bloggang.com mainmenu search

มาต่อกันกับการท่องเที่ยวฝั่งธนต่อครับ หนก่อนพาไปพระราชวังเดิมมาแล้ว คราวนี้ไปเที่ยวชมวัดและชุมชนเก่าแก่สมัยธนบุรีกันบ้าง 149

ภาพด้านล่างคือขอบเขตกรุงธนบุรีที่ขุดคลองคร่อมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ (วงสีแดง) และเมืองกรุงเทพซึ่งทีแรกตัดเอาเฉพาะกรุงธนบุรีฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาได้ขุดคลองเพื่อขยายขอบเขตเมือง (วงสีเหลือง) และขยายออกไปทางตะวันออกเรื่อยๆ


จุดสีเหลืองคือสถานที่ที่สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนจุดสีแดงคือสถานที่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปหมดแล้วครับ
วัดบางหว้าน้อย --> วัดอมรินทราราม
วัดบางหว้าใหญ่ --> วัดระฆัง
วัดแจ้ง --> วัดอรุณ
วัดท้ายตลาด --> วัดโมลี
วัดสลัก --> วัดมหาธาตุ
วัดโพธิ์ --> วัดพระเชตุพน
วัดกลางนา --> วัดชนะสงคราม
วัดสะแก --> วัดสระเกศ
วัดเลียบ --> วัดราชบุรณะ

หลังพระเจ้าตากสินสร้างกรุงธนบุรีเป็นศูนย์กลางอำนาจของคนไทยและคนจีนที่รวบรวมมาขับไล่พม่าออกไปได้ ก็ยกทัพไปปราบชุมนุมต่างๆ ที่กระจัดกระจายไปหลังกรุงแตก เพื่อรวมอำนาจกลับมา
พ.ศ.2311 - ธนบุรีแพ้ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก (ถอยทัพกลับ), ธนบุรีชนะชุมนุมเจ้าพิมาย รวมภาคอีสานตอนล่างกลับมาได้
พ.ศ.2312 - ธนบุรีชนะชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช รวมภาคใต้กลับมาได้, ชุมนุมเจ้าพระฝางชนะชุมนุมเจ้าพิษณุโลก
พ.ศ.2313 - ธนบุรีชนะชุมนุมเจ้าพระฝาง รวมภาคเหนือตอนล่างกลับมาได้
ทำให้กรุงธนบุรีกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจที่ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับกรุงศรีอยุธยา หลังจากรวมส่วนที่เคยเป็นดินแดนของอยุธยากลับมาได้แล้ว ที่เหลือก็คือศึกกับเวียดนามในสงครามฮาเตียน ปราบหัวเมืองเขมร และการต่อสู้กับพม่าในสงคราม 10 ครั้ง ทั้งการป้องกันกรุงธนบุรี (เช่นศึกบางกุ้ง, ศึกบางแก้ว, ศึกอะแซหวุ่นกี้) และการช่วยล้านนาปลดแอกจากพม่า โดยพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ผู้นำคนไทยในล้านนา ได้พากองทัพเข้าสวามิภักกรุงธนบุรี และเปิดศึกกับพม่าอย่างยาวนาน กว่าจะขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนและนำล้านนาเข้าเป็นประเทศราชของสยามอย่างสมบูรณ์ก็สมัย ร.1

หนนี้เอาเฉพาะฝั่งธนก่อนนะครับ ฝั่งพระนครแม้จะมีหลายวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยธนบุรีหรือก่อนหน้านั้น แต่ก็ถูกปฏิสังขรณ์และเป็นวัดในเขตเมืองพระนคร ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กรุงเทพเป็นอย่างมาก ไว้มีโอกาสจะเอาไปเล่าในซีรี่ยส์กรุงเทพแล้วกัน แม้ธนบุรีเดิมจะเป็นเมืองบางกอกที่มีคนมาอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่จากฝั่งธนก็เป็นสถานที่แรกๆ ที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาปักหลักหลังสิ้นสุดกรุงศรีอยุธยาไป ทำให้เกิดเป็นชุมชนต่างชาติที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพหลายแห่ง


