A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Flowershop Without Roses กุหลาบมีขาย แต่ร้านนี้ไม่มีให้


เหตุผลตลกๆ ที่ไม่น่าจะตลกได้ลง จากเหตุผลของการเลิกราที่แสนจะสุดฮิต

"เธอดีเกินไป"

อาการของคนดีๆ ที่ไม่มีที่ยืน จนมักมีคำแซวประเภทหยอกล้อ ออกจะประชดประชัน
ในหมู่มิตรสหาย ไปว่า ..............................


"เออ ถ้ารู้ว่าEนังนั่น ชอบผู้ชายเลวๆ เสียสักตั้งแต่ ก็จะไม่หลงสร้างภาพเสียเนิ่นนาน
จะตบจูบๆ แบบละครไทยหลังข่าว ทำตัวกักขฬะ นัดเดทหนแรกจะเดินไปถมน้ำลายไป
เรี่ยราดตลอดทาง ครากถุยๆ"





สาบานได้ว่า ประโยคนี้ไม่ได้คิดเอง แต่ได้ยินมาจากหูในฐานะเพื่อนเจ้าทุกข์
ผู้ถูกโจทย์แห่งความรักปู้ยี้ปู้ยำจากประโยคสุดฮิตดังกล่าว และเคยฟังสิ่งแสลงหูปนฮา
จากมุขทอลก์โชว์ของโน๊ต อุดม ในเดี่ยวไมโครโฟน ชนิดที่แม้จะเป็นคนรักในความดี
แต่ก็ต้องคอยบั้นยะบั้นยังลิมิตความดี ไม่ให้ออกไปชนิดล้นเกิน ให้พอสมเหตุสมผลที่จะเลิกลา
จึงต้องมีระดับความเลว เพื่อรักษาสถานภาพความสัมพันธ์แบบไม้เท้ายอดทอง-กระบองยอดเพชร
ดังนั้นจะเห็นผมในด้านเลวเสียบ้าง ก็ไม่น่าเเปลกอะไร..........
เป็นคนดี คงไม่มี "ขุนแผน" ให้ได้กล่าวขานจนถึงปัจจุบันนี้ ที่กาลหนึ่งนานมาแล้ว
ขุนแผนครองรักกับนางวันทอง ส่วนขุนช้างกินแห้ว เรื่องก็เอวังโดยประการละฉะนี้
เฮ้ย! แล้วมันจะสนุกพอให้ติดตามตรงไหนกันหว่า?



แต่แล้วความคิดผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อได้ดูซีรีย์ญี่ปุ่น เรื่อง............

Flower Shop Without Roses



ละครที่ฉายที่แดนปลาดิบในปีที่แล้ว และเห็นว่า
มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องหนึ่ง ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาครอบครองเรียบร้อย
แต่มีของดีกับไม่ปล่อยของ กับเก็บเอาไว้ซะงั้น
ขณะที่เสียงกล่าวขวัญทางหน้าอินเตอร์เน๊ตต่างชมนักชมหนากันในทางบวก
ถ้าถามว่า............เป็นละครในแนวใด ก็ต้องถือว่าออกไปทาง Romantic เชิง Positive
ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเต็มไปด้วยสังคม Multi-Negative
แค่ชื่อเรื่องก็น่าสนใจสักแล้วพี่น้อง ร้านดอกไม้อะไร..............ดันไม่ขายกุหลาบ
ก็ไม่ต่างกับเข้าไปร้านหมั่นโถว แล้วไม่มีซาลาเปา
ศัพท์การตลาด เขาต้องเรียกว่า ขาด Main Product
ยิ่งถ้าเข้าหน้าวาเลนไทน์ ยิ่งต้องบอกว่า "ตายยังเขียด"
ร้านดอกไม้แบบนี้ ถ้าให้มีในประเทศไทย คงต้องไปตั้งขายอยู่หน้าวัด
ที่เน้นไปทางจำพวก ไม่พวกดอกบัว ก็ต้องพวกดอกไม้จัน ................ มันถึงจะอยู่รอด!!!!
เพราะไอ้ตอนแรกผมก็คิดไปว่า คงเป็นการตั้งชื่อเพื่อเล่นสำบัดสำนวน
ปรากฎว่าในเรื่อง มันเอาจริงแฮะ! เปิดร้านดอกไม้ใกล้สถานีรถไฟ
มีดอกไม้นานาพันธ์ แต่พันธ์ที่ไม่มี คือ "เจ้าดอกกุหลาบ"
ผลที่ไม่มี เพราะมีเหตุของมัน
ช่วยกันคิดสิ? ติ๊กต๊อกๆ กุหลาบแทนสัญลักษณ์อะไร? บอกใบ้ให้ก็ได้
เนืองจากเจ้าของร้านพ่อม่ายลูกติด "ชิโอมิ ชิอิจิ" (รับบทโดยชินโงะ แห่งวง SMAP)
หลังจากที่ศรีภรรยาเสียชีวิตจากการคลอดบุตรีอันแสนน่ารักที่ชื่อ ดญ. ชิโอมิ ชิสุกะ
(รับบทโดย ดญ.ยากิ ยุกิ) พ่อคนนี้ก็ไม่เคยมีความรักครั้งใหม่ ให้บุตรสาวได้ระแคะระคาย
จนเกิดความกังวลใจ ว่าตนเองนั่นเป็นสาเหตุให้แม่ต้องตายและทำให้พ่อไม่ยอมเปิดใจพบรักใหม่
จนต้องเอาหน้ากากคลุมหัว (ที่ออกไปแนวคล้ายจะเอาถงกระดาษมาครอบหัว)
ซึ่งกว่าคุณลูกจะถอดหน้ากากให้ท่านผู้ชมได้เห็นหน้าเห็นตากันจริงๆ
ก็แทบจะจบตอนแรกในอีกไม่กี่นาที
จากนั้นละครก็ไหลไปตามเรื่องตามราว ไปผูกกับตัวละครต่างๆ อีกมากมาย
จากเรื่องที่ดูเรียบง่าย ก็ค่อยๆดูที่จะซับซ้อน-ซ่อนเงื่อน-เพื่อนหักหลัง (จริงๆนะ ไม่ได้สำนวน)
โดยไปผูกพันกับปฐมบทในต้นเรื่อง เริ่มจากม้วนวีดีโอที่อัดไว้ก่อนแม่ของชิสุกะจะเสียชีวิต
พูดพร่ำไปตามประสาแม่เห่อลูกคนแรก (ทั้งๆที่ตูกำลังดูดีวีดี ภาพคมชัดกับต้องมาทนรำคาญจาก
ภาพของตลับวีดีโอ) ละครก็ทำให้เราชวนคิดปะติดปะต่อ โน่น-นี้-นั่น ในเรือ่งราวต่อไป
แต่ประทานโทษ! ไม่ตรงตามใจท่านผู้ชมหรอกครับ เพราะมันไถลไปไกลกว่าที่ท่านคิดๆเอาไว้



กองทัพนับแสนพล อาวุธที่คนๆเดียวจะชนะ นั่นคือ "ใจ"
ไม่ต้องถึงกับทิ่มแทงเป็นแสนครั้ง ซื้อใจเขาได้ เท่ากับการ "ชนะใจ"
ส่วนการซื้อใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ "ซื้อใจ" แล้วยังได้ "ตังค์ทอน"
ละครเรื่องนี้เข้าทางประโยคที่ผมว่าไว้ เป้กเลย!
ต้องยอมรับว่าพี่ ชินโงะแห่งวง SMAP ตีบทหนุ่มซื่อกึ่งๆเซ่อ ได้แนบเนียบเอามากม๊าก
ปานว่าบทนี้ถูกสร้างประทานให้พี่แกได้เล่นผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว
บทที่บริหารสมองให้ทำงานได้น้อยลง แต่ปรับมาใช้กับพลังทางสีหน้า
แววตาและความรู้สึกเก็บงำไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียว ตามสไตล์พระเอกมิวสิกวีดีโอชัดๆ
ละครเขาวางพล็อกเรื่องเชื่อมโยงกันโดยตลอด ความจริงเล่าให้สปอยด์ก็ได้
มันเรี่มจาก "ศึกสงครามความแค้น" ของพ่อตาชิอิจิที่เป็นถึงผู้บริหารโรงพยาบาล
ฐานะออกจะร่ำรวย แต่ไม่ยอมรับบุตรเขยชิอิจิคนนี้ เพราะลูกสาวตัวดี
แอบหนียอมไปอยู่กินตกระกำลำบากโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วไปได้ข่าวว่า
ตอนที่บุตรสาวตนกำลังจะคลอด เจ้าลูกเขยคนนี้ก็ไม่เคยใส่ใจดูแลแม้แต่น้อย
งานนี้จึงส่งสปาย โดยสร้างสถานการณ์เอานางพยาบาล (รับบทโดยเจ้าแม่ซีรีย์ยูโกะ ทาเคอุจิ)
ที่มนุษยสัมพันธ์ไม่ดีในที่ทำงานให้มาเป็นคนตาบอดซะ
แล้วยังส่งไอ้หนุ่มวัยรุ่นขาโจ๋ให้มาขออาศัยร่วมชายคนในร้านดอกไม้อีกด้วย
เพราะอ่านเกมส์เอาว่านิสัยใจอ่อนและมีเมตตาอย่างเจ้าชิอิจิจะต้องตกหลุมพรางที่วางไว้
จากนั้นก็ให้นกต่อและสปายกลุ่มนี้ ไปทำลายกิจการร้านดอกไม้ให้ย่อยยับอับจน
ให้จนเสียผู้เสียคนกันไปเลย ฮ่าๆ (เขียนไปชักเลวตามตัวร้าย)




ก็คิดดูเอาสิ! คนที่มาหลอกเขาก็ล้วนแต่ดำรงสถานอาชีพ ที่ใครเห็นก็ต้องนึกว่า
เป็นคนดีไว้ก่อน อาทิ นางพยาบาลอย่างงี้ คุณหมออย่างงี้ นักศึกษาปัญญาชนอย่างงี้
คุณครูอนุบาลอย่างงี้ (รับบทโดย ชากุ ยุมิโกะ ที่คนนี้พี่ยกให้ แต่เรื่องแหย่ให้คู่รักราวฉาน
ครูก็เล่นได้ไม่เบาเลย) แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำให้ช้ำทรวงเพียงใด
กระทาชายนายชิอิจิก็ไม่เคยโกรธแค้น ทุบตีหรือด่าทอ สักแอะ
กลับมาคงดำรงจิตแบบพระโพธิสัตว์ในร่างมนุษย์ได้ดีในทุกระเบียบนิ้ว
จนเหล่าสปาย สายลับและนกต่อ ค่อยๆซาบซึ้งในความเป็นคน "โคตร" ดี
หรือจะเรียก พ่อพระหลงชาติมาจุติ ก็ยังได้
ค่อยๆเกิดต่อม "หิริ" ที่แปลว่า "ความละอายใจ" แม้จะยังไม่พาลไปถึง
ต่อม "โอปตัปปะ" ที่แปลว่า "ความเกรงกลัวต่อบาป" เพราะดูจะไปไม่ถึง
ชนิดที่ว่าคนดูอย่างผมยังแอบโกรธ หากใครจะมาแตะต้องคิดไปทางมิดีมิร้ายกับพี่ชิอิจิ
แต่ถึงกระนั้น ผมก็พอจะระแคระคายในตอนต้นๆได้ว่า
พี่ชิอิจิคนนี้ ไม่น่าจะเป็นคนดีได้แต่กำเนิด (อ.สุวินัยยังนิยามไว้ว่า เสือกลับใจแบบองคุลิมาน)
เพราะตอนที่อันธพาลรุมซ้อม ผมยังเห็นพี่แกบิดมืออันธพาลเหล่านั้นซะเกือบหัก
แสดงว่า ครั้งหนึ่งพี่คงเคยมีวิทยายุทธ..............ไม่อ๊าวไม่คิด เรือ่งมันแล้วไปแล้ว
ปัจจุบันนังจะโยธัมมังเซ่ !



