A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Fireworks ซีรีย์workๆสั่งลาของผกก.ชุนจิ อิวาอิ


อาจจะด้วยความปรารถนาดี แต่ประสงค์ร้าย ของท่านมะนาวเพคะ ก็ไม่ทราบได้
ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผู้เขียน ได้แวะแบบลัดโน้นเลาะนี้ เพื่อไปศึกษางานเก่าๆ
ของผู้กำกับกำลังป๊อป ที่ชื่อ ชุนจิ อิวาอิ
ที่สถานะปัจจุบัน ได้โกอินเตอร์ ไปกำกับหนังร่วมในอุตสาหกรรมหนังพันล้านในแดน
ฮอลิวู้ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่จริงแล้ว คงมีกลุ่มสาวกที่ชื่นชอบผลงานของผู้กำกับท่านนี้
อยู่พอสมควร โดยดูจากตลับแผ่นที่ได้รับลิขสิทธิ์ ถูกทยอยเข้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่
บนชั้นวางของผู้เขียนเอง ก็มีจำนวนของการปะปนในหมวดหนังญี่ปุ่น ที่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์
และไม่มีการวางจำหน่ายอย่างถูกต้องในเมืองไทย ค่อนข้างจะมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่า
การตอบรับจากตลาดส่วนใหญ่ของคนดู มองตลาดหนังญี่ปุ่นเป็นเพียงความบันเทิงทางเลือก
หรืออาจจะเป็นด้วยข้อจำกัดในพื้นที่รองรับในส่วนของการกระจายสื่อ ตามภาวะกลไกตลาด
ที่มีอุปทานเบื้องต้นค่อนข้างน้อย แต่จะไปโทษพื้นที่ส่วนนี้ทั้งหมดก็ใช่ที่
เพราะผลงานของผู้กำกับญี่ปุ่นบางท่าน ก็อาร์ทจ๋า! เสียจนต้องไปหาซื้ออีกตลับเพิ่ม
เป็นตลับของยาหม่องตราลิงถือลูกท้อ เพื่อประคองอาการวิงเวียนศีรษะเป็นchapter



ถึงอย่างไรก็ตาม สถานะของผู้กำกับ ชุนจิ อิวาอิ ถือว่าเติบโตในแวดวง
อุตสาหกรรมความบันเทิงประเภทภาพยนตร์อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับบรรดา
ผู้กำกับท่านอื่นๆ ที่บางท่านอาจจะมีชือ่เสียงจนผู้คนไตร่ถาม ก็หลังพิธีศพไปสองถึงสามปี
ผกก.อิวาอิกว่าจะเข้าสู่วงการเบื้องหลังของคนทำทีวี ก็ในปีปลายปี ๙๐
จากนั้นสะสมบารมีขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาบรรลุโสตทัศนวิสัยของผู้ชมชาวไทยอย่างผู้เขียน
ก็จากเรื่อง Love Letter (และตามสูตร หากจะตีตลาดคนดูมะกันก็จำต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อฟาดเคล็ด
ไปเป็นอีกชื่อที่แปลกไป คือ When I Close My Eye)
หลังจากได้ซาบซึ้งกับฉากตะโกนแหกปากกลางหิมะจนน้ำตาเล็ดได้ไม่นาน
ซีดีตกร่องกับผู้เขียนผู้กู่ร้องว่าไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของเรื่อง ใน All About Lily Chou Chou
ก็ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งสติไปพักใหญ่ ว่าแก่นสาสน์ของเรื่องมันคืออะไร ในขณะที่ยังคิดไม่ออก
ก็มีงานลิขสิทธิ์เก่าของผู้กำกับท่านนี้คลานตามมาอีกชุด ใน April Story
เป็นนาทีชีวิตนิสิตใหม่ ที่ปล่อยให้เอื่อยไหลไปโดยมี ทาคาโกะ มัตซู ทำตัวเป็นเฟรชชี่แอ้บเเบ้ว
ไปจนจบเรื่อง ซึ่งดูจะขัดแย้งกับการแสดงที่เห็นในบรรดาซีรีย์เเก่นๆ ที่เจ๊เล่น
แต่ไม่กี่เดือนต่อมา เจ๊ก็ตกกระป๋องในใจผู้เขียน เพราะผกก. อิวาอิ
ได้เข็นนักแสดงสาวใสหน้าใหม่ ให้แจ้งเกิดในวงการ คือ หนู อาโออิ ยู กับ แอนเน่ ซูซูกิ
จากเรื่อง Hana and Alice เป็นสัพเพเหระของอีหนูสาวสองนาง ที่ดูจะไม่มีสาระใดใด
แต่ทำไมสะกดผู้เขียนให้ดูได้จนจบ แม้บอกได้ไม่เต็มปากว่าที่ดูเพราะนักแสดงหญิง
ด้วยมันมีเสน่ห์แบบนามธรรม ที่อธิบายเป็นรูปธรรมไม่ได้ด้วยสิ และดันดูซ้ำอีกตั้งหลายรอบ
ล่าสุด (แต่ก็หลายเดือนที่แล้ว) กับ Rainbow Song อดีตรักขัดใจผู้ชมในสมัยนักศึกษา
ที่กว่าจะรู้ตัวก็แทบสลาย รักเธอแทบตาย สุดท้ายเธอไป.........................
ทุกเรื่องจึงเป็นการดู ที่สบายใจทั้งคนดูและสบายใจในส่วนทั้งคนทำ
เพราะงานทุกชิ้นนั้น ผู้เขียนซื้อมาถูกต้องตามลิขสิทธิ์ แม้จะมีความขุ่นเคืองใจบ้าง
เมื่อไปชำเหลือบมองตามแผงในเวลาปัจจุบัน มูลค่าของการกำหนดในราคา
ที่มีเส้นใกล้เคียงกับการแจกฟรีเข้าไปทุกที ต่างกับเมื่อตอนลั้นลาอย่างกระดี๊กระดาก
เมื่อเห็นของตอนที่เพิ่งลงแผงอุ่นๆ จะขอส่วนลดสักบาท ผู้ขายกับเชิดหน้าเข้าใส่อย่างไม่ใยดี



เมื่องานใหม่ๆ ยังไม่มา ใช่ว่างานดีๆ จะไม่เกิด
ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสย้อนเวลา ค้นหาตัวตนที่แท้จริงก่อนหน้า ของเจ้าผกก.
ในสมัยที่ยังคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงทีวี เเต่เป็นทีวีบ้านเขาที่ไม่ใช่บ้านเรา
สิ่งที่จะทำให้เราย้อนความทรงจำนั้นคืนกลับมาได้ ก็ต้องโลกแห่งอินเตอร์เน็ต
ที่จะทำให้ผู้เขียนสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ร่วมสมัย ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยรับรู้
แต่พวกเรา (ผู้เขียน) เพิ่งจะมารับทราบ การบ้านของท่านมะนาวเพคะที่ให้ไว้ในช่องคอมเมนต์
จึงเป็นงานอาสามาด้วยใจ ซึ่งผิดในหลักการทั่วไป ที่จะทำอะไรสักอย่างจำต้องมีค่าตอบแทน
แต่การตอบแทนที่ได้หาได้เกิดจากผู้สร้างในโจทย์ของการบ้าน แต่เกิดจากคำตอบของผลลัพธ์ในโจทย์
ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกหลงรักและชิงชัง ในตัวผกก. ชุนอิ อิวาอิ มากขึ้นกว่าเเต่กอ่น
เหมือนกับในซีรีย์สั่งลาทางทีวีชิ้นสุดท้าย ที่มีชื่อย๊าวยาว ว่า
Fireworks, Should We See It from the Side or the Bottom?



Fireworks, Should We See It from the Side or the Bottom?
หรือชื่อทางเมืองแม่เขา เรียกว่า Uchiage hanabi เป็นซีรีย์ตอนเดียวจบ
ที่ทำให้ผู้เขียนต้องย้อนเวลากลับไปไกลถึง ๑๗ ปี กล่าวคือ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๓
ซึ่งความจริงแทบไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก แค่รู้เพียงว่าเป็นงานกำกับและเขียนบท
โดยผู้กำกับ ชุนจิ อิวาอิ เพียงเท่านี้ ก็สามารถเรียกเเขกในกลุ่มที่เป็นแฟนนานุแฟนของ
ผกก. ท่านนี้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ไม่กล้ารับปาก เนื่องด้วย
ผู้คนส่วนใหญ่ที่รู้จักงานของผกก. อิวาอิ มักเกิดจากการนับจากหลังแล้วมาหน้า
ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ศึกษาพัฒนาการของผกก. ท่านนี้ โดยวัดจากหน้าแล้วมาหลัง
จะยอมรับความเป็น Fireworks, Should We See It from the Side or the Bottom? ได้รึไม่?
เพราะซีรีย์เป็นพิษกอ่นหน้า อย่าง GhostSoup กับ Fried Dragon Fish
ก็ทำให้ผู้ชมส่วนหนึ่ง บาดเจ็บล้มตายด้วยผลการกระทบกระเทือนทางสมองไปไม่น้อยเช่นกัน



hanabi ที่หมายถึง ดอกไม้ไฟ ถ้าไม่มีคำว่า Uchiage ที่หมายถึง การปล่อย
ก็จะเป็นดอกไม้ไฟ ที่ตั้งวางอย่างเท่งเต้งอย่างไร้จุดหมาย แต่กับในซีรีย์ Fireworks
หาได้เป็นการประชันความงดงามหรือความยิ่งใหญ่ จากเหล่าบรรดาดอกไม้ไฟตามงานเทศกาล
แต่เป็นการแสวงหาจุดหมายและคำตอบของชีวิตช่วงวัยเยาว์ ไปควบคู่กัน
ผกก. อิวาอิ ได้จำลองเรื่องราวเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นกลุ่มหนึ่ง ในเขตต่างจังหวัดในเมืองอิโอกะ
ที่มุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับไฮไลต์ของงานประจำปีภาคฤดูร้อน นั่นก็คือ การจุดดอกไม้ไฟ
(ขณะที่ผู้เขียน มุ่งมั่นการปิดภาคเทอมด้วยการเล่นเกมกับอ่านการ์ตูนชุดให้จบ)
ซีรีย์เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ถ้าตัวละครเด็กไม่มาเปิดประเด็นถกเถียงเรื่อง
เวลาที่ดอกไม้ไฟระเบิดกระจายตัวในอากาศ
มันกระจายเป็นทรง "อ้วน" หรือ ทรง "แบน" กันละหว่า? เออ! ไอ้คำถามแบบนี้
เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง ธรรมชาติที่เอื้ออำนวยให้ผู้เขียนกลายเป็นเด็กอยู่พักใหญ่
ก็เคยได้ตั้งคำถามประเภทนี้อยู่เหมือนกัน แต่ก็ถูกบิดามารดรที่เคารพ
โต้กลับมาว่า "อย่าถามมากได้ไหม? รู้เปล่า! ลูกนึงมันตั้งกี่ตังค์" และด้วยมูลค่าของราคา
จากนั้นมา ก็ไม่เคยมีคำถามฉลาดๆจากผู้เขียน แก่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่อีกเลย



แต่กับซีรีย์แล้ว เด็กพวกนั้นเขาไม่เอาคำถามนี้ไปถามผู้ใหญ่กันหรอก
และดูเหมือนว่าผู้ใหญ่โดยส่วนใหญ่ เขาไม่กระเหี้ยนกระสันเท่ากับเหล่าบรรดาเด็กๆ เวลาที่รู้ว่า
คืนนี้จะมีการโชว์ของดอกไม้ไฟ ดังนั้นคำถามที่ว่ามันกระจายตัวเป็นวงอ้วนหรือแบนนั้น
เป็นคำถามแบบโลกแตก ที่ดูไม่ต่างจากการหาชาติกำเนิดว่าไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน
หรือเพลงที่กำลังฟังอยู่นี้ เป็นสกาหรือว่าเร้กเก้
ทำให้ปัญญาทิฐิที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการแบ่งแยกทางความคิดออกเป็นสองกลุ่ม
เป็นสองกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยสีเสื้อเป็นตัวเเบ่งแยกใดใด แต่งัดล้างกันด้วยเหตุผล
กลุ่มหนึ่งเชื่อในทฤษฎีว่า มันแตกตัวออกเป็นวงกว้างแบน แต่อีกฝ่ายเชื่อในการแตกตัว
ออกเป็นวงอ้วนกว้าง เด็กญี่ปุ่นอาจไม่เหมือนเด็กไทย เพราะเด็กไทยอย่างสมัยของผู้เขียน
ถกเถียงกันเล็กน้อย อาจมีการเบ่งคะแนนผลสอบของวันนั้นเป็นการเกทับ
แต่สักพักก็หันไปคุยในประเด็นอื่นที่ดูสดใหม่กว่า แต่เด็กเมืองยุ่น ดูจะเอาเป็นจริงเป็นจัง
จนบางครั้งเลยเถิดเป็นตุเป็นตะ เป็นคุเป็นแคว ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ คืนนี้เจอกัน
อย่าลืมเอาไฟฉายมาด้วยละ!!



ถึงเป็นซีรีย์ตอนเดียวจบ แต่ก็ประกอบเชื่อมกันในสองเหตุการณ์
อีกด้านเป็นเรื่องของเพื่อนสาวห้องเดียวกันในชั้นที่ชื่อ "นาซุนะ โออิกาวา"
(คนนี้เล่นโดย เมกุมิ โอกินะ เป็นคนเดียวกันกับที่เล่นเป็นริกะ ในผีดุมาก Ju On)
เป็นเด็กหญิงวัยอรุณแย้ม ที่หน้าตาไม่ภูธ๊รภูธรเหมือนกับเพื่อนๆในชั้น
ผิวขาวน่าเจี๊ยะ ตาโต ผมยาวไซ้เพื่อนบ่าวในชั้นไม่มาเอาใจ แต่ในบทกับต้องรับบทอมทุกข์
เนื่องด้วยปัญหาการหย่าร้างในครอบครัว จนผู้เป็นแม่มีแผนที่จะไปตั้งหลักปักฐานในเมืองหลวง
ทั้งๆที่ ตัวคุณน้องเองก็ไม่ได้มีความอยากที่จะย้ายออกไปจากตัวเมืองนี้เลย
การที่มาม๊ายัดเยียดจดหมายลาออก โดยไม่ได้ถามถึงความสมัครใจจากผู้ถูกออก
คือตัวคุณน้องด้วยแล้ว หนูนาซุอิจึงซีเรียสเสียselfกับชีวิต รุ่งขึ้นจึงจับแพ็คกระเป๋าใบโต
แบกลากอย่างถูลู่ถูกัง พร้้อมเครื่องทรงแบบกิโมโนเต็มยศสอดรับกับเทศกาลประจำฤดูกาล
เป็นฉากการหนีออกจากบ้านที่แปลกแต่คุ้นตา จนรู้สึกว่าซีรีย์เรื่องนี้ผู้เขียนเคยได้ดูจากที่ไหนสักแห่ง
จะเป็นในฟรีทีวี เคเบิลทีวี เทศกาลหนัง หรือหนังกลางแปลงท้องทุ่งสักที แต่ที่ชัวร์ๆ
มิได้เป็นการกลับชาติมาเกิดอย่างแน่แท้ เพราะปี ๙๒ ที่ซีรีย์เรื่องนี้เข้าฉาย
ผู้เขียนเดินตั้งไข่ได้เองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



และความที่ไม่แคร์ต่อชีวิตนี้ละมั้ง คุณน้องเลยบอกรักชาวบ้านเขาไปทั่ว
วิธีแสดงความรักของคุณน้องก็แสนง่าย โดยวัดเอาจากการแข่งว่ายน้ำในสระ
ที่กำลังแข่งว่ายตามประสาเพื่อนฝูงอวดเก่ง และเพื่อนฝูงกลุ่มนั้น ก็คือ
สองในห้าคน ที่ประกอบด้วย "โนริมิชิ ชิมาดะ" กับ "ยุสุเกะ อสุมิ"
ที่เพิ่งจะโต้เถียงกันเสร็จ ในเรื่องการกระจายตัวของดอกไม้ไฟ
ผลของการแข่งขันว่ายน้ำในสระ ปรากฎว่า แม้การนำสโต๊ดของโนริมิชิจะนำทิ้งห่าง
มาตั้งแต่ต้น แต่ทว่า ในช่วงกลับตัวโนริมิชิดันพลาดท่า เท้าไปฟาดกับจุดกลับตัวอย่างเต็มแรง
ทำให้ยุสุเกะกลับเป็นฝ่ายออกแซงและว่ายเข้าขอบสระไปในที่สุด จนมาได้รางวัลเป็นการออกเดท
ในค่ำคืนนี้ แต่ทว่ายุสุเกะสนใจในแง่การหาความจริงจากดอกไม้ไฟจากคำท้าของ
กลุ่มเพื่อนตามประสาเด็กๆ มากกว่าการไปดงไปเดท ที่ดูไม่น่าจะสนุกตรงไหน
จึงขอโอนสิทธิ์โชคครั้งใหญ่ให้แก่เจ้าโนริมิชิ เพราะเห็นว่าไม่ค่อยสนใจการสำรวจประเด็นดอกไม้ไฟ
และไหนๆก็เท้าเจ็บ จนเกรงจะเป็นอุปสรรคในการสำรวจ ก็เป็นการประจบเหมาะพอดี
เพราะการนัดเดทครั้งนี้ น้องหนูนาซุนะแกก็นัดซะโรแมนติก เพราะดันทะลึ่ง
ไปนัดเจอกันที่คลินิกสักด้วยสิ



แต่เผอิญว่าการนัดเดทสุดคุ้มครั้งนี้ น้องหนูแกพ่วงแพ็คแก็คในเเผนที่จะหนีออกจากบ้านไปพร้อมกัน
ไอ้หนูโนริมิชิจึงกลายเป็นประจักษ์พยาน ที่ต้องตามยกตามส่งให้หนูนาซุนะบรรลุความใฝ่ฝัน
ให้หนีไกลจากผู้เป็นแม่ให้มากที่สุด แต่จุดหมายอยู่ที่ไหน ไม่มีคำตอบ
อันเป็นเหตุให้โนริมิชิเชื่อว่า การกระทำของเธอในครั้งนี้ เป็นการหนีตามผู้ชายเป็นแน่แท้
สุดท้ายแล้วหนูนาซุมิจะหนีออกจากบ้านได้สำเร็จรึไม่? โนริมิชิจะตกในยถากรรมครั้งนี้อย่างไร?
ตกลงแล้ว เจ้าดอกไม้ไฟมันกระจายเป็นรูปทรงใดกันแน่? และผกก.อิวาอิ
ต้องการบอกอะไรกับคนดูอย่างเราๆกันแน่ ? โปรดไปหาดูกันเอาเอง


เอาเข้าจริงแล้วความที่เป็นซีรีย์ตอนเดียวจบ ในเหตุการณ์เพียงวันเดียวของช่วงหน้ารับหน้าเทศกาล
และด้วยความยาวประมาณชั่วโมงนึง ถือเป็นงานที่ผกก. อิวาอิ ได้ลองผิดลองถูก (ด้วยเหรอ)
จนในที่สุด ก็คลำทางได้จนสำเร็จ สามารถกำหนดสูตรของการถ่ายทำในลักษณะที่เป็น
รูปแบบเฉพาะตัว จนผู้คนยกย่องให้เป็น Iwai Style ที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มาก
และจับจุดอารมณ์คนดูให้คลอยไหว (Slick) และไหลซึม (Oozing) ไปกับเรื่องราวที่ดูแสน
จะธรรมดา สอดรับกับกระแสความกึกก้องที่ยากจะอธิบาย (Uncanny Resonance)
ในยุคอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่นปี ๙๐ อันเป็นส่วนที่ผลักดันให้เขาแจ้งเกิดในฐานะ
ผู้กำกับมือทองคนสำคัญในยุคสมัย



ผกก.อิวาอิ รังสรรเมืองชนบทให้เมืองที่สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ แมกไม้และชายทะเล
(อาจเป็นเขตสัมปทานเดียวกันกันหมอโคโตะ) ขณะเดียวกัน ก็กล้าทดลองใช้
นักแสดงเด็กที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์งานบันเทิง โดยเฉพาะที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง
เด็กหน้าตาบ้านๆ ปากเบ้ๆ ผิวคล้ำๆ แบบชนเผ่าอินุ อย่าง เจ้าหนู ยุตะ ยามาซากิ
ก็สามารถเป็นพระเอกกับเขา ซึ่งถ้ามาสมัยนี้บอกตามตรงว่ายาก
เห็นแกอีกครั้ง ใน ครูซ่า GTO , Tokyo Tower และCode Blue ในฐานะรับเชิญแว้บๆ
ก็ต้องถือว่างานน้อยลงไปตามยุคสมัยที่เน้นคนหน้าตาดี การแสดงเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า
ตามประสาเด็ก ตาตี๋ ปากเจอ่ เรียกคะแนนสงสารได้พอสมควร
ส่วนหนู เมงูมิ โอคินะ อันนี้ต้องขอพูดถึงเยอะหน่อย เพราะไปอ่านคอมเมนต์ในช่องยูทูบ
ลุงๆน้าๆ ไม่ว่าชาติไหน ก็ไถ่ถามถึง ว่าหนูคนนี้ลูกเต้าเหล่าใคร ตอนเด็กทานอะไรมา
ถึงได้น่ารักน่าหยิกเช่นนี้ บอกได้เพียงว่าเป็นสาวฮิโรชิมาที่รอดพ้นสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน
เห็นรับเล่นซีรีย์ก็หลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องไหนประจวบเหมาะกับผู้เขียนสักรายการ
ถึงแม้อยากจะตามซ้ำผลงานที่มีไว้ในครอบครอง แต่ผู้เขียนมีกรรมพันธ์ขวัญอ่อนเป็นทุนเดิม
แล้วคุณเธอดันไปเล่นแต่หนังประเภทที่ ไม่เผื่อใจให้กับแฟนคลับที่มีโรคหัวใจอ่อนๆ
อย่างโคตรผีดุไม่มีเหตุผล Ju On อย่างงี้ ไหนจะผีพึ่งแฟลชใน Shutter ที่เป็นหนังผีรีเมกจากเมืองไทย
ผู้เขียนดูจริตจะก้านที่หนูกำลังเล่นใน Fireworks ก็ไม่น่าอวยทาง ให้น้องหนูต้องหันมาเลือกเส้นทาง
เดอะช๊อกย้อนยุค นี้ก็ใกล้จะค่ำแล้ว รอให้พรุ่งนี้หลังธรรมะช่วงเช้าจบ ค่อยหยิบมาดูแก้ความคิดถึง
ซึ่งก็คิดว่าไม่น่าจะสาย



ขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่า Fireworks แลดูจะแตกต่างจากงานซีรีย์ชิ้นก่อนๆของ อิวาอิ
หากเทียบกับ GhostSoup ที่เเน้นฮฮาคอมเมดี้จ๋า ผสมใช้เทคนิคตัดต่อชนิดกระโฉกโฮกฮาก
ตัวละครก็ล้วนแต่บ้าๆบอๆ ส่วนใน Fried Dragon Fish อันนี้ก็มหาอภิปรัชญา ตัวภาพดูหม่นๆมัวๆ
ที่ผู้เขียนแม้จะเตรียมตัวใจมา ซึ่งถ้าไม่ใช่อิวาอิ ก็ไม่คิดว่าจะเสี่ยงดูเพื่อความตระหนักรู้
อีกสักครั้ง แต่กลับ Fireworks ดูจะเป็นงานที่ประนีประนอมอยู่กลางๆ
ผสมกับลูกเล่นในการถ่ายทำ ทั้งการให้นักแสดงเล่นกับหน้ากล้อง (จนเสี่ยงกล้องพัง
ในบางช๊อต) หรือ การให้นักแสดงเล่นบทซ้ำๆ เป็นสิบเทค แล้วเอามาตัดต่อแบบต่อเนื่อง
เพื่อไม่ให้อารมณ์การชมดูราบเรียบจนเกินไป จึงเป็นงานง่ายแต่ทำได้ยากโดยเฉพาะตำแหน่งของผู้กำกับ
เพราะต้องทั้งวิ่งไล่แบกกล้องถ่ายพวกตัวเล็ก หรือไหนจะดำผุดดำว่ายตามนักแสดงเพื่อให้ได้ภาพที่สมจริง
งานนี้ถ้าไม่ดัง ทำแล้วไม่ได้เกิด ก็ให้มันรู้ไปสิ!!



