counter : 1028 Pageviews.

0 comment
พระบวรราชวัง
พระบวรราชวัง
รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้า ฯ ให้เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่า “พระบวรราชวัง” ส่วนวังหลวงให้เรียก “พระบรมมหาราชวัง” เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้จำแนกและรับรู้ว่าเป็นคนละที่ ด้วยขณะนั้นมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์พร้อมกัน จึงมีพระราชวังสองที่
สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จจากพระราชวังเดิมกลับมาประทับที่พระบวรราชวังของวังหน้า แต่เนื่องด้วยชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมากเพราะร้างผู้อยู่นานถึง 20 ปี จึงจำต้องสร้างและปฏิสังขรณ์พระที่นั่งและสถานที่ภายในพระราชวังเป็นอันมาก
ปัจจุบันสถานที่ที่ยังคงเหลืออยู่ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญ เช่นเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป์
สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับในพระบวรราชวังในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จึงมีการปรับปรุง ซ่อมแซม พระบวรราชวังครั้งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นแบบมาจากพระบรมมหาราชวัง
พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งคชกรรมประเวศบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งในการเกยช้าง ต้นแบบคือพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกและพระที่นั่งเอกอลงกฎมีที่เกยสำหรับทรงพระราชยานต้นแบบคือพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ สร้างพระที่นั่งสนามจันทร์และพลับพลาสูงต้นแบบคือพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และทรงย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิมมาปลูกไว้ที่พระบวรราชวัง  สำหรับที่ประทับของพระองค์ ได้ทรงสร้าง “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ซึ่งเป็นตึกแบบฝรั่ง 2 ชั้น และเสด็จเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้
พระองค์จัดตั้งทหารวังหน้าได้สร้างสถานที่สำหรับการทหารขึ้นภายในพระบวรราชวัง เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ เป็นต้น รวมทั้งได้สร้างโรงช้างต้นและม้าต้นตามแบบพระบรมมหาราชวัง
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระองค์ทรงมีคุณานุปการต่องานช่างทุกแขนง ทรงตั้งโรงงานการช่างและอุปถัมภ์ช่างฝีมือเอกไว้ในวังหน้าทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ช่างหุ่น และซ่อมป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมเสือซ่อนเล็บที่จังหวัดสมุทรปราการ ซ่อมพระอารามที่ชำรุด วัดส้มเกลี้ยง วัดดาวดึงส์ วัดชนะสงคราม และวัดหงส์รัตนาราม
พระองค์ทรงสร้างพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส และเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งองค์นี้ และเกิดบาดหมางกับรัชกาลที่ 5 ในวิกฤตการณ์วังหน้า  สุดท้ายพระองค์ทรงยอมรับว่า วังหน้าในสมัยของพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เช่นเดียวกับพระบิดา โดยมีทหารในกำกับได้ไม่เกิน 200 คน
วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428  รัชกาลที่ 5  ทรงโปรดให้ประกาศพระราชกฤษฎีกายกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช และให้จัดเขตวังหน้าใหม่ ริมน้ำด้านตะวันตกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ ด้านทิศตะวันออกเป็นท้องสนามหลวง
หลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 โปรดให้ขยายส่วนของสนามหลวงขึ้นไปทางเหนือรวมทั้งรื้อป้อม และอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม รอบ ๆ วัดบวรสถานสุทธาวาสลง คงเหลือแต่ตัวพระอุโบสถไว้ และโปรดให้ใช้พระอุโบสถเป็นพระเมรุพิมานสำหรับประดิษฐานพระบรมศพ เวลาสมโภช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระเมรุใหญ่ท้องสนามหลวง และปลูกพระเมรุน้อยที่พระราชทานเพลิงต่อออกไปทางด้านเหนือ
เมื่อเจ้านายวังหน้าสิ้นพระชนม์เหลืออยู่น้อยพระองค์ จึงโปรดให้เสด็จไปอยู่ในพระราชวังหลวง
หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อ พ.ศ. 2429 ทำให้ไม่มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกต่อไป ดังนั้น พระราชวังบวรสถานมงคลจึงไม่ได้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  และได้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง รื้อป้อมปราการและย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ใน พ.ศ. 2430
รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2469
ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงละครแห่งชาติ และท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก
 

 



Create Date : 30 กันยายน 2562
Last Update : 30 กันยายน 2562 17:03:47 น.
Counter : 642 Pageviews.