แต่แปลกนะ! เห็นใครต่อใครบอกว่า ตั้งใจดูสักไม่กี่นาที
รับรองว่าได้มีน้ำตาซึมแน่ แต่เรื่องนี้ผมกับเฉยๆ
แต่ยอมรับว่าบทของเรื่องทำได้ดีในระดับที่ คนเขียนบท Nojima Shinji
ที่เคยทำไว้อย่าง ๑๐๑ ตื้อรักนายกระจาย และ Pride เป็นต้น
นอกจากฉลาดในการผูกเรือ่งง่ายๆให้แลดูซับซ้อน ก็ยังมีวาทะคมๆแบบเรียบง่าย
ให้กระตุ้มต่อมการทำความดี มิให้ท้อแท้หรือเฉยเมยที่จะหยุดทำ เป็นการทำดีโดยภาคปฎิบัติ
ที่ไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์แห่งความดี มากไปกว่าความต้องการที่อยากจะทำดี
ความดีที่หลายคนบอกว่าทำได้ยาก แต่จะไม่ยาก ถ้าคนๆนั้น มี "ศรัทธา" ที่จะทำความดี
แม้มีบางอารมณ์ที่จะทำให้หักเหออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง
แต่ก็ถูกอาการชะงักให้กลับมาเข้าที่เข้าทางได้อีกครั้ง
แม้จะมีคนพูดให้เข้าหูว่าดีอย่างเขานั่นมัน "โง่"
แต่เขาก็ "แกล้งโง่" ที่จะทำความดีทุกครั้ง เหมือนอย่างที่คุณต่อพงษ์นักวิจารณ์ว่า
ดีอย่างนายชิอิจินั่น เป็นความดีของบุคคลที่อยู่ในกรอบของความดีชนิดอดุมคติ
ดีชนิดที่ว่า หาผ้าสีเหลืองคลุมหน่อย ก็อาจขึ้นหิ้งบูชาเพื่อเป็นศิริมงคลได้เลย
บทจะบู้ ก็แอบเอาหน้ากากคุณลูก เข้าไปช่วยเด็กที่ถูกผู้ใหญ่ทำร้าย
ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จเสร็จสรรพ ก็ยังแอ็คท่ายอดมนุษย์เท่ห์ได้ใจประชาชนคนดู
ไม่ต้องมีฉากหลังระเบิดตูมต้ามหลังศัตรูตัวร้ายสิ้นชีวี เป็นฮีโร่ที่มีตัวตนในชีวิตจริง
เสร็จแล้วก็เอาไปซัก แขวนที่ราวตากผ้าของคุณลูก กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนตามเดิม




ตัวละครไฮไลต์ของผม กับไปตกอยู่กับ คุณลูกสาวชิสุกะ
เด็กที่ไม่ได้แก่แดดแบบสู่รู้เรื่องผู้ใหญ่เหมือนกับบ้านเรา แต่ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า
"ชินกิริโมโน" (ผู้ใหญ่เกินตัว)
ถ้าผมมีลูกแบบนี้ ผมคงรู้สึกชื่นใจในพันธ์พ่อที่ได้สร้างผลผลิตที่ล้ำค่าออกปานนี้
เด็กเจ็ดขวบที่คุมเงินบัญชีรายรับ-รายจ่ายของบ้าน วางแผนให้ผู้ใหญ่สมานฉันท์ด้วยรอยยิ้มนางฟ้า
เด็กบ้าอะไร! สวมบทของความเป็น "พ่อ" โดยมีพ่อกลับตาลปัตรรับบทของความเป็น "แม่"
แม่ที่สนใจสิ่งสารพันอันละน้อยในเรืองปลีกย่อย โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจของอีกฝ่าย
แม้แต่กลีบดอกไม้ในสถานีรถไฟ ใครจะไปเชื่อว่าผู้ชายตัวเท่าช้าง
จะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนได้เท่านี้
ยิ่งตอนสุดท้ายที่จะใกล้จบบริบูรณ์ ธรรมเนียมของซีรีย์ญี่ปุ่นจะค่อยๆผ่อนดีกรีให้ดูอ่อนลง
เพื่อปิดฉากดราม่าชีวิตให้สุขอุรา แต่ทว่าซีรีย์เรื่องนี้กับเข้มข้นจนช็อคหงายหลัง
เมื่อบุตรสาวที่ว่า.............โอ้ไม่! ผู้ชายอะไรจะเป็นแมนตัวพ่อของพ่อพระอีกทีได้ถึงเพียงนี้
อีกทั้งธรรมเนียมหนึ่งที่ซีรีย์ญี่ปุ่นจะรักษาไว้ คือ ไม่สร้างความเกลียดชังแก่บุคลาธิษฐานในวัยเด็ก
ด้วยการเบลอภาพใบหน้าของพ่อแม่ผู้ไม่รับผิดชอบ แต่ในเมืองไทยกับเอามาเบลอกับการสูบบุหรี่
กินเหล้า เอาปืนจ่อหัว ขณะที่ตัวอิจฉาจิกหัวนางเอกขึ้นแล้วตบโฟว์แฮนด์ขนานคาบเส้น
(ว่าจะไม่พูดละครไทยแล้วเชียว)




Flower shop without Roses
จึงละครที่สร้างสรรค์สังคมแบบไม่อีเดียดที่จะสร้างภาพเหมือนกับละครประเทศไหน!
เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูเข้าตัว.................ดูเพื่อให้รู้ว่า
ความดียังเป็นสิ่งจรรโลงใจที่สังคมต้องการ
แต่ดีนั่นต้องดีในเชิง "คุณภาพ" โดยควบคุม "ปริมาณ"
ไม่งั้นจะเผลอถูกข้อครหาว่า "เธอดีเกินไป"
ทำให้นึกถึงเพลงของ ศิรินทร นิยากร ที่ว่า

"ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก, ยิ้มข้างนอกช้ำในน้ำคำหวานที่รินรดใจ.
เขาหลอกใช้ก็รู้ ของสูงค่าแต่ราคาแสนต่ำ ช้ำหรือเปล่า คิดดู...ฮู้ฮู"



แต่สุดท้ายและท้ายสุด ร้านดอกไม้ของชิอิจิก็มีดอกกุหลาบขายแบบชาวบ้านเขาสักที...........เฮ






ข้อมูลจาก
-รายการชวนคิด-ชวนคุย ทางคลื่นผู้จัดการ
-ร้านดอกไม้ที่ไม่ยอมขายดอกกุหลาบ/ต่อพงษ์





 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 0:20:38 น.
Counter : 1491 Pageviews.  

MoonWalker หนังเรื่องเดียวในชีวิตของไมเคิล แจ็คสัน ในปี 1988


หลังจากการเสียชีวิตของอดีตราชาเพลงป๊อบแห่งยุคปี ๘๐-๙๐
เป็นไปตามคาดหมายเล็กๆ ของผม ที่จะได้เห็นการขุดผลิตภัณฑ์นานาชนิด
ที่กระทาชายนายไมเคิล แจ๊คสัน ได้สร้างความหรรษาให้แก่โลกใบนี้
ชนิดที่ถ้าไม่คิดให้เป็นแบบอกุศลแล้ว ................. เสมือนเขาเหล่านั้น รู้ถึงเวลาตาย
ที่มากพอจะเตรียมพร้อม ตั้งแท่นสกรีนเสื้อ ที่มีรูปและหน้าตาของพี่ไมเคิลตอนเป็นๆ
เปิดแท่นผลิตเพลงในโรงงานชนิดเต็มอัตรา ที่สามารถปล่อยของในวันรุ่งขึ้น
เมื่อวานมีโอกาสได้ไปร้านขายซีดีเพลงเจ้าหนึ่ง ก็สังเกตเห็นโซนอัลบั้มให้ได้อาลัยแก่พี่ไมเคิล
ชนิดที่ขุดกันลงไปลึกเกือบใต้เหว เพราะปรากฎอัลบั้มในยุคสีเสื้ออาจเปลี่ยน
แต่สีผิวไม่เปลี่ยน อย่าง อัลบั้ม Off the Wall ในปี ๑๙๗๙
อัลบั้ม Ben ในปี ๑๙๗๒ หรือเก่ากว่านั้น คือ อัลบั้ม Got to be there ในปี ๑๙๗๑
ให้ตายเถอะ! นี้จริงรึเปล่า? ที่พี่ไมเคิล แกตายอย่างกะทันหัน
ดังนั้น เราจึงไม่อาจดูแคลนอำนาจของวิชา "การตลาด" ว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อได้เลย
เพราะมันมีอะไรให้เราต้องเซอร์ไพร์ได้เสมอ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เรานอนอยู่ก็ตาม
มันเคยปรากฎมาแล้ว ในวันที่พันธมิตรล้อมชุมนุมตรงสะพานมัฆวานฯ
นัดใส่เสื้อสีฟ้าในวันแม่ ตกเย็นมีรถส่งสินค้าเสื้อลายเดิมแต่สีฟ้า มาเป็นคันรถ
และเมื่อแกนนำเป่านกหวีด ไม่เกินหกชั่วโมง มีนกหวีดมาขายแบบแบกตะกร้ามาจำหน่าย
ส่งเสียงร้องกันจ้าละหวั่น

มีหนึ่งในนั้น ที่ถูกเร่งปั๊มให้ทันเทรนด์
จนผมต้องยอมควักเบี้ยน้อยหอยน้อย โดยคิดว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยอุปถัมภ์
หนี้ก้อนโต ที่แกทิ้งเหลือไว้ให้ญาติพี่น้องได้ดูต่างหน้า อย่างน้อยๆ
การแย่งชิงสมบัติของผู้จากไปอย่างพี่ไมเคิล ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดจะได้สองจิตสองใจ
ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะจัดการกองหนี้อันมโหฬารนี้ดี
เป็นอันว่า ผมได้หนังเรื่องหนึ่ง
ที่พี่ไมเคิลเป็นตัวเอกแบบเบ็ดเสร็จตลอดทั้งเรื่อง ชนิดที่ไม่คิดจะขาย "เนื้อหา"
มากไปกว่า "หน้าตา" ของพี่ท่านในสมัยโคตรจะรุ่งสุดๆ ซึ่งแน่นนอนว่า
มีกระแสต้อนรับไปในทางลบแทบจะทันที ทันพอ............ที่จะให้พี่ไมเคิลตัวเป็นๆ
ไม่คิดจะหวนกลับมาวงการภาพยนตร์แบบเต็มตัวในตลอดชีวิตที่เหลือ




