bloggang.com mainmenu search

กลับมาอีกครั้งกับบล็อกพาเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ครับ ปีนี้ขอวนกลับมาเที่ยวกำแพงเพชรอีกรอบ ถือเป็นเมืองโบราณเมืองแรกๆ ที่ผมทำบล็อกลงที่นี่ ด้วยความชอบในเหล่าโบราณสถานขนาดใหญ่มากมายอยู่ในป่าแบบที่ไม่ถูกความเจริญเข้าไปรุกล้ำ ทำให้ผมชอบอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมากที่สุดในบรรดาอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งหมด ปลายปีที่แล้วนัดเที่ยวกับเพื่อนสมัยมัธยมที่เป็นหมออยู่ที่นั่นเลยได้ฤกษ์แวะไปเที่ยวกำแพงเพชรอีกรอบ เป็นทริป 3 วัน 2 คืนครับ

ด้วยความที่กูเกิ้ลแมปและการหาข้อมูลของเจ้าของบล็อกพัฒนาขึ้นมาเยอะ รอบนี้ได้พบปะซากอิฐเพิ่มเติมขึ้นมาจากครั้งก่อนมากมายจนไม่สามารถอัดลงในบล็อกเดียวได้ ขอแบ่งโซนลงบล็อกตามนี้ครับผม

1. กลางนคร - เขตเมืองกำแพงเพชรโบราณ และโบราณสถานรอบๆ
2. อุทยานประวัติศาสตร์ - เขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
3. เมืองโบราณนครชุม - โบราณสถานฝั่งนครชุม

แผนที่เมืองกำแพงเพชรตามด้านล่างครับ กรอบสีแดงคือเขตเมืองกำแพงเพชรโบราณ ล้อมด้วยคูน้ำ-กำแพงเมืองรอบด้าน ทางใต้ของกำแพงเพชรข้ามฝั่งแม่น้ำปิงลงไปคือเมืองนครชุม และทางเหนือของเมืองกำแพงเพชรเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเหล่าโบราณสถานกลางป่า

(Click ที่แผนที่เพื่อชมภาพขยาย) ภาพนี้ลงจุดไว้เฉพาะสถานที่ที่จะพาไปในเอ็นทรี่นี้ครับ


ก่อนอื่นมาอินโทรประวัติศาสตร์กำแพงเพชรซะหน่อย บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองโบราณเกิดขึ้นในยุคไล่เลี่ยกันหลายเมือง แต่เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือนครชุมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง และกำแพงเพชรทางฝั่งตะวันออก นครชุมเป็นเมืองที่เกิดขึ้นก่อน โดยพญาลิไทแห่งสุโขทัยได้นำพระธาตุและต้นศรีมหาโพธิ์มาประดิษฐานในวัดพระบรมธาตุ กลางเมืองนครชุม ในปี พ.ศ.1900

กำแพงเพชร ถูกสร้างขึ้นในเวลาต่อมา และขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการปกครองลุมแม่น้ำปิงแทนนครชุม มีทั้งทฤษฎีที่เชื่อว่าสุโขทัยเป็นคนสร้าง และอยุธยาเป็นคนสร้าง ที่แน่นอนคือตั้งแต่สมัยขุนหลวงพะงั่วเป็นต้นมา อยุธยาก็เข้ายึดพื้นที่กำแพงเพชรจากสุโขทัยได้สำเร็จ และในสมัยเจ้านครอินทร์ ทั้งสุโขทัยและกำแพงเพชรก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา แต่กำแพงเพชรก็ยังถูกใช้เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเช่นเดิมครับ เพราะตรงนี้เป็นรัฐกันชนระหว่างอยุธยา กับล้านนาและพม่า เมืองนี้จึงมีการสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมเมืองทุกด้าน มีคูน้ำ คันดิน เชิงเทิน และป้อมรบ จนกลายเป็นเมืองที่มีพลังป้องกันสูงลิบ สมดังชื่อ "กำแพงเพชร"