แผนที่เที่ยวโบราณสถานฝั่งธน (click เพื่อชมภาพขยาย)

จากวังเดิมคราวก่อน ขับรถขึ้นมาทางเหนือผ่านวัดเครือวัลย์ขึ้นมาจะถึงวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาพระเจ้าตากสินมาบูรณะให้เป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของพระสังฆราช ปัจจุบัน rename เป็นวัดระฆังโฆสิตาราม เนื่องจากสมัย ร.1 มีการบูรณะอีกรอบและขุดพบระฆังโบราณ ปัจจุบันนำไปเก็บในพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว
 

วัดสมัยก่อนหน้านี้จะติดกับแม่น้ำลำคลองเพราะคนสัญจรทางเรือครับ และหน้าวัดของวัดนี้มีระฆังจำลองวางอยู่ ด้านในวัดเห็นพระปรางค์ประธานของวัดที่สร้างในสมัย ร.1 ได้รับยกย่องว่าเป็นพระปรางค์ที่สร้ัางได้ถูกต้องตามแบบแผนที่สุด และถือเป็นต้นแบบของปรางค์ในยุคต่อๆ มา

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือหลวงพ่อโต เป็นเจ้าอาวาสของวัดระฆังในปี พ.ศ.2395-2415 เป็นลำดับที่ 6 นับจากองค์แรกสมัยธนบุรี เป็นผู้แต่งคาถาชินบัญชร พระเครื่องสมเด็จวัดระฆังที่สร้างโดยหลวงพ่อโตก็เป็นที่หมายตาอย่างถึงที่สุดของนักเล่นพระเครื่องเลยนะครับ

  วัดระฆัง
 

หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า พระประธานในอุโบสถของวัดเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงาม

 
 
ตอนที่เอาระฆังโบราณไปไว้วัดพระแก้ว ร.1 ได้ชดเชย
ระฆังให้วัดนี้ 5 ลูก ตามที่แขวนอยู่ในหอระฆังเลยครับ

 
 

และโบราณสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของวัดระฆังคือหอพระไตรปิฎก เดิมเป็นเรือนตำหนักของ ร.1 ในสมัยธนบุรี แต่ถวายให้เป็นเสนาสนะสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่ ภายในมีภาพเขียนตั้งแต่สมัย ร.1 ตู้พระธรรมลายรดน้ำ และโบราณวัตถุอื่นๆนิดหน่อย


ติดกับวัดระฆังคือตำหนักแดง เป็นเรือนไม้ที่เคยตั้งอยู่ในเขตพระราชวังเดิม แต่หลังเกิดเหตุไฟไหม้วัดระฆังในสมัย ร.3 ก็ย้ายเอาตำหนักแดงมาไว้ที่นี่แทน สันนิษฐานว่าเป็นตำหนักที่ซึ่งพระเจ้าตากสินใช้เจริญกรรมฐาน เนื่องจากเคยมีภาพอสุภะ (ศพ) ที่ไม้กั้นห้อง แต่ปัจจุบันเลือนไปหมดแล้ว


ลงมาที่วังเดิม ฝั่งตรงข้ามวัดโมลีจะมี มัสยิดต้นสน เป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพ  สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์ ราวปี พ.ศ.2231 เรียกว่ากุฎีบางกอกใหญ่ และเกิดเป็นชุมชนชาวมุสลิมในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัย ร.2 ชาวมุสลิมบริเวณคลองบางกอกใหญ่ได้ช่วยกันบูรณะ และรูปร่างที่เห็นล่าสุดนี้บูรณะในปี พ.ศ.2495 พร้อมปลูกต้นสนคู่หน้าประตูกำแพง เปลี่ยนชื่อเป็นมัสยิดต้นสน


อยู่ถัดจากมัสยิดต้นสนลงมาคือวัดหงส์รัตนาราม สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดเจ้าสัวหง หรือวัดเจ้าขรัวหง สร้างโดยนายหง เศรษฐีชาวจีน ไม่ได้มีตำนานอะไรกับหงส์หรือคนสร้างเชียร์ลิเวอร์พูลแต่อย่างใด ลานจอดรถกว้างดีครับวัดนี้