"Moonwalker" (สาบานว่า) เป็นหนังในปี ๑๙๘๘
ในจังหวะที่แกสุดจะพีค เนื่องด้วยกำลังโหนกระแสความนิยม ทั้งจากอัลบั้ม
"Bad" ที่ออกในปี ๑๙๘๗ มีเพลงในระดับกะจะขายเพลงเดียวกินรวบ ที่เรียกว่า Single
ที่ขึ้นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดมากที่สุด นี้ยังไม่รวมกับของที่ยังไม่ซ่างซ่า อย่าง อัลบั้มก่อนหน้า
“ Thriller ” ซึ่งเป็นเจ้าของสถิติอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลถึง ๖๐ ล้านชุด
ตำนานพวกนี้ทุกท่านคงเคยผ่านตามาบ้าง เพราะดูเหมือนบรรดาสื่อจะลอกจากสำนักข่าวเดียวกัน
เมื่อสื่อทำได้ ใยผมจะทำบ้างไม่ได้ ในเมื่อความน่าเชื่อถือมันมีอยู่
เอาละ! ฟังความรู้สึกที่ผมมีต่อหนัง (รึเปล่า?) เรื่องนี้กันดีกว่า..................
อาจจะ "รู้สึกช้า" เพราะหนัง (รึเปล่า?) เรื่องนี้ ล่วงเลยมากว่ายี่สิบปีเข้าให้
จากข้อมูลทางเว็บไซด์ที่เด็กหนังบูชา อย่าง IMDB ความนิยมที่มีให้ต่อหนังเรื่องนี้
ตกอยู่ในเรตที่ก้ำกึ่งแบบห้าสิบ/ห้าสิบ จากผู้โหวต ๔๔๔๔ ท่าน (ยอดในวันที่ ๔ กค. แต่หวยดันออก ๖๖!)
ซึ่งมีคนให้ความสนใจเยี่ยมชมเฉพาะอาทิตย์นี้ ๖๕๘๙ เปอร์เซนต์ ( โดยไม่รู้เทียบกับอะไร? )
ฉะนั้นหมายความว่า ถ้านั่งดูกับแฟนสองต่อสอง
อาจจะมีใครคนใดคนหนึ่ง "ชอบ" แล้วอีกคน "ไม่ชอบ" ก็เป็นได้
อีกทั้งหนังเรือ่งนี้แทบจะไม่มีเอกภาพเดียวกันเลย นับตั้งแต่การผสมปนเประหว่าง
เนือ้เรื่อง กับ Footage (จนพาลจะเอา Foot ตัวเอง เตะตลับซีดีเล่นหลายครั้ง)
อารมณ์ประมาณยำใหญ่ใส่สารพัด ชนิดที่พอจะจับยัดใส่กันลงไปได้
จึงนี้มีทั้ง "แพะ" กับ "แกะ" ชนกันตลอดเรื่อง มันจึงมีทั้ง
ประวัติที่เล่าผ่านการถ่ายทอดในตัวเพลงที่เรียกว่า MusicVideo
ภาพคอนเสริต หนังแบบโชว์เทคนิคล้ำยุคสมัยนั้น อย่าง StopMotion
ไหนจะหนังตอนที่น่าจะเหมาะไปแสดงบนเวทีละครมากกว่า กลายเป็นการจับต้นชนปลายไม่ถูก
ผู้สร้างคงหวังว่าแฟนเพลงที่ (หลง) เสียตังค์ซื้อมา น่าจะถูกใจอะไรก็ได้ในแผ่นนี้
แบบไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่ง
ความจริงในความไม่เป็นเอกภาพตรงนี้ มันสะท้อนตั้งแต่มีผู้กำกับถึงสามคนแล้วพี่น้องเอ้ย
โดยตัวยืนกำกับจริงๆ เป็นพี่ Jerry Kramer ที่ไปย้อนดูประวัติของพี่แก
ก็พอให้รู้ว่าเคยเป็นผู้กำกับคู่บุญพี่ไมเคิล ตั้งแต่อัลบั้ม Thriller ในปี ๑๙๘๓
ในตำแหน่ง co-director (จากนั้นกำกับมิวสิคให้ Van halen ปี ๙๐ แกก็หายสาบสูญส่งซะงั้น)
นอกจากนั้นยังมีผู้กำกับเฉพาะส่วน
อย่างท่านพี่ Jim Blashfield ในตอน Leave Me Alone
และอย่างพี่ Colin Chilvers ในตอน Smooth Criminal ที่น่าจะเป็นตอนที่ดังที่สุด
เพราะถูกตัดมาเป็นมิวสิควีดีโอ มาฉายในบ้านเรา อย่างน้อยๆ เพลงนี้ก็เคย
ถูกนำมาฉายอยู่บ่อยไป ในรายการ "บันเทิงคดี" สมัยพี่มาโนช พุฒตาล จัดทางช่องห้าตอนเช้า
เป็นตอนที่พี่ไมเคิลแต่งสูททักซิโดชุดขาว เล่นเต้นกระจองอแงในคลับใต้ดิน
ชนิดที่พี่ท่านโชว์พาวด์เต้นกันแบบเท่ห์สุดๆ ที่ตลกกว่านั้น คือ การจัดหมวดของหนัง (รึเปล่า?)
เรื่องนี้ที่ทาง imdb ใส่ให้ซะเละทะ ในหมวด Action | Crime | Fantasy | Music | Sci-Fi | Thriller
ตกลงจะสรุปง่ายๆ เอาเป็นว่า เป็นได้ทุกอย่างที่หนังจะออกสู่ตลาดคนหมู่มาก
จึงน่าจะเป็นหนังเอาใจ "คนดู" มากกว่า "คนทำ"
แต่สุดท้ายมันก็ติดอยู่กับประโยคคำถามในใจว่า "มันเป็นหนังรึเปล่าหว่า?"
ซึ่งเสียงวิจารณ์โดยส่วนใหญ่ คงจัดให้เป็นหมวด HomeVideo โดยอิงอาศัยยอดขาย
สัปดาห์แรกในอเมริกาที่ขายได้มากกว่า แปดแสนก้อปปี้ โดยกะให้ขายใกล้วันคริสตมาสเสียด้วยสิ
ทรมานซานต้าน่าดูที่ต้องแบกตลับ วีเอชเอฟในช่วงนั้น ไปแจกจ่ายตามปล่องไฟแต่ละบ้าน......เฮ้อ
เอาละ (อีก) มาชำแหละกันดีกว่า ................ตายแน่ ไมเคิล!!




มาตอนแรกก็เก๋อยู่หรอกนะ เปิดตัวด้วย music video ในเพลงอัลบั้ม Bad ที่ชื่อ
"Man in the Mirror" ที่สลับกับภาพเด็กในแอฟริกา แล้วค่อยๆไล่
ไปภาพวีรบุคคลของโลก อย่าง Mahatma Gandhi , Martin Luther King, Jr.
และ John Lennon ยังสลับกับภาพทางประวัติศาสตร์
เริ่มต้นแค่นี้ก็พอรู้แล้วว่า พี่ไมเคิลมาแนวสายพิราบ
ไม่ได้เป็นNeoConservative แบบบุชตระกูลโคตร
เริ่มต้นอย่างนี้ ถือเป็นการสร้างภาพที่ดูสำเร็จด้วยดี
"ช่วงสอง" เป็นแบบที่เรียกว่า "หวนรำลึก" (Retrospective)
บรรเจิดเพลงตั้งแต่ยังเป็น "เด็กผิวดำ" จนมาสู่ "หนุ่มใหญ่ผิวขาว" (ได้ไง?)
ช่วงนี้แหละ ที่ชักยำใหญ่ใส่มหกรรมเพลงนานาชาติของพี่แก เอาประเภทเพลงที่ผมพอดมได้
ก็มี Music and Me , The Love You Save , Ben , Rock with You , Beat It ,Thriller
และ We Are the World อะไรเทือกนั้น ถือเป็นตอนที่ยาวมาก เพราะพี่ไมเคิลโชว์วิทยายุทธ
หลายกระบวนเพลง แต่ไม่น่าเบื่อเพราะคนดูอย่างผม ร้องฮัมตลอดทั้งตอน เสียอย่างเดียว
ที่ร้องเป็นเรื่องเป็นราวให้ถูกอักขระ Gramma ไม่ได้เสียที แม้ฟังมาตลอดทั้งชีวิตก็ตาม





ตอนที่เรียกเสียงฮาสุด ก็ต้อง "Badder"
เป็นการเลียนแบบมิวสิคเพลง Bad ในเวอร์ชั่น "จับปูใส่กระด้ง"
เพราะเกณฑ์เอาเด็กนานาชาติ อายุกำลังซนได้ทีเลย
ถ้าใครได้ดูมิวสิคนี้คงพอจำกันได้เลาๆ เป็นตอนที่รวมพลนักเต้นในชานชาลาของรถไฟใต้ดิน
หางเครือ่งหรือที่ศัพท์สากลเรียกว่า "แดนเซอร์" ที่เป็นเหล่านักเต้นนานาชาติ
ทั้งเอเชีย มะกัน แอฟริกัน คอเคเซียน ออสโตรลอยด์ เอามาลดอายุวัยปรับแต่งให้เป็นเด็ก
โดยมีเครื่องแต่งตัวองค์เครือ่ง จากไซด์ XL ก็ลดมาในระดับ โคโดโมะไซด์
แต่ข้อมูลใน wikipedia ผมยังไม่กล้ายืนยัน เพราะเขาว่า คนที่เล่นเป็นไมเคิลแบบเด็กๆ
ดันเป็นเด็กผู้หญิง ที่ผมไปไล่ดูมาเจริญวัยพันธ์ ไง!กลายเป็นหญิงสาวผิวขาวจั๊วะไปได้
จึงถือเป็นการเม้าท์แบบไม่ฟันธง-คอนเฟริม แต่อย่างใด



ตอนที่สาม คือ "Speed Demon"
อันนี้ถือเป็นตอนที่น่าเบื่อมากสำหรับผมที่สุด เป็นการกำกับโดยทีมงาน Claymation
ใช้เทคนิค Stopmotion โดยแสดงประมาณว่า พี่ไมเคิลเป็นคนดัง จึงมีเหล่าแม่ยก
ตามมาให้กำลังใจเป็นขบวน ไหนจะสื่อมวลชนจอมวุ่นวายเสียอีก
เลยแกล้งปลอมตัวโดยใส่หัวหุ่นกระต่ายที่ชื่อ Spike ขี่มอเตอร์ไซด์หนีออกนอกเมือง
ตอนนี้คงได้ใจเด็ก กะหลอกกินตลาดแรกเกิดด้วยในตัว
แต่สุดท้ายไปโดนตำรวจทางหลวงแจกใบสั่ง มิใช่เกิดจากการขับรถเร็ว แต่เกิดจาก
การใช้ท่าหากิน "มูนวอก" ในเขตพื้นที่ No Moonwalking Zone
ตอนนี้เป็นการโชว์เทคนิคของคนเต้นจริงเหนื่อยจริงอย่างไมเคิล มาสู้กับตุ๊กตา
ที่ใช้เทคนิคสต๊อปโมชั่นที่พยายามเลียนแบบ ประมาณว่า คนจริงเต้นอย่างไรก็เจ๋งกว่าหงะ



จบตอน Speed Demon มันก็วกกลับมาเข้าเพลงอีกแล้ว
เป็นมิวสิควิดีโอที่ได้รางวัลแกรมมี่ ในปี ๑๙๘๙ โชว์เทคนิคการเคลื่อนไหวของภาพ
ที่ทันสมัยโคตรตอนนั้น คงประมาณว่าถ่ายทอดความรู้สึก "ขอโลกส่วนตัวนอกสื่อได้ไหม (วะ)"
ขณะที่สื่อและแฟนๆ คงย้อนตอบกลับมาว่า "ไม่ได้ (วะ) อยาก (เสลอ) เข้าวงการเอง"




มาสู่ตอนที่คนรู้จักมากที่สุด Smooth Criminal
พี่ไมเคิลสร้างภาพเป็น "แก๊งค์สเตอร์ใจบุญ" ปกป้องเด็กๆเจ้าเหล่าอาชญกรรม
อาจเป็นตอนที่ทำให้แกติดภาพลักษณ์ว่ารักเด็ก โดยที่ไม่ต้องเข้าประกวดนางงาม
และอาจทำให้ชีวิตแก ไม่สามารถแยกแยะการรักเด็กแบบไม่ผิดคดีอาญาได้
โดยฉากนี้ต้องปะทะกับหัวหน้าตัวร้าย อย่าง Mr.Big ที่ได้ทำการทดลองยาตัวใหม่
หวังว่าจะนำมาใช้กับเด็กแทนหนูทดลอง พี่ไมเคิลจึงแนะเด็กๆไปซ่อนยัง Club30
ที่เจ๊งกะปงไปตั้งแต่ปี ๑๙๓๐ สู่ฉากโชว์การเต้นที่คลาสสิกเพลงนี้ที่โลกเคยมีมา
งานนี้ถ้า Michael Bay ผู้กำกับTransformers มาเห็น อาจจะต้องอุทานว่า
ไมเคิลนี้เป็น "Transformersตัวพ่อ" ชัดๆ เพราะมีฉากโชว์เมื่อไมเคิลกลายเป็น
หุ่นTransformers ผ่านการอธิษฐานของดาวตก (ซึ่งมันก็มีเหตุผลของมันอยู่ ถ้าฝืนดูจนจบ)
ถือเป็นการโชว์ฉากเด็ดสิบนาที เมื่อเทียบกับยุคของ CG ยังไม่คลุ้งเท่ากับสมัยปัจจุบัน
เป็นการตอกย้ำการแสดงของพี่ไมเคิล ว่าพี่เล่นได้สมเป็น "นักแสดง" จริงๆ ออกจะฝีนเล่นเสียด้วยซ้ำ





และมาจบท้ายด้วย ภาพคอนเสริตที่ต่อเนื่องกับตอนที่แล้ว
"Come Together" เป็นการ cover เพลงฮิตของ Beatles มาทำใหม่ให้พี่ไมเคิล
หาเรื่องเต้นได้ อาจเป็นการคารวะให้กับจอห์น เลนนอน ในสองกรณี
คารวะแรก เป็นการปลุกผีเพลงเก่าของสี่เต่าทองกลับมาให้ผู้ฟังกลุ่มใหม่ได้ร้องตามอีกครั้ง
คารวะที่สอง หนึ่งในนักแสดงเด็กที่ได้รับเลือกเล่น
เป็นบุตรชายของจอห์น เลนนอนกับโยโกะ โอโน่ ที่ชื่อ Sean Lennon
มาเข้าร่วมฉาก ซื้อใจอย่างนี้จะไม่ปล่อยลิขสิทธิ์เพลงมาให้พี่ไมเคิลปู้ยี่ปู้ยำได้อย่างไรไหว



