bloggang.com mainmenu search

ช่วงนี้ฝนตกรัวๆ ท่องเที่ยวกลางแจ้งลำบากหน่อยนะครับ (แล้วอะไรมาดลใจประเทศไทยให้มีวันหยุด 15 วันในเดือนที่ฝนตกฉิบหายวายป่วงแบบนี้...) ว่าแล้วก็หนีฝนเข้าพิพิธภัณฑ์กันดีกว่าครับ ถึงคิวของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร" (Bangkok National Museum) พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของทุกภาคในประเทศไทยมาเก็บไว้ที่เมืองหลวงแห่งนี้ หากใครเห็นโบราณวัตถุชิ้นเด่นแล้วจินตนาการไปถึงสมัยที่มันตั้งอยู่ที่วัดหรือวังโบราณในยุคที่ยังรุ่งเรืองได้ยิ่งทำให้การเดินชมพิพิธภัณฑ์ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นครับ

เดิมทีสถานที่แห่งนี้คือ วังหน้า หรือ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งก็คือวังของอุปราชสมัยรัตนโกสินทร์ (เช่นเดียวกับวังหน้าของอยุธยาปัจจุบันคือพระราชวังจันทรเกษม) จนกระทั่งสมัย ร.5 ได้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป เปลี่ยนเป็นตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชแทน แล้วเปลี่ยนที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2430 วังหน้าที่เคยมีพื้นที่ครอบคลุมไปถึง ม.ธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ และทิศเหนือของสนามหลวง ก็ถูกรื้อออก เหลือเฉพาะพระที่นั่งสำคัญๆ ซึ่งเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์และยกระดับขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สังกัดกรมศิลปากร ในปี พ.ศ.2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

มีเรื่องเล่ากันว่าพระราชวังนี้แรกสุดเป็นของวังหน้าคนแรกในราชวงศ์จักรีคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งวังสร้างได้ไม่กี่ปีก็ตาย เลยสาปแช่งไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานตัวเองเข้ามาใช้วัง หลังจากนั้นก็เหมือนมีอาถรรพ์กับตำแหน่งวังหน้าจริงๆ เพราะวังหน้ายุค ร.1-5 ทุกคนตายก่อนกษัตริย์เลยไม่มีใครเคยได้ครองราชย์ ยกเว้นกรมหลวงอิศรสุนทรที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเป็นวังหน้าแทนกรมพระราชวังบวร แต่ท่านไปประจำอยู่ที่พระราชวังเดิม ไม่ได้ใช้วังหน้า เลยรอดไปเป็น ร.2 ได้...

ที่นี่มีหมู่อาคารจัดแสดงมากมาย ขอบอกว่าหากต้องการดูให้ครบต้อง 3 ชม. อย่างต่ำครับ กะเวลามาดีๆ เลย อาคารส่วนใหญ่เป็นวังหน้าเดิม ยกเว้นอาคารมหาสุรสิงหนาท และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งสร้างเพิ่มเติมภายหลัง แต่ก็เป็นสองอาคารที่มีโบราณวัตถุจากอาณาจักรต่างๆ หนาแน่นที่สุดด้วย เพราะสร้างให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ


ภาพผังอาคารจากแผ่นพับของพิพิธภัณฑ์ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรูปขยาย)

หรือเข้าชมพิพิธภัณฑ์แบบ virtual ได้ทางเว็บไซต์ www.virtualmuseum.finearts.go.th/bangkoknationalmuseums/index.php/th/
(url ต้องเอา https ออกถึงจะเข้าได้นะครับ)


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เปิดทุกวันยกเว้น จ.-อ. เวลา 8.30-16.00 น. ค่าเข้าคนไทย 30 บาท ต่างชาติ 200 บาท เด็กนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ เข้าฟรี พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ข้างสนามหลวง ติดโรงละครแห่งชาติ ด้านในมีที่จอดรถได้ 10 คัน ผมมาที่นี่ 8 รอบ เคยจอดในพิพิธภัณฑ์แค่หนเดียว นอกนั้นไปจอดวัดมหาธาตุบ้าง ท่ามหาราชบ้าง แต่ช่วงนี้สามารถจอดรถที่สนามหลวงแล้วเดินข้ามถนนมาได้เลยครับ ใกล้ขึ้นเยอะ
 