วัดหงส์

 
หลังอุโบสถด้านติดที่จอดรถมีวิหารพระพุทธรูปทองคำ เป็นพระพุทธรูปทองคำโบราณสมัยสุโขทัยสร้างปี พ.ศ.1963 ทำจากทองเนื้อผสมนวโลหะ ความสูงจากฐาน 1.83 เมตร เดิมมีปูนพอกทิ้งไว้หลังวิหารร้างของวัดนี้ แต่ภายหลังปูนได้กระเทาะออก พบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ นอกจากองค์นี้แล้วยังมีพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่จำลองจากพระสมัยต่างๆ ตั้งแต่ทวารวดีไล่มาถึงรัตนโกสินทร์

อุโบสถของวัดนี้มีความใหญ่โตกว่าวัดอื่นๆของฝั่งธน พระประธานไม่มีพระนามและคาดว่าสร้างสมัยอยุธยา สูง 3.5 เมตร มีเศวตฉัตร 7 ชั้น หน้าพระประธานคือหลวงพ่อแสน เป็นพระพุทรูปสำริดปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง อัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตงในปี พ.ศ.2401




ทิศใต้ของวัดหงส์มีศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือศาลเจ้าพ่อตากวัดหงส์ บ้างก็ว่าวัดหงส์เป็นสถานที่ที่พระเจ้าตากสินมานั่งวิปัสสนาบ่อยๆ ประชาชนจึงพร้อมใจกันสร้างศาลนี้ขึ้น บ้างก็ว่าเป็นตำแหน่งที่เลือดพระเจ้าตากหยดลงดินหลังถูกประหารขณะขนไปฝังที่วัดบางยี่เรือใต้ จึงสร้างศาลเพียงตาขึ้นเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นตามความเชื่อว่าเลือดพระเจ้าแผ่นดินไม่ควรถูกพื้น (อันที่จริงตอนนั้นพวกก่อการไม่นับพระเจ้าตากเป็นกษัตริย์และประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ เลือดคงหยดตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์แล้วครับ)


ทางตะวันตกของวัดหงส์มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระอาจารย์ดี วัดประดู่ พระสังฆราชองค์แรกในยุคกรุงธนบุรีได้จารึกพระพุทธมนต์ลงบนแผ่นหินร่วมกับพระโพธิวงศ์ (ชื่น) เจ้าอาวาสวัดหงส์ในสมัยนั้น เพื่อประกอบพิธีสระน้ำมนต์ ใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญตลอดสมัยธนบุรี ปัจจุบันเชื่อว่าผู้ที่ได้อาบน้ำมนต์ในทิศต่างๆของสระจะได้ effects ที่แตกต่างกันไปนะครับ (ตะวันออก - เมตตามหานิยม, ใต้ - ค้าขาย, เหนือ - บำบัดโรค, ตก - คงกระพัน) พิธีบรมราชาภิเษกปีก่อนก็ใช้น้ำจากบ่อนี้ร่วมกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆจากทั่วประเทศนะครับ

 
หน้าสระมีหินที่ขุดพบใต้สระ ผิวเนียนเรียบ
เชื่อว่าพระเถระสมัยก่อนได้ลงอาคมไว้
สามารถขอพรโดยนำมือสองข้างแตะหินแล้วภาวนา

 

อีกเส้นทางนึงที่น่ามาเดินเที่ยวคือชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาครับ เรานิยมจอดรถที่วัดประยูรแล้วเดินเข้าซอยกุฎีจีน 1 มา ผ่านโบสถ์ซางตาครู้สออกไปด้านหลัง จะมีทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถเดินผ่านบ้านวินเซอร์และศาลเจ้ากวนอันเก๋งได้





มุมนี้เห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม และวัดอรุณ
คนที่เดินทางมาทางเรือจะเห็นมุมนี้เป็นแลนด์มาร์คว่าถึงกรุงธนบุรีแล้วจ้า