เป็น ๙๓ นาที ที่มีความสนุกและทรมาน ประสมปะเปกันไป
เพราะเจตนาก็ไม่ได้กะจะดูเอาคุณภาพเป็นเกณฑ์ของการวัด มากไปกว่าความคิดถึง
บุคคลร่วมสมัยที่ทยอยกันตายจากไป ยิ่งทาง CNN เอาคลิปตอนช่วงซ้อมเต้น
ก่อนขึ้นเวทีใหญ่ที่กรุงลอนดอน หลังจากร้างราเวทีไปกว่าสิบปี
อารมณ์ถวิลยิ่งคุกกรุ่นมากขึ้นไปกว่าเดิม เสียดายที่เราสองคนทำบุญกันน้อย
จึงได้ประสบพบชาติกันได้เพียงแค่นี้ ขอบคุณนายไมเคิลที่มอบความสุขและไพเราะ
ผ่านทางเสียงเพลง ความระทึกใจในทางเต้นระดับเทพ และค่าเงินบาทที่เราเต็มใจควัก
ออกจากกระเป๋าให้นายไปทำสวนสนุกที่ Neverland โดยที่นายไม่คิดจะสำนึกบุญคุณ
ชวนเราไปเที่ยวที่บ้านนายบ้าง จนเรามาแก่ปูนนี้ คงไม่ใช่สเปคของนายอีกต่อไป
หลับให้สบายเถอะนะ (อย่าเผลอตื่นมาอีกละ)
ถึงอย่างไรเสีย เพลงของนายก็ไม่เคยตายไปจากใจเรา จะยกเว้นก็เพียง
การเป็นนักแสดงใน Moonwalk อย่างเดียว ที่สมควรตายไปพร้อมกับร่างอันไร้วิญญาณของนาย


"นายเกิดมาเพื่อเป็นนักร้องจริงๆ"








ข้อมูลจาก ...............
-//www.imdb.com/
-//en.wikipedia.org/wiki/Moonwalker
-manageronline




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 11 กรกฎาคม 2552 12:19:45 น.
Counter : 1846 Pageviews.  

Galileo โอ้!ทำให้อาการเสพย์ติดซีรีย์กำเริบอีกแล้ว


คุณหมอครับ!


มาครั้งนี้ของสำลักในสิ่งเสพย์ ที่เต็มรกอัดแน่นอยู่ในสมองของผมเสียหน่อย
เป็นอาการอิ่มเหร่อจากความจุกเสียด หลังจากการชมซีรีย์อย่างมาราธอน
ความจริงแล้ว พฤติกรรมนี้ถูกหักดิบด้วยการหย่าขาดกับเหล่าซีรีย์ทุกชนิด
หากจะให้นับครั้งล่าสุดที่เป็น ก็ต้องเป็นซีรีย์ชุด Lost ของอเมริกา
เคยเอามาเล่าผ่าน Blog ในครั้งสมัยเฟรชชี่ ที่เพิ่งสมัครเข้าร่วมใหม่ๆ
แต่ครั้งนั้นหนักว่า เพราะไม่เพียงซาดิสต์ เล่นให้จบภายในซีรีย์เท่านั้น
แต่ยังล่อกันเป็น Season ซัดไปตั้งแต่ภาค๑ถึงภาค๕
แม้จะออกลูกทะเลหน่อยๆในช่วงท้าย

ปัจจุบันซีรีย์ชุดนี้จะอวสานจบเห่หรือยังล่องทะเลเท่งเต้ง-ลอยคออยู่
อันนี้ก็สุดที่จะหยั่งรู้ได้.................ก็บอกแล้วไง ว่าหย่าขาดแล้ว!



แต่อาการนี้ ก็กลับมากำเริบอีกครั้งละคุณหมอ
จากสมมติฐานเบื้องต้นว่า มีภูมิคุ้มกั้นที่ดี อันเกิดจากการหักดิบมาร่วมปี
คุณหมอคงเข้าใจดีนะครับว่า "ดูซีรีย์" ก็เหมือน "สูบบุหรี่"
คนที่เคยเลิกไปแล้ว ใช่ว่าจะไม่กลับมาสูบได้อีกครั้ง อันนี้เป็นสัจธรรม
ผมเคยฟังรายการ "หนังหน้าไมค์" ทางคลื่น FM 104.5 FatRadio
เป็นรายการที่จัดพูดคุยเกี่ยวกับหนังล้วนๆ (แต่วกไปกับเรื่องบอล เที่ยวและจัดทริปก็เยอะ)
ผมได้ฟังดีเจเฮนรี จ๋องกับคุณนรา เล่าถึงมหันต์ภัยของหนังชุดซีรีย์
แล้วมาใคร่ครวญดูกับตัวเอง ก็เห็นว่าเป็นจริงตามนั้น
ซีรีย์มาถูกสร้างมา ด้วยศาสตร์บางชนิดที่ทำให้คนดูอย่างเราต้องติดหนึบ
ดังนั้น .......สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม มันจึงควรเป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่สุด
มันจะสร้างตัวละครที่แลดูจะขัดใจคนดูอย่างเรา และมีลูกทึ่ง
ชนิดที่เราคิดไม่ถึงเสมอ ที่สำคัญมันมักจะทิ้งปมในท้ายเรื่อง
ให้เราต้องมานั่งลุ้นและติดตาม ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นแค่ละคร
อีกอย่าง....................ญาติก็ไม่ใช่
ซีรีย์จึงไม่เหมือนกับหนังโรง ที่จะกำหนดเส้นมาตราฐานว่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๒ ชั่วโมง
เป็นอย่างน้อย คนดูในโรงจึงมีจุดประสงค์เดียวกัน แต่เมื่อหนังจบ
ต่างคนก็ต่างแยกย้าย

บ้านใคร.............บ้านมัน ธุระใคร................ธุระมัน




แต่ระยะนี้........ผมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่อง "วิทยาศาสตร์"
อยาแปลกใจเลยนะครับหมอ เพราะสมัยเด็กๆ ผมก็เคยมีความกังวลเช่นนี้มา
ประมาณว่า ตูไม่ชอบแต่กระทรวงศึกษาฯ เขาบังคับให้เรียน
ทั้งๆที่ประเทศเราเป็นประเทศแห่งกสิกรรม อันนี้คิดตั้งแต่เด็กนะครับ
แต่พอโตขึ้นภาวะทางอารมณ์ในประเด็นเดียวกัน ดูจะต่างกัน
คือ ผมชักไม่ชอบมาพากลกับเจ้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่สักหน่อย
พูดอย่างงี้ เจ้ากระทรวง ฯ อย่างคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อย่าได้เคืองผมนะครับ
อันนี้ไม่ได้เกิดจากผลทางนโยบายของท่าน แต่เกิดจากการมั่นเสพย์
จำพวกหนังสือ ภาพยนตร์ ตลอดจนถึงซีรีย์เรื่องล่าสุด (แต่อาจเป็นชาติสำหรับหลายๆคน)
อย่างเรื่อง Gelileo!







Gelileo ในชื่อไทยที่ว่า "ยอดอัจฉริยะไขคดีป่วน"
เหตุที่ผมบอกกับคุณหมอว่า มันเป็นชาติสำหรับคนอื่น ก็ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ
เพราะมันเคยถูกนำมาฉายผ่านการพากย์ไทยครั้งแรก โดยสถานีโทรทัศน์ ThaiTBS
ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ของปีที่แล้ว แล้วนำกลับมาฉายซ้ำใน
วันจันทร์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ของปีนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด มีด้วยกันสิบตอนจบ
ทำไมผมถึงจำได้เหรอครับ.....หมอ! มันไม่ใช่เรื่องของระลึกชาติได้หรอกครับ
แต่เกิดจากเทคโนโลยีทางโลกไซเบอร์ ที่ผมเพิ่งคุ้นชินมาไม่นาน หมอรู้เปล่าว่า?
เราสามารถดูรายการย้อนหลังผ่านอินเตอร์เน๊ตได้ เป็นขององค์กรการจัด
ระบบความเหมาะสมของสื่อ ดังนั้นสื่อจะสุ่มสี่สุ่มห้าหรือสุ่มหก เถียงอ้างข้างๆคูๆ
ว่าไม่ได้นำเสนอหรือทำลายเทป....ไม่ได้แล้ว
แต่ถึงกระนั้น......มันก็ไม่อาจนำผม ไปดูเรือ่ง "ปริศนา" สมัยที่ หลิว ลลิตาเป็นนางเอกได้
ซึ่งอันนี้.....ผมเองเข้าใจดีครับหมอ ว่าโลกของการฟอร์แมทตอนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ถูกบันทึก
ผ่านสายแถบแม่เหล็กกันอยู่ อันนี้หมอเกิดไม่ทันหรอก เดี๋ยวมามาเฉลยในตอนท้าย



เล่าเรื่องสาเหตุที่แท้จริงกันดีกว่านะครับหมอ..........เพราะผมรู้ว่าพรุ่งนี้ตอนสายหมอมีธุระ ความจริงแล้ว...................ผมได้ยินชือ่เสียงของซีรีย์ชุดนี้มาพอสมควร
ทั้งจากบทความและรายการวิทยุ "ชวนคิด-ชวนคุย" ที่ คุณต่อพงษ์ รบเร้าให้หามาดู
พอพูดอย่างนี้ ก็ลำบากคนติตตามอย่างผมนะสิ แต่โลกไซเบอร์
ก็ทำให้ความลำบากเล่านั้น ผ่านพ้นด้วยการกดแป้นพิมพ์ไม่กี่ปุ่ม
นึกถึงสมัยก่อนจะทำรายงานส่งอาจารย์ ไหนจะต้องไปค้นหาบรรณานุกรม
ผ่านตู้ไม้ที่เป็นการจัดหมวดหมู่ดัชนีหมวดอักษร กว่าจะได้รายงานสักฉบับ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้น ......การหาซีรีย์ชุดนี้ผ่านการย้อนหลัง จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก หากเทียบกับแต่กอ่น
แต่ที่ยากกว่านั่น คือ จะหาวิธีหยุดที่ดูมันอย่างไร? เสียมากกว่า..............
ตอนแรกกะว่าจะอาศัยดูกันทีละตอน เพราะก่อนอื่นผมต้องบอกกับคุณหมอก่อนว่า
ซีรีย์เรือ่งนี้ เป็นแนวการสืบสวน-สอบสวนคดีอาชญากรรมที่มีเงื่อนปมซับซ้อน
ชนิดที่ ตำรวจสายสืบหญิงไฟแรงแต่อ่อนต่อโลก "อุทสึมิ คาโอรุ" (เล่นโดย ชิบาซากิ โค)
ไม่อาจจะไขปริศนาได้ จึงได้รุ่นพี่ตำรวจช่วยแนะนำเพื่อนที่เป็นอาจารย์ฟิสิกส์
จากมหาวิทยาลัยเทย์โตะ อย่าง "รศ. ดร. ยุกาว่า มานาบุ" (แสดงโดย-ฟุคุยาม่า มาซาฮารุ)
ที่สามารถเฉลยคดีลึกลับด้วยกฎทางฟิสิกส์ระดับที่ ถ้าให้อธิบายซ้ำก็พูดได้ไม่เหมือน
แต่ซีรีย์ชุดนี้ก็เข้าใจสร้าง ให้เป็นรองศาสตรจารย์รูปหล่อและยังมาร์ดแมนทางเรื่องกีฬา
แถมบุคคลิก ก็แสนสงบ-เยือกเย็น ออกจะเก็บตัวและหมกมุ่นกับการทดลองในแล็ปของแก
ด้วยความที่แกไม่เชื่อเรือ่งลี้ลับ เพราะมันไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นหลักการทาง
วิทยาศาสตร์ได้ (แม้แต่ละคดีจะพยายามโยงไปกับเรื่องลี้ลับจนน่าติดตามว่าจริงรึเปล่า?)
และเหตุที่แกช่วย เพียงเพราะมัน "น่าสนุก" และ "น่าสนใจ" ก็เท่านั้น
แกช่างเล่นได้สมเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ





กลายเป็นว่าผมตกหลุมของซีรีย์เรื่องนี้ไปในบัดดล
เพราะมันไม่ได้ว่ากันด้วย เพียงเรื่องคดีฆาตกรรมธรรมด๊า-ธรรมดา
แต่มันเหมือนว่า ผมกำลังชมรายการ "MegaClever" ฉลาดสุดๆ ผสมกับ บทพ่อรัก-แม่ง้อ
แบบ "ลูกสาวกำนัน" แถมแต่ละคดีก็สุดจะช่างคิด แนววิธีฆาตกรรมก็สุดพิลึกพิลั่น
อย่าง ใช้แสงเลเซอร์ เรียกให้ฟ้าผ่า ทำให้หัวใจวาย จำลองแผ่นดินไหว หรือฆ่าตัวตาย
ซึ่งแต่ละคดี ถ้าไปถึงในชั้นศาล ก็ต้องเรียกว่า "โทษหนัก"
เพราะทั้งหมดเป็นการฆาตกรรมโดยเจตนาเป็นไตร่ตรองไว้ก่อน แถมยังมีผู้สมรู้ร่วมคิดอีก
แวะค้นหาข้อมูลมาดู ถึงได้รู้ว่า
สร้างมาจากสร้างจากนวนิยายแนวสืบสวนของนักเขียนเรื่องลึกลับมือรางวัล
อย่าง "ฮิงาชิโนะ เคโงะ" ที่จบการศึกษาในสาขาวิศกรรมไฟฟ้า
ซึ่งก็น่าให้แกจบอยู่หรอก เขียนอะไรซะ...............อย่าให้ผมเล่าเลย เดี๋ยวไม่เหมือน



แต่เชื่อไหมหมอ?
ซีรีย์ชุดนี้ ที่ทำให้ผมต้องดูทีเดียวถึงสิบตอนรวด
ล้วนไม่ได้เกิดจากตัวละครหลักของเรื่องแต่อย่างใดเลย แต่เกิดจากปรัชญาวิพากษ์
ที่แอบซ้อน ชนิดที่ต้องขอกัดของจิก เจ้าความเป็น "วิทยาศาสตร์" ในทุกๆตอน
ผมเสียดาย ที่ทีมพากย์ไทยกับเอาส่วนนี้มาพูดเล่นๆ ไม่จริงจัง แถมยังทำให้มันตลก
โดยมีเสียงตัวละครไม่สำคัญมาแทรก กะจะเรียกเสียงฮา อย่างตอนที่
นางเอกกัดตัวพระเอกที่ไม่มีหัวใจความเป็นมนุษยนิยมและไม่มีจินตนาการวัยเด็ก
หรือตอนขยะจากพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทิ้งตามแม่น้ำ เป็นต้น อันนี้ผมว่า
ถ้าเป็นต้นฉบับ.......คนญี่ปุ่นดูแล้ว อาจจี๊ดใจกว่า เพราะอย่างไรเสีย
ก็เป็นประเทศ ที่เป็นต้นร่างสนธิสัญญาควบคุมระดับคาร์บอนไดออกไซด์
แต่ที่จี๊ดใจยิ่งกว่า............................คือ "ดารารับเชิญ"
แต่ละตอน จึงเป็นการพาเหรด ที่ผมแอบนึกถึงและนอนฝัน
เพราะคุณเธอ ได้หายหน้าหายตาไปจากวงการพอสมควร (หรืออาจเล่น แต่ไม่ผ่านตา)
อย่างคุณน้อง นางาซาว่า มาซามิ คุณน้อง คารินะ คุณน้อง เรียวโกะ ฮิโรสุเอะ
และคุณน้อง เคียวโกะ ฟูคุดะ ที่ผอมเพรียวกว่าเ้ดิม
คุณพี่ก็ได้แต่เที่ยวลุ้น อย่าให้คุณน้องต้องตกเป็นเหยี่อจากคดีฆาตกรรม
ที่เล่นไม่กี่ฉาก แล้วรอรับตังค์ค่าตัวหลังรายการ จนไม่ทันได้อิ่มตา-หนำใจ
แม้จะสุดช้ำหนักเพราะไม่ได้นอนจากการมาราธอนซีรีย์อีกครั้ง
เออ.....เห็นคุณต่อพงษ์ เล่าว่า มีคุณน้อง โซร่า อาโออิ ในฉากว่ายน้ำในสระ
อันนี้ .................ไม่ทันสังเกตหรือเผลอหลับไปในบางช่วง ไม่เป็นไร
เพราะเทคโนโลยีดูย้อนหลัง ช่วยให้เราดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้
ถ้าคุณหมอเกิดสนใจ อันนี้ผมพอช่วยคุณหมอได้ จากเรื่องอื่นๆ
ของน้องอาโออิคนนี้ ...................ก็อย่างเรื่อง ปิดเทอมใหญ่ฯ ไง!





"มีเหตุ ยอ่มต้องมีผล"


ประโยคที่ ดร. ยุกาว่า มักพูดในทุกสถานการณ์ที่ควรจะมี "คำตอบ"
ถ้ามองเป็นชาวพุทธหน่อย ต้องเรียก "อิทัปปัจจยตา"
ทั้งๆที่ คนรอบข้างเชื่อกันว่า คำตอบนั่น "ไม่สำคัญ" ที่สำคัญ คือ "อย่าลบหลู่"
แต่ทุกครั้งที่ ดร. ยุกาว่า เสนอวิธีการทดลองให้เห็นว่า
วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้เป็นรูปธรรม ดีกว่าชุดคำตอบไสยศาสตร์ที่เป็นนามธรรม
ถึงแม้คนดูอย่างผม อยากจะบอกว่า ก็เป็นเพียงชุดคำตอบในการอธิบายวิธีการหนึ่ง
แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมในทุกๆคำตอบที่มีอยู่ในโลก
ถ้ามาเมืองไทย ดร. ยุกาว่า คงหูระงม ด้วยสำนวนเรื่อง "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่"
แต่ที่ชื่นชม ดร. ก็ตรงที่ ตัว ดร. จะตอบด้วยเสียงที่เชื่อมั่นว่า "ไม่ลบหลู่แต่(ตูนั่น)ไม่เชื่อ(โว้ย)"


แต่ดีนะ ที่ตอนหลังๆ ดู ดร. แกจะอ่อนลง
จนเชื่อในเรื่องนอกกรอบวิทยาศาสตร์เข้าบ้างแล้ว ก็อย่างเรื่องของ "พรหมลิขิต" ไง
อันนี้.......คงด้วยอิทธิพลของนางเอกตำรวจนักสืบจอมแก่นของเรื่อง ที่ค่อยๆเชื่อ
ว่าปรากฎการณ์ทุกอย่างควรจะอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล แทนที่จะคล้อยตามพยาน
ว่าเป็นเรื่องลี้ลับ-มหัศจรรย์ตามไปด้วย ถึงขนาดย้อน ผู้ช่วยศาสตรจารย์ว่า

"เฮียไปเชื่อเรื่องลึกลับด้วยเหรอ เฮียเป็นนักวิทยาศาสตร์นะ"


ผมกลัวจังเลยที่จะเห็นเด็กสายวิทย์ ผู้ต้องประกอบสัมมาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต
จะมีกรอบแนวคิดแบบ ศ. จอห์น แมคคาร์ธี จากมหาวิทยลัยสแตนฟอร์ด
เพราะหนังสือที่รีวิวเมื่อวานมีประโยคเด็ดตอนหนึ่ง ที่ไม่ได้ใส่เข้าไป ว่า.......................


"เหตุผลประการเดียวเท่านั้น
ที่เรายังไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างกฎเกณฑ์แบบแผนครอบคลุม
ทุกๆด้านของโลก ในความเป็นจริง เราขาดแคลคูลัสทางตรรกะที่ทรงพลังเพียงพอ"




จบจากซีรีย์เรื่องนี้แล้ว..........................ผมยังเผลอไปแอบเสพย์ติด
จากเทคโนโลยีดูทีวีย้อนหลังผ่านเน็ตอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยละคุณหมอ
แต่เรื่องอะไรนั่นเหรอ? หมอคงทราบดี.................
แหม........................ จะไม่ให้คุณหมอทราบได้อย่างไร
ก็เพราะคุณหมอลงมือเล่นเอง เป็นถึงคุณหมอผ่าตัดบาติสต้าชั้นเทพ "อาซาดะ ริวทาโร่"
ก็เรื่อง yu Team- Medical Dragon ไง! หรือชื่อไทยว่า
"ทีมดราก้อน...คุณหมอหัวใจแกร่ง"
ทีทาง ThaiPBS เอากลับมาฉายใหม่ คุณหมอรู้เรื่องอะเปล่า?????
ฉายช่วงสายวันจันทร์กับวันอังคาร ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต
ผมก็คงติดตามดูผ่านทีวีในที่ทำงานไม่ได้ เจ้านายคงเคืองว่า


"ถ้าอยากเป็นหมอ ก็ไปมหิดลหรือศิริราชโน้น!"


โธ่! ก็คุณหมอก็เล่นสักปลื้ม ไม่ตกเป็นทาสทุนนิยมของโรงพยาบาลเอกชนเมชิน
เอาไว้ว่างๆ ผมจะมาเขียนเรื่องที่คุณหมอเล่นบ้าง แต่เพิ่งฉายไปได้สามตอนเอง
อย่างไรคุณหมอก็พยายามเข้านะ "กัมปะเตะ"






ข้อมูลจาก

-//jkdramas.com/jdramas/09/TeamMedicalDragon/index.htm
-//tv.thai4promotion.com/lasttv.php
-//forums2.popcornfor2.com/index.php?showtopic=220
-Galileo: เรื่องไม่เชื่ออย่าลบหลู่...ไม่มีจริง!!/ต่อพงษ์






 

Create Date : 22 มิถุนายน 2552    
Last Update : 14 ตุลาคม 2555 21:04:54 น.
Counter : 2157 Pageviews.  

ก่อนจะchange เป็น..คิมูระ ทาคุยะ



หลายคนคงอาจจะได้ดูซีรีย์ญี่ปุ่นที่ชื่อ Change ทางสถานีไทยพีบีเอส
ที่ฉายในทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา สองทุ่มครึ่งโดยประมาณ
ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่ได้รับชมด้วย เนื่องจากที่ๆผมอยู่นั่น "ไม่มีทีวี"
ถึงมี.......ก็ไม่มีเวลาพอที่จะอ้างให้ลากลับบ้านเร็วขึ้น ทั้งๆที่งานในมือยังไม่เสร็จ
แต่ด้วยเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน การรับชมสิ่งบันเทิง ไม่จำเป็นต้องอดทนรอความ
เมตตาจากทางสถานีไทย จึงจะได้เปิดกะลาวิสัยจากนอกราชอาณาเขต
อย่างน้อย.......ก็ยังมีอีกหลายช่องทางที่จะทำให้เราสามารถรับชมได้ก่อนใครๆ
ที่เขามีจานรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคปกติ เพราะถ้าหากเป็นในสมัยสักสิบปีก่อน
ถ้าละครเรื่องใดที่พลาดไปแล้ว ต้องถือว่าละสังขารให้ต้องพลาดไปเลย
จะได้ชมอีกทีก็ต้องให้ทางสถานีนำมา Re-run หรือไม่ก็
ถูกจำหน่ายในรูปแบบของการอัดทับม้วนตลับวิดีโอเถื่อนไปในที่สุด

เกริ่นมาเพียงเท่านี้ หาได้จะมาขอประมูลหาซื้อทีวีมือสองแต่ประการใด
แต่เนื่องด้วย การติดใจในแสดงของพี่พระเอกในซีรีย์เรื่อง "Change" กระทาชายในบท
"อาซากุระ เคนตะ" นายกมือใหม่หัวใจประชาชน จึงอยากที่จะทำความรู้จักตามประสา
ที่ได้ติดตามผลงานของพี่แกมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ดวงชะตามักไม่ค่อยพลาด
ละครที่พี่แกรับเล่น (อาจเพราะเราราศีเดือนเดียวกัน)
ความที่................ละครของแกรับเล่น พอได้ผ่านตาตามประสาคนเคยติดหน้าจอ
ดูซีรีย์ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังมีสถานีโทรทัศน์ที่ละเมิดต่อเจตนารมณ์คนเดือนพฤษภา
อย่างไอทีวี ประกอบกับเคยได้อ่านประวัติของพี่นักแสดงท่านนี้ อย่างพอทำเนาตาม
เเมกกาซีนวัยรุ่น ที่ครั้งหนึ่งผมเคยได้รับเกียรติ์ให้ได้เป็น
ซึ่งถ้าให้เทียบกับเส้นทางความเป็นนักแสดงในเมืองไทย ก็ต้อง "มอส ปฏิภาณ" โน้นกระมัง
และ.....................อย่าได้ถามผมว่า เทียบกับซูเปอร์สตาร์เมืองไทยอย่าง "เบริ์ด ธงไชย" ได้ไหม?
อย่างน้อยๆ ในหนังอาร์ทระดับเอเชียของ "หว่อง กาไว่"
ที่ชื่อ ๒๐๔๖ ที่ว่าจะเชิญพ่อเบริ์ดไปเล่น สุดท้ายผู้กำกับเขายังต้องเลือกนายทาคูยะ
เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของแก!!