สำหรับเมืองชากังราว ที่เดิมเชื่อกันว่าคือกำแพงเพชรนั้น ปัจจุบันมีความเห็นว่าน่าจะเป็นเมืองพิชัยใน จ.อุตรดิตถ์มากกว่า โดยชื่อชากังราว เป็นภาษามอญ แปลว่า "เมืองด่านที่มีตลาดและถนนหนทาง"

มาถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ยกเลิกความเป็นประเทศราช และถือว่าสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาโดยสมบูรณ์ มีการสร้างวัดวาอารามต่างๆ ในเมืองกำแพงเพชรมากมายทั้งในเขตกำแพงเมืองและในเขตป่า และมีความเป็นศูนย์กลางศาสนาเหนือกว่าเมืองพระยามหานครอื่นๆ แต่หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 กำแพงเพชรก็ลดความสำคัญลงไปมาก เพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นที่ซ่องสุมกำลัง

เนื่องจากไม่ได้เป็นศูนย์กลางของรัฐใดๆ ผู้ปกครองกำแพงเพชร จึงมีฐานะเป็นเจ้าเมือง ไม่ใช่กษัตริย์ (แม้ช่วงหลังสมัยพญาลิไทที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ จนกำแพงเพชรขึ้นมาใหญ่แทนที่กลุ่มเมืองกำแพงเพชร-สุโขทัย-พิษณุโลก ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาไปแล้ว) เจ้าเมืองกำแพงเพชรที่มีชื่อเสียงก็เช่น พระยาแสนสอยดาว พระยาศรีธรรมโศกราช ส่วนพระเจ้าตากสินเป็นเจ้าเมืองตาก ไม่เคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรนะครับ (ตำแหน่งพระยาวชิรปราการแต่งขึ้นมาในสมัย ร.2)

สำหรับตำนานท้าวแสนปมเป็นเรื่องที่ล้านนาพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับกำแพงเพชรตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย ตำนานที่เล่าว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่นี่ก่อนไปเชียงรายก็เช่นกัน อันที่จริงล้านนาก็เข้ามามีอิทธิพลกับกำแพงเพชรอยู่นะครับ แต่เป็นช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาที่ล้านนาแผ่อำนาจลงมาถึงแถบนี้


 

เมื่อขับรถตามสาย 1 ขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ จนเห็นป้ายเข้าเมืองกำแพงเพชร ถ้าเลี้ยวขวาเข้ามาจะเข้ามาที่ถนนกำแพงเพชรฝั่งนครชุม ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำปิงมาจะเห็นหอนาฬิกาตรงผ่านวงเวียนมาจะเข้าเขตเมืองโบราณกำแพงเพชรแล้วครับ

เมืองนี้จะล้อมด้วยคูน้ำ คันดิน และกำแพงเมืองรอบด้าน กำแพงเมืองนี้ทำจากศิลาแลงซึ่งมีความแข็งแกร่งกว่าอิฐ นับจากฐานมูลดินและกำแพงเชิงเทินสองตอนมีความสูงรวม 5 เมตร และยังคงล้อมรอบเมืองทุกด้าน แม้บางส่วนจะเคยถูกรื้อไปสร้างเรือนจำ แต่กรมศิลป์ก็บูรณะขึ้นใหม่ เรียกได้ว่าเป็นกำแพงเมืองโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยแล้ว หากขับรถตามถนนราชดำเนิน จะวนได้รอบเมือง จะมีป้อมและประตูเมืองเป็นระยะๆ จอดรถข้างทางลงไปเที่ยวชมได้รอบทั้งเมืองเลยครับ ถนนที่นี่โล่งมากๆ และมีไหล่ทางให้จอดรถได้สะดวกตลอดสาย รวมรอบเมืองมีทั้งหมด 10 ประตู และ 10 ป้อม


จุดที่กำแพงสมบูรณ์มากๆ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง จะเห็นได้ว่าด้านบนทำเป็นรูปใบเสมา เป็นเอกลักษณ์ของกำแพงเมืองนี้ ตรงนี้คือ ประตูผี ที่ใช้ขนคนตายออกจากเมืองครับ