บ้านวินเซอร์ สร้างบนที่ดินของมิสซังโรมันคาทอลิก เจ้าของคนก่อนคือคุณสมบุญ สมรสกับนายหลุยส์ วินเซอร์ ทายาทเจ้าของกิจการห้างวินเซอร์ เป็นบ้านไม้สองชั้น และมีลวดลายขนมปังขิงที่โดดเด่น (คำนี้จำได้แม่นตั้งแต่บล็อกพี่หนู สายหมอกและก้อนเมฆ พามาเมื่อหลายปีก่อน) ปัจจุบันเจ้าของบ้านคือคุณสมสุข จูฑะโยธิน ทายาทของคุณสมบุญและหลุยส์ ซึ่งอายุเกิน 70 แล้ว บูรณะบ้านเองก็กำลังทรัพย์ไม่พอ จะโอนให้เอกชนก็กลัวเอาไปทำเกสเฮาส์แบบพวกบ้านเก่าแถวเจริญกรุงที่ชีริวพาไปดูเมื่อสามเอ็นทรี่ที่แล้ว แต่ถ้าขึ้นทะเบียนบ้านเป็นโบราณสถานเพื่อให้กรมศิลปากรเข้ามาอนุรักษ์ คุณสมสุขก็จะเสียกรรมสิทธิ์ของบ้านที่ตกทอดมาจากตระกูลของเธอไป ...เป็นทางเลือกที่ลำบากใจจริงๆ ล่าสุดสมาคมสถาปนิกสยามทำแผนปรับปรุงพื้นที่ศักยภาพแถวชุมชนกุฎีจีน และเตรียมขึ้นทะเบียนบ้านวินเซอร์รวมทั้งอาคารอีกหลายแห่งของชุมชนเป็นโบราณสถาน ซึ่งเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สเจ้าของที่ดินก็เห็นด้วยกับความคิดนี้นะครับ ปีหลังๆเริ่มเห็นช่างเข้ามาปรับปรุงบ้านแล้ว


เดินมาจนเกือบสุดทางเดินเลียบแม่น้ำ จะมีทางเข้าไปศาลเจ้าแม่กวนอิม หรือศาลเจ้ากวนอันเก๋ง เดิมเป็นศาลเจ้าสองหลังติดกัน สร้างสมัยธนบุรี คือศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้ากวนอู ต่อมาสมัย ร.3 ชาวจีนฮกเกี้ยนก็มารื้อศาลเจ้าทั้งสองลงแล้วรวบเป็นหลังเดียว อัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมขึ้นเป็นประธานแทน เนื่องจากเจ้าแม่กวนอิมเป็นองค์อุปถัมป์การข้ามน้ำข้ามทะเลของซำปอกง เมื่อ ร.3 สร้างซำปอกงวัดกัลยาณมิตรเหมือนที่วัดพนัญเชิงแล้วก็จำเป็นต้องมีศาลเจ้าแม่กวนอิมอยู่ใกล้ๆด้วย


กลับมาที่ โบสถ์ซางตาครู้ส กันหน่อยครับ บริเวณนี้เป็นชุมชนชาวโปรตุเกสที่ช่วยพระเจ้าตากสินขับไล่พม่า จึงทรงพระราชทานที่ดินใกล้พระราชวังเดิมให้ชาวต่างชาติที่มีคุณูปการเหล่านี้อยู่อาศัย และสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2313 ซึ่ง 14 ก.ย. เป็นวันบูชาไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (Feast of the Cross) และซางตาครู้ส (Santa Cruz) ก็หมายถึงไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง เดิมเป็นอาคารไม้ แต่ถูกเพลิงไหม้ และสร้างอาคารปูนทดแทน รูปลักษณ์ที่เห็นล่าสุดนี้ถูกปรับปรุงในปี พ.ศ.2459 ครับ