ยอมรับสภาพก่อนนะครับว่า ผมเป็น "แมนจรดตัว"
ส่วนสมมติฐานของอาการความคลั่งไคล้ดารา ก็เป็นเพียงว่าสนใจตามประสาวัยรุ่น
เพื่อจะได้เป็นคนที่อินเทรนด์ ไม่ได้ตกกระแสชนิดที่ว่า บ้านมีภูเขาเป็นเนินกั้นที่หน้าบ้าน
และโดยส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับประวัติของเหล่าดารานักแสดงทั้งจากไทย
และเทศ จะมีก็แต่เพียงนักแสดงบางท่านที่เห็นว่าเข้าตาและมีความประจวบเหมาะ
กับช่วงของการรับชม ไม่ถึงกับชนิดที่ว่าจะต้องตามหา-ล่าเก็บ ถือป้ายไปให้กำลังใจ
หรือถักโคเช่สื่อความหมายภายในก้นบึ่งของหัวใจอะไรประมาณนั้น แต่อาจจะHeartบ้าง
กับนักแสดงสาวบางท่าน ที่แอบสละโสดโดยไม่ขออนุญาตผมเป็นรายบุคคล
ซึ่งก็คงเป็นอาการสามัญทั่วไปของวัยที่เคยรุ่นทุกคน

คนที่มีเวลาติดตามซีรีย์ญี่ปุ่นทั้งแบบต่อเนื่องและแบบสสึมสลือ
คงพอที่จะคุ้นหน้านักแสดงของไอ้หมอนี้ที่ชื่อ ่ "ทาคุยะ คิมุระ" บ้าง ด้วยความที่
ละครที่หมอนี้เล่น มักจะได้รับการฉาย (แม้จะช้า) ในประเทศไทยเสียเกือบจะทุกเรื่อง
ส่วนที่เมืองปลาดิบแทบไม่ต้องเอ่ยให้เมื่อยตุ้ม ผู้คนทุกหัวระแหงจดจำชื่อเขาได้ดี
เสียยิ่งกว่านายกฯของบ้านเขาเสียอีก ด้วยข้อจำกัดของการชมซีรีย์ญี่ปุ่นที่ต้อง
ผ่านสถานีโทรทัศน์ในเมืองไทย จึงจะตีกรอบของการเล่าแบบย่อๆ เฉพาะละครที่ได้ผ่านตา
อันจะละเลยในช่วงที่เข้าสู่ความเป็นดาราหน้าจอแก้ว
ยามที่เจ้าหมอนี้เพิ่งเข้ามาโลดแล่นสู่วงการ
ในเมื่อไม่เคยดูแล้วหนูจะไปรู้ได้ไงละหว่า?



"นายทาคุยะ" วัย ๓๗ เป็นนักแสดงที่เข้าสู่วงการ ตามสูตรของวงการบันเทิงแดนปลาดิบ
ในยุคปี ๘๐-๙๐ ด้วยความใฝ่ฝันโดยส่วนตัวอย่างมุ่งมั่น ที่อยากจะเข้าสู่วงการบันเทิง
ด้วยการสมัครผ่านตัวแทนโมเดลลิ่ง อย่าง Johnny & Associates ที่มักปลุกปั้น
กลุ่มไอดอลวัยใส ก็มีการทดสอบคัดเลือกและฝึกฝนอย่างหนัก จนได้รับการยอมรับ
จากผู้คัดเลือกและแมวมองในสังกัด ตั้งให้เขาเป็นหนึ่งสมาชิกใน Johnny's Juniors
จากนั้นก็ค่อยๆ ไต่เต้าเป็นหางเครื่องหรือเรียกให้อินเตอร์หน่อยก็ต้องเป็น "แดนเซอร์"
ให้กับ Hikaru Genji ซึ่งเป็นนักร้องในสังกัดของ Johnny & Associates เช่นกัน
ด้วยการเต้นอย่างมีลีลาดุเด็ดและเผ็ดมันส์ จนทำให้กลุ่มของเขาได้รับฉายาจากสื่อในวงการว่า
พวกพ่อหนุ่มเท้าสะเก็ดน้ำแข็ง (Skate Boys) ดังนั้นเห็นนายทาคุยะเล่นบทนายกมือใหม่ใน
Change แล้ว หากเอาคลิปสมัยวัยละอ่อนของหมอนี้มาดู อาจต้องงงเป็นไก่ตาแตก
เพราะให้อารมณ์กันคนละFeel เส้นทางของเจ้าพี่ทาคูยะจึงต้องเรียกว่ามีทั้งฝีมือ
จังหวะ ดวงและโชค ทุกวันนี้เส้นทางความเป็นดาราปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้แต่
ถนนทางเดินแห่งดวงดาว ก็ถูกนำมาเป็นกระบวนทางสินค้าเพื่อสร้างมูลค่า มีให้โหวต
และวิจารณ์กันอย่างรุนแรงซึ่งๆหน้า มีตัวเลขที่คล้ายๆบางอาชีพ เพียงแต่มีกระจกกั้น
เป็นจอแก้วแอลซีดี ไม่ต่างจากบาร์โค้ดที่ติดหน้าบรรจุภัณฑ์ นายทาคูยะจึงเป็นนักแสดง
นอกเหนือจากการถูกคัดออกทีมีอีกหลายร้อยหลายพันคนที่ไม่เคยถูกจดจำ จึงคล้ายๆ
วิถีที่ถูกเลือก หลังจากที่วิถีนั้นถูกเลือกจากความเชื่อแรกเริ่มของเขาเอง


แต่ที่ทำให้เขาดังเป็นพลุแตกจนชาวบ้านตายไปหลายศพ
ก็ในตอนที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก ที่ได้รับคัดเลือกและปลุกปั้นอย่างหนักในนาม "SMAP"
(ที่มีความหมายแบบแปลกๆว่า "สหการประชุมของคีตกีฬา" หรือภาษาอังกฤษ
Sports Music Assemble People) ถือเป็นวงไอดอลที่ดังโคตรบนบอร์ดออรีกอนชาร์ต
ก่อนที่จะแยกย้ายตามหนทางของแต่ละคน แม้จะยังคงมีผลงานในนามวงเป็นอยู่ประปราย
ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในวงการบันเทิงต่อ ไปเป็นนักแข่งรถอาชีพก็มี บางคนอนาคตดับเพราะหนีใบสั่ง
ความสัมพันธ์ทางสัญญาระหว่างวงกับตัวทาคูยะ ค่อยๆห่างลงนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖
(เพื่อความทรงจำในเมืองไทยที่ง่ายขึ้น) เมื่อเขาได้รับบทนำในละครวัยรุ่นเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง
ที่แอบรักเพื่อนร่วมชั้น จากนั้นก็รับงานละครที่เข้ามาอีกหลายต่อหลายเรื่อง (แต่ไม่มีบุญตาที่จะได้ชม)
จนใน พ.ศ. ๒๕๔๓ คนไทยจึงได้ประจักษ์ฝีมือการแสดงของนายทาคูยะ
เมื่อไอทีวีออกอากาศ (แต่ผ่านจอทีวี) ในเรื่อง "วุ่นนักรักซะเลย" (Love Vacation)
ที่เล่นได้ประกบกับพระนางอย่าง Tomoko Yamakuchi
เรื่องนี้เกี่ยวกับคู่หมั้นที่เชิดเงินแต่ง จนเจ้าสาวถังแตกต้องขอมาอาศัยอพาร์ทแมนร่วมกับพระเอก
ที่มีอาชีพครูสอนเปียโนเป็นการชั่วคราว (ออกจะถาวร) ซึ่งละครเรื่องนี้เรตติ้งออกจะปานกลาง
แต่ไม่ทันไร.........ละครเรื่องใหม่ที่มีทาคูยะเป็นพระเอกอีกแล้วก็โผล่มาอีกหนึ่งเรื่อง
"รักนี้เพื่อเธอ" (Love Generation) ที่ออกอากาศ ในเวลาเดียวกันเหมือนกับเรื่องแรก
คือ วันพฤหัสกับศุกร์ เวลาสี่ทุ่มครึ่ง คราวนี้เล่นประกบกับนางเอกดาวรุ่ง อ่ยาง Takako
Matsu เรื่องราวของนักออกแบบโฆษณาที่อกหักรักคุด เพราะแฟนสาวไปหมั้นกับพี่ชาย
ของเขาที่เป็นอัยการ จนมาพบรักกับนางเอกที่แอบชอบมาเนินนาน



ความจริงแล้วได้ฟังรายการ "ชวนคิดชวนคุย" ช่วงหนึ่งที่ อ.สุวินัย ภรณวิลัย ได้คุยถึง
เจ้าทาคูยะว่า ไอ้หมอนี้จะรับละครไม่มากแค่ปีละเรื่อง ทำให้เขามีโอกาสได้เลือกบท
ที่เป็นความท้าทายต่ออาชีพทางการแสดงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง
แต่ต้องนับจากช่วงต้นสหัสวรรษ ก่อนหน้านั้นพี่แกรับงานละครแสนถี่ ปีละสองเรื่องอยู่บ่อย
จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ (ความจริงมีละครช่วงทิ้งห่างจาก "รักนี้เพื่อเธอ"
อยู่หลายเรื่องแต่ไม่มีสถานีไหนนำมาฉาย) เริ่มมีบททางการเมืองแบบเฉียด ในบท
อัยการเด็กแนว-มาดเซ่อ แต่ความสามารถทางการสืบคดีชั้นเทพ ในชื่อที่ตั้งแบบเห่ยๆ
"ผม..ฮีโร่นะครับ" (Hero) และยังได้เล่นร่วมกับนางเอกจากเรื่องรักนี้เพื่อเธออีกครั้ง
ละครเรื่องนี้สร้างสถิติเรตติ้งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น
และคว้ารางวัลด้านการสะครทีวีอีกมากมาย จนต้องสร้างภาคต่อมาฉายอีกครั้งในห้าปีข้างหน้า
คือ พ.ศ.๒๕๕๐ และยังมีการถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกต่างหาก
ในชื่อ HERO The Movie มีการเชิญนักแสดงหน้าหล่อเกาหลีมาประชันอย่าง
Lee Byung-Hun มาร่วมเล่นด้วย จำไม่ผิดละครเรื่องนี้ถูกย้ายเวลามาฉาย
เป็นวันพุธและพฤหัสแทน ทำให้พลาดจากชมไปสักตอนถึงสองตอน แต่ดีที่มันจบ
ในแต่ละตอน และจากนั้นมาละครที่มีนายทาคูยะเล่นก็แทบไม่เคยพลาดฉายจากไอทีวีอีกเลย
ไม่ว่าจะทั้งเรื่อง "Good Luck!!" ว่ากันด้วยเรื่องของนักบินโดยสารหรือสจ๊วต
ในสายการบินที่ชาตินิยมหน่อยๆ อย่าง All Nippon Airways ได้เล่นกับเจ้าแม่ซีรีย์อย่าง Kou Shibasaki
ก่อนจะมาเล่นสวมบทนักกีฬาถึงสองเรื่อง อย่าง "เกมส์ รักและศักดิ์ศรี" (Pride)
เล่นเป็นกัปตันทีมไอซ์ฮ็อกกี้ชื่อดัง "Blue Scorpion" โดยมี สาวเจ้าพนักงาน
Blue Tecno-International ที่รับบทโดยเจ้าแม่วงการบันเทิงอีกคน
Yuko Takeuchi จำได้ว่าออกอากาศเสียดึก คือ ห้าทุ่มครึ่ง ของวันศุกร์และวันเสาร์
ง่วงก็ง่วงแต่ก็สู้ติดตามดูจนจบ เพราะละครเรื่องนี้มีสาวๆมากมาย
ตามติดมาด้วยบทของนักแข่งรถ ใน "ซิ่งสุดใจเติมไฟฝัน" (Engine)
ที่หลงไปเป็นนักแข่งสำรองในทีมยุโรปจนถูกระเหิดให้ต้อง มาตั้งหลักที่บ้านเด็กกำพร้าของ
คุณพ่ออุปถัมภ์ งานนี้ก็ได้เล่นกับนางเอกที่ผ่านจอฮอลลิวู้ด อย่าง Tomomi Mizukoshi
และล่าสุดมารับบทนายกรัฐมนตรีของประเทศใน Change "นายกมือใหม่หัวใจประชาชน"
ก็ได้รับเสียงปากต่อปากในทางที่ดีอยู่ไม่น้อย จนคุณพี่ต่อพงษ์
เขียนออกเป็นงานหนังสือเล่มบางๆ ได้ตั้งเล่ม
อีกทั้งปีนี้ ละครล่าสุดที่กำลังออนแอร์ในญี่ปุ่น เรื่อง MR.Brian ที่ฉายในช่อง TBS
จะมาแนวคล้ายซีรีย์ CSI ในบทนิติวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมตำรวจญี่ปุ่น
จะได้ฉายเมืองไทยรึไม่? ไม่อาจเดาได้ เพราะที่ผ่านมาละครของสถานีนี้ที่พี่ทาคูยะเล่น
และได้ฉายในเมืองไทย ก็มีเพียงเรือ่งเดียว คือ Good Luck เท่านั้น !!..........