ทางเหนือของเมืองคือ ป้อมวัดช้าง ยื่นลงไปในคูเมืองเป็นป้อมบนเกาะน้ำล้อม มีต้นไม้ใหญ่แผ่ใบร่มเย็น เป็นมุมที่สวยสงบแบบสุดๆ ที่เรียกป้อมวัดช้างเพราะฝั่งตรงข้ามนอกเมืองเป็นวัดช้างครับ


ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเป็นทุ่งกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยโบราณสถานขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ใกล้ถนนที่สุดคือ วัดกลางนคร ในภาพนี้ครับ


เดินลึกเข้าไปในทุ่งจะมีโบราณสถานอีก 6 แห่ง ขอเรียกรวมว่า กลุ่มโบราณสถานกลางนคร ไม่มีป้ายอธิบายอะไรทั้งนั้น อย่างน้อยน่าจะมีป้ายระบุเป็นโบราณสถานหมายเลข 1 2 3 ก็ยังดี

 
หากขับมาตามถนนราชดำเนิน 2 ถึงทางโค้งคนจะบีบแตรกันให้ลั่น เป็นการทำความเคารพศาลหลักเมืองครับ

หลักเมืองกำแพงเพชร เป็นศิลาแลงทรงกระบอกยาว 2 เมตร แต่มีส่วนที่สูงเกินพื้นขึ้นมา 1 เมตร ส่วนยอดเคยถูกขโมยไป เลยสร้างใหม่จากดินศักดิ์สิทธิ์หลายจังหวัด

 


ทางเหนือของศาลหลักเมืองเป็นที่โล่งๆ เรียกว่า สระมน มีกำแพงดินล้อมรอบ คาดว่าเป็นบริเวณพระราชวัง จากการขุดแต่งบริเวณมีเศษกระเบื้องตกกระจายอยู่ แต่ตัวอาคารต่างๆ น่าจะเป็นอาคารไม้ เลยไม่เหลือร่องรอยแล้ว เหลือเพียงฐานอาคารนี้แห่งเดียวครับ ซึ่งไม่รู้ว่าคือส่วนไหนของพระราชวัง แต่เล็กเกินจะเป็นท้องพระโรง


ทางใต้ของศาลหลักเมืองคือที่ตั้งของวัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว คือวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกำแพงเพชร และอยู่ตรงข้ามพระราชวัง จึงน่าจะมีสถานะเป็นวัดประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุของสุโขทัย วัดพระศรีสรรเพชญของอยุธยา และวัดพระแก้วของกรุงเทพ เสียค่าบัตรผ่านประตูเข้ามา 20 บาท เข้าได้ทั้งวัดพระแก้วในตัวเมือง และเขตอุทยานประวัติศาสตร์นอกตัวเมืองครับ เคยมีตำนานว่าประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่จากเส้นทางการเดินทางของพระแก้วมรกตหากนับจากพบครั้งแรกสุดที่วัดพระแก้วเชียงรายแล้ว ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงเรื่องบอกเล่าทั้งสิ้น จะถือว่าพระแก้วมรกตไม่เคยมาที่กำแพงเพชรครับ ชื่อวัดพระแก้วอาจมาจากการประดิษฐานพระแก้วองค์อื่น

วัดนี้มีความยาวมาก และศิลปะก็หลากหลาย เพราะสร้างขึ้นมาในยุคที่แตกต่างกัน เดินจากหลังสุดไปหน้าสุดของวัด จุดสำคัญจะมีเจดีย์ช้างล้อม 32 เชือก สร้างสมัยสุโขทัยและน่าจะเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของวัด บางแห่งเรียกแยกไปว่าเป็นวัดช้างเผือก อันที่จริงตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระแก้วนะครับ ถัดเข้ามาอีกจะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่สามองค์ พระนั่ง 2 พระนอน 1 ศิลปะอู่ทองตอนปลาย เป็นจุดที่เป็นภาพจำของวัดพระแก้วเลยครับ ด้านหน้ามีเจดีย์ทรงกลมมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป


ถัดมาด้านหน้าวัดพระแก้วคือ วัดพระธาตุ สร้างในสมัยอยุธยา อาจเป็นส่วนขยายจากวัดพระแก้ว มีเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม

 

วัดป่าสัก เป็นวัดเล็กๆ อยู่หน้าวัดพระธาตุ

 

วัดหางนกยูง อยู่หน้าศาลเยาวชนจังหวัดฯ

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร สร้างในปี พ.ศ.2510 เพื่อแสดงประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุที่พบในกำแพงเพชร เป็นอาคารสองชั้นเล็กๆ  มารอบที่แล้วไฟดับเลยเข้าฟรี รอบนี้เสีย 20 บาท

 

 
ด้านหน้ามีโบราณวัตถุหลายชิ้นจัดแสดงอยู่ เช่น สิงห์ปูนปั้น ปืนใหญ่ ส้วมโบราณ ฯลฯ รวมทั้ง วัดเสมางาม เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตพิพิธภัณฑ์
 


รอบนี้ปรับปรุงการจัดแสดงจากครั้งก่อน เพราะมีการสร้างอาคารเพิ่มอีกสองหลัง มีทางเดินเชื่อมกับอาคารเดิม และปรับชั้นสองเป็นสำนักงาน ที่นี่จัดแสดงประวัติศาสตร์ในพื้นที่กำแพงเพชรตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (เขากะล่อน, บ้านคลองเมือง) ยุคทวารวดี (เมืองไตรตรึงษ์) ยุคลพบุรี (บ้านสระตาพรหม) และยุครุ่งเรืองของกำแพงเพชรที่มีการสร้างเมืองไล่เลี่ยกันบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง (เมืองเทพนคร เมืองบางพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม และเมืองกำแพงเพชร) จนถึงยุคที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ และกำแพงเพชรในยุคปัจจุบัน

(Click ที่ภาพเพื่อชมภาพขยาย)

     

   
 
ชิ้นไฮไลต์ของที่นี่คือ เทวรูปพระอิศวร ทำจากสำริด นำมาจากศาลพระอิศวรที่อยู่ด้านหลัง  สร้างในปี พ.ศ.2053 โดยพระยาศรีธรรมโศกราช เคยถูกชาวต่างชาติขโมยตัดมือและเศียรไปแต่ตามคืนมาได้ รอบนี้ที่ไปพยายามสังเกตก็เห็นรอยเชื่อมต่อที่คอและมือสองข้างจริงๆ ครับ



 


ที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเป็นอนุสาวรีย์ ร.5
ที่เคยเสด็จมาประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในปี พ.ศ.2449

 

หน้าที่ว่าการอำเภอมีโบราณสถานอีกตุ่มนึง วัดโพธิ์เงิน

 
 

ศาลพระอิศวร อยู่ด้านหลังศาลเยาวชนฯ เป็นเทวสถานของฮินดูเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในเมืองกำแพงเพชร และเป็นสถานที่พบเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระอุมา ปัจจุบันย้ายเทวรูปไปเก็บในพิพิธภัณฑ์แล้วสร้างพระอิศวรองค์จำลองขึ้นมาประดิษฐานบนฐานศิลาแลงที่เหลืออยู่ครับ (พระอุมาและพระนารายณ์ในพิพิธภัณฑ์ไม่มีเศียรและมือ ไม่สมบูรณ์เท่าพระอิศวร) แม้พระยาศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองกำแพงเพชรยุคนั้นจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีการประกอบพิธีพราหมณ์ด้วย เหมือนคนไทยยุคนี้

 
วัดกะโลทัย ตั้งอยู่นอกเมืองทางตะวันออก ประธานคือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เพียงแห่งเดียวในกำแพงเพชร

 


วัดตะแบก อยู่นอกเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือ

 

วัดชีนางเกา อยู่นอกเมืองทางใต้

 