รอบโบสถ์ซางตาครู้สเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่เป็นเชื้อสายของชาวโปรตุเกสยุคธนบุรี ผสมผสานกับชุมชนชาวจีนบริเวณที่ปัจจุบันคือวัดกัลยาณมิตร จึงเรียกว่าชุมชนกุฎีจีน มีขนมของโปรตุเกสที่หากินที่อื่นได้ยากขายหลายบ้านนะครับ เช่น ขนมฝรั่ง ก๋วยตัส หน้านวล กุสรัง ฯลฯ บางบ้านขายอาหารโปรตุเกสเลยครับ หลายร้านก็มีชื่อเสียง แต่ไม่ขอแนะนำร้านใดร้านหนึ่งนะ ลองกินหลายๆ บ้านให้รายได้กระจายไปทั่วชุมชนนะครับ
 
ชุมชนกุฎีจีน
 
 


ที่นี่มีอาคารเก่าแก่มากมาย อย่างเรือนจันทภาพหลังนี้ก็มีอายุ
กว่า 100 ปี มีกรอบหน้าบันรูปอาทิตย์อุทัยเป็นเอกลักษณ์

 

พ่อค้าแม่ค้าทำขนมขายหน้าบ้านสำหรับนักท่องเที่ยวกันเยอะ

 

ขนมที่โด่งดังที่สุดคงเป็นขนมฝรั่งกุฎีจีน สูตรเฉพาะของชุมชนนี้
คล้ายขนมไข่แต่ใช้เตาอบโบราณทำให้กรอบนอกนุ่มใน

 

อันนี้กินเพลินดี ทำจากแป้งกับไข่ ชอบมากกว่าขนมฝรั่งอีก
ไม่รู้เรียกว่าอะไรครับ หาข้อมูลไม่เจอเลย

 

บ้านหลังนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑฺ์บ้านกุฎีจีนในปี พ.ศ.2560 เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลชุมชนชาวโปรตุเกสในสยาม เป็นตัวบ้านสามชั้น ชั้นดาดฟ้าสามารถขึ้นไปชมวิวชุมชนได้  มีข้าวของเครื่องใช้รวมถึงของเก่าที่หาดูยาก ขึ้นชมฟรี แต่สามารถอุดหนุนกาแฟชั้นล่างได้นะครับ


วัดที่เหลือที่มีความสำคัญของฝั่งธนอยู่กระจุกอยู่ที่บางยี่เรือครับ ต้องลงมาทางใต้อีกพอสมควร ผ่านวงเวียนเล็กและวงเวียนใหญ่มาเข้าถนนเทอดไท แต่ก่อนอื่นพักเบรคแวะท่าดินแดงกินห่านพะโล้ชื่อดังกันก่อนครับ...

ฉั่วเจียบง้วน ร้านเก่าแก่ที่เปิดกิจการมาจะ 80 ปีแล้ว ตระกูลฉั่วนี่ไว้ใจเรื่องห่านพะโล้ได้ ทั้งฉั่วเจียบง้วน ฉั่วคิมฮวด (ท่าดินแดง) ฉั่วคิมเฮง (พัฒนาการ) ฉั่วคิมหลี (ลาดพร้าว) ไม่ว่าไปเปิดที่ไหนก็จะเรียกรวมๆกันไปว่าร้านห่านพะโล้ท่าดินแดง สามารถสั่งห่านจานใหญ่ (740) จานกลาง (370) จานเล็ก (190) มีชิ้นหัว ขา ปีก เครื่องใน ไส้ ให้สั่งเพิ่ม ราคาก็แรงตามราคาห่านในตลาดโลก เมนูที่นิยมกินคู่กันก็คือยำเกี้ยมฉ่าย และมะระตุ๋นซี่โครงหมู ข้าวผัดหนำเลี๊ยบก็อร่อย
 
 
อิ่มแล้วก็เที่ยวกันต่อ... วงเวียนเล็กอยู่ทางใต้
ของวัดประยูร ตรงแยกโรงเรียนศึกษานารี
ประดิษฐานพระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงม้า

 