เขียนเชิดชูให้มากขนาดนี้ เกรงสาวๆจะหลงไปปลาบปลื้มกับเจ้าหมอนี้มากจนเกินงาม
ว่าแล้วก็มาหักหาญน้ำใจกันเล่นๆดีกว่า เพราะนายทาคูยะหาได้คงสถานะความโสดไว้ได้
เพราะได้ประกาศแต่งงานอยู่กินกับศรีภรรยา กับอดีตนักร้อง Shizuka Kudo
ในปีสหัสวรรษ ปัจจุบันสองมือจูงคุณลูกกระเต้งๆ อย่างหนูคนพี่ Kokomi และ
หนูคนน้อง Mitsuki และสถานของครอบครัวในปัจจุบันก็ปกติสุข ยังไม่มีเรือ่งระหองระแหง
ให้ต้องหย่าร้างแต่ประการใด..................ขอเสียใจมา ณ ที่นี้


ซีรีย์ของป๋ายะ ที่ถูกผู้เขียนชำแหละมาแล้วก็มี...

Love Generation:True love never runs smooth

Concerto รักเราชาวสถาปนิก

ข้อมูลเทียบเคียงอย่างดีแล้วจาก...............

//wiki.d-addicts.com/Kimura_Takuya
//wiki.d-addicts.com/smap
//en.wikipedia.org/wiki/Takuya_Kimura
//en.wikipedia.org/wiki/SMAP
//en.wikipedia.org/wiki/Johnny & Associates
//jkdramas.com/jstars/index.htm
คลิปเสียงรายการ "ชวนคิดชวนคุย"

ภาพจาก.....อินเตอร์เนต




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 13 มีนาคม 2553 19:18:02 น.
Counter : 3438 Pageviews.  

departures ศพขึ้นหิ้งออสการ์

ความตายก็คือหนทางในวิถีหนึ่ง ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการทิ้งสิ่งปัจจุบัน

เพื่อไปสู่อนาคต สู่วิถีที่แท้จริง"

สมมตินะครับ สมมติ ...... ถ้าวงศาคณาญาติหรือคนรู้จักของคุณ

ทำงานเกี่ยวกับ "ศพ" ขึ้นมา คุณจะรู้สึกอย่างไร?

คำตอบที่น่าจะเกิดขึ้น คือ ทำไปได้อย่างไร ไม่อายเหรอ?

คำตอบที่ดูดีอีกนิดหน่อย คือ ไม่มีอะไรอย่างอื่นที่ทำดีกว่านี้แล้วรึ?

คำตอบที่ไม่ได้คิดเอง แต่มันออกจากปากโต้งๆ ในภาพยนตร์ ที่ชื่อ

departures

ถ้าไปเมืองยุ่น เขาจะรู้จักกันในชื่อ Okuribito ขืนไปเรียกอะไรเชอร์ๆ เขาจะไปนึกเอาว่า

มันเป็นหนังฮอลีวู้ดรีเมกเอเชีย อย่าง Departed เอา




หนังเรื่องนี้ กลายเป็นหนังที่คนทั่วโลกหลายคน อยากรู้จักกับมันมากขึ้น

เมื่อเวทีออสการ์ยกให้หนังเรื่องนี้เหมาะสมกับ "ภาพยนตร์ต่างประเทศยอด

เยี่ยม" ในปีล่าสุด ( Academy Award for Best Foreign Language Film )
ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้รับรางวัลดังกล่าวก็ตามที ก็มิทำให้หนังเรื่องนี้ลด

ทอนความน่าดูลงไป เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีคุณน้อง เรียวโก ฮิโรสุเอะ ที่พี่ผู้

เขียนปลื้มนึกปลื้มหนา ตามประสาตาเฒ่าหัวแป้งตรางู ที่ติดตามและชื่นชอบ

ตัวคุณน้องตั้งแต่ยังอายุย่างเข้าวัย ๑๔ จากละครซีรีย์ Beach Boys

( ร้อนนักก็พักร้อน ) Long Vacation ( วุ่นนักรักซะเลย ) และ Shotgun

Marriage ( แต่งงานกันเถอะนะ )

ซึ่งละครโดยทั้งหมดเคยมาฉายในไอทีวี แม้ชีวิตแต่งงานคุณน้องจะไม่ราบรื่น

แต่พี่คนนี้ก็ยังเอาใจช่วยเสมอ ................เข้าเรื่องหนังดีกว่า




ตอนที่ได้ยินเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ ในตอนที่ประกาศบนเวทีออสการ์

และได้เห็นคุณน้องเรียวโกะพร้อมผู้กำกับ โยจิโร่ ทากิตะ ขึ้นไปรับรางวัล

ก็ยังนึกเดาแนวเรื่องประเภทไหนกัน ที่จะดลใจคณะกรรมการพิจารณารางวัล

ยิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเฉพาะแบบตะวันออกด้วยแล้ว

กลับทำให้ผมกระสันที่จะแสวงหาหนังเรื่องนี้เป็นเท่าตัว สุดท้ายก็ได้มันมา

ตามประสาคนหารอบหนังในโรงภาพยนตร์ไทยไม่ได้เช่นเคย

สำหรับผู้กำกับท่านนี้ เคยกำกับหนังผ่านตาผู้เขียนเรือ่งเดียว คือ Himitsu

ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่น ก็เพราะมีน้องเรียวโกะร่วมเล่นเป็นนางเอก (อีกนั้นเอง)

แต่อารมณ์จะผิดกัน เพราะเรื่องโน่นเป็นหนังรักโรแมนติกบนปฎิหารย์หน่อยๆ

ใครจะไปคิดว่าอีกสิบปีต่อมา ผู้กำกับโยจิโร่คนนี้จะยกระดับฝีมือตัวเอง

จนพอคู่ควรกับรางวัลออสการ์ไปได้ แม้ส่วนตัวน่าจะมีหนังญี่ปุ่นอีกหลายเรื่อง

ที่สมควรได้มากกว่า อย่าง Tokyo Sonata เป็นต้น





หนังว่าด้วยเรื่องของ "คนเมืองขี้แพ้" ที่ไม่อาจเอาดีกับอาชีพสีเชลโล่

เครื่องสายที่เป็นส่วนหนึ่งในวงออเคสตาร์วงใหญ่ ไม่ใช่ว่านาย

"ไดโงะ โคบายาชิ"

( เล่นโดย มาซาฮิโร โมโตกิ-ผ่านตาจาก ละครซีรีย์ Black Jack ภาคคนเล่น

ทั้ง ๓ ภาค)

ไม่ใช่ว่าพี่ไดโงะจะเล่นไม่เก่งนะครับ เพียงแต่ตลาดของผู้ชมออเคสตาร์ใน

เมืองใหญ่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ผู้จัดการวงจึงทำได้ดีที่สุดด้วยการ "ยุบวง"

ใครมีพรสวรรค์ก็หาช่องทางอื่นกันไป แต่พี่ไดโงะแกคงท้อกับชีวิตเมือง

ใหญ่ จึงบอกกับหวานใจ มิกะ โคบายาชิ (น้องเรียวโกะ) ว่า


"เรากลับไปอยู่บ้านนอกกันเถอะ"



หวานใจพี่ท่านก็แสนดีปานเเม่พระกลับชาติเกิด สามีบอกให้ไปก็ไป

ทิ้งอาชีพและปัจจุบันที่สร้างสมไว้ในเมืองกรุง แม้ก่อนหน้านี้สามีจะเป็นคน

ชอบปิดบัง แม้กระทั่งเชลโล่เครื่องใหญ่ที่เล่นมา สามีเจ้ากรรมแอบไปผ่อน

มากกว่า ๑๘ ล้านเยน ก็ไม่แสดงอาการโกรธสักแอ้ก แต่อย่างว่าคนรัก

กัน มันคงต้องมีอะไรดีสักอย่างสองอย่าง พี่ไดโงะโดยพื้นฐาน แกก็เป็นคน

ดีมีเมตตา ขนาดหวานใจไปจ่ายตลาด แล้วไปพบว่าปลาหมึกยักษ์ที่ซื้อมายัง

ไม่ตาย พี่แกก็อุตสาห์พาไปปล่อยลงแม่น้ำกลางเมืองตั้งไกล

รู้งี้ตอนเรียนอยู่ ถ้าไม่ไปบ้ากับเพื่อนตกปลาที่บึงหลังมหาลัย ปานี้ก็เด็กตึม

ไปตั้งนานแล้ว ถึงแม้พี่แกจะกลับมาบ้านนอก ก็ยังไม่รู้จักหาโปรเจ๊คในการทำ

งานทำการใดใด จนกระทั่งไปอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ในคอลัมภ์สมัครงาน

พบกับประกาศแจ้งกรอบเล็กๆ ว่า



"รับสมัครงาน ไม่จำกัดอายุ รายได้ดี ใช้เวลาทำงานน้อย แถมยังจ้างเป็น

พนักงานประจำ สมัครกับเราได้ที่ NK AGENT งานที่อำนวยความสะดวกใน

การเดินทาง...........ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์"






อ่านเท่านี้ ถ้าเป็นเมืองไทยเดาได้เลยว่า ต้องเป็นงานหลอกแหง๋ๆ

ประเภทติดป้ายตามตู้โทรศัพท์ บอกรายละเอียดไม่ชัด เบอร์โทรก็เป็นเบอร์

มือถือ ที่สำคัญ ..........ต้องบอกชื่อเล่นกับชื่อจริง............ห้ามบอกนาม

สกุล

แต่ที่ญี่ปุ่นเขามองโลกในแง่ดี ที่ไม่คิดว่าเป็นการหลอกเหมือนในเมือง

ไทย แม้แต่หวานใจก็ยังนึกไปว่าเป็นบริษัทไกด์ทัวร์นำเที่ยว พี่ไดโงะ

พระเอกของเราไปก็ไม่เสียเที่ยว ไปปุบก็ได้งานปับ ไม่ต้องสัมภาษณ์

อะไรกันมาก ไม่แคร์ว่าพี่ไดโงะจะเอาประวัติอะไรมาให้อ่าน

ไม่ต้องมีเงินประกัน แถมยังบอกเลขาฯ ช่วยทำนามบัตรให้ทันที อีกทั้งยัง

มัดมือชก ด้วยการบอกว่าจะให้เงินเดือน เดือนละ ๕ แสนเยนหรือจะให้จ่าย

เป็นรายวันก็ได้ สุดท้ายพอพี่พระเอกซักไซ้ไปถึงได้รู้ว่า ทำงานเกี่ยวกับศพ!