กลับกลายเป็นว่า นอกจากหนูนางเอกเมกุมิแล้ว
ผู้เขียนกับชอบนักแสดงเพื่อนที่เหลืออีกสามคน มากกว่าเพื่อนอีกสองคนที่เป็น
นักแสดงหลัก ที่รวมกันครบทีมเป็นห้าผู้ต้องสงสัยต่อปรากฎการณ์การกระจายของดอกไม้ไฟ
อย่างเพื่อนตัวละคร คาซุฮิโระ จุนนิชิและมิโนะรุ สามตัวนี้จะเป็นตัวกระจายมุข
ที่เล่นกันเป็นทีม (ความจริงถ้าอีกสองตัวละครหลักไม่ทำเด่น อาจได้เล่นกันเป็นคณะ)
กล่าวคือ คาซุฮิโระจะเป็นตัวสร้างเรื่องขึ้นมา จุนนิชิจะเป็นตัวทักเรื่อง แล้วเจ้า
มิโนะรุก็จะทำตัวนอกเรื่อง ซึ่งมุขอย่างนี้ ให้ใช้สำนวนปัจจุบัน ก็ต้องเรียกว่า "มุขควาย"
พูดง่ายๆว่าเล่นให้ไม่ขำ เล่นซ้ำนี้ไม่ควร แต่ก็อดอมยิ้มไว้ไม่ได้ ตามประสาคนแก่ที่ให้อภัยเด็กเสมอ
ยกตัวอย่างสักมุข ตอนที่คาซุฮิโระแบกเป้ ซึ่งข้างในเต็มไปด้วยขนมหีบห่อแบบประชดกระเป๋า
เจ้าจุนนิชิเห็นเข้าจึงทักว่า "นี้นายพกมาทำไมตั้งมากมาย?" มิโนะรุก็ตอบสวนทันทีว่า
"พกมาขายมั้ง!" เป็นไงละ...........ควายชัดๆเลย เฮ้อ!เด็กน้อเด็ก



อีกหนึ่งนักแสดงอีกคน ที่ผู้เขียนรู้สึก ผกก.ให้บทน้อยเหลือใจ
คือ คุณครูสาว "ฮารุโกะ มิอุระ" (เล่นโดย คุนิโกะ อาซากิ) ทั้งๆที่มีส่วนรวมที่สำคัญเกือบทุกด้าน
ทั้งในตัวนักเรียนเอง ทั้งส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ปกครองและเป็นผู้รับใบลาออกของนาซุนะ
นี้ยังไม่รวมฉากที่โดนนักเรียนชายแต๊ะอั้ง เพือ่เป็นสัญลักษณ์ (อะป่าว)ถึงความใกล้ชิดสนิทสนม
เป็นพิเศษ ไหนจะเป็นผู้บอกสูตรลับของสีต่างๆที่ปรากฎในตัวของดอกไม้ไฟ ชนิดผู้เขียนก็เพิ่งรู้
หลังจากเห็นการกระจายตัวของบรรดาดอกไม้ไฟมาหลายสิบปี
สีแดงที่เห็นเกิดจากธาตุสโตรนเทียม (Strontium) สีเขียวเกิดจากธาตุทองแดง (Copper)
และสีเหลืองก็ธาตุโซเดียม (Sodium)
แต่ถ้าสะเออะ ตกอกตกใจของดอกไม้ไฟจนอุจจาระแตกแต๊น อันนี้ก็ต้องยาธาตุน้ำขาวอย่างเดียว
และแม้ถึงบทของเจ๊จะน้อย แต่ตราบใดที่ยังไม่ร้างราจากวงการ อย่างไรเสียก็ยังพอตามหาผลงาน
ที่เหลือได้จาก Always ในบทของศรีภรรยาเฮียทาคุมะ หรือใน Midnight Sun ที่รับบท
ยุกิ อามาเนะ แต่ก็รู้สึกเศร้าสลดเล็กน้อยเพราะบทระยะหลัง ดูจะเล่นเป็นแต่บทแม่คนทั้งสิ้นเลย
เสียดายจริงๆ ที่เราสองคนมาเจอกันช้าไป ปาฏิหารย์ไม่มีจริง



คงเป็นซีรีย์เพียงเรื่องเดียว เท่าที่ได้ติดตามของผู้เขียน
ที่สะท้อนการเดินมาถูกทางของผกก. จนเชื่อมั่นพอที่จะก้าวย่างต่อในความท้าทาย
ที่ต้องหันมากินเงินเยนจากกลุ่มผู้ชม แทนที่จะรับค่าเหนื่อยจากทางสถานี
เป็นภาระหนักอึ้งในโลกของภาพยนตร์ หลังจากที่ Fireworks เป็นงานที่ดันไปถูกอกถูกใจ
ผู้กำกับเสียงข้างมากจากสมาคมผู้กำกับของประเทศญีปุ่น ( The Japanese
Director's Association )และ เทศกาลหนังนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ในปี ๙๕
หากนึกความเป็นซีรีย์เรื่องนี้ไม่ออก ขอให้นึกเอาอารมณ์ประมาณ "แฟนฉัน" ของค่าย GTH
ซึ่งแฟนฉันจะเป็นหนังแบบจงใจ ที่จะทำให้มีความเป็นอดีต ขณะที่ firework จะเป็นซีรีย์ที่ผกก.
ตั้งใจทำให้เป็นปัจจุบัน เพียงทว่าผู้เ้ขียนได้มีโอกาสดูมัน จากอดีตที่เคยถูกฉายเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว
เป็นแฟนฉันที่ตัดออปชั่นจำพวก เพลงย้อนความหลัง สินค้าร่วมสมัย พ่อแก่แม่แก่ของเหล่าเด็กๆออก
ที่เหลือก็เป็นประมาณfireworksที่ผู้เขียนรู้สึก ดูไปก็คล้ายผู้ใหญ่จ้องตาเด็ก โดยปล่อยให้พวก
เด็กๆได้แสดงพฤติกรรมต่างๆออกไปอย่างเสรี เป็นความเสรีที่เจาะตลาดคนดูผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็ก
อาจเป็นซีรีย์ที่ไม่ค่อยให้แง่คิดเท่าไรนัก ด้วยเน้นไปในเรื่องของอารมณ์ร่วมมากกว่าด้านคติสอนใจ
หากจะพลาดเรื่องนี้ไปก็ไม่น่าเสียดาย แต่ผู้เขียนจะเสียดายแทนถ้าคนที่เคยรักและชอบพอ ผกก.อิวาอิ
จะไม่ยอมเสียสละสักหนึ่งชั่วโมง ศึกษางานย่นย่อสักชิ้น เพราะทุกอย่างที่เห็นยังเป็นสไตล์อิวาอิ
เพียงอาจจะลดความซับซ้อนในโครงเรื่องลง และยังไม่ได้มือดีในการประพันธ์เพลงประกอบคู่ใจ
อย่าง เทกิชิ โคบายาชิ มาผนวกเพิ่ม เพราะเฮียเขาเพิ่งทันขบวนรถด่วนเอาในช่วงที่อิวาอิเริ่มทำภาพยนตร์
เลยเป็นงานที่ขายเนื้อขายหนังอย่างตั้งใจ บอกได้คำเดียวว่าซีรีย์เรือ่งนี้ "ใช่ อิวาอิเลย" ........

จึงหมดสิ้นข้อสงสัยไปตามชื่อเรื่อง ว่าดอกไม้ไฟที่สวยงามแต๊ๆควรจะแลที่ตรงไหน?
เพราะไม่ว่าจะสีข้างหรือใต้พสุธา หากไม่ปิดสายตาต่อสิ่งที่เห็น
เพียงแค่ผุดชื่อคงมัน ความสวยงามก็บังเกิดขึ้นในจิตไปเสียเนินๆแล้ว




ข้อมูลอวยให้จาก
wikidrama ,imdb and youtube
Biography By Jonathan Crow




 

Create Date : 30 มกราคม 2553    
Last Update : 31 มกราคม 2553 23:57:56 น.
Counter : 2607 Pageviews.  

๑๐ฉากสุโค้ยย์ในปีฉลูศกแห่งซีรีย์แดนอาทิตย์อุทัย





มาอาทิตย์นี้ ยังไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี!
เลยต้องหาของเก่าๆ เอามาหากิน ตามประสาหมกเหม็ดเก็บแต่เรื่องซีรีย์ญี่ปุ่น
ให้พอระบายท้องเรื่องไปได้ในแต่ละสัปดาห์ หลังจากที่เคยได้จัดอันดับซีรีย์สุโค้ยย์แห่งฉลูศก
อย่างไม่ได้มีหลักวิชาการใดใด นอกจาก "ความได้ใจ" "เอาแต่ใจ" และ "สาแก่ใจ"
เป็นการส่วนตัว วันนี้จึงอยากเสนอของเก่าเก็บกินอีกด้าน ในฐานะความเป็นซีรีย์ญี่ปุ่น
ที่อุดมไปด้วย "ฉาก" หรือ "ซีน" สุโค้ยย์ได้ใจ ที่นึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ทีไร
ภาพเก่าๆอันแสนประทับใจ มันก็ลอยมาขึ้นสมองแบบไม่ทันสั่งการ................เฉยเลย!


แต่ความเป็นซีรีย์ มันยิ่งกว่าภาพยนตร์
เพราะด้วยของระยะเวลาของการนำเสนอ ที่กินเวลาอยู่นานสองนาน
จึงทำให้การดูซีรีย์แบบมาราธอนหนึ่งเรื่อง อาจกินเวลาเท่ากับการดูหนังมาราธอน ๘-๙ เรื่อง
ดังนั้น......ในแง่จำนวนมวลรวมของความประทับใจในฉาก จึงมีโอกาสอย่างสูง
ที่จะมีมากกว่าหนึ่งฉาก ประกอบกับผู้เขียนประกาศจุดยืนแต่ต้น ที่จะเน้นในการคัดสรร
แต่ละซีรีย์ ด้วยการยึดโยง "นางเอก" หรือ "เพื่อนนางเอก" เป็นจุดหลัก
และบอกอยู่เสมอว่า ไม่มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ เพราะไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีพ
เป็นคนเขียนบล็อกประทังยาไส้ไปวันวัน ว่าแล้ว.............
ก็ขอเข้าเนื้อหาของการย้อนรำลึก ฉากเด็ดสะเด็ดต่อมจี๊ดแบบสุโค้ยย์ๆ
ในฐานะเป็นวันหยุดสบายๆ ของผู้เขียน เพราะพรุ่งนี้จะมีการสรรเสริญอันเนื่องมาจาก
วันคล้ายวันเกิดของ "สหาย" ท่านหนึ่ง ว่าจะขอพื้นที่ว่างๆสักหนึ่งหน้าบล็อก
เชิดชูนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ตามประสาผู้เคยสร้างความทรงจำในสิ่งดีๆ ให้ผู้เขียนตลอดมา


(กรอบในการคัดเลือกซีรีย์ โดยวัดเอาจากทุกเรื่องที่ไม่ว่า ใหม่หรือเก่า
ในบรรดาซีรีย์แดนอายิโนะโมะโตะ ที่ได้ยลในรอบปีฉลูศก โดยคัดเอาส่วนที่จี๊ดๆ
และเฉพาะเรื่องที่โดนๆ เท่านั้น ซึ่งจำต้องตัดเรื่องโน้น ทิ้งเรือ่งนั้น แบบยากเย็นเข็นใจ
เพื่อให้ได้เรื่องที่แสนจะสุโค้ยย์ ชนิดที่ว่า .......เอยเรื่องใดมา
ฉากนั้นก็ผุดขึ้นมากลางใจ ส่วนเราจะคิดตรงกันรึไม่?
มีแต่พระเจ้ากับคนในแวดวงเดียวกันเท่านั้นมั้ง ที่จะรู้)



เริ่มต้นจากซีรีย์ที่มีฉากประทับใจ ในอันดับสิบ ได้แก่ Osen ของค่าย NTV
เป็นซีรีย์ที่เกือบจะตกอันดับ หลุดกรอบ จนผู้เขียนจำต้องละเลย
แต่ด้วยพลังของน้องอาโออิ ยู ในฐานะนายหญิงตัวแม่ "โอกามิ"
แห่งสำนักทำอาหารอิชโชอัง เลยทำให้ซีรีย์เรื่องนี้
ยังเป็นที่จดจำของผู้เขียน โดยเฉพาะฉากแสดงตัวตนและบุคลิกที่ชัดเจน
ที่ทำให้น้องยู หลุดจากฉากวัยรุ่นหน้าใส มาเป็นเจ้าสำนักที่มีรสนิยมในการ
ลงแช่น้ำอุ่นจากปฏิกรณ์เชื้อเพลิงพื้นบ้านอย่างฟืน และความเป็นเจ้าสำราญโดยการ
จิบสาเกหรือไม่ก้อซดเบียร์เป็นเหยือกๆ จนผู้เขียนต้องแอบปลงอาบัติในใจ
ในการละเมิดศีลข้อที่ห้าของคุณน้อง
ถ้าขาดเธอ ซีรีย์เรื่องนี้ก็ขาดใจ จากผู้เขียนไปโดยปริยาย

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน osen เมนูที่ประเมินมูลค่ามิได้



ฉากเรื่องที่เก้า เป็นซีรีย์นิติวิทยาฮาเฮป่าช้าแตก อย่าง Mr.Brain
งานนี้ไม่เกี่ยวกับตัวตนของป๋ายะแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน
ความตื่นเต้นของรูปคดีก็ไม่ใช่สิ่งดลใจ แต่เป็นการวางกุศโลบายของสารเพิ่มพลังทางสมอง
อย่าง กล้วยหอม ซึ่งเป็นเรื่องกล้วยๆ ในการหารับประทานตามตลาดของสยามประเทศ
แต่ผู้เขียนเอง ก็กลับมองข้ามหรือละเลยไป โดยให้ความสนใจกับบรรดาพวก
ผลไม้นำเข้าประเภท เชอรี่ แอปเปิ้ล สาลี อินทผลัม โดยหารู้ไปว่า
นี้แหละ สารบำรุงสมองตัวยง ทานแล้วจะฉลาดแบบไม่ต้องพึ่งโปรตีนเม็ด
หรือซุปไก่ขวดละเกือบร้อย การที่ทีมสืบสวน IPS ทุกคนหันกลับมาตั้งโต๊ะประชุม
ชวนกันปอกกล้วยรับประทาน เท่ากับยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน
ของป๋ายะไปกลายๆ ในฐานะผู้นำเข้าในผลิตภัณฑ์โอท้อปภูมิภาค
เข้าสู่อาคารสำนักงานใหญ่ในความมั่นคงของชาติ



ฉากเรื่องที่แปด เป็นงานที่ทำให้ผู้เขียนแยกแยะระหว่างเส้นแบ่งของ
อัจฉริยะกับคนบ้าได้ยากเย็นนัก จากซีรีย์เรื่อง Galileo
ด้วยพล็อกเรื่องที่แสนจะซับซ้อน กับระดับสติปัญญาของฆาตกรระดับฟิสิกส์โอลิมปิก
แต่ก็ใช่ว่าจะยากเย็นเข็นใจนัก กับระดับสติปัญญาในการไขข้อข้องใจทางคดี
ของนักสืบกาลิเลโอ ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย
มาซาฮารุทำให้ตัวละคร...............เป็นที่น่าจดจำตัวหนึ่งในบรรดาซีรีย์สืบสวนสอบสวน
ที่มีให้เห็นเกลื่อน โดยเฉพาะเวลาที่ "Thinkแว้บ" ในการปะติดปะต่อตามหลักฐานเชือ่มโยง
แล้วเฮียจำต้องรีบกุลีกุจอ คว้าชอล์กหรือปากกามาแลกเชอร์แปรเป็นรูปสูตรทางคณิตศาสตร์
โดยไม่กลัวว่านี้เข้าข่ายความผิด ในการทำลายที่สาธารณะให้ได้รับความเสียหาย
หรือเลอะเทอะเปรอะเปื้อน หลังจากหาค่าสัมประสิทธิ์ทางข้อมูลเสร็จสิ้น
ก็จะไม่ลืมท่าดัชนียิ่งยง ยอดบัวงาม ที่ชี้กลางหน้าผาก อันถือเป็นท่าจบที่สมบูรณ์
จากนั้นที่เหลือเรอะ? ก็เตรียมมุ่งไปในการจับกุมแบบไม่ต้องรอสั่งฟ้องจากอัยการ

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน Galileo โอ้!ทำให้อาการเสพย์ติดซีรีย์กำเริบอีกแล้ว

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน Galileo : Suspect X ฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ ก็ไม่อาจแก้ปัญหาชีวิตได้



ฉากที่เจ็ด ก็ยังไม่พ้นเรื่องของ "ท่า"
แต่ท่านี้ มีเรือ่งของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เข้ามาผสมปนเป ให้หลุดโลกแฟนตาซีหน่อยๆ
จะเป็นอะไรได้ ก็จากเรื่อง Love Operation ที่ยามะพีต้องชี้โปชี้เปเกือบตลอดทุกตอน
"ฮาเลลูยา เเชนส์" ประโยคที่อินคริสตจักรนิดๆ ตามประสากระทำการย้อนเวลา
ผ่านเคหสถานศักดิ์สิทธิ์อย่างโบสถ์ โบสถ์ที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งระหว่าง
สาวที่แอบชอบมาตั้งแต่เด็ก กับ อดีตอาจารย์ฝึกสอนในสมัยมัธยมปลายผู้แสนดี
ความที่พระเอกของเราไม่เอาอ่าว สวรรค์ก็เลยเป็นใจส่งฑูตเทวดาให้มีโอกาสแก้ตัว
โดยให้พรในการย้อนเวลาเพื่อไปเปลี่ยนแปลงภาพในงานแต่ง
ที่มักมีพระเอกไปเสลอทุกรูป บอกตามตรงว่าตอนแรก ที่มาเจอท่าฮาเลลูยา แชนส์
เล่นเอาฮาจนเกือบตกเก้าอี้ แต่พอได้สดับเป็นตอนๆไป
สุดท้ายก็ต้องถึงกับภาวนาในใจ ให้ท่านฑูตเทวดามอบโอกาสพิเศษในการย้อนเวลา
ให้พระเอกเขาอีกรอบ แม้มีเงื่อนไขว่า ผู้เขียนต้องทำท่านี้ตามไปด้วยก็เถอะ
ฮาเลลูยา แชนส์!!