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีหลักแสดงขีดระดับน้ำท่วมในอดีต เพื่อจารึกระดับน้ำท่วมกรุงเทพ ซึ่งสถิติสูงสุดยังคงเป็นของปี พ.ศ.2485 ที่ท่วมสูงสุด 2.72 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

คนเฒ่าคนแก่เล่ากันว่าตอนนั้นภายเรือกันทั่วกรุงเลย ยุคนั้นยังไม่มีตำแหน่งผู้ว่า กทม. ไม่รู้จะมีคนบ่นจอมพล ป. นายกยุคนั้นแทนมั้ย

389 389 389

 

 

เข้ามาด้านในแล้วก็เลี้ยวซ้ายไปซื้อตั๋วเลยครับ จากนั้นเข้าชมไปตามเรื่องราว ถ้าเวลาน้อยก็จัดลำดับความสำคัญดีๆ แต่ถ้าเวลาเยอะก็เที่ยวให้ครบเลยครับ ของดีๆ ทั้งนั้น อย่าลืมว่าที่นี่ปิด 4 โมงเย็นนะ พอสักบ่ายสามครึ่งเขาก็ไม่ค่อยอยากให้ขึ้นตึกแล้วหละ

 
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
(Siwamokkhaphiman Hall)


อาคารแรกที่อยู่ติดที่ขายตั๋วมากที่สุดคือพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็นท้องพระโรงของวังหน้า เดิมทีจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แบ่งยุคสมัยตามหนังสือเรียนคือไล่ตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ แต่ในปี พ.ศ.2558 ได้ปรับปรุงให้มีโถงใหญ่ตามรูปแบบเดิม ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำหรับนิทรรศการหมุนเวียนที่เปลี่ยนการจัดแสดงตามธีมช่วงนั้นๆ อย่างปัจจุบันนี้เป็นนิทรรศการ "อโรคยาปณิทาน" เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และความเชื่อของคนโบราณเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ


ส่วนใหญ่นิทรรศการหมุนเวียนก็จะเอาของในตึกอื่นๆ มาจัดแสดงให้เข้าธีม แต่ที่น่าสนใจจริงๆ คือช่วงที่ประสานงานกับต่างประเทศแล้วเขาส่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของเขามาจัดแสดงที่เราได้นี่หละครับ อย่างเช่นนิทรรศการ "วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น" เป็นนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเลยให้ของมาแสดงช่วงวันที่ 27 ธ.ค. 60 - 14 ก.พ. 61 มีของตั้งแต่สมัยโจมนยันเอโดะ ชิ้นที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางประสูติ สมัยอาซึกะ ตุ๊กตาดินเผาโดกูสมัยโจมน พระมหาไวโรจนะสลักจากไม้ยุคเฮฮัน ภาพพิมพ์ของโทชูไซ ชาราคุ ยุคเอโดะ และอื่นๆ อีกมากมาย


พิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ให้ถ่ายรูป ก็จะได้มาถ่ายเอาตอนนี้แหละ (Click ที่ภาพเพื่อชมภาพขยาย)

     

   

อีกงานก็คือนิทรรศการ "จิ๋นซีฮ่องเต้" ซึ่งรัฐบาลจีนส่งโบราณวัตถุยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ อายุกว่า 2,200 ปี จากพิพิธภัณฑ์ 14 แห่งมาจัดแสดงที่พระที่นั่งนี้ระหว่างวันที่ 15 ก.ย. - 15 ธ.ค. 2562 นอกจากหุ่นดินเผาที่ฝังลงในสุสานจิ๋นซี (ซึ่งสามารถไปดูได้ที่วิหารเซียน จ.ชลบุรี ทุกวันอยู่แล้ว) อีกชิ้นที่น่าสนใจคือแผ่นสำริดจารึกพระบรมราชโองการของจิ๋นซีให้ใช้ระบบมาตราชั่งตวงวัดเพียงระบบเดียว


 

     