ส่วน วงเวียนใหญ่ อยู่ตรงวงเวียนใหญ่... ไม่ต้องอธิบายก็ได้มั้ง มีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินโดดเด่นเป็นสง่า น่าจะเป็นอนุสาวรีย์บุคคลที่โดดเด่นที่สุดของประเทศไทยแล้ว (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและชัยสมรภูมิไม่ใช่บุคคล) อนุสาวรีย์นี้ขออนุมัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ตอนนั้นรัฐบาลพระยาพหลก็รับลูกแล้ว แต่ติดช่วงสงครามโลกบ้าง กบฎแมนฮัตตันบ้าง กลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่นิยมในตัวลูกคนจีนอย่างพระเจ้าตากสินเท่าไหร่ กว่าจะได้สร้างก็สมัยจอมพล ป. ที่คณะราษฎร์กลับมามีอำนาจอีกหน โดยใช้แบบของ อ.ศิลป์ พีระศรี สร้างอนุสาวรีย์ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของคนจริง ในปี พ.ศ.2494 ช่วงหลังกบฏแมนฮัตตัน

มีเรื่องเล่าว่าช่วงกบฏแมนฮัตตัน จอมพล ป. หลบหนีจากการจับกุมของพวกกบฏเข้าไปในท้องพระโรงของพระราชวังเดิม ท่านกราบขอบารมีพระเจ้าตากสินคุ้มครอง เมื่อจอมพล ป. รอดพ้นวิกฤติมาแล้วก็มีศรัทธาจึงลงมือก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินขึ้นที่วงเวียนใหญ่จนแล้วเสร็จ


สำหรับรูปแบบของอนุสาวรีย์ ผ่านการคิดคำนึงมาโดยละเอียดสมศักดิ์ศรี อ.ศิลป์ พีระศรีครับ ท่านใช้รูปแบบม้าไทย ซึ่งแตกต่างจากที่เคยปั้นในอนุสาวรีย์ที่เคยศึกษาจากยุโรป ส่วนลักษณะท่าทางของม้า การยกขาห้อทะยานสามารถใช้ได้กับอนุสาวรีย์ของนักรบเท่านั้น ในครั้งที่สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าของ ร.5 จึงต้องให้ม้าอยู่ในท่าสงบนิ่ง เพราะ ร.5 ไม่ได้ออกศึก กรณีพระเจ้าตากสามารถให้ม้าผาดโผนโจนทะยานได้ แต่ชนชั้นสูงยุคนั้นไม่ต้องการให้อนุสาวรีย์นี้แตกต่างกับพระบรมรูปทรงม้ามากนัก จึงต้องแก้แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนต้องซ่อนความเตรียมที่จะทะยานไว้ที่หางม้าที่ยกขึ้นมาจากม้าที่ยืนสงบปกติ

กว่าม้าของพระเจ้าตากสินจะได้ห้อทะยานจริงๆ ก็ตอนสร้างอนุสาวรีย์ทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี ในปี พ.ศ.2524 เลยครับ (ที่อยู่บนแบงค์ 20 เก่า)

เข้ามาในบางยี่เรือ หากจะพูดถึงสถานที่สำหรับระลึกถึงพระเจ้าตากสินอย่างสูงสุด ย่อมต้องเป็นวัดบางยี่เรือใต้ หรือวัดอินทาราม ครับ วัดนี้เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสร้างกรุงธนบุรีแล้วพระเจ้าตากสินได้บูรณะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชชนนีพระเจ้าตากสินในปี พ.ศ.2318 พร้อมจัดงานมหรศพอย่างยิ่งใหญ่ เชื่อว่าในสมัยกรุงธนบุรีวัดนี้คงมีพื้นที่กว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก

ทุกปีในวันตากสิน (28 ธ.ค.) ประชาชนจะมาจัดพิธีบวงสรวงที่พระบรมรูปพระเจ้าตากสินทรงม้าหน้าวิหารน้อยอย่างยิ่งใหญ่
 
วัดอินทาราม
 

หลังสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าตากสินไปแล้ววัดบางยี่เรือใต้ก็ถูกปล่อยทรุดโทรม จนกระทั่งสมัย ร.3 พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้มาบูรณะวัดขึ้นใหม่ และ ร.3 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี แม้จะลดคลาสจากสมัยก่อน แต่วัดก็ไม่ถูกปล่อยทิ้งแล้ว ตัวอุโบสถใหม่อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ประดิษฐานพระพุทธชินวร พระปางมารวิชัย ซึ่งพระยาศรีสหเทพเช่ามาจากพ่อค้าชาวสุโขทัย ผมไปไม่เคยเปิดเลยครับ บริเวณนี้เดิมเป็นลานกว้าง เทียบเท่ากับสนามหลวงในสมัยธนบุรี เคยตั้งพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพทั้งพระชนนีของพระเจ้าตาก และพระเจ้าตากเอง

