bloggang.com mainmenu search
บล็อกก่อนพาชมพิจิตรถิ่นกำเนิดพระเจ้าเสือไปแล้ว คราวนี้มาจังหวัดถิ่นกำเนิดพระมหากษัตริย์ยอดนักรบขวัญใจแฟนหนังประวัติศาสตร์อย่างพระนเรศวรกันบ้าง นั่นก็คือเมืองพิษณุโลกครับ

แม้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงพระนเรศวรเมื่อเอ่ยชื่อพิษณุโลก แต่อันที่จริงเมืองนี้มีบทบาทสำคัญและมีความเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ในยุคก่อนหน้านั้นอย่างพญาลิไทของสุโขทัย หรือพระบรมไตรโลกนาถมากกว่า มาล้อมวงกันตรงนี้ก่อนครับ เดี๋ยวผมจะเล่าประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจของพิษณุโลกให้ฟัง...

Smiley Smiley Smiley

พิษณุโลก หรือชื่อเดิมคือเมืองสองแคว เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เคียงคู่สุโขทัยมาช้านานตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ สุโขทัยมีศาลตาผาแดง พิษณุโลกก็มีพระปรางค์วัดจุฬามณีที่เป็นหลักฐานการลงรากของขอมในบริเวณนี้ ก่อนพ่อขุนนาวนำถุมจะรวบรวมคนไทยสร้างเมืองนครสองอัน และถูกปลดปล่อยเป็นเอกราชจากขอมในยุคของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ที่ร่วมกับพ่อขุนผาเมืองต่อสู้กับขอมสบาดโขลญลำพงตามที่เล่าไว้ในบล็อกสุโขทัยปี 2012 (ช่วงนี้รื้อฟื้นความทรงจำกันหน่อยครับ)

ดูจากแผนที่ด้านล่าง (แสกนจากแผนที่ทางหลวง ESRI ของ NOSTRA ปี 2555 เล่มประจำที่ผมใช้ติดตัวทุกการเดินทาง) คือเมืองพิษณุโลกครับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจะอยู่ตรงข้ามกับศาลหลักเมืองมีแม่น้ำน่านคั่น ส่วนวัดราชบูรณะจะอยู่ติดกับวัดพระศรีฯ ฝั่งเดียวกัน



(จิ้มที่รูปเพื่อชมภาพขยาย)

เมื่อเมืองสุโขทัยมั่นคงแล้ว พญาลิไทได้สร้างเมืองสองแควขึ้นเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันการบุกของอาณาจักรพระนครศรีอยุธยาซึ่งเรืองอำนาจขึ้นมาในช่วงนั้น โบราณสถานจำนวนมากถูกสร้างขึ้นในยุคนี้ทั้งวัดเจดีย์ยอดทอง รวมทั้งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและพระพุทธชินราชที่พวกเรารู้จักกันดีด้วย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือเรียกอีกชื่อว่าวัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญของพิษณุโลกตั้งแต่สมัยพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย และแทบไม่ถูกทำลายในช่วงสงคราม ทำให้ศิลปะต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่งดงามยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มาก พระพุทธชินราชพระประธานของวัดนี้เป็นพระปางมารวิชัยที่มีความงดงามมาก ร.5 เคยมีแนวคิดจะอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมากรุงเทพ แต่ชาวพิษณุโลกขอไว้ ท่านจึงสร้างพระพุทธชินราชองค์จำลองไว้ในวัดเบญจมบพิตรแทน นอกจากองค์พระพุทธชินราชแล้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือประตูวิหารก็ล้วนเป็นสุดยอดศิลปะกรรมที่หาที่ใดเทียบได้ยาก ด้านในของวิหารนี้ถ่ายภาพได้แต่ห้ามยืนถ่ายภาพเกะกะคนอื่นนะครับ





ส่วนองค์พระปรางค์มีกลิ่นอายของศิลปะอยุธยาตอนต้นครับ เพราะพระบรมไตรโลกนาถดัดแปลงเจดีย์ประธานเดิมเป็นปรางค์แบบอยุธยาในปี พ.ศ. 2025 ช่วงที่ขึ้นมาประทับที่พิษณุโลก