ฉากที่หก เป็นซีรีย์ที่ผู้เขียน ต้องใส่หัวใจความเป็นพระเอกเอาไว้ภายใน
กับ Buzzer Beat โดยเฉพาะในตอนที่น้องเคอิโกะต้องตะโกนแหกปากบนอพาร์ตแมน
ขณะที่พระเอกยามะพีก็ยืนรอฟังบนสนามซ้อมบาสสาธารณะ บทมันเศร้า
เพราะนางเอกพยายามหักห้าม ไม่ให้เผลอใจไปหลงรักในตัวพระเอก
แม้คุณน้องจะพยายามสร้างเงื่อนไขต่างต่างนานา No Kiss บ้างละ
ไม่สัมผัสแตะตัวบ้างละ จะไม่เข้าใกล้ในระยะห้าเมตรบ้างแหละ
ขอเพียงอย่าได้หนีหน้าทำเป็นเหินห่างกันอีกเลย พูดอย่างงี้ ก็เข้าทางพระเอกเขาดิ
แหกปากไปก็เหมือนให้ท่า แถมเคหสถานคุณน้องกับสนามบาสคุณพี่
ก็ใช่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันสักที่ไหน ทำให้เชื่อแล้วว่าผู้เขียนก็เป็นพระเอกได้
เพราะคิดไม่ต่างกัน จากนั้นที่เหลือก็ใส่เกือกเกียร์ห้า วิ่งเข้าไปหาอย่างจู่โจม
ละเมิดเงื่อนไขทั้งหลายแหล่ที่นางเอกตะโกนป้าวๆ อยู่หยกๆ แต่มันได้ใจ
ท่านพ่อยกแม่ยก ที่ตามลุ้นตามเชียร์ให้กับคู่นี้มาเนินนาน

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน Buzzer Beat:Love Make Me Strong



ฉากที่ห้า เป็นบทสรุปตอนท้ายของเรื่อง ที่กว่าคนดูจะผ่านพ้นมาได้
ก็ต้องบอกว่า เอาใจช่วยทุกตัวละครกันจนเหนื่อย กับซีรีย์ Last Friend
หลังจากที่เพื่อนรักในสมัยมัธยมปลาย ต่างก็มีวีถีชีวิตก้าวเดินกันไปคนละทาง
ความรักที่แตกต่างทางบุคลิกตามทางเลือกในใจตน ของเพื่อนห้าคนในบ้านหลังเดียวกัน
เป็นรักที่ยากจะสมหวังบรรจบ เมื่อ ทาเครุรักรุกะ รูกะรักมิจิรุ มิจิรุรักโซซึเกะ
โซซึเกะรักตัวเอง จะมีสมหวังบ้าง ก็คู่ของ โทโมฮิโกะกับเอริ
แต่กระนั้น ก็ต้องนั่งลุ้นกันจนเหนื่อย เป็นซีรีย์ศาลาคนเศร้าที่มาเคล้าความสุข
ก็ในท้ายที่สุด เป็นรักแบบไม่ได้ครอบครอง ด้วยรักแบบเพื่อนผ่องน้องพี่ที่มีแต่การให้
กว่าจะเห็นรอยยิ้มของทุกคนได้ ก็หมดน้ำตาไปเป็นปีบๆ ตั้งหลายสิบตอน



ฉากที่สี่ จากงานโปรดักชั่นและทุนสร้างที่ยิ่งใหญ่ใน The Grand Family
แต่ผู้เขียน กับมาประทับใจในฉากเล็กๆ ในต้นเรื่อง
ในฉากที่พ่อกับลูกที่ไม่กินเส้นมาแต่ไหนแต่ไร มาพบปะพูดคุยในสวนของคฤหาสถ์
เกี่ยวกับเรื่องการขอกู้เงินเพื่อไปลงทุนสร้างเตาเผาเหล็ก ราคาหลายหมื่นล้านเยน
พูดไปพูดมา ตัวพ่อไม่รู้อีกท่าไหน วกกับมาพูดถึงปลาทองโชกุนของเจ้าคุณปู่
ที่จะออกมาแหวกว่ายทุกครั้ง หากได้ยินเสียงตบมือของเจ้าคุณปู่เข้า
ความที่ตัวพ่อ นอกจะไม่กินเส้นตัวลูกทาคุยะแล้ว ยังไม่กินเส้นกับปู่ของพระเอกอีก
แต่ตัวลูกสิ มีความคล้ายคลึงกับตัวปู่ในทุกระเบียดนิ้ว เลยท้าให้ลองตบ
พอได้ตบก็เป็นเรื่องสิ ก็ปลาตัวนี้ไม่โผล่หน้ามากว่าสองปี
เหมือนสื่อความนัยเอาไว้หลายอย่างในเรื่อง ว่าเจเนเรชั่นใหม่ของตระกูลมันเปียว
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไม่ช้า ว่าจะเกิดศึกเลือดครั้งนี้ถึงขั้นล้างตระกูล

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับดู
ความยอดเยี่ยมในสายการเข้าชิงรางวัลในใจผู้เขียน ใน สิ้นปีทีไร ก็มานั่งจัดรางวัลซี่รีย์สุโค้ยย์แห่งปีฉลูศก





ฉากที่สาม เป็นเรื่องของเกมส์กีฬากันบ้าง แต่ไม่ใช่ผลของการแพ้ชนะ
แต่ว่ากันด้วยเรื่องของ การให้ความสำคัญแก่ลูกศิษย์ของผู้เป็นครู ใน
Rookies เมื่อครั้งหนึ่งชมรมเบสบอลไปก่อเรื่องทะเลาะวิวาทในการแข่งขัน
จนต้องโดนโทษปิดชมรมในที่สุดท้าย จากนั้นสมาชิกทุกคนเลยไร้ซึ่งคุณค่า
หันมาเป็นนักเรียนอันธพาลแทน จนกระทั่งมีครูคนใหม่ที่ชื่อ คาวาโตะ
ครูที่มีดีกรีต่อยเด็กทะลุกระจกหน้าต่างลงจากชั้นสอง ต้องมาเป็นหัวหน้าโค้ชประจำทีม
ในขณะที่ครูท่านอื่นๆ ต่างหลีกหนีจากเผือกร้อนของลูกศิษย์กลุ่มนี้
ครูคาวาโต้กลับยื่นหน้าแบกรับด้วยความจริงใจ และมุ่งมั่นที่จะทำความฝัน
ของเหล่าเด็กเกให้เป็นจริง โดยเฉพาะฉากที่เล่าถึงข้อดีของลูกศิษย์ชมรมเบสบอล
โดยเลิกมองแบบจอ้งจับผิดแบบที่เคยเป็นมา
แบบไล่เรียงเป็นคนๆ พร้อมกับรอยยิ้มอย่างเชื่อมั่น แก่ลุงท่านหนึ่งที่มักเดินโต๋เต๋ในโรงเรียน
ลูกศิษย์ต่อให้โฉดชั่วแค่ไหน เป็นเผลอได้ยินเข้า เป็นต้องเสร็จทุกรายไป

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน
Rookies มือใหม่ใจเกินร้อย




ฉากที่สอง เป็นมิตรภาพของคนแปลกหน้า ทั้งที่จริงแล้ว เขาเป็นพ่อ-ลูกกัน
จากเรื่อง Shiroi Haru หรือ White Spring เป็นฉากที่เล่นเอา
ผู้เขียนต้องต่อมน้ำตาแต๋วแตก ยังคิดอยู่ในใจว่าเพียงตอนแรกๆ ก็เล่นเอาซึ้ง
จนทำท่าว่าถึงอยากดูต่อ แต่ก็เสียดายน้ำตาของลูกผู้ชาย เพราะฝีมือสองนักแสดง
ที่เล่นเป็นพ่อ (อาเบะคุง) กับ ลูกสาว (หนูโนโซมิจัง) เล่นแบบกินกันไม่ลง
ความจริงมันมีลูกซึ้งอีกมากมายหลายตอน สำหรับความสัมพันธ์แบบปกปิด
แต่ฉากตอนที่ลุงอาเบะออกมาจากคุก แบบสิ้นเนื้อประดาตัว อีกทั้งไม่เหลือใคร
สัญญาณไซเรนในท้อง ก็ร้องเรียกหาอาหารเป็นระยะๆ จนกระทั่งมาพบหนูโนโซมิ
ผู้รักษาสัจจะคำมั่น แบบชนิดถอดแบบจากผู้เป็นแม่ ฉกขนมปังจากในร้าน
ทั้งๆที่ไม่เคยมีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยเลยมาก่อน มามอบให้แก่คนที่ไม่รู้ว่า
เขานี้แหละเป็นปะป๊าของแท้ จะเป็นการทำไปด้วยสายสัมพันธ์ พรหมลิขิตหรือดีเอ็นเอ
ก็ตามแต่ แต่มันก็ทำให้หนูโนโซมิ เป็นดาราที่น่าจับตามอง
ที่ผู้เขียนจะตามหลอกหล่อนไปจนเฒ่าจนแก่ เหมือนกับที่เคยทำกับน้องฮิโรสุเอะ
อย่างไรอย่างนั้น

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน
shiroi haru ดอกไม้ผลิที่รอวันขาว




และอันดับที่หนึ่ง อันนี้เลือกแบบไม่ยากเย็นนัก
เพราะเป็นอันดับที่วางไว้ก่อนหน้าแบบแบเบรอะ จะว่าไปหากจะให้จัดอันดับ
ซีนในดวงใจในรอบทศวรรษ ฉากปฐมต้นตอนเปิดเรื่องของ Flowershop without Roses
ถือเป็นฉากคลาสสิกต่อไปอีกนาน เพราะแทบจะไม่ต้องบรรยายเล่าเรื่องอื่นใดให้มากมาย
เป็นรูปแบบในลักษณะเดียวกันกับในการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่อง UP ที่ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่อง
โดยมีการบรรเลงเครื่องเสียงไวโอลินเป็นตัวประกอบ เป็นการเล่าแบบการปูเรื่อง
โดยอาศัยการตัดช๊อตเฉพาะช่วงพัฒนาการะหว่างผู้เป็นพ่อ คือ ตัวชิอิจิ กับ ตัวชิสุกะ
ผู้เป็นลูกนับแต่แรกเกิด เรียกว่ามีการระดมภาพหลายสิบช๊อตไล่เรี่ยงไปตามอายุวัย
ของบุตรธิดา เป็นสามถึงสี่นาที ที่อธิบายความเป็นไปของชิสุกะจนกระทั่งถึงวัยอนุบาล
ที่พูดได้เขียนคล่องเดินเหินสะดวก ซีรีย์ที่ถ้าเปิดเรื่องไม่ประทับใจ
ก็มีโอกาสถูกเอาออกจากเครื่องเล่นได้โดยง่าย แต่กับ FWR เหมือนเป็นลางบอกเหตุว่า
เราได้เดินทางถูกทางแล้ว คงคุ้มค่าทั้งเงิน เวลาและการรีวิวในบล็อกส่วนตัวแทบจะบัดดล

คลิ๊กตรงนี้ เพื่อกลับอ่าน
Flowershop Without Roses กุหลาบมีขาย แต่ร้านนี้ไม่มีให้



จบแล้ว สำหรับสิบอันดับซีนสุโค้ยยในใจผู้เขียน ที่เหลือจากนี้เป็นทีของคุณบ้างแล้วละ!! ........




ภาพจาก prysang@bloggang .ใน Mr.Brain
capture เองบ้าง และจากอินเตอรเน็ตนั้นโน่นนี้ ทั่วไป





 

Create Date : 23 มกราคม 2553    
Last Update : 13 มีนาคม 2553 11:24:16 น.
Counter : 2250 Pageviews.  

Dr.Koto หมอชนบท,หมอเกาะ,หมอโคโตะ


มีซีรีย์เพียงไม่กี่เรื่อง ที่ดูจนจบแล้ว จำต้องออกมาชื่นชมยินดี
เป็นความยินดีที่ ไม่ได้เกี่ยวกับนางเอกคนนั้น เพื่อนนางเอกคนนี้
หรือน้องสาวของเพื่อนนางเอกอีกที แต่เป็นความแช่มชื่นในองค์ประกอบของภาพรวม
ที่ไม่อาจจะแยกแยะไปว่า ส่วนนั้นดี ส่วนนี้ไม่ดี ส่วนนั้นชอบ ส่วนนี้ไม่ชอบ
ถึงแม้ว่าจะมีจุดเล็กจุดน้อย ในฐานะคนดูที่ชอบจับผิดเพราะทำซีรีย์ดีๆ อย่างใครเขาไม่ได้



ในชีวิตนี้ ก็ได้ดูซีรีย์ญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับวงการแพทย์มาไม่ใช่น้อย
(แม้ลึกๆแล้ว จะบ่นอุบในใจว่า ถ้ามีโอกาสได้ดูในช่วงมัธยมต้น
ทิศทางชีวิตตัวเองน่าจะดีขึ้นกว่านี้เยอะ แม้ทุกวันนี้จะถูกคนยกย่องแกมด่า
ว่าเป็นคนหัวหมอก็เถอะ) ซึ่งซีรีย์ญี่ปุ่นก็สร้างเรื่องสร้างราวเกี่ยวกับชีวิตหมอๆไว้เยอะ
ก็อย่างว่าอาชีพที่มุ่งเน้นในทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ในฐานะคุณธรรมประจำใจ
เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติ์และศักดิ์ศรี มันก็ต้องมีไว้ในทุกๆสัมมาอาชีพ
แต่ในฐานะเครื่องมือที่จะนำมาถ่ายทอดของความเป็นซีรีย์สิ จะมีอยู่ในไม่กี่อย่าง
"วงการแพทย์" ก็ถือเป็นทรัพยากรหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ
เล่นทีไร ก็มีผลต่อเรตติ้งของจำนวนท่านผู้ชม และโอกาสในการเข้าชิงรางวี่รางวัลเสียทุกทีไป



ยกตัวอย่างคราวๆ อย่าง IRYU หรือชื่อเต็ม Team Medical Dragon
เรตติ้งเฉลี่ยประมาณ ๑๔.๗ ยังคว้ารางวัลดราม่ายอดเยี่ยม TDAA ครั้งที่ ๔๙ เสียอีก
ไม่เว้นแม้แต่งานดีที่ไม่ได้รางวัล แต่ดูกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง (เขา)
อย่าง NS Aoi เรตติ้งระดับ ๑๔ กว่าเช่นกัน หรือแพทย์อมตะ Kyumei Byoto 24 Ji
สร้างมาก็กว่าสี่ภาค เรตติ้งก็ปาไประดับ ๒๐ ขึ้น แซงหน้าเรตติ้งต่างสถานีในช่วงเวลาเดียวกัน
แบบไม่เหลือเค้า แม้แต่ซีรีย์ของค่ายทีวีเล็กอย่าง NTV ก็ยังสร้าง Nurseman
จนสามารถเข็นภาคสเปเชี่ยลได้อีกตั้งสองตอน
นี้ยังไม่นับ Code Blue ที่กำลังฉายในไทยพีบีเอสนะเนี่ย เรตติ้งตั้ง ๑๕ กว่าๆ
ภาคสเปเชียลก็ดันไปกว้านคนดูมาตั้ง ๒๓ หน่อยๆ ซีรีย์นี้ก็ทำให้ผู้กำกับแอ็คอาร์ทในฐานะ
ผู้กำกับยอดเยี่ยมร่วมไปได้อย่างไม่มีข้อสงสัย นี้ยังไม่รวมหมอย้อนยุคอย่าง
jin ที่เข้าฉายปลายปีที่แล้ว
ทำท่าว่าจะมาแรง ขึ้นแท่นคว้าไปหลายรางวัล เพราะก่อนหน้าเรตติ้งเขาก็กินขาด
กว่า ๒๐จุด (ขณะที่หุ้นไทยวันศุกร์ที่ผ่านมาตกลง ๗ จุด)



แต่ซีรีย์วงการแพทย์ทั้งหมดที่ว่ามา แม้จะแลสนุกตื่นเต้นและอุดมศัพท์ทางการแพทย์เพียงใด
ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เขียนซาบซึ้งใจได้เท่ากับซีรีย์เรื่อง Dr. Koto Shinryojo
หรือในกลุ่มคนดูชาวไทย เรียกทับศัพท์ตามชื่อหัวปกหนังสือการ์ตูนว่า "หมอโคโตะ"
เป็นซีรีย์ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ของค่ายฟูจิทีวี ให้ได้ซาบซึ้งตรึงใจด้วยกัน ๑๑ ตอน
เป็นซีรีย์ที่ฟาดรางวัล TDAA ครั้งที่ ๓๘ อย่างไร้คู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นดราม่ายอดเยี่ยม
ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงชายยอดเยี่ยม ผู้เขียนบทยอดเยี่ยม
ดนตรียอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม จนผู้เขียนต้องตั้งคำถามว่า
"นี้มันจะยอดเยี่ยมกันไปถึงไหนกันหว่า?"
ถ้าพกปืนเข้ามาในงานสักกระบอก อาจรวมความว่า"ปล้นรางวัล" ได้ไม่ยาก
ว่าแล้วก็เลยต้องขอพิสูจน์ซะ อีโธ่!ไอ้เรื่องของหมอๆ มันก็แค่ตัดๆผ่าๆ จะมีอะไรมากมาย



เมื่อมีโอกาสได้ดูจนจบ ก็ต้องขอบอกว่า
เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่เคยเจอซีรีย์อะไร ที่มันจะสะกดตราตรึงใจได้ถึงเพียงนี้
ทั้งหมดนี้ ใช้ดัชนีกระดาษทิชชู โดยวัดจากจำนวนที่ใช้ในการประคบต่อมน้ำตา
มิให้ไหลเอ่อ เป็นอารมณ์ที่คล้ายๆกับ ครั้งที่เคยได้ชมซีรีย์เรื่อง Tokyo Tower
ประมาณว่า สะกิดต่อมจี๊ดใจ ให้ไปปรี๊ดบนหัวสมอง จนกระทั่งสารคัดหลั่งทางดวงตา
มันไหลหยดแบบไม่รู้ตัว แต่ใน Tokyo Tower ยังพอเข้าใจว่าเรื่องราวมันชวนสอดคล้อง
เข้ากับชีวิตจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่
ทำให้ต้องพลัดที่นาคาที่ไร่ ให้บุพการีต้องอยู่ตัวคนเดียว แต่กับหมอโคโตะด้วยแล้ว
เป็นคนละกรณี เพราะเป็นเรื่องราวของหมอนิรนามจากเมืองโตเกียว
ที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในเกาะที่ห่างไกลความเจริญ ความเจริญนี้วัดไม่ยาก
ถ้าแล่นเรือระหว่างฟาก ก็ใช้เวลาปาไป ๘ ชั่วโมง เกาะห่างไกลที่ว่า
มีชือ่ว่า "โยนากูนิ" เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะโอกินาวา
การย่างก้าวเหยียบผืนแผ่นดินที่ห่างไกล ที่เปรียบดั่งชีวิตใหม่ในอาชีพของหมอโคโตะนี้
เป็นหนทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเต็มไปด้วยคลื่นมรสุมชีวิต
ที่เกิดจากทัศนคติของชาวบ้านที่ตั้งแง่กับหมอที่มาประจำหมู่บ้าน
ถือเป็นภารกิจใหญ่สำหรับท่านปลัดอำเภอ ที่จำต้องคว้านหาหมอเพื่อมาอยู่ประจำ
ในฐานะหน่วยสาธารณะขั้นพื้นฐาน ซึ่งก็มีแพทย์น้อยคนนัก ที่จะยอมมาลำบากลำบน
เพื่อมาประจำคลินิกของหมู่บ้าน ที่ขาดแคลนทั้งกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือ
อามิสสินจ้างและความเจริญทางหน้าที่การงาน แม้แต่การจ้างแพทย์ต่างถิ่นที่เป็นชาวไต้หวัน
ก็มาสงเคราะห์ได้เพียงไม่กี่เดือน ด้วยอุปสรรคทางการสื่อสาร
นี้ยังไม่รวมคลื่น ที่เป็นดั่งมรสุมทางร่างกายสำหรับตัวหมอโคโตะเอง
เพราะเป็นคนที่ชอบแพ้คลื่น เวลาที่ต้องสัญจรทางทะเล และไอ้ความที่แพ้คลื่น
ก็ทำให้คนในหมู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง รู้จักชื่อเสียงต้นๆของหมอโคโตะดี
ในฐานะหมอผู้ไม่อาจรักษาตนเองได้ จากอาการคลื่นเหียนอาเจียนแทรก



สิ่งที่ตอกย้ำให้หมอโคโตะ ไม่แน่ใจว่าตัวเอง จะทนอยู่กับสภาพความเป็นหมอท้องถิ่น
บนเกาะนี้ได้นานแค่ไหน นี้ยังไม่รวมความที่ตัวเองเป็นคนแพ้คลื่นจนอายชาวเกาะเขา
สภาพคลินีกที่ดูไม่ต่างจากโรงเตี๊ยมน้ำชาของชอร์นบาร์เดอร์ ไหนจะความไม่พร้อมในทีมแพทย์
ทั้งเครื่องมือก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ ก็เป็นเพียงอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเท่านั้น
หมอที่เคยมาประจำส่วนใหญ่ ก็เป็นเพียงสายอายุรแพทย์ หากจะมีเคสต์ใหญ่ที่ต้องผ่าตัดด่วน
ก็จะโยนคนไข้ ให้เป็นภาระของทางโรงพยาบาลบนฝั่งชิคินะ
ที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมกว่า
ปัญหาในเรื่องก็คือ หมอโคโตะดันเคยอยู่แต่แผนกหมอศัลยแพทย์ และไม่ใช่หมอผ่าตัดธรรมดา
แต่เป็นหมอผ่าตัดที่ขึ้นชื่อของโรงพยาบาลชั้นนำในโตเกียว แต่เผอิญว่า ครั้งหนึ่ง
ได้กระทำในสิ่งที่ผิดพลาด จนทำให้นักศึกษาสาวท่านหนึ่งถึงแก่ความตาย
จึงเป็นความเสียใจครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต จึงต้องอัปเปหิตัวเองออกจากวงการแพทย์ในเมือง
แล้วมาใช้ชีวิตเป็นหมอชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกเป็นปลื้มนัก
กับการมาของแพทย์คนนอก เพราะต่างก็มีบทเรียนจากความไม่จริงใจในครั้งอดีต