วัดต้นสำโรง อยู่ริมถนนก่อนถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

 

ออกจากเมืองขับมาตามถนน 101 (กำแพงเพชร-สุโขทัย)
เป็นทางไปอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรครับ
ริมถนนจะมี วัดดงหวาย

 
 

โบราณสถาน วัดช้าง ตั้งอยู่ในเขตวัดนาควัชรโสภณ มีคูน้ำล้อมรอบ ด้านหน้าเป็นวิหารยกพื้นประดิษฐานพระพุทธรูป (สร้างใหม่) ด้านหลังเป็นเจดีย์ช้างล้อม 18 เชือก

 

ซอยข้างวัดบ่อสามแสนเป็นที่ตั้งของโรงงานเฉาก๊วยชากังราว ที่เราได้ยินประโยค "ครับ สำหรับท่านที่เดินผ่านไปผ่านมา วันนี้เฉาก๊วยชากังราวได้มาบริการท่านพ่อแม่พี่น้องกันอีกแล้วนะครับ อากาศร้อนๆอย่างนี้นะครับ เฉาก๊วยสักถ้วยชื่นใจ..." ทั่วผืนแผ่นดินไทยที่มีร้านเฉาก๊วยตั้งอยู่จนเป็นไวรัลไปทั้งประเทศนั่นแหละ โรงงานผลิตเฉาก๊วยคือที่นี่เอง สูตรลับความนุ่มหนึบของเฉาก๊วยชากังราวนั้นเป็นการรวมกันของต้นเฉาก๊วยจากเวียดนามที่โดดเด่นในเรื่องของความหวาน ต้นเฉาก๊วยอินโดนีเซียที่มีความนุ่มหนึบ และต้นเฉาก๊วยจีนที่มีรสชาติหวานหอมกลมกล่อม ...แต่ไม่ได้ซื้อนะครับ เหลืออีกตั้งหลายวันกว่าจะกลับ ใครผ่านมาแถวนี้แวะมาดูโรงงานเฉาก๊วยได้นะ
 


ขับขึ้นมาอีกหน่อย จะมี บ่อน้ำสีฟ้า อยู่เหนือวัดศรีโยธิน อันที่จริงมันเป็นไซต์ที่ขุดดินลูกรังออกไปแล้วน้ำขังละลายแร่ธาตุในดินลงไป จนกลายเป็นสีฟ้า ไม่มีปลา และลงเล่นน้ำไม่ได้ ไม่รู้มีโครงการจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวไหมนะครับ แต่ก็ไม่น่าจะมีคนเที่ยวเท่าไหร่มั้ง

 
ทริปนี้เที่ยวสามวันสองคืน จอง โรงแรมนวรัตน์เฮอริเทจ ไว้ คืนละ 1,400 อย่างแพงเลย สำหรับเมืองรองแบบนี้ แต่ก็เป็นโรงแรมเก่าที่ปรับปรุงจนใหม่ สะอาด สะดวก สบาย มีอาหารเช้าให้ และมองเห็นวิวแม่น้ำปิง โรงแรมอยู่ใกล้ตลาดไนท์พลาซ่า และสะพานข้ามไปสวนสาธารณะบนเกาะกลางแม่น้ำด้วย

 
ตลาดไนท์พลาซ่า มีทั้งอาหาร เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ จะซื้อกินเล่นแบบถนนคนเดิน หรือซื้อกับข้าวเป็นเรื่องเป็นราวก็ได้หมดครับ ช่วงหัวค่ำคึกคักอยู่เหมือนกัน

 

ปิดท้ายบล็อกด้วยการตะลอนกิน มากำแพงเพชรไม่เคยกินร้านไหนอร่อยเลยครับ แต่รอบนี้เพื่อนที่เป็นเจ้าถิ่นพามาร้านเด็ดที่มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน 3 วันคงไม่เพียงพอ
 
