A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
อาลัยเขา ผู้ทำให้เรารู้จักญาติที่ชื่อ "บุญชู"





ความจริงตัวผมเองไม่ได้มีรสนิยมอ่านคอลัมภ์ดวงชะตาด้วยฐาน
ความคิดบางอย่าง ที่เชื่อว่าการไม่รู้อะไรในอนาคต คือ พรสวรรค์
ที่แสนดีที่ธรรมชาติประทานให้ แต่สุดท้ายเหล่าบริวารรอบข้าง
ประเภทฝ่ายสาวออฟฟิคและเกือบเป็นสาวออฟฟิค มักนิยมล้อมกรอบ
บุคคลากรรอบข้างเพื่อเทียบเคียงดวงชะตาส่วนตน ถ้าร้ายก็หวังว่า
จะมีเพื่อนร่วมร้าย ยิ่งถ้าดีก็ขอให้ดียิ่งกว่า สรุปเอาเองว่าถึงแม้ว่าจะ
ได้คำตอบส่วนตนเรียบร้อย ส่วนลึกๆของใจก็ยังไม่เชื่อมั่นในคำพยากรณ์
จนกว่าจะมีเครื่องเทียบเคียงเชิงตัวบุคคล ถ้าตรงเผงเมื่อไร ก็เตรียมใจ
รอได้ว่า อั๊วะก็จะเป็นรายต่อไปแน่นอน



คำพยากรณ์ที่ตนเองมักถูกโดนย้ำแล้วย้ำเล่า แทบทุกเดือน คือ
"การจะได้พบมิตรรักที่จากไปไกล"
อาจบิดเบี้ยวไม่ตรงประเด็นนัก แต่โดยหลักการแล้วนี้มันใช่เลย
สำหรับประเด็นนี้มิใช่เรื่องแปลก ตราบเท่าที่ผมเองมักเป็น
ฝ่ายเข้าหาเพื่อนมิตรเก่าๆอยู่ตลอดเวลา ผมว่า ดวงชะตาของเพื่อนรักของ
ผมถูกกระทำจากการเข้าหามิตรเก่าด้วยตัวของผมเองเสียมากกว่า แต่แล้ว
วันนี้ มิตรเก่าท่านหนึ่งก็ปรากฎตัวแบบที่ผมเองไม่ทันตั้งตัว เพราะรอบสัปดาห์
มัวแต่ใส่ใจอยู่กับปัญหาบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด จนเฉียดหน้าโรงหนังแบบเดิน
ดุ้มๆแบบไม่ได้ทำการบ้านมา คำพยากรณ์นั่นก็สำแดงเดชเอาเสียสองเด้ง
เด้งแรกได้พบมิตรเก่า เด้งสองมิตรเก่าเขามีทายาทตามมาด้วย ลูกมันชื่อ
"บุญโชค" ส่วนพ่อมันชื่อ"บุญชู" จุดดีที่ยกชูอยู่ที่สระอู..............



บุญชู (แสดงโดยสันติสุข พรหมศิริ)
เป็นหนังมหากาพย์แบบไทยๆที่ถูกสร้างเสียหลายภาค
(แม้จะบอกว่าภาคเก้าแต่เอาเข้าจริงๆ เป็นเพียงภาคหกเท่านั้น)
หนังที่สร้างให้สันติสุขกับจินตหรา ดังพลุแตกกลายเป็นดาราคู่ขวัญ
ประจำประเทศแห่งยุคสมัย
(จนมีความพยายามที่จะให้กลายเป็นคู่รักจริงนอกจอ)
ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๐ ถือเป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้อาบัณฑิต ฤทธิ์กล
แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะผู้กำกับแห่งค่ายไฟร์สตาร์
(แม้ระยะหลัง จะพยายามสร้างงานที่ฉีกแนวออกไปหลายต่อหลายเรื่อง
อาทิ อุกการบาต ๑๔ตุลาสงครามประชาชน สตางค์ เป็นต้น
ล้วนเป็นหนังที่ไม่ทำเงินเท่ากับบุญชู
แม้คุณภาพในบางเรื่องถือเป็นหนังที่น่าปรบมือให้ดังๆ ว่ากันว่า ตัว"บุญชู"
คือ อัตลักษณ์ของลักษณะอัธยาศัยแบบไทยๆ ที่มีชีวิตเรียบง่าย
ใสซื่อ บริสุทธิ์และมีจารีตทางพุทธศาสนามากำกับพฤติกรรมในตัวบุคคล
แวดล้อมไปด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรรม เพียงแต่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง
กับสังคมเมือง ด้วยแนวคิดเชิงอุดมคติที่จะนำความรู้จากมหาวิทยาลัย
มาพัฒนาท้องถิ่นแห่งหมู่บ้านโข้งในฐานะตัวแทนคนเดียวของหมู่บ้าน
ที่กำลังจะมีใบปริญญามาประดับเพื่อเป็นโอท้อปของชุมชน