ประกอบกับ การมีผู้ช่วยแพทย์เพียงสองท่าน
ซึ่งคนทั้งสอง ก็เป็นเพียงแพทย์พยาบาลเบื้องต้น หาได้มีความชำนิชำนาญในระดับฝีมือ
เทียบเท่าได้กับหมอโคโตะ คนแรกเป็นพยาบาลที่ชื่อ โฮชิโนะ อายากะ (เล่นโดยเจ๊ โค ชิบาสากิ)
ซึ่งในอีกฐานะเป็นบุตรสาวของท่านปลัดอำเภอ โฮชิโนะ เซอิชิ (เล่นโดย โคบายาชิ คาโอรุ
ตามซึ้งน้ำตาตื้นได้อีกในซีรีย์ Tokyo Tower)
เป็นผู้ชักนำให้หมอโคโตะมาเป็นหมอประจำบนเกาะ ซึ่งในตอนแรกที่ได้พบกับหมอโคโตะ
เหมือนจะมีเซ็นท์รับรู้ความพิเศษอะไรบางอย่าง ที่หมอโคโตะมีไม่เหมือนกับหมอคนอื่นทั่วไป
เป็นการตามหาในภารกิจที่ทำกว่ายี่สิบปีในฐานะท่านปลัด ที่ต้องรับผิดชอบความเป็นไปของทุกคน
ส่วนผู้ช่วยหมออีกคน เป็นผู้ชายที่ชื่อ วาดะ คาซุโอะริ (เล่นโดย คาเคอิ โทชิโอะ )
คนๆนี้เป็นมิตรตั้งแต่แรกเห็น ความที่เป็นคนอัธยาศัยดี มีความฝันที่จะเป็นช่างกล้อง
ก่อนหน้าก็เคยทำงานอยู่ในตึกที่ว่าการ ก่อนจะย้ายมาเป็นผู้ช่วยแพทย์
เป็นผู้ช่วยแพทย์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตทางวิชาชีพ เพราะไม่ได้มีใบประกอบโรคศิลป์
ทีมงานทั้งหมดจึงเป็นการมาด้วยใจ ปฏิบัติภารกิจตามหลักมนุษยธรรม
ไม่ได้คาดหวังต่อสิ่งลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นทีมงานที่แม้แต่นักศึกษาแพทย์ที่กำลังศึกษา
อยู่ที่โคโลราโด ก็ยังต้องอึ้งต่อศักยภาพในข้อจำกัดทางภูมิภาค ที่เคยร่วมผ่าในเคสต์กรณียากๆ
ที่แม้แต่โรงพยาบาลบนฝั่ง ก็ไม่แน่ว่าจะบรรลุในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้แคล้วคลาดจากพญามาจุราชได้



ความสนุกในซีรีย์ของหมอโคโตะ ที่ดูจะเหนือและแตกต่างกว่าซีรีย์ของหมอในเรื่องอื่นๆ
มิติภายนอก เป็นซีรีย์หมอๆ ที่หลีกเลี่ยงฉากความเป็นโรงพยาบาล ถึงแม้จะปรากฎในรูปของ
คลินิกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคลินิกตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดัดเเปลงใช้สอยเท่าที่จำเป็น
ส่วนมิติำภายใน เป็นการถักทอสายสัมพันธ์ดั่งเครือญาติอยู่กลายๆ ระหว่างหมอโคโตะ
ในฐานะแพทย์ผู้รักษากับคนไข้ในฐานะผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล
เพราะคนไข้เกือบทั้งหมด มักจะเป็นคนในท้องที่
ที่รู้จักมักจี่กับคุณหมอโคโตะเป็นอย่างดี อาจจะเป็นคุณยายที่เคยเป็นหมอตำแย
ทำคลอดคนทั้งหมู่บ้าน ลูกสาวที่เป็นท้องไม่มีพ่อที่ขอกลับมาตายรังในฐานะลูกสาวของ
สหภาพการประมงบนเกาะ แม่ที่เป็นบาดทะยักแต่มีลูกชายเป็นผู้ช่วยสส.ในพื้นที่
หรือเด็กชายนิรนามที่หนีมาหาแม่บนเกาะ ซึ่งแม่ก็เป็นเจ้าของร้านอาหารที่หมอโคโตะใช้บริการ
อยู่ประจำ ดังนั้น ในทุกๆเคสต์ที่รักษาในคลินิกของหมอโคโตะ จึงเป็นการแบกรับการคาดหวัง
ของบริวารแวดล้อมของตัวคุณหมอเองทั้งสิ้น เลยมีมิติทางสังคมเข้ามาประจวบพร้อมกัน
เป็นความห่วงเป็นใยแต่เดิมของคุณหมอที่มีต่อคนไข้ และในฐานะญาติของคนไข้ที่มีความสัมพันธ์
โดยอ้อมกับคุณหมอ ซึ่งโดยปกติหมอตามโรงพยาบาลในเมือง จะมีข้อหลีกเลี่ยงประการหนึ่ง
ที่จะไม่ให้แพทย์ผู้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนไข้ เป็นผู้ลงมือในการผ่าตัดเพราะไม่สามารถ
หลีกเลี่ยงความรู้สึกของการมีเส้นแบ่งปกติ ระหว่างคนไข้กับแพทย์ออกจากกันได้
แนวทางการรักษาของหมอโคโตะ จึงเป็นการฉีกม่านประเพณีที่ยึดติดกันมา
ไม่เพียงเท่านั้น หมอโคโตะบริการชาวบ้านถึงที่ โดยการปั่นจักรยานออกไปเยี่ยมเยียวชาวบ้าน
ที่ทำตัวไม่ต่างจากบริการของสาว (เหรอ) ยาคลูย์ ถ้าปั่นตรงเส้นขอบของถนน ก็จะถึงที่
แต่ถ้าออกนอกเส้นเลนโคจรออกไป ก็อาจจะถึงที่เช่นกัน แต่ไปถึงช้าหน่อยก็เท่านั้นเอง
(เพราะอาจเลียบคูคันท้องนาที่ไหนสักแห่ง)



ความจริงแล้ว แค่การแสดงนำของหมอโคโตะที่เล่นโดย โยชิโอกะ ฮิเดทากะ เพียงคนเดียว
ก็ถือว่าเอาคนดูอยู่หมัด แต่ยิ่งได้นักแสดงประกอบที่มากชั้นในฝีมือ
ซึ่งในซีรีย์เรื่องนี้จะประกอบด้วยกัลยาณมิตรสองฝ่าย (ขอวัดเอาจากตอนจบของเรื่องเป็นเกณฑ์
เพราะถามให้นับเอาตั้งแต่ ก้าวย่างเหยียบบนเกาะ นี้มันเกาะแห่งทุรมิตรชัดๆ)
กัลยาณมิตรสายแรก เป็น "กัลยาณมิตรสายเหยี่ยว"
เป็นสายเหยี่ยวที่มาอิงกับการแสดงแบบลูกทุ่งๆลุยๆ ว่าอะไรกันตรงๆ เว้นกันแบบซื่อๆ
หรือจะมีเล่ห์เหลี่ยมหน่อย ก็เป็นแบบดูกันออกจับกันติด
โดยเฉพาะตาลุงสหภาพชาวประมง อันโด ชิเกโอะ (ที่เล่นโดย อิซุมิยะ ชิเกรุ
พบเห็นในซีรีย์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น Engine , Kurosagi , Tokyo Tower, Change)
คนนี้ถือเป็นการสร้างจุดพลิกผัน ให้ซีรีย์หมอโคโตะให้เดินหน้าเป็นตอนๆ ไปได้อย่างเรื่อยๆ
บุคลิกก็ดูคล้ายๆป๋าเทพ โพธิ์งามอยู่เหมือนกัน
เป็นคนที่ตั้งแง่ ขี้คุยและชอบใส่ร้ายคุณหมอไม่ใช่น้อย ออกไปในทิศทางอนุรักษ์นิยม
ต่อต้านคนนอก และเป็นปากเป็นเสียงในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ทั้งๆที่ในบ้างเรื่อง
ก็เป็นทรรศนะคติของแกฝ่ายเดียว แต่ก็ออกฮาๆ เวลาที่ถูกไล่ต้อนจนมุมเมื่อไร
ก็เถๆไถๆ ไปเรื่องโน่นเรื่องนี้ ถึงรู้ว่าตัวเองผิด ก็ไม่ค่อยเอ่ยปากยอมรับ
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครถือสาหาความตัวแกเท่าไรนัก แต่บทโดนลูกสาวทิ้งก็กระชากใจไม่น้อย
แม้แต่ตอนที่ขับไล่หมอโคโตะออกจากเกาะไปก็ตาม ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกแปลก
ถ้าเป็นละครไทยคงต้องมีการประนามอย่างเอาเป็นเอาตาย
ถึงขั้นตัดญาติขาดมิตร แต่ในซีรีย์ญี่ปุ่น จะเน้นไปที่การไตร่ถามถึงเหตุผลและปล่อยให้
คนดูเป็นผู้พิจารณากันเอาเอง ถ้าให้เท่ห์หน่อย ก็อาจมีใครสักคนที่ไม่ผิด
ออกมารับผิดเอาหน้า เพื่อกระทบชิงอีกฝ่าย ว่าทำไมลื้อจึงไม่รู้สึกผิดสักที?



กัลยาณมิตาสายเหยี่ยว ไม่ได้มีแค่บุคคลเพศผู้เท่านั้น
แม้จะสตรีเพศอย่าง คุณยาย อุชิ ทซึรุโกะ (เล่นโดย เซนคุกุ โนริโกะ
เกิดประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๑๑ แนะ)
ยายท่านนี้ เขามาในแนวแพทย์แผนโบราณประจำถิ่น เป็นบุคคลที่ชาวบ้านบนเกาะ
ให้ความเคารพนับถือ ในฐานะที่อย่างน้อยๆ ตนเองออกมาจากท้องพ่อท้องแม่ได้
ก็ด้วยสองมือนี้ที่สร้างโลกของหมอตำแยท่านนี้ การมาของหมอแผนปัจจุบันอย่างหมอโคโตะ
ก็เท่ากับเป็นประกาศเป็นคู่แข่งในสายอโรคา ปรมา ลาภา ซึ่งเป็นเหตุให้ยายแกไม่ปลื้มนัก
ยิ่งมาทราบในวีรกรรม ที่หมอโคโตะผ่าตัดไส้ติ่งของเจ้าเด็กน้อยบนเรือข้ามฟากกลางทะเล
ยายแกก็ติ๊ต่างเอาเองว่า เป็นหมอที่ชอบผ่าตัดคน ไม่ต่างจากผ่าเอาไส้ในจากท้องปลา
แต่เห็นชราภาพอย่างนี้ ประทานโทษยังแบกไม้เท้าตุเร่ๆ ตั้งแต่ตอนแรกไปจนตอนสุดท้าย
เข้าคอนเซปต์ในสำนวน "แก่ง่ายแต่ตายยาก" และ "ปากร้ายแต่ใจดี"
แม้จะมีทิฐิสูงไม่ใช่น้อย บทจะตายก็ขอตายอยู่บนเกาะ ปฏิเสธการเดินทางรักษา
แม้ลูกชายจะเป็นคนออกสตงสตางค์ให้ทุกสลึงเยนก็ตาม ตอนหลังเป็นหน่วยเสริมคุณหมอ
เวลามียาสมุนไพรอะไรดีๆ ก็นำมาช่วยฟากคนไข้ของหมอโคโตะไปอีกแรง
นอกจากนี้ ยังมีกัลยาณมิตรสายเหยี่ยวนอกเกาะ
เข้ามาแชร์ประสบการณ์ เพื่อให้เรื่องราวอลหม่านชวนเข้มข้นขึ้นไปอีกหลายตอน
ทั้งตัวสส. หน้าละโมบ ที่หวังจะสร้างเมกกะโปรเจ็คให้เกาะนี้ กลายเป็นโรงเก็บแยกขยะ
เพื่อหวังจะฟันค่าหัวคิว เพื่อเป็นทุนในการใช้ศึกเลือกตั้ง ไหนจะยังมีตัวละครไคร์แม็กซ์
อย่าง ตากล้องช่างแค้น ที่ตามแฉความเป็นฆาตกรเลือดเย็นในร่างแพทย์
ที่ปล่อยให้น้องสาวตนเองต้องตายหน้าโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับการเหลี่ยวแล
จนเป็นเหตุให้ หมอโคโตะต้องจรจากจากที่เคยมาอีกครั้ง จนไปสร้างวีรกรรม
แบบติดทองหลังพระ เพราะจากคนเมืองบางคนที่ไม่จริงใจ
ไม่เหมือนกับคนในชนบทบนเกาะ ที่จริงใจแต่ก็ใสซื่อในการกระทำ



แต่ใช่ว่าคนบนเกาะจะมีแต่คนแรงๆเท่านั้น ในขณะเดียวกัน
กัลยาณมิตรสายพิราบ ก็มีให้เห็นอย่างถมไปในเกาะ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้
ก็คบหากับปกติทั่วไปกับกัลยาณมิตรสายเหยี่ยว แบบชนิดที่ไม่สร้างช่องระยะห่าง
ในการคบหา ซึ่งต่างกับท่าทีที่ต้องเผชิญหน้ากับหมอโคโตะ ที่กัลยาณมิตรสายเหยี่ยว
จะต้องตั้งการ์ดกระพือปีกเอาไว้ก่อน ตัวละครหลักๆสายพิราบ ที่เด่นๆก็มี
สองพ่อลูกตระกูลฮาระ ประกอบด้วย ป๋าทาเกโตชิ (เล่นโดย โตกิโตะ ซาบุโร)
และ อาตี๋ทาเกฮิโระ ในบรรดานักแสดงที่พอแยกซีนไปจากหมอโคโตะได้
เห็นๆก็จะมีสองพ่อลูกตระกูลฮาระนี้แหละ เผลอๆมากเสียกว่าน้องโคนางเอกของเรื่องเสียอีก
ด้วยสองพ่อลูกนี้ มีมิติที่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอีกหลายเหตุการณ์และหลายตัวละคร
อันนี้ ยังไม่นำปมในใจ ที่ตัวพ่อมีความไม่เชื่อมั่นกับหมอที่มาประจำอยู่บนเกาะ
ไม่ว่าหมอนั้นจะเป็นหมอโคโตะ หรือหมอคนไหนก็ตามที เหตุที่อาฆาตมาดร้ายเช่นนี้
เพราะหมอคนก่อนทำงามหน้า วินิจฉัยผิดโรค เลยทำให้แม่ของทาเกฮิโระต้องเสียชีวิตไป
ทั้งๆที่ หากมีโอกาสได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง อาตี๋ทาเกฮิโระก็คงไม่กำพร้าแม่
จนถึงทุกวันนี้ และตรงจุดนี้กระมัง ที่ตัวพ่อจะพยายามเคี่ยวเข็นตัวลูก
ให้เลิกเป็นเด็กขี้แยและมีความเข้มแข็งสมกับเป็นทายาทลูกชาวเลรุ่นต่อไป
แต่สุดท้ายนิสัยและความคิดของเด็กน้อยก็ค่อยๆเปลี่ยน โดยได้แบบอย่างที่ดี
ของหมอโคโตะ ที่ค่อยๆซึมซับการรับรู้ไปทีละเล็กละน้อย จากคะแนนสอบเลข
ที่ได้แค่ ๖๒ ก้าวกระโดดเป็น ๙๘ เป็นความมุมานะที่ฝันอยากจะเป็นหมอตามอย่าง
หมอโคโตะ ซึ่งเรื่องนี้ตัวพ่อเองก็ระแคระคาย เมื่อเห็นคุณลูกไปยืมหนังสือชีวประวัติ
ของโคเปนฮาวเออร์ ซึ่งตัวพ่อเองก็งงๆ ว่าตาฝรั่งนี้มันเป็นใครกัน
ถึงกระนั้นผู้เป็นลูก ก็ต้องจากเกาะนี้ในไม่ช้า เพื่อไปศึกษาในระดับมัธยมต้นของ
เกาะอีกฝั่ง ด้วยข้อจำกัดของสถานศึกษาที่เกาะนี้มีแค่ระดับประถมศึกษา



กัลยาณมิตรสายพิราบอีกคน ที่เล่นเอาผู้เขียนน้ำตาเล็ด
เสมือนรับรู้ว่าตัวละครนี้ เป็นญาติของผู้เขียนกลายๆ ทั้งๆที่ไม่ใช่
คือ คุณปู่อากิ เป็นตัวละครที่ไม่โดดเด่นจนได้มีโอกาสอยู่ในชาร์ตของแผงผังนักแสดงหลัก
แถมบทจะให้ได้พูดก็ต้องตั้งใจฟัง แถมยังเชื่องช้าอีก เป็นปู่ของคูนิโอะซึ่งเป็นเพื่อนเจ้าทาเกฮิโระอีกที
เป็นเฒ่าชราที่มีความภาคภูมิใจเพียงสามอย่าง คือ ๑.เรื่องสุขภาพ ว่าไม่เคยเจ็บป่วยออดๆแอดๆ
เหมือนกับคนแก่ในวัยเดียวกัน มักประกาศก้องเป็นประโยคประจำที่ใช้หากินตลอดทั้งเรื่อง
อย่างที่สอง คือ การปลูกแตงโม ซึ่งเป็นอาชีพที่แกทำมาตั้งแต่เล็กจนโต
รับรองว่าได้ทานเมื่อไร จะต้องติดใจจนลืมแตงโมโอท๊อปจากท้องที่อื่นไปได้เลย
และอย่างที่สาม คือ การถักรองเท้าฟาง ในรูปแบบต่างๆ ที่ทั้งคงทนและถาวร
รับรองได้ว่าหน้าร้อนเย็นชื่นใจเพราะมีแตงโม ส่วนหน้าหนาวอุ่นสบายเพราะมีรองเท้าสาน
จึงไม่อยากเชื่อเลยว่า หลักสามประการนี้ ซีรีย์เรื่องนี้จะทำเอาผู้เขียนต่อมน้ำตาตื้น
แค่ตัวแรกก็แทบร้องตับแตก มาเจอความภาคภูมิใจที่สอง และสามตามมา
ซึ่งก็เข้าใจอยู่หรอกว่าซีรีย์ต้องการไปกระแทกของขีดจำกัดของความเป็นหมอ
ว่าไม่ใช่ผู้วิเศษวิโส
หรือเทวดา ที่จะบันดาลรักษาผู้ป่วยทุกคนให้หายขาดจากโรค
แต่บังเอิญผู้เขียนกับหมอโคโตะ มีความเป็นมนุษย์ผู้รู้สุขและเกลียดทุกข์เหมือนๆกัน
ทุกหยดน้ำตาของหมอโคโตะ มักจะมีหยดน้ำตาของผู้เขียนไล่ติดตามอย่างไม่ลดละ
ยิ่งใครบางคนที่ให้ความเชื่อใจ ว่าถึงจะตายในอ้อมกอดของคุณหมอ ก็ยินดี
คำพูดที่ไม่ต่างจากการอุทิศชีวิตให้ แล้วยังทำได้ไม่สำเร็จตามความไว้วางใจนั้น
ความสุขที่จะตอบแทนได้ดีที่สุดที่แพทย์จะมีให้ได้ คือ การปล่อยให้คนไข้ได้ตายในบ้านหลังเดิม
อย่างพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว แทนที่จะตายในสถานแปลกแยกอย่างโรงพยาบาล
โอ๊ย! ไม่เขียนตอนนี้ต่อดีกว่า เดี๋ยวน้ำตาจะพาลไหลต่อ!!