ร้านแรก เซี้ยงบะหมี่ ครอบครัวมีปัญหาเลยแยกกิจการเป็นร้านซ้ายขวา ผมจำไม่ได้ละว่ากินร้านไหนเข้าไป เมนูเด็ดคือบะหมี่แห้งหมู วันหยุดมีบะหมี่แกงเขียวหวานด้วยนะ แต่ไม่เวิร์คเท่าไหร่ครับ ชอบที่หั่นถั่วฝักยาวได้บางมาก ผักฟรีด้วยนะ

 

ถัดมาเป็นมื้อเย็นของวันแรกครับ ตั้งใจไปก๋วยเตี๋ยวเรือเป่าปาก แต่รถแน่นจนต้องกระเด็นไป Mango House Cafe & Restaurant ร้านนี้ก็ไม่ขี้เหร่เลยนะครับ วิวดี มีดนตรีสด ชอบความมีเมนูโบราณอย่างแกงรัญจวนกุ้ง แพนงเป็ดลิ้นจี่ ยำสลัดส้มโอคอหมูย่าง ฯลฯ รสชาติก็ประหลาดๆ แบบที่สมเป็นเมนูใกล้สาบสูญ

 

เที่ยงวันที่สองกลับมาจากคลองลานและเมืองโบราณบางพานก็กลับเข้าเมืองมาหาข้าวเที่ยงกินครับ ร้านที่อยากลองมันเยอะกว่าอำเภออื่น แต่ปกติมนุษย์เรากินข้าวได้มื้อละร้านเดียว บนถนนเทศา 2 ซอย 1 เปิดกูเกิ้ลดูแล้ว มีร้านก๋วยเตี๋ยวเด่นๆ เรียงรายเลยครับ ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือบ้านบ้าน ก๋วยเตี๋ยวแซบสุดยอด แต่เลือกเอา เตี๋ยวเต่าบะหมี่ทำเอง นี่ละครับ  อ่านเมนูแล้วอยากลองทั้งสิ้น ทั้งก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวโบราณ ก๋วยเตี๋ยวไก่มะนาวต้มยำ เส้นบะหมี่ทำเองก็มีทั้งบะหมี่เหลือง บะหมี่ชาร์โคล บะหมี่อัญชัน เกี๊ยว  สุดท้ายก็เลือกบะหมี่น้ำแดงนี่แหละ อร่อยไม่ต้องปรุงเลย เส้นก็หนึบเด้งดึ๋ง น้ำซุปให้กระดูกมาดุ้นเบ้อเริ่ม สปอร์ตครับ

 

Boon Rueng Home Cafe and Bistro เป็นร้านมื้อเย็นวันที่สอง และเป็นร้านสุดท้ายที่กินในทริปนี้แล้วครับ (เช้าวันที่สามกินในโรงแรม ไม่นับ) ขายอาหารสารพัดแนว ทั้งอาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารเช้า อาหารจานเดียว มื้อนี้ก็อร่อย

 

แวะร้าน เจ๊ม่วยเมี่ยงชากังราว เพื่อซื้อของฝาก มีขนมแบบที่หาซื้อที่อื่นไม่ได้เยอะเลยครับ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากกล้วยไข่อย่างกระยาสารทกล้วยไข่ และกล้วยกวนกะทิสด สมเป็นกำแพงเพชร เมี่ยงชากังราว ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของร้านนี้เป็นอาหารโบราณทำจากมะพร้าวคั่ว ใส่น้ำตาล ถั่วลิสง ขิง เกลือเม็ด และใบเมี่ยง (ใบชาหมัก) กินเพลินดีเหมือนกัน

 
 
ขอจบเอ็นทรี่แรกของซีรี่ยส์กำแพงเพชรแต่เพียงเท่านี้ย์~ เอ็นทรี่ถัดไปจะพาเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งซากโบราณเยอะมากๆ ขอเวลาไปมาร์คจุดในแผนที่นานหน่อยนะครับ 127

 
Create Date :01 พฤษภาคม 2565 Last Update :1 พฤษภาคม 2565 9:56:14 น. Counter : 2492 Pageviews. Comments :45