แต่สุดท้ายหนุ่มบ้านนอกคอกนา ผู้พกพฤติกรรมแบบอุดคติชุมชนไทย
ต้องมาเผชิญกับสังคมอีกด้านที่แทบจะเป็นอีกคนละขั้ว
กับมวลมิตรจากสารทิศของประเทศ ในมหาวิทยาลัยเกษตร
ความซื่อๆของบุญชู บวกกับอาการเซ่อที่คนต่างถิ่นก็ย่อมจะให้อภัย
สามารถซื้อใจหมู่ลิงทะโมน อย่าง ไวยกรณ์ (วัชระ ปานเอี่ยม)
หยอย (เกียรติ กิจเจริญ) คำมูล (กฤษณ์ ศุกระมงคล)
เฉื่อย (ดร. นฤพนธ์ ไชยยศ) นรา (อรุณ ภาวิไล) ประพันธ์ (เกรียงไกร อมาตยกุล)
ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้ตัวละครเอก มันไม่ใช่แค่หนังสะท้อนสังคม
เพียงเท่านั้นมันยังทำให้เสียงหัวเราะสะท้อนกึกก้องโรงภาพยนตร์ได้อย่างชะงักนักแล



ในฐานะคนที่เติบโตและได้ชมโรงหนังติดพัดลม ที่มีลำโพงใหญ่เพียงสองตัว
บุญชูจึงมีเสน่ห์ที่ไม่ต้องอาศัยภาพที่คมชัด มีเสียงเซอร์ราวรอบทิศทาง
จึงเป็นหนังที่ขายสาระของเรื่องเพียวๆ ตามคอนเซปต์ตลกแบบมีสาระ
จำได้ว่า ภาคแรก "บุญชู ผู้น่ารัก"
เด็กชายอย่างผมแทบไม่สนใจดาราเอกเท่ากับเหล่าตัวประกอบเรียกเสียงฮา
เพราะกระแสหนังกลิ่นสีและกาวแป้งที่แทบยกขบวนมาเล่นหนังอีกเรื่อง
ถือเป็นตลกแบบปัญญาชน ที่เด็กประถมอย่างผมสนแต่เรื่องขบขันเพียงอย่างเดียว
เมื่อบุญชู บ้านโข่ง เข้ามากวดวิชาในเมือง พบรักแรกกับสาวน้อย
จริงๆ นะ แต่ตอนนั้น อย่างโมลี (จินตหรา สุขพัตร)
คำว่า"น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า"จึงเป็นคำสอนของแม่บุญชู ที่ผมจำแม่นมากกว่าคำขวัญวันเด็กเสียอีก
พอมาภาคสอง "บุญชูสองน้องใหม่" ความเป็นผู้ใหญ่ของตัวละครขยับขึ้นอีก
ก้าวกับเรื่องเศร้าๆที่บุญชู เอ็นท์ไม่ติดจิตตก จนต้องกลับไปเลี้ยงควายที่สุพรรณบ้านนอก
แต่เพราะเป็นเด็กรักดี จึงมีเส้นของมหาแจ่มที่เป็นบรรณารักษ์ที่มหาลัยลูกแม่โดม
พอจำได้ดีว่าตอนนี้บุญชูแกมีความรักเชือ่มต่อกันหลายเครือที่ลุ้นระทึกแบบเอาใจช่วย
เป็นตอนแบบแฮปปี้ เพราะรักไปได้ดี เอ็นท์อีกทีก็ปรีดีแบบต้องลุ้นตัวโก่ง