ยังมีพิราบสายหวาน ที่คอยเป็นยาใจให้กับกัลยาณมิตรทั้งสองฝ่าย
ในฐานะ ที่ยังอยากจะมาใช้บริการสถานที่รังสรรค์ร้านอาหารร้านนี้อยู่
ร้านนี้มีเจ๊ นิชิยามา มาริโกะ (เล่นโดยโอซึกะ เนเน่ แม่สาวท่านนี้เล่นเรื่อง
psychometric Eiji ที่เพิ่งริวิวเมื่อต้นเดือนนี้เอง) ฝีมือเรื่องการแสดงต้องบอกว่าหายห่วง
แค่เพียงบริหารควบคุมความมีเสน่ห์ของตัวเอง ไม่ให้มากจนข้ามหน้าข้ามหน้านางเอกของเรา
เป็นสาววัยกลางคน ที่ดูเหมือนมีอิทธิพลทางความคิดกับบริวารแวดล้อม
โดยเฉพาะกับชาวบ้านในพื้นที่ แม้ครั้งหนึ่งเจ๊จะไปโลดเเล่นอยู่เกาะ
จนไปปิ๊งปั้งกับเจ้าหนุ่มโตเกียวจนมีลูก และลูกก็ไปตกอยู่ใต้อุปการะกับทางพ่อแม่ของสามี
ตามประสาสะใภ้ที่เข้ากับครอบครัวคนเมืองไม่ค่อยได้ พอดีว่า
ต้องมาสืบทอดในการรับกิจการร้านอาหารบนเกาะ ในฐานะทายาทเพียงคนเดียว
เป็นสาวกระดังงา ที่ถ้าาไม่บอกว่าเคยมีลูกมาก่อน ก็แทบจะไม่มีใครเชื่อว่าเป็นจริง
เลยมีชายหลายคน ต้องหลงในมนต์เสน่ห์ของเจ๊ โดยไม่อาจชี้วัดได้ว่า
เสน่ห์จากปลายจวัก กับ เสน่ห์จากบุคลิกภาพ อันไหนจะมัดใจชายได้มากกว่ากัน
อิทธิฤทธิ์เจ๊มีมากแค่ไหน อย่างน้อยๆก็ทำให้ประธานสหภาพการประมง
ต้องตัวงอ ไม่ต่างจากกุ้งโอกินาวาที่ตัวเองตกอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทำให้เฮลิคอปเตอร์
ที่มีขั้นตอนในการเบิกใช้ ต้องผ่านการเซ็นยินยอมหน่วยราชการหลายหน่วย
จบลงง่ายๆ ด้วยการที่เจ๊ยกหูโทรศัพท์เพียงกริ๊งเดียว
เห็นบารมีมากขนาดนี้แล้ว แต่เวลาที่ต้องอยู่กับลูกชายสองต่อสอง
ลูกชายที่หนีออกจากบ้านที่โตเกียวโดยตัวคนเดียว ทั้งที่อายุยังอยู่ในช่วงประถมปลายเศษ
เจ๊แกก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน ตามประสาแม่ที่ไม่เคยดูแลลูกเป็นเวลากว่าห้าปี



จนกระทั่งชีวิตของหมอโคโตะ ดูเหมือนจะกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่ง
ของผู้คนบนเกาะ โดยไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกเหมือนกับในช่วงครึ่งแรก
เป็นหมอโคโตะ ที่แม้ไม่ได้มีทะเบียนราษฎร์ว่าเป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาเกิดบนเกาะ
แต่ทว่า คนบนเกาะก็ถูก "ซื้อ" ด้วยหัวจิตหัวใจ ความวิริยะมุมั่นและมิตรภาพที่แสนจะจริงใจ
นอกเหนือจากความสามารถทางการผ่าตัดที่เป็นเลิศแล้ว
ยังรวมถึงการรักษาโรคแบบจิปาถะในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นจักษุแพทย์ อายุรแพทย์
โสตแพทย์ เภสัชแพทย์ กุมารแพทย์ แม้แต่แพทย์ผู้เย็บแขนตุ๊กตาหมีก็หาได้พ้นจากฝีมือของแกไม่
ประมาณว่า ขอให้ได้ป่วยเถอะ ทุกคนพร้อมจะตกเป็นหนี้บุญคุณด้วยการรักษาแทบทั้งสิ้น
โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่หมอโคโตะ
สามารถเอาชนะใจคนในพื้นที่ได้ไม่ยากเย็นนัก (ตามประสาผู้ใหญ่บนเกาะที่ไม่เข้าใจพวกหนูๆ)
จากนั้นก็ขยายไปสู่กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนชรา แล้วค่อยๆไล่ไปสู่กัลยาณมิตรพิราบ
จนมาสู่กัลยาณมิตรสายเหยี่ยวเป็นที่สุด แต่ใช่ว่าเรื่องจะจบลงเพียงแค่นี้
เมื่อคนดัดแปลงบท อย่าง โยชิดะ โนะริโกะ (เป็นคนเดียวกับที่เขียนบทให้ Nada Sousou)
หลังเล่นทรัพยากรของผู้คนบนเกาะจนหมดไต๋ ย่อมจะไม่ลืมที่จะดึงตัวคนจากพื้นที่นอก
ซึ่งเป็นบุคคลในเมืองที่เกี่ยวข้องคุ้นชินกับหมอโคโตะเป็นอย่างดี
ส่วนหนึ่งเพื่อจะสร้างประเด็นความน่าสนใจ ในข้อฉงนของภูมิหลังตัวคุณหมอ
เพราะญาณทรรศนะของคนบนเกาะ กับคนดูอย่างเราๆ ดูจะไม่ต่างกัน
คือ รับรู้สิ่งที่เป็นในปัจจุบันของหมอโคโตะ โดยมีจุดเริ่มในตอนแรก
เป็นตอนที่หมอโคโตะได้ลาจากสถานะของหมอในเมือง กำลังแล่นมาพร้อมกับเรือ
อย่างทุลักทุเลนัก เพื่อที่จะมาเป็นหมอประจำเกาะคนใหม่
การมาของคนนอก จะมาช่วยขยายมิติอันลึกลับของหมอโคโตะ
ว่ามีความสำคัญในวงการศัลยแพทย์ของเมืองกรุงเพียงใด เหตุใดหมอโคโตะจึงเลือกที่จะ
มาเป็นหมอบนเกาะ ที่ต้องแบกรับต้นทุนด้านลบจากวีรกรรมของหมอรุ่นก่อนๆ
ไหนจะค่าเสียโอกาส ในการลับฝีมือปลายมีดหมอและตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นในวงการแพทย์สากล
ประเด็นนี้ เขาไล่ความสำคัญกันเป็นรายบุคคล โดยเลือกจากคนที่ยืนระยะห่าง
จากความสัมพันธ์กับหมอโคโตะ แล้วค่อยๆเขยิบไปทีละนิด
จากจุดที่ค่อยๆสว่างในด้านดี ก็จะมาสู่จุดมืดที่เป็นด้านลบที่น้อยคนนักจะรู้
โดยเริ่มจาก รุ่นน้องของอดีตแฟนพระเอกในคราบของเด็กแพทย์ผู้จบนอก
แล้วมาสู่ ฮาราซาวา ซากิ ผู้เป็นอดีตคนรักของหมอโคโตะในสมัยเรียนมหาลัย
(ที่เล่นโดย อิชิดะ ยูริโกะ จำได้ไหม เจ๊แกเล่น ๑๐๑ ตื้อรักนายกระจอกเป็นงานย่างก้าว
และบทแฟนโค้ชใน Pride) จนมาจบอย่างคลี่คลายทุกอย่าง
ด้วยตากล้องจอมอาฆาตในตอนสุดท้าย ดังนั้นในเรื่องของการลำดับในเรื่องราวที่เข้มข้น
ซีรีย์เรื่องนี้ฉลาดในการวางตัวละครสำคัญๆ ไว้ตอนท้ายๆ คล้ายๆกับว่า
ดูเหมือนเรื่องราวต่อจากนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรให้ระคายเคือง แต่อย่าลืมว่า
เกาะมิใช่เรือนจำ ที่ต้องจำกัดเวลาการเข้าเยี่ยม ดังนั้นในช่วงครึ่งหลัง
หมอโคโตะจึงต้องพบเจอกับแขกที่ไม่ได้รับเชิญ หรือมาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า
แถมมาแต่ละคน ก็ไม่ทิ้งรากเหง้าหรือทัศนคติเก่าๆ ไปไว้บนเกาะในฝั่งที่มา
แต่อย่างว่า มาเจอภูเขาสวยๆ ธรรมชาติใสๆ ผู้คนล้วนแต่เป็นมิตร
มาเจออีกโลก ที่สอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่ปรากฎในชั้นเรียนคณะเเพทย์
แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ เปิดมิติการรักษา ว่ามันมีมากเป็นสิบแบบ
และหลากหลายเป็นสิบวิธี หาได้มีข้อสรุปการรักษาเพียงวิธีการเดียว
และจะหาได้จากที่ไหนที่ญาติของคนไข้ จะก้มหัวขอบคุณ
แม้แต่คนไข้ที่หมอก็ยื้อชีวิตไว้ไม่ได้ ซึ่งหาคำขอบคุณนี้ไม่ได้แน่ จากโรงพยาบาลในแถบเมือง



ยิ่งมาได้ ผู้ทำดนตรีประกอบมือรางวัล ที่ทำให้ซีรีย์หลายเรื่อง
สะกดคนดูให้ทราบซึ้งอย่างปิติรมย์ นอกจากเนื้อหาเดิมที่เต็มอิ่มจนล้นใจแล้ว
อย่างนาย โยชิมาตะ เรียว ไอ้หมอนี้ใส่ความซึ้งเป็นรูปของเพลงประกอบ
ที่เล่นให้ผู้เขียนเคยน้ำตาท่วมจอมาแล้ว จากซีรีย์เรื่อง Long Love Letter
Lipstick, .Pride , Atsu-hime , Bara no nai Hanaya เป็นต้น
จะว่าไปก็เป็นนักประพันธ์เพลงคู่บุญของผู้กำกับ นาคาเอะ อิซามุ อยู่ไม่น้อย
หลังจากสองแรงแข็งขันในซีรีย์หมอโคโตะแล้ว ผู้กำกับคงปลื้มไม่หายจนต้องเชิญแกอีกหลายครั้ง
ให้ไปช่วยทำเพลงคลอดนตรีซึ้งๆในซีรีย์ Pride หมอโคโตะภาคสอง และ
Bara no nai Hanaya ที่ผู้เขียนชอบเรียกชื่อภาษาสากลว่า Flowershop without Roses
นอกจากนี้ยังได้นักทำดนตรีประกอบ ที่ไปคว้าสองรางวัลในปีเดียวกัน
คือ เรื่องหมอโคโตะแล้ว ยังมาได้อีกเรื่องจาก Boku no Ikiru Michi ของค่ายฟูจิทีวีอีกเช่นกัน
(เพราะซีรีย์เมืองยุ่นเขา แบ่งรางวัลตามฤดูกาลในหนึ่งปีนะ) ชื่อของเจ้าฮอนมะ ยุสุเกะ เลยกระฉ่อน
ซึ่งความจริงแกก็ทำดนตรีประกอบมาหลายปี ไม่รู้ทำไมคณะกรรมการพึ่งจะมาเห็นค่า
ในปีนั้นพอดี จึงมอบรางวัล TDAA ซ้อนเอาในปีดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ก็มองข้ามทีมผู้สร้างไปอีกคนไม่ได้ นั้นก็คือ นายสุจิโอะ อัตสุฮิโระ
คนนี้ทำหน้าที่ปกติเป็นโปรดิวเซอร์ทั่วไป แต่กับซีรีย์หมอโคโตะด้วยแล้ว
หมอนี้ยังหาเหาใส่หัว โดยควบตำแหน่งเป็นผู้วางแผนงาน (Planner) ทั้งใน
หมอโคโตะภาคแรกและภาคสอง (สงสัยจะปลื้มกับซีรีย์เรื่องนี้เอามากๆ เพราะหลังจากนั้น
ก็ไม่เห็นการกินสองตำแหน่งควบอีกเลย) ความเก่งกาจในการวางแผนงานแค่ไหน
ก็ดูเอาจากการทำให้เกาะโยนากูนิ ที่ไม่มีอยู่จริง กลายเป็นเกาะที่ผู้คนตั้งความหวัง
ในวัยเกษียณ หรือเสาะหาจาก Googleเพื่อเตรียมแผนแบ็กแพ็คในการท่องเที่ยว
ได้สดับจากอ.สุวินัย เล่าในรายการว่า ได้ดูเครดิตตอนท้ายถึงได้รู้ถึงเบื้องหลัง
ถึงกระทั่งว่า เห็นทัศนียภาพสวยสดสมบูรณ์ไปทุกส่วนสัดอย่างนี้ แท้จริงแล้วเป็นการตัดต่อเอา
สถานที่เที่ยวของภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล โดยคัดเอาส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละพื้นที่
แล้วเอามาโปะรวมกัน กลายเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์ในจินตนาการของคนดูไปในที่สุด



เป็นซีรีย์ที่ไม่อยากจะเชื่อว่า ต้นฉบับทำมาจากหนังสือการ์ตูน
โดยผู้วาด ยามาดะ ทากาโตชิ ที่แทบจะเรียกได้ว่า คนที่เล่นหมอโคโตะ
ในคนจริงกับในการ์ตูน ชนิดที่ว่า แกะที่เป็นสัตว์ที่เขาว่าหากหลงเข้าไปในฝูง
แทบจะแยกออกจากกันได้ยาก ผู้แคสติ้งก็ช่างสรรหามาจนได้เจ้าฮิเดทากะ
มารับบทหมอโคโตะจนได้ ก็ต้องขอบอกว่า ใครที่เคยได้ชมหนังญี่ปุ่นชุมชนอลวน
อย่างใน Always ทั้งสองภาคมาแล้ว บอกได้เลยว่าจะหลงรักซีรีย์เรื่องนี้ได้ไม่ยาก
เพราะแทบจะมาในพล็อตการแสดงเดียวกันเลย แบบที่เคยเห็นเจ้าฮิเดทากะ
ทำตัวซึมเซาเหลาเย่จากหนังมาอย่างไร ก็ยังมีอารมณ์แบบนั้นให้เห็นในหมอโคโตะ
จนอาจเรียกได้ว่า เป็นสินค้าภาพลักษณ์เฉพาะบุคคลไปแล้ว เป็น Personal Brand
ที่ดาราที่ไม่ใช่แฟน ทำแทนไม่ได้ แต่คนนิสัยเหลาเย่แบบนี้ มักมีพรสวรรค์ซ้อนอยู่ภายใน
ถ้าใครเผลอไผลตัดสินคนโดยดูจากหน้าตา เป็นอันต้องเสร็จกัน เมื่อได้เจอความจริง
ในฝีมือที่ประจักษ์ตา จากคนที่หน้าตาตามลักขณาโหงวเฮ้ง ที่เรียกว่าเหลาเย่
อย่างที่เคยได้เห็นเจ้าฮิเดทากะ เล่นเป็นนักเขียนไส้แห้ง เรียวโนะสุเกะ ชากาวา
ที่คนในหมู่บ้านต่างดูแคลน ดีแต่ขายของหลอกเด็กไปวันๆ หรือเล่นเป็นหมอประจำถิ่นเกาะคนใหม่
อย่างหมอโคโตะ ที่มาตอนแรกก็รักษาอาการเมาเรือของตัวเองไม่ได้สักแล้ว
อย่างน้อยก็ทำให้เจ้าฮิเดทากะ หลุดกรอบคาเรกเตอร์จากซีรีย์มาราธอน
ของคนในสายตระกูลโคโรอิตะใน Kita no Kunikara ที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๘๓
รวมถึงในหนังสร้างสายมาราธอน ที่เล่นเป็นตัวมิตซุโอะ บุตรสายเลือดของตัวพ่อซากุระซัง
ในเรื่อง Otoko wa Tsurai yo ที่สร้างตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๑๙๘๑ มาอวสานกันเสียทีในปี ค.ศ.๑๙๙๕
การรับเล่นเป็นหมอโคโตะ นอกจากสอบผ่านยังไม่พอ ยังต้องให้ประกาศนียบัตร
ในส่วนของนักแสดงชายยอดเยี่ยม TDAA ครั้งแรกในชีวิตการแสดง โดยส่วนตัว
บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเล่นดีไหม แต่ทว่าองค์ประกอบอื่นๆที่เสริมลงไป
ก็ทำให้หมอนี้ดูโดดเด่น เกินหน้าใครๆอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งๆที่บทก็ไม่ทรงพลังแต่อย่างใด
แต่ด้วยความโอเวอร์ในแง่ของความใจดีเกินไป และมักบอกความจริงเพียงครึ่งเดียวนี้กระมัง
ทำให้เรื่องราวต่างๆ ต้องมาลงเอยด้วยการแบกรับภาระเพียงผู้เดียว
ก็เพราะอย่างนี้แหละ ในตอนท้ายชาวบ้านทั้งหลายจึงต้องพร้อมใจออกมาต้อนรับกันถึงหัวกระไดคลินิก



แต่จะสงสัยก็หนู โค ชิบาซากิ ของผม ทั้งๆที่อุตสาห์ได้รับบทตัวละครหลัก
อย่าง โอชิโนะ อายากะ นางพยาบาลที่สวยที่สุดบนเกาะเพียงคนเดียว
เป็นนางพยาบาลลูกสาวท่านปลัด ที่ดูเหมือนตอนแรกจะไม่ยอมรับการคัดเลือก
ให้หมอโคโตะของผู้เป็นพ่อเท่าไรนัก ตามประสาที่พ่อเคยคัดหมอคนก่อนๆมา
แบบเจ็บมาเยอะ แต่มาเจอเคสต์ผ่าตัดครั้งแรก ก็ต้องซูฮกแบบก้มกราบในฝีมือ
ว่าไอ้หมอนี้เจ๋งจริง จนกลายเป็นความแอบชอบตัวคุณหมอโดยไม่รู้ตัว
อันนี้ดูกันไม่ยาก เพราะออกอาการความเป็นตัวแม่ขี้หึง ที่ใครในเกาะต่างก็ดูออก
ยกเว้นเจ้าทุกข์อย่างหมอโคโตะนี้แหละ เป็นบทที่ดีแต่หนูโคเล่นได้ไม่เด่น
เป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่หนูโค เคยเล่นให้เป็นตำรวจนักสืบมือใหม่ อัตสึมิ คาโอรุ
ในนักสืบ Galileo ที่โดนพระเอกแย่งซีนไปเกือบทุกตอน แต่จะว่าไป
เห็นเล่นไม่เด่นอย่างนี้ แต่ก็เป็นนักแสดงสาวที่เลือกเล่นซีรีย์เก่ง จนรู้สึกว่า
แม้จะไม่ตั้งใจติดตามงานเจ๊สักเท่าไรนัก แต่ก็มีงานผ่านตามากกว่าดาราสาวหลายคน
ที่ผู้เขียนตั้งตารอเสียอีก ทั้งที่ในแต่ละปีเจ๊แกรับเล่นซีรีย์เพียงไม่กี่เรื่องเอง



ส่วนนักแสดงท่านอื่นๆ ก็เล่นได้เป็นธรรมชาติ เพราะผู้เขียนไม่หลงเหลือพื้นที่เซลล์สมอง
ให้จดจำในงานแสดงชิ้นก่อนๆ มากนัก การดูหมอโคโตะจึงเหมือนการมาจุติใหม่
ของเหล่านักแสดงที่เหลือ หรืออาจคุ้นหน้าบ้าง ก็มักเป็นบทรับเชิญที่โผล่มาละนิดละน้อย
ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่ยากที่จะกลืนบทบาทแต่ละตัวละครที่เหลือ แต่จะยากหน่อย
หากตัวละครนั้นๆ ไปรับเล่นในซีรีย์อื่นๆ เพราะผู้เขียนต้องลบภาพความทรงจำดีๆ
จากพื้นฐานเดิมในซีรีย์หมอโคโตะ ที่ถึงแม้จะมีแต่เด็กและคนชรา ผู้เขียนก็ไม่อาจละเว้น
จะว่าไปหนทางในการรักษาตามแบบฉบับหมอโคโตะ ก็จะประสบอุปสรรคด้วยกันสองด้าน
ด้านหนึ่ง เป็นอุปสรรคจากเงื่อนไขของคนไข้ที่จะดันทุรัง ของมีบั้นปลายสุดท้ายบนเกาะบ้านเกิด
แทนที่จะไปรักษาโรงพยาบาลนอกฝั่ง กับอุปสรรคหนึ่งจากเงื่อนไขที่คนไข้ประสงค์ที่จะ
ขอรักษาโรงพยาบาลนอกฝั่ง แต่ติดอุปสรรคเนื่องจากการเดินทาง
อุปสรรคทั้งสองด้าน ล้วนเข้าทางในการสำแดงฝีมือของหมอโคโตะทางสิ้น
ซีรีย์ยังโดดเด่นในการวางสัญลักษณ์และเงื่อนไขไว้ในตอนต้น ถือเป็นซีรีย์ที่มีความอดทนสูง
ที่จะเอามาใช้ประโยชน์ในบั่นปลายของตอนสุดท้าย และก็ใช้อย่างได้ผลเสียด้วยสิ
เพราะอย่างนี้ถึงเข้าใจเหตุผลลึกๆว่า ทำไมผู้ช่วยแพทย์วาดะที่ชอบพกกล้องยี่ห้อไลกร้านัก
ทำไมการใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางให้ไขว้กัน จึงมิใช่ท่าบรรเทาอาการเมาเรือ
แต่ยังบรรเท่าความเหินห่างสักด้วย รู้แล้วว่าตัวพ่อทาเกฮาระถึงชอบปากแข็ง
ถึงไม่เคยเรียกโคโตะ ว่าคุณหมอโคโตะสักที แต่พอจะปริเอ่ย
พี่ท่านก็เอ่ยแบบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เหมือนกัน
เป็นตอนสุดท้าย ที่คลี่คลายสัญลักษณ์นานาชนิด ที่เรียกได้ว่า
"เฮ้ย!ระดมยิงไปถึงไหนฟะ หยุดสักนิด ขอตัวไปซื้อทิชชู่ม้วนใหม่ก่อนเถอะ"
จึงไม่รู้ว่า จะหาข้อเสียจากซีรีย์นี้ได้จากมุมไหนได้อีก เพราะมันเจียดได้ว่าเป็น
ความสมบูรณ์ในทุกองค์ประกอบ แบบที่หนังสองภาคอย่าง Always เคยมี
แต่จะให้เค้นในจุดไม่ดีให้ได้ในตอนนี้ คือ
"ยังหาภาคสองมาดูต่อไม่ได้ และ พระเอกหน้าตาไม่ดี " เท่านั้นมั้ง ........