NK Agents เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า Noukan ที่แปลว่า "ทำศพ" อย่างนี้นี่

เอง




พี่พระเอกรู้เข้า ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ตอบรับก็เท่ากับ

ไม่ปฏิเสธ แถมยังจ่ายเงินก่อนทำงานให้ก้อนหนึ่ง ตกงานอยู่ไม่เอาก็โง่แล้ว

โดยตำแหน่งแรกที่ได้ คือ เป็นผู้ข่วยหัวหน้า อิกูเอะ ซาซากิ (เล่นโดย

Tsutomu Yamazaki) แต่จะไม่ให้เป็นผู้ข่วยก็ไม่ได้ เพราะตำแหน่งมัน

บังคับ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีแต่ท่านอิกูอิกับเลขาฯ ทำงานกันอยู่สองคนทั้ง

บริษัท ได้พี่ไดโงะมา จึงร่วมพลังกำลังสามแรงแข็งขัน

ประธานอิกูอิ ก็ให้แง่คิดดี โดยให้มองความแตกต่างระหว่างเนื้อสัตว์ที่เรากิน

ก็เป็นศพเหมือนกัน แต่จะต่างหน่อยก็ตรงที่ "มันอร่อย" ว่าแล้วก็ส่งให้อีก

ชิ้น ...............งั้มมมม

แต่อาชีพที่ว่า หาใช่ "สัปหร่อ" อย่างที่คนอื่นๆ เขาว่าไว้

ควรจะเรียกว่าอาชีพ "พิธีการทำศพ" เสียมากกว่า เห็นภาษาอังกฤษใน

wikipedia เขาใช้ว่า "encoffinment" ก็ให้ความหมายที่หยาบเกินไป เพราะ

ถ้าใครได้ชมรูปแบบพิธีในหนังแล้ว จะรู้ว่ามันมีความงดงาม สงบและเรียบ

ง่าย แบบที่คนเป็นอย่างผมไม่นึกไม่ฝัน ( และไม่เคยตาย ) มาก่อน ( ความ

จริงสิ่งแรกที่เเกได้ทำ คือ เป็นนายแบบให้ NK Agents ถ้าจะให้นับแบบซีเรียสสุดๆ )

พิธีศพจึงคล้ายๆกับ รูปแบบพิธีการชงชาแบบญี่ปุ่น ที่เน้นความพิถีพิถันผสม

กับศิลปศาสตร์ เขาจึงถือว่าชงชาไม่ได้เพียงแค่ชงชา แต่เป็นการชงจิตใจให้

เข้าไปในเนื้อเดียวกันกับชาในถ้วย

ว่าแล้ว .................ก็ไปชงอเนกประสงค์ลิปตันดื่มเสียยังง่ายกว่าอีก++




ดังนั้น ........การใช้คำว่า "Departures" จึงถูกตรงคล้องจองกับความหมายใน

หนังมากที่สุดแล้ว ตำแหน่งแรกของพี่ไดโงะ ควรจะใช้คำว่า "the assist of

departure" คือ ผู้ช่วยนะ แต่อย่างว่า

การสัมผัสเกี่ยวกับศพ ว่าเป็นที่น่ารังเกียจแล้ว ยังไม่เท่ากับทัศนคติทาง

สังคม ที่มองคนที่ข้องเกี่ยวกับ "ศพ" ว่าเป็นสิ่งที่น่าเกียจ ขยะแขยงและ

อัปมงคลตามไปด้วยยิ่งกว่า พี่ไดโงะจึงต้องเผชิญทั้งศพที่เป็นศพจริงๆ และ

คนหากินกับศพจากมุมมองของคนรอบข้าง

สำหรับคนญี่ปุ่น การได้รับความรังเกียจจากสังคมที่ตนสังกัด มันเหมือนกับ

ตายทั้งเป็นนะครับ หนังญี่ปุ่นฉลาดที่จะไม่เปลี่ยนบุคคลิภาพของตัวละคร

เราจึงพอคาดเดาได้ว่า อาชีพใหม่ของพี่ไดโงะที่บอกกับตัวเองตอนเริ่มต้นของ

เรื่อง ว่า

"พาชีวิตตนเองมาเจอกับสิ่งที่ไม่น่าจดจำ"

จึงเป็นความพยายามที่จะไม่นึกถึง ว่าปัจจุบันตนเองกำลังทำหน้าที่อะไรอยู่

ไม่กล้าที่จะบอกแก่คนรอบข้าง ปล่อยให้ผู้คนนึกถึงความสามารถในการเล่น

เชลโล่ ที่แม้แต่เด็กเล็ก ยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ยิน ไม่พ้นแม้แต่ภรรยาของตน

เองที่คอยให้กำลังใจแก่เขาเสมอมา





ความแปลกประหลาดของหนังเรื่องนี้ คือ การบรรยายเรือ่งราวเล็กๆของชีวิต

สามีกับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่ยังมีสภาพตกค้างของคนหนุ่มคนสาว ที่จำต้อง

ดิ้นรนจนกลายเป็นผู้ที่รู้สึกแพ้ แต่ต้องมาเผชิญจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งใหญ่

ภายใต้เงื่อนไขทางอาชีพที่เป็นข้อรังเกียจของคนโดยส่วนใหญ่ ที่ยังมองความ

ตายเป็นเรื่องของความแปลกแยกในชีวิต เป็นสิ่งไม่ปรารถนา

และบุคคลใดที่เข้าใกล้ ก็จะถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล ไม่แปลกที่พระเอกของ

เรื่องในตอนต้น ก็ยังมีความรู้สึกที่ไม่ต่างจากคนอื่นทั่วไป แต่เมื่อได้เข้ามา

ใกล้ชิดและสัมผัสกับความรู้สึกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่มีต่อผู้ตายในครั้งสุดท้าย

ได้เห็นการแต่งแต้มใบหน้าและเครื่องอาภรณ์ ก่อนที่จะลงสู่เชิงตะกอน

ความคิดของเขาก็ค่อยๆแปรเปลี่ยนไป

ถ้า "มรณานุสติ" คือ การได้มั่นพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต

นายไดโงะคนนี้ ก็น่าจะเข้าถึงหลักปรัชญาบางอย่าง ที่ทำให้เขาเชื่อและ

ศรัทธาต่องานที่เขาได้ทำ ปัญหาที่เหลือของเขา คือ การทำให้ผู้อื่นยอมรับใน

หน้าที่และอาชีพของเขาที่เขาเป็น จึงเป็นข้อผกผัน ที่แม้คนเป็นจะรังเกียจ

แต่ยากที่จะปฏิเสธโลกแห่งความตาย แม้ค่าใช้จ่ายในพิธีกรรมที่มีให้ต่อคนตาย

จะเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แต่ก็เป็นสิ่งเดียวที่คนเป็นจะมีให้แก่ผู้ตายอย่างดีที่สุดที่

เขาจะมีให้ได้ (ซึ่งถ้าไม่มีให้ คงรู้ถึงผลที่จะตามมาของวงศาคณาญาติได้ไม่

ยาก) สุดท้าย เมื่อทุกคนเห็นสิ่งที่เขาได้ทำ ต่างก็ยอมรับ แม้ไม่เอ่ย

ปากบอก แต่มันก็ฟ้องด้วยสายตาที่ดูอ่อนโยนและสีหน้าที่ต้องมาตั้งคำถามกับ

ตัวเองให้มากขึ้น ต้องใช้คำว่า "ไหลเอื่อย" สำหรับหนังเรื่องนี้ แต่กับสะกด

คนดูให้อยากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง

ส่วนหนึ่ง คงเพราะอยากเอาใจช่วยตัวละครให้ผ่านพ้นวิกฤตชีวิต

ส่วนหนึ่ง อยากเห็นพัฒนาการของตัวละครว่าไปทิศทางไหน

ส่วนตัว อยากเห็นหน้าน้องเรียวโกะเยอะๆ ถ้าพี่ไดโงะไม่ทำให้หวานใจหนี

ไปบ้านแม่ จนคุณน้องเรียวโกะหายไปจากเรื่องตั้งหลายนาทีกาล





นอกจากความงดงามของพิธีกรรมชำระล้างร่างศพ อันเป็นการชำระมลทินที่เชื่อ

ว่าจะติดตัวผู้ตายไปสู่โลกใหม่ที่ไม่สู่สุขคติ หนังที่มีการเปลื้องผ้าศพอยู่

หลายตอน แต่ก็ไม่โป๊เปลือยให้เหนื่อยใจ กบว. จนต้องหายาหม่องมาป้าย

หรือตัดต่อให้จี๊ดอารมณ์ ไม่ใช่ด้วยเทคนิคของผู้กำกับหรอกครับ แต่เป็นภุมิ

ปัญญาทางพิธีนิยม ที่มีแต่ต้นแต่ก่อน ซึ่งเรียก "น้ำตาความประทับใจ" ใน

ทุกครั้งที่มีศพเข้ากล้อง (จึงลุ้นให้มีศพต่อไปในหนังแทน)

ยิ่งเวลาที่คนเป็น จำต้องอาลัยศพในครั้งสุดท้าย สารภาพความรู้สึกต่อคน

ตายอย่างหมดเปลือก หลุดพ้นอัตตาที่เก็บกดอารมณ์ เหมือนกับตอนที่สวม

หน้ากากร่วมเป็นๆ ด้วยกันอยู่ เราจึงเห็นความรักที่พ่อมีต่อลูกที่เกเร แม่ที่รับ

ไม่ได้กับการที่ลูกไปแปลงเพศ และสามีขี้โมโหที่มีต่อภรรยาที่จากลา

หนังที่ดูทำท่าว่าจะจบลงด้วยดี เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดูคลี่คลายไปในทางที่บวก

อยู่ๆ ก็มีโทรเลขส่งตรงมายังบ้านตระกูลโคบายาชิ สอดรับกับปมปัญหาของ

นายโดโงะ ที่กล่าวถึงการไม่ยอมรับในตัวพ่อของเขาที่ทิ้งเขาให้อยู่กับแม่สอง

คน (แต่เขากับจำทุกอย่างที่พ่อสอนได้เสมอ) นำมาซึ่งช๊อตที่ไฮไลต์ของ

หนัง ด้วยความฉลาดของหนังญี่ปุ่น (อีกเช่นเคย)

คือ การทิ้งปมไว้กลางเรื่องแล้วคอยมาขมวดปมในช่วงท้าย

เมื่อสาสน์จากหินก้อน (stone-letter) กับ ความเป็นพ่อที่ทิ้งลูกไปกว่า ๗

ทศวรรษ ผมว่าคงด้วยช๊อตนี้ที่ทำเอา คณะกรรมการออสการ์ต้องยกรางวัลให้

หนังเรื่องนี้พร้อมน้ำตา และได้ไปอ่านกระทู้ในความคิดเห็น ก็หาได้มีใคร

ต่อมน้ำตาสูงชันพอที่เก็บกักเอาไว้อยู่




คงไม่อธิบายถึงความดีจากหนังเรื่องนี้มากมาย หลายรางวัลที่มอบให้

ก็ล้วนเป็นเครื่องการันตีในผลงานของหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว

อีกทั้งยังได้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองญี่ปุ่นในหลายๆด้าน

ยิ่งหนังเรื่องนี้ พระเอกของเรื่องต้องไปหัดทั้ง "ศิลปะการทำพิธีศพ" (the

art of encoffinment) และยังต้องไปฝึก "การเล่นเชลโล" ให้ดูเนียน ซึ่งก็

ทำได้ดีจนนึกว่าเป็นพรสรรคในชีวิตจริง

(จนได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Asian Film Award และ

Award of the Japanese Academy)

ถ้าช่วงนี้ใครซอยหัวหอมแล้วน้ำตาไม่ไหล ผมว่าหนังเรื่องนี้คงเล่นเอาท่านตาช้ำ

แบบปีติรมย์ได้หลายตอน และสร้างทรรศนะในแง่ดีต่ออาชีพและโลกแห่ง

ความตายได้พอสมควร ส่วนตัว "ศพ" เองก็ไม่ได้ถูกสร้างให้มีความน่ากลัว

แต่ประการใด ยิ่งทำให้เราอยากศึกษา "ศพ" ในเชิงที่เป็นส่วนหนึ่งของความ

ผูกพันธ์กับคนในครอบครัว มากกว่าการศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์เสียอีก

ปรับเปลี่ยนความเชื่อของพิธีกรรมว่าเป็นความฟุ่มเฟ้อและเสียเวลา เพียง

เพราะเราไม่ได้ใส่ใจในความงดงามที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน อันขึ้นอยู่กับการตี

ความของแต่ละคน


"เหมือนที่ใครบางคนบอกความตายไม่ใข่เรื่องที่น่ากลัว มากไปกว่าเมื่อตายไป

แล้วไม่เหลือใคร"



ข้อมูล จาก wikipedia , imdb and jkdramas






 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 31 ธันวาคม 2552 15:08:50 น.
Counter : 1563 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.