โผล่อีกที บุญชูโตไปไกล เพราะหนังเล่นขึ้นไปภาคห้า
(จำได้ว่ามีจบแบบหลอกๆอยู่หลายช่วง จนลุกเก้าอี้ออกจากโรงอยู่หลายหน)
"บุญชูห้าเนื้อหอม" ถือเป็นภาคประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
เพราะพี่บุญชูกระโดดแข่งเป็นกรรมการมหาวิทยาลัย เข้าช่วยเหลือทุนการศึกษาของรุ่นน้อง
เพราะมีรุ่นพี่ใจร้ายโกงเงินเด็ก ไปกินเหล้าเมายา ใช้จ่ายเสียฟุ่มเฟือย
(ขอย้ำเป็นเรื่องเกือบยี่สิบปีก่อน มิใช่สภาพสังคมปัจจุบัน ย้ำจริงๆนะี่พี่น้อง)
พอมาภาคหกสระอูไม่ยาวแต่ชื่อโคตรยาว
"ตอนโลกนี้ดีออกสุดสวยน่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย"
ถือเป็นชีวิตภาคการศึกษาใกล้ฝั่ง เรียนจนถึงปีสี่
งานนี้มีตัวละครเพิ่ม อย่างทองดีญาติ ห่างๆที่สำรองนิสัยบุญชูแทบทุกกระเบียดนิ้ว
นางเอกอย่างโมลีจบไปก่อนหน้า (ตามประสาเด็กเรียนเก่ง)
มาทำงานกับพี่สาวที่ชื่อมานี(ที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวละครเล่นหลายตัว
แต่มานีในสมองส่วนตัว สมควรให้ตำแหน่งนี้แก่ญานี จงวิสุทธผู้เดียว)
ตอนนี้ไม่ได้สร้างความขัดแย้งในเรื่องราวชีวิตแต่เป็นมิตรภาพของเพื่อนฝูง
เป็นตอนที่ผมชอบน้อยที่สุด รู้สึกถึงความไม่ลงตัว กลิ่นของความเป็นบุญชูก็ออกแปร่งๆไปพิกล
น้ำหนักของตัวละครหลายตัวขาดเสน่ห์ไป แต่ต้องดูจนจบในฐานะแฟนพันธ์ทางแบบไม่รู้ตัว



ภาคเจ็ด(ที่คิดว่าจะอวสานแน่ ตามปากท่านพี่บัญฑิตที่บอกว่าจะไม่คิดสร้างแล้ว)
"รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ" ล้อเลียนชื่อหนังจีนฮ่องกงแปลงให้
เป็นไทยในสมัยนั้นหลายเรื่องมาปะแปะ
เรื่องนี้ถือมองโลกในแง่ไกลที่เข้าสมัยคนบ้าเห่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้
เมื่อแม่บุญล้อมเอ่ยปากยกบ้านริมน้ำให้เป็นเรือนหอของบุญชูกับโมลี
ขณะมานียื่นคำขาดหากทั้งสองจะแต่งงานกันก็ต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ
ศึกแย่งกรรมสิทธิ์ชิวิตจึงเกิดขึ้น ด้วยเงื่อนไขที่ว่าถ้าแม่น้ำลำคลองที่เน่าเสีย
ของเรือนหอบ้านริมน้ำ ถูกโสตทัศนวิสัยสะอาดจากกรมอนามัย
ก็จะให้แต่งงานอยู่กินที่บ้านโข่งชนบทประเทศ
งานนี้จึงเดือดร้อนเหล่าเพื่อนๆของบุญชู ที่ต้องเร่งมือซ่อมแซ่มเรือนหอ
และรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมเน่าเสียในท้องที่
การเปิดประตูน้ำเหนือเขื่อนเพื่อไล่น้ำเสีย กลายเป็นอภิมหาความรักครั้งยิ่งใหญ่
ที่มีทั้งตัวบุคคลและชุมชมดำเนินเรื่องไปพร้อมๆกัน
และแน่นอนว่าย่อมต้องออกมาแฮปปี้เอนดิ้งแบบจบบริบูรณ์