อวยข้อมูลจาก

//wiki.d-addicts.com/Dr._Koto_Shinryojo
และรายการชวนคิดชวนคุย ทางคลื่นผู้จัดการ







 

Create Date : 16 มกราคม 2553    
Last Update : 17 มกราคม 2553 20:51:48 น.
Counter : 3399 Pageviews.  

life อันธพาลไม่ได้หมายความว่าเข้มแข็ง


มานั่งจัดหมวดซีรีย์ที่ดูตลอด ในปีที่แล้ว
เพิ่งมารู้ตัวว่า เป็นคนที่ไม่ชอบดูซีรีย์ญี่ปุ่นแนวสตรีมดราม่าหนักๆ
ที่ไม่ชอบก็ไม่ใช่เรือ่งแปลกอะไร เพราะปกติชีวิตตัวก็แสนรัดทดรัญจวนใจ
ไม่ต่างจากแนวดราม่าศาลาคนเศร้าสักเท่าไรนัก ไล่เรียงอย่างคราวๆ
อย่างในปีที่แล้ว ก็มีเรื่อง last friend กับ The Grand Family ของค่าย TBS
เพียงแค่สองเรื่องเท่านั้นกระมัง ที่ถือเป็นโคตรดรามา
ไอ้ที่พอจะใช้ขันติปรมัตถ์ อดทนรอดูจนจบไปได้
ก็มิใช่อะไร คือการติดดาราเอกในเรื่องเป็นทุนหลัก เนื้อหาเป็นทุนรอง
ไม่ได้อยู่ด้วยเนื้อหาสาระแต่ประการใด แค่เพียงได้ชมหน้าหล่อๆสวยๆ
ของเหล่าบรรดาดาราหน้ากล้อง แม้จะพอรู้ว่า มาครั้งนี้พวกเขาจะเล่นบทบาท
ชนิดไม่ปราณีตปราศัยว่าชีวิตของคนดูนั้น จะมีประวัติดราม่าไม่แพ้กับในละครรึไม่? ก็ตามที



หลักการคิดเอาเองว่า ซีรีย์เรือ่งไหน จะดราม่าหรือไม่ดราม่านั้น
ผู้เขียนใช้หลักคิดง่ายๆ ถ้าดูไปหนึ่งตอนแล้วไม่มีเสียงหัวเราะฮึกๆในลำคอ
ผู้เขียนก็ปรามาสเอาเองว่า เรื่องนั้นเป็นซีรีย์ดราม่าเเน่นอน
เหมือนกับเรื่องที่อยากระบายในครั้งนี้ ที่ถ้าไม่ระบายออก
รับรองว่า ผู้เขียนจะมีความอึกอัดใจ เหมือนมีภูเขาฟูจิยกมาทับที่กลางอก
กับซีรีย์ที่มีชื่อว่า life จากค่ายทีวีฟูจิ ที่ฉายในปี ค.ศ ๒๐๐๗



Life เป็นซีรีย์ชีวิตหนักๆ ที่ผู้ชมต้องข่มใจดู ๑๑ ตอน
เป็นเรื่องของเด็กถูกแกล้ง ซึ่งมิใช่เรื่องเด็กๆ เอาสักเลย ชนิดที่แม้คนที่กระทำ
อาจรู้สึกสำนึกผิดแบบฉับพลัน เพราะมันจี๊ดระดับสะเทือนชนิดที่หัวใจความเป็นมนุษย์
ต้องไหวหวั่นเกือบ ๙ ริกเตอร์ ถ้าเป็นภาษามวย คงต้องบอกว่าบู๊กันตั้งแต่ยกเเรก
ถึงแม้ว่า จะมีการดูเชิงกันบ้างนิดหน่อย แต่เป็นการดูเชิงเพื่อปูเรื่องราว
ขณะที่ผู้เขียน ครั้งหนึ่งในวัยเรียน อาจจะถูกกลั่นแกล้งไปบ้าง
ก็ยังรู้สึกโชคดีที่ถูกแกล้ง จากบรรดาเพื่อนรักที่แข็งแรงและตัวใหญ่กว่า
เมื่อเห็นเพื่อนที่วางแผนแกล้ง หัวเราะอย่างมีความสุข ผู้เขียนตอนนั้นทำอะไรมากไม่ได้
ก็จะทำตัวใบ้แดกเล่นไปตามมุข เป็นความปรารถนาที่อยากเห็นเพื่อนมีความสุขแบบจำใจ
อย่างมากก็แค่ แอบถอดกางเกงในทีเผลอ หรือ ไม่ก็ แอบเจาะเข่าด้านหลัง
ถึงกระนั้นก็ตาม ถูกเพื่อนแกล้งในสถานศึกษาไทย ก็ยังดีกว่าสถานศึกษาเมืองยุ่น
เพราะในซีรีย์เขาเล่นกันแรง ชนิดโยนโต๊ะเรียนลงจากหน้าต่าง ให้เจ้าของโต๊ะ
เห็นกันจะๆตา ประมาณว่าห้องนี้ เราไม่เอาเธอ



มาทราบว่า ซีรีย์เรื่องนี้ เป็นการสร้างมาจากต้นฉบับการ์ตูน
ของนักวาดสตรี ที่ชื่อ ซุเอโนะบุ ไคโกะ (ก่อนหน้าก็วาดเรื่อง vitamin
เรื่องราวก็ไม่ได้ต่างจาก life เท่าไรนัก สงสัยวัยเด็กของเจ๊ แกคงเจ็บมาเย๊อะ)
เห็นเพื่อนผู้หญิงเล่าว่า มีลิขสิทธิ์ถูกต้องวางขายของสำนักพิมพ์บงกช
สำนักนี้ เขาเป็นเจ้าแม่ในงานการ์ตูนหญิ๊งๆ มาเนินนานแล้ว
ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่า ฉบับการ์ตูนจะมีความก๋ากั๋นแค่ไหน แต่ในฉบับซีรีย์แล้ว
เป็นงานที่เอาตาย ชนิดคนดูไม่อาจแยกแยะความสงสารกับความสะเทือนใจ
ได้ออกจากกัน ยิ่งเห็นเด็กสาวหน้าตาวัยใส อย่างหนูไคอิ
ถูกเหล่าบรรดาคนร่วมชั้น ที่ไม่อาจใช้คำว่า เพื่อนร่วมชั้น รุมสกัมอย่างไม่มีชิ้นดี
ผู้เขียนท่านนี้ได้แต่นั่งตาดู โดยไม่อาจช่วยเหลืออะไรแก่น้องหนูสักอย่างได้
แม้จะตะโกนหน้้าทีวีป้าวๆ ว่า "อย่าทำน้องเขา ทำพี่ดีกว่า" ก็หาได้เสียงตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก
นอกจากจะหยิบทิชชูซับน้ำตาแห่งความเวทนาใจ ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณน้อง
คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่พี่ท่านนี้พอจะทำให้กับคุณน้องได้บ้าง
และอาจโทษ มโนสำนึกของผู้ประพันธ์ ว่าเก็บกดจากที่แห่งไหนมา
ถึงได้มาระบายใส่บทละคร ที่ให้คุณน้องไคอิ ต้องระทมทุกข์ถึงเพียงนี้



ซีรีย์เรื่องนี้ เริ่มต้นเหมือนว่าจะเป็นซีรีย์แบบฟิวส์กู๊ด
คือ ดูได้สบายตา รับรู้อย่างสบายใจ ชนิดที่ไม่ต้องอารยขัดขืนกันมากมาย
แต่สถานการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความรู้สึกในเบื้องต้นที่อยากจะดูซีรีย์เรือ่ง life
ใครที่ได้อ่านบทความที่แล้วของผู้เขียน ก็คงพอทราบว่า เป็นผลของการติดตาม
แบบไม่ต้องว่าจ้าง แต่มาด้วยใจของตัวผู้เขียนเอง
เพราะเผลอไปปลื้มคุณน้อง คิตาโนะ ไคอิ จากเรื่อง Taiyo to Umi no Kyoshitsu
ทั้งๆที่ ตั้งใจจะตามแล นักแสดงสาวอีกสองคน แต่บทเล่นไม่อวยให้แจ้งเกิด
ก็มาได้น้องไคอิคนนี้แหละ ที่เฉิดฉายในชุดวอลเลย์บอลชายหาด
ด้วยการโชว์สรีระผิวเนื้อขาวๆ ที่ไร้สารไวท์เทนนิ่ง เลยมาตามล่าซีรีย์ของปีก่อนหน้า
อีกอย่าง ได้สดับกระแสความชื่นชมของซีรีย์เรื่องนี้อยู่พอสมควร
โดยดูจาก การปล่อยคลิปลงในยูทูบ ที่มีเหล่าแฟนนานุแฟน ช่วยกับแปลซับ
อยู่ด้วยกันหลายเจ้า เจ้าละภาษา จึงมีทั้งซัพอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส
ไม่เว้นแม้แต่ ซัพจีน (แต่ไม่ยักมีซัพไทย สงสัยจะทรัพย์จาง)
เป็นปรากฎการณ์ที่มีไม่บ่อย ในสังคมแห่งโลกออนไลน์ ที่มีให้ต่อซีรีย์หนึ่งเรื่อง
แต่ปัญหาของผู้เขียน คือ การติดตาในบทบาทสาวน้อยแรกแย้มจากเรื่องก่อน
ที่เป็นรักใสใสหัวใจป๊อปปี้เลิฟ เลยไม่ได้ปรับรับกระบวนท่าอะไรมากมาย
พอมาประจักษ์ กับการแสดงในระดับดาร์กไซด์สตอรีสุดๆ
ถึงกับต้องกลั้นใจแบบลุ้นสุดตัว เพราะคุณน้องต้องหัวเดียวกระเทียมลีบ
เมื่อเพื่อนทั้งห้อง มองน้องหนูว่าเป็น "หมาหัวเน่าของห้อง"



ทั้งๆที่ ในตอนแรกคุณน้องไคอิ ที่ต้องรับบท สาวน้อยมัธยมต้นวัยใส
ที่ชื่อ ชิอิบะ อายุมุ สาวน้อยที่กำลังก้าวไปสู่สาวแรกรุ่นกุลสตรีในระดับมัธยมปลาย
น้องแกก็มีเพื่อนซี้ตามธรรมชาติอย่างหนูชินอิจัง ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่าเขาสองคนนี้สนิทกันแค่ไหน
รู้แต่ว่า หนูๆเขาเรียกอะไร "จังๆซังๆ"
และเห็นไปไหนมาไหนกันสองต่อสอง ในตลอดช่วงเปิดเรื่อง
ก็ขอตีว่าซี้กันไว้ก่อน แต่ความที่หนูอายุมุนางเอกของเรื่อง ตัวน้องแกอ่อนวิชาสอบ
จึงรบกวนให้เพื่อนซี้ช่วยติววิชาให้ ตามความปรารถนาที่จะได้ร่วมเรียนในที่เดียวกัน
คือ โรงเรียนมัธยมปลายนิชิไม ขึ้นชื่อแค่ไหนในจังหวัด ซีรีย์ไม่ได้บอกให้ได้รู้
รู้แต่ว่า ยูนิฟอร์มม.ปลายนี้ ใส่แล้วมันดูเก๋แสนเจิดจรัส
ก็คิดตามมาตราฐานดุลยพินิจแบบฉบับเด็กม.ต้น ที่พึงจะคิดได้
แต่ติวไปมาอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าตอนประกาศผลสอบ นางเอกของเราดันสอบได้
แต่เพื่อนที่ช่วยติวกลับสอบตก งานนี้จึงเกิดการผิดใจกันครั้งใหญ่แบบไม่มีโอกาสให้แก้ตัว
เพราะเพื่อนของคุณน้อง ได้คิดสั้นกระโดดตึกเป็นศพ ที่เล่นช็อกคนดูตั้งแต่ตอนไก่โห่
ทำให้หนูนางเอกอย่าง อายุมุ ต้องละทิ้งความฝันแบบมีสิทธิ์ที่ โรงเรียน ม.ปลาย นิชิไม
ด้วยปรารถนาแรกเริ่ม ที่จะเข้าเรียนไปพร้อมกับเพื่อนสนิทของตน



จนกระทั่งเวลาผ่านไป หนูอายุมุเลือกที่เรียนโรงเรียน ม.ปลายอื่นที่ชื่อโรงเรียนนิชิดาเตะ
ในวันที่ ๑๑ เมษายน ปี ๒๐๐๗ (ในเรื่องได้ลำดับเวลาของเหตุการณ์ต่างๆปานกับไดอารี)
เป็นสถานที่ที่จะเกิดโศกนาฎกรรมในเรื่องต่างๆ มากมาย แม้ว่าในตอนแรก
คุณน้องดูจะเป็นที่รักของเพื่อนทุกคนในชั้น แม้จะมีบุคคลิกนิสัยแบบโลกส่วนตัวสูง
แต่ก็เปิดใจรับได้กับเพื่อนทุกคน แต่คุณน้องคงยังไม่รู้ว่า
ที่นี้เขามีวัฒนธรรมของการรับน้องแบบแปลกๆ คือ จะต้องกำหนดความเป็นหมาหัวเน่า
ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง บังเอิญว่าก่อนหน้าไม่ใช่กับคุณน้อง แต่เป็นเด็กร่วมชั้นที่ชื่อ
ฮิโรเซะ โนโดกะ (โฮชิอิ นานาเซะ คนนี้เล่นซีรีย์ติดลมบนมากมาย ขอบอก
อย่าง Love Oparation , Rookie และซีรีย์ปีนึ้ อย่าง คนรับใช้ของไมจัง)
แต่ซีรีย์ไม่ได้บอกวัฒนธรรมอโคจรประจำชั้นเช่นนี้ในตอนแรก ให้กับคนดูได้ทราบ



อีกอย่างนางเอกของเรา ก็เริ่มสนิทสนมกับ "อันไซอิ มานามิ"
(คนนี้เล่นโดย ฟูกูดะ ซาอิ คนนี้ผู้เขียนไม่คุ้นชินกับงานใดๆเลย แต่ขอบอก
ว่าเล่นได้ดี มีรางวัลนักแสดงสบทบหญิง ของ TDAA ครั้งที่ ๕๔ เป็นเรือ่งรับประกันฝีมือ)
มานามิ คนนี้เป็นถึงระดับคุณหนู ฐานะทางบ้านร่ำรวย จึงไม่เเปลกที่จะเหล่าบรรดา
เพื่อนนกเอียงนกขุน ตามบินวอแวไม่ไปไหน ตามประสาเกาะเพื่อนคนนี้แล้วไม่อดตาย
และตามประสาลูกคุณหนู อุณหภูมิของความอบอุ่นในครอบครัว
ย่อมไม่สถาพร คุณหนูมานามิจึงมีเพื่อนชายที่ทดแทนความอบอุ่นในใจ อย่าง
คาโซะ คัตซึมิ (เล่นโดยโฮโซดะ โยชิฮิโกะ เคยเล่นในหมอโคโตะ และงานล่าๆ อย่าง
Voice และ Tokyo Dogs) แต่สายสัมพันธ์แสนเศร้า ด้วยพ่อของเจ้าหนุ่มคัตซึมิ
เป็นลูกน้องของบริษัทที่พ่อของคุณหนูมานามิ ถือบังเหียนอยู่
เวลางานไม่ถูกใจเพราะเจ้านายว่า พ่อของคัตซึมิก็จะมาระบายอารมณ์ทุบตีกับ
ลูกตัวเอง โดยจะเห็นได้จากรอยเเผลเป็นตามตัวคัตซึมิ จึงทำให้เจ้าหนุ่มคัตซึมิ
มีอาการประสาททางจิตชนิดเก็บกด จึงมักระบายความใคร่แบบวิปริต
ด้วยการหลอกสาวไปขืนใจ แล้วถ่ายรูปแบล็กเมล์เอาไว้ และที่น่าสะเทือนใจ
ก็หนีไม่พ้นน้องนางเอกที่ตามปลื้ม ก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งของมันเสียด้วยซิ
ทั้งๆที่ น้องเขาจะช่วยพูดคุย ให้คัตซึมิมาคืนดีกับมานามิเหมือนเก่าก่อน
กลายเป็นว่า โดนเจ้าคัตซึมิปู้ยี่ปู้ยำไม่พอ ต้องมาผิดใจกับมานามิด้วยนึกว่ามาแย่งแฟนของเดี๊ยนสักอีก



ความที่น้องโคอิ รับบทเป็นนางเอกของเรื่อง
จึงหนีไม่พ้น คุณสมบัติของความเป็นนางเอกทุกระเบียดนิ้ว
ต้องเป็นหญิงสาวที่แสนดี ให้อภัยคนอื่น ไม่เน้นการใช้กำลัง หน้าชื่นแต่อกตรม
เพราะจุดดีของความเป็นนางเอกนี้แหละ ที่เป็นจุดร้ายให้คุณน้องต้องตกเป็นเหยื่อ
การกลั่นแกล้งในรายต่อไป เพราะดันไปช่วยเพื่อนหมาหัวเน่าอย่าง โนะโดะกะเข้า
แทนที่น้องโนะโดะกะ จะสำนึกในพระคุณ กลับตามน้ำกับเพื่อนในชั้นที่เคยแกล้ง
เพื่อให้ได้การยอมรับในการเข้าพวก แม้แต่เพื่อนที่ไม่เห็นด้วย
ก็ไม่มีปากมีเสียง เพราะกลัวจะกลายเป็นเหยื่อ ความเป็นหมาหัวเน่าเป็นรายต่อไป
แม้แต่ครูประจำชั้น ก็ไม่ได้ใส่ใจในปัญหานี้ เพราะไม่อยากให้เรื่องดังกล่าว
มีมลทินมาใส่ตัว จึงแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับปัญหาดังกล่าว
ปล่อยให้วัฒนธรรมที่ไม่ดีนี้ สืบทอดต่อๆกันมา
น้องไคอิของผม จึงต้องโดนรุมแกล้งต่างต่างนานา ตั้งแต่เรื่องเล็กในประจำวัน
จนกระทั่งไปถึงการถูกขืนใจ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็แปลก เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ
มักไม่กล้าจะบอกให้กับทางบ้านได้ทราบ ขณะที่คนทางบ้านก็คิดเอาว่า
โรงเรียนเป็นสถานที่อุปถัมภ์ที่ปลอดภัย รองลงมาจากที่บ้าน
วัฏจักรนี้ จึงวนเวียนซ้ำซาก ในตลอดตอนที่เหลือตามแต่ผู้ชมท่านใด
จะแข็งใจตามลุ้น ไปถึงบทสรุปสุดท้าย ซึ่งดูไปแล้วไม่น่าจะมีทางออกของเรื่องได้เลย



เป็นซีรีย์ที่ผู้เขียนไม่กล้าจะปลอบใจหมู่มิตร ว่าปัญหาบางเรื่อง
เป็นแค่เรื่องขึ้ปะติ๋ว เพราะอย่างในซีรีย์เรื่องนี้ อย่างน้อยก็ไม่กล้าที่จะเอ่ย
ให้ใครสักคน ต้องอดกลั้นต่อปัญหาว่าเพื่อนแกล้ง เป็นเพียงเรื่องหมาหยอกไก่ไปได้
เอาเข้าจริง การคิดสั้นของนางเอก อาจจะยังเป็นการคิดยาวเสียด้วยซ้ำ
หากผู้เขียนเผลอเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริง ลองคิดดู ไหนจะสมุดไปโยนทิ้งถังขยะ
แอบติดกาวตราช้างบนเก้าอี้ เอาเข็มหมุดใส่ในรองเท้า โยนอาหารเที่ยงสุดโปรดลงกับพื้น
แบกจานมาให้ล้าง เข้าห้องน้ำยังตามไปเล่น เป็นต้น
ชีวิตของผู้เขียน แค่เพื่อนล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ก็เที่ยวจะไล่ต่อยจนหมดคาบเรียน
ดีนะเมืองยุ่นเขาไม่ถือในการล้อชื่อพ่อชื่อแม่ เลยไม่รู้ชื่อพ่อแม่ของนางเอกสักคำ
่พอที่จะให้ผู้เขียนตามประจบ ตามประสาพ่อตา-แม่ยาย ที่อยากมีลูกเขยไว้สามัญประจำบ้าน



แต่ซีรีย์เรื่องนี้ ก็ยังมีจุดผ่อนคลายของเรื่องอยู่บ้าง
เมือ่ได้ตัวละคร อย่าง "ฮาโตริ มิกิ" (เล่นโดย เซกิ เมกูมิ งานแต่ละเรื่องไม่คุ้นเช่นกัน)
สาวสูงชะลูด ตูดปอด ยอดขุนพล เป็นหญิงสาวที่ไม่ปราณีตปราศัยกับใครในห้อง
มีบุคลิกที่ลึกลับ จะเป็นเดือดเป็นร้อนให้กับใครก็ตาม ที่มากลั่นแกล้งกับนางเอกของเรา
ในฐานะที่ยอมรับความเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวอย่างสนิทใจ กว่าบรรดาเพื่อนไหนๆในชั้น
เป็นคนที่ช่วยนางเอกของเรื่อง ก่อนจะคิดสั้นกระโดดให้รถไฟชนเพื่อหนีปัญหา
ซึ่งครั้งหนึ่งนางเอกของเรา ก็เคยช่วยคุณหนูมานามิ ที่คิดสั้นจะกระโดดให้รถไฟชน
เพียงเพราะมีปัญหาผิดใจกับแฟนหนุ่ม
ดังนั้น ผู้เขียนจะรู้สึกเสียวสันหลังทุกครั้ง ถ้ามีเพื่อนคนหนึ่งคนใด
เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับนางเอกของเรา เพราะเชื่ออยู่เต็มอก ว่าต้องมาด้วยเจตนาร้าย
เพราะกว่าน้องมิกิ จะมาเข้าฉากแต่ละครั้ง แถมจะมีซีนให้เข้าน้อยมาก
แต่ถ้าน้องมิกิมาทีไร ก็ต้องปะฉะดะอย่างทรงพลัง จนต้องทำให้เพื่อนเลวๆ
ต้องเกิดอาการวงแตกแหกกระเจิง ไปเสียทุกที



