bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ สดจากเยาวชน
นภาวัลย์ มาเหมาะโชค



ขนมไทยหลายชนิดเชื่อมโยงและผูกพันกับสังคมเกษตรบ้านเรา สังเกตจากวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่นำมาทำขนมล้วนมาจากวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในการห่อขนมนั้นคนสมัยก่อนล้วนใช้ใบไม้ใบพืชตามท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ด้วยกัน ทั้งนั้น

แม้ปัจจุบันพลาสติกหรือกล่องโฟมจะเข้ามามีบทบาทแทนที่วัสดุธรรมชาติไปแล้ว แต่ยังมีขนมอีกหลายชนิดที่ยังคงต้องใช้ใบของพืชเป็นวัสดุในการห่อ เพราะกลิ่นหอมที่ได้จากต้นพืชเป็นเสน่ห์สำคัญของขนมไทยพอๆ กับรสชาติที่หวานอร่อย

"ข้าวต้มลูกโยน" ขนมที่ใช้ในประเพณีตักบาตรเทโวในเทศกาลออกพรรษา เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการห่อข้าวต้มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมนำใบลำเจียกมาห่อข้าวต้มและเหลือปลายใบไว้ให้เป็นหางยาวเพื่อสะดวกในการใส่บาตรตามประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต

ด.ญ.สาธิตา เทียนปัญจะ หรือ โอปอ เด็กหญิงตัวน้อยมีบ้านอยู่ริมคลองบางแม่หม้ายที่ไหลผ่านเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน สองฝากของลำคลองสายนี้มีต้นลำเจียกลอยอยู่ริมคลอง ชาวบ้านและเด็กๆ รู้จักกันดีในฐานะใบพืชที่นำมาห่อขนมข้าวต้มลูกโยนแสนอร่อย

"คลองบางแม่หม้ายอยู่ที่บ้านบางแม่หม้าย ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรีค่ะ ในประเพณีออกพรรษาทุกปี บ้านบางแม่หม้ายจะทำบุญตักบาตรเทโว ชาวบ้านจะทำข้าวต้มลูกโยนห่อด้วยใบลำเจียกนำมา ใส่บาตร ส่วนที่เหลือจะแบ่งปันกันรับประทานตามบ้านค่ะ"

ประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนสืบทอดมาตั้งแต่อดีต มีบางตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งพระพุทธ เจ้ายังทรงพระชนมชีพ ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกลับมายังโลกมนุษย์ ประชาชนที่ต่างมาเฝ้ารอเสด็จปรารถนาจะได้ใส่บาตรพุทธองค์

แต่ด้วยมีคนจำนวนมากและอยู่ห่างไกลออกไปทำให้ไม่สามารถใส่บาตรได้ถึง จึงใช้วิธีการโยนอาหารของตนลงในบาตรพระพุทธเจ้าและสาวก อาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์

ต่อมาจึงกลายเป็นประเพณีที่ชาวบ้านจะนึ่งข้าวเหนียวห่อด้วย ใบลำเจียก ใบเตย หรือใบมะพร้าว และเพื่อความสะดวกจะห่อโดย ทิ้งหางยาว เมื่อถึงเวลาก่อนใส่บาตรจะตั้งอธิษฐานจิตและค่อยๆ โยนให้ลงไปในบาตร นับเป็นศรัทธากุศลของพุทธศาสนิกชนที่นับถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

คุณป้าชลอ วงษ์จินดา ผู้ใหญ่ในพื้นที่ เล่าให้ฟังถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากที่ทุกบ้านทำขนมใส่บาตรกันเอง เปลี่ยนมาซื้อหาเอาตามสะดวก เด็กๆ หลายคนรู้จักชื่อขนมแต่ไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะไม่เคยเห็นหรือลองช่วยผู้ใหญ่ทำ

"ปัจจุบันนี้คนนิยมทำข้าวต้มลูกโยนกันน้อยลง เพราะซื้อเอาง่ายกว่า แต่ถ้าบ้านไหนที่ซื้ออย่างเดียวไม่เคยทำเองเลย ลูกหลานก็จะไม่ได้เห็นวิธีทำ ไม่รู้จักว่าใบลำเจียกที่ลอยอยู่ริมน้ำซึ่งดูไม่มีประโยชน์นั้นนำมาทำประโยชน์ได้ นำมาห่อขนมได้" ผู้ใหญ่ใจดีแห่งบ้านบางแม่หม้ายกล่าว

ในประเพณีตักบาตรเทโวปีนี้ เด็กๆ บ้านบางแม่หม้ายมีโอกาสลงมือทำขนมข้าวต้มลูกโยนด้วยตัวเอง โดยมีป้าชลอเป็นผู้พาเด็กๆ ทั้งที่เคยเห็นและไม่เคยเห็นวิธีทำไปเรียนรู้ เด็กๆ ตั้งใจตามไปเป็นลูกมือ

ตั้งแต่การล่องเรือเลือกเก็บใบลำเจียกที่ขึ้นอยู่เคียงลำธารใส ตลอดจนวิธีการทำและปรุงรส จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการห่อข้าวต้มด้วยใบลำเจียกให้มีหางยาวสวยอันเป็นสัญลักษณ์ของข้าวต้มลูกโยน

ด.ญ.ศรัณญา วิสุทธิ์ หรือ น้องวิว สาวน้อยวัย 10 ขวบ เล่าว่ารู้จักข้าวต้มลูกโยนดีเพราะคุณยายเคยทำขาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว วิวจึงยังไม่เคยมีโอกาสได้ลองลงมือทำขนมด้วยตัวเอง การได้ตามป้าชลอและพี่ๆ ไปเรียนรู้ในครั้งนี้จึงรู้สึกสนุกมาก

"ชอบตอนได้ลองห่อข้าวต้มค่ะ ยากแต่สนุก ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะตอนนึ่งเสร็จ ได้เห็นฝีมือการห่อของตัวเองว่าออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงจะไม่ค่อยสวยเหมือนของผู้ใหญ่ห่อแต่ก็อร่อยนะคะ" น้องวิวเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

ประเพณีตักบาตรเทโวไม่เพียงแต่เป็นพิธีปฏิบัติเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนานเท่านั้น หากแต่เป็นการถ่ายทอดความสามัคคีในชุมชนที่ร่วมมือร่วมใจสืบทอดและรักษาประเพณีของไทยไว้อีกด้วย

ติดตามเรื่องราวของข้าวต้มลูกโยนแห่งบ้านบางแม่หม้าย ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่จะเล่าโดยเด็กๆ ในพื้นที่ ในรายการทุ่งแสงตะวัน เช้าวันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม ทางช่อง 3 เวลา 06.25 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ทางเฟซบุ๊ก ทุ่งแสงตะวัน 20 ปี

หน้า 24


ขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์

คอลัมน์ สดจากเยาวชน
คุณนภาวัลย์ มาเหมาะโชค

สิริสวัสดิ์โสรวารค่ะ    

Create Date :25 ตุลาคม 2557 Last Update :25 ตุลาคม 2557 11:49:44 น. Counter : 2434 Pageviews. Comments :0