ถือเป็นบทหนังที่ล้ำสมัยสังคมในเวลานั้น
แม้นำมาฉายรีมาสเตอร์อีกครั้งก็ยังคงร่วมสมัยในปัจจุบัน ที่พ่อแม่คนไทย
ยังขวนขวายให้ลูกได้เรียนสูงสุดในระดับมหาวิทยาลัยมีใบปริญญามาประดับฝาบ้าน
ค่านิยมของการรังเกียจคนชนบทในสายตาคนเมือง
และความใฝฝันอุคมคติที่คนเมืองอยากมีชีวิตที่สงบในท้องนาท้องไร่
บุญชูจึงเป็นสิ่งสะท้อนสังคมไทยในโครงสร้างหลักที่คนส่วนใหญ่นึกคิด
และความเป็นอยู่ การเข้าถึงเรื่องบุญชูจึงเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน
มากเรื่องมากราว ความแพรวพราวของมุขตลกถือเป็นระดับเทพ
ที่อาศัยสถานการณ์รูปแบบเดิม แต่ดำเนินเรื่องบทสนทนาที่แตกต่าง
ซึ่งต้องอาศัยทีมเวิรคในการสอดรับมุขลักษณะเอกแต่ละตัวละคร
ยิงปุบ รับปับสอดกลับ แล้วแทงเรื่องโดยไปสัมพันธ์กับสถานการณ์
ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หนังไหนๆก็ตลกแบบบุญชูไม่ได้ ใ
นวาระที่ถูกกลับมาสร้างภาคต่ออีกตอน ขอบอกว่าฮากว่าที่เห็น
ในโฆษณาตัวอย่างในโรงที่เล่นเอาคนดูอย่างผมแป้กเอามากๆ ตลกแบบนี้
ต้องอาศัยภาพรวมของเรื่องเป็นตัวส่งให้เราเห็นภาพก่อนหน้าเพื่อเชื่อมโยงมุขตลกที่เห็น
ในตัวอย่างการตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วเล่าในทันที
บอกได้เลยว่าไม่ขำหรอกครับ......กลับมานั่งคิดอีกครั้ง
เออ...ผู้กำกับช่างมีพรสวรรค์ในการดำเนินเรื่องในมุขตลกเชิงนี้
แบบหาใครเปรียบได้ยาก ผมยังรู้สึกกลัวคนดูรุ่นเด็กปัจจุบัน
ที่ยังจดจำบทบาทของสันติสุขจากเรื่องจัน ดารา ของจินตหราจากเรื่องเด็กหอ
เพราะถือเป็นการฉีกบทไปคนละทางกับเรื่องที่บุญชูเป็น เอาเป็นว่า
ค่อยมาเล่า ไอ เลิฟ สระอูในทีหลัง
เพราะเล่นเกริ่นมาทีก็ได้บทความร่ายเสียยาวจนรู้สึกว่าญาติคนนี้
สร้างตำนานดีๆไว้เยอะในวงการหนังไทยไม่น้อย................. ........



ขอบคุณสิ่งดีๆจาก //www.thaicinema.org/
เป็นการย้อนหลังบทความนี้อีกครั้ง ด้วยจิตคารวะผู้กำกับท่าน


Create Date : 01 ตุลาคม 2552
Last Update : 1 ตุลาคม 2552 21:15:51 น. 3 comments
Counter : 1517 Pageviews.

 
ขอร่วมไว้อาลัยแด่คนจากไปด้วยคนค่ะ


โดย: sierra whiskey charlie วันที่: 1 ตุลาคม 2552 เวลา:21:13:47 น.  

 
ตกใจ ตอนที่ข้อความข่าวการเสียชีวิต เด้งขึ้นมาจาก twitter

ขอร่วมไว้อาลัยด้วยคนค่ะ ...

เรื่องบุญชู 1 เป็นเรื่องที่ใช้ที่ทำงานเราเป็นสถานที่ถ่ายทำด้วยนะเนี่ย


โดย: นัทธ์ วันที่: 1 ตุลาคม 2552 เวลา:22:54:23 น.  

 
แวะมาขอแสดงความอาลัยด้วยคนค่ะ
เศร้า


โดย: อุ้มสี วันที่: 1 ตุลาคม 2552 เวลา:23:21:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.