มีงานนิทรรศการพระพุทธรูปจากอินเดียด้วยนะครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นของที่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์นี้ถาวรอยุ่แล้ว เลยไม่น่าสนใจเท่างานอื่น

 
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
(Phuttaisawan Royal Hall)


สร้างตั้งแต่แรกสร้างวังหน้าเดิม เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ เจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ซึ่งตอนนั้นปกครองโดยพม่า และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐานที่พระที่นั่งนี้

ด้านหน้าของพระที่นั่งนี้ เดิมทีเคยเป็นพระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นพระที่นั่งทรงปราสาท ที่สร้างในสมัย ร.4 ให้เป็นเกียรติแก่พระปิ่นเกล้า วังหน้าซึ่ง ร.4 แต่งตั้งให้มียศเสมอกษัตริย์ แต่ทรุดโทรมมาก ร.5 จึงสั่งให้รื้อออกเหลือแต่ฐาน และใช้ประดิษฐานพระนารายณ์ทรงปืน ซึ่ง ร.5 ให้ชาวอิตาลีหล่อขึ้น จะเอาไปตั้งที่วังบ้านปืน จ.เพชรบุรี แต่สวรรคตก่อนสร้างเสร็จ ร.6 เลยเอามาตั้งไว้ที่แท่นพระคชาธารหน้าพระที่นั่งพุทไธยสวรรย์นี้


ภายในพระที่นั่งมีพระพุทธรูปองค์สำคัญหมุนเวียนมาให้ผู้คนกราบไหว้บูชา แต่องค์สำคัญที่เป็นประธานของพระที่นั่งนี้คือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระมหาสุรสิงหนาทอัญเชิญจากเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2338 เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21




ภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งนี้เขียนขึ้นในสมัย ร.1 และซ่อมแซมสมัย ร.3 เป็นภาพพุทธประวัติ 28 ภาพ ถือเป็นงานชั้นดีจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเลยครับ

 
พื้นที่ด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์หน้าโรงราชรถเคยมีการขุดแต่งในปี พ.ศ.2557 เห็นรากฐานอาคารเดิม แต่ตอนนี้กลบเป็นสนามหญ้าเหมือนเดิมละครับ
 
 
 
พระตำหนักแดง (Red House)

เรือนไม้ทาสีแดงทั้งหลัง เดิมทีเป็นกลุ่มเรือนไม้หลายหลังซึ่ง ร.1 สร้างพระราชทานให้แก่พระพี่นางกรมพระศรีสุดารักษ์ อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาย้ายไปอยู่พระราชวังเดิมในสมัย ร.3 ก่อนพระปิ่นเกล้าจะให้ย้ายมาที่วังหน้าด้านหลังหมู่พระวิมานในสมัย ร.4 ส่วนเรือนอื่นๆ ได้แจกจ่ายไปทำกุฏิสงฆ์บ้าง ศาลาการเปรียญบ้าง หลังเปลี่ยนวังหน้าเป็นพิพิธภัณฑ์ในสมัยคณะราษฎร์แล้วได้มีการบูรณะตำหนักแดงขึ้นใหม่ และย้ายมาตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งศิวโมกข์พิมานจนถึงปัจจุบัน

ต้นมะม่วงหน้าตำหนักแดงต้นนี้ปลูกในปี พ.ศ.2448 นับอายุถึงปัจจุบันก็ 117 ปี


 
 
หมู่พระวิมาน
(Phra Wiman)



หมู่พระวิมาน เป็นกลุ่มอาคารที่ใหญ่ที่สุดในวังหน้า ประกอบด้วย 12 พระที่นั่ง ด้านหน้าสุดคือพระที่นั่งอิสราวินิจฉัย ส่วนด้านข้างของหมู่พระวิมานคือศาลาสำราญมุขมาตย์

ขอวาร์ปชมเฉพาะบางห้องนะครับ เพราะของที่จัดแสดงที่นี่เยอะมากจริงๆ และเป็นของยุครัตนโกสินทร์ที่ผมไม่อินด้วย มันไม่เก่า -3-

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ กลางห้องคือบุษบกพรหมพักตร์ หรือปราสาททอง สร้างในสมัย ร.1 เคยใช้ประดิษฐานพระโกศของวังหน้าสมัย ร.1-3