เป็นซีรีย์ที่กล้าตีแผ่ปัญหาสังคมที่ฟอนแฟะ ในสภาพสังคมใหญ่
ที่ผู้คนที่เรียกว่า "เพื่อน" เป็นเพียงคำหน้าฉาก ที่ไม่สะท้อนคุณค่าที่แท้จริงภายใน
ขณะเดียวกัน ก็เป็นประสบการณ์ที่พิสูจน์การวัดใจนางเอกของเรา
ว่าจะยังคงมีความเชือ่มั่นในความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าเพื่อน ได้เต็มเปี่ยมมากแค่ไหน
เพื่อนที่ครั้งหนึ่ง ตนเองต้องถูกตะคอกใส่หน้า ว่าเป็นคนทรยศหลอกใช้เพื่อน
เพื่อจะเป็นบันไดแบบถีบหัวส่ง ให้ได้เข้าสู่โรงเรียนมัธยมปลายชื่อดัง
แถมบทพิสูจน์แต่ละอย่าง ก็ทำได้แสนจะไม่ประนีประนอมใจคนดู
เสมือนการตีแสกหน้าอย่างจังๆ ให้ผู้คนได้รับรู้ถึงมุมมืดมุมหนึ่งของสังคม
ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา อย่างโรงเรียนก็เลวร้ายไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม
เพียงแต่อาจจะเป็น อาชญากรรมของคนที่มีการศึกษา แต่กระทำในพฤติกรรม
ที่ไร้การศึกษา เป็นอาชญากรรมเงียบ ที่เข้าข่ายการทำร้ายร่างกายและขืนใจ
ที่ไม่ได้กระทำเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตามปฏิทินโรงเรียน
และเป็นพื้นที่จำกัดแคบๆ ด้วยสังคมแห่งกฎหมู่ เป็นประชาธิปไตยปลอมๆเสียงข้างมาก
ที่เป็นเผด็จการยอ่มๆในชั้นเรียน
ในขณะเดียวกัน ก็ไตร่ถามจิตสำนึกในวิชาชีพครู ปัญหาการทารุณกรรมเด็ก
การห่วงภาพพจน์ชื่อเสียงที่เกินงาม และความรับผิดชอบของบุพการี
ล้วนเป็นปัญหาหนักๆ อันเกิดจากการตามติดผลงานของน้องไคอิเพียงคนเดียว
ที่ทำให้ผู้เขียนหูตาสว่าง กว้างไกล ว่าซีรีย์ไมได้มีแค่ความบันเทิงเริงร่าเพียงแค่นั้น



ต้องซูฮกต้องฝีมือผู้กำกับ อย่าง ทานิมูระ มาสากิ
ว่าสามารถถ่ายทอดปัญหาสังคมของประเทศพี่ ได้อย่างถึงกึ๋นเป็นที่สุด
แม้ว่าบทหนัง จะแสนธรรมดาตามประสา ปัญหาคนแกล้งเพื่อนที่แสนจะคุ้นชิน
ที่เคยมีให้เห็น จากซีรีย์เรื่องอื่นๆ กันมาบ้างแล้ว แต่งานนี้ผู้กำกับลงลึกใน
รายละเอียดชนิดที่ ไม่เคยมีซีรีย์เรื่องไหนๆ กล้าเจาะลึกกันถึงเพียงนี้
อีกทั้งการคัดเลือกนักแสดง ได้อย่างตรงเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของเรื่องราว
โดยเฉพาะนักแสดงเด็ก ที่ไม่น่ามีประสบการณ์ในเวทีการแสดงเท่าไรนัก
และพอไปรับเล่นเรื่องอื่นๆ ก็ไม่เรื่องเค้า เหมือนกับที่ได้แสดงในซีรีย์เรื่องนี้
อาจเป็นเพราะว่า งานกำกับซีรีย์เรื่องนี้ พี่ท่านเล่นกำกับแบบไม่เผื่อแผ่ใคร
จนได้รับรางวัล TDAA อย่างสมภาคภูมิ แม้ว่างานกำกับปีต่อหน้า อย่าง
Taiyo to Umi no Kyoshitsu จะถูกผมต้องข้อครหา ว่าจะ "เค้นอารมณ์" ไปถึงไหน
มาครั้งนี้ ได้สัดส่วนชัดเจน แรงทุกตอน ปั่นทอนใจทุกวินาที
แม้ทีเซอร์ของเรื่อง ทำท่าว่าแรงมา ข้าก็จะแรงไป แต่เอาเข้าใจ
เป็นแค่ขู่หลอกๆ เพราะขืนทำเช่นนั้น คุณสมบัติของนางเอกนิยมอาจต้องผิดขนบ
กลายเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ในสังคมคนดูกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งแง่ต่อสูตรสำเร็จเดิมๆ



แม้สุดท้าย ตอนจบจะคล้ายดั่ง กงกรรมกงเกวียน
คือ ไปก่อกรรมใดมา กรรมนั้นย่อมสนองมาเข้าตัวในที่สุด ตามประสา
คนที่มีหัวอกหัวใจ รับรู้อยู่แต่หัวอกเรา ไม่ยอมเอาใส่ใจในหัวอกของเขา
เมื่ออย่างที่ พระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย เคยกล่าว
"สะพานแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้น เป็นที่อาศัยของกรรม
หรือมีกรรมเป็นเครื่องอาศัย (กัมมัสสกตาปัจจัย)
ดังนั้น ไม่ว่าความสบายกาย ความสบายใจ หรือความไม่สบายกาย
ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ อันเป็นผลจากการกระทำ
จึงต้องคืนกลับสู่ผู้เป็นเจ้าของการกระทำนั้นๆ
ซึ่งหากเข้าใจตามที่กล่าวมาโดยสรุป เพื่อยอมรับในกฎความเป็นอยู่จริง (Nature Law)"



เเม้ครั้งหนึ่ง ที่อาจารย์ในเรื่องบอกกับลูกศิษย์ไว้ว่า
"those who bully may just be playing but the ones who are bullied
may be very hurt by it. Please do not ignore it and pretend not to see"
(ถ้าใครคนหนึ่งกระทำตัวเยี่ยงอันตพาล แต่ใครคนหนึ่งเจ็บปวดกับมัน
โปรดอย่าละเลยและแสร้งทำเป็นไม่รู้
บางทีความเลวร้ายที่เกิดขึ้น อาจมิใช่จากการลงมือของผู้กระทำเพียงฝ่ายเดียว
ผู้ที่รับรู้เรื่องราว แล้วทำตัวนิ่งเฉยไม่ยอมยื่นมือเข้าแก้ปัญหา ก็เท่ากับเป็นการกดทับ
ตัวปัญหาเดิมที่นับวันจะเลวร้ายขึ้น เพราะผู้กระทำจะรับรู้แต่ความสุข
ผู้ถูกกระทำจนวนเวียนซ้ำกับความทุกข์ ส่วนผู้ที่รับกับนิ่งเฉย
เพราะไม่ได้ผลรับจากการกระทำ ทั้งในตัวสุขและตัวทุกข์
หรืออาจจะได้สุขจากการไม่ขอรับรู้ และอาจจะทุกข์เพราะแกล้งเป็นไม่รู้ก็เป็นได้
เหมือนกับที่นางเอกพี่เชียร์ ที่แม้จะหลุดกรอบจากความเป็นเหยื่อมาได้
ก็หาได้นิ่งนอนใจ ต่อวัฎจักรแห่งเหยื่อกรรมที่เวียนว่ายแต่อย่างใด
ความเป็นอันธพาล จึงไม่ได้มีความหมายว่าเป็นผู้เเข็งแกร่ง
เพราะความแข็งแกร่ง ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น ฉันก็ไม่อยากเป็น
Hurting People is not what makes you stong . If one calls people like you strong
then I do not ever want to became strong.



ส่วนเพลงได้ชื่อตรงตัว ของนางเอกนานะ นิกะ นากาชิมา ได้ยินมานาน
เพิ่งรู้ว่าประกอบจากซีรีย์เรื่องนี้นี่เอง........






อำนวยข้อมูล จาก

wikidrama








 

Create Date : 10 มกราคม 2553    
Last Update : 16 มกราคม 2553 21:29:36 น.
Counter : 2034 Pageviews.  

Taiyo to Umi no Kyoshitsu ห้องเรียนแห่งหนึ่ง ณ ริมทะเล


เป็นวันที่สองของการดูซีรีย์มาราธอน ในช่วงโอกาสที่มีวันหยุดยาว
เป็นช่วงเวลาเอื้ออาทรแบบสุดๆ ครั้งหนึ่ง ที่พึ่งจะมีอันน้อยนิดในรอบปี
ก่อนที่จะต้องกลับไปมุ่งตะลุยงาน ที่ดองค้างเป็นสิบๆอย่าง แม้ไม่รีบมาก
แต่ก็พร้อมจะถูกทิ้งแทงลงมาจากเบื้องบน เป็นสายเชื่อมสัมพันธ์บางๆ
ที่พอทำให้เบื้องบนกับผู้เขียน มีสิ่งสายเชื่อมสัมพันธ์อะไรบางอย่าง
เพื่อบอกรับความมีตัวตนของผู้เขียน ว่ายังมีอะไรที่เกี่ยวในฐานะส่วนหนึ่งของบริษัทอยู่



เลยต้องหาซีรีย์อะไรสักเรือ่ง ที่ปลอบประโลมจิตใจ
ประมาณว่า เอาเรือ่งที่ห่างไกลจากเรื่องจริงในชีวิต ยิ่งยอ้นเวลากลับไปให้ไกลได้
ยิ่งดี แอบตรวจคลังกรุสมบัติส่วนตัว เพิ่งรู้ว่าส่วนใหญ่จะหนักไปทาง
ดราม่าหนักๆ เรียกน้ำตา หรือไม่ก็รันทด รันจวนใจ ช่างเป็นกรุสมบัติ
ที่ซ้ำเติมชีวิตจิตใจอะไรเช่นนี้
แต่ก็ยังไปพบซีรีย์เรื่องหนึ่ง เป็นซีรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับหน้ารอ้นปี ๒๐๐๘ ที่โน้น
แต่กว่าจะเข้าสยามประเทศ ก็ปาไปหน้าหนาวปลายปี แต่ยังดีหน่อย
ที่หน้าหนาวประเทศนี้ ไม่หนาวอย่างที่คิด แต่ดันร้อนตับแตกได้อย่างเหลือเชือ่
เลยเหมาะสมกับซีรีย์ของค่ายฟูจิในเรือ่งนี้พอดี



กับซีรีย์ที่ชื่อ โตะๆโมะๆเยอะๆ ว่า Taiyo to Umi no Kyoshitsu
Taiyo ที่แปลว่า ดวงอาทิตย์ Umi ที่แปลว่า ทะเล ส่วนเจ้า Kyoshitsu
ที่แปลว่า ห้องรับแขก เมื่อเอามารวมกัน จึงได้ซีรีย์ที่ค่อนข้างถูกจริตกับผู้เขียน
ในเบื้องต้น ในฐานะที่เป็นคนชอบฤดูร้อนเป็นการส่วนตัว ได้รับรู้ถึงแสงแดด
น้ำแข็งใส และท้องทะเล ทำให้การอาบน้ำในตอนเช้า เป็นความรู้สึกที่น่าอภิรมย์
ไม่ต้องถูกบีบบังคับจากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือไปไหนมาไหนแบบที่ต้องแอบด่าในใจ
ว่าทำไมไม่ยอมพกเอาร่มมา!



พูดไป! ถือเป็นคนดูหน้าหนังซีรีย์ โดยอาศัยความเป็นหน้าร้อน
เป็นเครือ่งที่ชี้วัดอย่างหนึ่ง เพราะมันให้ความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ
เป็นบรรยากาศที่ชื่นแจ่มใส ไม่ค่อยรู้สึกจับเจ่าอุดอู้อยู่ในพื้นที่แคบๆของห้อง
หากซีรีย์เรือ่งไหนใจปล้ำหน่อย ก็อาจจะได้เห็นนางเอกหรือสาวๆ ตัวประกอบ
กระโจมอกนุ่งน้อยห่มน้อยตามแต่อรรถยาศัย เป็นเครืองนุ่มห่มที่เหมาะสมต่อฤดูกาล
ที่ผู้บริโภคมิได้บีบบังคับขืนใจแต่อย่างใด เพียงแต่นอ้งๆ เขาอุทิศให้เอง
เรือ่งหน้าร้อนในใจ ที่พอจำได้ ก็มี Water Boy และ Beach Boys ของค่ายฟูจิ
และ Summer Snow ของค่าย TBS จะติหน่อยก็เรือ่งหลัง เพราะอุตสาห์จ้องอาหารตา
อย่างน้องฮิโรสุเอะ ซึ่งน้องก็ไม่ทำให้ผิดหวังหรอก ที่สวมใส่ชุดว่ายน้ำประจำฤดู
แต่ทว่าชุดที่น้องใส่ ดันเป็นชุดประดาน้ำ ปิดมิดตั้งแต่คอจรดปลายเท้า
อันนี้ ที่พี่ทำใจไม่ค่อยได้ต่างหาก



ปกติแล้ว ซีรีย์ชุดหน้าร้อนมักไม่ค่อยทำให้ผิดหวังสำหรับผู้เขียน
แต่กับเรือ่ง Taiyo to Umi no Kyoshitsu ซึ่งผู้เขียนขอเรียกตามตลาดคลองถม ว่า
Homeroom on the Beachside เรียกสั้นๆว่า HOB
ต้องขอบอกว่าทำได้ไม่สาแก่ใจเท่าที่คิด ทั้งๆที่เบือ้งต้น
มีเจตนาอันแน่วแน่ว่า ถือเป็นการได้ตามติดผลงานเก่าๆ
ของคุณน้อง คิตาคาว่า ไคอิโกะ ที่ไปปลื้มจากซีรีย์ Buzzer Beat กับตัวคุณน้อง
โยชิตากะ ยูริโกะ จากซีรีย์เรือ่ง Shiroi Haru หรือ White Spring
ไหนจะได้ตามติดฝีมือไอ้หนุ่ม ฮามาดะ ไกกุ ที่ผมออกจะซูฮกในฐานะตัวประกอบฝีมือดี
แต่จะดีจริง เฉพาะกับซีรีย์เรือ่ง Love Operation รึเปล่า? คงต้องขอพิสูจน์ดู
อีกทั้งยังได้เห็น ดาราประกอบรุ่นเก๋าชนิดที่ค่ายฟูจิ ไม่เสียดายสตงค์สตางค์
เพื่อจ้างเป็นค่าตัว อย่าง ลุงฟูมิโยะ น้าโนริโตะ น้าเทตสึฮิโระ และป้ามิชิโกะ
ไหนจะยังระดม นักแสดงวัยรุ่นหน้าใหม่ ที่ชิมลางในวงการในเบื้องต้นให้เด็กมัธยมกรี๊ด
มาเเล้ว อย่าง หนุ่มหล่อมาสากิ น้องหนูไคอิ ไอ้หนูหน้าทอมซาโตชิ หรือ ไอ้หนุ่ม
หน้าประหลาดอย่างเจ้ายูซูเกะ
เรียกว่า งานนี้ขายกันเป็นเข่ง เทกันเป็นกระจาด แต่ใช่ว่าผู้เขียน
จะหลงปลื้มแต่บรรดาเหล่านักแสดง จนหลงเหลือซึ่งเนื้อหาหลักและวิธีการเล่าเรื่อง
ซึ่งผู้เขียนศรัทธาอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นที่สุด จนทำให้เข็ดขยาดกับการรับเล่นซีรีย์
ของดาราบางคน ที่ไม่ค่อยจะถูกโฉลกกับการชม ซึ่งมาครั้งนี้ก็มีน้าสาวมิชิโกะ
ติดโผอีกในวาระหนึ่ง แต่ยังดีหน่อย ที่เที่ยวนี้ยังพอให้อภัย เพราะยังมีส่วนที่ดีๆ
มาทดแทนในอัตราส่วนของข้อเสียข้อด้อย แม้ไม่ประทับใจแต่ใช่จะดูไม่จบตอนโดยปริยาย



เอาตากวาดเนือ้หาอย่างคร่าวๆ ก็เชือ่ไปว่า เรามาถูกทางแล้ว
เพราะเป็นเรือ่งที่ว่าด้วย นักเรียนประจำชั้นกลุ่มหนึ่ง และตามสูตรเสมอที่จะต้องเป็น
ชั้นมัธยมปลายปีสุดท้าย เพื่อกำหนดเป้าหมายในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ซึ่งซีรีย์ลักษณะนี้
ผู้สร้างถือเป็นวาระของทางสถานี ที่จะต้องตอบโจทย์ทางสังคม ของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง
เหมือนเป็นการตอบแทบภาษีให้กับลูกหลาน กำนันความมีอุปการะของท่านผู้ชม
ซึ่งเป็นผู้ที่มีลูกหลานในวัยที่จะเตรียมพร้อม ที่จะเลือกทางชีวิต ว่าจะไปหนทางอื่นใด
(ในขณะที่ผู้เขียน ยังจดจำได้ดีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่อาจารย์แนะแนว
ให้เลือกเส้นทางตามค่าคะแนนเฉลี่ยของการสอบเอ็นท์สะท้าน ซึ่งเสียใจจนถึงทุกวันนี้)
โรงเรียนในเรือ่ง ก็สมมติขึ้นเป็นโรงเรียนเอกชนในเขตโชนัน
เขตนี้เขาขึ้นชื่อเรือ่งที่พักตากอากาศริมทะเลมาเนินนานแล้ว จึงเป็นบรรยากาศที่ถ้าผู้เขียน
ยังอยู่ช่วงวัยนั้น จะเป็นอะไรที่น่าโดดเรียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการโดดยกกำลังสอง
คือ โดดทั้งเรียน เพื่อไป โดดกระโจนลงน้ำที่ริมทะเล ตามประสาเด็กแนวที่ครั้งหนึ่ง
นิยมโดดเรียนเพื่อไปเที่ยวห้าง จึงไม่เคยมีทะเลในฐานะเป็นสิ่งที่สร้างแรงจูงใจ



และเพราะความที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แหละ จึงทำให้เด็กเหล่านั้น
ค้นหาความหมายในอนาคตที่ตัวเองอยากจะเป็น ไม่เจอ นอกเสียจากทำตามกฎเกณฑ์
ที่ทางโรงเรียนเป็นผู้ตั้ง ซึ่งทางโรงเรียนไม่สิ ต้องเรียกว่าคณะกรรมการโรงเรียน
ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาอาจารย์ ที่อิงทรรศนะตามอย่างท่านผู้อำนายการโรงเรียน
หรือ ที่เด็กชอบล้อว่า ผ.อ. ที่ย่อมาจาก ผัวอ้อย
อันเป็นกลยุทธไต่เต้าทางหน้าที่การงาน ที่ใช้ลิ้นสัมผัสหน้าแข้ง
มากกว่าเจตจำนงค์หลักในอาชีพของการเป็นครู จนกระทั่งเมื่อมีครูเข้าใหม่
เป็นครูที่มีประวัติลับลมคมใน เป็นที่น่าสงสัยยิ่งทั้งเหล่าบรรดาครูและนักเรียนประจำชั้น
แค่บทปฐมฤกษ์เปิดตัว ก็เล่นโผล่มาจากท้องทะเล เข้าช่วยเหลือเด็กที่กำลังจมน้ำ
สร้างภาพวีรชนผู้กอบกู้ช่วยเหลือชีวิตเด็กตาดำที่กำลังจะจมทะเล แล้วต่อจากนั้นที่เหลือ
จะไม่ให้สงสัยได้อย่างไรว่า จะไม่เข้ามาช่วยกู้วิกฤตชีวิตนักเรียนนิสิตนักศึกษา
ที่กำลังจมปลักในปัญหาชีวิต ด้วยทัศนะคติทางค่านิยมที่มุ่งให้เด็กในสังกัด
สอบเข้ามหาลัยชั้นนำ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาแก่ชื่อเสียงของสถาบัน โดยไม่สนใจว่า
แท้ที่จริงแล้ว เขาอยากจะเป็นอย่างที่ทางโรงเรียนตั้งใจไว้รึไม่ ก็ตาม



ถือเป็นซีรีย์มัธยมปลายศึกษา ที่ไม่พลิกสูตรสำเร็จแต่อย่างใด
ทั้งโดยฐานะและชื่อชั้นเข้าด้วยแล้ว ถือว่าได้แม่เหล็กเรียกแขกจากตลาดกลุ่มคนดู
อย่างน้อยก็สองกลุ่ม คือ กลุ่มเยาวชน กับ กลุ่มวัยทำงาน
เหตุที่เหมารวมกลุ่มคนทำงาน ก็เพราะเผลอร่วมตัวเอง ในฐานะที่ต้องลุกขึ้นสู้ทำงาน
แบกหามมานานหลายปี เป็นกลุ่มคนอายุที่พอร่วมสมัยได้เคยติดตามงานของพระเอกในเรือ่ง
ที่ชื่อ โอดะ ยูจิ เพราะเคยได้ชมซีรีย์ Tokyo Love Story ที่เล่นเป็นนายเคนจิ ในต้นปี ๙๐
และได้ดู Last Christmas แบบไม่จบตอน ซึ่งถือว่าทิ้งช่วงห่างทางผลงานเป็นสิบปี
มาเรือ่ง HOB เป็นการรับบทพระเอกผู้เป็นครู อย่าง ซากุระ ซากุตาโระ แบบที่ผู้เขียน
ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน ประมาณว่า กะจะติดตามงานของแม่สาวสองคนข้างต้น
โดยไม่สนอะไรที่เป็นเฮียแกเอาสักเลย ก็บอกตรงๆกันไปเลย ว่าเคารพในบุคคลิกที่แกเล่น
แต่ไม่ปลื้มที่แกเป็น ส่วนอันนี้เป็นอย่างไร เดี๋ยวค่อยสรุปว่ากัน