0 comment
วังหน้าระหว่างปี พ.ศ. 2349 – 2360

วังหน้าระหว่างปี พ.ศ. 2349 – 2360

หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างลงเป็นเวลา 3 ปี รัชกาลที่ 1 ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใด ด้วยเหตุที่ขัดใจกัน

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงคิดว่า แท้จริง ผู้ที่สมควรได้ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ควรเป็นของพระองค์ เพราะพระองค์ได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน กอปรกับทรงหวั่นเกรงไปว่า เมื่อสิ้นพระองค์ ลูกหลานจะไม่ได้รับเกียรติยศเช่นพระองค์

พระเจ้ากรุงญวณยาลองมีศุภักษรเข้ามาทูลว่า จะทรงปล่อยตำแหน่งนี้ให้ว่างไว้ดูไม่ดี เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ไปหลายพระองค์ รวมทั้งกรมวังหลัง เจ้านายที่ยังคงอยู่มียศศักดิ์และอายุเสมอกัน อาจจะเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นได้

พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในรัชกาลที่ 1 จึงได้เป็นพระมหาอุปราช แต่ทรงประทับที่พระราชวังเดิม ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช 3 ปี พ.ศ. 2352 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 2 และทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ทรงพระนาม กรมพระราชวังบวรเสนานุรักษ์

พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในรัชกาลที่ 1 ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช 3 ปี

ทำให้สายกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทหมดสิ้นลงในตำแหน่งวังหน้า

 

กรมพระราชวังบวรเสนานุรักษ์ พระนามเดิมจุ้ย เป็นพระโอรสลำดับที่ 7 ในรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ประสูติ พ.ศ. 2335 ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

พระองค์ได้ช่วยสมเด็จพระเชษฐาปฏิบัติราชการอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้เพราะพระเชษฐาทรงเป็นกวีและศิลปิน เก่งในเรื่องศิลปะ วรรณคดีและนาฏศิลป์

พระอนุชาจึงช่วยแบ่งเบาภาระในการบริหารราชการไปเป็นส่วนมาก ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราชเป็นเวลา 8 ปี ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างลงจนสิ้นรัชกาล

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2360 ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และไม่มีการสถาปนากรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นอีกในรัชกาลที่ 2

พระองค์ทรงมีพระโอรส 23 พระองค์ พระธิดา 17 พระองค์ ต้นราชสกุล บรรยงกะเสนา อิศรเสนา ยุคันธร รองทรง

กรมพระราชวังบวรเสนานุรักษ์ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสมรสกับพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ดำรงพระยศพระมหาอุปราช 8 ปี