พระที่นั่งบูรพาภิมุข จัดแสดงอาวุธโบราณ ชิ้นสำคัญคือกลองจากหอกลองของพระนคร กลองชั้นบนสุดตีบอกสัญญาณเมื่อมีข้าศึก กลองอันที่สองตีแจ้งอัคคีภัย กลองล่างสุดใช้ตีบอกเวลา หนังกลองผุแล้วเห็นภาพวาดด้านในด้วยครับ ใครแวะไปเอาไฟฉายมือถือส่องได้นะ


พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ชั้นบนจัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องมุข


พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ชุดกลางคือฉลองพระองค์ของ ร.4


มุขเด็จ อยู่ท้ายสุดของหมู่พระที่นั่ง จัดแสดงเครื่องไม้จำหลัก กลางห้องคือธรรมาสน์กลมสมัยอยุธยา ซึ่ง ร.7 ได้รับถวายจากวัดค้างคาว จ.นนทบุรี และนำมาเก็บไว้ที่นี่

 

ชิ้นที่น่าสนใจคือบานประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศน์
สร้างในปี พ.ศ.2365 สมัย ร.2 เป็นประตูไม้ลงรักปิดทอง
ซึ่งท่านได้แกะร่วมกับช่างหลวง แต่ถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ.2502
เลยถอดบานประตูมารักษาที่พิพิธภัณฑ์พระนคร

 

อีกบานหนึ่งเป็นประตูไม้จำหลักรูปทวารบาล
เดิมเป็นซุ้มประตูทางขึ้นปราสาทพระเทพบิดร
ในวัดพระแก้ว แต่ถูกไฟไหม้ในสมัย ร.7
จึงย้ายมาเก็บในพิพิธภัณฑ์เช่นกัน

 


 
โรงราชรถ (The Hangar of Thai Royal Funeral Chariot)

โรงราชรถ บรรจุราชรถที่ใช้ในพระราชพิธี รวมถึงพระโกศของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ชิ้นสำคัญคือพระมหาพิชัยราชรถ ยาว 18 เมตร สูง 11 เมตร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย ร.1 เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศของพระปฐมบรมมหาชนกในปี พ.ศ.2338 (ตายตั้งแต่ปี พ.ศ.2310 ตอนหนีพม่าไปอยู่พิษณุโลกแล้วป่วยตาย แต่มาจัดพิธีทีหลัง) หลังจากนั้นได้ใช้ในพระราชพิธีศพของกษัตริย์ (ร.1 2 3 4 5 และ 9) และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมายาวนาน ครั้งสุดท้ายใช้ในพระราชพิธีของ ร.9 ปี พ.ศ.2560 สำหรับ ร.6 และ 8 ใช้เวชยันตราราชรถที่อยู่ด้านใน ส่วน ร.7 สวรรคตที่ต่างประเทศครับ


 
 
อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
(Praphat Phiphithaphan Building)



เปิดใช้ในปี พ.ศ.2510 เพื่อเป็นส่วนขยายของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แบ่งการแสดงเป็น 5 สมัย คือล้านนา สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และรัตนโกสินทร์

ห้องล้านนา จัดแสดงประวัติศาสตร์ล้านนา รัฐที่เคยยิ่งใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของอยุธยาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับศิลปะสืบทอดจากมอญในหริภุญชัยยุคก่อนหน้า และพม่าในช่วงที่ถูกพม่าปกครอง

 

งาช้างจำหลัก ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 และสลักเป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว 7 ชั้น ชั้นละ 4 องค์
ไม่ได้เก่าแก่มาก แต่มีความละเอียดประณีตมากจนต้องเอามาลง
 

ชิ้นนี้เป็นน้องใหม่ล่าสุดของพิพิธภัณฑ์พระนครเลยครับ ครอบเศียรพระพุทธรูป ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นแผ่นทองดุนลาย สร้างเพื่อครอบพระเศียรพระพุทธรูป ถูกขโมยไปขายต่างชาติแล้วไปอยู่เมกาเมื่อนานมากแล้ว แต่ทายาทได้ทำการส่งคืนประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565
 