ส่วนบรรดาเหล่านักเรียน ผู้เขียนถือว่าทั้งหมดสอบผ่านเอาตัวรอดไปได้
สามารถที่จะเจิดจรัส เข้าสู่วงการ ตามประสาผู้ใหญ่ใจดีชอบแจกคะแนนเด็กๆ
เพราะความที่เป็นดราม่าวัยการศึกษา เล่นได้ปานนี้ ไหนจะมีซีนให้ต้องประชันฝีมือเพื่อแจ้งเกิด
นักแสดงเกือบทั้งหมด แสดงได้เป็นธรรมชาติสมวัย รักษาระดับของคาเเรกเตอร์อย่างพองาม
อย่างน้อย ก็ไม่มีลูกโอเวอร์แอคติ้งแบบสมัยนิยม
และบางคนผู้เขียนก็หลงรักแบบไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะ น้อง คิตาโนะ ไคอิ
ที่เล่นเป็น "ไรกุ" คนนี้ผู้เขียนแจกแต้มในฐานะบทเด่นของเรื่อง
มาได้คะแนนจิตพิสัยอีกครั้ง ในตอนที่ใส่ชุดวอลเลย์บอลชายหาดสีฟ้าแบบโชว์สะดือ
จนความขาวของพื้นทราย ยังไม่สะกดสายตาเท่าผิดมอสเจอไรเซอร์ของคุณน้อง
จนทำให้คุณพี่ จำต้องไล่งานชิ้นก่อนหน้า อย่างซีรีย์เรือง Life ที่ผู้วิจารณ์ส่วนใหญ่
ให้คะแนนดี๊ดี แต่มาตอนแรก เพื่อนคุณน้องก็มาอัตวินิบากกรรมเสียแล้ว
ดูท่าจะเป็นงานหนักในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ เป็นแน่แท้



ส่วนนักแสดงวัยรุ่นอื่นๆ ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะใน HOB
มีการกระจายซีน ให้นักแสดงวัยรุ่นคนอื่นๆ อย่างทั่วถึง แบบที่ครั้งหนึ่ง
ในซีรีย์ Beach Boys เคยทำมาอย่างไร ใน HOB ก็ทำในประมาณนั้น เผลอๆแล้ว
ยังมีส่วนผสมแบบในครู GTO คือ นักเรียนไม่ให้ความเชื่อมั่นในบุคคลิกของตัวซากุราอิ
ว่าจะเป็นครูที่ดีได้ ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อในแบบแผนของความเป็นครู
ที่มีรูปแบบที่ยึดโยงอย่างเข้มงวด ตามแบบฉบับของสถาบันการศึกษาที่สังกัด
ส่วนอีกข้อ คือ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่นักเรียนม.ปลายทุกคน ถูกสังคมตั้งเป้าหมาย
สูงสุดของชีวิต โดยฝากไว้กับการสอบเข้ามหาลัย
อาจารย์ซากุราอิ ไม่ได้ตอบโจทย์ในจุดนี้ กับให้มองสิ่งอื่นรอบตัว
ว่ามีความสำคัญกว่าในช่วงชีวิตวัยเรียน หาใช่การสอบเข้ามหาลัยอย่างที่คิดหวัง
ทำไมเราสามารถเรียนไปโดยเลี้ยงหลานอีกสองคนโดยไม่เสียการเรียนได้ แทนที่จะส่งให้
สังคมสงเคราะห์เป็นผู้รับเลี้ยง ทำไมเราจะต้องเล่นเปียโน แทนที่ในใจเราอยากลงแข่ง
วอลเลย์บอลชายหาดใจจะขาด ทำไมเรายังต้องท่องจำเพื่อใช้ในการสอบ
ทั้งๆที่เซิรฟกูเกิ้ล ก็มีคำตอบให้เสร็จสรรพ แต่อาจไม่ประทับใจ เป็นต้น
แน่นอนว่าอาจารย์ซากุราอิ แม้ไม่มีผลกระทบต่อความคิดของเด็ก
แต่เห็นด้วยในฐานะของเสียงข้างน้อย ที่จะให้เด็กเลือกในเส้นทางของตัวเอง
แม้จะต้องยอมรับต่อเสียงข้างมากของเหล่าบรรดากรรมการโรงเรียน ที่คิดเห็นต่างกับ
เหล่าบรรดานักเรียนเสมอ แต่นั้นก็เป็นราคาที่ทำให้นักเรียนที่เคยตั้งการ์ดกับอาจารย์มาตั้งแต่ต้น
เข้าหาอาจารย์ซากุราอิเป็นอันดับแรก ในยามที่เขาเหล่านั้นมีปัญหา แม้จะไม่เชื่อว่า
อาจารย์จะเข้าใจดีไปกว่าเพื่อนของพวกเขา แต่อาจารย์ก็เป็นคนที่ยอมรับฟังทุกเรือ่ง
ทั้งเรืองความรักที่เกินเพื่อน ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ปัญหาการทำงาน ฆ่าตัวตายหรือตามหา UFO
แม้แต่ให้ขยายความในสำนวนในป้ายโฆษณา อาจารย์ซากุราอิก็ยังแปลให้อย่างใจเย็น



ส่วนนักแสดงรุ่นเดอะ ผู้เขียนมองว่าเป็นการเสียของเป็นอย่างยิ่ง
เพราะนักแสดงกลุ่มนี้ เป็นการเล่นแบบตีกิน เพราะเป็นบทที่ขาดมิติของตัวละคร
อันนี้โดยเทียบกับผลงานในชิ้นก่อนๆ ที่พวกเขาเคยแสดงฝีมือด้วยกันมา
ไม่เว้น แม้แต่ ผ.อ.โรงเรียน ยุโนะสุเกะ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของเรื่อง ก็เล่นบทได้หน้าตา
อย่างไร้อารมณ์ ถือเป็นการเล่นแบบเสมอตัว ไม่เกิดอาการหลงรักแบบนอนฝันดี
แต่ก็ไม่เกลียดแบบนอนฝันร้าย เป็นการเล่นที่ไม่สร้างความทรงจำร่วมแต่ประการใด
ส่วนน้องเคอิโกะ ผู้ช่วยในการประเมินผลการสอนของอาจารย์ซากุราอิ
ก็เป็นบทที่เรียบเฉย แม้จะแสดงอารมณ์ความสามารถในบางช่วง อย่างตอนช่วยชีวิต
นักเรียนบนเรือ ก็ไม่ได้เป็นบทที่ประจักษ์ในฝีมือที่แท้จริง เพราะอย่างงี้ละมั้ง
เจ๊แกจึงมาระบายแบบโรมรันพันตูใน Buzzer Beat จนต้องหลงเจ๊
แบบรอยย้อนมังกร ไม่เว้นแม้แต่ใน Fast & Furious ภาคสาม ก็ยังไปตามหาเช่ามาดู
ก็เห็นเจ๊ทำตัวโหย๋ๆ เป็นเด็กแหว๋นไม่แหล๋งอังกฤษสักคำ หากไม่บอกว่าเคยเล่น
ก็เป็นบทที่แทบคนลืม อย่างว่าแต่น้องเลย แม้พระเอกของเรือ่งน้อยคนที่จะจำได้




มาว่ากันเรือ่ง ทัศนะเชิงลบของผู้เขียนกันดีกว่า
เป็นการตั้งแง่ในฐานะของผู้คาดหวังกับซีรีย์เรือ่งนี้ค่อนข้างเยอะ
ทั้งองค์ประกอบของเรือ่ง ชื่อชั้นนักแสดง และฝีมือของค่ายฟูจิในซีรีย์หน้าร้อน
ที่น้อยเรือ่งจะทำได้น่าผิดหวัง แต่กระนั้น HOB ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีในตอนแรก
จากนั้นคะแนนที่เหลือ ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป ทั้งหมดนี้หาได้ด้วยพล็อตเรือ่งที่อ่อน
แต่เกิดจากความพยายามของผู้กำกับ ที่จะเค้นเรียกอารมณ์จากคนดูจนเกินไป
และไม่ใช่เค้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ยังเค้นในหลายช่วง ช่วงทีละนานๆ
พออารมณ์ร่วมในจุดพี้คนั้นไม่ได้แล้ว มันเลยกลายเป็นการข่มขืมที่ขมขืน
ทำให้ความแข็งแรงของเนือ้เรือ่งที่เป็นแนวดรามา กลายเป็นเรือ่งหลอกๆที่ไร้น้ำหนัก
พอจะตั้งใจใส่คติแง่คิดให้กับตัวละคร ที่ได้กระทำในสิ่งที่ผิดพลาด
มันเลยเป็นการตั้งเทศนา ที่คนดูอย่างผมปฏิเสธที่จะรับคำสอนในจุดนั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อันนี้ไม่กล่าวโทษ ผู้เขียนบท อย่าง มากาโมโต ยูจิ
แม้ครั้งหนึ่ง เขาจะเคยบทให้นายยูตะ เล่นเป็นพระเอกใน Last Christmas
ที่ผู้เขียนดูไม่จบเช่นกัน แต่ในเรือ่ง ไซอิ้วฉบับญี่ปุ่น และ Remote ก็เป็นงานเด็กแนว
ที่ผู้เขียนหรรษาอยู่ไม่น้อย บทก็เขียนให้นักแสดงที่เป็นนักเรียนทุกคน
มีมโนสำนึกเป็นของตัว มีความตื้นลึกหนาบาง ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่ขึ้นมาชี้นิ้วบ่งการได้โดยง่าย
จะโทษก็ต้องผู้กำกับ ที่ไม่รู้จะเค้นอะไรหนักหนา เห็นผู้ชมเป็นน้ำผลไม้รึไง?
โดยเฉพาะผู้กำกับในช่วงครึ่งแรก ทั้งลุงเซตสุโระ และ ลุงโยชิโนริ
ดีว่า..........ผู้เขียนมีฉันทะตั้งใจในเบื้องต้น และยังมีตีติกขาขันติ (ความอดกลั้นเป็นเบื้องต้น)
ก็ฝืนทนดูมันมา แบบอ่อนล้ากันทุกตอน ได้น้องหน้าใสกับความเข้มข้นในตอนที่ห้า
เลยกระปี้กระเป่าในตอนกลางเรือ่ง แต่ท้ายสุดก็ดันมีลูกเค้น ซึ่งก็ไม่หนักเท่าช่วงแรก
เพราะความเค้นในช่วงท้าย เป็นความเค้นในส่วนที่จำเป็น แม้กับผู้เขียนจะเค้นไม่ขึ้น
จนออกรู้ลำบากให้ต้อง กดผ่านเพื่อดูให้จบในตอนต่อไป



อีกทั้ง ลักษณะการแสดงของนายยูจิ พระเอกครูในเรื่อง
เป็นลักษณะการแสดงที่ดี แต่ตกยุคตกสมัยไปพอสมควร โดยเฉพาะบททีเล่นทีจริง
ที่ดูจะเป็นการแสดงอย่างเห็นได้ชัด ผิดกับครั้งที่เคยประทับใน Long Love Letter
ที่ดูจะเป็นจริงยิ่งกว่า อันนี้อาจเป็นการแสดงที่ติดตาก็ว่าได้ แต่ต้องขอบอกว่า
นายยูจิเป็นนักแสดงที่จำกัดวงการแสดงของตัวเองได้ไม่กี่คาแรกเตอร์
อันนี้ ไม่อยากเอารางวี่รางวัลเป็นตัวตัดสิน แต่มีคนกล่าวว่างานที่ดีที่สุดของแก
จากหนังเรือ่ง T.R.Y ในปี ๐๓ ที่ทำให้แกได้รับรางวัล J. A. A ในฐานะนักแสดงชาย
แต่ใช่ว่า ในเรื่องแกจะไม่ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เพราะบทที่แลดูจริงจัง ก็ถือว่า
เป็นบทที่ใครจะไม่อยากอยู่ใกล้ เพราะกลัวจะไปผิดใจกับแก เพราะในบท
ภูมิหลังของแก เคยไปเป็นทหารให้กับกองกำลังสหประชาชาติ ที่แอฟริกา
ไม่ใช่ทหารเกณฑ์ขึ้หมูขี้หมา แต่เป็นนักศึกษาที่จบจากมหาลัยขึ้นชื่อโตเกียว
แล้วไปต่อที่มหาลัยสแตนฟอร์ต แต่มาจี๊ดดลใจให้เป็นครู
เพียงแต่ครั้งหนึ่ง ไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กท้องถิ่นวัยเพียงสิบแปดปีได้
แล้วไปเจอ นักท่องเที่ยวอายุไล่เลี่ยที่เป็นชาวญี่ปุ่น เที่ยวถ่ายกล้องจากโทรศัพท์มือถือ
ไปอวดคนที่บ้าน เฮียแกเลยรับไม่ได้ เห็นทีต้องตีตั๋วกลับ
มาอบรมสั่งสอนเยาวชนของประเทศ อย่าทำตัวขายขี้หน้าประเทศโลกที่สาม
ผลกรรมทั้งหมดทั้งหมดจึงมาลงเอยที่โรงเรียนเอกชนแห่งนี้



ความจริงแล้ว ในซีรีย์เรือ่งนี้ ทิ้งคำพรั่งพรูในโวหารคมๆ ไว้มากมาย
ซากุราอิจึงเป็นครูที่พูดน้อย แต่เมื่อให้พูดในแต่ละที ก็ยาวจนไม่มีใครจะหยุดแกอยู่เช่นกัน
ข้อดีจุดหนึ่ง คงเป็นช่วงที่แกพร่ำสอนลูกศิษย์ มีความคิดเห็นเป็นตัวของตัวเอง
แม้จะมีการนำเอาเรือ่งเล่า ครั้งไปทหารที่เเอฟริกามาเล่าอยู่บ่อยๆ
บางเรือ่งก็ฟังแลดูตลก แต่บางเรือ่งก็แสนจี๊ดใจ ตามประสาคนกินอิ่มนอนสบาย
ความที่เหล่าบรรดาเด็กนักเรียน ไม่ปีกกล้าก๋ากั่นลิงทะโมน เหมือนกับเหล่าบรรดา
เด็กแสบในซีรีย์เรือ่ง GTO หรือ เด็กกุ๊ยดิบๆ อย่างใน Rookie หรือการ์ตูนหลุดโลก
อย่าง Gokusen ตรงกันข้ามนักเรียนในซีรีย์เรือ่งนี้ มีระเบียบเรียบร้อย
ผ้าที่เรียบปานพับไว้ บางทีอาจจะต้องรื้อจากตู้เพื่อนำคลี่พับใหม่อีกครั้ง
หามาเจอกับเด็กนักเรียนของห้องคุณครูซากูราอิ ซึ่งถ้ามองแบบหยาบๆ
ก็ถือเป็นนักเรียนตัวอย่าง ที่โรงเรียนอื่นสมควรจะเลียนแบบ และสมควรมาดูงาน
แม้จะไม่ได้มุ่งมาเรียนรู้เพื่อศึกษาว่าพวกเขาเหล่านั้นมีคุณสมบัติของนักเรียนที่ดีเพียงไร
แต่เพียงแค่ ได้เห็นหน้าหล่อๆสวยๆ ของนักเรียนห้องนี้ แถมครูสาวก็ใช่ย่อย
งานระดับเทพีสงกรานต์ นักเรียนคนไหนบ้างละ ที่ไม่อยากดู
ทว่า ลึกๆในจิตใจแล้ว พวกเขาละเลยกับชีวิตที่สนุกสนานของการเป็นเด็กมัธยมปลาย
ไม่อาจตอบโจทย์ในคุณค่าของตัวเอง บ่อยให้ปัญหามาระดมสุมในจิตใจโดยขาดผู้ใหญ่
ที่ให้คำปรึกษาที่ดี แม้แต่ครูและลูกศิษย์ต่างก็ตกอยู่ในโลกที่ตัวเองสร้าง
แม้แต่ผอ. โรงเรียน ก็จำนักเรียนคนไหนเลยไม่ได้ นอกจากหน้าตากับรหัสทะเบียน




แต่ข้อดีที่สุดของซีรีย์เรือ่งนี้ ผู้เขียนคิดว่า เป็นการเลือกโลเกชั่น
เพราะทีมงานช่างคว้านหาสถานที่ที่เป็นโรงเรียนติดริมทะเล
ตามคอนเซปต์ของซีรีย์อย่างสาสม เป็นบรรยากาศของโรงเรียนที่ แม้วันหยุดเสาร์อาทิตย์
ก็ยังอยากจะเผลอเพื่อมาเรียนพิเศษ อยากแกล้งสอบตกเพื่อจะได้ซ้ำชั้น
จะได้เรียนที่โรงเรียนนี้อีกปี อยากกลับไปใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย
กับกลุ่มก๊วนเพื่อนชุดนี้ ภายใต้การปกครองของครูซากุราอิ ถึงแม้ว่า
ซีรีย์ชุดนี้ จะไม่ได้ทำให้เหล่าบรรดานักเรียนพร่ำโศกาต่อความดีของตัวอาจารย์
แบบที่เห็นในซีรีย์ครูกับศิษย์เรือ่งอื่นๆ ที่ไม่รู้จะแหกปากอาลัยเรียกชื่ออาจารย์ไปถึงไหน
รู้ไหม?มันไม่สุภาพ แต่เรือ่งนี้นักเรียนเขารับรู้ และเก็บเอาไว้ในใจอมยิ้มแบบรู้กันเอาเอง
จะแสดงออกมากหน่อย ก็แค่ให้ความสนิทสนมมากกว่าครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียน
เออ! ตรงจุดนี้ก็แปลก สามารถเอามาเค้นได้ ก็ไม่ยอมเค้น ส่วนที่ไม่น่าเค้น
ก็เค้นเสียสุดกำลัง แถมยังมีการกระชากอารมณ์ โดยกำหนดให้สมาชิกท่านหนึ่ง
ต้องเสียชีวิต ซึ่งก็ไม่พ้นในเรือ่งทะเล เป็นการใช้ทรัพยากรทางน้ำที่คุ้มค่า
เรียกว่า คนธาตุน้ำน่าจะถูกโฉลกกับซีรีย์เรือ่งนี้ เพราะงานนี้ทีมงานเขาเล่นกันเป็นแกลลอน
ไหนจะน้ำในทะเล พาไปโอเชียลเวริลด์ แข่งวอลเลย์ชาดหาด นัดสวีทริมสระน้ำ แบกเปียโนเล่นริมผาฝั่งทะเล
(แบกไปทำไม?) ไหนจะเค้นน้ำตาไหลเป็นสายน้ำ ยามที่เข้าฉากโศกา แม้แต่เข้าร้าน
ก็ยังเลือกร้านที่มีเครื่องดื่มสารพัด จะแห้งแล้งอยู่บ้าง ก็ต้องที่พระเอกเขาเล่าเรือ่งความหลัง
อย่างว่า แอฟริกาแล้วฉากหลังแลดูชุ่มช้ำ เกรงจะไม่สะท้อนความยากลำบาก
แต่ทว่าสูตรอย่างนี้ไม่เเปลก เพราะซีรีย์หลายๆเรือ่งก็เคยทำกันมา
เพียงแต่เรือ่งนี้สุ่มเสี่ยงมากหน่อย ด้วยเลือกตัวละครที่สำคัญในใจผู้ชมเสียด้วยสิ
แต่แอบดูเรตติ้งตอนนั้นแล้ว ก็ช่วยให้เขยิบให้คนติดตามแค่นิดหน่อยเอง



1% of your hard word is only used to get that treasure.
After 99 % of useless work. There is a treasure to be found.
All that useless work was not useless.
ดังนั้น การยลซีรีย์เรือ่งนี้ อาจจะเสียเวลาเปล่าแต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีประโยชน์
ในวันข้างหน้า เป็นคำสอนของอาจารย์ซากุราอิ ที่เหมือนด่าผู้เขียนขณะที่ชมไปในตัว
เป็นซีรีย์ที่ไม่อยากเชื่อว่า เรตติ้งกลางๆ ทั้งๆไปฉายในช่วงเวลาดีตอนวันจันทร์
ทั้งๆชื่อชั้น เรียกคนดูกลุ่มวัยรุ่นได้ไม่ยาก โดยอยู่ที่ระดับสิบกว่า และมีเรือ่งตลกเรือ่ง
เรตติ้งนิดนึง ในข้อถกเถียงของตอนที่เจ็ด เพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
คือ มีการคั่นเวลาเพื่อประกาศลาออกจากความเป็นนายก ของยุกุดะ ยาสุโอะ
เลยมีผลพ่วงการกวัดแกว่งของเรตติ้ง ซึ่งจริงๆแล้ว ก็มิใช่สาระสำคัญอะไร
เหตุแต่อยู่ที่ความพึงพอใจ ของท่านผู้ดูเป็นหลัก
ซีรีย์นี้ยังชื่นฉ่ำ ด้วยการระดมสรรพกำลังทางน้ำ ในหลายกรณีซึ่งผู้เป็นโรคกลัวน้ำควรหลีกเลี่ยง
เพียงแต่ขออิงไว้นิดหน่อย เพื่อแสดงว่าคนประเทศก็คงมีปัญหาไม่ต่างจากผู้เขียน
ว่าทำได้ไม่สุด อย่างที่คาดหวังไว้
นอกนั้นยังไม่พอ HOB ยังมีแขกไปใครมาอีกเพียบ ในฐานะแขกรับเชิญ
ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่หวั่นไม่ไหว ได้แต่เพียง เอ๊! คนนั้น คุ้นคนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่
ก็เป็นผู้ชาย ไม่ก็หญิงชราเล่นเป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่น่าจดจำสำหรับตัวผู้เขียน
เป็นซีรีย์ที่เพียงชี้แนะ ให้เห็นคุณค่าของสถานะในวัยนักเรียนมัธยมปลาย
ที่เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะเรียกกลับมาได้อีกครั้ง มีเพียงแต่ปัจจุบัน
ที่ความฝันร่วมของเยาวชนผู้ก้าวผ่าน สู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ แม้จะต้องเรียนรู้บางสิ่งที่
สาหัสสากรรจ์นักก็ตาม และความสาหัสสากรรจ์นั้นก็คือ ความจริงที่ต้องรับรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เหมือนครั้งหนึ่งที่อซากุราอิ รู้ถึงคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์ แม้ความสำเร็จทางการศึกษา
จะเป็นเพียงเศษเสี่ยวหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง

When children become adults. They can use their knowledge to find out the truth.



ข้อมูลจาก
wikipedia and wiki.d-addicts.com........










 

Create Date : 03 มกราคม 2553    
Last Update : 3 มกราคม 2553 21:28:41 น.
Counter : 4988 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.