วิหารหลังพระปรางค์มีพระอัฏฐารส แต่พังทลายลงไปพร้อมตัววิหารแล้ว องค์ที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ให้ความรู้สึกทำลายทัศนียภาพพระปรางค์ได้ดี



อันนี้คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชที่อยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในวิหารพระพุทธชินสีห์ ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่เล็กระจิ๋วเท่าห้องๆเดียวเองครับ เล็กกว่าจิปาถะภัณฑสถานที่บ้านคูบัวอีก ด้านในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้โบราณที่มีคนนำมาถวายพระพุทธชินราชตั้งแต่ครั้งอดีตกาล มีโบราณวัตถุบางชิ้นที่ขุดเจอในพิษณุโลกก็นำมาเก็บที่นี่



ในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากนะครับท่านผู้ชมครับ เช่นพระเหลือที่สร้างจากทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช หรือโพธิ์สามเส้าที่พญาลิไทปลูกไว้ แต่ถ่ายรุปมาแล้วดูไม่น่าสนใจเลยไม่ลงให้กินโควต้าภาพในบล็อกนี้ดีกว่า ว่าแล้วก็ขอไปวัดต่อไปเลยนะครับ Smiley

วัดเจดีย์ยอดทอง เป็นตัวอย่างที่แสดงศิลปะแบบสุโขทัยชัดเจนในขณะที่วัดอื่นๆส่วนใหญ่ถูกบูรณะและแทนที่ด้วยศิลปะอยุธยาและรัตนโกสินทร์ วัดนี้มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สูง 20 เมตร เป็นเจดีย์ประธานครับ



วัดอรัญญิก เป็นอีกโบราณสถานที่มีซากโบราณให้ชมมากมายและอยู่ใกล้ตัวเมือง มีเจดีย์ลังกาเป็นประธาน



แต่สุดท้ายสุโขทัยก็ถูกอยุธยาควบรวม เมืองบริวารต่างๆรวมทั้งสองแควก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาไปด้วย และสองแควก็เปลี่ยนชื่อเป็นพิษณุโลกในยุคอยุธยานี้เอง แม้จะเป็นของอยุธยาไปแล้ว แต่พิษณุโลกก็ยังทำหน้าที่เป็นเมืองกันชนเช่นเดิม เพราะอาณาจักรที่ขึ้นมามีอำนาจเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของอยุธยาตอนต้นก็คือล้านนา ว่าแล้วก็จะขอเล่าพระราชประวัติของกษัตริย์อยุธยาตอนต้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่ง นั่นคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครับ

พระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ปกครองอยุธยาเป็นลำดับที่ 8 ต่อจากเจ้าสามพระยา ได้ถวายที่พระราชวังเดิมซึ่งตั้งอยู่ใกล้หนองโสนสร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ จากนั้นจึงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ด้านข้าง (ปัจจุบันเรียกว่าพระราชวังโบราณ) และวังนี้ก็เป็นวังของกษัตริย์อยุธยา โดยมีวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดหลักคู่พระราชวังไปจนสิ้นอาณาจักร พระบรมไตรโลกนาถยังเป็นผู้วางรากฐานการปกครองโดยบริหารราชการเป็นเวียง วัง คลัง นา  และแบ่งการปกครองเป็นสมุหกลาโหม และสมุหนายก กำหนดการปกครองหัวเมือง โดยแบ่งเป็นเมืองชั้นใน เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี และเริ่มระบบศักดินาแบ่งที่ดินให้คนในลำดับยศต่างๆ


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ


นับว่าเป็นกษัตริย์ที่ได้วางรากฐานความมั่นคงให้อยุธยาอย่างเข้มแข็ง จนเป็นราชธานีมาอย่างยาวนานถึง 417 ปี ครับ แต่อีกหนึ่งพระราชกรณียกิจสำคัญที่จะลืมกล่าวถึงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้อยุธยาคงความเป็นรัฐอยู่ได้ (และที่สำคัญมันเกี่ยวกับพิษณุโลกโดยตรงด้วย) นั่นก็คือการต้านทานอำนาจของล้านนาทางตอนเหนือครับ

พระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1984-2030) กษัตริย์เชียงใหม่ที่ได้ขยายอาณาเขตล้านนาออกไปกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ทั้งบุกตีรัฐฉาน ช่วยล้านช้างตีไดเวียด ฯลฯ ที่สำคัญคือได้ตียึดเมืองน่าน เมืองแพร่ และขยายกำลังลงมาทางใต้ จนเป็นภัยต่อความมั่นคงของอยุธยา จากนั้นในปี พ.ศ. 1999 เจ้าเมืองเชลียง (สวรรคโลก) และอดีตเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ ทำให้ล้านนาที่ต้องต้านรับการบุกของอยุธยามาหลายสมัยมีโอกาสกลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง พระบรมไตรโลกนาถต้องขึ้นไปบัญชาการทัพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2006 และสามารถหยุดกองทัพของล้านนาไว้ได้ที่เมืองเชลียง ในขณะที่มอบหมายให้พระบรมราชาปกครองอยุธยาและตั้งพิษณุโลกเป็นราชธานีชั่วคราว การต่อสู้ระหว่างอยุธยาและเชียงใหม่เป็นไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน ทั้งสู้กันด้วยกำลัง จิตวิทยา และไสยศาสตร์ จนกระทั่งทั้งสองอาณาจักรเจรจาสงบศึกกันในปี พ.ศ. 2018 พระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 (ครองราชย์ได้ 46 ปี) และพระบรมไตรโลกนาถก็สรรคตลงในปีต่อมา ขณะยังคงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกนี้เอง (ครองราชย์ได้ 40 ปี อยู่อยุธยา 15 ปี พิษณุโลก 25 ปี)

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมไตรโลกนาถที่ต่อสู้ปกป้องอยุธยาเป็นเวลาถึงกว่ายี่สิบปี แม้จะเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย แต่คนรุ่นหลังกลับไม่ให้ความสนใจเท่ากับสงครามที่อยุธยาต่อสู้กับพม่า นั่นก็เพราะล้านนาปัจจุบันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว เช่นเดียวกับอยุธยาและสุโขทัย จะใช้ปลุกอารมณ์คลั่งชาติได้ไม่เท่าสงครามไทยรบพม่าครับ แต่อย่างน้อยในเมืองพิษณุโลกก็น่าจะมีอนุสาวรีย์พระบรมไตรโลกนาถไว้สักหน่อย

กำแพงเมืองที่หลงเหลือชัดเจนที่สุดคือบริเวณวัดโพธิญาณ เดิมทีเมืองพิษณุโลกล้อมด้วยเนินดิน จนกระทั่งพระบรมไตรโลกนาถอัพเกรดกำแพงเมืองก่ออิฐเพื่อต้านทานการบุกของล้านนา (และในยุคต่อมาพระมหาจักพรรดิก็ได้ใช้อีกครั้งเพื่อต้านทานการบุกของพม่า)



นอกจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว วัดราชบูรณะก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยที่พระบรมไตรโลกนาถมาประทับที่เมืองนี้เอง เจดีย์ประธานของวัดนี้เป็นเจดีย์ทรงลังกาบนฐานแปดเหลี่ยมหลายชั้น โดดเด่นเป็นสง่ามองเห็นแต่ไกล



ด้านในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมากแล้ว ด้านในจัดแสดงของเก่าๆไว้ด้วย



ภายในวัดยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกมากที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในสภาพที่ดีมาก ทั้งอุโบสถ หอไตรเสากลม โรงเรียนปริยัติธรรม ฯลฯ

ติดกันคือวัดนางพญา สร้างขึ้นราวๆยุคอยุธยาตอนต้น มีการขุดพบกรุพระเครื่องพระนางพญาที่นี่ และเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีที่คอพระเครื่องให้ราคาสูงปรี๊ด เจดีย์ในวัดก็ถูกทะลวงจนพรุนเช่นนี้แล...



สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว พระประธานของวัดนางพญา ไม่โด่งดังแต่งดงามมากครับ พิษณุโลกมีพระพุทธรูปที่งดงามมากมายจริงๆ



ทีนี้มาถึงพระราชวังจันทร์บ้าง ที่นี่เป็นที่ประสูติและที่ประทับของพระนเรศวรขณะเป็นอุปราช ก่อนขึ้นครองเป็นกษัตริย์อยุธยาและกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงครั้งที่ 1 สำหรับรายละเอียดหาดูได้ตามหนังท่านมุ้ยหรือหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปครับ ตรงนี้คงไม่ต้องขุดค้นอะไรมาก ไว้เดี๋ยวผมทำบล็อกเจดีย์ยุทธหัตถีแล้วค่อยเล่าเรื่องพระนเรศวรเต็มๆดีกว่า



ปัจจุบันบริเวณพระราชวังสร้างเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรที่ชาวไทยนิยมเดินทางมากราบไหว้ ถ้าวัดอินทารามคือที่สุดของสถานที่รำลึกถึงพระเจ้าตากสินแล้ว ที่สุดของสถานที่รำลึกถึงพระนเรศวรก็คือเจดีย์ยุทธหัตถีครับ //แล้วเอามาเขียนในบล็อกนี้ทำไม!



สระสองห้องอยู่ด้านตะวันตกของพระราชวังจันทร์ ขนาด 40 เมตร x 160 เมตร เดิมน่าจะเป็นพลับพลาริมน้ำ แต่ตัวพลับพลาคงพังไม่เหลือซากแล้ว



บริเวณใกล้ๆวังมีวัดศรีสุคตและวัดวิหารทองครับ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยสุโขทัยทั้งคู่

วัดศรีสุคต



วัดวิหารทอง



Smiley Smiley Smiley

แนะนำวัดต่างๆในเมืองไปแล้ว ทีนี้ขอย้อนกลับมาวัดที่เก่าแก่ที่สุดในพิษณุโลกกันครับ ที่เอามาไว้ท้ายสุดเพราะวัดนี้อยู่นอกตัวเมืองอะจ้ะ ขับรถออกมาจากตัวเมืองพิษณุโลกลงมาด้านล่างตามเส้น 1063 ไม่ไกลจะพบวัดจุฬามณี ที่นี่มีพระปรางค์ประธานเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยขอมเรืองอำนาจ (ป้ายการท่องเที่ยวจะบรรยายโบราณสถานที่สร้างก่อนอยุธยาทั้งหมดว่า "สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น" ...ชาตินิยมโคตรๆ) พระบรมไตรโลกนาถเคยมาผนวชที่วัดนี้ และบูรณะวิหารของวัดนี้ขึ้นใหม่ด้วย





พระประธานในวิหารคือหลวงพ่อเพชร สร้างในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แต่ชำรุดไปมาก ชาวบ้านช่วยกันบูรณะเลยดูไม่สมส่วนเท่าไหร่ ที่เรียกว่าหลวงพ่อเพชรเพราะเดิมมีดวงตาเป็นเพชร แต่ถูกขโมยแงะไปแล้วครับ



มณฑปพระพุทธบาทจำลองสร้างขึ้นสมัยพระนารายณ์ ด้านหลังมีจารึก พ.ศ. 2221 ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาทสลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน




พิษณุโลกเป็นเมืองน่าเที่ยวครับ ยามค่ำคืนยังมีร้านอาหารขายของอร่อยๆมากมาย ผมมาทริปสองวัน (พิจิตร-พิษณุโลก) ตั้งใจเก็บท้องไว้รอมื้อเย็นที่พิษณุโลกเต็มที่ แต่ดันเจอฝนจนต้องระเห็ดไปนั่งกินแบล็คแคนย่อนในเซ็นทรัลพิษณุโลกแทน ส่วนห้องพักให้ข้ามแม่น้ำน่านไปฝั่งเดียวกับศาลพระนเรศวร ราคาห้องพักแทบจะถูกลงครึ่งต่อครึ่งเลยครับ Smiley

Create Date :20 สิงหาคม 2557 Last Update :20 สิงหาคม 2557 19:20:10 น. Counter : 12349 Pageviews. Comments :31