พระศิลาขาว ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็น 1 ใน 4 องค์ที่นำมาจากวัดพระเมรุ นครปฐม มาประดิษฐานที่วัดพระยากงในยุคอยุธยา แล้วย้ายกระจายกันไปตามที่ต่างๆ หลังจากนั้น อยู่ที่พระปฐมเจดีย์ 2 พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา 1 และพิพิธภัณฑืพระนคร 1 (คือองค์นี้) นอกจาก 4 องค์นี้แล้วยังมีพระศิลาเขียวเป็นองค์ที่ 5 อยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

ชิ้นนี้ไม่เกี่ยวกับล้านนานะครับ แต่คงหาที่ไว้เหมาะๆ ไม่ได้
เลยเอามาตั้งไว้ตรงทางขึ้นชั้น 2

 


ห้องสุโขทัย อาณาจักรที่รุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ศิลปะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์-ฮินดูในช่วงแรก และพุทธศาสนาที่รับมาจากลังกาหลังยุคพญาลิไท
 

โบราณวัตถุชิ้นเอกก็แน่นอนว่าคือสิ่งนี้ครับ จารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.1835 จารึกลายสือไทยบนแท่งหิน ค้นพบโดย ร.4 ที่เนินปราสาท จ.สุโขทัย และนำลงมากรุงเทพพร้อมจารึกวัดป่ามะม่วงและพระแท่นมนังคศิลาบาตร บอกเล่าประวัติศาสตร์สุโขทัยช่วงต้น และใช้เป็นหลักฐานสำคัญของการรวบรวมประวัติศาสตรืไทย ในช่วงแรกจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบาลเมือง..." แต่ช่วงท้ายคงจารึกในรัชสมัยถัดมาจึงแทนตัวพ่อขุนรามคำแหงเป็นบุคคลที่สาม เคยมีข้อสังเกตว่าจารึกนี้ถูกสร้างขึ้นมาภายหลังหรือเปล่า แต่ด้วยหลักฐานทั้งหมดทั้งมวลแล้วสรุปว่าเป็นของจริงนะครับ (ขี้เกียจพิมพ์อะ)
 

ชิ้นนี้สำคัญเช่นกันครับ จารึกวัดศรีชุม พ.ศ.1912 พบในอุโมงค์วัดศรีชุม กล่าวถึงประวัติมหาเถรศรีศรัทธา หลานปู่ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ผู้สร้างเมืองสุโขทัยขึ้น แต่สายอำนาจเปลี่ยนไปเป็นของราชวงศ์พระร่วงหลังพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกับพ่อขุนผาเมืองรบกับขอมสบาดโขลญลำพงที่มายึดกรุงสุโขทัย แล้วพ่อขุนผาเมืองที่เป็นสายตรงของพ่อขุนศรีนาวนำถุมยกให้พ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้ปกครองสุโขทัย จารึกนี้ทำให้ทราบความเป็นมาก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
 


ยังคงเป็นยุคสุโขทัยนะครับ ห้องนี้จัดแสดงเทวรูปสำริดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศิลปะสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ส่วนใหญ่เคยนำไปประดิษฐานที่เทวสถานใกล้เสาชิงช้า แต่ย้ายมาไว้ในพิพิธภัณฑ์หมดแล้วครับ ด้านหน้าสุดคือจารึกวัดป่ามะม่วง พ.ศ.1904 เป็นภาษาบาลี จารึกโดยพญาลิไท บันทึกเรื่องพญาลิไทออกผนวชที่วัดป่ามะม่วง และเทวรูปหลายองค์ในห้องนี้แต่เดิมก็ถูกสร้างไว้ประดิษฐานในหอเทวาลัยที่ป่ามะม่วงด้วย

 

แผ่นหินจารึกภาพชาดกเรื่องโภชานิยชาดก ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 19-20 พบที่เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม
 

สุโขทัย-ศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกใหญ่ และเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของอาณาจักรสุโขทัยด้วย เครื่องปั้นดินเผาจะเผาจากเตาสังคโลก เขียนด้วยพู่กันเป็นลวดลายต่างๆ แล้วเคลือบ ลายยอดนิยมจะมีลายปลาก่า (หรือปลาหมอ เป็นปลาที่พบมากแถวสุโขทัย) และลายดอกบัว ถ้าไปเที่ยวแถวสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จะมีซากเตาสังคโลกเรียงรายกันเป็นร้อยเตาเลยครับ
 


ห้องกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 และควบรวมอาณาจักรต่างๆ จนสานต่อเป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ศิลปะมีทั้งที่รับสืบทอดจากขอมในช่วงแรก และรับอิทธิพลจากศิลปะอื่นๆ ทั้งสุโขทัยและล้านนา รวมถึงนานาชาติที่เจริญสัมพันธไมตรีด้วย แม้จะเป็นศูนย์กลางอาณาจักรมานาน แต่โบราณวัตถุชิ้นสำคัญยังคงสืบทอดใช้งานในวัดและพระราชวังอยู่ เลยมีของมาจัดแสดงน้อยกว่าสุโขทัยหรือลพบุรีครับ



โบราณวัตถุสำคัญคือเศียรพระพุทธรูปที่พบในวัดพระศรีสรรเพชญ์
เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วมีประเด็นถกเถียงกันมากว่าใช่เศียรของพระศรีสรรเพชญดาญาณหรือไม่
หากใช่นี่คือพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในยุคกรุงศรีอยุธยาเลยนะครับ
แต่จากการเทียบขนาดและหลักฐานอื่นๆ แล้ว คงไม่ใช่
น่าจะเป็นพระประธานของวิหารสักแห่งในวัดมากกว่า
ที่แน่ๆ องค์พระศรีสรรเพชญดาญาณที่เสียหายตอนเสียกรุงถูก ร.1
นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดโพธิ์ครับ (แต่ไม่รู้ว่าเศียรอยู่ด้วยมั้ย)


ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น และห้องรัตนโกสินทร์ อยู่ชั้นล่างติดกันสองห้อง ในส่วนประวัติศาสตร์ธนบุรีเป็นช่วงสั้นๆ ไม่ค่อยมีโบราณวัตถุให้แสดงมากนัก (เก๋งคู่ในพระราชวังเดิมจะมีของมากกว่า) ของส่วนใหญ่เป็นยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งหลายชิ้นได้รับจากทูตต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจและนำความเจริญเข้ามาในช่วงนี้ ในขณะเดียวกันลัทธิล่าอาณานิคมก็ตามมาด้วย

 

พระแท่นพระเจ้ากรุงธนบุรี นำมาจากวัดราชบังลังก์ อ.แกลง จ.ระยอง
เชื่อว่าเคยเป็นพระแท่นของพระเจ้าตากสินมาก่อน

 

ลูกโลกจำลอง จากพระราชินีวิคตอเรียของอังกฤษ
เซอร์จอห์นบาวริ่งนำมาถวาย เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในปี พ.ศ.2398

 

รถไฟจำลอง จากพระราชินีวิคตอเรียของอังกฤษเช่นกัน นำมาถวาย ร.4 เมื่อปี พ.ศ.2398 เพื่อชวนให้ทำกิจการรถไฟในสยาม แต่กว่าจะสำเร็จก็สมัย ร.5
 

หมอนรถไฟ ทำจากไม้มะริดและเงิน สำหรับ ร.5 และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ตรึงหมุดเปิดรางรถไฟสายนครราชสีมา พ.ศ.2439
 


 
อาคารมหาสุรสิงหนาท
(Mahasurasinghanat Building)



เปิดใช้ในปี พ.ศ.2510 เพื่อเป็นส่วนขยายพิพิธภัณฑ์และตั้งชื่อตามเจ้าของวังหน้าคนแรก ใช้แสดงศิลปะต่างประเทศและศิลปะในประเทศก่อน พ.ศ.1800 จึงมีโบราณวัตถุของยุคก่อนประวัติศาสตร์รวมถึงอาณาจักรเก่าแก่อย่างทวารวดี ศรีวิชัย และลพบุรี ในอาคารหลังนี้

ห้องก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงโบราณคดีก่อนมีลายลักษณ์อักษร ตั้งแต่ยุคหินมา ส่วนใหญ่เป็นโลงศพ ลูกปัด กำไลมือ และเครื่องมือหิน แต่ก็มีของโบราณจากต่างประเทศที่อารยธรรมสูงกว่าแถบนี้เข้ามาตั้งแต่ยุคก่อนประว้ติศาสตร์เหมือนกัน

 

ตะเกียงโรมันสำริด พบที่เมืองโบราณพงตึก จ.กาญจนบุรี
คาดว่าหล่อที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์
และนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวอินเดีย

 

ส่วนชิ้นนี้อยูในห้องถัดมา ยุคทวารวดีแล้วครับ ปูนปั้นรูปนักดนตรี
ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-14 พบที่เมืองโบราณคูบัว จ.ราชบุรี
เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นรูปแบบการแต่งกายของคนในยุคทวารวดี

 


ห้องทวารวดี จัดแสดงโบราณวัตถุในยุคทวารวดี ที่เจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ทั้งธรรมจักร พระพุทธรูป และปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม หลายชิ้นนำมาจากหัวเมืองอย่างอยุธยาหรือสุโขทัย เพราะอดีตอาณาจักรพวกนี้ตอนรุ่งเรืองก็นำศิลปะจากทวารวดีไปเก็บในราชธานี

 

พระพุทธรูปยืน ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 13-15
พบที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย

 

ภาพจำหลักศิลาแสดงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์
พุทธศตวรรษที่ 13 พบที่วัดจีน อยุธยา

 


ห้องลพบุรี จัดแสดงศิลปะขอมในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-18 ส่วนมากมาจากลพบุรีซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของขอมที่รุ่งเรืองที่สุดในเขตประเทศไทยปัจจุบัน (ละโว้)



นารายณ์บรรทมสินธุ์ที่โด่งดังคือทับหลังที่ปราสาทพนมรุ้ง แต่ดังเพราะเคยหายไปจากประเทศไทยแล้วสหรัฐส่งคืนมา
แต่ส่วนตัวผมคิดว่านารายณ์บรรทมสินธุ์ที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดคือชิ้นนี้ครับ ศิลปะขอม อายุพุทธศตวรรษที่ 17 จากปราสาทกู่สวนแตง จ.บุรีรัมย์
 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะขอม
อายุพุทธศตวรรษที่ 18 จากปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี
เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 8 กร
พระวรกายประดับด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมาก

ชิ้นนี้ก็คุ้นเคยมากเช่นกัน เพราะไปเที่ยวปราสาทเมืองสิงห์บ่อยมาก
และในปราสาทมีเทวรูปจำลองที่ทำซะเหมือน
องค์จริงอยู่ที่นี่ครับ


ห้องศรีวิขัย แสดงศิลปะจากภาคใต้ ในยุคอาณาจักรศรีวิชัยและตามพรลิงค์ พุทธศตวรรษที่ 13-18

 

ชิ้นสำคัญก็ต้องชิ้นนี้เลยครับ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี หรืออวโลกิเตศวร
ทำจากสำริด ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ 14-15
จากวัดเวียง เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

 

พระพุทธรูปนาคปรก พุทธศตวรรษที่ 18-19
จากวัดเวียง เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ร.5 เคยนำไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร ต่อมาย้ายมาเก็บที่พิพิธภัณฑ์นี้

 


ห้องศิลปะเอเชีย จัดแสดงโบราณวัตถุจากชวา และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ได้รับมอบมา หรือแลกเปลี่ยนกับโบราณวัตถุบางชิ้นของไทยไป
 
อินโดนีเซีย
 


พระคเณศ 4 กร พุทธศตวรรษที่ 15-16
ในยุคอาณานิคมรัฐบาลฮอลันดานำจากเกาะชวามามอบให้ ร.5

 

มีศิลปะจากบุโรพุทโธจัดแสดงที่นี่หลายชิ้นเหมือนกัน
ทั้งทวารบาล ท่อโสมสูตรรูปมกร หน้ากาลประดับซุ้มประตู ฯลฯ
ในภาพคือสิงห์จากพุทธสถานบุโรพุทโธ เกาะชวา อินโดนีเซีย

 
 
อินเดีย
 

พระพุทธรูปแสดงภูมิสปรศมุทรา ศิลปะปาละ พุทธศตวรรษที่ 14
กรมพระยาดำรงฯ นำมาจากพุทธคยาสมัย ร.5 และ ร.7 มอบให้พิพิธภัณฑ์

 

พระพุทธรูปปางแสดงมหาปาฏิหาริย์ ศิลปะปาละ พุทธศตวรรษที่ 14
นำมาจากพุทธคยาเช่นเดียวกับชิ้นข้างๆ

 
 
จีน
 

แผ่นศิลาจำหลักภาพบุคคล ยุคราชวงศ์เหลียง พุทธศตวรรษที่ 11
กรมศิลปากรซื้อจากพิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ ใน พ.ศ.2479

 

ยมานตกะ เป็นภาคดุร้ายของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี
สมัยราชวงศ์ชิง พุทธศตวรรษที่ 22-25 กรมพระยาดำรงฯ ได้มาจากปักกิ่ง

 
 
ญี่ปุ่น
 

พระอมิตาภะ ยุคคามาคุระ พุทธศตวรรษที่ 18-19
ได้รับมาในปี พ.ศ.2469

 

พระอมิตาภะ ยุคเมจิ พุทธศตวรรษที่ 25
ทูตญี่ปุ่นนำมาถวาย ร.5 ในปี พ.ศ.2446

 
 
เวียดนาม



สิงห์แบกประดับโบราณสถาน
ศิลปะจาม พุทธศตวรรษที่ 17-18

  พม่า



พระพุทธรูปทรงเครื่องแสดงภูมิสปรศมุทรา
จากมัณฑะเลย์ พุทธศตวรรษที่ 25

  ลังกา



พระพุทธรูปปางประทานอภัย
ยุคโปโลนนารุวะตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23-24

 


ขอปิดท้ายด้วยพระที่นั่งที่แทบจะไม่เปิดให้ชม แต่ปีก่อนมีงานไนท์มิวเซียม เลยได้มีโอกาสเข้าไปดูครับ

 
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ (Issaret Rachanusorn Residence)

อาคารสองชั้น สร้างโดยพระปิ่นเกล้า เป็นที่ประทับแบบตะวันตก ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่คนใช้ หลังพระปิ่นเกล้าสวรรคตในปี พ.ศ.2408 ร.4 ได้ใช้อาคารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระปิ่นเกล้า ก่อน ร.6 จะย้ายอัฐิไปเก็บที่หอพระนากในวัดพระแก้ว ปัจจุบันชั้นล่างเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติพระปิ่นเกล้า ส่วนชั้นบนรักษาไว้เหมือนครั้งที่ยังใช้งานอยู่




 
 
เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร (Nukit Ratchaborihan Chinese)

เป็นเก๋งจีนขนาดเล็กสร้างโดยพระปิ่นเกล้าเพื่อเป็นที่ประทับแบบจีน แต่สวรรคตก่อนสร้างเสด็จ ร.4 จึงสร้างต่อจนสมบูรณ์


ในเก๋งจีนมีจิตรกรรมฝาผนังนิยายจีนเรื่องห้องสิน เรียงลำดับเรื่องจากขวาไปซ้ายแบบจีน



ช่วงที่ไปไนท์มิวเซียมเมื่อปีก่อนมีเวทีการแสดงด้วย นานๆ ทีได้นำผู้คนและการละเล่นกลับมาที่วังหน้าก็ดีนะครับ

 

นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ข้าวของละลานตาสุดๆ ถ้ามีเพื่อนต่างชาติสนใจความเป็นมาของไทย พามาที่นี่ก่อนเลยครับ ช่วงหน้าฝนแบบนี้การเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็เป็นทางเลือกที่ดีนะ ดีกว่าห้างตรงที่คนไม่เยอะ ไม่ต้องกลัวโควิดครับ 101


 
Create Date :25 กรกฎาคม 2565 Last Update :27 กรกฎาคม 2565 21:53:33 น. Counter : 3663 Pageviews. Comments :47