ใครอยากชมภายในวิหารต่างๆ ในโซนที่สร้างใหม่สมัย ร.3 ซึ่งส่วนใหญ่จะปิด เจ้าของบล็อกก็ไม่ได้ชม เข้ามาที่คลิปนี้นำเที่ยววัดอินทารามได้ครบถ้วนที่สุดแล้วครับ //www.youtube.com/watch?v=r0bZwQAvsDs (มี 3 ตอน ดูตอนนี้ตอนเดียวพอ)

ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน และใบเสมาบันทึกสูตรยา บริเวณนี้เป็นจุดที่ฝังพระบรมศพของพระเจ้าตากสินหลังถูกประหารที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ สองปีหลังจากนั้น ร.1 จึงดำริให้ขุดศพขึ้นมาทำพิธีเผาที่วัดนี้


มาดูโซนที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยธนบุรีกันบ้าง... วิหารน้อยหรือพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน ข้างอุโบสถเก่าประดิษฐานหลวงพ่อดำ (องค์หลัง) ที่พระเจ้าตากสินอัญเชิญมาจากมหาชัย ที่นี่เป็นสถานที่หนึ่งที่ท่านมาเจริญกรรมฐาน ยังคงมีแท่นบรรทม (ขวา) และพระราชอาสน์ที่ประทับทรงศีล (ซ้าย) อยู่


หน้าอุโบสถเก่าคือเจดีย์คู่ที่เชื่อว่าองค์ขวา (ถ้ามองออกไปจากอุโบสถ) บรรจุอัฐิพระเจ้าตากสินและองค์ซ้ายบรรจุอัฐิสมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา (สอน) สององค์นี้สร้างขึ้นมาภายหลังนะครับ พระสงฆ์ของวัดไปขออัฐิข้อมือพระเจ้าตากสินจากนครศรีธรรมราช ตามสายที่เชื่อกันว่าพระเจ้าตากหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช ซึ่งก็ไม่น่าเป็นความจริงแต่อย่างใด


พระอัฐิที่เที่ยงแท้ของพระเจ้าตากสินหลังถวายพระเพลิงถูกเก็บไว้ใต้ฐานพระประธานของวิหาร องค์หน้านี้ครับ


ถัดจากวัดอินทารามลงมาจะมีวัดราชคฤห์ หรือวัดบางยี่เรือเหนือ หรือวัดบางยี่เรือใน มีอีกชื่อว่าวัดมอญ เพราะสมัยอยุธยามีพระมอญจำพรรษาอยู่ และท่าน้ำบริเวณนี้มีคลองสามสายชนกันเกิดเป็นน้ำวน วัดราชคฤห์จึงมีอีกชื่อเรียกว่าวัดวังน้ำวน (วัดแถวนี้ชื่อจะเยอะหน่อยนะครับ)
 
วัดราชคฤห์
 

ถึงจะชื่อบางยี่เรือเหนือ แต่อยู่ทางทิศใต้ของวัดบางยี่เรือใต้นะครับ เอ้า งง! สมัยก่อนหากเดินทางจากอยุธยามาธนบุรีจะมาถึงวัดราชคฤห์ก่อนวัดอินทาราม จึงเรียกวัดราชคฤห์ว่าบางยี่เรือใน/บางยี่เรือเหนือ และวัดอินทารามเป็นบางยี่เรือนอก/บางยี่เรือใต้ คนสมัยนั้นไม่มีแผนที่ดูทิศง่ายๆ ก็คาดว่าวัดอินทารามที่ใกล้ทางออกแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่าน่าจะอยู่ทางใต้นั่นแหละ ระหว่างวัดราชคฤห์และวัดอินทารามมีวัดจันทาราม หรือวัดบางยี่เรือกลาง เป็นวัดเก่าสมัยธนบุรีเช่นกัน แต่ไม่เคยแวะไปเลยครับ ความสำคัญทางประวัติศาสตร์น้อยกว่าอีกสองวัด

หลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากได้มอบหมายให้พระยาพิชัยเป็นผู้บูรณะวัดนี้ พระยาพิชัยต้องขึ้นไปรับศึกกับพม่าพร้อมรักษาเมืองพิชัยเกือบตลอดสมัยธนบุรี แทบไม่ได้กลับลงมาที่ธนบุรีเลย หลังจากพระเจ้าตากสิ้นอำนาจ ร.1 ได้ถามพระยาพิชัยว่าจะอยู่รับราชการในแผ่นดินใหม่หรือไม่ พระยาพิชัยเลือกขอตายตามพระเจ้าตาก จึงถูกนำตัวไปประหาร แล้วฝังอัฐิที่ปรางค์วัดราชคฤห์ (ปรางค์องค์เล็กด้านซ้าย) ส่วนองค์ขวาคือปรางค์ประธานของวัด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์ประเทศอินเดีย เป็นที่มาของชื่อวัดนี้


ก่อนหน้านี้มีพระรูปพระเจ้าตากสิน พระยาพิชัย ทหารเอกของพระเจ้าตากสิน และหมื่นหาญณรงค์ ทหารคนสนิทของพระยาพิชัย อยู่หน้าพระปรางค์ให้ชาวบ้านกราบไหว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2562 ส่วนราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ได้นำอัฐิพระยาพิชัยกลับไปบ้านเกิดที่เมืองพิชัยแล้ว ที่อนุสรณ์สถานบ้านพระยาพิชัยดาบหักที่เคยพาไปเมื่อเอ็นทรี่นี้ครับ (แต่ตอนนั้นพระยาพิชัยยังไม่กลับบ้าน) ตอนนี้ทางวัดสร้างศาลไว้ริมน้ำเป็นที่ประดิษฐานพระรูปทั้งสามครับ


วัดนี้มีอุโบสถและวิหารน้อยใหญ่ทั้งที่บูรณะสมัยธนบุรีและสมัย ร.3 ที่สำคัญคือวิหารหน้าวัดตรงทางเข้าที่ขับรถเข้ามาเลย มีพระนอนเรียกว่าหลวงพ่อนอนหงาย ปางถวายพระเพลิง สร้างในสมัยพระเอกาทศรถ และบูรณะให้องค์ใหญ่ขึ้นตอนพระยาพิชัยบูรณะวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนที่เสียชีวิตในสงคราม


บริเวณนี้คือ ย่านตลาดพลู เป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ผสมผสานกับมุสลิมที่ย้ายเข้ามา มีอาหารอร่อยร้านเก่าแก่หลายเจ้า ที่โด่งดังคือร้านกุ้ยช่าย ข้าวหมูแดง บะหมี่ หมี่กรอบ ขนมเบื้อง ขนมหวาน

 
 
 
 
ช่วงปลายปี จะมีขบวนแห่บวงสรวงพระเจ้าตากสินบ่อยมากครับ น่าจะแห่ไปจนถึงวัดอินทาราม

ผมยังไม่เคยแวะกินข้าวในตลาดพลูเลย แต่นอกจากตลาดพลูแล้วฝั่งธนตอนใต้นี้มีร้านอร่อยอีกเยอะนะครับ ไม่ว่าจะเป็นห่านพะโล้ชื่อดังที่ท่าดินแดง ร้านเป็ดย่างกิ๊ดกี่ที่ทำขนมจีบอร่อยที่สุดในโลก หรือสารพัดร้านบนถนนเจริญนคร (โดยเฉพาะ Indian Food 17 สุดที่เลิฟ)

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงไม่ได้เข้าไปกินได้ในเร็วๆ นี้ ขอให้พวกเราผ่านพ้นโควิดกันไปได้โดยอยู่รอดปลอดภัย สวัสดี... 155




 
Create Date :26 มีนาคม 2563 Last Update :28 มีนาคม 2563 9:46:36 น. Counter : 5233 Pageviews. Comments :45