ได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี




Create Date : 30 กันยายน 2562
Last Update : 30 กันยายน 2562 9:48:35 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comment
วังหน้า กรมพระราชวังบวร
วังหน้า กรมพระราชวังบวร
กรมพระราชวังบวรคือตำแหน่งพระมหาอุปราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีทั้งหมด 6 พระองค์
องค์ที่ 1 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 1
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ ผู้ร่วมกอบกู้เอกราชชาติไทยพร้อมพระเจ้าตากสิน ผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้เป็นวังหน้ามีอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์
ครั้งเมื่อรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถือศักดินา 100,000 นับได้ว่าเป็นวังหน้ามีอำนาจรองจากวังหลวง
องค์ที่ 2 กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 1 พระราชภาดาร่วมพระราชชนกชนนีกับรัชกาลที่ 2
องค์ที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 พระองค์ที่ 17
เป็นพระราชบุตรเขยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 2
องค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 พระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 4
องค์ที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา ประสูติใน พ.ศ. 2286 เป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับรัชกาลที่ 1 ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช เป็นเวลา 21 ปี เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2346 สิริรวมพระชนมายุ 60 พรรษา
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเป็นนักรบที่สามารถ เริ่มต้นผลงานด้วยการเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรตำแหน่งนายสุจินดาในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แล้วเข้าร่วมกองทัพเป็นกำลังของพระเจ้าตากสินในการกอบกู้อิสรภาพ  ได้ตำแหน่งพระมหามนตรี แล้วเลื่อนตำแหน่งโดยลำดับเป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย  เป็นพระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชครองเมืองพิษณุโลก ป้องกันพระราชอาณาจักรฝ่ายเหนือ
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชได้เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 และเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระองค์ทรงมีพระโอรส 18 พระองค์ พระธิดา 25 พระองค์ ต้นราชสกุล สังขทัต ปัทมสิงห์ นีรสิงห์
รัชกาลที่ 1 และวังหน้า ในช่วงแรกรักใคร่กลมเกลียวกันดีในการก่อร่างสร้างเมืองใหม่ จนช่วงท้าย ๆ เมื่อบ้านเมืองเป็นหลักฐานและมั่นคงดีแล้ว ความบาดหมางได้เริ่มเกิดขึ้นจากการทะเลาะวิวาทของขุนนางทั้ง 2 วัง   เริ่มตั้งแต่การแข่งเรือพาย วังหน้าแอบมีฝีพายอีกชุดที่ซ่อนไว้ให้แข่งวันจริงเพื่อหวังเอาชนะวังหลวง และต่อมาด้วยการที่วังหน้าขอเบิกเงินภาษีอากรไปใช้เลี้ยงดูข้าราชการฝ่ายวังหน้าเพิ่มขึ้น การขัดเคืองใจนี้สงบได้ด้วยสมเด็จพระพี่นาง 2 พระองค์มาไกล่เกลี่ย
ระหว่างมีพระชนม์ชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิต  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดทรงพระประชวรพระโรคนิ่ว  รัชกาลที่ 1 ทรงไปเยี่ยม แต่ว่าความบาดหมางระหว่างทหารและข้าราชการทั้ง 2 ฝ่ายกลับยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น จนถึงขั้นทะเลาะวิวาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรต้องมาไกล่เกลี่ยและเฝ้าดูแลถึง 6 ราตรี เหตุการณ์จึงสงบลงได้
พระราชดำรัสสุดท้ายคือพระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินมา สมบัติทั้งหมดที่พระองค์ได้สร้างไว้ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาให้เร่งคิดเอาเองเถิด อาจจะเพราะความบาดหมางที่ก่อร่างสร้างตัวมานานยังคุกรุ่นอยู่ หรือด้วยความคิดของลูกหลานวังหน้าอันมีพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นหัวหน้า
จากพระราชดำรัสสุดท้ายที่ว่า การกู้แผ่นดินเกิดจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลูกหลานจึงควรจะได้อำนาจสืบต่อกันบ้าง พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตจึงคิดก่อการกับพระยากลาโหมทองอิน โดยตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนมีฝีมือฝึกปรืออาวุธภายในวังหน้า ถ้าพลาดถึงเสียชีวิตให้ฝังไว้ภายในวังหน้า 
เหตุการณ์ที่พระองค์เจ้าทั้งสองคิดก่อการจะประทุษร้ายในวันถวายพระเพลิงนี้หาได้รอดพ้นจากวังหลวงไม่  รัชกาลที่ 1 ทรงให้นำตัวทั้งสองมาชำระความ เมื่อรู้ความจริงจึงถอดยศออกแล้วลงโทษถึงชีวิตด้วยท่อนจันทน์ กับหม่อมวันทาพระสนมเอกที่เป็นชู้กับพระยากลาโหมทองอินสิ้นชีพด้วยกันทั้งหมด
ภายหลังรัชกาลที่ 1 ได้ทรงทราบว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชหฤทัยเข้าด้วยกับฝ่ายกบฏลูกหลานของพระองค์  รัชกาลที่ 1 จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงรักลูกหลานมากกว่าแผ่นดิน คิดว่าจะไม่ไปพระราชทานเพลิงให้ แต่ทรงเชื่อคำแนะนำของเสนาบดีจึงเสด็จไปพระราชทานเพลิงที่ได้ทรงจัดให้เป็นงานยิ่งใหญ่

 



Create Date : 30 กันยายน 2562
Last Update : 30 กันยายน 2562 9:31:32 น.
Counter : 852 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments